บททดสอบที่เกิดจากทรัพย์สินเงินทอง
หมวดหมู่
Full Description
บททดสอบที่เกิดจากทรัพย์สินเงินทอง
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ
ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา
ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-
มุลกอฮฺ
2012 - 1433
فتنة المال
« باللغة التايلاندية »
د. أمين بن عبدالله الشقاوي
ترجمة: حسنى فوانجسيري
مراجعة: عصران نيومديشا
المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة
2012 - 1433
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
บททดสอบที่เกิดจากทรัพย์สินเงินทอง
มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและศานติจงประสบแด่ศาสนทูตของพระองค์ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์
หนึ่งในความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์อัลลอฮฺทรงประทานแก่บรรดาบ่าวของพระองค์ คือทรัพย์สินเงินทอง ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า:
﴿ ٱلۡمَالُ وَٱلۡبَنُونَ زِينَةُ ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَاۖ ٤٦ ﴾ [الكهف: ٤٦]
ความว่า “ทรัพย์สมบัติและลูกหลาน คือเครื่องประดับแห่งการดำรงชีวิตในโลกนี้” (อัล-กะฮฺฟฺ: 46)
และยังตรัสแก่นบีของพระองค์ถึงความโปรดปรานนี้ว่า:
﴿ وَوَجَدَكَ عَآئِلٗا فَأَغۡنَىٰ ٨ ﴾ [الضحى: ٨]
ความว่า “และทรงพบเจ้าเป็นผู้ขัดสน แล้วให้มั่งคั่งแก่เจ้าดอกหรือ?” (อัฎ-ฎุหา: 8)
และตรัสอีกว่า:
﴿ زُيِّنَ لِلنَّاسِ حُبُّ ٱلشَّهَوَٰتِ مِنَ ٱلنِّسَآءِ وَٱلۡبَنِينَ وَٱلۡقَنَٰطِيرِ ٱلۡمُقَنطَرَةِ مِنَ ٱلذَّهَبِ وَٱلۡفِضَّةِ وَٱلۡخَيۡلِ ٱلۡمُسَوَّمَةِ وَٱلۡأَنۡعَٰمِ وَٱلۡحَرۡثِۗ ذَٰلِكَ مَتَٰعُ ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَاۖ وَٱللَّهُ عِندَهُۥ حُسۡنُ ٱلۡمََٔابِ ١٤ ﴾ [آل عمران: ١٤]
ความว่า “ได้ถูกทำให้สวยงามลุ่มหลงแก่มนุษย์ ซึ่งความรักในบรรดาสิ่งที่เป็นเสน่ห์ อันได้แก่ผู้หญิงและลูกชาย ทองและเงินอันมากมาย และม้าดีและปศุสัตว์ และไร่นา นั่นเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ชั่วคราวในชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้เท่านั้น และอัลลอฮฺนั้น ณ พระองค์ คือที่กลับอันสวยงาม” (อาลอิมรอน: 14)
ท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เคยกล่าวว่า: "โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงพวกเราคงไม่มีความยินดีใดๆ นอกจากในสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้แก่พวกเรา โอ้พระองค์ ฉันขอวิงวอนจากพระองค์ให้ฉันได้ใช้จ่ายมันตามสิทธิของมันด้วยเถิด" (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ บทว่าด้วยการขัดเกลาจิตใจ)
และแน่นอนว่าทรัพย์สินเงินทองนั้นอาจถูกใช้ไปในทางที่ดี หรือในทางที่ไม่ดีก็ได้ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า:
﴿ إِنَّمَآ أَمۡوَٰلُكُمۡ وَأَوۡلَٰدُكُمۡ فِتۡنَةٞۚ وَٱللَّهُ عِندَهُۥٓ أَجۡرٌ عَظِيمٞ ١٥ ﴾ [التغابن : ١٥]
ความว่า “แท้จริง ทรัพย์สมบัติของพวกเจ้าและลูกหลานของพวกเจ้านั้นเป็นเครื่องทดสอบ และอัลลอฮฺนั้น ณ ที่พระองค์มีรางวัลอันยิ่งใหญ่” (อัตตะฆอบุน: 15)
ดังนั้น ทรัพย์สินจึงถือเป็นฟิตนะฮฺประการหนึ่งที่เป็นบททดสอบสำคัญสำหรับบรรดามุอ์มินผู้ศรัทธา และคงมีไม่มากนักที่จะสามารถยืนหยัดอดทนต่อสิ่งเย้ายวนนี้ได้ ดังหะดีษซึ่งรายงานโดยท่านอิยาฏ บิน หิมารฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«إِنَّ لِكُلِّ أُمَّةٍ فِتْنَةً ، وَإِنَّ فِتْنَةَ أُمَّتِي المَالُ» [رواه أحمد برقم 17471]
ความว่า “แท้จริงทุกๆ ประชาชาติจะต้องพบเจอกับฟิตนะฮฺ และฟิตนะฮฺที่ประชาชาติของฉันจะต้องพบเจอก็คือทรัพย์สินเงินทอง” (บันทึกโดย อะหฺมัด หะดีษเลขที่: 17471)
ท่านอิมามอะหฺมัด บิน หันบัล ได้กล่าวว่า "พวกเราเคยถูกทดสอบในเรื่องความเดือดร้อนและเราก็อดทนได้ แต่เมื่อถูกทดสอบด้วยความสุขสบาย เรากลับไม่สามารถอดทนได้"
และแน่นอนว่า บ่าวทุกคนจะต้องถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺถึงทรัพย์สินของเขาว่าได้ใช้ไปอย่างไร? ท่านอบู บัรซะฮฺ อัล-อัสละมียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«لَا تَزُوْلُ قَدَمَا عَبْدٍ يَوْمَ القِيَامَةِ حَتَّى يُسْأَلَ : عَنْ عُمُرِهِ فِيْمَا أَفْنَاهُ ، وَعَنْ عِلْمِهِ فِيْمَ فَعَلَ ، وَعَنْ مَاِلهِ مِنْ أَيْنَ اكْتَسَبَهُ وَفِيْمَ أَنْفَقَهُ ، وَعَنْ جِسْمِهِ فِيْمَ أَبْلَاهُ» [رواه الترمذي برقم 2416، وقال : حديث حسن صحيح]
ความว่า “เท้าทั้งสองของบ่าวจะยังคงอยู่กับที่ในวันกิยามะฮฺ จนกว่าเขาจะถูกถามถึงอายุของเขาว่าเสียเวลาไปกับเรื่องใด? ความรู้ของเขาว่าได้ใช้ไปในทิศทางใด? ทรัพย์สินของเขาว่าแสวงหามาจากที่ใด และใช้จ่ายมันไปอย่างไร? และร่างกายของเขาว่าได้ทำอะไรไปบ้าง?" (บันทึกโดย อัตติรมีซียฺ หะดีษเลขที่: 2416 โดยท่านระบุว่าเป็นหะดีษหะสันเศาะฮีหฺ)
และท่านอุซามะฮฺ บิน เซด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«قُمْتُ عَلَى بَابِ الجَنَّةِ فَكَانَ عَامَّةَ مَنْ دَخَلَهَا المَسَاكِيْنَ، وَأَصْحَابُ الجَدِّ مَحْبُوْسُوْنَ» [رواه البخاري برقم 5196، ومسلم برقم 2736]
ความว่า “ฉันได้เคยยืนอยู่ ณ ประตูสวรรค์ และได้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ที่ได้เข้าไปในสวรรค์นั้น คือบรรดาผู้ยากจนขัดสน ในขณะที่บรรดาผู้ร่ำรวยมั่งมียังถูกกักกันไว้เพื่อการสอบสวน” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่: 5196 และมุสลิม หะดีษเลขที่: 2736)
จิตใจของมนุษย์นั้นถูกสร้างขึ้นมาให้มีความโน้มเอียงไปทางรักและหวงแหนในทรัพย์สิน ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า:
﴿ وَتُحِبُّونَ ٱلۡمَالَ حُبّٗا جَمّٗا ٢٠ ﴾ [الفجر: ٢٠]
ความว่า “และพวกเจ้ารักสมบัติกันอย่างมากมาย” (อัล-ฟัจญ์รฺ: 20)
ท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«لَوْكَانَ لابْنِ آدَمَ وَادِيَانِ مِنْ مَالٍ لَابْتَغَى ثَالِثًا ، وَلَا يَمْلَأُ جَوْفَ ابْنِ آدَمَ إِلَّا التُّرَابُ» [البخاري برقم 6436، ومسلم برقم 1049]
ความว่า “ถ้าหากว่าลูกหลานอาดัมได้ครอบครองหุบเขาสองหุบเขาซึ่งเต็มไปด้วยทรัพย์สินเงินทอง เขาก็ยังหวังที่จะครอบครองหุบเขาที่สาม และเขาก็จะยังคงแสวงหาสิ่งนั้นอย่างไม่มีวันอิ่มเอิบ จนกว่าจะสิ้นลมหายใจ” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่: 6436 และมุสลิม หะดีษเลขที่: 1049)
ท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«يَكْبَرُ ابْنُ آدَمَ وَيَكْبَرُ مَعَهُ اثْنَانِ : حُبُّ المَالِ وَطُوْلُ العُمْرِ» [البخاري برقم 6421، ومسلم برقم 147]
ความว่า “ลูกหลานของอาดัมเติบโตขึ้นพร้อมกับการเพิ่มพูนของสองสิ่ง นั่นก็คือความรักในทรัพย์สิน และความหวังที่จะมีชีวิตอันยืนยาว” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่: 6421 และมุสลิม หะดีษเลขที่: 147)
และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เตือนประชาชาติของท่านให้ระวังฟิตนะฮฺที่เกิดจากทรัพย์สิน ดังปรากฏในหะดีษที่รายงานโดยท่านอัมรฺ บิน เอาฟฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวแก่บรรดาเศาะหาบะฮฺว่า:
«فَأَبْشِرُوْا وَأَمِّلُوْا مَا يَسُرُّكُمْ، فَوَ اللهِ لَا الفَقْرَ أَخْشَى عَلَيْكُمْ أَنْ تُبْسَطَ عَلَيْكُمْ الدُنْيَا كَمَا بُسِطَتْ عَلَى مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ ، فَتَنَافَسُوْهَا كَمَا تَنَافَسُوْهَا ، وَتُهْلِكَكُمْ كَمَا أَهْلَكَتْهُمْ» [البخاري برقم 4015، ومسلم برقم 2961]
ความว่า “พวกท่านจงแจ้งข่าวดี และจงหวังในสิ่งที่จะทำให้พวกท่านมีความปีติยินดี ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันไม่ได้เป็นห่วงพวกท่านในเรื่องของความยากจน แต่ที่ฉันเป็นห่วงคือการที่ความสุขสบายในโลกดุนยาถูกอำนวยให้แก่พวกท่านดังเช่นที่ชนก่อนหน้าพวกท่านได้รับ แล้วพวกท่านก็แก่งแย่งแข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้นดังเช่นที่พวกเขาเคยแก่งแย่งกัน แล้วมันก็จะนำมาซึ่งความหายนะแก่พวกท่าน ดังเช่นที่มันได้สร้างความหายนะแก่พวกเขา” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่: 4015 และมุสลิม หะดีษเลขที่: 2961)
ซึ่งถ้าเราได้สังเกตสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในยุคสมัยนี้ พวกเขาต่างมุ่งแสวงหาทรัพย์สินอย่างหน้ามืดตามัว โดยไม่คำนึงว่าวิธีการได้มาซึ่งทรัพย์สินเหล่านั้นถูกต้องตามหลักศาสนาหรือไม่? เช่นการลงทุนลงหุ้นในกิจการที่หมิ่นเหม่น่าสงสัย หรือการเกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่ผิดหลักศาสนาผิดหลักจริยธรรม เช่น ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย การคดโกงฉ้อฉล หรือการบริโภคทรัพย์สินของผู้อื่นโดยอธรรม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยเตือนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า:
«لَيَأْتِيَنَّ عَلَى النَّاسِ زَمَانٌ لَا يُبَالِي المَرْءُ بِمَا أَخَذَ المَالَ : أَمِنَ حَلاَلٍ أَمْ مِنْ حَرَامٍ؟» [البخاري برقم 2083]
ความว่า “จะมียุคสมัยหนึ่ง ที่ผู้คนจะไม่ใส่ใจว่าทรัพย์สินที่แสวงหามาได้นั้น มาจากแหล่งที่หะล้าลหรือหะรอม?” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่: 2083)
ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลฮฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แนะนำและส่งเสริมให้ประชาชาติของท่านใช้ชีวิตอยู่ด้วยความพอดีไม่ฟุ้งเฟ้อ
ท่านอับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ บิน อัล-อาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«قَدْ أَفْلَحَ مَنْ أَسْلَمَ ، وَرُزِقَ كَفَافًا ، وَقَنَّعَهُ اللهُ بِمَا آتَاهُ» [مسلم برقم 1054]
ความว่า “แน่นอนชัยชนะจะประสบแด่ผู้ที่นอบรับในอิสลาม ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความพอดี และมีความพึงพอใจกับสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่เขา” (บันทึกโดย มุสลิม หะดีษเลขที่: 1054)
และในหะดีษซึ่งรายงานโดยท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«لَيْسَ الغِنَى عَنْ كَثْرَةِ العَرَضِ وَلَكِنَّ الغِنَى غِنَى النَّفْسِ» [البخاري برقم 6446، ومسلم برقم 1051]
ความว่า “ความร่ำรวยที่แท้จริงนั้น มิได้เกิดจากฐานะที่มั่งคั่งร่ำรวย แต่ทว่าเกิดจากจิตใจที่มีความพอเพียง” (บันทึกโดย อัลบุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 6446 และมุสลิม 1051)
กล่าวคือ ความร่ำรวยที่น่าสรรเสริญยกย่องนั้น คือการมีจิตใจที่ดีงามมีความเพียงพอไม่ละโมบโลภมาก มิใช่การมีทรัพย์สินมากมายแต่ไม่รู้จักพอ ดังนั้น ผู้ใดที่ยังมีความต้องการในทรัพย์สิน โดยที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีความพอใจกับสิ่งที่มี เขาผู้นั้นไม่ถือเป็นผู้ที่ร่ำรวยอย่างแท้จริง
กวีอาหรับท่านหนึ่งกล่าวว่า:
"มนุษย์เรานั้นมักกลัวเกรงรังเกียจความยากจน
ทั้งที่สิ่งนั้นดียิ่งกว่าความร่ำรวยที่พาให้ลุ่มหลง
จิตใจที่ร่ำรวยต่างหากคือความพอเพียงที่แท้จริง
หาไม่แล้วสรรพสิ่งในโลกก็คงมิอาจตอบสนองได้"
อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ต่างตำหนิผู้ที่ทำตัวเสมือนทาสของทรัพย์สินเงินทอง เมื่อได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการก็ชื่นชมพอใจ แต่เมื่อไม่ได้ก็โกรธเคืองผิดหวัง ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้
﴿وَمِنۡهُم مَّن يَلۡمِزُكَ فِي ٱلصَّدَقَٰتِ فَإِنۡ أُعۡطُواْ مِنۡهَا رَضُواْ وَإِن لَّمۡ يُعۡطَوۡاْ مِنۡهَآ إِذَا هُمۡ يَسۡخَطُونَ ٥٨﴾ [التوبة: 58]
ความว่า “และในหมู่พวกเขานั้นมีผู้ที่ตำหนิเจ้าในเรื่องสิ่งบริจาค ถ้าหากพวกเขาได้รับส่วนแบ่งจากสิ่งบริจาคนั้นพวกเขาก็ยินดี และหากพวกเขามิได้รับจากสิ่งบริจาคนั้น ทันใดพวกเขาก็โกรธ” (อัต-เตาบะฮฺ: 58)
ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«تَعِسَ عَبْدُ الدِّيْنَارِ ، وَالدِّرْهَمِ ، وَاْلَقطِيْفَةِ ، وَاْلخَمِيْصَةِ ، إِنْ أُعْطِيَ رَضِيَ ، وَإِنْ لَمْ يُعْطَ لَمْ يَرْضَ» [البخاري برقم 6435]
ความว่า “ผู้ที่ทำตัวเป็นทาสของทรัพย์สินเงินทองและเสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องนุ่งห่มนั้น เป็นผู้ที่อยู่ในความทุกข์ระทมยิ่ง เมื่อได้รับสิ่งที่ต้องการเขาก็พึงพอใจ แต่เมื่อไม่ได้รับก็กระวนกระวายเศร้าใจ” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่: 6435)
และหากเจ้าของทรัพย์สินเงินทองนั้นไม่ได้ใช้มันไปในทางที่ถูกต้องหรือได้ใช้จ่ายไปในทางที่ผิด ก็ถือว่าเขาเป็นผู้ที่ขาดทุนอย่างย่อยยับ ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า
﴿فَلَا تُعۡجِبۡكَ أَمۡوَٰلُهُمۡ وَلَآ أَوۡلَٰدُهُمۡۚ إِنَّمَا يُرِيدُ ٱللَّهُ لِيُعَذِّبَهُم بِهَا فِي ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَتَزۡهَقَ أَنفُسُهُمۡ وَهُمۡ كَٰفِرُونَ ٥٥﴾ [التوبة: 58]
ความว่า “ดังนั้นจงอย่าให้ทรัพย์สมบัติพวกเขาและลูกหลานของพวกเขาเป็นที่พึงใจแก่เจ้า แท้จริง อัลลอฮฺทรงต้องการที่จะลงโทษพวกเขาด้วยสิ่งเหล่านั้นในชีวิตแห่งโลกนี้ และให้ชีวิตของพวกเขาออกจากร่างไปขณะที่พวกเขาเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาเท่านั้น” (อัต-เตาบะฮฺ: 55)
และตรัสอีกว่า:
﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ يُنفِقُونَ أَمۡوَٰلَهُمۡ لِيَصُدُّواْ عَن سَبِيلِ ٱللَّهِۚ فَسَيُنفِقُونَهَا ثُمَّ تَكُونُ عَلَيۡهِمۡ حَسۡرَةٗ ثُمَّ يُغۡلَبُونَۗ وَٱلَّذِينَ كَفَرُوٓاْ إِلَىٰ جَهَنَّمَ يُحۡشَرُونَ ٣٦ ﴾ [الانفال: ٣٦]
ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้น พวกเขาจะบริจาคทรัพย์สินของพวกเขาเพื่อขัดขวางผู้คนให้ออกจากจากการงานของอัลลอฮฺ แล้วพวกเขาก็จะบริจาคมันต่อไป ภายหลังทรัพย์สินนั้นก็จะกลายเป็นความเสียใจแก่พวกเขา แล้วพวกเขาก็จะได้รับความปราชัยด้วย และบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้นพวกเขาจะถูกต้อนไปสู่นรกญะฮันนัม” (อัล-อันฟาล: 36)
ท่านมะหฺมูด บิน ละบีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«اثْنَتانِ يَكْرَهُهُمَا ابْنُ آدَمَ : المَوْتُ وَالمَوْتُ خَيْرٌ لِلْمُؤْمِنِ مِنَ اْلفِتْنَةِ ، وَيَكْرَهُ قِلَّةَ المَالِ ، وَقِلَّةُ المَالِ أَقَلُّ لِلْحِسَابِ» [رواه أحمد برقم 23625]
ความว่า “มีอยู่สองสิ่งที่ลูกหลานอาดัมรังเกียจ สิ่งแรกคือความตาย ทั้งที่ความตายสำหรับมุอ์มินนั้นย่อมดีกว่าการอยู่เผชิญกับฟิตนะฮฺความวุ่นวาย และอีกสิ่งหนึ่งคือความยากจน โดยที่เขาหารู้ไม่ว่าผู้ที่ยากจนนั้นจะถูกสอบสวนน้อยกว่าผู้ที่ร่ำรวย” (บันทึกโดย อะหฺมัด หะดีษเลขที่: 23625)
ในหะดีษอีกบทหนึ่ง ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«يَدْخُلُ فُقَرَاءُ المُسْلِمِيْنَ الجَنَّةَ قَبْلَ أَغْنِيَاِئهِمْ : بِنِصْفِ يَوْمٍ، وَهُوَ خَمْسُ مِئَةِ عَامٍ» [رواه أحمد برقم 8521]
ความว่า “มุสลิมที่ยากจนนั้นจะได้เข้าสวรรค์ก่อนมุสลิมผู้ที่ร่ำรวยครึ่งวัน ซึ่งเป็นระยะเวลาเท่ากับห้าร้อยปีในโลกดุนยา” (บันทึกโดย อะหฺมัด หะดีษเลขที่: 8521)
และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้บอกไว้ว่า ทรัพย์สินของบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะมีบะเราะกัตความจำเริญ ก็ต่อเมื่อเขาได้รับมันมาด้วยใจที่บริสุทธิ์ ปราศจากความตะกรุมตะกรามหรือการร้องขออย่างไร้ความละอาย ดังหะดีษของท่านหะกีม บิน หิซาม เราะฎอยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวแก่เขาว่า:
«يَا حَكِيْمُ إِنَّ هَذَا المَالَ خَضِرَةٌ حُلْوَةٌ ، فَمَنْ أَخَذَهُ بِسَخَاوَةِ نَفْسٍ بُوْرِكَ لَهُ فِيْهِ ، وَمَنْ أَخَذَهُ بِإِشْرَافِ نَفْسٍ لَمْ يُبَارَكْ لَهُ فِيْهِ ، كَالَّذِيْ يَأْكُلُ وَلَا يَشْبَعُ» [البخاري برقم 1472، ومسلم برقم 1035]
ความว่า “หะกีมเอ๋ย แท้จริงทรัพย์สินเงินทองเหล่านี้นั้นมีความหอมหวานเย้ายวน ฉะนั้น ผู้ใดที่ได้มันมาโดยปราศจากความตะกละอยากได้หรือการร้องขออย่างไร้ความละอาย ทรัพย์ดังกล่าวของเขาก็จะได้รับบะเราะกัตความจำเริญ และหากผู้ใดได้รับมันมาด้วยความละโมบอยากได้อยากครอบครอง ทรัพย์ของเขาก็จะไม่มีบะเราะกัต ดังเช่นผู้ที่ทานอาหารโดยที่ไม่เคยรู้สึกอิ่ม” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่: 1472 และมุสลิม หะดีษเลขที่: 1035)
และอัลลอฮฺได้ตรัสแจ้งอีกว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่สิ่งที่จีรังยั่งยืน พระองค์ตรัสว่า:
﴿ ٱعۡلَمُوٓاْ أَنَّمَا ٱلۡحَيَوٰةُ ٱلدُّنۡيَا لَعِبٞ وَلَهۡوٞ وَزِينَةٞ وَتَفَاخُرُۢ بَيۡنَكُمۡ وَتَكَاثُرٞ فِي ٱلۡأَمۡوَٰلِ وَٱلۡأَوۡلَٰدِۖ كَمَثَلِ غَيۡثٍ أَعۡجَبَ ٱلۡكُفَّارَ نَبَاتُهُۥ ثُمَّ يَهِيجُ فَتَرَىٰهُ مُصۡفَرّٗا ثُمَّ يَكُونُ حُطَٰمٗاۖ وَفِي ٱلۡأٓخِرَةِ عَذَابٞ شَدِيدٞ وَمَغۡفِرَةٞ مِّنَ ٱللَّهِ وَرِضۡوَٰنٞۚ وَمَا ٱلۡحَيَوٰةُ ٱلدُّنۡيَآ إِلَّا مَتَٰعُ ٱلۡغُرُورِ ٢٠ ﴾ [الحديد: ٢٠]
ความว่า “พึงทราบเถิดว่า แท้จริงการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้มิใช่อื่นใดเว้นแต่เป็นการละเล่นและการสนุกสนานร่าเริง และเครื่องประดับ และความโอ้อวดระหว่างพวกเจ้า และการแข่งขันกันสะสมในทรัพย์สินและลูกหลาน เปรียบเสมือนเช่นน้ำฝนที่การงอกเงยพืชผลยังความพอใจให้แก่กสิกร แล้วมันก็เหี่ยวแห้ง เจ้าจะเห็นมันเป็นสีเหลืองแล้วมันก็กลายเป็นเศษเป็นชิ้นแห้ง ส่วนในวันปรโลกนั้นมีการลงโทษอย่างสาหัสและมีการอภัยโทษและความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ และการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้มิใช่อื่นใดนอกจากการแสวงหาความสุขแห่งการหลอกลวงเท่านั้น” (อัล-หะดีด: 20)
ท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«يَتْبَعُ المَيِّتَ ثَلَاثَةٌ ، فَيَرْجِعُ اثْنَانِ وَيَبْقَى مَعَهُ وَاحِدُ: يَتْبَعُهُ أَهْلُهُ وَمَالُهُ وَعَمَلُهُ ، فَيَرْجِعُ أَهْلُهُ وَمَالُهُ ، وَيَبْقَى عَمَلُهُ» [البخاري برقم 651، ومسلم برقم 2960]
ความว่า “ผู้ที่เสียชีวิตนั้นจะมีสามสิ่งติดตามเขาไป จากนั้นสองสิ่งจะกลับไปเหลือเพียงสิ่งเดียวที่จะอยู่กับเขา สามสิ่งที่ว่านั้นคือ ครอบครัวของเขา ทรัพย์สินของเขา และการงานของเขา ครอบครัวและทรัพย์สินของเขาจะกลับไป คงเหลือแต่การงานของเขาเท่านั้น” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่: 651 และมุสลิม หะดีษเลขที่: 2960)
บางคนเข้าใจผิดคิดว่าผู้ที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมายนั้นคือผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต และเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าเขาเป็นที่รักของอัลลอฮฺ นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะความสุขสำราญในโลกดุนยานี้นั้น อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่ผู้ที่พระองค์รักและไม่รัก ดังที่พระองค์ได้ตรัสถึงมนุษย์ที่เข้าใจผิดในเรื่องดังกล่าวว่า:
﴿ أَيَحۡسَبُونَ أَنَّمَا نُمِدُّهُم بِهِۦ مِن مَّالٖ وَبَنِينَ ٥٥ نُسَارِعُ لَهُمۡ فِي ٱلۡخَيۡرَٰتِۚ بَل لَّا يَشۡعُرُونَ ٥٦ ﴾ [المؤمنون : ٥٥، ٥٦]
ความว่า “พวกเขาคิดหรือว่าแท้จริงสิ่งที่เราได้ให้แก่พวกเขา เช่น ทรัพย์สมบัติและลูกหลานนั้น เราได้รีบเร่งให้ความดีต่างๆ แก่พวกเขากระนั้นหรือ? เปล่าเลย แต่ทว่าพวกเขาไม่มีความรู้สึกหรือ?” (อัล-มุอ์มินูน: 55-56)
และพระองค์ตรัสอีกว่า:
﴿ فَأَمَّا ٱلۡإِنسَٰنُ إِذَا مَا ٱبۡتَلَىٰهُ رَبُّهُۥ فَأَكۡرَمَهُۥ وَنَعَّمَهُۥ فَيَقُولُ رَبِّيٓ أَكۡرَمَنِ ١٥ وَأَمَّآ إِذَا مَا ٱبۡتَلَىٰهُ فَقَدَرَ عَلَيۡهِ رِزۡقَهُۥ فَيَقُولُ رَبِّيٓ أَهَٰنَنِ ١٦ كَلَّاۖ ﴾ [الفجر: ١٥، ١٧]
ความว่า “ส่วนมนุษย์นั้นเมื่อพระเจ้าของเขาทรงทดสอบเขาโดยทรงให้เกียรติเขาและทรงโปรดปรานเขา เขาก็จะกล่าวว่าพระเจ้าของฉันทรงยกย่องฉัน แต่ครั้งเมื่อพระองค์ทรงทดสอบเขาทรงให้การครองชีพของเขาเป็นที่คับแคบแก่เขา เขาก็จะกล่าวว่าพระเจ้าของฉันทรงเหยียดหยามฉัน ที่จริงมันมิใช่เช่นนั้นดอก” (อัล-ฟัจญ์รฺ: 15-16)
والحمد لله رب العالمين، وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وأصحابه أجمعين.