โอวาทประจำเดือนเราะบีอุลเอาวัล
หมวดหมู่
Full Description
โอวาทประจำเดือนเราะบีอุลเอาวัล
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ดร.อิบรอฮีม บิน อามิรฺ อัรรุหัยลีย์
แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ
ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา
ที่มา : เว็บไซต์ ดร.อิบรอฮีม อัรรุหัยลีย์ www.al-rehaili.net
2015 - 1436
كلمة شهر ربيع الأول
« باللغة التايلاندية »
د. إبراهيم بن عامر الرحيلي
ترجمة: حسنى فوانجسيري
مراجعة: عصران نيومديشا
المصدر: موقع الدكتور إبراهيم الرحيلي www.al-rehaili.net
2015 - 1436
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
โอวาทประจำเดือนเราะบีอุลเอาวัล
มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ขอขอบคุณและสรรเสริญพระองค์สำหรับความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่มากล้นที่พระองค์ทรงประทานให้อย่างไม่ขาดสาย และขอความสันติความจำเริญจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัดผู้เป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์ ตลอดจนวงศ์วานมิตรสหายของท่าน และผู้ที่ยึดมั่นในแนวทางของท่านตราบจนวันสิ้นโลก
ที่จะกล่าวต่อไปนี้คือโอวาทเนื่องในเดือนเราะบีอุลเอาวัล ซึ่งจะได้แจกแจงว่าในเดือนนี้มีสิ่งใดที่มุสลิมต้องปฏิบัติเป็นพิเศษหรือไม่? รวมถึงอุตริกรรมต่างๆ ที่กระทำกันในเดือนนี้ โดยจะเริ่มด้วยการทำความรู้จักกับเดือนนี้อย่างพอสังเขป
เดือนเราะบีอุลเอาวัล
คือ เดือนที่สามตามปฏิทินฮิจเราะฮฺศักราช มีชื่อเรียกว่าเราะบีอุลเอาวัล โดยสาเหตุที่เรียกว่าเอาวัล (เราะบีอฺที่หนึ่ง) ก็เพื่อให้แตกต่างจากเดือน เราะบีอุษษานี (เราะบีอฺที่สอง) ซึ่งเป็นเดือนถัดไป
อัซซะบีดีย์ กล่าวว่า “อัรเราะบีอฺเป็นส่วนหนึ่งของปี ซึ่งสำหรับชาวอาหรับนั้นมีอยู่สองเราะบีอฺด้วยกันคือ เราะบีอฺที่เป็นชื่อเดือน และเราะบีอฺที่เป็นชื่อฤดู (ใบไม้ผลิ) โดยเราะบีอฺที่เป็นชื่อเดือนนั้น ก็คือสองเดือนที่อยู่ถัดจากเดือนเศาะฟัรฺไป ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะเดิมทีชื่อของเดือนทั้งสองนั้นถูกกำหนดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว (ฤดูใบไม้ผลิ) จึงให้คงเรียกเช่นนั้นแม้ต่อมาเดือนดังกล่าวจะตรงกับฤดูอื่นๆ ก็ตาม ทั้งนี้ เราจะเรียกเดือนทั้งสองนี้ว่าเราะบีอุลเอาวัล และเราะบีอุษษานี” (ตาญุลอะรูส เล่ม 21 หน้า 19)
อบู หะนีฟะฮฺ กล่าวว่า “ฤดูหนาวซึ่งมีสองช่วงนั้น เราเรียกกันว่าเราะบีอฺทั้งสอง โดยช่วงแรกคือเราะบีอฺที่เป็นฤดูกาลของน้ำและฝน ส่วนช่วงที่สองเป็นเราะบีอฺที่พืชผลต้นไม้ผลิดอกเบ่งบาน” ท่านยังกล่าวอีกว่า “สำหรับชาวอาหรับนั้น ตลอดช่วงฤดูหนาวถือว่าเป็นเราะบีอฺ เพราะเป็นฤดูที่มีน้ำค้าง” (ตาญุลอะรูส เล่ม 21 หน้า 19)
อิบาดะฮฺที่มีบัญญัติให้ปฏิบัติในเดือนนี้
ผู้เขียนไม่เคยทราบเลยว่าในเดือนนี้มีอิบาดะฮฺใดที่ต้องปฏิบัติเป็นการเฉพาะเจาะจง นอกเหนือจากสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำโดยทั่วไปในเดือนอื่นๆ ดังนั้น การเจาะจงละหมาด ถือศีลอด เชือดสัตว์ หรือการสาบานใดๆ ในลักษณะเฉพาะสำหรับเดือนนี้ จึงถือเป็นเรื่องอุตริกรรมทั้งสิ้น
ส่วนผู้ที่ปฏิบัติโดยมิได้มีเจตนาเจาะจง แต่อาจตรงกับช่วงที่มีเวลาว่างพอดี หรือเพิ่งได้รับนิอฺมัตความโปรดปรานใดๆ เป็นพิเศษในเดือนนี้จึงอยากที่จะกระทำความดีเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการละหมาด ถือศีลอด หรืออิบาดะฮฺอื่นๆ เพื่อเป็นการขอบคุณต่ออัลลอฮฺ เช่นนี้ก็ถือว่าไม่เป็นไร เพราะเขามิได้กระทำโดยมีเจตนาเจาะจงเดือนนี้เป็นการเฉพาะ แต่เป้าหมายของเขาคือ การชุโกรฺขอบคุณอัลลอฮฺสำหรับความโปรดปรานที่พระองค์ทรงประทานให้ ซึ่งหากมีเวลาว่างหรือได้รับความโปรดปรานเช่นนี้ในเดือนอื่นๆ เขาก็จะปฏิบัติอย่างเดียวกันนี้
อุตริกรรมบางอย่างที่ปฏิบัติกันในเดือนนี้
ในจำนวนอุตริกรรมที่มักกระทำกันในเดือนนี้ก็คือ การจัดงานเฉลิมฉลองเมาลิดให้แก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยเฉพาะในวันที่สิบสองของเดือน โดยเข้าใจกันว่าเป็นการแสดงออกถึงความยินดีและเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่เป็นวันเกิดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และยึดถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงออกว่าเรานั้นรักท่านเพียงใด ยิ่งไปกว่านั้น บางคนถึงกับเข้าใจว่าการไม่เฉลิมฉลองเมาลิดนั้นเป็นการไม่ให้เกียรติท่าน และเป็นความบกพร่องต่อความรักที่พึงมีต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
ซึ่งที่ถูกต้องแล้วก็คือ การจัดงานเฉลิมฉลองเมาลิดในวันที่สิบสองเดือนเราะบีอุลเอาวัล หรือแม้แต่ในวันหรือเดือนอื่นๆ ก็ตามนั้น ถือเป็นเรื่องอุตริกรรมทั้งสิ้น
ซึ่งหลักฐานในเรื่องดังกล่าวมีดังนี้
หนึ่ง หลักฐานจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺ ที่ระบุถึงหน้าที่ของเราทุกคนว่าจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งใช้ และหลีกห่างจากการทำบิดอะฮฺอุตริกรรม เช่น
1. ดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ว่า
﴿ فَلۡيَحۡذَرِ ٱلَّذِينَ يُخَالِفُونَ عَنۡ أَمۡرِهِۦٓ أَن تُصِيبَهُمۡ فِتۡنَةٌ أَوۡ يُصِيبَهُمۡ عَذَابٌ أَلِيمٌ ٦٣ ﴾ [النور : ٦٣]
“ดังนั้น บรรดาผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเขา (มุหัมมัด) จงระวังตัวเถิดว่า ฟิตนะฮฺจะเกิดขึ้นแก่พวกเขา หรือว่าการลงโทษอันเจ็บปวดนั้นจะเกิดขึ้นแก่พวกเขาเช่นกัน” (อันนูร: 63)
ซึ่งแน่นอนว่าการจัดงานเมาลิดนั้นไม่ใช่คำสั่งของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยท่านเองไม่เคยบอกว่าสิ่งนี้เป็นวาญิบหรือส่งเสริมให้กระทำแต่อย่างใด ทั้งนี้ ไม่มีรายงานใดๆ จากท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ หรือแม้แต่หะดีษเฎาะอีฟ (อ่อน)
ฉะนั้น การจัดงานเมาลิดจึงถือเป็นการกระทำที่ขัดกับคำสั่งใช้ของท่าน และเข้าข่ายพฤติกรรมอันตรายที่อัลลอฮฺทรงเตือนไว้ในอายะฮฺข้างต้น ซึ่งจะนำพาไปสู่การประสบกับฟิตนะฮฺต่างๆ และการลงโทษอันแสนสาหัส
คำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า ﴿ أَن تُصِيبَهُمۡ فِتۡنَةٌ ﴾ นั้น อิบนุ กะษีรฺ ได้ให้คำอธิบายไว้ดังนี้ “คือ ฟิตนะฮฺจะเกิดขึ้นในหัวใจของพวกเขาในรูปของการปฏิเสธศรัทธา ความกลับกลอก หรือการลุ่มหลงไปกับอุตริกรรมต่างๆ” (ตัฟสีรฺอิบนุกะษีร หน้า 136)
2. อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿ ٱلۡيَوۡمَ أَكۡمَلۡتُ لَكُمۡ دِينَكُمۡ وَأَتۡمَمۡتُ عَلَيۡكُمۡ نِعۡمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ ٱلۡإِسۡلَٰمَ دِينٗاۚ ٣ ﴾ [المائدة: ٣]
“วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้วซึ่งศาสนาของพวกเจ้า และข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้วซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาแก่พวกเจ้าแล้ว” (อัลมาอิดะฮฺ: 3)
อิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุมา ได้อธิบายอายะฮฺข้างต้นว่า “อัลลอฮฺได้ตรัสแก่ท่านนบี และบรรดาผู้ศรัทธาว่า พระองค์ได้ทรงทำให้ศาสนาและศรัทธาของพวกเขาสมบูรณ์แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มเติมสิ่งใดอีก เพราะทุกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์โดยไม่มีข้อบกพร่องใดๆ และพระองค์ทรงพอพระทัย และไม่ทรงโกรธเคืองอีก” (ตัฟสีรฺอิบนุกะษีรฺ เล่ม 2 หน้า 12)
ทั้งนี้ การจัดงานเมาลิดนั้นไม่ใช่ส่วนหนึ่งของศาสนาที่อัลลอฮฺทรงบัญญัติไว้แต่อย่างใด โดยอัลลอฮฺได้ทรงให้ศาสนาครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จึงไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะในอัลกุรอานหรือสุนนะฮฺ จึงถือเป็นบิดอะฮฺอย่างแน่นอน หรือผู้ที่อุตริสิ่งนี้ขึ้นมาจะยอมรับข้อใดข้อหนึ่งจากสองข้อต่อไปนี้
· หากพวกเขาคิดว่าการจัดงานเมาลิดเป็นส่วนหนึ่งของบัญญัติศาสนาซึ่งอัลลอฮฺทรงทำให้สมบูรณ์แล้ว พวกเขาก็มีหน้าที่ต้องนำหลักฐานมายืนยันคำกล่าวอ้างนั้น
· หรือพวกเขายอมรับว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มิได้สั่งใช้ให้กระทำทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่าพวกเขากล่าวอ้างว่าอายะฮฺข้างต้นไม่ถูกต้อง และศาสนาในยุคของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องให้พวกเขาเพิ่มเติมการจัดงานเมาลิดเข้าไป เพื่อให้ศาสนามีความสมบูรณ์?
3. ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า ท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« إنّ الزّمَانَ قَدْ اسْتَدَارَ كَهَيْئَتِهِ يَوْمَ خَلَقَ اللّهُ السّمَوَاتِ وَالْأَرْضَ » [رواه البخاري 3/241 ومسلم 5/132]
“แท้จริงเวลาได้หมุนเวียนกลับสู่สภาพเดิมเหมือนวันที่อัลลอฮฺทรงสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดินขึ้นมา” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 241 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 132)
ไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ ในหมู่อุละมาอ์ผู้ยึดมั่นในสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่าการจัดงานเมาลิดนั้นเป็นสิ่งที่อุตริขึ้นมาใหม่ภายหลัง และไม่ปรากฏว่ามีการจัดงานดังกล่าวในสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรือในยุคเศาะหาบะฮฺและบรรพชนสามรุ่นแรกที่มีความประเสริฐแต่อย่างใด เป็นสิ่งที่ประชาชาติอิสลามไม่เคยรู้จัก จนกระทั่งพวก “อุบัยดิยูน” (ชีอะฮฺกลุ่มหนึ่ง) ได้อุตริมันขึ้นมา
พวกอุบัยดิยูนนี้คือกลุ่มคนที่แอบอ้างว่าสืบเชื้อสายมาจากลูกหลานของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา โดยพวกเขาเป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรฟาฏิมียะฮฺ (ฟาติไมต์)ในอิยิปต์ และริเริ่มการจัดงานเฉลิมฉลองเมาลิดในปลายศตวรรษที่สี่ของปีฮิจเราะฮฺศักราช ดังที่อัลมุกรีซีย์ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “อัลคิฏ็อฏ” ของเขาว่าบรรดาผู้นำของอาณาจักรฟาฏิมิยะฮฺได้จัดงานเฉลิมฉลองมากกว่ายี่สิบงานตลอดทั้งปี ซึ่งหนึ่งในเทศกาลเฉลิมฉลองที่พวกเขาอุตริขึ้นนั้นก็คืองานเมาลิดนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นอกจากนี้ก็ยังมีงานเมาลิดอะลี บิน อบีฏอลิบ เมาลิดหะสัน เมาลิดหุเสน และเมาลิดฟาฏิมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม (อัลคิฏ็อฏ เล่ม 1 หน้า 490)
เมื่อสรุปได้จากที่กล่าวมาว่างานเมาลิดนั้นบิดอะฮฺที่อุตริขึ้นมาใหม่ การจัดงานดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ถูกปฏิเสธและไม่ถูกยอมรับ ดังปรากฏหลักฐานจากหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งผู้ที่กระทำก็จะไม่ได้รับผลบุญตอบแทนใดๆ หนำซ้ำยังจะต้องได้รับโทษ ดังที่มีหลักฐานมากมายกล่าวถึงบทลงโทษของบรรดาผู้ที่กระทำอุตริกรรมที่ค้านกับสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
สอง การจัดงานฉลองเมาลิดโดยถือเป็นเรื่องศาสนา และเป็นการแสดงถึงความรักที่มีต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้น หากจะกล่าวว่าเศาะหาบะฮฺ ตาบิอีน และบรรพชนยุคแรกไม่เคยรับรู้ว่ามีบทบัญญัตินี้อยู่ ก็เท่ากับเป็นการดูหมิ่นเกียรติและความรู้ของพวกท่านเหล่านั้น เป็นการกล่าวหาว่าพวกท่านบกพร่องในวิชาความรู้และความเข้าใจจึงไม่เคยพบหลักฐานในเรื่องนี้ ปล่อยให้คนยุคหลังมาค้นพบกันเองว่าการจัดงานเมาลิดนั้นมีบัญญัติไว้ในศาสนาและเป็นการแสดงออกถึงความรักที่มีต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
ในทางกลับกัน หากจะกล่าวว่าพวกท่านเหล่านั้นรู้ ทั้งที่ปรากฏชัดว่าพวกท่านไม่เคยปฏิบัติเลย ก็เท่ากับเป็นการจาบจ้วงพวกท่านอีกเช่นกัน เพราะเป็นการกล่าวหาว่าพวกท่านนั้นรู้แต่ไม่ปฏิบัติ และเท่ากับว่าคนยุคหลังนั้นมีความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติคุณงามความดีมากกว่า
ดังนั้น ผู้ที่อุตริงานเมาลิดขึ้นมาคงจะเข้าใจว่าตนเองนั้นเหนือกว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺในแง่ของวิชาความรู้ หรือไม่ก็เหนือกว่าพวกท่านในด้านการปฏิบัติอิบาดะฮฺ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ถือเป็นความหลงผิดอย่างร้ายแรง และค้านกับหลักฐานที่บ่งชี้ว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺตลอดจนบรรพชนยุคแรกนั้นมีความประเสริฐยิ่งกว่าคนในยุคหลัง
สาม หากว่าการจัดงานเมาลิดที่อุตริขึ้นโดยพวกชีอะฮฺอุบัยดิยูนซึ่งปกครองอาณาจักรฟาฏิมิยะฮฺในช่วงปลายศตวรรษที่สี่นั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้องและควรปฏิบัติตาม ก็เท่ากับว่าอัลลอฮฺทรงไม่ให้เกียรติประชาชาติผู้มีความประเสริฐอย่างเศาะหาบะฮฺ ตาบิอีน และผู้คนในยุคแรก ตลอดจนบรรดาอุละมาอ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่และปกป้องศาสนา โดยที่พระองค์ไม่ทรงชี้แนะให้พวกท่านเหล่านั้นได้มีความรู้และได้ปฏิบัติความดีนี้ ทั้งที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า
﴿ وَٱلَّذِينَ جَٰهَدُواْ فِينَا لَنَهۡدِيَنَّهُمۡ سُبُلَنَاۚ وَإِنَّ ٱللَّهَ لَمَعَ ٱلۡمُحۡسِنِينَ ٦٩ ﴾ [العنكبوت: ٦٩]
“และบรรดาผู้ต่อสู้ดิ้นรนในทางของเรา แน่นอนเราจะชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่พวกเขาสู่ทางของเรา และแท้จริงอัลลอฮฺทรงอยู่ร่วมกับผู้กระทำความดีทั้งหลาย” (อัลอันกะบูต :69)
แต่พระองค์กลับไปให้ทางนำดังกล่าวแก่พวกอุบัยดิยูน ที่มาภายหลังจากสิ้นสุดยุคสมัยแห่งประชาชาติผู้มีความประเสริฐไปแล้ว ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นต่างจากโลกนี้ไปโดยที่ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่ามีงานเฉลิมฉลองที่เรียกว่าเมาลิดบัญญัติไว้ในศาสนาด้วย กลับกลายเป็นพวกชีอะฮฺอุบัยดิยูนที่ได้มีโอกาสรู้และได้ปฏิบัติ ยิ่งไปกว่านั้นยังเท่ากับว่าพวกอุบัยดิยูนคือผู้ที่มีความเหมาะสมในการทำหน้าที่สืบทอดศาสนา และเท่ากับว่าสิ่งที่บรรดาบรรพชนยุคแรกได้ปฏิบัติไว้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้ย่อมเป็นเรื่องที่ผิดอย่างไม่ต้องสงสัย และไม่มีมุสลิมคนใดจะกล่าวอ้างเช่นนั้นได้
สี่ การจัดงานเมาลิดนั้น เป็นสิ่งที่บรรดาอุละมาอ์ผู้ทรงความรู้ทั้งหลายต่างปฏิเสธอย่างแข็งขันและตัดสินชี้ขาดว่าเป็นอุตริกรรม จึงจำเป็นที่เราจะต้องปฏิบัติตามแนวทางของพวกท่านเหล่านั้น ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสว่า
﴿ وَمَن يُشَاقِقِ ٱلرَّسُولَ مِنۢ بَعۡدِ مَا تَبَيَّنَ لَهُ ٱلۡهُدَىٰ وَيَتَّبِعۡ غَيۡرَ سَبِيلِ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ نُوَلِّهِۦ مَا تَوَلَّىٰ وَنُصۡلِهِۦ جَهَنَّمَۖ وَسَآءَتۡ مَصِيرًا ١١٥ ﴾ [النساء : ١١٥]
“และผู้ใดที่ฝ่าฝืนเราะสูล หลังจากที่คำแนะนำอันถูกต้องได้ประจักษ์แก่เขาแล้ว และเขายังปฏิบัติตามแนวทางที่มิใช่ทางของบรรดาผู้ศรัทธานั้น เราก็จะให้เขาหันไปตามที่เขาได้หันไป และเราจะให้เขาเข้านรกญะฮันนัม และมันเป็นที่กลับอันชั่วร้าย” (อันนิสาอ์: 115)
ซึ่งอุละมาอ์ผู้ยึดมั่นในแบบฉบับของศาสนาก็คือ บรรดาผู้ศรัทธาที่อัลลอฮฺได้ทรงแนะนำให้เราปฏิบัติตามแนวทางของพวกท่าน และทรงเตือนสำทับมิให้ออกจากแนวทางดังกล่าว และต่อไปนี้ก็คือส่วนหนึ่งจากคำพูดของอุละมาอ์เกี่ยวกับเรื่องนี้
ชัยคุลอิสลาม กล่าวว่า “ส่วนการจัดงานฉลองเทศกาลที่ไม่ได้มีบัญญัติไว้ เช่น การเฉลิมฉลองในบางค่ำคืนของเดือนเราะบีอุลเอาวัลที่เรียกกันว่างานเมาลิด สิ่งนี้เป็นเรื่องอุตริกรรมซึ่งไม่มีชาวสะลัฟคนใดเคยกระทำหรือเห็นว่าเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำ” (มัจญฺมูอฺ อัลฟะตาวา เล่ม 25 หน้า 298)
อัชชาฏิบีย์ ได้กล่าวถึงสิ่งที่เป็นอุตริกรรมว่า “และหนึ่งในนั้นก็คือการปฏิบัติการงานโดยยึดรูปแบบหรือลักษณะเฉพาะ เช่น การรวมตัวกันกล่าวซิกรุลลอฮฺโดยเปล่งเสียงออกมาอย่างพร้อมเพียงกัน การยึดถือเอาวันเกิดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นวันเฉลิมฉลองรื่นเริง และพฤติกรรมอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันนี้” (อัลอิอฺติศอม เล่ม 1 หน้า 39)
อัลฟากิฮานีย์ ได้กล่าวตอบผู้ที่ถามท่านเกี่ยวกับการจัดงานฉลองเมาลิดว่า “ฉันไม่เคยรู้เลยว่าการจัดงานเมาลิดนั้นมีที่มาที่ไปในศาสนาไม่ว่าจะในอัลกุรอานหรือสุนนะฮฺ และไม่มีข้อมูลว่าอุละมาอ์ท่านใดเคยปฏิบัติ ทั้งที่พวกเขาคือบุคคลตัวอย่างในเรื่องศาสนาและการยึดมั่นในแนวทางของบรรพชนยุคแรก จึงถือเป็นอุตริกรรมอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นเพียงสิ่งที่พวกว่างงานและพวกที่นิยมชื่นชอบการดื่มกินอุตริขึ้นมาเท่านั้น” (อัลเมาริด ฟี อะมัล อัลเมาลิด หน้า 20-22)
อิบนุหะญัร กล่าวว่า “เรื่องการจัดงานเมาลิดนั้นเป็นบิดอะฮฺ และไม่มีรายงานใดระบุว่าบรรดาสะลัฟในยุคแรกได้เคยกระทำกัน” (อัลหาวีย์ โดยอัสสะยูฏีย์ เล่ม 1 หน้า 196)
อัสสะคอวีย์ กล่าวว่า “ไม่เคยมีรายงานจากบรรดาสะลัฟในสามยุคแรกอันประเสริฐเกี่ยวกับการจัดงานเมาลิดเลย ทว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในภายหลัง” (อัลเมาริด อัรเราะวีย์ ฟี อัลเมาลิด อันนะบะวีย์ โดยมุลลา กอรีย์ หน้า 12)
อิบนุ อัลหาจญ์ กล่าวว่า “หากว่างานเมาลิดที่จัดขึ้นนั้นมิได้มีเรื่องของเสียงเพลงและเครื่องดนตรีประกอบ แต่เป็นเพียงการจัดเตรียมอาหาร พร้อมเนียตว่าเป็นการจัดงานเมาลิด แล้วเชิญชวนผู้คนมาร่วมรับประทานอาหารนั้น โดยไม่มีเรื่องอื่นๆ ที่ผิดหลักการศาสนา ก็ถือเป็นอุตริกรรมเพราะเนียตดัง กล่าว เนื่องจากเป็นการเพิ่มสิ่งใหม่เข้าไปในศาสนาโดยที่มิได้เป็นการกระทำของบรรดาสะลัฟในยุคแรก ทั้งนี้ การปฏิบัติตามสะลัฟย่อมเป็นการสมควรและจำเป็นยิ่งกว่าการที่เราจะไปเพิ่มการเนียตใดๆ ที่ค้านกับสิ่งที่พวกเขาเคยปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่าง” (อัลมัดค็อล เล่ม 2 หน้า 11-12)
เชคอับดุลอะซีซ บิน บาซ กล่าวหลังจากที่ท่านได้ยกหลักฐานที่ห้ามกระทำอุตริกรรมว่า “จากที่กล่าวมาทั้งหมดคงเป็นที่ชัดเจนดีแล้วสำหรับผู้ที่มีสติปัญญาและมุ่งหวังที่จะค้นหาสัจธรรมความถูกต้องด้วยใจที่เป็นธรรม ว่าการจัดงานเฉลิมฉลองเมาลิดนั้นไม่ได้มีบัญญัติไว้ในศาสนาอิสลาม แต่เป็นอุตริกรรมที่อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ได้กำชับให้เราละทิ้งและออกห่าง จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่ผู้มีสติปัญญาจะหลงคล้อยตามเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ผู้คนปฏิบัติกันอย่างมากมายทั่วทุกมุมโลก เพราะแท้ที่จริงแล้วสัจธรรมความถูกต้องไม่ได้วัดกันที่จำนวนของผู้ปฏิบัติว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่เป็นเครื่องตัดสินคือตัวบทหลักฐานตามบทบัญญัติศาสนาต่างหาก” (มัจญฺมูอฺ ฟะตาวา เชคบินบาซ หน้า 1183)
ห้า ความรักและการเทิดทูนท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นหนึ่งในรากฐานหลักที่สำคัญของศาสนา โดยศรัทธาจะยังคงไม่สมบูรณ์หากขาดสิ่งนี้ไป ดังปรากฏในหะดีษซึ่งรายงานโดยท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« لا يُؤْمِنُ أَحَدُكُمْ حَتَّى أَكُونَ أَحَبَّ إلَيْـهِ مِنْ وَالِدِهِ وَوَلَدِهِ وَالنَّاسِ أَجْمَعِينَ » [رواه البخاري برقم 10 ومسلم برقم 49]
“คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านจะยังไม่ศรัทธาอย่างสมบูรณ์ จนกว่าฉันจะเป็นที่รักแก่เขายิ่งกว่าบิดาของเขา ลูกของเขา และมนุษย์ทั้งหมด” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 10 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 49)
ทั้งนี้ แก่นแท้ของความรักที่มีต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คือการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของท่าน และหลีกห่างจากสิ่งที่ท่านห้าม มิใช่การปฏิบัติในสิ่งที่ท่านห้าม แล้วพร่ำบอกว่าทำไปเพราะรักท่าน
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿ قُلۡ إِن كُنتُمۡ تُحِبُّونَ ٱللَّهَ فَٱتَّبِعُونِي يُحۡبِبۡكُمُ ٱللَّهُ ٣١ ﴾ [آل عمران: ٣١]
“จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮฺ ก็จงปฏิบัติตามฉัน อัลลอฮฺก็จะทรงรักพวกท่าน” (อาลอิมรอน: 31)
ในอายะฮฺนี้พระองค์ตรัสอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่บ่งบอกว่าเรานั้นรักพระองค์ก็คือการเชื่อฟังท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ปฏิบัติตามแบบฉบับของท่าน และรักท่านนั่นเอง
อัชชาฟีอีย์ กล่าวว่า
تَعْصِي الإِلهَ وَأَنْتَ تَزْعمُ حُبَّهُ هَذا لَعَمْرِي في القِيَاسِ بَدِيْعُ
لَوْ كانَ حُبُّكَ صَادِقًا لَأَطَعْتَهُ إِنَّ المُحِبَّ لِمَنْ يُحِبُّ مُطِيْـعُ
คุณฝ่าฝืนพระเจ้าแต่กลับอ้างว่ารักพระองค์
มันช่างเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเสียนี่กระไร
หากคุณรักจริงคุณต้องเชื่อฟังพระองค์สิ
เพราะคนเรานั้นย่อมเชื่อฟังคนที่เรารัก
หก อีกเหตุผลหนึ่งที่กลุ่มคนซึ่งอุตริงานเมาลิดมักยกขึ้นมาอ้างก็คือ การจัดงานเมาลิดนั้นเมื่อใช้สติปัญญาพิจารณาดูแล้วจะพบว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการแสดงออกถึงความรักที่มีต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
ความคิดเช่นนี้ถือเป็นการเปิดช่องให้มีการอุตริสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาอีกมากมาย ตามแต่ที่สติปัญญาจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็อาจจะมีบางคนคิดจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงชัยชนะของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในสงครามบะดัร อีกคนก็อาจจะเลือกฉลองกับชัยชนะในสงครามอุหุด ในขณะที่อีกหลายต่อหลายคนก็อาจจะเลือกฉลองกับชัยชนะในสงครามค็อนดัก วันพิชิตมักกะฮฺ หรือสงครามหุนัยนฺ
ในขณะที่บางคนอาจมีความคิดว่าคงเป็นการดีกว่าหากจะจัดงานฉลองเนื่องในวันที่ท่านนบีอพยพ ซึ่งบางคนก็อาจจะแย้งว่าวันที่ท่านประกอบพิธีหัจญ์น่าจะเหมาะสมกว่า เพราะเป็นวันที่ประชาชาติของท่านร่วมเป็นสักขีพยานยืนยันว่าท่านได้ทำหน้าที่ของท่านอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว เป็นเช่นนี้เรื่อยไป เพราะสิ่งที่สติปัญญาคิดว่าดีนั้นไม่มีที่สิ้นสุด แล้วเราควรที่จะปฏิบัติตามความคิดของกลุ่มใด? และสติปัญญาของผู้ใดเล่าที่จะเป็นเกณฑ์ตัดสินเรื่องศาสนา? ดังนั้น เมื่อผู้ที่ยึดสติปัญญาขัดแย้งเห็นต่างกันโดยไม่มีข้อยุติ พวกเขาก็จะตระหนักว่าสิ่งที่เป็นตัวตัดสินชี้ขาดอย่างแท้จริงก็คือการกลับไปหาและยึดมั่นในสุนนะฮฺนั่นเอง
ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ เป็นหลักฐานอันชัดเจนว่าการจัดงานเมาลิดนั้นเป็นสิ่งที่หะรอมในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะทำคนเดียว ทำเป็นกลุ่ม และไม่ว่าจะมีการอ่านอัลกุรอาน กล่าวบทกลอนสรรเสริญท่านนบี หรือจัดเลี้ยงอาหารประกอบด้วยหรือไม่ก็ตาม และที่เลวร้ายที่สุดก็คือ สิ่งหะรอมต้องห้ามต่างๆ ที่มีขึ้นในงาน เช่น การร้องรำทำเพลง หรือการปะปนกันระหว่างบุรุษสตรี ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งต้องห้าม งานเมาลิดหลายๆ งานก็รวมเอาทั้งอุตริกรรมและสิ่งต้องห้ามเข้าด้วยกัน กระทั่งว่าการจัดงานเมาลิดในหลายประเทศกลายเป็นช่องทางให้ผู้คนกระทำสิ่งที่หะรอม ภายใต้ชื่องานเฉลิมฉลองเมาลิดนบีซึ่งอ้างว่าจัดขึ้นเพื่อแสดงออกถึงความรักและการเทิดทูนท่าน
วัลลอฮุอะอฺลัม
وصلى الله وسلم على عبده ونبيه محمد،
وعلى آله وصحبه أجمعين
ที่มา
http://al-rehaili.net/rehaili/index.php?page=article&action=article&article=25