×
คำถาม ในหะดีษกุดสีย์บทหนึ่งที่มีว่า “การงานทุกอย่างของมนุษย์เป็นของเขา ยกเว้นการถือศีลอดเท่านั้น แท้จริงแล้วมันเป็นของข้าและข้าจะตอบแทนมันเอง” บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ในตำราเศาะฮีหฺของท่าน ฉันอยากทราบคำอธิบายหะดีษนี้ ว่าทำไมการถือศีลอดจึงได้ถูกเจาะจงเช่นนี้ ?

    การถือศีลอดเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    เชค ศอลิหฺ บิน เฟาซาน อัล-เฟาซาน

    แปลโดย : อิสมาอีล กอเซ็ม

    ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : www.islamway.com

    2012 - 1433

    ﴿كل عمل ابن آدم له إلاّ الصوم﴾

    « باللغة التايلاندية »

    الشيخ صالح بن فوزان الفوزان

    ترجمة: إسماعيل قاسم

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: www.islamway.com

    2012 - 1433

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    การถือศีลอดเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ

    คำถาม ในหะดีษกุดสีย์บทหนึ่งที่มีว่า “การงานทุกอย่างของมนุษย์เป็นของเขา ยกเว้นการถือศีลอดเท่านั้น แท้จริงแล้วมันเป็นของข้าและข้าจะตอบแทนมันเอง" บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ในตำราเศาะฮีหฺของท่าน ฉันอยากทราบคำอธิบายหะดีษนี้ ว่าทำไมการถือศีลอดจึงได้ถูกเจาะจงเช่นนี้ ?

    ตอบ นี่เป็นหะดีษที่มีความยิ่งใหญ่มาก และมีรายงานที่ยืนยันได้จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้รายงานมาจากพระผู้อภิบาลของท่านซึ่งพระองค์ได้ตรัสว่า

    «كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَمَ لَهُ إِلَّا الصَّوْمَ فَإِنَّهُ لِي وَأَنَا أَجْزِي بِهِ» [البخاري 2/226]

    ความว่า “การงานทุกอย่างของลูกหลานอาดัม (หมายถึงมนุษย์) มันเป็นของเขา นอกจากการถือศีลอดเท่านั้น มันเป็นสิทธิของข้า และข้าจะตอบแทนผลบุญของมันเอง" (บันทึกโดยอิมาม อัล-บุคอรีย์ ในหนังสือเศาะฮีหฺของท่าน เล่มที่สอง หน้าที่ 226)

    หะดีษนี้ชี้ให้เห็นถึงความประเสริฐของการถือศีลอด และตำแหน่งสถานะของมันกับการงานอื่นๆ โดยที่อัลลอฮฺได้เกี่ยวโยงการถือศีลอดไปถึงพระองค์ ในระหว่างการงานอื่นๆ ของปวงบ่าว

    บรรดานักวิชาการได้กล่าวถึงความหมายของหะดีษ คำดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า “นอกจากการถือศีลอด เพราะแท้จริงการถือศีลอดมันเป็นของฉัน" ด้วยทัศนะที่หลากหลาย อาทิ บ้างก็อธิบายว่า แท้จริงการงานต่างๆ ของลูกหลานอาดัม อาจจะต้องนำไปเสียค่าชดเชยให้แก่บรรดาผู้ที่เขาไปละเมิดในสิทธิต่างๆ ของผู้อื่น ในวันกิยามะฮฺผู้ที่ถูกอธรรมจะริบเอาความดีจากการงานที่เขาได้ปฏิบัติไว้เมื่อตอนที่ยังมีชีวิต เหมือนที่มีปรากฏในหะดีษที่ว่า ชายคนหนึ่งมาในวันกิยามะฮฺด้วยกับงานที่ดีที่เขาปฏิบัติไว้ดุจดั่งภูเขาใหญ่ แต่ขณะเดียวกันเขาพามาพร้อมกับการงานนั้น ด้วยการด่าทอคนอื่นๆ ไปทำร้ายคนนั้น หรือ โกงกินทรัพย์สินของคนนั้นคนนี้ จนเป็นเหตุทำให้ความดีต่างๆ ของเขาต้องถูกแบ่งไป จนกระทั่งความดีของเขาไม่เหลืออยู่เลย สุดท้ายเขาต้องแบกรับเอาความชั่วของผู้ที่เขาได้อธรรมมาโยนให้แก่เขา และเขาจะถูกโยนลงในนรก (ดูเศาะฮีหฺมุสลิม เล่มที่ 4 หะดีษที่ 1997) นอกจากการถือศีลอดเท่านั้น ที่จะไม่ถูกนำเอาไปชดเชยเจ้าหนี้ในวันกิยามะฮฺ โดยที่อัลลอฮฺจะเก็บรักษาไว้ให้แก่ผู้ที่ถือศีลอดและจะตอบแทนให้แก่เขา โดยหลักฐานที่ชี้ถึงตรงนี้ ก็คือหะดีษกุดสีย์ที่มีรายงานอื่นเพิ่มเติมว่า “การงานของมนุษย์ทุกอย่างสำหรับเขาแล้ว จะต้องมีการเสียค่าชดเชย (ชดเชยความดีให้แก่ผู้ที่เขาได้ไปอธรรม) ยกเว้นการถือศีลอด เพราะว่าแท้จริง มันเป็นของข้า และข้าจะตอบแทนมันเอง" หมายความว่า การงานของมนุษย์นั้นต้องเสียค่าชดเชยให้กับคนที่เป็นเจ้าหนี้ (หมายถึงคนที่ถูกอธรรมจากคนอื่น) ในวันกิยามะฮฺผู้ถูกอธรรมจะมาเอาความดีจากการงานของผู้ที่อธรรมต่อเขา แต่จะมีการงานที่ไม่ถูกแบ่งไปนั่นก็คือการถือศีลอด เพราะอัลลอฮฺจะเก็บรักษาไว้ โดยที่ไม่มีการถูกแบ่งไปให้เจ้าหนี้ เพราะอัลลอฮฺจะเก็บไว้ให้เจ้าของของมันเท่านั้น

    มีบางทัศนะ ให้ความหมายดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า “การถือศีลอดเป็นของข้า และข้าจะตอบแทนมันเอง" คือ แท้จริงแล้ว การถือศีลอดเป็นการงานภายในไม่มีการเปิดเผย เป็นเจตนาซ่อนอยู่ในที่ที่ไม่มีใครสามารถทราบถึงเจตนานั้นได้นอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น ซึ่งเป็นการตั้งเจตนาในจิตใจ ต่างกับการงานอื่นๆ ที่ผู้คนสามารถมองเห็นได้ สำหรับการถือศีลอดเป็นการงานที่เร้นลับระหว่างผู้ที่เป็นบ่าวและพระเจ้าที่สูงส่งของเขาเท่านั้น และด้วยเหตุนี้อัลลอฮฺจึงตรัส(ในรายงานอื่น)ว่า “การถือศีลอดนั้นเป็นของข้า และข้าจะเป็นผู้ที่ตอบแทนเอง เนื่องจากว่าเขานั้นได้ละทิ้งอารมณ์ความต้องการของเขา อาหาร เคื่องดื่มของเขา เพื่อข้า"

    การที่เขาละทิ้งอารมณ์ใคร่ และอาหารของเขาเพื่ออัลลอฮฺคือการตั้งเจตนาที่อยู่ภายในจิตใจ ไม่มีใครรู้นอกจากอัลลอฮฺ ซึ่งแตกต่างกับการบริจาคทาน การละหมาด การทำหัจญ์ และการงานต่างๆ ที่แสดงออกมาให้ผู้คนสามารถเห็นได้

    ที่การถือศีลอดไม่สามารถที่จะเห็นได้จากภายนอก เนื่องจากความหมายของการถือศีลอดนั้น ไม่ได้หมายความว่า การละทิ้งอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ต้องละทิ้งซึ่งข้อห้ามต่างในการถือศีลอด และการถือศีลอดนั้นจะต้องมีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่ง โดยที่คำดำรัสของพระองค์ที่ว่า “เนื่องจากว่าเขานั้นได้ละทิ้งอารมณ์ความต้องการของเขา อาหาร เคื่องดื่มของเขา เพื่อข้า" ประโยคนี้มาอธิบายคำดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า “การถือศีลอดเป็นของข้า และข้าจะตอบแทนมันเอง"

    บรรดานักวิชาการอีกบางส่วนได้อธิบายความหมายหะดีษนี้ว่า คือ การตั้งภาคีไม่สามารถเข้ามาปะปนกับการถือศีลอดได้ เพราะบรรดาผู้ที่ตั้งภาคีได้บูชาสิ่งที่เป็นการเคารพภักดี ไม่ว่าจะเป็นการเชือด การบนบาน การเคารพภักดีในรูปแบบต่างๆ เช่นการขอดุอาอ์ ความกลัว ความหวัง บรรดาผู้ที่ตั้งภาคีเข้าหาสิ่งที่พวกเขาเคารพภักดีด้วยกับอิบาดะฮฺต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งแตกต่างกับการถือศีลอด เพราะไม่เคยมีระบุว่าพวกมุชริกีนบรรดาผู้ที่ตั้งภาคีนั้นได้ถือศีลอดเพื่อรูปเจว็ดต่างๆ ของพวกเขา ดังนั้นการถือศีลอดจึงเป็นอิบาดะฮฺที่แม้แต่ผู้ตั้งภาคีในยุคของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ยังปฏิบัติเฉพาะเจาะจงเพื่ออัลลอฮฺเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ความหมายของคำดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า “การถือศีลอดเป็นของข้า และข้าจะตอบแทนมันเอง" จึงหมายถึงว่า ไม่มีการเจือปนของการตั้งภาคีในการถือศีลอด เพราะบรรดาชาวมุชริกีนผู้ที่ตั้งภาคีไม่เคยถือศีลอดให้กับรูปเจว็ดของพวกเขา การถือศีลอดเป็นอิบาดะฮฺที่ถูกมอบให้แก่อัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

    http://ar.islamway.com/fatwa/8065

    http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=60&id=1502