×
บทความอธิบายความประเสริฐที่ยิ่งใหญ่ของการละหมาดในยามค่ำคืนโดยเฉพาะในเดือนเราะมะฎอน กล่าวถึงรูปแบบต่างๆ ของการละหมาดวิติรฺในยามค่ำคืน ที่ปรากฎในแนวทางของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และอธิบายหุก่มการออกไปละหมาดของสตรีที่มัสยิด

    หุก่มเกี่ยวกับการละหมาดยามค่ำคืน
    ในเดือนเราะมะฎอน

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    เชค มุหัมมัด บิน ศอลิหฺ อัล-อุษัยมีน

    แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา

    ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    2012 - 1433

    ﴿حكم قيام رمضان﴾

    « باللغة التايلاندية »

    الشيخ محمد بن صالح العثيمين

    ترجمة: عصران نئ يوم ديشا

    مراجعة: صافي عثمان

    2012 - 1433

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    การละหมาดยามค่ำคืนในเดือนเราะมะฎอน

    الحمدُ لله الَّذِي أعانَ بفضلِهِ الأقدامَ السَّالِكة، وأنقذ برحمته النُّفوسَ الهالِكة، ويسَّر منْ شاء لليسرى فرغِبَ في الآخِرة، أحمدُه على الأمور اللَّذيذةِ والشَّائكة، وأشهد أن لا إِله إلاَّ الله وَحدَهُ لا شريكَ له ذو الْعزَّةِ والْقهرِ فكلُّ النفوسِ له ذليلةُ عانِيَة، وأشهد أنَّ محمداً عبدُهُ ورسولُه القائمُ بأمر ربِّه سِراً وعلاَنِية، صلَّى الله عليه وعلى صاحبه أبي بكْرٍ الَّذِي تُحَرِّضُ عَلَيْه الْفرقَة الآفِكة، وعَلَى عُمَرَ الَّذِي كانَتْ نَفْسُه لنفسه مالِكَة، وعَلَى عُثمانَ مُنْفِقِ الأمْوال المتكاثرة، وعَلَى عَليِّ مُفرِّقِ الأبطالِ في الجُموع المُتكاثفَة، وَعَلَى بَقيَّةِ الصَّحابة والتابعين لهم بإحسانٍ ما قَرعتِ الأقدام السالِكَة، وسلَّم تسليماً.

    พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย พึงทราบเถิดว่าอัลลอฮฺได้ทรงบัญญัติอิบาดะฮฺประเภทต่างๆแก่ปวงบ่าวของพระองค์ และทรงให้การปฏิบัติอิบาดะฮฺมีรูปแบบที่หลากหลายแตกต่างกันไป ทั้งนี้ เพื่อที่ผู้ปฏิบัติจะได้ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายจนเป็นผลให้เขาละทิ้งการงานที่ดีเหล่านั้น และต้องเผชิญกับความขาดทุนและความผิดหวังอย่างใหญ่หลวง ดังนั้นพระองค์จึงได้ทรงบัญญัติสิ่งที่เป็น "ฟัรฎู" อันเป็นบทบัญญัติภาคบังคับที่ทุกคนจำเป็นต้องกระทำและไม่อนุญาตให้ละทิ้งหรือละเว้นโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ก็ยังทรงบัญญัติสิ่งที่เป็น "สุนัต" ซึ่งสามารถเลือกปฏิบัติได้ตามความสามารถ เพื่อเพิ่มพูนผลบุญและการเข้าหาพระองค์อัลลอฮฺ

    และหนึ่งในบทบัญญัติที่พระองค์ทรงสั่งใช้คือการละหมาดห้าเวลาในหนึ่งวันกับหนึ่งคืน ซึ่งการละหมาดห้าเวลานี้ผู้ปฏิบัติจะได้รับผลบุญเท่ากับการละหมาดห้าสิบเวลา นอกจากนั้นก็ได้ทรงบัญญัติละหมาดสุนัตต่างๆ เพื่อให้การละหมาดฟัรฎูของเรานั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และยังเป็นการเพิ่มพูนผลบุญความดี ตัวอย่างละหมาดสุนัตที่ว่านี้ก็เช่น การละหมาดสุนัตก่อนและหลังละหมาดฟัรฎูห้าเวลา คือสองร็อกอัตก่อนละหมาดศุบหฺ สี่ร็อกอัตก่อนและสองร็อกอัตหลังละหมาดซุฮรฺ สองร็อกอัตหลังละหมาดมัฆริบ และสองร็อกอัตหลังละหมาดอิชาอ์ นอกจากนี้ก็ยังมีละหมาดสุนัตในยามค่ำคืน ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ ทรงกล่าวสรรเสริญชื่นชมผู้ที่ปฏิบัติละหมาดดังกล่าวว่า:

    ﴿ وَٱلَّذِينَ يَبِيتُونَ لِرَبِّهِمۡ سُجَّدٗا وَقِيَٰمٗا ٦٤ ﴾ [الفرقان: ٦٤]

    ความว่า “และบรรดาผู้ใช้เวลากลางคืนทำการสุญูดและยืน (ละหมาด) เพื่อพระเจ้าของพวกเขา” (อัล-ฟุรกอน: 64)

    และตรัสอีกว่า:

    ﴿ تَتَجَافَىٰ جُنُوبُهُمۡ عَنِ ٱلۡمَضَاجِعِ يَدۡعُونَ رَبَّهُمۡ خَوۡفٗا وَطَمَعٗا وَمِمَّا رَزَقۡنَٰهُمۡ يُنفِقُونَ ١٦ فَلَا تَعۡلَمُ نَفۡسٞ مَّآ أُخۡفِيَ لَهُم مِّن قُرَّةِ أَعۡيُنٖ جَزَآءَۢ بِمَا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ ١٧ ﴾ [السجدة : ١٦-١٧]

    ความว่า: “สีข้างของพวกเขาเคลื่อนห่างจากที่นอน พลางวิงวอนต่อพระเจ้าของพวกเขาด้วยความกลัวและความหวัง และพวกเขาบริจาคสิ่งที่เราได้ให้เป็นเครื่องยังชีพแก่พวกเขา ดังนั้น ไม่มีชีวิตใดรู้สิ่งที่ถูกซ่อนไว้สำหรับพวกเขาให้เป็นที่รื่นรมย์แก่สายตา เป็นการตอบแทนในสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้” (อัส-สัจญ์ดะฮฺ: 16-17)

    และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

    «أفْضَلُ الصَّلاةِ بَعْدَ الفَريْضَةِ صَلاةُ اللَيْلِ» [رواه مسلم]

    ความว่า: “การละหมาดที่ประเสริฐที่สุดรองจากละหมาดฟัรฎูคือการละหมาดในยามค่ำคืน” (บันทึกโดยมุสลิม)

    และท่านได้กล่าวอีกว่า:

    «أَيُّهَا النَّاسُ، أَفْشُوا السَّلامَ، وَأَطْعِمُوا الطَّعَامَ، وَصِلُوا الأَرْحَامَ، وَصَلُّوا بِاللَّيْلِ وَالنَّاسُ نِيَامٌ، تَدْخُلُوا الْجَنَّةَ بِسَلامٍ» [رواه الترمذي، وقال حديث حسن صحيح]

    ความว่า: “โอ้ประชาชาติทั้งหลาย พวกท่านจงกล่าวสลามแก่กัน จงบริจาคอาหาร จงติดต่อเชื่อมสัมพันธ์เครือญาติ และจงละหมาดในยามค่ำคืนขณะที่ผู้คนต่างหลับใหล แล้วพวกท่านจะได้เข้าสวรรค์ด้วยความปลอดภัย” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซียฺ โดยท่านระบุว่าเป็นหะดีษหะสันเศาะฮีหฺ)

    ส่วนหนึ่งของการละหมาดในยามค่ำคืนคือ ละหมาดวิตรฺ ซึ่งส่งเสริมให้ปฏิบัติอย่างน้อยที่สุดหนึ่งร็อกอัต และมากที่สุดสิบเอ็ดร็อกอัต

    1) โดยการละหมาดวิตรฺจำนวนหนึ่งร็อกอัตนั้น มีหลักฐานเป็นคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า:

    «مَنْ أَحَبَّ أَنْ يُوتِر بِوَاحِدَةٍ فَلْيَفْعَلْ» [رواه أبو داود والنسائي]

    ความว่า: “ผู้ใดประสงค์จะละหมาดวิตรฺหนึ่งร็อกอัต ก็จงปฏิบัติเถิด” (บันทึกโดยอบู ดาวูด และอัน-นะสาอียฺ)

    2) ส่วนการละหมาดวิตรฺสามร็อกอัตนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

    «مَنْ أَحَبَّ أَنْ يُوتِرَ بِثَلاثٍ فَلْيَفْعَلْ» [رواه أبو داود والنسائي]

    ความว่า: “ผู้ใดประสงค์จะละหมาดวิตรฺสามร็อกอัต ก็จงปฏิบัติเถิด” (รายงานโดยอบู ดาวูด และอัน-นะสาอียฺ)

    ซึ่งหากผู้ใดต้องการที่จะละหมาดวิตรฺสามร็อกอัตรวดเดียวด้วยหนึ่งสลาม ก็สามารถกระทำได้ ดังรายงานซึ่งบันทึกโดยอัฏ-เฏาะหาวีย์ ว่าท่านอุมัรฺ บิน ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เคยละหมาดวิตรฺสามร็อกอัตด้วยสลามเพียงครั้งเดียวในร็อกอัตสุดท้าย

    หรืออาจให้สลามหลังจากเสร็จสิ้นร็อกอัตที่สอง แล้วลุกขึ้นละหมาดร็อกอัตที่สามต่อก็ได้ ดังรายงานซึ่งบันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ ระบุว่าท่านอับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้ให้สลามคั่นระหว่างสองร็อกอัตกับอีกหนึ่งร็อกอัตที่เหลือในละหมาดวิตรฺ

    3) หรือจะละหมาดวิตรฺห้าร็อกอัตโดยให้สลามเพียงหนึ่งครั้งในตอนท้ายสุดก็ได้ ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

    «مَنْ أَحَبَّ أَنْ يُوتِر بِخَمْسٍ فَلْيَفْعَلْ» [رواه أبو داود والنسائي]

    ความว่า “ผู้ใดประสงค์จะละหมาดวิตรฺห้าร็อกอัต ก็จงปฏิบัติเถิด” (รายงานโดยอบู ดาวูด และอัน-นะสาอียฺ)

    และมีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า:

    «كَانَ النَّبِيُّ صلى الله عليه وسلم يُصَلِّي مِنَ الَليْلِ ثَلاثَ عَشْرَةَ ركعةً، يُوْتِرُ مِنْ ذلك بِخَمْسٍ لا يَجْلِسُ فِي شَيءٍ مِنْهُنَّ إِلا فِيْ آخِرِهنَّ»

    ความว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยละหมาดในตอนกลางคืนจำนวนสิบสามร็อกอัต ซึ่งท่านได้ละหมาดวิตรฺห้าร็อกอัตโดยที่ท่านมิได้นั่ง (ตะชะฮุด) เลยนอกจากในร็อกอัตสุดท้าย”

    4) หรืออาจละหมาดวิตรฺเจ็ดร็อกอัตด้วยสลามหนึ่งครั้งก็ได้เช่นกัน ดังที่อุมมุ สะละมะฮฺกล่าวว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยละหมาดวิตรฺเจ็ดร็อกอัตและห้าร็อกอัตรวดเดียว โดยที่มิได้คั่นด้วยการให้สลามหรือคำพูดใดๆ” (บันทึกโดยอะหฺมัด, อัน-นะสาอียฺ และอิบนุ มาญะฮฺ)

    5) หรือจะละหมาดวิตรฺจำนวนเก้าร็อกอัตก็ได้ โดยละหมาดติดต่อกันแปดร็อกอัตแล้วนั่งตะชะฮุดและขอดุอาอ์โดยที่ยังไม่ต้องให้สลาม จากนั้นก็ลุกขึ้นยืนละหมาดต่อในร็อกอัตที่เก้าแล้วจึงลงนั่งตะชะฮุด กล่าวดุอาอ์ และให้สลาม ดังมีรายจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวถึงการละหมาดวิตรฺของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า: “ท่านได้เคยละหมาดวิตรฺเก้าร็อกอัต โดยที่ไม่ได้นั่ง (ตะชะฮุด) กระทั่งร็อกอัตที่แปด เมื่อท่านกล่าวซิกรุลลอฮฺ กล่าวคำสรรเสริญพระองค์ และดุอาอ์แล้ว ท่านก็ลุกขึ้นยืนโดยที่ยังมิได้ให้สลาม แล้วท่านก็ละหมาดร็อกอัตที่เก้า กลังจากนั้นท่านก็นั่งกล่าวซิกรุลลอฮฺ กล่าวคำสรรเสริญพระองค์ และดุอาอ์ หลังจากนั้นเราก็ได้ยินท่านกล่าวให้สลาม” (บันทึกโดยอะหฺมัดและมุสลิม)

    6) หรือจะละหมาดวิตรฺสิบเอ็ดร็อกอัตก็ได้เช่นกัน

    และหากผู้ใดต้องการจะให้สลามทุกๆ สองร็อกอัต แล้วต่อด้วยวิตรฺในร็อกอัตสุดท้ายก็ย่อมกระทำได้เช่นกัน โดยมีหลักฐานจากหะดีษซึ่งรายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า: “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยละหมาดในช่วงเวลาระหว่างหลังละหมาดอิชาอ์ถึงละหมาดศุบหฺจำนวนสิบเอ็ดร็อกอัต โดยท่านให้สลามทุกๆ สองร็อกอัตแล้วจึงละหมาดวิตรฺอีกหนึ่งร็อกอัต” (รายงานโดยญะมาอะฮฺผู้รายงานหะดีษทั้งหกยกเว้นอัต-ติรมิซียฺ)

    หรืออาจละหมาดสี่ร็อกอัตแล้วให้สลาม ต่อด้วยอีกสี่ร็อกอัตแล้วให้สลาม แล้วจึงปิดท้ายด้วยสามร็อกอัตก็ได้ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า:”ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยละหมาดสี่ร็อกอัต ซึ่งก็ไม่ต้องถามถึงความงดงามและความยาวของการละหมาดนั้น จากนั้นท่านก็ละหมาดต่ออีกสี่ร็อกอัต ซึ่งก็ไม่ต้องถามถึงความงดงามและความยาวของการละหมาดนั้น จากนั้นท่านก็ละหมาดสามร็อกอัต" (มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ)

    ซึ่งการละหมาดรวดเดียวห้า เจ็ด หรือเก้าร็อกอัตติดต่อกันนั้น ควรกระทำในกรณีที่เป็นการละหมาดคนเดียว หรือญะมาอะฮฺที่เป็นวงจำกัด ซึ่งตกลงกันว่าต้องการละหมาดในลักษณะนี้ ส่วนการละหมาดในมัสยิดทั่วไป สมควรที่อิหม่ามนำละหมาดจะต้องให้สลามทุกๆ สองร็อกอัต เพื่อที่จะไม่ทำให้เกิดความยากลำบากแก่มะอ์มูมผู้ตาม ดังคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า:

    «أَيُّكُمْ أَمَّ النَّاسَ فَليُوْجِزْ فإنَّ مِنْ وَرَائِهِ الكَبِيْرَ والضَّعِيْفَ وَذَا الحَاجَةِ»

    ความว่า:”ผู้ใดในหมู่ท่านทำหน้าที่นำละหมาด ก็จงทำให้กระชับ เพราะแท้จริงผู้ที่อยู่ด้านหลังเขานั้น มีทั้งผู้สูงวัย ผู้ที่อ่อนแอ และผู้ที่มีเหตุจำเป็น” ในอีกรายงานหนึ่งระบุว่า:

    «فَإذَا صَلَّى وَحْدَهُ فَليُصَلِّ كَيْفَ يَشَاءُ»

    ความว่า: “เมื่อเขาละหมาดคนเดียว ก็จงละหมาดตามแต่ที่เขาประสงค์เถิด”

    และไม่มีรายงานว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยนำละหมาดวิตรฺกับบรรดาเศาะหาบะฮฺ ด้วยลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นกรณีที่ท่านละหมาดคนเดียว

    และการละหมาดในยามค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอนนั้นมีความประเสริฐยิ่งกว่าการละหมาดในเดือนใดๆ ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

    «مَنْ قَامَ رَمَضَانَ إِيْمَانًا وَاحتِسَابًا، غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ» [متفق عليه]

    ความว่า: “ผู้ใดยืนละหมาดในเดือนเราะมะฎอนด้วยความศรัทธาและหวังในผลบุญอย่างบริสุทธิ์ใจ เขาจะได้รับการอภัยโทษในบาปของเขาที่ผ่านมา” (มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ)

    (إيمَاناً ) ในหะดีษหมายถึง ศรัทธาในเอกองค์อัลลอฮฺ และผลบุญที่พระองค์ได้ทรงเตรียมไว้แก่ผู้ที่ยืนละหมาดในช่วงเวลาดังกล่าว

    ส่วน ( واحتِسَاباً) หมายถึง มุ่งหวังผลบุญจากพระองค์อัลลอฮฺ ด้วยความบริสุทธิ์ใจปราศจากการโอ้อวด หรือหวังในทรัพย์สินและลาภยศใดๆ

    ซึ่งการละหมาดในเดือนเราะมะฎอนนั้น หมายรวมถึงการละหมาดตั้งแต่ช่วงเวลาแรกของค่ำคืนไปจนถึงช่วงเวลาสุดท้าย ดังนั้น การละหมาด "ตะรอวีหฺ" ก็ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการละหมาดในยามค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอน จึงสมควรอย่างยิ่งที่มุอ์มินผู้มีสติปัญญาจะต้องยึดถือปฏิบัติและให้ความสำคัญกับการละหมาดดังกล่าว และฉกฉวยโอกาสจากค่ำคืนอันแสนสั้นเหล่านี้ก่อนที่จะผ่านพ้นไป เพื่อที่เขาจะได้รับผลบุญและการตอบแทนอันมายมายจากพระองค์อัลลอฮฺ และสาเหตุที่เรียกการละหมาดนี้ว่าละหมาดตะรอวีหฺ (ตะรอวีหฺ – แปลว่าการหยุดพักหลายๆ ครั้ง) ก็เพราะว่าในอดีตมักจะยืนละหมาดกันโดยใช้เวลายาวนานมาก ดังนั้น จึงมีการหยุดพักชั่วครู่หนึ่งทุกๆ สี่ร็อกอัตให้หายเมื่อย

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คือคนแรกที่นำละหมาดตะรอวีหฺในรูปญะมาอะฮฺที่มัสยิด แต่ต่อมาท่านก็ละเว้นการละหมาดตะรอวีหฺที่มัสยิด เพราะเกรงว่าอัลลอฮฺจะทรงบัญญัติให้การละหมาดดังกล่าวเป็นฟัรฎูบังคับแก่ประชาชาติของท่าน

    ปรากฏบันทึกในหนังสือเศาะฮีหฺทั้งสอง จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า: ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้นำละหมาดที่มัสยิดในค่ำคืนหนึ่ง และมีผู้คนบางส่วนละหมาดตามหลังท่าน ในคืนต่อมาก็มีผู้คนมาละหมาดเพิ่มมากขึ้น หลังจากนั้นในคืนที่สามและที่สี่ผู้คนต่างก็มารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก แต่ท่านก็มิได้ออกมานำละหมาดอีก จนกระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้นท่านก็กล่าวว่า:

    «قَدْ رَأَيْتُ الَّذِي صَنَعْتُمْ، فَلَمْ يَمْنعنِي مِنَ الخُرُوْجِ إِلَيْكُمْ إِلَّا إِنِّي خَشِيْتُ أَنْ تُفْرَضَ عَلَيْكُمْ» [متفق عليه]

    ความว่า “ฉันได้เห็นสิ่งที่พวกท่านทำแล้ว และที่ฉันไม่ได้ออกมาหาพวกท่าน ก็เพราะฉันเกรงว่าการละหมาดดังกล่าวจะถูกบัญญัติให้เป็นฟัรฎูบังคับแก่พวกท่าน" ผู้รายงานหะดีษกล่าวว่า: เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในเดือนเราะมะฎอน

    ท่านอบู ซัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า: "พวกเราเคยถือศีลอดพร้อมกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งปรากฏว่าท่านมิได้นำละหมาดในยามค่ำคืนเลยกระทั่งเหลือเวลาอีกเจ็ดวันก่อนสิ้นเดือน ท่านจึงเริ่มนำละหมาด โดยละหมาดจนเวลาผ่านล่วงไปหนึ่งส่วนสามของคืน ในคืนถัดมาเมื่อเหลืออีกหกวันก่อนสิ้นเดือนท่านก็งดนำละหมาด แล้วกลับมานำละหมาดอีกครั้งในคืนถัดจากนั้นเมื่อเหลืออีกห้าวันก่อนสิ้นเดือน โดยท่านละหมาดกระทั่งเวลาผ่านพ้นไปกึ่งหนึ่งของคืน พวกเราจึงกล่าวว่า: โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ถ้าหากท่านนำละหมาดเราในช่วงเวลาที่เหลือของคืนนี้ด้วยก็คงจะดี ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็กล่าวตอบว่า:

    «إِنَّهُ مَنْ قَامَ مَعَ الإِمَامِ حتى يَنْصَرِفَ كُتِبَ لَهُ قِيَامُ لَيْلَةٍ» [رواه أصحاب السنن بسند صحيح]

    ความว่า: "แท้จริง ผู้ใดยืนละหมาดพร้อมอิหม่ามจนเสร็จสิ้นการละหมาด เขาจะได้รับการบันทึกผลบุญเทียบเท่าการยืนละหมาดตลอดทั้งคืน" (บันทึกโดยนักบันทึกสุนันด้วยสายรายงานที่เศาะฮีหฺ)

    ทั้งนี้ บรรดาสลัฟได้มีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องจำนวนร็อกอัตของการละหมาดตะรอวีหฺและวิตรฺ บางท่านเห็นว่ามีสี่สิบเอ็ดร็อกอัต บ้างก็ว่าสามสิบเก้า ยี่สิบเก้า ยี่สิบสาม สิบเก้า สิบสาม สิบเอ็ด หรืออื่นจากนี้ แต่ทัศนะที่มีน้ำหนักมากที่สุดคือสิบเอ็ดหรือสิบสามร็อกอัต เพราะมีรายงานบันทึกในหนังสือเศาะฮีหฺทั้งสอง ระบุว่าท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ถูกถามถึงการละหมาดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในเดือนเราะมะฎอน ซึ่งนางตอบว่า “ท่านไม่เคยละหมาดมากกว่าสิบเอ็ดร็อกอัต ไม่ว่าจะในค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนอื่นๆ” และท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า: “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ละหมาดในช่วงค่ำคืนจำนวนสิบสามร็อกอัต” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ)

    และมีบันทึกในหนังสืออัล-มุวัฏเฏาะอ์ จากท่านอัส-สาอิบ บิน ยะซีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า: “ท่านอุมัรฺ บิน ค็อฎฎอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ได้ใช้ให้อุบัยย์ บิน กะอับ และตะมีม อัด-ดารียฺ นำละหมาดจำนวนสิบเอ็ดร็อกอัต”

    ทั้งนี้ บรรดาสลัฟนั้นได้ละหมาดโดยใช้เวลายาวนานมากในแต่ละร็อกอัต ดังหะดีษซึ่งรายงานจากท่านอัส-สาอิบ บิน ยะซีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า: “ในอดีตนั้น ผู้ที่นำละหมาดจะอ่านยาวหลายร้อยอายะฮฺในหนึ่งร็อกอัต จนกระทั่งพวกเราต้องยืนพิงเสาจากการยืนที่ยาวนาน” ซึ่งจะเห็นได้ว่าการแนวทางปฏิบัติดังกล่าวแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่บรรดาอิหม่ามในยุคสมัยนี้ปฏิบัติกัน นั่นคือการที่พวกเขาละหมาดตะรอวีหฺด้วยความรีบเร่งรวดเร็วเป็นอย่างมากจนมิได้ใส่ใจกับองค์ประกอบสำคัญ (รุก่น) ของการละหมาด นั่นก็คือการมีความสำรวมสงบนิ่ง ซึ่งการละหมาดในลักษณะนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะบกพร่องในองค์ประกอบสำคัญของการละหมาด อีกทั้งยังทำให้ผู้ที่เป็นมะอ์มูมซึ่งมีทั้งผู้ที่อ่อนแอ ผู้ป่วย และผู้สูงวัย ได้รับความเหน็ดเหนื่อยจากความรีบเร่งของพวกเขา นักวิชาการหลายท่านได้กล่าวว่า: อิหม่ามที่นำละหมาดด้วยความรีบเร่งจนบรรดามะอ์มูมไม่สามารถปฏิบัติสิ่งที่เป็นสุนนะฮฺบางประการได้ ถือเป็นมักรูฮฺน่ารังเกียจ และนับประสาอะไรเล่าหากความเร่งรีบนั้นทำให้มะอ์มูมไม่สามารถปฏิบัติสิ่งที่เป็นวาญิบได้? ขออัลลอฮฺทรงให้พวกเราหลีกพ้นจากเรื่องดังกล่าวด้วยเถิด

    ดังนั้น จึงไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งที่บุรุษจะละทิ้งการละหมาดตะรอวีหฺ เพื่อที่พวกเขาจะได้รับผลบุญการตอบแทนอันยิ่งใหญ่ และไม่ควรลุกออกจนกว่าอิหม่ามจะเสร็จสิ้นจากการละหมาดตะรอวีหฺและละหมาดวิตรฺ เพื่อที่เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับการยืนละหมาดทั้งคืน

    และเป็นที่อนุญาตสำหรับสตรีที่จะออกไปละหมาดตะรอวีหฺที่มัสยิด ถ้าหากพวกนางคิดว่าปลอดภัยจากฟิตนะฮฺ ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

    «لاتَمْنَعُوْا إِمَاءَ اللهِ مَسَاجِدَ اللهِ»

    ความว่า: "พวกท่านอย่าได้ห้ามมิให้บรรดาสตรีออกไปละหมาดที่มัสยิดของอัลลอฮฺ"

    ซึ่งบรรดาสลัฟเองก็ปฏิบัติกันเช่นนี้ แต่ทว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่นางจะต้องแต่งกายด้วยอาภรณ์ที่ปกปิดมิดชิด ไม่ใส่เครื่องหอม ไม่พูดจาเสียงดัง และไม่เปิดเผยสิ่งใดที่เป็นเครื่องประดับ อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า:

    ﴿ وَلَا يُبۡدِينَ زِينَتَهُنَّ إِلَّا مَا ظَهَرَ مِنۡهَاۖ وَلۡيَضۡرِبۡنَ بِخُمُرِهِنَّ عَلَىٰ جُيُوبِهِنَّۖ وَلَا يُبۡدِينَ زِينَتَهُنَّ إِلَّا لِبُعُولَتِهِنَّ أَوۡ ءَابَآئِهِنَّ أَوۡ ءَابَآءِ بُعُولَتِهِنَّ أَوۡ أَبۡنَآئِهِنَّ أَوۡ أَبۡنَآءِ بُعُولَتِهِنَّ أَوۡ إِخۡوَٰنِهِنَّ أَوۡ بَنِيٓ إِخۡوَٰنِهِنَّ أَوۡ بَنِيٓ أَخَوَٰتِهِنَّ أَوۡ نِسَآئِهِنَّ أَوۡ مَا مَلَكَتۡ أَيۡمَٰنُهُنَّ أَوِ ٱلتَّٰبِعِينَ غَيۡرِ أُوْلِي ٱلۡإِرۡبَةِ مِنَ ٱلرِّجَالِ أَوِ ٱلطِّفۡلِ ٱلَّذِينَ لَمۡ يَظۡهَرُواْ عَلَىٰ عَوۡرَٰتِ ٱلنِّسَآءِۖ وَلَا يَضۡرِبۡنَ بِأَرۡجُلِهِنَّ لِيُعۡلَمَ مَا يُخۡفِينَ مِن زِينَتِهِنَّۚ وَتُوبُوٓاْ إِلَى ٱللَّهِ جَمِيعًا أَيُّهَ ٱلۡمُؤۡمِنُونَ لَعَلَّكُمۡ تُفۡلِحُونَ ٣١ ﴾ [النور : ٣١]

    ความว่า “และอย่าเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอ เว้นแต่สิ่งที่พึงเปิดเผยได้ และให้เธอปิดด้วยผ้าคลุมศีรษะของเธอลงมาถึงหน้าอกของเธอ และอย่าให้เธอเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอ เว้นแต่แก่สามีของพวกเธอ หรือบิดาของสามีของพวกเธอ หรือลูกชายของพวกเธอ หรือลูกชายสามีของพวกเธอ หรือพี่ชายน้องชายของพวกเธอ หรือลูกชายของพี่ชายน้องชายของพวกเธอ หรือลูกชายของพี่สาวน้องสาวของพวกเธอ หรือพวกผู้หญิงของพวกเธอ หรือที่มือขวาของพวกเธอครอบครอง (ทาสและทาสี) หรือคนใช้ผู้ชายที่ไม่มีความรู้สึกทางเพศ หรือเด็กที่ยังไม่รู้เรื่องเพศสงวนของผู้หญิง และอย่าให้เธอกระทืบเท้าของพวกเธอเพื่อให้ผู้อื่นรู้สิ่งที่พวกเธอควรปกปิดจากเครื่องประดับของพวกเธอ และพวกเจ้าทั้งหลายจงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮฺเถิด โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ” (อัน-นูรฺ : 31)

    สิ่งที่เปิดเผยออกมาคือสิ่งที่ไม่สามารถปกปิดได้ เช่นชุดคลุมและผ้าคลุมศีรษะหรืออื่นจากสองสิ่งนี้ เพราะท่านนบีเคยใช้ให้บรรดาภรรยาของท่านออกไปละหมาดอีด โดยอุมมุ อะฏียะฮฺ ได้กล่าวว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ พวกเราบางคนไม่มีผ้าคลุมศีรษะ" ท่านกล่าวว่า:

    «لتُلْبِسْهَا أُخْتُهَا مِنْ جِلَبابِهَا» [متفق عليه]

    ความว่า "ก็ให้พี่น้องหรือเพื่อนของนาง ให้นางยืมผ้าคลุมใส่" (มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ)

    และเป็นสุนนะฮฺสำหรับสตรีให้มาล่าช้ากว่าบุรุษ และให้นางนั้นอยู่ห่างไกลจากพวกเขา โดยเริ่มนั่งจากแถวสุดท้ายก่อน ซึ่งตรงกันข้ามกับบุรุษ เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า:

    «خَيْرُ صُفُوْفِ الرِّجَالِ أَوَّلُهَا وَشَرُّهَا آخِرُهَا، وَخَيْرُ صُفُوْفِ النِّسَاءِ آخِرُهَا وَشَرُّهَا أَّوَّلُهَا» [رواه مسلم]

    ความว่า “แถวละหมาดที่ดีที่สุดสำหรับบุรุษนั้นคือแถวแรก และที่แย่ที่สุดคือแถวสุดท้าย ส่วนแถวละหมาดที่ดีที่สุดสำหรับสตรีนั้นคือแถวสุดท้าย และที่แย่ที่สุดคือแถวหน้า” (บันทึกโดยมุสลิม)

    และให้บรรดาสตรีทั้งหลายรีบลุกขึ้นทันทีที่อิหม่ามให้สลามเสร็จสิ้นจากการละหมาด และห้ามนางล่าช้านอกจากจะมีเหตุจำเป็น ดังที่อุมมุ สะละมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า: “เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮฺวะสัลลัม กล่าวสลามเสร็จสิ้นจากการละหมาด บรรดาสตรีก็จะลุกขึ้นทันที หลังจากนั้นท่านก็จะนั่งอยู่อีกครู่หนึ่งก่อนที่จะลุกขึ้น” อุมมุ สะละมะฮฺ กล่าวว่า "เราคิดว่าที่ท่านทำเช่นนั้น – วัลลอฮุอะอฺลัม - ก็เพื่อที่จะให้บรรดาสตรีได้ออกไปก่อนที่บุรุษจะลุกออกไป” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ)

    ขออัลลอฮฺทรงประทานความสำเร็จแก่เราเช่นที่ทรงประทานให้แก่บรรดาผู้ที่ได้สำเร็จมาแล้วเหล่านั้น ขอทรงอภัยโทษแก่เรา แก่บุพการีของเรา และแก่มวลมุสลิมทั้งหลาย ด้วยความเมตตาของพระองค์ โอ้ผู้ทรงเมตตาที่สุดในบรรดาผู้เมตตา

    وصلَّى الله وسلَّم على نبينَا محمدٍ وآلِهِ وصحبِهِ أجمعين.