×
อธิบายข้อมูลว่าด้วยการจ่ายดิยะฮฺกรณีฆ่าคนตาย อาทิ หุก่มการจ่ายดิยะฮฺ ดิยะฮฺของอะฮฺลุลกิตาบ ดิยะฮฺของกาฟิร ดิยะฮฺของทารกในครรภ์ ผู้ที่ต้องจ่ายดิยะฮฺกรณีเกิดอุบัติเหตุ ใครที่ต้องรับผิดชอบจ่ายดิยะฮฺ ทรัพย์สินกลางต้องรับผิดชอบชำระหนี้สินและดิยะฮฺในกรณีต่างๆ การฆ่าชาวซิมมีย์ หุก่มการจ่ายดิยะฮฺเมื่อฆาตกรเสียชีวิต จากหนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    การจ่ายดิยะฮฺกรณีฆ่าคนตาย

    ﴿دية النفس﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

    แปลโดย : รุสดี การีสา

    ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    2010 - 1431

    ﴿دية النفس﴾

    « باللغة التايلاندية »

    الشيخ محمد بن إبراهيم التويجري

    ترجمة: رشدي كاريسا

    مراجعة: صافي عثمان

    مصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي

    2010 - 1431

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    การจ่ายดิยะฮฺกรณีฆ่าคนตาย

    ดิยะฮฺ (สินไหม) คือ ทรัพย์สินที่นำไปจ่ายให้เหยื่อผู้ถูกทำร้าย หรือให้กับญาติของผู้ถูกทำร้าย อันเนื่องมาจากอาชญากรรม

    สินไหมที่ใช้จ่ายสำหรับเหยื่อผู้ถูกทำร้ายที่เป็นมุสลิมคนหนึ่งเท่ากับอูฐหนึ่งร้อยตัว และหากอูฐมีราคาแพงเกินไปให้ทำการจ่ายสิ่งอื่นทดแทน

    عن عمر بن الخطاب رضي الله عنه أنه قام خطيباً فقال:..أَلا إنَّ الإبِلَ قَدْ غَلَتْ، قَالَ: فَفَرَضَهَا عُمَرُ عَلَى أَهْلِ الذَّهَبِ أَلْفَ دِينَارٍ، وَعَلَى أَهْلِ الوَرِقِ اثْنَي عَشَرَ ألفاً، وَعَلَى أَهْلِ البَقَرِ مِائَتَي بَقَرَةٍ، وَعَلَى أَهْلِ الشَّاءِ أَلْفَي شَاةٍ، وَعَلَى أَهْلِ الحُلَلِ مِائَتَي حُلَّةٍ قَالَ: وَتَرَكَ دِيةَ أَهلِ الذِّمَّة لَـمْ يَرْفَعْها فيمَا رَفَعَ مِنَ الدِّيةِ. أخرجه أبو داود والبيهقي.

    ความว่า : จากท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ “ท่านได้กล่าวปาฐถกาว่า “แท้จริงราคาของอูฐนั้นได้แพงขึ้น” ผู้รายงานเล่าว่า “แล้วท่านอุมัรได้กำหนดให้กับเหล่าเศรษฐีผู้มีทองคำให้จ่ายดิยะฮฺ เท่ากับ 1,000 ดีนาร์ และสำหรับผู้มีทรัพย์สินเป็นเงินเท่ากับ 1,200 และผู้มีวัวอยู่ในครอบครองเท่ากับ วัว 100 ตัว และผู้มีแกะอยู่ในครอบครองให้จ่ายเท่ากับ 2,000 ตัว สำหรับผู้มีเครื่องเพชรให้จ่าย 200 หุลละฮฺ” ผู้รายงานหะดีษนี้กล่าวต่อไปว่า “และท่านได้ปล่อยสินไหม(ดิยะฮฺ) ของ อะฮฺลุลซิมมะฮฺ โดยมิได้ระบุเพิ่มแต่อย่างใดเหมือนกับที่ได้กำหนดให้กับกลุ่มอื่นๆ” (รายงานโดย อบู ดาวูด หมายเลข 3806 และอัล-บัยฮะกีย์ หมายเลข 16171 ดู อิรวาอ์ อัล-เฆาะลีล หมายเลข 2247)

    · แท้จริงนั้น ทรัพย์สินที่ใช้ในการจ่ายสินไหม(ดิยะฮฺ)คืออูฐ ส่วนสิ่งที่นอกเหนือจากนี้เป็นเพียงสิ่งที่มาทดแทนอูฐเท่านั้น

    · ทองคำ 1,000 ดีนาร์ เท่ากับ 4,250 กรัม

    · สินไหมของสตรีมุสลิมะฮฺนั้น ให้จ่ายครึ่งหนึ่งจากสินไหมของผู้ชาย

    หุก่มการจ่ายดิยะฮฺ

    จำเป็นต้องจ่ายสินไหมสำหรับทุกคนที่ทำร้ายคนอื่น ไม่ว่าผู้กระทำนั้นจะเป็นมุสลิม หรือซิมมีย์(ต่างศาสนิกที่อาศัยในประเทศอิสลาม) หรือมุสตะมัน(ต่างศาสนิกที่เป็นต่างด้าว) หรือมุอาฮัด (ต่างศาสนิกที่มีพันธะสัญญากับประเทศอิสลาม) ซึ่งหากเป็นการเจตนากระทำ ให้ทำการจ่ายสินไหมโดยทันทีจากทรัพย์สินของผู้กระทำเท่านั้น และหากกรณีกึ่งเจตนาหรือไม่เจตนา เครือญาติที่เป็นอากิละฮฺ(เครือญาติฝ่ายชายที่รับมรดกด้วยการอะเศาะบะฮฺ)ของผู้กระทำต้องรับผิดชอบในการจ่ายสินไหมร่วมกันโดยให้การผ่อนปรนในระยะเวลาสามปี

    1. จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «... وَمَنْ قُتِلَ لَهُ قَتِيلٌ فَهُوَ بِخَيْرِ النَّظَرَيْنِ إِمَّا أَنْ يُفْدَى وَإِمَّا أَنْ يُقْتَلَ». متفق عليه.

    ความว่า “... ผู้ใดที่มีญาติถูกฆ่าตาย เขามีสิทธิที่จะเลือกได้สองอย่าง คืออาจจะรับฟิดยะฮฺ หรือให้ลงโทษประหารฆาตกร” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 6880 และ มุสลิม หมายเลข 1355 สำนวนนี้เป็นของท่าน)

    2. จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า

    أَنَّ امْرَأَتَيْنِ مِنْ هُذَيْلٍ رَمَتْ إِحْدَاهُمَا الْأُخْرَى فَطَرَحَتْ جَنِينَهَا، فَقَضَى رَسُولُ الله ﷺ فِيهَا بِغُرَّةٍ عَبْدٍ أَوْ أَمَةٍ. متفق عليه

    ความว่า มีหญิงสองคนจากเผ่าฮุดัยล์ คนหนึ่งได้ขว้างไปยังอีกคนหนึ่งแล้วทำให้นางต้องแท้งลูก ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้ตัดสินให้จ่ายทาสที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นทาสชายหรือทาสหญิงก็ตาม (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 6904 สำนวนนี้เป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลข 1681)

    ดิยะฮฺของอะฮฺลุลกิตาบ

    ดิยะฮฺของอะฮฺลุลกิตาบ (ยิวหรือคริสต์) ถ้าเป็นผู้ชายจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของดิยะฮฺสำหรับมุสลิม และถ้าเป็นผู้หญิงจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของมุสลิมะฮฺ ในทุกๆ กรณีและทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเจตนาฆ่า กึ่งเจตนา หรือไม่เจตนา รวมถึงกรณีการทำร้ายร่างกายหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ทั้งที่เจตนาหรือไม่เจตนา

    ดิยะฮฺของกาฟิร

    ดิยะฮฺของมุชริก(ผู้ตั้งภาคี) วะษะนีย์(ผู้บูชาเจว็ด) และมะญูสีย์(ผู้บูชาไฟ) เท่ากับสองส่วนสามจากหนึ่งในสิบของดิยะฮฺมุสลิม และสำหรับสตรีของพวกเขาเท่ากับครึ่งหนึ่งจากดิยะฮฺของผู้ชาย

    ดิยะฮฺของทารกในครรภ์

    กรณีทำให้เด็กในครรภ์แท้งเนื่องจากการทำร้ายมารดา ดิยะฮฺของเขาคือการจ่ายทาสที่ดีมีความสมบูรณ์แข็งแรง โดยมีค่าเท่ากับอูฐห้าตัว ซึ่งเป็นหนึ่งส่วนสิบจากดิยะฮฺของผู้เป็นมารดา และสินไหมของทาสนั้นเท่ากับราคาตัวของเขา ไม่ว่าจะมีค่าน้อยหรือมากก็ตาม

    ผู้ที่ต้องจ่ายดิยะฮฺกรณีเกิดอุบัติเหตุ

    กรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถคว่ำหรือชนกับรถคันอื่นๆ อันเนื่องมาจากการเจตนาของผู้ขับหรือความประมาท ดังนั้น คนขับต้องรับผิดชอบจากการสูญเสียหรือบาดเจ็บจากสิ่งที่เกิดขึ้น หากเกิดมีผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว คนขับจำเป็นต้องจ่ายดิยะฮฺและกัฟฟาเราะฮฺ และกรณีที่เกิดอุบัติเหตุด้วยเหตุสุดวิสัยซึ่งไม่ได้เกิดจากความประมาทหรือเจตนาแต่อย่างใด อาทิ ยางรถที่ยังสมบูรณ์เกิดแตก ดังนั้น คนขับจะไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ จากเหตุการณ์ที่เกิดอันเนื่องจากเหตุดังกล่าวทั้งการจ่ายดิยะฮฺหรือกัฟฟาเราะฮฺ

    ใครที่ต้องรับผิดชอบจ่ายดิยะฮฺ

    มีคนหนึ่งในสามจำพวกที่ต้องรับผิดชอบ คือ

    1. ฆาตกรผู้กระทำการฆ่า ซึ่งต้องเอามาจากทรัพย์สินของเขาโดยเฉพาะถ้าหากเป็นการฆ่าโดยเจตนา เมื่อญาติๆ ของเหยื่อผู้ถูกฆ่าเรียกร้องให้เขาจ่ายดิยะฮฺแทนการกิศอศ

    2. อากิละฮฺ หรือ ญาติฝ่ายชายของฆาตกร ในกรณีที่เป็นการฆ่าโดยไม่เจตนาหรือกึ่งเจตนา

    3. จ่ายจากคลังของรัฐ

    ทรัพย์สินกลางต้องรับผิดชอบชำระหนี้สินและดิยะฮฺในกรณีต่อไปนี้:

    1. กรณีที่มุสลิมคนหนึ่งเสียชีวิตและยังคงมีหนี้สินที่ยังมิได้ชำระ และไม่มีผู้ที่สามารถชำระแทนได้ ดังนั้นรัฐจะต้องรับผิดชอบด้วยการจ่ายจากทรัพย์สินส่วนกลาง

    2. กรณีที่มีการกระทำการฆ่าที่ไม่เจตนาหรือกึ่งเจตนา และผู้กระทำการไม่มีเครือญาติชาย(ที่เป็นอากิละฮฺ) ที่มีความสามารถในการที่จะจ่ายสินไหม ดังนั้นการจ่ายสินไหมจะกลายเป็นความรับผิดชอบของผู้กระทำและหากผู้กระทำไม่มีความสามารถที่จะจ่ายให้อยู่ในความรับผิดชอบของทรัพย์สินส่วนกลาง

    3. ทุกๆ การเสียชีวิตของบุคคลที่ไม่อาจรู้ผู้กระทำได้ อาทิ เสียชีวิตในช่วงเวลาที่แออัด ระหว่างการฏอวาฟ เป็นต้น ดังนั้น การจ่ายสินไหมจะอยู่ในความรับผิดชอบของทรัพย์สินส่วนกลาง

    4. กรณีที่ศาลตัดสินให้มีการเกาะสามะฮฺ(การสาบาน) และบรรดาเครือญาติไม่สามารถทำการสาบานได้ครบและไม่ยอมรับในการสาบานตนของผู้ถูกกล่าวหา ให้ทำการจ่ายดิยะฮฺจากทรัพย์สินส่วนกลางแทน

    5. เมื่อต้องจ่ายดิยะฮฺเนื่องจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติในหน้าที่ของตน

    · กรณีที่ผู้ปกครองเมืองทำการสั่งสอนประชาชน หรือ ชายผู้หนึ่งทำการสั่งสอนบุตร หรืออาจารย์ทำการสั่งสอนลูกศิษย์ โดยไม่ได้ทำเกินกว่าเหตุ พวกเขาจะไม่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่สูญเสียอันเนื่องจากการสั่งสอนนี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น

    · ผู้ใดที่ทำการจ้างชายมุกัลลัฟที่บรรลุวัยตามศาสนบัญญัติ เพื่อทำการขุดบ่อหรือปีนต้นไม้ เป็นต้น และผู้ถูกจ้างเกิดเสียชีวิตอันเนื่องจากการจ้างดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ผู้จ้างจะไม่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นใดๆ ทั้งสิ้น

    การฆ่าชาวซิมมีย์

    เป็นการบาปที่จะทำการฆ่ากาฟิรที่อาศัยอยู่กับมุสลิมอย่างสันติ(ซิมมีย์) หรือ กาฟิรที่หลบภัยในประเทศมุสลิม(มุสตะมัน) หรือกาฟิรที่อยู่ในช่วงเวลาที่มีการทำพันธะสัญญากับมุสลิม(มุอาฮัด) และผู้ใดที่กระทำการฆ่าพวกเขา ดังนั้นเขาได้กระทำบาปที่ใหญ่หลวง เนื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «مَنْ قَتَلَ مُعَاهَداً لَـمْ يَرَحْ رَائِحَةَ الجَنَّةِ، وَإنَّ رِيحَهَا يُوْجَدُ مِنْ مَسِيرَةِ أَرْبَـعِينَ عَاماً». أخرجه البخاري.

    ความว่า “ผู้ได้ที่กระทำการฆ่ากาฟิรมุอาฮัด(กาฟิรที่มีพันธะสัญญากับมุสลิม) ดังนั้น เขาจะไม่ได้สัมผัสกับกลิ่นของสรวงสวรรค์ และแท้จริง กลิ่นของสรวงสวรรค์นั้นจะสัมผัสได้แม้อยู่ไกลถึงช่วงระยะการเดินทางเป็นเวลาสี่สิบปีก็ตาม” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 3166)

    หุก่มการจ่ายดิยะฮฺเมื่อฆาตกรเสียชีวิต

    ผู้ใดที่ฆ่าคนอื่นโดยเจตนา แล้วเขาก็เสียชีวิต การกิศอศก็ถือว่าตกไป และญาติของเหยื่อผู้ถูกฆ่ามีสิทธิที่จะได้รับดิยะฮฺทดแทน