×
อธิบายเนื้อหาความหมายจากสูเราะฮฺ อัล-อัศรฺ กล่าวถึงคุณลักษณะสี่ประการที่จะทำให้มนุษย์รอดพ้นจากความขาดทุน รวมถึงบทเรียนอันทรงคุณค่าอื่นๆ จากสูเราะฮฺสั้นๆ แต่เปี่ยมด้วยวิทยปัญญาอันมากมายเหลือคณา เป็นบทความจากหนังสืออัด-ดุร็อร อัล-มุนตะกอฮฺ โดยเชคอะมีน อัช-ชะกอวีย์

    สูเราะฮฺ อัล-อัศรฺ

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย :อิสมาน จารง

    ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต
    อัล-มุลกอฮฺ

    2012 - 1433

    ﴿سورة العصر﴾

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبدالله الشقاوي

    ترجمة: عثمان جارونج

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة

    2012 - 1433

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    เรื่อง ที่ 67

    สูเราะฮฺ อัล-อัศรฺ

    มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิของอัลลอฮฺ ขอการเจริญพรและความสันติมีแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ข้าขอปฏิญานว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุหัมมัดนั้นเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ وَٱلۡعَصۡرِ ١ إِنَّ ٱلۡإِنسَٰنَ لَفِي خُسۡرٍ ٢ إِلَّا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلۡحَقِّ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلصَّبۡرِ ٣ ﴾ [العصر: ١- ٣]

    ความว่า “ขอสาบานด้วยกาลเวลา แท้จริงมนุษย์นั้นอยู่ในการขาดทุน นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและปฏิบัติความดีทั้งหลาย และตักเตือนซึ่งกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนกันและกันให้มีความอดทน” (สูเราะฮฺ อัล-อัศรฺ)

    อัลลอฮฺได้สาบานด้วยกาลเวลา นั่นคือเวลาทั้งหมด และเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺที่จะสาบานด้วยสิ่งที่ถูกสร้างทั้งมวลตามที่พระองค์ประสงค์ ส่วนบ่าวหรือมนุษย์นั้นจะต้องสาบานด้วยพระองค์เท่านั้น การสาบานของอัลลอฮฺด้วยกาลเวลานั้นก็เนื่องด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นในกาลเวลาจากบรรดาเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เวลายังเป็นที่รวบรวมการงานที่ดีและชั่วต่างๆ ของมนุษย์ อัลลอฮฺได้สาบานเพื่อเป็นการเน้นย้ำว่ามนุษย์นั้นอยู่ในความขาดทุนแม้เขาจะมีทรัพย์สินและทายาทมากมายแค่ไหนก็ตาม หรือแม้ว่าเขาจะมีฐานันดรและเกียรติสูงส่งแค่ไหนก็ตาม ทุกคนล้วยขาดทุนยกเว้นเมื่อประกอบด้วยสี่คุณลักษณะต่อไปนี้

    คุณลักษณะแรก การมีศรัทธา คือ การกล่าวด้วยลิ้น เชื่อด้วยใจ และปฏิบัติด้วยร่างกาย

    คุณลักษณะที่สอง ปฏิบัติการงานที่ดี คือ ทุกคำพูดและการกระทำที่ทำให้ใกล้ชิดอัลลอฮฺ โดยที่ผู้ทำนั้นมีความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ และปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม การกล่าวถึงการปฏิบัติการงานที่ดีหลังจากการมีศรัทธาทั้งๆ ที่มันเป็นส่วนหนึ่งการศรัทธานั้นก็เพื่อแสดงถึงความสำคัญและเน้นย้ำว่าการศรัทธาด้วยใจโดยไม่มีการปฏิบัติตามนั้นไม่มีประโยชน์

    คุณลักษณะที่สาม การตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม นั่นคือการสั่งใช้กันและกันในการทำความดีและห้ามปรามกันในสิ่งที่ชั่ว การเชิญชวนสู่อัลลอฮฺด้วยความชัดเจนและมีหิกมะฮฺ(วิทยปัญญา) สั่งสอนผู้ที่ไม่รู้ให้ได้รู้ เตือนผู้ที่หลงลืมให้ระลึกได้ ไม่เป็นการเพียงพอที่เขาจะทำการเปลี่ยนแปลงตัวเองเท่านั้นให้เป็นคนดี หากแต่เขาจะต้องแก้ไขคนอื่นให้เป็นคนดีด้วย และนี่ก็แสดงถึงว่าเป็นการวาญิบที่จะต้องสั่งใช้กันและกันในการทำความดีและห้ามปรามกันในสิ่งที่ชั่ว ไม่ถือว่าเป็นการก้าวก่ายบุคคลอื่นอย่างที่บางคนคิด หากแต่บรรดาผู้ที่ทำการสั่งใช้กันและกันในการทำความดีและห้ามปรามกันในสิ่งที่ชั่วนั้น พวกเขามีความหวังดีและต้องการให้คนอื่นปลอดภัยจากการลงโทษของอัลลอฮฺ ด้วยคุณลักษณะนี้ทำให้ประชาชาตินี้เป็นประชาชาติที่ดีเลิศกว่าประชาชาติอื่น อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿كُنتُمۡ خَيۡرَ أُمَّةٍ أُخۡرِجَتۡ لِلنَّاسِ تَأۡمُرُونَ بِٱلۡمَعۡرُوفِ وَتَنۡهَوۡنَ عَنِ ٱلۡمُنكَرِ ﴾ [آل عمران: ١١٠]

    ความว่า “พวกเจ้านั้น เป็นประชาชาติที่ดียิ่งซึ่งถูกให้อุบัติขึ้นสำหรับมนุษยชาติ โดยที่พวกเจ้าใช้ให้ปฏิบัติสิ่งที่ชอบ และห้ามมิให้ปฏิบัติสิ่งที่มิชอบ” (อาล อิมรอน 110)

    คุณลักษณะที่สี่ ตักเตือนกันและกันให้มีความอดทน ในเมื่อผู้ที่เชิญชวนสู่อัลลอฮฺ ผู้ที่สั่งใช้กันและกันในการทำความดีและห้ามปรามกันในการปฏิบัติสิ่งที่ชั่วจำต้องเผชิญกับการรบกวนหรือการมุ่งร้ายจากผู้คน อัลลอฮฺจึงสั่งให้อดทนต่อการรบกวนและกลั่นแกล้งของผู้คนเหล่านั้นและแบกรับสิ่งที่ต้องเผชิญ จะเห็นได้ว่าในการสั่งเสียของท่านลุกมานแก่ลูกของท่านนั้นอัลลอฮฺตรัสถึงว่า

    ﴿ يَٰبُنَيَّ أَقِمِ ٱلصَّلَوٰةَ وَأۡمُرۡ بِٱلۡمَعۡرُوفِ وَٱنۡهَ عَنِ ٱلۡمُنكَرِ وَٱصۡبِرۡ عَلَىٰ مَآ أَصَابَكَۖ إِنَّ ذَٰلِكَ مِنۡ عَزۡمِ ٱلۡأُمُورِ ١٧ ﴾ [لقمان: ١٧]

    ความว่า “โอ้ลูกเอ๋ย เจ้าจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และจงสั่งใช้กันให้กระทำความดี และจงห้ามปรามกันให้ละเว้นการทำความชั่ว และจงอดทนต่อสิ่งที่ประสบกับเจ้า แท้จริง นั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่หนักแน่นมั่นคง” (ลุกมาน 17)

    และอัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ ۞لَتُبۡلَوُنَّ فِيٓ أَمۡوَٰلِكُمۡ وَأَنفُسِكُمۡ وَلَتَسۡمَعُنَّ مِنَ ٱلَّذِينَ أُوتُواْ ٱلۡكِتَٰبَ مِن قَبۡلِكُمۡ وَمِنَ ٱلَّذِينَ أَشۡرَكُوٓاْ أَذٗى كَثِيرٗاۚ وَإِن تَصۡبِرُواْ وَتَتَّقُواْ فَإِنَّ ذَٰلِكَ مِنۡ عَزۡمِ ٱلۡأُمُورِ ١٨٦ ﴾ [آل عمران: ١٨٦]

    ความว่า “แน่นอนยิ่ง พวกเจ้าจะถูกทดสอบในทรัพย์สมบัติของพวกเจ้าและตัวของพวกเจ้า และแน่นอนยิ่งพวกเจ้าจะได้ยินจากบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ก่อนหน้าพวกเจ้า และบรรดาผู้ที่ให้มีภาคีขึ้น(แก่อัลลอฮฺ)ซึ่งการก่อความเดือดร้อนอันมากมายและหากพวกเจ้าอดทนและยำเกรงแล้ว แท้จริงนั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่เด็ดเดี่ยว” (อาล อิมรอน 186)

    ท่านอิมาม อัช-ชาฟิอีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า หากอัลลอฮฺไม่ได้ประทานหลักฐานใดๆ นอกจากสูเราะฮฺนี้เท่านั้นก็ถือว่าเพียงพอสำหรับพวกมนุษย์แล้ว (ตัฟซีร อิบนุกะษีรฺ 4/547)

    สูเราะฮฺนี้แม้ประโยคของมันจะสั้น แต่มันได้รวบรวมปัจจัยที่จะทำให้พบกับความสุขทั้งหมดไว้ มันเป็นประโยคที่พอเพียงที่จะเป็นหลักฐานเหนือมนุษย์ และมันมีบทเรียนที่เป็นประโยชน์มากมาย ในที่นี้ขอกล่าวเพียงบางส่วนดังนี้

    บทเรียนแรก การที่อัลลอฮฺได้สาบานกับสิ่งหนึ่งมันแสดงถึงความสำคัญ ความยิ่งใหญ่ของสิ่งนั้น ในการสาบานนี้ อัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่ได้เตือนมนุษย์ถึงคุณค่าของเวลา และพวกเขาควรให้ความสำคัญกับมัน ดูแลเอาใจใส่มัน และอัลลอฮฺได้สาบานด้วยเวลาบางช่วงในหลายที่ในอัลกุรอาน เช่น

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ وَٱلۡفَجۡرِ ١ وَلَيَالٍ عَشۡرٖ ٢ ﴾ [الفجر: ١-٢]

    ความว่า “ขอสาบานด้วยยามรุ่งอรุณ และด้วยค่ำคืนทั้งสิบ” (อัล-ฟัจญ์รฺ 1-2)

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ وَٱلَّيۡلِ إِذَا يَغۡشَىٰ ١ وَٱلنَّهَارِ إِذَا تَجَلَّىٰ ٢ ﴾ [الليل: ١-٢]

    ความว่า “ขอสาบานด้วยเวลากลางคืนเมื่อมันปกคลุม และด้วยเวลากลางวันเมื่อมันประกายแสง” (อัล-ลัยลฺ 1-2)

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ وَٱلضُّحَىٰ ١ وَٱلَّيۡلِ إِذَا سَجَىٰ ٢ ﴾ [الضحا: ١-2]

    ความว่า “ขอสาบานด้วยเวลาสาย และด้วยเวลากลางคืนเมื่อมันมืดและสงัดเงียบ” (อัฎ-ฎุฮา 1-2)

    พร้อมกันนั้นเวลายังเป็นการประทาน(นิอฺมัต)ที่ดียิ่งจากอัลลอฮฺสำหรับ(มนุษย์)บ่าวของพระองค์ รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บิน อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «نِعْمَتَانِ مَغْبُونٌ فِيهِمَا كَثِيرٌ مِنْ النَّاسِ الصِّحَّةُ وَالْفَرَاغُ» [رواه البخاري برقم 6412]

    ความว่า ความโปรดปราน(นิอฺมัต)สองประการที่มนุษย์ส่วนใหญ่มักจะขาดทุน(เพราะปล่อยให้สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์) นั่นคือ การมีสุขภาพที่ดีและการมีเวลาว่าง” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ เล่มที่ 4 หน้าที่ 175 หะดีษหมายเลข 6412)

    บทเรียนที่สอง การสาบานของอัลลอฮฺแสดงถึงความสำคัญของสิ่งที่จะบอก ซึ่งก็คือคุณลักษณะสี่ประการดังกล่าว ที่ซึ่งบุคคลจะไม่สามารถจะพบความสำเร็จและชัยชนะได้นอกจากด้วยคุณลักษณะเหล่านั้น

    บทเรียนที่สาม ความประเสริฐของอีมาน(การศรัทธา)สถานะอันสูงส่งยิ่งของมัน โดยเป็นสิ่งแรกที่กล่าวถึงและสิ่งแรกที่วาญิบเหนือมนุษย์ รายงานจากท่าน อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «لَا تَدْخُلُوا الْجَنَّةَ حَتَّى تُؤْمِنُوا، وَلَا تُؤْمِنُوا حَتَّى تَحَابُّوا، أَوَلَا أَدُلُّكُمْ عَلَى شَيْءٍ إِذَا فَعَلْتُمُوهُ تَحَابَبْتُمْ، أَفْشُوا السَّلامَ بَيْنَكُمْ» [مسلم برقم 54]

    ความว่า “พวกท่านจะไม่ได้เข้าสวรรค์จนกว่าพวกท่านจะศรัทธา และพวกท่านจะไม่ศรัทธาจนกว่าพวกท่านจะรักซึ่งกันและกัน เอาหรือไม่ฉันจะแนะนำพวกท่านสิ่งหนึ่งเมื่อพวกท่านปฏิบัติแล้วพวกท่านจะมีความรักซึ่งกันและกัน (คือ)จงแพร่สลามระหว่างพวกท่าน (ให้สลามกันและกันให้แพร่หลาย) (เศาะฮีหฺ มุสลิม 1/74 หมายเลข 54)

    บทเรียนที่สี่ การศรัทธาเพียงในใจนั้นไม่เพียงพอ หากแต่จะต้องแสดงออกมาด้วยการปฏิบัติการงานที่ดี และนี่เป็นการโต้แย้งคำกล่าวที่ว่า “อีมานคือการศรัทธาด้วยใจเท่านั้น(ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ) โดยที่กล่าวเช่นนั้นจะละทิ้งสิ่งที่เป็นฟัรฏู และกระทำในสิ่งที่ต้องห้ามต่างๆ ละเมิดขอบเขตของอัลลอฮฺ (ที่ถูกต้องก็คือศรัทธาด้วยใจพร้อมกับการปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺไปพร้อมกัน)

    บทเรียนที่ห้า การงานจะไม่ถูกตอบรับนอกจากเป็นการที่ดีที่ศอลิหฺ และการงานนั้นจะไม่ถือว่าเป็นการงานที่ดีที่ศอลิหฺ นอกจากผู้ทำจะต้องบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ และสอดคล้องกับแบบอย่าง การชี้นำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

    บทเรียนที่หก การตักเตือนซึ่งกันและกันนั้นจะต้องด้วยสัจธรรมเท่านั้นไม่ใช่สิ่งอื่น สัจธรรมในที่นี่คือการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ การงานที่ดีที่ศอลิหฺต่างๆ และห่างไกลสิ่งที่ขัดกับทั้งสอง(การศรัทธาต่ออัลลอฮฺ การงานที่ดีที่ศอลิหฺ)

    บทเรียนที่เจ็ด คำว่า “นอกจาก” หรือ การยกเว้นในอายะฮฺดังกล่าว แสดงว่าคนที่มีลักษณะดังกล่าวนั้นมีจำนวนน้อยนิดเท่านั้น อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    ﴿ٱعۡمَلُوٓاْ ءَالَ دَاوُۥدَ شُكۡرٗاۚ وَقَلِيلٞ مِّنۡ عِبَادِيَ ٱلشَّكُورُ ١٣ ﴾ [سبأ: ١٣]

    ความว่า “พวกเจ้าจงทำงานเถิด วงศ์วานของดาวูดเอ๋ย! เพื่อเป็นการขอบคุณ(ต่ออัลลอฮฺ) และส่วนน้อยในจำนวนบ่าวของเราที่เป็นผู้ขอบคุณ” (สะบะอ์ 13)

    และอัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿وَإِنَّ كَثِيرٗا مِّنَ ٱلۡخُلَطَآءِ لَيَبۡغِي بَعۡضُهُمۡ عَلَىٰ بَعۡضٍ إِلَّا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ وَقَلِيلٞ مَّا هُمۡۗ ﴾ [ص: ٢٤]

    ความว่า “และแท้จริงส่วนมากของผู้มีหุ้นส่วนร่วมกัน บางคนในพวกเขามักละเมิดสิทธิของอีกคนหนึ่ง เว้นแต่บรรดาผู้ศรัทธาและประกอบความดีทั้งหลาย และคนอย่างพวกเขานี้มีน้อย” (ศอด 24)

    บทเรียนที่แปด คุณค่าของการอดทน โดยที่อัลลอฮฺให้เป็นคุณลักษณะหนึ่งที่เป็นเหตุของการประสบกับความสำเร็จ (สวรรค์) อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ทำหน้าที่เชิญชวนสู่อัลลอฮฺตะอาลา แม้ว่าต้องเผชิญกับความยากลำบากและการก่อกวนสร้างความเดือดร้อนจากผู้อื่นก็ตาม

    รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่าแท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «الْمُؤْمِنُ الَّذِي يُخَالِطُ النَّاسَ وَيَصْبِرُ عَلَى أَذَاهُمْ، أَعْظَمُ أَجْرًا، مِنْ الَّذِي لَا يُخَالِطُ النَّاسَ وَلَا يَصْبِرُ عَلَى أَذَاهُمْ» [سنن أبي داود برقم 4032]

    ความว่า “มุอ์มิน(ผู้ศรัทธา)ที่คลุกคลีกับเพื่อนมนุษย์ และมีความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ ที่พวกเขากระทำต่อเขา เขาจะได้รับผลบุญมากกว่าผู้ที่ไม่คบค้าคลุกคลีกับเพื่อนมนุษย์และไม่มีความอดทนอดกลั้นต่อการกระทำที่ไม่ดีต่างๆ ของพวกเขา” (สุนัน อบี ดาวูด 2/1338 หมายเลข 4032)

    والحمد لله رب العالمين ، وصلّى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين.