×
บทว่าด้วย อัรร็อจญ์อะฮฺ หรือการคืนดีของสามีภรรยาที่ได้หย่ากัน ประกอบด้วยเหตุผลที่ให้มีบัญญัติการคืนดี และเงื่อนไขของการกลับคืนดี จากหนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    การคืนดีระหว่างสามีภรรยา

    الرجعة

    มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์

    الشيخ محمد بن إبراهيم التويجري

    แปล: ริซัลย์ สะอะ

    ترجمة: ريزال أحمد

    ตรวจทาน: ฟัยซอล อับดุลฮาดี

    مراجعة: فيصل عبدالهادي


    بسم الله الرحمن الرحيم

    การคืนดีระหว่างสามีภรรยา

    การกลับคืนดี  คือ การคืนดีกับภรรยาที่ได้หย่าแล้วที่มิได้เป็นการหย่าขาดอย่างถาวร กลับมาเป็นภรรยาเหมือนเดิม โดยไม่ต้องมีสัญญาแต่งงานใหม่อีกครั้ง โดยการคืนดีเกิดขึ้นในช่วงการรอคอย (อิดดะฮฺ)

    วิทยปัญญาที่ได้บัญญัติการคืนดีระหว่างสามีภรรยา

    บางทีการหย่าร้างอาจเกิดขึ้นในขณะมีอารมณ์โกรธและมีการทะเลาะเบาะแว้งกัน บางครั้งได้เกิดขึ้นโดยมิได้ยั้งคิดไตร่ตรองถึงอันตรายและความเสียหายที่จะประสบหลังจากที่ได้มีการหย่าแล้ว ดังนั้นพระองค์อัลลอฮฺ ได้บัญญัติการกลับคืนดีในการใช้ชีวิตคู่สามีภรรยา  และกำหนดให้เป็นสิทธิ์ของสามีฝ่ายเดียวเหมือนกับการหย่า

    ส่วนหนึ่งของข้อดีของอิสลาม คือ อนุญาตให้หย่าได้และอนุญาตให้กลับคืนดีได้เช่นกัน  เมื่อมีความไม่พอใจระหว่างสามีภรรยาและความสัมพันธ์ได้แตกร้าวอิสลามอนุญาตให้หย่าได้ และเมื่อความสัมพันธ์ได้ดีขึ้นและทุกสิ่งทุกอย่างได้กลับสู่ภาวะปกติอิสลามก็อนุญาตให้กลับคืนดีกันใหม่  พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ ว่า 

    «وَالْمُطَلَّقَاتُ يَتَرَبَّصْنَ بِأَنْفُسِهِنَّ ثَلَاثَةَ قُرُوءٍ وَلَا يَحِلُّ لَهُنَّ أَنْ يَكْتُمْنَ مَا خَلَقَ اللَّهُ فِي أَرْحَامِهِنَّ إِنْ كُنَّ يُؤْمِنَّ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ وَبُعُولَتُهُنَّ أَحَقُّ بِرَدِّهِنَّ فِي ذَلِكَ إِنْ أَرَادُوا إِصْلَاحًا»

    ความว่า "และบรรดาหญิงที่ถูกหย่าร้าง พวกนางจะต้องรอคอยตัวของตนเองสามกุรูอ์(การหมดจากรอบเดือนสามครั้ง) และไม่อนุมัติให้แก่พวกนาง ในการที่พวกนางจะปกปิดสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงให้บังเกิดขึ้นในมดลูกของพวกนาง หากพวกนางศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรโลก และบรรดาสามีของพวกนางนั้นเป็นผู้มีสิทธิกว่า ในการให้พวกนางกลับมาในกรณีดังกล่าว หากพวกเขาปรารถนาประนีประนอม" ( อัลบะเกาะเราะฮฺ  228)

    เงื่อนไขของการกลับคืนดี

    1. หญิงที่ถูกหย่านั้นได้มีเพศสัมพันธ์กับสามีของนางแล้ว

    2. ต้องเป็นการหย่าร้างที่ไม่ใช่ครั้งที่สาม (อันเป็นการหย่าขาดตามหลักการอิสลาม)

    3. เป็นการหย่าร้างที่ไม่มีทรัพย์สินเป็นข้อแลกเปลี่ยน ถ้าเป็นการหย่าร้างที่มีสัญญาแลกเปลี่ยนระหว่างสามีภรรยาถือว่าเป็นการหย่าขาด

    4. การกลับคืนดีนั้นต้องกระทำในช่วงอิดดะฮฺ ที่เกิดจากการแต่งงานที่ถูกต้องตามหลักศาสนา

    การกลับคืนดีกระทำได้ด้วยคำกล่าว  เช่น กล่าวว่า  “ฉันได้คืนดีกับภรรยาของฉันแล้ว”  หรือ “ฉันได้ครอบครองภรรยาของฉันแล้ว”  หรือ คำกล่าวอื่นๆ ทำนองนี้  และการกลับคืนดีกระทำได้ด้วยการกระทำ เช่น การมีเพศสัมพันธ์เมื่อเขามีความตั้งใจจะกลับคืนดีด้วยการกระทำนั้น  

    ส่งเสริมให้มีพยาน 2 คนในการหย่าและกลับคืนดี   การหย่าและการคืนดีนั้นจะมีผลแม้จะไม่มีพยานก็ตาม  และหญิงที่ถูกหย่าที่มีสิทธิ์คืนดียังถือเป็นภรรยาถ้ายังอยู่ในอิดดะฮฺ และช่วงเวลาของการกลับคืนดีจะสิ้นสุดลงเมื่อช่วงเวลาแห่งการรอคอย(อิดดะฮฺ) ผ่านพ้นไป

    การกลับคืนดีไม่จำเป็นต้องมีผู้ปกครอง (วะลีย์) หรือสินสมรส หรือความยินยอมจากฝ่ายหญิงและไม่จำเป็นต้องให้ฝ่ายหญิงรับรู้