เตาบะฮฺ การกลับตัวสู่อัลลอฮฺ
หมวดหมู่
Full Description
เตาบะฮฺ การกลับตัวสู่อัลลอฮฺ
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
แปลโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ
2012 - 1433
﴿التوبة﴾
« باللغة التايلاندية »
د. أمين بن عبدالله الشقاوي
ترجمة: يوسف أبوبكر
مراجعة: صافي عثمان
المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة
2012 - 1433
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
เรื่องที 77
เตาบะฮฺ การกลับตัวสู่อัลลอฮฺ
การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์...
อายุขัยกำลังถูกเก็บพับ คืนวันกำลังก้าวผ่านล่วงเลย ชีวิตกำลังผุกร่อนสั้นลง ความตาย(อะญัล)กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ และไม่มีลูกหลานนบีอาดัมคนใดรู้ได้ว่าความตายจะมาเยือนเมื่อไหร่? ดังที่มีบทกวีกล่าวว่า
“หนุ่มสาวได้กลายเป็นคนแก่ชราและผู้ใหญ่ได้มลายดับสูญ
ราตรีกาลได้เลยผ่านและยามพลบค่ำเข้ามาแทนที่ซ้ำๆ
เมื่อค่ำคืนหนึ่งที่เหมือนกันได้เลือนลางจางหาย
ยามทิวากาลได้เข้ามาทดแทนที่คราใหม่
เราทำทั้งตอนเช้าและตอนเย็นเพื่อความจำเป็นของเรา
สำหรับความจำเป็นของผู้ที่มีชีวิตจะไม่มีวันจบสิ้น
ธุระจำเป็นของใครคนหนึ่งจะจบลงพร้อมกับการตาย
และสำหรับความจำเป็นของผู้ที่มีชีวิตจะไม่มีวันจบสิ้น”
อัลลอฮฺได้เรียกร้องส่งเสริมให้ปวงบ่าวของพระองค์ก้าวไปสู่..การกลับเนื้อกลับตัว(เตาบะฮฺ)ก่อนความตายจะย่างกรายมาเยือน อัลลอฮฺ ตะอะลา ตรัสว่า
﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ تُوبُوٓاْ إِلَى ٱللَّهِ تَوۡبَةٗ نَّصُوحًا﴾ [التحريم : 8]
ความหมาย “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮฺด้วยการลุแก่โทษอย่างจริงจังเถิด” (อัต-ตะหฺรีม 8)
อัลลอฮฺ ตะอะลา ตรัสว่า
﴿وَتُوبُوٓاْ إِلَى ٱللَّهِ جَمِيعًا أَيُّهَ ٱلۡمُؤۡمِنُونَ لَعَلَّكُمۡ تُفۡلِحُونَ﴾ [النور : 31]
ความหมาย “และพวกเจ้าทั้งหลายจงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮฺเถิด โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ” (อัน-นูรฺ 31)
อัลลอฮฺ ตะอะลา ตรัสว่า
﴿وَٱلَّذِينَ إِذَا فَعَلُواْ فَٰحِشَةً أَوۡ ظَلَمُوٓاْ أَنفُسَهُمۡ ذَكَرُواْ ٱللَّهَ فَٱسۡتَغۡفَرُواْ لِذُنُوبِهِمۡ وَمَن يَغۡفِرُ ٱلذُّنُوبَ إِلَّا ٱللَّهُ وَلَمۡ يُصِرُّواْ عَلَىٰ مَا فَعَلُواْ وَهُمۡ يَعۡلَمُونَ﴾ [آل عمران : 135]
ความหมาย “บรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขากระทำสิ่งชั่วอันใดหรืออยุติธรรมแก่ตัวเองแล้ว พวกเขาก็รำลึกถึงอัลลอฮฺ แล้วขออภัยโทษต่อบรรดาความผิดของพวกเขา และใครเล่าที่จะอภัยโทษบรรดาความผิดทั้งหลายให้ได้ นอกจากอัลลอฮฺแล้ว และพวกเขามิได้ดื้อรั้นปฏิบัติในสิ่งที่เขาเคยปฏิบัติมาโดยที่พวกเขารู้กันอยู่” (อาล อิมรอน 135)
อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอะลา ได้เรียกร้องเชิญชวนปวงบ่าวของพระองค์ทั้งมวลสู่การกลับเนื้อกลับตัว พระองค์ได้เรียกร้องผู้ที่กล่าวอย่างหลงผิดว่าแท้จริงอัลลอฮฺคือพระเยซู(เมสิอาห์) เรียกร้องชาวคัมภีร์ผู้ที่กล่าวว่าอัลลอฮฺเป็นพระเจ้าหนึ่งจากสามองค์(หลักความเชื่อตรีเอกานุภาพ) เรียกร้องต่อบรรดาชาวยิวผู้ที่กล่าวว่าพระหัตถ์ของอัลลอฮฺถูกตีโซ่ตรวน(มีความตระหนี่) และเรียกร้องผู้ที่กล่าวอ้างว่าอัลลอฮฺมีคู่ครองและบุตร โดยที่พระองค์ได้ตรัสกับพวกเขาทั้งหมดว่า
﴿أَفَلَا يَتُوبُونَ إِلَى ٱللَّهِ وَيَسۡتَغۡفِرُونَهُۥۚ وَٱللَّهُ غَفُورٞ رَّحِيمٞ﴾ [المائدة : 74]
ความหมาย “พวกเขาจะไม่สำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวต่ออัลลอฮฺ และขออภัยโทษต่อพระองค์กระนั้นหรือ? และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงเอ็นดูเมตตาเสมอ”(อัล-มาอิดะฮฺ/74)
อัลลอฮฺได้เรียกร้องสู่การกลับเนื้อกลับตัวต่อฟิรเอาน์(ฟาโรห์)และพลพรรคของเขาว่าไม่มีพระเจ้าอื่นนอกจากพระองค์อีกแล้ว แท้จริงพระองค์คือพระผู้อภิบาลสูงสุดของพวกเขา พระองค์ได้ตรัสกับนบีมูซา(โมเสส)และนบีฮารูน(อารอน) อะลัยฮิมัสสลาม ว่า
﴿ٱذۡهَبَآ إِلَىٰ فِرۡعَوۡنَ إِنَّهُۥ طَغَىٰ ٤٣ فَقُولَا لَهُۥ قَوۡلٗا لَّيِّنٗا لَّعَلَّهُۥ يَتَذَكَّرُ أَوۡ يَخۡشَىٰ 44﴾ [طه : 43-44]
ความหมาย “เจ้าทั้งสองจงไปหาฟิรเอาน์ แท้จริงเขาโอหังอวดดีมาก แล้วเจ้าทั้งสองจงพูดกับเขาด้วยคำพูดที่อ่อนโยน บางทีเขาอาจจะรำลึกขึ้น หรือเกิดความยำเกรงขึ้น” (ฎอฮา 43-44)
พระองค์ได้เรียกร้องบรรดาผู้ตั้งภาคี(มุชริก)สู่การกลับเนื้อกลับตัว พระองค์ได้ตรัสกับพวกเขาหลังจากที่มีคำสั่งใช้ให้ทำสงครามกับพวกเขาว่า
﴿فَإِن تَابُواْ وَأَقَامُواْ ٱلصَّلَوٰةَ وَءَاتَوُاْ ٱلزَّكَوٰةَ فَإِخۡوَٰنُكُمۡ فِي ٱلدِّينِۗ وَنُفَصِّلُ ٱلۡأٓيَٰتِ لِقَوۡمٖ يَعۡلَمُونَ 11﴾ [التوبة : 11]
ความหมาย “แล้วหากพวกเขาสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว และดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และชำระซะกาตแล้วไซร้ก็เป็นพี่น้องของพวกเจ้าในศาสนา และจะเราแจกแจงโองการทั้งหลายไว้แก่กลุ่มชนที่รู้” (อัต-เตาบะฮฺ 11)
พระองค์ได้เรียกร้องบรรดาคนกลับกลอก หน้าไว้หลังหลอก(มุนาฟิก)สู่การกลับเนื้อกลับตัว ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า
﴿إِنَّ ٱلۡمُنَٰفِقِينَ فِي ٱلدَّرۡكِ ٱلۡأَسۡفَلِ مِنَ ٱلنَّارِ وَلَن تَجِدَ لَهُمۡ نَصِيرًا ١٤٥ إِلَّا ٱلَّذِينَ تَابُواْ وَأَصۡلَحُواْ وَٱعۡتَصَمُواْ بِٱللَّهِ وَأَخۡلَصُواْ دِينَهُمۡ لِلَّهِ فَأُوْلَٰٓئِكَ مَعَ ٱلۡمُؤۡمِنِينَۖ وَسَوۡفَ يُؤۡتِ ٱللَّهُ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ أَجۡرًا عَظِيمٗا 146﴾ [النساء : 145-146]
ความหมาย “แท้จริงบรรดามุนาฟิกจะอยู่ในชั้นต่ำสุดของไฟนรก และเจ้าจะไม่พบผู้ช่วยเหลือใดๆ สำหรับพวกเขาเป็นอันขาด นอกจากบรรดาผู้ที่สำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวและปรับปรุงแก้ไข และยึดมั่นต่ออัลลอฮฺ และได้มอบการอิบาดะฮฺของพวกเขาให้แก่อัลลอฮฺโดยสิ้นเชิง ชนพวกนี้แหละจะร่วมอยู่กับบรรดาผู้ศรัทธาและอัลลอฮฺจะทรงประทานแก่ผู้ศรัทธาทั้งหลายซึ่งรางวัลอันยิ่งใหญ่” (อัน-นิสาอ์ 145-146)
พระองค์ได้เรียกร้องบรรดาผู้ที่ได้กระทำบาปใหญ่ อาทิ การตั้งภาคี การฆ่าผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม และการผิดประเวณี ให้นำตนไปสู่การกลับเนื้อกลับตัว พระองค์ได้ตรัสว่า
﴿وَمَن يَفۡعَلۡ ذَٰلِكَ يَلۡقَ أَثَامٗا ٦٨ يُضَٰعَفۡ لَهُ ٱلۡعَذَابُ يَوۡمَ ٱلۡقِيَٰمَةِ وَيَخۡلُدۡ فِيهِۦ مُهَانًا ٦٩ إِلَّا مَن تَابَ وَءَامَنَ وَعَمِلَ عَمَلٗا صَٰلِحٗا فَأُوْلَٰٓئِكَ يُبَدِّلُ ٱللَّهُ سَئَِّاتِهِمۡ حَسَنَٰتٖۗ وَكَانَ ٱللَّهُ غَفُورٗا رَّحِيمٗا 70 ﴾ [الفرقان : 68-70]
ความหมาย “...และผู้ใดได้กระทำในเรื่องดังกล่าวเขาจะได้พบกับความผิดอย่างมหันต์ สำหรับเขาการลงโทษในวันกิยามะฮฺจะถูกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และเขาจะอยู่ในนั้นอย่างอัปยศ ยกเว้นผู้ที่กลับเนื้อกลับตัว และศรัทธาและประกอบการความดี พวกเขาเหล่านั้นแหละอัลลอฮฺจะทรงเปลี่ยนความชั่วของพวกเขาเป็นความดี และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัล-ฟุรกอน 68-70)
การเตาบะฮฺจากความผิดพลาดทั้งมวลจำเป็นต้องกระทำอย่างรีบเร่งไม่ว่าจะเป็นความผิดเล็กหรือความผิดใหญ่ อิมาม อัน-นะวาวียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “เป็นมติของปวงปราชญ์เห็นพ้องกันว่าการเตาบะฮฺจากความผิดทั้งมวลจำเป็นต้องกระทำอย่างรีบด่วน ไม่อนุญาตให้ล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นความผิดเล็กหรือใหญ่” (ชัรหฺ อัน-นะวาวียฺ อะลา เศาะฮีหฺ มุสลิม 6/59)
จากอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮู แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«لَلَّهُ أَشَدُّ فَرَحًا بِتَوْبَةِ عَبْدِهِ، حِينَ يَتُوبُ إِلَيْهِ، مِنْ أَحَدِكُمْ كَانَ عَلَى رَاحِلَتِهِ بِأَرْضِ فَلاَةٍ، فَانْفَلَتَتْ مِنْهُ وَعَلَيْهَا طَعَامُهُ وَشَرَابُهُ، فَأَيِسَ مِنْهَا، فَأَتَى شَجَرَةً فَاضْطَجَعَ فِى ظِلِّهَا قَدْ أَيِسَ مِنْ رَاحِلَتِهِ، فَبَيْنَا هُوَ كَذَلِكَ إِذَا هُوَ بِهَا قَائِمَةً عِنْدَهُ، فَأَخَذَ بِخِطَامِهَا ثُمَّ قَالَ مِنْ شِدَّةِ الْفَرَحِ : اللَّهُمَّ أَنْتَ عَبْدِي وَأَنَا رَبُّكَ. أَخْطَأَ مِنْ شِدَّةِ الْفَرَحِ» [البخاري برقم 6308، مسلم برقم 2747]
ความหมาย “อัลลอฮฺทรงดีใจต่อการกลับตัว (เตาบะฮฺ) ของบ่าวของพระองค์ในขณะที่เขาทำการกลับตัว (เตาบะฮฺ) ยิ่งกว่าคนหนึ่งคนใดในกลุ่มพวกท่านซึ่งได้นั่งอยู่บนสัตว์พาหนะของเขาในแผ่นดินที่ว่างเปล่าไกลโพ้น แล้วมันก็หลุดหนีไปโดยที่อาหารและน้ำดื่มติดไปด้วย เขาหมดหวังที่จะได้เจอมันอีก แล้วเขาก็ไปลงนอนใต้ร่มเงาไม้ในสภาพที่หมดหวังจะเจอกับพาหนะของเขา และในขณะที่เขาอยู่ในสภาพนั้น ทันใดนั้นมันก็มายืนปรากฏอยู่ต่อหน้าเขา แล้วเขาก็จับเชือก และได้กล่าวเนื่องจากความดีใจอย่างที่สุดว่า โอ้อัลลอฮฺพระองค์เป็นบ่าวของฉัน และฉันเป็นพระเจ้าของพระองค์ เขาพูดผิดอันเนื่องจากความหลงดีใจอย่างที่สุด” (เศาะฮีหฺมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2747 และเศาะฮีหฺอัล-บุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 6308)
เป้าหมายของการกลับเนื้อกลับตัว หมายถึง การกลับเนื้อกลับตัวอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจ (เตาบะตัน นะศูหา) ซึ่งการที่จะทำให้มันเกิดความสมบูรณ์ได้ต้องประกอบด้วยเงื่อนไขต่างๆ ดังต่อไปนี้
ในบางกรณีเงื่อนไขประกอบด้วย
หนึ่ง..ละทิ้งจากความผิดนั้น
สอง..มีความเสียใจจากการกระทำความผิด
สาม..มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่กลับไปทำความผิดนั้นอีก
และบางทัศนะได้เพิ่ม ต้องมีความบริสุทธิ์ใจ(อิคลาศ)ต่ออัลลอฮฺในการเตาบะฮฺ ไม่กระทำอันเนื่องจากความเกรงกลัวต่อผู้มีอำนาจ หรือเขินอายต่อผู้คน หรืออย่างอื่นนอกจากนี้
แต่ทว่าเป็นการเตาบะฮฺที่คาดหวังภาคผลบุญจากอัลลอฮฺ และเกรงกลัวต่อการลงโทษจากพระองค์ ในกรณีที่เป็นความผิดเกี่ยวโยงกับการล่วงอธิปไตยของผู้อื่น จำเป็นจะต้องมีเงื่อนไขประการที่สี่ กล่าวคือ จะต้องคืนสิทธินั้นให้แก่เจ้าของ
การเตาบะฮฺ มีสามองค์ประกอบที่สำคัญ อันได้แก่
องค์ประกอบที่หนึ่ง..การเตาบะฮฺจะต้องกระทำก่อนเกิดฆ็อรฺเฆาะเราะฮฺ หมายถึง มีเสียงดังที่ลูกกระเดือกก่อนจะถึงลมหายใจสุดท้ายเวลาใกล้จะเสียชีวิต อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿إِنَّمَا ٱلتَّوۡبَةُ عَلَى ٱللَّهِ لِلَّذِينَ يَعۡمَلُونَ ٱلسُّوٓءَ بِجَهَٰلَةٖ ثُمَّ يَتُوبُونَ مِن قَرِيبٖ فَأُوْلَٰٓئِكَ يَتُوبُ ٱللَّهُ عَلَيۡهِمۡۗ وَكَانَ ٱللَّهُ عَلِيمًا حَكِيمٗا ١٧ وَلَيۡسَتِ ٱلتَّوۡبَةُ لِلَّذِينَ يَعۡمَلُونَ ٱلسَّئَِّاتِ حَتَّىٰٓ إِذَا حَضَرَ أَحَدَهُمُ ٱلۡمَوۡتُ قَالَ إِنِّي تُبۡتُ ٱلۡـَٰٔنَ وَلَا ٱلَّذِينَ يَمُوتُونَ وَهُمۡ كُفَّارٌۚ أُوْلَٰٓئِكَ أَعۡتَدۡنَا لَهُمۡ عَذَابًا أَلِيمٗا 18﴾ [النساء : 17-18]
ความหมาย “แท้จริงการสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวต่ออัลลอฮฺจะทรงรับนั้นคือสำหรับบรรดาผู้ที่กระทำความชั่วโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เท่านั้น จากนั้นพวกเขาสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวในเวลาอันใกล้ ชนเหล่านี้แหละอัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขา และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้ผู้ทรงปรีชาญาณ การสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว(ที่อัลลอฮฺจะทรงรับ) นั้นมิใช่สำหรับบรรดาผู้ที่กระทำความชั่วต่างๆ จนกระทั่งเมื่อความตายได้มายังคนหนึ่งคนใดในพวกเขาแล้วเขาก็กล่าวว่า บัดนี้แหละข้าพระองค์ขอสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว และก็มิใช่สำหรับบรรดาผู้ที่ตายในขณะที่พวกเขาเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาด้วย ชนเหล่านี้เราได้เตรียมไว้แล้วสำหรับพวกเขาซึ่งการลงโทษอันเจ็บแสบ” (อัน-นิสาอ์ 17-18)
จากอับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«إِنَّ اللَّهَ يَقْبَلُ تَوْبَةَ الْعَبْدِ مَا لَمْ يُغَرْغِرْ» [الترمذي برقم 3537]
ความหมาย “แท้จริงอัลลอฮฺทรงตอบรับการกลับตัว (เตาบะฮฺ) ของบ่าวของพระองค์ตราบใดที่วิญญานยังออกไม่ถึงลูกกระเดือก” (บันทึกโดยอัต-ติรฺมิซียฺ หมายเลขหะดีษ 3537)
องค์ประกอบที่สอง..การเตาบะฮฺจะต้องกระทำก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางด้านทิศตะวันตก ดั่งที่อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿هَلۡ يَنظُرُونَ إِلَّآ أَن تَأۡتِيَهُمُ ٱلۡمَلَٰٓئِكَةُ أَوۡ يَأۡتِيَ رَبُّكَ أَوۡ يَأۡتِيَ بَعۡضُ ءَايَٰتِ رَبِّكَۗ يَوۡمَ يَأۡتِي بَعۡضُ ءَايَٰتِ رَبِّكَ لَا يَنفَعُ نَفۡسًا إِيمَٰنُهَا لَمۡ تَكُنۡ ءَامَنَتۡ مِن قَبۡلُ أَوۡ كَسَبَتۡ فِيٓ إِيمَٰنِهَا خَيۡرٗاۗ قُلِ ٱنتَظِرُوٓاْ إِنَّا مُنتَظِرُونَ 158﴾ [الأنعام : 158]
ความหมาย “พวกเขามิได้รอคอยอะไร นอกจากการที่มลาอิกะฮฺจะมายังพวกเขา หรือการที่พระผู้อภิบาลของเจ้าจะมา หรือการที่สัญญาณบางอย่างแห่งพระผู้อภิบาลของเจ้าจะมา วันที่สัญญาณบางอย่างแห่งพระผู้อภิบาลของเจ้ามานั้น จะไม่อำนวยประโยชน์แก่ชีวิตหนึ่งชีวิตใด ซึ่งการศรัทธาของเขาโดยที่เขามิได้ศรัทธามาก่อน หรือมิได้แสวงหาความดีใดๆ ไว้ในการศรัทธาของเขา จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่าพวกท่านจงรอกันเถิด แท้จริงพวกเราก็เป็นผู้รอคอยพร้อมๆ กัน” (อัล-อันอาม 158)
จากอบู มูซา เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« إِنَّ اللَّهَ عَزَّ وَجَلَّ يَبْسُطُ يَدَهُ بِاللَّيْلِ لِيَتُوبَ مُسِىءُ النَّهَارِ، وَيَبْسُطُ يَدَهُ بِالنَّهَارِ لِيَتُوبَ مُسِىءُ اللَّيْلِ، حَتَّى تَطْلُعَ الشَّمْسُ مِنْ مَغْرِبِهَا » [مسلم برقم 2759]
ความหมาย “แท้จริงอัลลอฮฺ อัซซะ วะญัลล์ ทรงเปิดพระหัตถ์ของพระองค์ในเวลากลางคืนเพื่อรับการกลับตัว (เตาบะฮฺ) ของผู้ทำผิดในเวลากลางวัน และทรงเปิดพระหัตถ์ในเวลากลางวันเพื่อรับการกลับตัวของผู้ทำผิดในเวลากลางคืน จนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก (หมายถึงปรากฏสัญญาณวันกิยามะฮฺ)” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2759)
จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮู ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ تَابَ قَبْلَ أَنْ تَطْلُعَ الشَّمْسُ مِنْ مَغْرِبِهَا تَابَ اللَّهُ عَلَيْهِ» [مسلم برقم 2703]
ความหมาย “ใครก็ตามที่กลับตัว (เตาบะฮฺ) ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันตก อัลลอฮฺจะทรงตอบรับการกลับตัวของเขา” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2703)
องค์ประกอบที่สาม..การเตาบะฮฺจะต้องกระทำก่อนที่จะมีการลงโทษต่อบรรดาผู้ที่ได้กระทำฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ เพราะแท้จริงการเตาบะฮฺของประชาชาติที่ถูกธรณีสูบนั้นได้สิ้นสุดลงด้วยการเห็นบทลงโทษ ดังที่พระองค์ตรัสว่า
﴿فَلَمَّا رَأَوۡاْ بَأۡسَنَا قَالُوٓاْ ءَامَنَّا بِٱللَّهِ وَحۡدَهُۥ وَكَفَرۡنَا بِمَا كُنَّا بِهِۦ مُشۡرِكِينَ ٨٤ فَلَمۡ يَكُ يَنفَعُهُمۡ إِيمَٰنُهُمۡ لَمَّا رَأَوۡاْ بَأۡسَنَاۖ سُنَّتَ ٱللَّهِ ٱلَّتِي قَدۡ خَلَتۡ فِي عِبَادِهِۦۖ وَخَسِرَ هُنَالِكَ ٱلۡكَٰفِرُونَ 85﴾ [غافر : 84-85]
ความหมาย “ครั้นเมื่อพวกเขาได้เห็นการลงโทษอย่างหนักของเรา พวกเขาก็กล่าวว่า เราศรัทธาต่ออัลลอฮฺเพียงองค์เดียว และเราปฏิเสธศรัทธาต่อสิ่งที่เราเคยตั้งภาคีต่อพระองค์ แต่การศรัทธาของพวกเขาจะไม่อำนวยประโยชน์อันใดแก่พวกเขาเลยในเมื่อพวกเขาได้เห็นการลงโทษอย่างหนักของเรา นี่คือแนวทางของอัลลอฮฺที่ได้มีมาแต่ในอดีตต่อปวงบ่าวของพระองค์ และขณะนั้นบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาก็ได้ขาดทุนอย่างย่อยยับ” (ฆอฟิรฺ 84-85)
กฎข้อนี้จะไม่มีใครได้รับการยกเว้นนอกจากกลุ่มชนของนบียูนุส อันเนื่องจากวิทยปัญญาตามที่อัลลอฮฺทรงต้องการ พระองค์ตรัสว่า
﴿فَلَوۡلَا كَانَتۡ قَرۡيَةٌ ءَامَنَتۡ فَنَفَعَهَآ إِيمَٰنُهَآ إِلَّا قَوۡمَ يُونُسَ لَمَّآ ءَامَنُواْ كَشَفۡنَا عَنۡهُمۡ عَذَابَ ٱلۡخِزۡيِ فِي ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَمَتَّعۡنَٰهُمۡ إِلَىٰ حِينٖ 98﴾ [نونس : 98]
ความหมาย “ฉะนั้นไม่มีเมืองใดที่ได้ศรัทธา(ขณะที่เห็นการลงโทษ) โดยที่การศรัทธาของพวกเขาจะอำนวยประโยชน์แก่พวกเขา นอกจากกลุ่มชนของยูนุสเมื่อพวกเขาศรัทธา เราได้ปลดเปลื้องการลงโทษอันอัปยศจากพวกเขา ในการมีชีวิตในโลกนี้และเราได้ยึดเวลาระยะหนึ่งแก่พวกเขา” (ยูนุส 98)
والحمد لله رب العالمين ، وصلى الله وسلم على نبينا محمد
وعلى آله وصحبه أجمعين .