×
จากหนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์ โดย เชค มุหัมมัด อัตตุวัยญิรีย์ ประกอบด้วยข้อมูลต่างๆ อาทิ ความหมายของการฟ้องร้อง องค์ประกอบของการฟ้องร้อง เงื่อนไขของการฟ้องร้องที่ถูกต้องสมบูรณ์ ลักษณะการตัดสินของผู้พิพากษา ลักษณะการตัดสินกับบุคคลที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้า จะทำการฟ้องร้องที่ไหน บทบัญญัติว่าด้วยสาส์นจากผู้พิพากษาถึงผู้พิพากษา บทบัญญัติว่าด้วยผู้ถูกฟ้อง เป็นต้น

    การฟ้องร้องและการแสดงหลักฐาน

    ﴿الدعاوى والبينات﴾

    มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

    แปลโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ

    ผู้ตรวจทาน : อัสรัน นิยมเดชา

    ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    الشيخ محمد بن إبراهيم التويجري

    ترجمة: يوسف  أبو بكر

    مراجعة: عصران إبراهيم


    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    การฟ้องร้องและการแสดงหลักฐาน

    การฟ้องร้อง  (อัดดะอฺวา)  หมายถึง  การที่บุคคลได้อ้างสิทธิแห่งตนซึ่งอยู่ภายใต้การครอบครองของผู้อื่น

    โจทก์  (อัลมุดดะอียฺ)  หมายถึง  ผู้ทวงถามสิทธิและเมื่อเขานิ่งเฉยไม่มีการร้องขอก็จะถูกปล่อยไป

    จำเลย  (อัลมุดดะอา อะลัยฮิ)  หมายถึง  ผู้ถูกร้องขอสิทธิคืนและแม้เขานิ่งเฉยก็จะไม่ถูกปล่อย

    องค์ประกอบของการฟ้องร้อง

    องค์ประกอบของการฟ้องร้องมี 3 ประการดังนี้  โจทก์ (ผู้ฟ้องร้อง)  จำเลย (ผู้ถูกฟ้องร้อง)  และเรื่องที่ฟ้องร้อง

    หลักฐาน  คือ  ทุกสิ่งทุกอย่างที่ยืนยันเพื่อแสดงถึงสิทธิอันได้แก่พยานต่างๆ  คำสาบาน  ปัจจัยแวดล้อม  หรือสิ่งอื่นๆ

    เงื่อนไขของการฟ้องร้องที่ถูกต้องสมบูรณ์

    การฟ้องร้องจะไม่นับว่าถูกต้องสมบูรณ์นอกจากต้องเป็นการฟ้องร้องที่มีความละเอียดชัดเจน  อิสระ  เนื่องจากการตัดสินเป็นผลมาจากความชัดเจนและต้องรู้ถึงเนื้อหาสาระของการฟ้องร้องและผู้ฟ้องร้องนั้นมีเจตจำนงค์อย่างชัดเจนที่จะฟ้องร้อง  และเนื้อสาระที่จะฟ้องร้องนั้นจะต้องถึงวาระหากในกรณีที่เป็นหนี้สิน

    ลักษณะของหลักฐาน

    1.  บางครั้งพยานจะประกอบด้วยผู้ชายสองคน  บางครั้งผู้ชายหนึ่งคนและผู้หญิงสองคน  บางครั้งมีพยานสี่คน  บางครั้งมีสามคน  และบางครั้งมีพยานหนึ่งคนพร้อมกับการกล่าวคำสาบาน  ดังที่จะกล่าวในบทต่อไปอินชาอัลลอฮฺ 

    2.  มีเงื่อนไขว่าพยานจะต้องมีความอะดาละฮฺบัยยินะฮฺ  (เป็นมุสลิม  มีสติสัมปชัญญะ  บรรลุศาสนภาวะ  ไม่กระทำความผิด)  และผู้พิพากษาจะตัดสินไปตามพยาน  หากผู้พิพากษารู้ว่าไม่เป็นอย่างนั้นก็ไม่เป็นที่อนุญาตให้เขาตัดสินตามนั้น  และสำหรับพยานที่ไม่รู้ถึงความอะดาละฮฺของเขาก็ให้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขา  และหากคู่กรณีกล่าวหาว่าพยานโกหกก็ให้เขาหาหลักฐานมายืนยันและให้พิจารณาสามครั้ง  หากเขาไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ก็ให้ดำเนินการตัดสินไปตามนั้น

    บุคคลที่ต้องสงสัย (ถูกกล่าวหา) มี 3 ประเภท

    1.  กลุ่มบุคคลเป็นที่ยอมรับกันว่ามีความเคร่งครัดต่อศาสนาและเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ  ไม่เข้าข่ายบุคคลที่ต้องสงสัย  ในกรณีนี้ไม่ต้องกักขัง  หรือโบยตี และผู้ที่กล่าวหาเขาจะต้องถูกลงโทษ 

    2.  ผู้ต้องสงสัยไม่เป็นที่รู้จักถึงสถานภาพของเขาว่าเป็นคนดีหรือคนชั่ว  ในกรณีนี้ให้กักขังจนกระทั่งได้รู้จักถึงสถานภาพของเขา  เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิด้านต่างๆ

    3.  บุคคลเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นอาชญากรเข้าข่ายเป็นผู้ต้องสงสัย  บุคคลนี้ร้ายแรงกว่ากลุ่มที่สอง  ในกรณีนี้ให้ทดสอบโดยการโบยและกักขังจนกระทั่งยอมรับ  เพื่อเป็นการปกป้องรักษาสิทธิทางด้านต่างๆ

    เมื่อผู้พิพากษารู้ถึงความถูกต้องของพยานหลักฐานก็ให้ตัดสินไปตามนั้นโดยไม่ต้องหาผู้รับรอง  หากรู้ว่าพยานหลักฐานไม่มีความถูกต้องก็ยังไม่ตัดสิน  และในกรณีที่ไม่รู้สถานภาพของพยานหลักฐานก็ขอให้โจทก์นำพยานที่เป็นผู้ชายมุสลิม  มีสติสัมปชัญญะ  บรรลุศาสนภาวะ  ไม่กระทำความผิดมายืนยันสองคน

    ลักษณะการตัดสินของผู้พิพากษา

    การตัดสินของผู้พิพากษาจะต้องไม่เปลี่ยนจากสิ่งที่หะรอมเป็นสิ่งที่หะลาล  และจากสิ่งที่หะลาลเป็นสิ่งหะรอม  ดังนั้นหากพยานหลักฐานเป็นจริงก็ถือว่าเป็นสิทธิของผู้ที่กล่าวหา  และหากพยานกล่าวเท็จ  เช่น  การยืนยันที่โกหก  ให้ผู้พิพากษาตัดสินไม่อนุญาตแก่เขาเอาสิทธิอันนั้น

    عن أم سلمة رضي الله عنها أن رسول الله ﷺ قال: «إنَّكُمْ تَـخْتَصِمُونَ إلَيَّ، وَلَعَلَّ بَـعْضَكُمْ أَلْـحَنَ بِحُجَّتِـهِ مِنْ بَـعْضٍ، فَمَنْ قَضَيْتُ لَـهُ بِحَقِّ أَخِيهِ شَيْئاً بِقَوْلِـهِ، فَإنَّمَا أَقْطَعُ لَـهُ قِطْعَةً مِنَ النَّارِ، فَلا يَأْخُذْهُ». متفق عليه

    ความหมาย  จากอุมมุสะละมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮา  แท้จริงท่านรอสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม  กล่าวว่า  “แท้จริงพวกท่านได้นำข้อพิพาทมายังฉัน  และเกรงว่าบางคนอาจจะนำหลักฐาน (ที่ทำให้คดีคลาดเคลื่อนได้) ดีกว่าอีกคน  ดังนั้นสิ่งใดก็ตามที่ฉันได้ตัดสินให้เขาซึ่งเป็นสิทธิของผู้อื่นด้วยกับคำพูดของเขา  แท้จริงฉันได้ตัดส่วนหนึ่งจากไฟนรกให้แก่เขา  ดังนั้นเขาอย่าได้เอามัน”  (บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 2680  สำนวนหะดีษเป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลขหะดีษ  1713)

    ลักษณะการตัดสินกับบุคคลที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้า

    อนุญาตให้ตัดสินกับบุคคลที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้าเมื่อปรากฏว่าพยานหลักฐานนั้นเป็นจริง  และสิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็เป็นสิทธิของมนุษย์ไม่ได้เป็นสิทธิของอัลลอฮฺ  บุคคลที่ไม่อยู่ต่อหน้า  คือ  ผู้ที่อยู่ห่างไกลเป็นระยะทางที่อนุญาตให้ละหมาดย่อได้หรือไกลกว่านั้น  และมีอุปสรรคที่จะมาร่วมในการตัดสิน  และหากเขามาร่วมได้ก็ให้ดำเนินการตัดสินไปตามหลักฐาน

    จะทำการฟ้องร้องที่ไหน

    สามารถฟ้องร้องได้ในเมืองที่ผู้ถูกฟ้องอาศัยอยู่  เนื่องจากว่าพื้นฐานเดิมนั้นเขาคือผู้บริสุทธิ์  หากว่าเขาหลบหนีหรือขอเลื่อนเวลาหรือล่าช้าโดยไม่มีอุปสรรคก็ต้องมีการบังคับ

    การยืนยันหลักฐาน  การกล่าวหาว่าหลักฐานนั้นเป็นเท็จและจดหมาย จะไม่ถูกรับรองนอกจากคนที่มีความอาดิล  (เป็นมุสลิม  มีสติสัมปชัญญะ  บรรลุศาสนภาวะ  ไม่กระทำความผิด)   สองคน  การแปลของคนอาดิลหนึ่งคนถือว่าใช้ได้  และหากมีสองคนถือว่าเป็นการดียิ่ง 

    บทบัญญัติว่าด้วยสาส์นจากผู้พิพากษาถึงผู้พิพากษา

    การส่งสาส์นจากผู้พิพากษาคนหนึ่งไปยังผู้พิพากษาอีกคนในทุกเรื่องราวที่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิทธิต่างๆ ระหว่างมนุษย์  อาทิ  การซื้อขาย  การเช่า  พินัยกรรม  การแต่งงาน  การหย่าร้าง  การทำร้ายร่างกาย  การชดใช้ด้วยชีวิต (กิศอศ)  ฯลฯ  ถือว่าเป็นสิ่งที่ยืนยันได้

    และไม่เป็นสมควรที่ผู้พิพากษาคนหนึ่งส่งสาส์นไปยังผู้พิพากษาอีกคนในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิของอัลลอฮฺ  อาทิ  การผิดประเวณี  การเสพของมึนเมา  ฯลฯ  เนื่องจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้วางอยู่บนพื้นฐานของความลับและความผิดจะตกไปเนื่องจากความคลุมเครือ

    บทบัญญัติว่าด้วยผู้ถูกฟ้อง

    ผู้ฟ้องร้องและผู้ถูกฟ้องร้องเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างอ้างถึงกรรมสิทธิ์ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะไม่ออกไปจาก 6 สภาพดังนี้

    1. หากสิ่งนั้นอยู่ในการครอบครองของฝ่ายใด สิ่งนั้นก็เป็นสิทธิ์ของเขาพร้อมกับคำสาบาน เมื่ออีกฝ่ายไม่มีหลักฐาน ดังนั้นหากทั้งสองมีหลักฐาน ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ครอบครองพร้อมกับให้กล่าวคำสาบาน

    2.  กรณีสิ่งนั้นอยู่ในการครอบครองของทั้งสองฝ่าย แต่ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยัน จะให้ ทั้งสองฝ่ายกล่าวคำสาบาน ต่อจากนั้นก็ให้แบ่งกันระหว่างทั่งสองฝ่าย

    3.  กรณีสิ่งนั้นไม่ได้อยู่ในการครอบครองของทั้งสองฝ่าย แต่อยู่ในมือผู้อื่นและไม่มีพยานหลักฐานมายืนยัน ดังนั้นให้ทั้งสองฝ่ายจับสลาก ผู้ใดที่จับสลากได้ให้เขากล่าวคำสาบานและเอาสิ่งนั้นไป 

    4.   กรณีสิ่งนั้นไม่ได้อยู่ในการครอบครองของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และทั้งสองฝ่ายไม่มีหลักฐาน ดังนั้นให้ทั้งสองฝ่ายกล่าวคำสาบาน แล้วแบ่งไปฝ่ายละครึ่ง

    5.  กรณีแต่ละฝ่ายมีหลักฐาน แต่สิ่งนั้นไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในกรณีนี้ให้แบ่งเท่ากัน

    6.  เมื่อทั้งสองฝ่ายได้พิพาทกันในเรื่องพาหนะหรือรถยนต์ ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งขับขี่อยู่ และอีกฝ่ายหนึ่งจับเชือก ในกรณีนี้เป็นของผู้ที่ขับขี่อยู่ โดยให้เขากล่าวสาบานหากไม่มีหลักฐานมายืนยัน 

    อันตรายจากการสาบานเท็จ

    การสาบานเท็จเป็นสิ่งที่ต้องห้าม  เป็นการเอาทรัพย์ผู้อื่นโดยมิชอบ  เพราะท่านนบี อะลัยฮิศศอลาตุวัสลาม  กล่าวว่า

    «مَنْ اقْتَطَعَ حَقَّ امْرِئٍ مُسْلِـمٍ بِيَـمِينِـهِ فَقَدْ أَوْجَبَ الله لَـهُ النَّارَ، وَحَرَّمَ عَلَيْـهِ الجَنَّةَ» فَقَالَ لَـه رَجُلٌ: وَإنْ كَانَ شَيْئاً يَسِيراً يَا رَسُولَ الله قَالَ: «وَإنْ قَضِيباً مِنْ أَرَاكٍ». أخرجه مسلم

    ความหมาย  “ผู้ใดได้ลิดรอนสิทธิของมุสลิมโดยการสาบาน  แท้จริงอัลลอฮฺให้เขาเข้านรก และห้ามเขาเข้าสวนสวรรค์”  ครั้นแล้วชายคนหนึ่งก็กล่าวว่า  “หากเป็นเพียงเล็กน้อยล่ะท่านรอสูลุลลอฮฺ”  ท่านตอบว่า  “แม้เพียงท่อนหนึ่งจากไม้หนามก็ตาม”  (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ  137)

    บทบัญญัติที่ว่าด้วยการแบ่งกรรมสิทธิ์ด้านต่าง ๆ

    ไม่อนุญาตให้แบ่งกรรมสิทธิ์ของสิ่งที่ไม่สามารถแบ่งปันได้  นอกจากมีอันตรายหรือเป็นการชดใช้คืน  ยกเว้นการได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วน  และสำหรับสิ่งที่ไม่เสียหายในการแบ่ง และไม่ใช่เป็นการชดใช้  ดังนั้นเมื่อหุ้นส่วนบางคนขอให้มีการแบ่งอีกฝ่ายก็ต้องตอบรับและให้หุ้นส่วนแบ่งกัน  หรือเลือกให้ผู้อื่นแบ่งให้  หรือให้คนที่มีความรู้แบ่งให้โดยมีค่าตอบแทนตามปริมาณกรรมสิทธิ์  ดังนั้นเมื่อพวกเขาได้แบ่งหรือจับสลากก็ให้ไปแบ่งตามนั้น

    ลักษณะการยืนยันของการฟ้องร้อง

    การฟ้องร้องได้รับการยืนยันด้วยกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อไปนี้ คือ การรับสารภาพ การมีพยาน หรือการสาบาน

    1.      การรับสารภาพ

    การรับสารภาพ  หมายถึง  บุคคลที่บรรลุศาสนภาวะ  มิได้ถูกบังคับแสดงถึงสิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบ

                บุคคลที่ถือว่าการรับสารภาพของเขาถูกต้อง  การรับสารภาพถือว่าเป็นสิ่งถูกต้องกับทุกคนที่บรรลุศาสนภาวะ  มีสติสัมปชัญญะ  สมัครใจ (ไม่ถูกบังคับ)  ไม่เป็นบุคคลที่ถูกอายัดทรัพย์  การรับสารภาพถือว่าเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักมากที่สุด

    บทบัญญัติว่าด้วยการรับสารภาพ

    1.  การรับสารภาพเป็นวายิบ (จำเป็น) เมื่อเป็นหน้าที่ของเขา  เช่น  ซะกาต  และเรื่องอื่นๆ หรือเมื่อเป็นสิทธิ์ของผู้อื่น  เช่น  หนี้สิน  และเรื่องอื่นๆ

                 2.  การรับสารภาพจากความผิดที่เป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺเป็นสิ่งที่อนุญาต  เช่น  การผิดประเวณี  และการปกปิดเป็นความลับรวมถึงการเตาบะฮฺ (สารภาพต่ออัลลอฮฺ) จะเป็นการดียิ่ง

                 3.  เมื่อการรับสารภาพใช้ได้และได้รับการรับรอง  หากเกี่ยวกับสิทธิ์ของผู้อื่นก็ไม่เป็นที่อนุญาตให้กลับคำให้การและไม่เป็นที่ยอมรับ  และหากว่าสิ่งนั้นเกี่ยวกับสิทธิของอัลลอฮฺ  เช่น  การผิดประเวณี   เสพของมึนเมา   ลักขโมย   และอื่นๆ  อนุญาตให้มีการกลับคำให้การ  เพราะบทลงโทษนั้นจะถูกยกเลิกด้วยกับความคลุมเครือ

    2.  พยาน

    พยาน   หมายถึง  คำบอกเล่าถึงสิ่งที่เขาทราบ  เช่น   ฉันยืนยัน   ฉันเห็น  ฉันได้ยิน  และอื่นๆ   อัลลอฮฺได้วางบทบัญญัติไว้เพื่อยืนยันถึงกรรมสิทธิ์ด้านต่าง ๆ

    อัลลอฮฺตะอะลาตรัสว่า

    ความหมาย  “และจงให้มีพยานสองคนที่เป็นผู้เที่ยงธรรมในกลุ่มพวกเจ้า  และจงให้การเป็นพยานนั้นเป็นไปเพื่ออัลลอฮฺ”  (อัฏฏอลาค / 2)

    เงื่อนไขต่างๆ ที่รับเป็นพยาน

    โดยเป็นผู้ถูกอ้างถึงในเรื่องดังกล่าวพร้อมทั้งมีความสามารถ  และจะต้องไม่มีผลอันตรายที่ตามมาต่อร่างกาย  เกียรติยศ  ทรัพย์สิน  และครอบครัว

    บทบัญญัติที่ว่าด้วยการเป็นพยาน

    1.  ภาระในการเป็นพยานเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ (เป็นหน้าที่จำเป็นกับบุคคลเพียงกลุ่มหนึ่ง)  เมื่อสิ่งนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของมนุษย์  และการทำหน้าที่เป็นพยานเป็นฟัรฎูอัยนฺ (เป็นหน้าที่ระดับปัจเจกบุคคล) หากสิ่งนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของมนุษย์  ดั่งคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

    ความหมาย  “และถ้าหากพวกเจ้าอยู่ในระหว่างการเดินทางและไม่พบผู้บันทึกคนใด  ก็ให้มีสิ่งค้ำประกันยึดถือไว้”  (อัลบะกอเราะฮฺ / 283)

    2.  การทำหน้าที่เป็นพยานในสิ่งที่เป็นสิทธิของอัลลอฮฺ   เช่น   พยานในการทำผิดประเวณี  และอื่นๆ  ดังนั้นการปฏิบัติมันถือเป็นสิ่งอนุญาตและการละทิ้งก็เป็นการดี เพราะจำเป็นต้องปิดเป็นความลับสำหรับมุสลิมนอกจากผู้นั้นทำผิดอย่างเปิดเผย  ฉะนั้นการเป็นพยานให้จะเป็นการดีกว่าเพื่อที่จะได้ยับยั้งผู้ที่กระทำความชั่วและผู้ที่กระทำความเสียหาย

    3.  ไม่อนุญาตให้เป็นพยานนอกจากสิ่งที่รู้เห็น  และความรู้ที่ว่าจะเกิดขึ้นโดยการเห็น  การได้ยิน  หรือเป็นข่าวที่แพร่หลาย  เช่น  การแต่งงาน  การตาย  และเรื่องในทำนองเดียวกัน

    บทบัญญัติที่ว่าด้วยการเป็นพยานเท็จ

    การพยานเท็จถือเป็นบาปใหญ่และเป็นความผิดร้ายแรง  ซึ่งเป็นสาเหตุให้กินทรัพย์สินผู้อื่นโดยมิชอบและเป็นเหตุให้มีการทำลายกรรมสิทธิ์ด้านต่างๆ  และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ชี้ขาดปัญหาตัดสินด้วยกับสิ่งอื่นนอกเหนือจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานลงมา

    عن أبي بكرة رضي الله عنه: قَالَ النَّبِيُّ ﷺ: «أَلَا أُنَبِّئُكُمْ بِأَكْبَرِ الْكَبَائِرِ» ثَلَاثاً؟ قَالُوا: بَلَى يَا رَسُولَ الله قَالَ: «الْإِشْرَاكُ بِاللهِ٬ وَعُقُوقُ الْوَالِدَيْنِ -وَجَلَسَ وَكَانَ مُتَّكِئًا، فَقَالَ:- أَلَا وَقَوْلُ الزُّورِ». قَالَ: فَمَا زَالَ يُكَرِّرُهَا حَتَّى قُلْنَا لَيْتَهُ سَكَتَ. متفق عليه

    ความหมาย  จากอบีบักเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮู  ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม  กล่าวว่า  “เอาไหมฉันจะบอกพวกท่านถึงบาปใหญ่ (กล่าว 3 ครั้ง) พวกเขาตอบว่า  “เอาซิ โอ้ท่านรอสูลุลลอฮฺ  ท่านกล่าวว่า  “การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ  การทรยศต่อพ่อแม่  นอนรับประทาน  การพูดเท็จ  ผู้รายงานเล่าว่า  และท่านก็ได้กล่าวซ้ำจนพวกเราคิดว่าหวังว่าท่านจะหยุด”  (บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 2654  สำนวนหะดีษเป็นของท่าน  และมุสลิม หมายเลขหะดีษ  1711)

    เงื่อนไขของผู้ที่ถูกรับให้เป็นพยาน  

    เงื่อนไขของผู้ที่จะถูกรับเป็นพยานจะต้องมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

    1.  ต้องเป็นบุคลที่บรรลุศาสนภาวะและมีสติสัมปชัญญะ  ดังนั้นการเป็นพยานของเด็กถือว่าใช้ไม่ได้นอกจากในกรณีระหว่างพวกเขาด้วยกัน

    2.  ต้องไม่เป็นใบ้  นอกจากว่าเขาสามารถเขียนได้

    3.  ต้องเป็นบุคคลที่นับถือศาสนาอิสลาม  ไม่อนุญาตให้กาฟิร (ผู้ปฏิเสธ) เป็นพยานให้กับมุสลิม  ยกเว้นการทำพินัยกรรมในขณะเดินทางและไม่มีมุสลิม  ส่วนการเป็นพยานของกาฟิรต่อกาฟิรถือว่าใช้ได้

    4.  ต้องเป็นบุคคลที่มีความจำดี  คนที่หลงลืมจะไม่ถูกรับเป็นพยาน

    5.  เป็นบุคคลที่มีความยุติธรรม  ซึ่งประกอบด้วย 2 ประการดังนี้

             5.1  เป็นผู้ที่ปฏิบัติศาสนกิจระดับปัจเจกบุคคลและละเว้นสิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม)

             5.2  เป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพ  คือ  ปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม  อาทิ  มีใจกุศล  มารยาทดี  จิตใจดีงาม  และอื่นๆ ในทำเดียวกันนี้  และหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้มัวหมองและเสื่อมเสีย  เช่น  การเล่นการพนัน  ไสยศาสตร์  และสิ่งที่รู้กันว่าเป็นของที่ไร้เกียรติ ฯลฯ           

    6.  ไม่มีข้อกังขาหรือข้อสงสัยเคลือบแคลง

    พยานจะถูกรับในทุกๆ เรื่อง นอกจากในเรื่องบทการลงโทษ  ดังนั้นเมื่อไม่สามารถหาพยานได้เนื่องจาก  การตาย  การป่วยไข้  หรือหายสาบสูญ  ผู้ตัดสินคดีจะรับการเป็นพยานของลูก เมื่อเขาได้ให้เป็นพยานแทน  เช่นเขาพูดว่า  “จงเป็นพยานแทนฉัน”  หรือในทำนองเดียวกันนี้

    กลุ่มบุคคลต้องห้ามในการเป็นพยาน

    กลุ่มบุคคลต้องห้ามในการเป็นพยานมีอยู่ 8 จำพวก  ดังนี้

    1.  ความใกล้ชิดในด้านการกำเนิดคือพ่อและสืบขึ้นไป  และบรรดาลูกและสืบลงมา  ฉะนั้นไม่รับการเป็นพยานระหว่างพวกเขาด้วยกันเอง  เพราะมีข้อกังขาหรือเป็นที่สงสัยในความเป็นเครือญาติและการเป็นพยานบนพวกเขา  และสำหรับบรรดาเครือญาติคนอื่นๆ  เช่น  บรรดาพี่  น้อง  บรรดาลุงและป้า  และอื่นๆ ก็รับการเป็นพยานได้

    2.  การเป็นคู่ครอง (สามีภรรยา)  การเป็นพยานของสามีให้กับภรรยานั้นไม่ถูกรับ  และทำนองเดียวกันภรรยาเป็นพยานให้แก่สามีไม่ได้  แต่สามีหรือภรรยาอาจเป็นพยานตรงข้ามกับอีกฝ่ายได้

    3.  ผู้ที่นำประโยชน์ให้แก่ตัวเอง  เช่น  เขาเป็นพยานให้แก่ผู้ร่วมหุ้นหรือให้แก่ทาสของเขา

    4.  ผู้ที่พยายามปัดความเสียหายออกจากตัวเองโดยการเป็นพยานในกรณีนั้น

    5.  เป็นศัตรูกันในเรื่องดุนยา  ดังนั้นผู้ที่ดีใจต่อความทุกข์ยากของผู้อื่น หรือเขามีความทุกข์ระทมเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีเขาก็คือศัตรู

    6.  ผู้ที่เคยเป็นพยานให้กับผู้ตัดสินปัญหา (ฮากิม)  แต่ในตอนหลังการเป็นพยานของเขาถูกปฏิเสธเนื่องจากการคดโกงหรือในทำนองเดียวกัน

    7.  การยึดฝักฝ่าย  จะไม่ถูกรับการเป็นพยานของบุคคลที่รู้กันว่ายึดถือฝักฝ่าย

    8.  เมื่อผู้ถูกเป็นพยานให้นั้นเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ของพยานหรือเป็นคนรับใช้ของเขา

    ประเภทของเรื่องที่ต้องใช้พยานและจำนวนพยาน

    ประเภทของเรื่องที่ต้องใช้พยานและจำนวนพยานแบ่งออกได้เป็น 7 ประเภท  ดังต่อไปนี้

    1. การผิดประเวณี  การรักร่วมเพศ  ต้องใช้พยานผู้ชายที่มีความยุติธรรมจำนวน 4 คน  ดั่งที่อัลลอฮฺตะอะลาตรัสว่า

    ﴿وَالَّذِينَ يَرْمُونَ الْمُحْصَنَاتِ ثُمَّ لَمْ يَأْتُوا بِأَرْبَعَةِ شُهَدَاء فَاجْلِدُوهُمْ ثَمَانِينَ جَلْدَةً وَلَا تَقْبَلُوا لَهُمْ شَهَادَةً أَبَداً وَأُوْلَئِكَ هُمُ الْفَاسِقُونَ﴾ (النور : 4 )

    ความหมาย  “และบรรดาผู้กล่าวโทษต่อบรรดาหญิงบริสุทธิ์  แล้วพวกเขามิได้นำพยานจำนวนสี่คนมายืนยัน  พวกเจ้าจงโบยพวกเขาแปดสิบที  และพวกเจ้าอย่ารับการเป็นพยานของพวกเขาเป็นอันขาด  ชนเหล่านั้นพวกเขาเป็นผู้ที่ฝ่าฝืน”  (อันนูร / 4)

    2.  เมื่อมีคนหนึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีฐานะร่ำรวยแล้วอ้างว่ายากจนเพื่อต้องการรับซะกาต ในกรณีนี้ต้องใช้พยานผู้ชายที่มีความยุติธรรม 3 คน

    3.  สิ่งที่จำเป็นต้องชดใช้ด้วยชีวิตหรือโทษอื่นที่มิใช่การผิดประเวณี  หรือเป็นการประจาน  ต้องใช้พยานผู้ชายที่มีความยุติธรรม 2 คน

    4.  กรณีเรื่องทรัพย์สิน   เช่น  การซื้อขาย  การกู้ยืม  การเช่า  ฯลฯ  ส่วนเรื่องสิทธิต่าง ๆ  เช่น  การแต่งงาน  การหย่าร้อง  การคืนดี  ฯลฯ  รวมถึงทุกสิ่งที่มิใช่บทลงโทษหรือการชดใช้ด้วยชีวิต  ก็จำเป็นต้องใช้พยานผู้ชาย 2 คน  หรือผู้ชาย 1 คน  และผู้หญิง 2 คน  และถูกรับรองการเป็นพยานในเรื่องทรัพย์สินเป็นการเฉพาะโดยใช้พยานผู้ชาย 1 คน  พร้อมการสาบานของผู้ฟ้องร้องหากว่าไม่สามารถหาพยานได้เพราะมีอุปสรรค

      อัลลอฮฺตะอะลาตรัสว่า

    ﴿وَاسْتَشْهِدُواْ شَهِيدَيْنِ من رِّجَالِكُمْ فَإِن لَّمْ يَكُونَا رَجُلَيْنِ فَرَجُلٌ وَامْرَأَتَانِ مِمَّن تَرْضَوْنَ مِنَ الشُّهَدَاء أَن تَضِلَّ إْحْدَاهُمَا فَتُذَكِّرَ إِحْدَاهُمَا الأُخْرَى وَلاَ يَأْبَ الشُّهَدَاء إِذَا مَا دُعُواْ﴾ (البقرة : 282 )

    ความหมาย  “และพวกเจ้าจงให้มีพยานขึ้นสองคนจากบรรดาผู้ชายในกลุ่มพวกเจ้า  แต่ถ้าไม่ปรากฏว่าพยานทั้งสองเป็นผู้ชายก็ให้เป็นผู้ชายหนึ่งคนกับผู้หญิงสองคน  จากผู้ที่พวกเจ้าพึงพอใจในกลุ่มของบรรดาพยานทั้งหลาย  เพื่อว่าหญิงใดในสองคนนั้นหลงไปคนหนึ่งจากสองคนนั้นจะได้เตือนอีกคน  และบรรดาพยานก็จงอย่าได้ปฏิเสธเมื่อพวกเขาถูกเรียกร้อง”  (อัลบะกอเราะฮฺ / 282)

    عن ابن عباس رضي الله عنهما: أَنَّ رَسُولَ الله ﷺ قَضَى بِيَـمِينٍ وَشَاهِدٍ.  أخرجه مسلم

    ความหมาย  จากอิบนิอับบาส เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุมา  แท้จริงท่านรอสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม  ได้ตัดสินโดยการให้สาบานและใช้พยานคนเดียว  (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ  1712)

    5.  สิ่งที่โดยส่วนมากแล้วผู้ชายไม่สามารถเห็นได้  เช่น  การดื่มนม  การคลอด  การมีประจำเดือน  ฯลฯ  ในทำนองเดียวกันนี้จากสิ่งที่ผู้ชายไม่ได้มาร่วม  ดังนั้นก็จะรับรองการเป็นพยานจากผู้ชาย 2 คน  หรือผู้ชาย 1 คนและผู้หญิง 2 คน  หรือผู้หญิง 4 คน  และอนุญาตให้ผู้หญิงที่มีความยุติธรรม 1 คน  แต่ที่ดีกว่าคือใช้ผู้หญิง 2 คน  หรือผู้ชายที่มีความยุติธรรม 1 คน  แต่ที่ดีที่สุดดั่งที่ได้กล่าวมาก่อนแล้ว

    6.  สิ่งที่ถูกรับรองโดยคำกล่าวของบุคคลเพียงคนเดียว  คือ  การเห็นจันทร์เสี้ยวในเดือนรอมฎอน  หรือในเดือนอื่น ๆ

    7.  โรคของปศุสัตว์  แผล  หรืออื่นๆ  ซึ่งถูกรับรองโดยคำยืนยันของแพทย์หรือสัตวแพทย์เพียงคนเดียวเนื่องจากไม่มีผู้อื่น  หากไม่เป็นอุปสรรคก็ให้มีนายแพทย์ 2 คนเป็นผู้รับรอง

    เป็นที่อนุญาตให้ผู้พิพากษาตัดสินด้วยกับพยานเพียงคนเดียวพร้อมกับให้กล่าวคำสาบานของโจทก์ในกรณีที่ไม่ใช่เป็นบทลงโทษและการชดใช้ชีวิตเมื่อปรากฏว่าเป็นความสัจจริงของโจทก์

    เมื่อผู้พิพากษาได้ตัดสินด้วยกับพยานและการกล่าวคำสาบานแล้ว  ต่อมาพยานได้กลับคำให้การ  ในกรณีนี้พยานจะต้องชดใช้ค่าทรัพย์สินนั้นทั้งหมด

    บทบัญญัติว่าด้วยการกลับคำให้การของพยาน

    เมื่อพยานที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินได้กลับคำให้การหลังจากที่ได้ตัดสินผ่านไปแล้ว  การตัดสินจะไม่ถูกยกเลิก  พยานจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบไม่ใช่ผู้ที่มารับรองให้  และหากพยานกลับคำให้การก่อนที่จะตัดสินก็จะไม่มีการตัดสินและไม่มีการรับผิดชอบอันใด

    3.  การสาบาน

              การสาบาน  หมายถึง  การสาบานต่ออัลลอฮฺหรือด้วยบรรดาพระนามของพระองค์หรือด้วยคุณลักษณะต่างๆ ของพระองค์

                บทบัญญัติเกี่ยวกับการสาบาน

                การสาบานถูกบัญญัติไว้ในการฟ้องร้องกรรมสิทธิ์ต่างๆ ของมวลมนุษยชาติเป็นการเฉพาะ  ส่วนสิ่งที่เป็นสิทธิด้านต่างๆ ของอัลลอฮฺ  เช่น  บรรดาการทำอิบาดะฮฺ  และบทลงโทษจะไม่มีการกล่าวคำสาบาน       

    ฉะนั้นไม่มีการกล่าวคำสาบานเมื่อเขาได้กล่าวว่า  “ฉันได้จ่ายซะกาตทรัพย์สินแล้ว”  และไม่มีการกล่าวคำสาบานจากผู้ที่ปฏิเสธเมื่อเขาทำผิดและต้องโทษ  เช่น  กรณีผิดประเวณี  และลักขโมย  เนื่องจากเป็นเรื่องที่ควรจะปกปิดเป็นความลับและส่งเสริมให้เขากลับเนื้อกลับตัว

                ในกรณีที่โจทก์ไม่สามารถหาพยานหลักฐานได้ขณะที่จำเลยให้การปฏิเสธ  ในกรณีนี้ให้จำเลยกล่าวคำสาบาน  และเรื่องนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์สินและอื่นๆ  และไม่เป็นที่อนุญาตให้กล่าวคำสาบานในการฟ้องร้องเรื่องการชดใช้ชีวิตหรือการลงโทษประเภทต่างๆ

                การสาบานนั้นเป็นการยุติข้อพิพาทแต่ไม่ได้ทำให้สิทธิเสียไป  และหลักฐานเป็นของโจทก์ผู้ฟ้องร้องส่วนการสาบานเป็นของผู้ที่ให้การปฏิเสธ

    عن ابن عباس رضي الله عنهما أن النبي ﷺ قال: «لو يُـعْطَى النَّاسُ بِدَعْوَاهُـمْ لادَّعَى نَاسٌ دِمَاءَ رِجَالٍ وَأَمْوَالَـهُـمْ، وَلَكِنَّ اليَـمِينَ عَلَى المُدَّعَى عَلَيْـهِ». متفق عليه

    ความหมาย  จากอิบนิอับบาส เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุมา  แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม  กล่าวว่า  “หากผู้คนได้รับตามสิ่งที่กล่าวอ้างแล้ว เขาก็จะอ้างเอาชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น  แต่ทว่าการสาบานนั้นสำหรับผู้ที่ถูกกล่าวหา”  (บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 4552  และมุสลิม หมายเลขหะดีษ  1711 สำนวนหะดีษเป็นของท่าน)

    عن عمرو بن شعيب عن أبيه عن جده أن النبي ﷺ قال: «البَيِّنَةُ عَلَى المُدَّعِي، وَاليَـمِينُ عَلَى المُدَّعَى عَلَيْـهِ». أخرجه الترمذي

    ความหมาย  จากอัมรู บิน ชุอัยบฺ  จากบิดาของเขา  จากคุณปู่ของเขา  แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม  กล่าวว่า  “พยานหลักฐานสำหรับผู้ฟ้องร้อง  ส่วนการสาบานสำหรับผู้ถูกฟ้องร้อง”  (บันทึกโดยอัตติรมิซียฺ หมายเลขหะดีษ 1341)

    เป็นที่อนุญาตแก่ผู้พิพากษาที่จะให้ผู้ฟ้องร้องทำการสาบานหรือให้ผู้ที่ถูกฟ้องร้องกล่าวสาบานตามที่เห็นว่าเหมาะสม  ในขณะที่การสาบานนั้นถูกบัญญัติขึ้นแก่ฝ่ายที่มีน้ำหนักมากกว่า  เพราะว่าพื้นฐานเดิมแล้วคือความบริสุทธิ์นอกจากกรณีที่มีพยานหลักฐาน  ดังนั้นในกรณีที่ไม่มีพยานหลักฐานเป็นการเพียงพอด้วยกับการให้คำสาบาน

                บทบัญญัติว่าด้วยการให้ความสำคัญในเรื่องการสาบาน

                อนุญาตให้ผู้พิพากษาให้ความสำคัญจริงจังกับการสาบานในกรณีที่เป็นอันตราย  เช่น  การชดใช้เรื่องประทุษร้ายที่ไม่ถึงกับชีวิต  หรือทรัพย์สินที่มีจำนวนมาก  และเรื่องในทำนองเดียวกันเมื่อมีการร้องขอจากคู่กรณีให้สาบาน

                การให้ความสำคัญโดยใช้ช่วงเวลาหลังละหมาดอัศรีและในมัสยิดบนมิมบัร  หากผู้พิพากษาเห็นว่าไม่จำเป็นต้องกระทำอย่างจริงจังก็ถือว่าถูกต้อง  ส่วนผู้ที่ปฏิเสธที่จะกระทำเช่นนั้นไม่ถือว่าเป็นผู้ที่ดื้อรั้นไม่ยอมสาบาน  และผู้ใดที่ได้สาบานต่ออัลลอฮฺดังนั้นอีกฝ่ายจงยินยอม

                การสาบานถูกบัญญัติไว้ในสิทธิของผู้ที่ถูกฟ้องร้องทุกคนไม่ว่าเขาจะเป็นมุสลิม  ยิว  หรือคริสเตียน  ดังนั้นผู้ถูกฟ้องร้องจะต้องสาบานหากว่าเขาไม่มีหลักฐานมายืนยันไม่ว่าเขาเป็นมุสลิมหรือเป็นชาวคัมภีร์ก็ตาม

    فيقول لليهود مثلاً: «أُذَكِّرُكُمْ بِالله الَّذِي نَجَّاكُمْ مِنْ آلِ فِرْعَونَ، وَأَقْطَعَكُمُ البَـحْرَ، وَظلَّلَ عَلَيْكُمُ الغَمَامَ، وَأَنْزَلَ عَلَيْكُمُ الَـمَنَّ وَالسَّلْوَى، وَأَنْزَلَ عَلَيْكُمُ التَّوْرَاةَ عَلَى مُوسَى...».

    ดั่งตัวอย่างที่ผู้พิพากษาจะกล่าวกับชาวยิวว่า  “ฉันขอตักเตือนพวกท่านด้วยกับอัลลอฮฺผู้ซึ่งช่วยให้พวกท่านรอดพ้นจากวงศ์วานของฟิรเอานฺ  พระองค์ได้ให้พวกท่านได้ข้ามผ่านทะเลและให้ก้อนเมฆมาปกคลุมแก่พวกท่าน  พระองค์ทรงประทานน้ำผึ้งและนกจากฟากฟ้า  และทรงประทานคัมภีร์เตารอตให้แก่นบีมูสา...”  (บันทึกโดยอบูดาวุด หมายเลขหะดีษ 3626)

    มนุษย์ที่เลวทราม

    عن أبي هريرة رضي الله عنه أنه سمع رسول الله ﷺ يقول: «إنَّ شَرَّ النَّاسِ ذُو الوَجْهَيْنِ الَّذِي يَأْتِي هَؤُلاءِ بِوَجْهٍ وَهَؤُلاءِ بِوَجْهٍ». متفق عليه

    ความหมาย  จากอบูฮุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ  เขาได้ยินจากท่านรอสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม  กล่าวว่า  “แท้จริงมนุษย์ผู้เลวทรามยิ่งคือผู้ที่มีสองหน้า  ผู้ที่ไปหาชนกลุ่มหนึ่งด้วยใบหน้าหนึ่ง  และไปหาชนอีกกลุ่มอีกใบหน้าหนึ่ง”  (บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 7179  สำนวนหะดีษเป็นของท่าน  และมุสลิม หมายเลขหะดีษ  2526)

    عن عائشة رضي الله عنها قالت: قال رسول الله ﷺ: «أَبْـغَضُ الرِّجَالِ إلَى الله الأَلَدُّ الخَصِمُ». متفق عليه

    ความหมาย  จากอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮา กล่าวว่า  ท่านรอสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม  กล่าวว่า  “บรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงโกรธกริ้วยิ่ง  คือ  ผู้ที่โต้เถียงอย่างรุนแรง”  (บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 7188  สำนวนหะดีษเป็นของท่าน  และมุสลิม หมายเลขหะดีษ  2668)