ข้อห้ามเกี่ยวกับการทำรูปภาพ
บทความนี้ถูกแปลเป็นภาษา
หมวดหมู่
Full Description
ข้อห้ามเกี่ยวกับการทำรูปภาพ
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ
ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา
2012 - 1433
﴿ تحريم التصوير ﴾
« باللغة التايلاندية »
د. أمين بن عبد الله الشقاوي
ترجمة: حسنى فوانجسيري
مراجعة: عصران نيومديشا
2012 - 1433
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
เรื่องที่ 135
ข้อห้ามเกี่ยวกับการทำรูปภาพ
มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่าน ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่า มุหัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์
หนึ่งในสิ่งต้องห้ามที่มุสลิมส่วนใหญ่กระทำกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้คือการทำรูปภาพ มีรายงานหะดีษจากท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มากมายหลายบทที่กล่าวถึงข้อห้ามเกี่ยวกับการทำรูปภาพสิ่งที่มีวิญญาณทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นภาพมนุษย์หรือสัตว์ ให้ปลดม่านที่มีรูปภาพออก สั่งให้ขีดฆ่าทำลายรูปภาพและรูปปั้น ตลอดจนสาปแช่งบรรดาผู้ที่ทำรูปภาพเหล่านั้นขึ้นมา โดยระบุว่าพวกเขาเหล่านั้นจะถูกลงโทษอย่างแสนสาหัสที่สุดในวันกิยามะฮ
มีรายงานที่บันทึกโดยอิมามอัล-บุคอรี และอิมามมุสลิม ในหนังสือเศาะหีหของท่านทั้งสอง จากอบูซุรอะฮฺเล่าว่า: ฉันได้เข้าไปในบ้านหลังหนึ่งในนครมะดีนะฮฺพร้อมกับท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ แล้วท่านก็เห็นชายคนหนึ่งกำลังวาดภาพอยู่ตรงชั้นบนของบ้าน ท่านจึงกล่าวว่า “ฉันได้ยินท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า: อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า:
«وَمَنْ أَظْلَمُ مِمَّنْ ذَهَبَ يَخْلُقُ كَخَلْقِيْ، فَلْيَخْلُقُوْا حَبَّةً وَلْيَخْلُقُوْا ذرَّةً» [البخاري برقم 5953، ومسلم برقم 2111]
ความว่า “ใครเล่าจะเป็นผู้ที่อธรรมยิ่งไปกว่าผู้ที่พยายามจะสร้างสิ่งที่เหมือนกับการสร้างของข้า หากพวกเขามีความสามารถก็ลองให้พวกเขาสร้างเมล็ดพืชขึ้นมาสักเมล็ดหนึ่งสิ หรือให้พวกเขาสร้างอะตอมขึ้นมาสักอะตอมหนึ่งสิ” (อัล-บุคอรี หะดีษเลขที่ 5953 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2111)
และมีรายงานจากท่านอิบนุมัสอูดเล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«إِنَّ أَشَدَّ النَّاسِ عَذَاباً عِنْدَ اللهِ يَوْمَ القِيَامَةِ المُصَوِّرُوْنَ» [البخاري برقم 5950، ومسلم برقم 2109]
ความว่า “แท้จริงผู้ที่จะได้รับการลงโทษจากอัลลอฮฺอย่างแสนเจ็บปวดที่สุดในวันกิยามะฮฺ คือบรรดาผู้ที่ทำรูปทั้งหลาย” (อัล-บุคอรี หะดีษเลขที่ 5950 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2109)
และท่านอิบนุอุมัร เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«إِنَّ الذِيْنَ يَصْنَعُوْنَ هَذِهِ الصُوَرَ يُعَذَّبُوْنَ يَوْمَ القِيَامَةِ، يُقَالَ لَهُمْ: أَحْيُوْا مَا خَلَقْتُمْ» [البخاري برقم 5951، ومسلم برقم 2108]
ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ที่ทำรูปเหล่านี้ขึ้นมาจะถูกลงโทษในวันกิยามะฮฺ จะมีเสียงกล่าวแก่พวกเขาว่า: จงให้ชีวิตแก่สิ่งที่พวกเจ้าได้สร้างมันขึ้นมาเถิด” (อัล-บุคอรี หะดีษเลขที่ 5951 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2108)
และมีรายงานหะดีษจากอัลกอสิม บิน มุหัมมัด เล่าว่าท่านหญิงอาอิชะฮฺภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เล่าให้เขาฟังว่า: ครั้งหนึ่งนางซื้อเบาะรองนั่งมาใบหนึ่งซึ่งมีลวดลายเป็นรูปภาพของสิ่งที่มีวิญญาณ เมื่อท่านนบี เห็นเบาะดังกล่าวท่านก็ยืนอยู่ที่หน้าประตูและไม่เข้าไปในบ้าน นางรู้สึกได้ถึงความไม่พอใจของท่านจึงได้กล่าวกับท่านว่า: โอ้ท่านเราะสูล ฉันขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺและต่อเราะสูลของพระองค์ ฉันทำอะไรผิดหรือคะ? ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “เบาะนี้ได้มาจากไหนหรือ?” นางกล่าวตอบว่า: ฉันซื้อมันมาให้ท่าน เพื่อให้ท่านได้รองนั่งหรือเอาไว้พิงเอนนอน ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า:
«إِنّ أَصْحَابَ هَذِهِ الصُوَرِ يُعَذّبُوْنَ يَوْم القِيَامَةِ ، وَيُقَاَل لَهُمْ أَحْيُوْا مَا خَلَقْتُمْ، وقال: إِنَّ البَيْتَ الذِيْ فِيْهِ الصُوَرُ لاَ تَدْخُلُهُ المَلَائِكَةُ» [البخاري 5961، ومسلم برقم 2107]
“แท้จริงบรรดาผู้ที่ทำรูปภาพทั้งหลายจะถูกลงโทษในวันกิยามะฮฺ และจะมีเสียงกล่าวแก่พวกเขาว่า: พวกเจ้าจงให้ชีวิตแก่สิ่งที่พวกเจ้าสร้างมาเถิด” และท่านได้กล่าวต่อไปอีกว่า “แท้จริงบรรดามะลาอิกะฮฺจะไม่เข้าบ้านที่มีรูปภาพอยู่” (อัล-บุคอรี หะดีษเลขที่ 5961 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2107)
และมีรายงานซึ่งบันทึกโดยอิมามมุสลิม ว่าท่านอะลี เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ได้กล่าวกับอบูฮัยยาจ อัลอะซะดีย์ ว่า:
«أَلاَ أَبْعَثُكَ عَلَى مَا بَعَثَنِيْ رَسُوْلُ اللهِ؟ أَلَا تَدَعَ تِمْثَالًا إِلَّا طَمَسْتَهُ، وَلَا قَبْرًا مُشْرِفًا إِلّاَ سَوَّيْتَهُ، وَلَا صُوْرَةً إِلّاَ طَمَسْتَهَا» [مسلم برقم 969]
ความว่า “ฉันจะแต่งตั้งท่านดังที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แต่งตั้งฉัน คือท่านจะต้องทำลายรูปปั้นเสียอย่าให้หลงเหลืออยู่ ทำให้หลุมศพเรียบเสมอกัน ไม่ปล่อยให้มีหลุมศพใดทำขึ้นสูง และไม่ปล่อยให้มีรูปภาพใดๆ โดยท่านจะต้องทำให้มันลบเลือนไป” (มุสลิมหะดีษเลขที่ 969)
เชคอับดุลอะซีซ บินบาซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า: "หะดีษข้างต้นบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงข้อห้ามการทำรูปภาพสิ่งมีชีวิตที่มีวิญญาณทุกชนิด การกระทำดังกล่าวถือเป็นบาปใหญ่ซึ่งผู้กระทำจะเข้าข่ายผู้ที่ได้รับการสัญญาว่าจะถูกลงโทษด้วยไฟนรก ส่วนภาพที่ว่านี้นั้นหมายรวมถึงการทำรูปทุกประเภท ไม่ว่ารูปนั้นจะมีเงาหรือไม่ และไม่ว่าจะเป็นรูปที่ติดตามฝาผนัง รูปบนผืนผ้าม่าน ตามเสื้อผ้า กระดาษ หรือที่ใดก็ตาม เพราะท่านนบี ศ็อลลอลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม ไม่ได้จำแนกแยกแยะชนิดของรูปภาพ หรือสถานที่ติดรูปภาพ แต่ทว่าท่านได้สาปแช่งผู้ที่ทำรูปภาพ และเน้นย้ำว่าผู้ที่ทำรูปภาพคือผู้ที่จะได้รับโทษอย่างแสนสาหัสที่สุดในวันกิยามะฮ และจะถูกลงโทษด้วยไฟนรกโดยไม่มีข้อยกเว้น ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿وَمَآ ءَاتَىٰكُمُ ٱلرَّسُولُ فَخُذُوهُ وَمَا نَهَىٰكُمۡ عَنۡهُ فَٱنتَهُواْۚ﴾ [الحشر: ٧]
ความว่า “และสิ่งใดที่เราะสูลได้นำมายังพวกเจ้า ก็จงรับเอามันไว้ และอันใดที่ท่านได้ห้ามพวกเจ้าก็จงละเว้นเสีย” (อัล หัชร: 7)
และพระองค์ ตรัสอีกว่า
﴿فَلۡيَحۡذَرِ ٱلَّذِينَ يُخَالِفُونَ عَنۡ أَمۡرِهِۦٓ أَن تُصِيبَهُمۡ فِتۡنَةٌ أَوۡ يُصِيبَهُمۡ عَذَابٌ أَلِيمٌ ٦٣﴾ [النور: ٦٣]
ความว่า “ดังนั้นบรรดาผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเขา (มุหัมมัด) จงระวังตัวเถิดว่า เคราะห์กรรมจะเกิดขึ้นแก่พวกเขา หรือว่าการลงโทษอันเจ็บปวดจะเกิดขึ้นแก่พวกเขาเช่นกัน” (อันนูร: 63)
เชคศอลิหฺ อัลเฟาซาน กล่าวว่า: "ไม่อนุญาตให้มุสลิมมีรูปภาพติดไว้ในบ้าน หรือมีรูปภาพไว้ในครอบครอง นอกจากรูปภาพที่จำเป็นเท่านั้น เช่น รูปภาพในหนังสือเดินทาง หรือรูปติดบัตรประชาชน เพราะสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันทั่วไป ไม่ได้มีไว้เพราะความชอบ แต่มีไว้เพราะความจำเป็น เพราะฉะนั้นรูปภาพอื่นจากนี้ไม่อนุญาตให้มีไว้ แม้จะเก็บไว้เพื่อเป็นที่ระลึกก็ตาม และจำเป็นที่จะต้องทำลายรูปภาพนั้นเสีย และถ้าหากในบ้านมีรูปติดอยู่ตามฝาผนัง ตามเสา ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้น หรือภาพวาดสิ่งมีชีวิตที่มีวิญญาณ เช่น รูปสัตว์ นก หรือมนุษย์ ก็จำเป็นที่จะต้องปลดออก เพราะท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แสดงอาการโกรธเมื่อท่านเห็นผ้าม่านที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺนำมาแขวนไว้ที่ข้างฝาผนังซึ่งมีลวดลายรูปภาพ"
เชคนาศิรุดดีน อัล-อัลบานีย์ ได้ตอบโต้ผู้ที่มีทัศนะว่าหุก่มรูปภาพที่ถ่ายด้วยกล้อง กับภาพวาดด้วยมือนั้นแตกต่างกันว่า: "..พวกเขาได้ให้เหตุผลว่าภาพที่ถ่ายโดยกล้องถ่ายรูปนั้นไม่ใช่การกระทำของมนุษย์ แต่เป็นเพียงการสะท้อนเงาเท่านั้น นั่นก็หมายความว่าความพยายามอย่างสูงในการประดิษฐ์อุปกรณ์ชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะได้ถ่ายภาพโดยใช้เวลาเพียงแค่เสี้ยววินาทีนั้นมิได้เรียกว่าเป็นการกระทำของมนุษย์ในมุมมองของพวกเขากระนั้นหรือ? แล้วการที่ผู้ถ่ายเล็งอุปกรณ์ชิ้นนี้ไปยังเป้าหมายที่ต้องการถ่ายหลังจากใส่ฟิล์มเข้าไปในกล้อง และหลังจากถ่ายเสร็จเขาก็นำภาพเหล่านั้นไปล้าง รวมถึงขั้นตอนอื่นๆ อีกที่เราก็มิอาจจะทราบได้ ก็มิได้เรียกว่าเป็นการกระทำของมนุษย์อีกเช่นกันกระนั้นหรือ?"
ผลเสียของรูปภาพ
ประการแรก เป็นการเลียนแบบสิ่งที่อัลลอฮทรงสร้าง และแอบอ้างว่ามีความสามารถในการสร้างเหมือนพระองค์ ทั้งที่พระองค์ทรงเป็นผู้สร้างแต่พระองค์เดียว พระองค์ทรงมีพระนามอันวิจิตรและคุณลักษณะอันสูงส่ง
ประการที่สอง เป็นหนทางที่นำไปสู่การทำชิริกหรือการตั้งภาคี ซึ่งชิริกแรกที่เกิดขึ้นบนโลกนี้นั้นก็มีสาเหตุมาจากการทำรูปปั้นในสมัยประชาชาติของท่านนบีนูหฺ โดยชัยฏอนได้กระซิบกระซาบหลอกล่อให้พวกเขาทำรูปเสมือนของบรรดาผู้มีคุณธรรมหลายคนที่เสียชีวิตในปีเดียวกันและนำมาซึ่งความรู้สึกโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก เพื่อให้รำลึกถึงการทำความดีและการเคารพภักดี ซึ่งพวกเขาก็ทำตามอย่างที่ชัยฏอนแนะนำ และเมื่อถึงยุคของชนรุ่นหลังจากพวกเขา ชัยฏอนก็ได้หลอกพวกเขาว่า แท้จริงแล้วปู่ย่าตายายของพวกเขาได้สร้างรูปปั้นพวกนี้ขึ้นมาเพื่อขอฝน และเพื่อการเคารพบูชา พวกเขาก็หลงเชื่อและเคารพบูชารูปปั้นเหล่านั้น เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นชิริกครั้งแรกซึ่งก็มีต้นตอมาจากการทำรูปนั่นเอง
ประการที่สาม รูปภาพเป็นสาเหตุของการเสื่อมเสียจริยธรรมอันดีงาม กล่าวคือเมื่อบรรดาสตรีได้ถ่ายภาพของนางลงนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ หรือจะเป็นแค่การถ่ายเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกก็ตาม นั่นก็จะเป็นหนทางไปสู่ฟิตนะฮฺ ทำให้จิตใจอ่อนแอและเกิดอารมณ์ใฝ่ต่ำ ดังนั้น จะเห็นว่าบรรดาผู้ประสงค์ร้ายต่างใช้รูปภาพเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเสื่อมถอยทำลายซึ่งศีลธรรมอันดี ด้วยการถ่ายภาพสตรีและเผยแพร่ผ่านภาพยนตร์ นิตยสาร โฆษณา และสื่ออื่นๆ อย่างที่เราทราบกันดี
والحمد لله رب العالمين، وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وأصحابه أجمعين.