การอบรมเลี้ยงดูบุตร
หมวดหมู่
Full Description
การอบรมเลี้ยงดูบุตร
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
แปลโดย :อิสมาน จารง
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน
2012 - 1433
﴿ تربية الأبناء ﴾
« باللغة التايلاندية »
د. أمين بن عبدالله الشقاوي
ترجمة: عثمان جارونج
مراجعة: صافي عثمان
2012 - 1433
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
เรื่อง ที่ 63
การอบรมเลี้ยงดูบุตร
มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิของอัลลอฮฺ ขอการเจริญพรและความสันติมีแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม ข้าขอปฏิญานว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมหมัดนั้นเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์
ส่วนหนึ่งของอะมานะห์ และความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่คือ การอบรมเลี้ยงดูลูกๆ อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ قُوٓاْ أَنفُسَكُمۡ وَأَهۡلِيكُمۡ نَارٗا وَقُودُهَا ٱلنَّاسُ وَٱلۡحِجَارَةُ عَلَيۡهَا مَلَٰٓئِكَةٌ غِلَاظٞ شِدَادٞ لَّا يَعۡصُونَ ٱللَّهَ مَآ أَمَرَهُمۡ وَيَفۡعَلُونَ مَا يُؤۡمَرُونَ ٦﴾ [التحريم: ٦]
ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงคุ้มครองตัวของพวกเจ้าและครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรก เพราะเชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์ และก้อนหิน มีมะลาอิกะฮฺผู้แข็งกร้าวหาญคอยเฝ้ารักษามันอยู่ พวกเขาจะไม่ฝ่าฝืนอัลลอฮฺในสิ่งที่พระองค์ทรงบัญชาแก่พวกเขา และพวกเขาจะปฏิบัติตามที่ถูกบัญชา” (อัต-ตะหฺรีม 6)
ท่านอะลี บิน อะบี ฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวอธิบายอายะฮฺนี้ว่า จงฝึกมารยาทและสอนความรู้ให้แก่พวกเขา(ลูกๆ)
พ่อแม่นั้นจะต้องระลึกถึงสิ่งต่อไปนี้ในการอบรมเลี้ยงดูบุตร
ประการแรก การเลือกคู่ครองที่เป็นคนดี คนศอลิหะฮฺ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการอบรมสั่งสอนลูก รายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«تُنْكَحُ الْمَرْأةُ ِلأرْبَعٍ : لِمَالِهَا، وَلِحَسَبِهَا، وَجَمَالِهَا، وَلِدِيْنِهَا، فَاظْفَرْ بِذاتِ الدِّيْنِ تَرِبَتْ يَدَاكَ» [البخاري برقم 5090، ومسلم برقم 1466]
ความว่า ““สตรีจะถูกเลือกสมรสด้วยสาเหตุ 4 ประการ คือ ด้วยทรัพย์สินของนาง ด้วยเชื้อสายวงศ์ตระกูลของนาง ด้วยความสวยงามของนาง และด้วยศาสนาของนาง ดังนั้นจงรับเอาหญิงที่มีศาสนาเถิด มือทั้งสองของท่านจะประสบแต่ความดี” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 3/360 หมายเลข 5090, เศาะฮีหฺ มุสลิม 2/1086 หมายเลข 1466)
และรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ
เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«الدُّنْيَا مَتَاعٌ، وَخَيْرُ مَتَاعِ الدُّنْيَا الْمَرْأَةُ الصَّالِحَةُ» [مسلم برقم 1467]
ความว่า “โลกดุนยานี้ คือ สิ่งที่ทำให้มีความสุขสำราญ และสิ่งที่ทำให้มีความสุขสำราญที่ดียิ่งที่สุดของโลกดุนยานั้นก็คือ สตรีที่ดี” (เศาะฮีหฺ มุสลิม 2/1090 หมายเลข 1467)
ประการที่สอง ความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺในการอบรมสั่งสอนลูกๆ และหวังผลตอบแทนจากอัลลอฮฺในทุกสิ่งที่ได้ทุ่มเททั้งที่เป็นแรงกายและทรัพย์สิน ไม่ใช่ทำไปเพื่อการสรรเสริญ หรือยกย่องชี้นิ้วให้ อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَمَآ أُمِرُوٓاْ إِلَّا لِيَعۡبُدُواْ ٱللَّهَ مُخۡلِصِينَ لَهُ ٱلدِّينَ﴾ [البينة: ٥]
ความว่า “และพวกเขามิได้ถูกบัญชาให้กระทำอื่นใด นอกจากการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ เป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ในการภักดีต่อพระองค์” (อัล-บัยยินะฮฺ 5)
รายงานจากท่านอุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«إِنَّمَا الْأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ» [البخاري برقم 1]
ความว่า “แท้จริงการงานต่างๆนั้นขึ้นอยู่กับเจตนา” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 1/13 หมายเลข 1)
ดังนั้น การอบรมสั่งสอนถือเป็นอิบาดะฮฺที่ใหญ่ยิ่ง เนื่องจากผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการอบรมสั่งสอนนั้นครอบคลุมทั้งประโยชน์แก่ส่วนตัวและส่วนรวมด้วย และเนื่องจากการอบรมสั่งสอนนั้นมีความยากลำบาก และเหน็ดเหนื่อยอย่างมากอีกด้วย
ประการที่สาม การสร้างความเคยชินและส่งเสริมด้วยวิธีที่ดีและอ่อนโยนในการทำอิบาดะฮฺให้กับลูกๆตั้งแต่ยังเล็กๆ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย รัก และชอบในการทำอิบาดะฮฺ
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَأۡمُرۡ أَهۡلَكَ بِٱلصَّلَوٰةِ وَٱصۡطَبِرۡ عَلَيۡهَاۖ ﴾ [طه: ١٣٢]
ความว่า “และเจ้าจงสั่งใช้ครอบครัวของเจ้าให้ทำละหมาด และจงอดทนในการปฏิบัติละหมาด” (ฏอฮา 132)
รายงานจากท่านอัมรฺ บิน ชุอัยบ์ รายงานจากพ่อของท่าน รับจากปู่ของท่าน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ว่า ท่าน
นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«مُرُوا أَوْلَادَكُمْ بِالصَّلَاةِ وَهُمْ أَبْنَاءُ سَبْعِ سِنِينَ، وَاضْرِبُوهُمْ عَلَيْهَا وَهُمْ أَبْنَاءُ عَشْرٍ، وَفَرِّقُوا بَيْنَهُمْ فِي الْمَضَاجِعِ» [أبو داود برقم 495]
ความว่า “พวกท่านจงสั่งใช้ลูกๆ ให้ละหมาดเมื่อเขามีอายุเจ็ดขวบ และจงเฆี่ยนตีให้พวกเขาละหมาดเมื่อมีอายุครบสิบขวบ พร้อมๆ กับแยกที่นอนระหว่างพวกเขา” (สุนัน อบี ดาวูด 1/133 หมายเลข 495)
และในอีกรายงานหนึ่ง กล่าวว่า
وفي رواية : «عَلِّمُوا الصَّبِيَّ الصَّلَاةَ ابْنَ سَبْعِ سِنِينَ، وَاضْرِبُوهُ عَلَيْهَا ابْنَ عَشْرٍ»
ความว่า “พวกท่านจงสอนเด็กให้ละหมาดเมื่อเขามีอายุเจ็ดขวบ และจงเฆี่ยนตีเขาหากไม่ละหมาดเมื่อเขามีอายุครบสิบขวบ”
ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า ผู้ใดที่มีเด็กเล็ก ลูกทาส หรือลูกกำพร้าอยู่กับเขาแล้วเขาไม่สั่งใช้ให้ละหมาด เขาจะถูกลงโทษหากเขาไม่สั่งใช้เด็กๆ เหล่านั้น และเขาจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมายด้วยโทษที่หนักเพราะฝ่าผืนคำสั่งของอัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์ (จากแผ่นพับเรื่องการอบรมลูก ของเชค อับดุลมะลิก อัล-กอซิม)
ท่านอิบนุ อัลก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “ใครที่ละเลยในการให้ความรู้ที่มีประโยชน์กับลูกๆ ของเขา และปล่อยปละละเลยพวกเขาอย่างไร้สาระ แท้จริงเขาได้ทำร้ายพวกเขาอย่างร้ายแรง ลูกๆ ส่วนใหญ่เสียหายเพราะสาเหตุมาจากพ่อที่ละเลย ไม่สั่งสอนสิ่งที่เป็นวาญิบและสุนัตต่างๆ ในศาสนา เขาละเลยพวกเขาตั้งแต่เล็กๆ พวกเขาจึงไม่สามารถให้ประโยชน์แก่ตัวเองและพ่อของพวกเขาได้เมื่อเขาเติบโตขึ้นมา” (ตุหฺฟะตุลเมาดูด ฟี อะห์กาม อัล-เมาลูด หน้าที่ 80)
ประการที่สี่ ให้พวกเขา(ลูกๆ)ออกห่างจากสิ่งที่ต้องห้ามและชั่วร้ายต่างๆ เตือนถึงอันตรายของมันและปลูกฝังในใจให้เกลียดชังความชั่วที่จะนำมาซึ่งความหายนะทั้งแก่ชีวิตในโลกนี้และในวันอาคีเราะฮฺ พ่อแม่บางคนอาจไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ เพราะถือว่าพวกเขายังเด็กยังไม่มีภาระเรื่องบาปบุญ ซึ่งมันขัดแย้งกับสิ่งที่ท่านศาสนทูตผู้ตักเตือน ผู้อบรมสั่งสอนได้เคยทำไว้ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
รายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านหะสัน บิน อาลี (หลานของท่านนบี) เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้หยิบผลอินทผลัมลูกหนึ่งที่มาจากการบริจาคทาน เอามาใส่ในปาก ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า «كِخْ، كِخْ» (กิค กิค) เพื่อให้หะสันคายออกมา แล้วท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็กล่าวว่า
«أَمَا شَعَرْتَ أَنَّا لَا نَأْكُلُ الصَّدَقَةَ» [البخاري برقم 1491]
ความว่า “เจ้าไม่รู้ดอกหรือว่าพวกเรา(นบีและวงค์วานของท่าน)นั้น ห้ามรับประทานสิ่งที่เป็นทานบริจาค” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 1/462 หมายเลข 1491)
ประการที่ห้า การทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในการอบรมสั่งสอน เป็นที่รู้กันว่าลูกนั้นมีความประทับใจในตัวพ่อแม่และชอบที่จะทำตามพ่อแม่ จึงจำเป็นที่พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูต้องไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ขัดแย้งกับสิ่งที่พูด อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ لِمَ تَقُولُونَ مَا لَا تَفۡعَلُونَ ٢﴾ [الصف: ٢]
ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ทำไมพวกเจ้าจึงพูดในสิ่งที่พวกเจ้าไม่ปฏิบัติ” (อัศ-ศ็อฟ 2)
และพระองค์ตรัสเกี่ยวกับท่านนบีชุอัยบ์ว่า
﴿وَمَآ أُرِيدُ أَنۡ أُخَالِفَكُمۡ إِلَىٰ مَآ أَنۡهَىٰكُمۡ عَنۡهُۚ إِنۡ أُرِيدُ إِلَّا ٱلۡإِصۡلَٰحَ مَا ٱسۡتَطَعۡتُۚ﴾ [هود: ٨٨]
ความว่า “และฉันมิปรารถนาที่จะขัดแย้งกับพวกท่าน ในสิ่งที่ฉันได้ห้ามพวกท่านให้ละเว้น ฉันมิปรารถนาสิ่งใดนอกจากการปฏิรูปให้ดีขึ้นเท่าที่ฉันสามารถ” (ฮูด 88)
นักกวีได้กล่าวว่า
لَا تَنْهَ عَنْ خُلُقٍ وَتَأْتِيَ مِثْلَهُ عَارٌ عَلَيْكَ إِذَا فَعَلْتَ عَظِيْمٌ
ความว่า ท่านจงอย่าห้ามปรามสิ่งใดแล้วท่านกลับทำในสิ่งนั้น
ถือเป็นสิ่งที่น่าอับอายยิ่งหากท่านทำในสิ่งที่ตัวท่านได้ห้ามปรามผู้อื่นไว้
ประการที่หก พยายามให้พวกเขาห่างไกลจากเพื่อนที่ไม่ดี และให้คำแนะนำให้พวกเขาเลือกคบกับคนที่ดีที่ศอลิหฺ รายงานจากท่าน อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่าน
นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«الرَّجُلُ على دِينِ خَلِيْلِهِ، فَلْيَنْظُرْ أَحَدُكُم مَنْ يُخَالِلْ» [أبو داود برقم 4833]
ความว่า “บุคคลคนหนึ่งๆ นั้นจะขึ้นอยู่กับศาสนาของเพื่อนรักของเขา ดังนั้น เขาจงเลือกให้ดีว่าใครคือคนที่เขาจะเอามาเป็นเพื่อนรักด้วย” (สุนัน อบี ดาวูด 4/259 หมายเลข 4833)
พ่อแม่บางคน (ขออัลลอฮฺทรงชี้นำเราและพวกเขา) ไม่รู้ว่าลูกของเขาหายไปไหน เป็นเพื่อนกับใคร ใช้เวลาไปกับการทำอะไรบ้าง และพ่อบางคนก็มอบภาระนี้ให้กับแม่คนเดียว และเป็นที่รู้กันว่าแม่นั้นไม่สามารถติดตามลูกในทุกสถานการณ์ และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือการปล่อยให้คนขับรถหรือคนรับใช้ดูแลอบรมลูกแทน(อัลลอฮฺเท่านั้นคือผู้ที่เราร้องขอความเมตตา)
ประการที่เจ็ด ส่งลูกๆ ให้อยู่กับกลุ่มท่องจำอัลกุรอานที่มีอยู่ในมัสยิดหรือที่ต่างๆ รายงานจากท่าน อุษมาน บิน
อัฟฟาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«خَيْرُكُمْ مَنْ تَعَلَّمَ الْقُرْآنَ وَعَلَّمَهُ» [البخاري برقم 5027]
ความว่า “ผู้ที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่าน คือ ผู้เรียนอัลกุรอานและสอนอัลกุรอาน” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 3/346 หมายเลข 5027)
ประการที่แปด ปกป้องลูกๆ จากสื่อที่ไม่ดีต่างๆ เพราะหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ลูกๆ นั้นไขว้เขว ออกนอกลู่นอกทาง และปฏิบัติความชั่ว หลงไปในทางที่ชั่วช้าต่ำต่อย ก็คือสื่อที่เขาดูทางช่องต่างๆ ผ่านดาวเทียม ทั้งที่เป็นหนังที่โป๊เปลือย และชั่วช้าต่างๆ เช่นเดียวกับหนังการ์ตูนต่างๆ ที่แฝงไว้ด้วยสิ่งที่ขัดกับหลักศาสนา หลักอากีดะฮฺ หลักจริยธรรมที่ดี โดยคนส่วนใหญ่มักละเลยไม่ให้ความสำคัญถึงความชั่วใหญ่หลวงที่แฝงอยู่ รายงานจากท่าน มะอฺกิล บิน ยะสารฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«مَا مِنْ عَبْدٍ يَسْتَرْعِيهِ اللَّهُ رَعِيَّةً، يَمُوتُ يَوْمَ يَمُوتُ وَهُوَ غَاشٌّ لِرَعِيَّتِهِ؛ إِلاَّ حَرَّمَ اللَّهُ عَلَيْهِ الْجَنَّةَ » [البخاري برقم 7150، ومسلم برقم 142]
ความว่า “ไม่มีบ่าวคนใดที่อัลลอฮฺได้มอบความรับผิดชอบให้ดูแลผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลใดๆ แล้วบ่าวผู้นั้นเสียชีวิตลง ในขณะที่เขาได้ฉ้อฉลต่อผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขา นอกจากอัลลอฮฺจะห้ามเขาจากการเข้าสวรรค์” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 4/331 หมายเลข 7150 เศาะฮีหฺ มุสลิม 1/125 หมายเลข 142)
และส่วนหนึ่งของการฉ้อฉลก็คือการนำสื่อหรืออุปกรณ์ที่ทำลายศาสนาของพวกเขาเข้ามาในบ้าน
ประการที่เก้า อบรมสั่งสอนในเรื่องอิสลาม และการศรัทธา ปลูกฝังการให้ความยิ่งใหญ่แก่อัลลอฮฺ รักพระองค์ รักท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บอกถึงความสำคัญของท่านนบีและการปฏิบัติตามท่าน สั่งสอนจริยธรรมและมารยาทที่ดีงาม เช่นมารยาทในการแต่งกาย มารยาทในมัสยิด มารยาทในการกินและการดื่ม บทดุอาอ์เช้าเย็น การให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ มารยาทกับเพื่อนๆ สร้างความคุ้นเคยกับคำพูดที่ดี ห่างไกลจากคำพูดที่ไม่ดีไม่สุภาพ สอนให้รักษาความสะอาดทั้งร่างกายและเสื้อผ้า รวมถึงมารยาทที่ดีงามอื่นๆทั้งหมด
ประการที่สิบ ฝึกพวกเขาให้นอนเร็ว ไม่นอนดึก และตื่นเช้าตั้งแต่หัวรุ่ง ใช้เวลากับสิ่งที่มีประโยชน์ อนุญาตให้พวกเขาเล่นการละเล่นที่ไม่ต้องห้ามในศาสนาในบางเวลาเพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกเบื่อหน่าย
ประการที่สิบเอ็ด ให้คุณพ่อนั้นมีความอ่อนโยนในการปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา รายงานจากท่าน หญิง อาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«إِنَّ الرِّفْقَ لاَ يَكُونُ فِي شَيء إِلَّا زَانَهُ وَلاَ يُنْزَعُ مِنْ شَىْءٍ إِلَّا شَانَهُ» [مسلم برقم 2594]
ความว่า “ความอ่อนโยนนั้นจะไม่ถูกใส่ไว้ในสิ่งใดนอกจากจะทำให้สิ่งนั้นสวยงาม และจะไม่ถูกถอดถอนออกจากสิ่งใดนอกจากจะทำให้สิ่งนั้นน่ารังเกียจ” (เศาะฮีหฺ มุสลิม 4/2004 หมายเลข 2594)
พ่อแม่ต้องมีความยุติธรรมกับลูกๆ ทุกคนในทุกๆ สิ่ง ในการพูด การให้สลาม การให้ค่าเลี้ยงดู การให้ของขวัญ และสิ่งอื่นๆ ที่พวกเขามีความต้องการ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความอิจฉาริษยาระหว่างพวกเขา รายงานจากท่านอัน-นุมาน บิน บะชีรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวว่า
«اتَّقُوْا اللهَ وَاعْدِلُوْا بَيْنَ أَوْلَادِكُمْ» [مسلم برقم 1623]
ความว่า “พวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺ และจงให้ความยุติธรรมระหว่างลูกๆ ของพวกท่าน” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษในเศาะฮีหฺ มุสลิม 3/1243 หมายเลข 1623)
ประการที่สิบสอง พ่อจะต้องรู้ว่าการให้ได้รับทางนำนั้นอยู่ในพระหัตถ์ของอัลลอฮฺ พระองค์ทรงให้แก่ผู้ที่ทรงประสงค์ด้วยความกรุณาของพระองค์ พระองค์ทรงให้หลงทางผู้ที่พระองค์ประสงค์ด้วยความยุติธรรมของพระองค์ พ่อนั้นมีหน้าที่เพียงการชี้นำแนวทางและชี้แจงเท่านั้น ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿إِنَّكَ لَا تَهۡدِي مَنۡ أَحۡبَبۡتَ وَلَٰكِنَّ ٱللَّهَ يَهۡدِي مَن يَشَآءُۚ وَهُوَ أَعۡلَمُ بِٱلۡمُهۡتَدِينَ ٥٦﴾ [القصص: ٥٦]
ความว่า “แท้จริง เจ้าไม่สามารถที่จะชี้แนะทางที่ถูกต้องแก่ผู้ที่เจ้ารักได้ แต่อัลลอฮฺทรงชี้แนะทางที่ถูกต้องแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงผู้ที่อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง” (อัล-เกาะศ็อศ 56)
พ่อแม่จึงต้องขอดุอาอ์ให้กับลูกๆ ให้เป็นคนดีและได้รับทางนำ ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَٱلَّذِينَ يَقُولُونَ رَبَّنَا هَبۡ لَنَا مِنۡ أَزۡوَٰجِنَا وَذُرِّيَّٰتِنَا قُرَّةَ أَعۡيُنٖ وَٱجۡعَلۡنَا لِلۡمُتَّقِينَ إِمَامًا ٧٤﴾ [الفرقان: ٧٣]
ความว่า “และบรรดาผู้ที่กล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าของเรา ขอพระองค์โปรดประทานแก่เรา ซึ่งคู่ครองของเราและลูกหลานของเรา ให้เป็นที่รื่นรมย์แก่สายตาของเรา และทรงทำให้เราเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้ยำเกรง” (อัล-ฟุรกอน 74)
และจงระวังจากการขอดุอาอ์ที่ไม่ดีให้แก่พวกเขา(แม้ด้วยการพลั้งเผลอก็ตาม) รายงานจากท่านญาบิรฺ บิน
อับดิลลาฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«لَا تَدْعُوا عَلَى أَنْفُسِكُمْ، وَلَا تَدْعُوا عَلَى أَوْلَادِكُمْ، وَلَا تَدْعُوا عَلَى أَمْوَالِكُمْ، لَا تُوَافِقُوا مِنْ اللَّهِ سَاعَةً يُسْأَلُ فِيهَا عَطَاءٌ فَيَسْتَجِيبَ لَكُمْ» [مسلم برقم 3009]
ความว่า “พวกท่านจงอย่าขอดุอาอ์ที่ไม่ดีแก่ตัวพวกท่าน แก่ลูกๆ ของพวกท่าน ทรัพย์สินของพวกท่าน อย่าให้ดุอาอ์นั้นตรงพอดีกับช่วงเวลาที่อัลลอฮฺตอบรับดุอาอ์ใดๆ ที่ถูกขอ แล้ว
อัลลอฮฺก็จะตอบรับดุอาอ์ของพวกท่าน (แล้วสิ่งไม่ดีที่ท่านขอก็จะประสพแก่พวกท่าน)” (เศาะฮีหฺ มุสลิม 4/2302 หมายเลข 3009)
والحمد لله رب العالمين
وصلّى الله وسلم على نبيّنا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين.