อัล-วะศียะฮฺ (การสั่งเสียหรือการทำพินัยกรรม)
บทความนี้ถูกแปลเป็นภาษา
หมวดหมู่
Full Description
อัล-วะศียะฮฺ (การสั่งเสียหรือการทำพินัยกรรม)
﴿الوصية﴾
] ไทย – Thai – تايلاندي [
มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์
แปลโดย : อิสมาน จารง
ผู้ตรวจทาน : ฟัยซอล อับดุลฮาดี
ที่มา : มุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์
2009 - 1430
﴿الوصية﴾
« باللغة التايلاندية »
محمد بن إبراهيم التويجري
ترجمة: عثمان جارونج
مراجعة: فيصل عبدالهادي
مصدر : كتاب مختصر الفقه الإسلامي
2009 - 1430
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
อัล-วะศียะฮฺ (การสั่งเสียหรือการทำพินัยกรรม)
อัล-วะศียะฮฺ คือ คำสั่งเพื่อให้ใช้จ่าย(ทรัพย์สิน)หลังจากเสียชีวิต หรือ การให้ทรัพย์สินเป็นกุศลทานหลังจากการเสียชีวิต
วิทยปัญญา(หิกมะฮฺ)ในการบัญญัติการสั่งเสีย
อัลลอฮุตะอาลาได้บัญญัติการเขียนพินัยกรรมผ่านคำพูดของท่านนบีมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม เพื่อเป็นความเมตตาและปราณีต่อปวงบ่าวของพระองค์ โดยการเปิดทางให้มุสลิมได้กำหนดส่วนหนึ่งจากทรัพย์ของเขาก่อนเสียชีวิตไว้เป็นกุศลกรรมต่างๆที่จะยังประโยชน์แก่คนยากจนและผู้อยู่ในภาวะจำเป็นด้วยความดี และจะนำมาซึ่งผลบุญและการตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้มอบพินัยกรรมในห้วงเวลาที่เขาได้ถูกปิดกั้นจากการทำการงานที่ดีอื่นๆ(เพราะเขาได้ชีวิตแล้ว) อัลลอฮได้ตรัสไว้ว่า
(ﯝ ﯞ ﯟ ﯠ ﯡ ﯢ ﯣ ﯤ ﯥ ﯦ ﯧ ﯨ ﯩ ﯪ ﯫ ﯬ ﯭ ﯮ) [البقرة/180].
ความว่า “ การทำพินัยกรรมแก่ผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง และบรรดาญาติที่ใกล้ชิดโดยชอบธรรมนั้น ได้ถูกกำเนิดขึ้นแก่พวกเจ้าแล้ว เมื่อความตายได้มายังคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเจ้า หากเขาได้ทิ้งทรัพย์สมบัติไว้ ทั้งนี้เป็นหน้าที่แก่ผู้ยำเกรงทั้งหลาย” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 180)
หุก่มของอัล-วะศียะฮฺ
1- การวะศียะฮฺถือเป็นสิ่งที่สุนัตสำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินมากมายและทายาทของเขาก็ไม่ใช่ผู้ที่ยากจนขัดสน โดยการที่เขาทำการสั่งเสียสิ่งใดก็ได้จากทรัพย์สินของเขา ในจำนวนที่ไม่เกินเศษหนึ่งส่วนสาม(ของทรัพย์สินที่เขามีอยู่)มอบให้ไปในหนทางที่ดีงาม เพื่อให้มีผลบุญมาถึงตัวเขาอย่างต่อเนื่องหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว.
2- การวะศียะฮฺถือเป็นวาญิบสำหรับผู้ที่ตัวเขามีภาระหนี้สินของอัลลอฮฺหรือของมนุษย์ติดผันอยู่ หรือมีสิ่งที่เป็นอะมานะฮฺของผู้อื่นๆเก็บอยู่กับเขา โดยการเขียนบันทึกและชี้แจงไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้สิทธิเหล่านั้นสูญหายไป. และถือเป็นวาญิบเช่นกันสำหรับผู้ที่ละทิ้งทรัพย์สินไว้มากมาย โดยจำเป็นที่เขาจะต้องทำการวะศียะห์ให้แก่ญาติๆที่ไม่ใช่ทายาท ในจำนวนที่ไม่เกินเศษหนึ่งส่วนสามของกองมรดก.
3- ส่วนการวะศียะฮฺที่ต้องห้ามก็ดังเช่นการวะศียะฮฺให้แก่ทายาทคนใดคนหนึ่งเท่านั้น เช่นลูกคนโต หรือภรรยา ให้ได้รับทรัพย์สินเป็นการเฉพาะ โดยที่ไม่ได้ให้แก่ทายาทคนอื่นด้วย.
จำนวนของมรดกที่อนุญาตให้สั่งเสีย
สุนัตให้ทำการวะศียะฮฺสำหรับผู้ที่มีทายาท ในจำนวนหนึ่งส่วนห้า หรือหนึ่งส่วนสี่ หากเขาทิ้งทรัพย์สินที่ถือว่ามีจำนวนมากตามธรรมเนียมที่รู้กัน ซึ่งการให้หนึ่งส่วนห้าถือว่าดีทีสุด และอนุญาตให้เขาทำการวะศียะฮฺในจำนวนหนึ่งส่วนสามให้แก่ผู้ที่ไม่ใช่ทายาท.
ถือว่าเป็นสิ่งมักโรฮฺสำหรับการวะศียะฮฺของผู้ที่มีฐานะยากจนและทายาทของเขาก็ขัดสนเช่นกัน.และอนุญาตให้ทำการวะศียะฮฺทรัพย์ทั้งหมดสำหรับผู้ที่ไม่มีทายาท(ที่จะรับมรดก)เลย.
ไม่อนุญาตให้ทำการวะศียะฮฺแก่บุคคลอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่ทายาท) ในจำนวนที่เกินกว่าหนึ่งส่วนสามสำหรับผู้ที่มีทายาท.และไม่อนุญาตให้ทำการวะศียะฮฺแก่ทายาท(ที่มีส่วนแบ่งในกองมรดกอยู่แล้ว).
หากคนๆ หนึ่งได้วะศียะฮฺให้แก่แม่ของเขา พ่อของเขา หรือพี่น้องของเขา เป็นต้น ให้ไปทำหัจญ์ หรือทำการเชือดกุรบาน โดยที่พวกเขาเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่ ถือว่าเป็นที่อนุญาต เพราะสิ่งดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่เป็นการทำความดีแก่พวกเขา ด้วยการให้ผลบุญซึ่งไม่ใช่เป็นการวะศียะฮฺที่มีเจตนาให้ครอบครองทรัพย์สิน.
เงื่อนไขของผู้รับวะศียะฮฺในการจัดการทรัพย์สิน
มีเงื่อนไขสำหรับผู้ที่จะรับวะศียะฮฺไปใช้ว่าจะต้องเป็นมุสลิม มีสติปัญญา รู้ผิดชอบ(โตแล้ว) มีความสามารถในการใช้จ่าย(บริหารจัดการ)ได้ดีในสิ่งที่ถูกวะศียะฮฺให้ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง.
บุคคลที่ถือว่าการวะศียะฮฺของเขาใช้ได้
การวะศียะฮฺถือว่าถูกต้องใช้ได้ ทั้งที่มาจากผู้บรรลุศาสนภาวะที่มีสติสมบูรณ์ เด็กที่มีสติปัญญาสมบูรณ์ และคนไม่ฉลาดในเรื่องทรัพย์สิน หรือคนอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายกัน.
ลักษณะของการวะศียะฮฺ
การวะศียะฮฺถือว่าถูกต้องและใช้ได้ โดยใช้คำพูดที่สามารถได้ยินได้ที่ออกมาจากปากของผู้ทำวะศียะฮฺ หรือด้วยการเขียนของเขา และถือว่าสุนัตให้มีการเขียนบันทึกวะศียะฮฺไว้และให้มีพยานรู้เห็นในการทำดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้พ้นจากความขัดแย้ง(ในอนาคต).
รายงานจากท่านอิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุมา ว่าแท้จริงท่าน เราสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«مَا حَقُّ امْرِئٍ مُسْلِـمٍ لَـهُ شَيْءٌ يُوْصـِي فِيه ِ، يَبِيتُ لَيْلَتـَيْنِ إلَّا وَوَصِيَّتُـهُ مَكْتُوبَةٌ عِنْدَهُ». متفق عليه.
ความว่า "ไม่มีสิทธิของมุสลิมคนหนึ่งคนใดที่มีสิ่งที่เขาได้วะศียะฮฺมัน ผ่านค่ำคืนมาสองคืน ยกเว้นวะศียะฮฺของเขานั้นจะต้องถูกเขียนเก็บไว้ที่เขา” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 2738 ซึ่งคำรายงานนี้เป็นของท่าน และบันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1627)
อนุญาตให้มีการกลับคืนการวะศียะฮฺและยกเลิกมันได้ และสามารถเพิ่มได้เช่นกัน แต่เมื่อเขาเสียชีวิตลงก็ถือว่ามันมั่นคงตามนั้น.
ผู้ที่สามารถรับวะศียะฮฺได้อย่างถูกต้อง
การวะศียะฮฺถือว่าถูกต้องใช้ได้ทั้งที่ให้แก่คนที่สามารถครอบครองทรัพย์สินได้ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือกาฟิร ที่ได้เจาะจงไว้ –ด้วยการมอบทุกสิ่งที่มีประโยชน์ที่ศาสนาอนุญาต- หรือให้แก่มัสยิด กองคลัง สถานศึกษา และอื่นๆ.
แนวทางการให้วะศียะฮฺ
1- การวะศียะฮฺจะเป็นในเรื่องการบริหารจัดการในสิ่งที่รู้กัน หลังจากที่ผู้ทำวะศียะห์เสียชีวิตแล้ว เช่นให้ช่วยทำการแต่งลูกสาวของเขา ช่วยดูแลลูกเล็กๆของเขา หรือแจกจ่ายทรัพย์สินไปหนึ่งส่วนสาม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สุนัต และเป็นกุศลกรรม ที่ได้ผลบุญ สำหรับผู้ที่สามารถจะกระทำได้
2- การวะศียะฮฺอาจจะด้วยการบริจาคทรัพย์สิน เช่นวะศียะฮฺให้หนึ่งส่วนห้าของทรัพย์สินของตนแก่คนยากจน บรรดาผู้รู้ หรือผู้ที่การต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ หรือเพื่อก่อสร้างมัสญิด ขุดบ่อน้ำใช้ดื่มกิน เป็นต้น.
สุนัตให้วะศียะฮฺให้แก่พ่อแม่ที่ไม่สามารถรับมรดกได้ ญาตพี่น้องที่ยากจนที่ไม่มีสิทธิรับมรดก เพราะการให้แก่คนเหล่านั้นจะได้ทั้งการบริจาคและการเชื่อมสัมพันธ์เครือญาติ.
หุก่มการเปลี่ยนแปลงวะศียะฮฺ
วาญิบที่การวะศียะฮฺต้องเป็นไปในสิ่งที่ดีงามตามครรลองศาสนา เมื่อใดที่ผู้ทำวะศียะฮฺมีเจตนาจะทำให้เกิดผลเสียหายแก่ทายาทถือว่ามันเป็นสิ่งที่หะรอมและเป็นบาป และถือว่าหะรอมสำหรับผู้รับวะศียะฮฺและคนอื่นๆที่จะทำการเปลี่ยนแปลงวะศียะฮฺที่ยุติธรรม และสุนัตสำหรับผู้ที่รู้ว่าในวะศียะฮฺนั้นมีความอธรรมหรือเป็นบาปอยู่จะต้องให้การตักเตือนแก่ผู้ทำวะศียะฮฺเพื่อให้เขาทำให้มันดีขึ้น ยุติธรรมขึ้น และห้ามปรามเขาจากอธรรม แต่หากเขาไม่ตอบรับ ก็ทำการเจรจาปรับปรุงระหว่างผู้รับวะศียะฮฺเพื่อให้เกิดความยุติธรรม ความพอใจกัน และทำให้คนตาย(ผู้วะศียะฮฺ)พ้นภาระ(จากการที่ต้องรับบาป).
อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า
(ﯯ ﯰ ﯱ ﯲ ﯳ ﯴ ﯵ ﯶ ﯷ ﯸ ﯹ ﯺ ﯻ ﯼ ﯽ ﯾ ﭑ ﭒ ﭓ ﭔ ﭕ ﭖ ﭗ ﭘ ﭙ ﭚ ﭛ ﭜ ﭝ ﭞ ﭟ ﭠ ﭡ ﭢ) [البقرة/181-182].
ความว่า “ดังนั้นผู้ใดเปลี่ยนแปลงมันภายหลังจากได้ยินมัน (คำสั่งพินัยกรรมจากผู้ตายโดยไม่ทำไปตามพินัยกรรมนั้น) แน่นอนบาปของมันก็จะตกแก่บรรดาผู้ที่ทำการเปลี่ยนแปลงมัน แท้จริงอัลลอฮฺทรงได้ยินอีกทั้งทรงรอบรู้ยิ่ง แต่ผู้ใดที่กลัวว่าผู้ทำพินัยกรรมจักลำเอียงหรือทำบาป (ด้วยการฉ้อฉลในพินัยกรรมนั้น) แล้วเขาก็ประนีประนอมในระหว่างพวกทายาทเหล่านั้นได้ แน่นอนย่อมไม่เป็นบาปแก่เขาแต่ประการใดๆ แท้จริงอัลลอฮฺทรงอภัยยิ่ง อีกทั้งทรงเมตตายิ่ง” [อัลบะเกาะเราะฮฺ:181-182]
หุก่มการวะศียะฮฺให้แก่ฝ่ายที่ทำสิ่งที่ขัดต่อหลักศาสนา
การวะศียะฮฺถือว่าใช้ไม่ได้ และไม่เป็นที่อนุญาตในลักษณะที่เป็นการให้ในแนวทางที่เป็นบาปกรรม เช่นการวะศียะฮฺเพื่อให้สร้างโบถส์ สถานบันเทิงหรือการะละเล่น ซ่องโสเภณี สร้างสิ่งก่อสร้างบนสุสาน ไม่ว่าผู้ทำการวะศียะฮฺจะเป็นมุสลิมหรือกาฟิรก็ตาม.
ช่วงเวลาที่มีผลต่อการวะศียะฮฺ
การจะถือว่าวะศียะฮฺเป็นผลถูกต้อง หรือไม่ถูกต้องขึ้นอยู่กับการตาย ถ้าหากเขาได้วะศียะฮฺแก่ทายาทแต่ก่อนตายผู้นั้นได้กลายเป็นบุคคลที่ไม่ใช่ทายาท เช่น พี่น้องของผู้ตายที่ถูกกั้นสิทธิ์จากกองมรดกโดยลูกชายของผู้ตาย ถือว่าวะศียะฮฺนั้นเป็นผล และหากได้ทำการวะศียะฮฺแก่ผู้ที่ไม่ใช่ทายาท ก่อนตายคนๆนั้นได้กลายเป็นทายาท เช่น การวะศียะฮฺให้แก่พี่หรือน้องที่เป็นผู้ชายในขณะที่ผู้วะศียะฮฺมีลูกชายอยู่ในขณะที่ทำการวะศียะฮฺ
แล้วต่อมาลูกชายคนนั้นเกิดเสียชีวิต ถือว่าการวะศียะฮฺนั้นเป็นโมฆะหากบรรดาทายาทไม่ยินยอม.
เมื่อบุคคลหนึ่งเสียชีวิตมรดกของเขาต้องนำไปชดใช้หนี้ของเขาเสียก่อน แล้วจึงนำมาใช้ในส่วนที่เป็นวะศียะฮฺ หลังจากนั้นจึงจะแบ่งให้ทายาท
หุก่มการดำเนินการวะศียะฮฺ
อนุญาตที่ผู้ถูกให้วะศียะฮฺจะเป็นบุคคลคนเดียวหรือมากกว่า หากผู้ถูกวะศียะฮฺมีหลายคนและได้มีการกำหนดส่วนของแต่ละคนไว้ถือว่าการวะศียะฮฺใช้ได้ตามส่วนที่ได้มีการเจาะจงไว้ และหากคนๆหนึ่งได้ทำการวะศียะฮฺแก่คนสองคนในสิ่งเดียวเช่นให้ดูแลลูกๆของเขา หรือทรัพย์สินของเขา ถือว่าไม่อนุญาตให้คนใดคนหนึ่งทำการใช้อำนาจนั้นเพียงแต่ผู้เดียว.
เวลาการรับมอบวะศียะฮฺ
ถือว่าถูกต้องและใช้ได้ไม่ว่าผู้ถูกวะศียะฮฺจะตอบรับการวะศียะฮฺขณะที่ผู้ทำวะศียะฮฺยังมีชีวิตอยู่ หรือหลังจากที่เขาเสียชีวิต หากเขา(ผู้ถูกวะศียะฮฺ)ปฏิเสธการรับวะศียะฮฺก่อนที่ผู้ทำจะเสียชีวิตหรือหลังจากเสียชีวิต ถือว่าสิทธิของเขา(ในการรับวะศียะฮฺ)นั้นหมดไปเพราะการปฏิเสธของเขา.
หากผู้ทำวะศียะฮฺด้ทำการวะศียะฮฺโดยกล่าวว่า “ฉันวะศียะฮฺให้แก่คนๆ นั้นจำนวนเท่าๆ กับส่วนแบ่งของลูกชายของฉัน หรือทายาทคนใดก็ได้ ถือว่าผู้ถูกวะศียะฮฺจะได้เหมือนกับทายาทผู้นั้นตามแต่ส่วนของเขาในข้อกำหนดเรื่องมรดก และหากเขาได้วะศียะฮฺโดยกำหนดเป็นส่วนหนึ่ง ถือว่าให้ทายาทมอบให้ตามที่พวกเขาอยากจะให้.
เมื่อบุคคลหนึ่งเสียชีวิตในสถานที่ที่ไม่มีศาลหรือปกครอง และไม่มีผู้ที่ถูกวะศียะฮฺให้ เช่นสถานที่ที่หลบภัย ทะเลทราย อนุญาตให้บรรดามุสลิมอยู่รอบข้างเขาครอบครองทรัพย์สินมรดกของเขาและใช้จ่ายมันในสิ่งมาซึ่งผลประโยชน์.
ตัวบทการวะศียะฮฺ
สุนัตให้เขียนขึ้นต้นการวะศียะฮฺดั่งที่ปรากฏในรายงานของท่านอนัส อิบนุมาลิก เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ว่า “แท้จริงแล้วบรรดาเศาะหาบะฮฺเขียนเริ่มต้นการวะศียะฮฺของพวกเขาว่า “นี้คือสิ่งที่ฉันสั่งเสียให้คนนั้นคนนี้ (กล่าวชื่อ) ฉันขอวะศียะฮฺว่าให้เขาปฏิญานว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่การอิบาดะฮฺนอกจากอัลลอฮฺองค์เดียวไม่มีภาคีสำหรับพระองค์ และแท้จริงมุฮำหมัดนั้นเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์ วันสิ้นโลกนั้นจะมาถึงแน่นอนไม่มีข้อสงใสใดๆ และอัลลอฮฺจะทรงให้ผู้อยู่ในหลุมฝังศพนั้นฟื้นขึ้นมาใหม่ แล้วเขาก็ทำการวะศียะฮฺให้ครอบครัวของเขาที่ยังมีชีวิตอยู่หลังจากเขาจงยำเกรงอัลลอฮฺอย่างแท้จริง และทำดีต่อกันระหว่างพวกเขา เชื่อฟังอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์หากเขาเป็นมุอ์มิน แล้วก็ทำการวะศียะฮฺด้วยสิ่งนบีอิบรอฮีมและยะอฺกู๊บให้สั่งเสียลูกๆของท่าน ว่า
(ﮫ ﮬ ﮭ ﮮ ﮯ ﮰ ﮱ ﯓ ﯔ ﯕ ﯖ ﯗ) [البقرة/132].
ความว่า “โอ้ลูกๆ ของฉันแท้จริงอัลลอฮฺได้เลือกไว้สำหรับพวกท่านซึ่งศาสนาอิสลาม ดังนั้นท่านจงอย่าได้ตายยกเว้นในขณะที่ท่านเป็นมุสลิมเท่านั้น” [อัล-บะเกาะเราะฮฺ :132]
หลังจากนั้นก็เขียนสิ่งที่เขาอยากจะวะศียะฮฺ”.(หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย อัล-บัยฮะกีย์ หมายเลข 12463 และอัด-ดาเราะกุฏนีย์ 4/154 ดู อิรวุลเฆาะลีล หมายเลข 1647)
วะศียะฮฺจะเป็นโมฆะด้วยสิ่งต่อไปนี้
1- เมื่อผู้ถูกให้วะศียะฮฺเสียสติไม่อาจบริหารการใช้จ่ายทรัพย์ได้
2- เมื่อสิ่งที่ถูกกำหนดให้เป็นวะศียะฮฺเสียหาย
3- เมื่อผู้ให้วะศียะฮฺได้กลับคำโดยยกเลิกการวะศียะฮฺ
4- เมื่อผู้ถูกให้วะศียะฮฺปฏิเสธการรับวะศียะฮฺ
5- เมื่อผู้ถูกให้วะศียะฮฺเสียชีวิตก่อนผู้ให้วะศียะฮฺ
6- เมื่อผู้ถูกให้วะศียะห์คร่าชีวิตผู้ให้วะศียะฮฺ
7- เมื่ออายุขัยของวะศียะฮฺหมดลง หรือการงานที่ถูกวะศียะฮฺให้ผู้ถูกวะศียะฮฺทำจบสิ้นลง.