ละหมาดตะรอวีหฺ
หมวดหมู่
แหล่งอ้างอิง
Full Description
- สถานที่และรูปแบบการละหมาด
- \\dp6\sites\default\files\1fb35038db0a.jpgสถานที่ละหมาด
- ส่วนใหญ่ที่มัสญิดจัดละหมาดคือช่วงแรกของกลางคืน การละหมาดญะมาอะฮฺกับอิมามมีความประเสริฐเสมือนละหมาดตลอดคืน แต่การละหมาดในช่วงสุดท้ายที่บ้านก็มีความประเสริฐ ดังนั้น ควรปฏิบัติแบบใด?
ละหมาดตะรอวีหฺ
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ริฏอ อะหมัด สมะดี
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : www.islaminthailand.org
2011 – 1432
﴿ صلاة التراويح ﴾
« باللغة التايلاندية »
رضا أحمد صمدي
مراجعة: صافي عثمان
المصدر: www.islaminthailand.org
2011 – 1432
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
ละหมาดตะรอวีหฺ
ความประเสริฐ
การละหมาดกลางคืนเป็นอิบาดะฮฺที่เป็นเอกลักษณ์ของประชาชาติอิสลาม มุสลิมคือผู้ที่ฟื้นฟูช่วงกลางคืนด้วยการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่เหมือนคนอื่นที่มักใช้ช่วงกลางคืนเพื่อความสนุกสนานหรือนอนหลับ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงทำให้กลางคืนเป็นเสมือนเครื่องอาภรณ์และเป็นเวลาส่วนตัว ดังที่พระองค์ตรัสว่า
﴿وَجَعَلۡنَا ٱلَّيۡلَ لِبَاسٗا ١٠﴾ (النباء : 10)
ความว่า “และเราได้ทำให้กลางคืนเสมือนเครื่องปกปิดร่างกาย” (อัน-นะบะอ์ 10)
﴿هُوَ ٱلَّذِي جَعَلَ لَكُمُ ٱلَّيۡلَ لِتَسۡكُنُواْ فِيهِ ...﴾ (يونس : 67)
ความว่า “พระองค์คือผู้ทรงประทานกลางคืนให้แก่พวกท่าน เพื่อพวกท่านจะได้พักผ่อน ...” (ยูนุส 67)
อัลกุรอานได้เรียกร้องให้บรรดาผู้ศรัทธาฟื้นฟูช่วงเวลากลางคืนบางส่วนด้วยการลุกขึ้นละหมาด อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา สั่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตั้งแต่ได้รับวะห์ยู(วิวรณ์)ช่วงแรกๆ ให้ลุกขึ้นละหมาดกลางคืนทั้งคืนหรือส่วนหนึ่ง
﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلۡمُزَّمِّلُ ١ قُمِ ٱلَّيۡلَ إِلَّا قَلِيلٗا ٢﴾ (المزمل : 1-2)
ความว่า “โอ้ผู้คลุมกายเอ๋ย จงยืนขึ้น (ละหมาด) เวลากลางคืน เว้นแต่เพียงเล็กน้อย” (อัล-มุซซัมมิล 1-2)
และเป็นเอกลักษณ์ของผู้ศรัทธาที่จะเข้าสวรรค์ในวันกิยามะฮฺ
﴿كَانُواْ قَلِيلٗا مِّنَ ٱلَّيۡلِ مَا يَهۡجَعُونَ ١٧ وَبِٱلۡأَسۡحَارِ هُمۡ يَسۡتَغۡفِرُونَ ١٨﴾ (الذاريات : 17-18)
ความว่า “พวกเขาเคยหลับนอนแต่เพียงส่วนน้อยของเวลากลางคืน และในยามรุ่งสางพวกเขาขออภัยโทษ (ต่อ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา )” (อัซ-ซาริยาต 17-18)
ช่วงท้ายของกลางคืน (อัสหารฺ) มีสุนนะฮฺในการกล่าวอิสติฆฟารฺ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวสวรรค์ และเป็นช่วงเวลาดุอาอ์มุสตะญาบ (ดุอาอ์ถูกตอบรับ)
เศาะหาบะฮฺบอกว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่ชอบการพูดคุยหลังอิชาอ์ แต่มีรายงานว่าท่านนบีเคยนั่งคุยกับท่านอบูบักรฺ อัศ-ศิดดีก ถึงเรื่องราวของประชาชนหลังละหมาดอิชาอ์ อุละมาอ์จึงตีความว่าท่านนบีไม่ชอบให้พูดคุยเรื่องไร้สาระหลังละหมาดอิชาอ์ แต่สามารถพูดคุยประเด็นที่มีสาระและความจำเป็นได้ เพื่อให้เวลากลางคืนผ่านไปตามเจตนารมณ์ของอิสลามเท่าที่กระทำได้
ในเดือนเราะมะฎอนบรรดาอัสสะละฟุศศอลิหฺและนักวิชาการจะหยุดสอนวิชาอื่นนอกจากอัลกุรอาน เพื่อรักษาให้กิจการในเดือนเราะมะฎอนมุ่งสู่เรื่องอิบาดะฮฺเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังให้ความสำคัญกับบางคืนในเดือนเราะมะฎอนเป็นพิเศษ ดังที่ท่านกล่าวว่า “และผู้ใดยืนละหมาดในคืนอัล-ก็อดรฺ (ลัยละตุลก็อดรฺ) อัลลอฮฺก็จะให้อภัยโทษต่อความผิดที่ทำในอดีต” (แสดงถึงความพิเศษอีกระดับหนึ่งของคืนอัล-กอดรฺ) เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ย้ำเช่นนี้ เราจึงต้องเข้าใจว่าการศึกษาเรื่องการละหมาดกิยามุลลัยลฺในเดือนเราะมะฎอนนั้น ไม่ด้อยไปกว่าการศึกษาวิธีถือศีลอดหรือวิธีการละหมาด
ความเป็นมา
คำว่า “ตะรอวีหฺ” ซึ่งหมายถึงการละหมาดกิยามุลลัยลฺในเดือนเราะมะฎอน มาจากการพักระหว่างยืนละหมาด 4 ร็อกอัต ซึ่งเรียกว่า “ตัรวีหะฮฺ” ในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ส่วนมาก (รวมทั้งเยาวชน) จะใช้ไม้เท้าพยุงยืนละหมาด เพื่อรักษาผลบุญที่มากกว่าการนั่งละหมาดซึ่งได้เพียงครึ่งหนึ่ง
หะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บังคับให้ละหมาดฟัรฎูที่มัสญิด ใครมีความสามารถต้องไป ถ้าไม่ไปอาจถูกสงสัยว่าเป็นมุนาฟิก และถึงขั้นที่ท่านนบีขู่จะเผาบ้านคนที่ไม่ไปละหมาดมัสญิด แต่สำหรับละหมาดสุนนะฮฺทุกประเภท ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ส่งเสริมให้ละหมาดที่บ้าน ส่วนมากท่านนบีจะละหมาดสุนนะฮฺที่บ้าน ดังที่ท่านได้พูดชัดเจนว่า “การที่คนหนึ่งคนใดละหมาดที่บ้าน ดีกว่าการละหมาดที่มัสญิด ยกเว้นฟัรฎู”
อุละมาอ์ได้ยกเว้นละหมาดบางประเภทที่เป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺหรือฟัรฎูกิฟายะฮฺที่สมควรละหมาด เช่น ละหมาดกูซูฟ (สุริยคราสหรือจันทรคราส) ละหมาดญะนาซะฮฺ (ถ้าจะละหมาดที่มัสญิด) (ตามสุนนะฮฺท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ละหมาดญะนาซะฮฺที่มุศ็อลลา ท่านนบีเคยละหมาดญะนาซะฮฺที่มัสญิดเพียงครั้งเดียวเพื่อบอกว่าละหมาดได้)
ในเราะมะฎอนปีช่วงท้ายชีวิตของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านได้ถือศีลอดและละหมาดกิยามุลลัยลฺที่บ้าน เศาะหาบะฮฺได้รายงานว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ส่งเสริม เรียกร้อง และกระตุ้นให้พวกเราละหมาดกิยามุลลัยลฺที่บ้านโดยไม่บังคับ บรรดาเศาะหาบะฮฺก็ละหมาดที่บ้าน และบางคนละหมาดที่มัสญิดแต่ไม่ใช่ญะมาอะฮฺ จนครั้งหนึ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ออกมาละหมาดที่มัสญิด
มีหะดีษของอบู ซัรร์ บันทึกโดยอิมามอบู ดาวูด “เราได้ถือศีลอดกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในเดือนเราะมะฎอน จนถึงคืนที่ 24 (เหลืออีก 7 วัน) ท่านนบีนำละหมาดที่มัสญิดช่วง 1 ใน 3 ของกลางคืน[1] คืนที่ 25 ไม่ได้ละหมาด ต่อมาคืนที่ 26 ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นำละหมาดตะรอวีหฺจนผ่านไปครึ่งกลางคืน(ประมาณ 5 ชั่วโมง 30 นาที) อบู ซัรร์ ได้ขอร้องให้ท่านนบีละหมาดจนถึงศุบหฺ เพื่อจะได้ละหมาดทั้งคืน ท่านนบีจึงได้ตอบว่า “แท้จริง เมื่อคนหนึ่งคนใดละหมาดพร้อมอิมามจนสำเร็จ จะถูกบันทึกเสมือนละหมาดตลอดคืน” (นี่แสดงถึงความประเสริฐของการละหมาดตะรอวีหฺกับญะมาอะฮฺที่มัสญิด ถึงแม้ไม่ได้ละหมาดตลอดคืน แต่ถือว่าสมบูรณ์ในการบันทึก) ต่อมาคืนที่ 27 ไม่ได้ละหมาด คืนที่ 28 ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เชิญชวนครอบครัวและผู้คนละหมาดตะรอวีหฺ ท่านได้นำละหมาดจนกระทั่งเรากลัวว่าจะไม่ทันรับประทานอาหารสะหูรฺ และคืนที่เหลือท่านนบีไม่ได้ละหมาดกับเรา”
สาเหตุที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่นำละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิดเป็นประจำ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ได้ให้เหตุผลไว้ มีปีหนึ่ง ท่านนบีละหมาดคืนหนึ่งแล้วเว้น เศาะหาบะฮฺมาเรียกให้ท่านนบีออกมานำละหมาด แต่ท่านไม่ออก ตอนเช้าท่านนบีได้บอกว่า “ฉันเห็นคนเต็มมัสญิดรอฉันนำละหมาด แต่ฉันตั้งใจไม่ออกไปนำละหมาด เพราะเกรงว่าจะถูกบัญญัติให้การละหมาดตะรอวีหฺเป็นวาญิบ และพวกท่านคงไม่ไหว”
แสดงว่าตลอดชีวิตท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่มีการละหมาดตะรอวีหฺที่มัสญิดเป็นประจำ มีเพียงบางครั้งบางคราว แต่เมื่อท่านนบีเสียชีวิตแล้ว จึงไม่มีโอกาสบัญญัติให้การละหมาดนี้เป็นวาญิบ
สมัยท่านอบู บักรฺไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือใครอยากละหมาดที่บ้านก็ทำ ใครจะละหมาดที่มัสญิดก็ได้ แต่ไม่เป็นญะมาอะฮฺเดียว ละหมาดคนเดียวบ้างหรือเป็นกลุ่มบ้าง หรือมีอิมามนำละหมาดให้เป็นบางครั้ง ช่วงแรกของคิลาฟะฮฺอุมัรฺก็เช่นเดียวกัน จนครั้งหนึ่งท่านอุมัรฺเข้ามัสญิดเห็นคนละหมาดตะรอวีหฺกันหลายกลุ่ม แล้วมีความคิดว่าถ้ารวมกันน่าจะดีกว่า จึงแต่งตั้งให้อุบัยย์ อิบนุ กะอับ เป็นอิมามประจำมัสญิดสำหรับผู้ชาย และแต่งตั้งตะมีม อัด-ดารียฺ ให้เป็นอิมามสำหรับผู้หญิง นั่นคือในสมัยท่านอุมัรฺเริ่มรวมเหลือ 2 ญะมาอะฮฺ เป็นหลักฐานว่าจัดอิมามให้เฉพาะสำหรับผู้หญิงได้
การละหมาดตะรอวีหฺที่บ้านสามารถทำได้ (สำหรับเรื่องที่ว่าแบบใดมีความประเสริฐมากกว่า จะกล่าวในเนื้อหาต่อๆ ไป) เพราะสมัยท่านนบีและสมัยท่านอบูบักรฺก็ทำ และหากที่มัสญิดไม่จัดอิมามนำละหมาด ก็สามารถตั้งญะมาอะฮฺหลายกลุ่มที่มัสญิดได้ แต่อุละมาอ์บอกว่าอย่าให้รบกวนกัน เพราะเคยปรากฏในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีการอ่านอัลกุรอานกวนกันในมัสญิด ท่านนบีบอกว่า “พวกท่านอย่าอ่านอัลกุรอานเสียงดังซึ่งกันและกัน (อย่ากวนกันด้วยอัลกุรอาน)” เราต้องการความสงบในการอ่านอัลกุรอาน จะอ่านเพื่อรบกวนคนอื่นไม่ได้ หากอยู่กันหลายคนก็อ่านด้วยเสียงพอให้ตัวเองได้ยิน
จำนวนร็อกอะฮฺและระยะเวลา
จำนวนร็อกอัต
เป็นบทบัญญัติสำหรับกิยามุลลัยลฺทั่วไป (รวมทั้งตะรอวีหฺในเดือนเราะมะฎอน) ที่อุละมาอ์ทั้งหมดบอกว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่เคยละหมาดเกิน 11 ร็อกอัต หะดีษจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา บันทึกโดยอิมามอัล-บุคอรียฺและมุสลิม “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่เคยละหมาดในเดือนเราะมะฎอนและนอกเดือนเราะมะฎอนมากกว่า 11 ร็อกอัต ท่านนบีจะละหมาด 4 ร็อกอัต (ทีละ 2 ร็อกอัต) ไม่ต้องถามเลย ว่าท่านนบี ละหมาดยาวและสง่างามอย่างไร ( หมายถึงละหมาดยาวมากและสวยงามมาก) และละหมาดอีก 4 ร็อกอัต (ทีละ 2 ร็อกอัต) ท่านอย่าถามถึงความสวยงามและความยาวของมัน และต่อมาละหมาดอีก 3 ร็อกอัต” (คุณค่าของหะดีษนี้อยู่ที่ผู้รายงานหะดีษคือท่านหญิงอาอิชะฮฺ ซึ่งนิกาหฺกับท่านนบีตั้งแต่ก่อนอพยพ (อยู่ที่มักกะฮฺ) และเข้าอยู่บ้านเดียวกันเมื่ออพยพมาอยู่ที่มะดีนะฮฺ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ อยู่กับท่านนบีโดยตลอด และถือศีลอดด้วยกันตั้งแต่ปีฮิจญ์เราะฮฺศักราชที่ 1-11 (ปีที่ท่านนบีเสียชีวิต) ในเดือนเราะมะฎอนส่วนมากท่านนบีละหมาดที่บ้าน ดังนั้นคนที่รู้ลักษณะการละหมาดของท่านนบีมากที่สุดคือภรรยาของท่าน และท่านนบีชอบอยู่บ้านท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา บางครั้งภรรยาคนอื่นสละสิทธิ์ให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไปอยู่บ้านท่านหญิงอาอิชะฮฺ เพราะรู้ว่าท่านนบีรักมากกว่า ปรับความหึงเพราะรักท่านนบี และอยากให้ท่านได้สิ่งที่รักมากที่สุด ดังนั้น คนที่รู้ความลับของท่านนบีมากที่สุดคือ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เป็นที่ยอมรับในบรรดาภรรยานบีและเศาะหาบะฮฺ)
สำหรับรายงานที่ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่เคยละหมาดมากกว่า 13 ร็อกอัต อุละมาอ์ตีความ 2 ร็อกอัตที่เกินมา(ว่าเป็นละหมาดใด) ทรรศนะหนึ่งบอกว่าเป็นละหมาดสุนนะฮฺหลังอิชาอ์ ส่วนอีกทรรศนะหนึ่งบอกว่าเป็น 2 ร็อกอัตเฉพาะของกิยามุลลัยลฺที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะละหมาดเร็วเพื่อเป็นการเตรียมตัวที่จะละหมาดยาวนานต่อไป
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยละหมาดน้อยกว่า 11 ร็อกอัต มีรายงานของเศาะหาบะฮฺและถ้อยคำที่ท่านนบีแนะนำผู้อื่นให้ทำเช่นกัน หะดีษบันทึกโดยอิมามอบู ดาวูดและอิมามอะหฺมัด ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ถูกถามว่า “ท่านนบีละหมาดกลางคืนพร้อมด้วยวิตรฺกี่ร็อกอัต?” ท่านหญิงตอบว่า “บางครั้งท่านนบีละหมาด 4 ร็อกอัต (ทีละสอง) และวิตรฺ 3 ร็อกอัต (2 ร็อกอัต ตามอีก 1 ร็อกอัต) บางครั้งละหมาด 6 ร็อกอัต (ทีละสอง) และวิตรฺ 3 ร็อกอัต (2 ร็อกอัต ตามอีก 1 ร็อกอัต) และบางครั้งละหมาด 10 ร็อกอัต (ทีละสอง) และวิตรฺ 3 ร็อกอัต (2 ร็อกอัต ตามอีก 1 ร็อกอัต) ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่เคยละหมาดน้อยกว่า 7 ร็อกอัตและไม่เคยละหมาดมากกว่า 13 ร็อกอัต”
หะดีษบันทึกโดยอิมามอัฏ-เฏาะหาวียฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บอกว่า “วิตรฺเป็นสัจธรรม[2] ใครอยากละหมาดกิยามุลลัยลฺพร้อมวิตรฺ 5 ร็อกอัตก็ได้ หรือ 3 ร็อกอัตก็ได้ หรือ 1 ร็อกอัตก็ได้”
อุละมาอ์สรุปว่า การละหมาดกิยามุลลัยลฺสูงสุด 13 หรือ 11 ร็อกอัต และต่ำสุด 1 ร็อกอัต (เศาะหาบะฮฺที่ปฏิบัติวิตรฺ 1 ร็อกอัตคือ มุอาวียะฮฺ อิบนุ อบี สุฟยาน เคยมีสงครามระหว่างมุอาวียะฮฺกับอะลี มีคนเห็นมุอาวียะฮฺละหมาดกิยามุลลัยลฺ 1 ร็อกอัต จึงไปบอกอิบนุ อับบาสซึ่งอยู่ฝ่ายอะลี เพราะหวังให้อิบนุ อับบาสตำหนิมุอาวียะฮฺ แต่อิบนุ อิบบาสบอกว่า “ปล่อยเขา เขามีความรู้”)
ระยะเวลา
บางครั้งท่านนบี ละหมาด 1 ใน 3 ของคืน บางครั้งครึ่งคืน และบางครั้งละหมาดทั้งคืน ไม่มีเวลาตายตัว (แต่ส่วนมากจะละหมาด 1 ใน 3 ของคืน แล้วแต่ความเหมาะสม) บางครั้งหนึ่งร็อกอัตเท่ากับสูเราะฮฺ อัล-มุซซัมมิล (ประมาณ 20 อายะฮฺ) บางครั้งเท่ากับ 50 อายะฮฺ มีหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ قَامَ بِعَشْرِ آيَاتٍ لَمْ يُكْتَبْ مِنَ الْغَافِلِيْن ، وَمَنْ قَامَ بِمِائَةِ آيَةٍ كُتِبَ مِنَ الْقَانِتِيْن ، وَمَنْ قَامَ بِأَلْفِ آيَةٍ كُتِبَ مِنَ الْمُقَنْطِرِيْنَ» (رواه أبو داود، وصححه الألباني في صحيح الجامع الصغير وزياداته برقم 6439)
ความว่า “ผู้ใดตื่นละหมาดกลางคืนด้วย 10 อายะฮฺ จะไม่ถูกบันทึกว่าเป็นผู้หลงลืม (จากหลักการของอัลลอฮฺ) และผู้ใดตื่นละหมาดกลางคืนด้วย 100 อายะฮฺ จะถูกบันทึกว่าเป็นกอนิตีน (ยืนละหมาดนาน) และผู้ใดละหมาดกลางคืนด้วย 1,000 อายะฮฺ จะถูกบันทึกว่าเป็นมุก็อนฏิรีน (ได้รับผลบุญมหาศาล)” (บันทึกโดย อบู ดาวูด, เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ตามทัศนะของ อัล-อัลบานียฺ ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 6439)
คืนหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ป่วย แต่ได้ละหมาดกิยามุลลัยลฺด้วยสูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ, อาล อิมรอน, อัน-นิสาอ์, อัล-มาอิดะฮฺ, อัล-อันอาม อัล-อะอฺรอฟ และอัต-เตาบะฮฺ (ถือเป็น 7 สูเราะฮฺที่ยาวที่สุดในอัลกุรอานที่ถูกเรียงกัน เรียกว่า “อัซ-ซับอุ อัฏ-ฏิวาล” รวมประมาณ 10 ญุซ) และมีเรื่องของท่านหุซัยฟะฮฺ อิบนุ อัล-ยะมาน ที่ขอค้างกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คืนหนึ่ง และได้ละหมาดกับท่านนบี ซึ่งท่านได้อ่านอัล-บะเกาะเราะฮฺ, อัน-นิสาอ์ และอาล อิมรอนในร็อกอัตเดียว โดยอ่านช้าๆ
ในสมัยท่านอุมัรฺ ที่แต่งตั้งให้อุบัยย์ อิบนุ กะอับ นำละหมาดที่มัสญิด อุบัยย์อ่านอายะฮฺนับหลักร้อย จนคนที่มาละหมาดด้วยใช้ไม้เท้า และจะไม่กลับบ้านจนกว่าใกล้อะซานศุบหฺ อุละมาอ์บอกว่าการนำละหมาดที่มัสญิดสมควรดูว่าคนทั่วไปสามารถละหมาดได้ยาวนานแค่ไหน แต่หากเป็นมัสญิดหรือมุศ็อลลาที่คนละหมาดสมัครใจละหมาดยาวมากก็สามารถทำได้
การละหมาดกิยามุลลัยลฺเริ่มตั้งแต่เวลาหลังละหมาดอิชาอ์จนถึงเวลาอะซานศุบหฺ การละหมาดก่อนอิชาอ์มีรูปแบบที่บางครั้งเศาะหาบะฮฺปฏิบัติ คือ การละหมาดระหว่างมัฆริบและอิชาอ์ทีละ 2 ร็อกอัตเท่าที่ทำได้ เรียกว่า “อิหฺยาอุ มา บัยนัลอิชาอัยนฺ” เป็นสุนนะฮฺกลางคืนอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่กิยามุลลัยลฺ
หะดีษบันทึกโดยอิมามมุสลิม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “ใครที่กลัวจะไม่ตื่นช่วงท้ายของคืน ให้ละหมาดวิตรฺก่อนนอน และใครที่หวังว่าจะตื่นละหมาดตอนดึก ให้วิตรฺตอนดึก[3] เพราะการละหมาดช่วงสุดท้ายของกลางคืน เป็นการละหมาดที่มีผู้เป็นพยานให้ (หมายถึงอัลลอฮฺ หรือบรรดามะลาอิกะฮฺ[4]) และการละหมาดกลางคืนนั้นประเสริฐยิ่ง”
สถานที่และรูปแบบการละหมาด
\\dp6\sites\default\files\1fb35038db0a.jpgสถานที่ละหมาด
ส่วนใหญ่ที่มัสญิดจัดละหมาดคือช่วงแรกของกลางคืน การละหมาดญะมาอะฮฺกับอิมามมีความประเสริฐเสมือนละหมาดตลอดคืน แต่การละหมาดในช่วงสุดท้ายที่บ้านก็มีความประเสริฐ ดังนั้น ควรปฏิบัติแบบใด?
เชคอัล-อัลบานียฺบอกว่า “การละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิดมีความประเสริฐกว่า เพราะจะถูกบันทึกว่าละหมาดตลอดคืน (รวมถึงช่วงสุดท้ายของคืนด้วย) และนี่คือการปฏิบัติของบรรดาเศาะหาบะฮฺเช่นเดียวกัน” แต่เชคอัล-อัลบานียฺคลาดเคลื่อนนิดหน่อยในการตีความหะดีษที่ว่า ในสมัยท่านอุมัรฺได้มีการแต่งตั้งอิมามที่มัสญิดนำละหมาดช่วงแรกของคืน ท่านอุมัรฺออกมากับเศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งแล้วบอกว่า “การละหมาดเช่นนี้ดี แต่การละหมาดช่วงที่พวกเขากลับบ้านไปนอนพักผ่อนนั้นดีกว่า คนส่วนมากละหมาดช่วงแรกของกลางคืน” เชคอัล-อัลบานียฺอ้างคำพูดที่ว่า “คนส่วนมากละหมาดช่วงแรกของคืน” แต่ท่านอุมัรฺไม่ได้ละหมาดช่วงนั้น มีรายงานหะดีษหนึ่งว่า ท่านอุมัรฺไม่ได้ร่วมละหมาดกับอิมามที่มัสญิด แต่ละหมาดที่บ้านช่วงสุดท้ายของกลางคืน ดังนั้นจะฟันธงว่าการละหมาดช่วงแรกเป็นการปฏิบัติของเศาะหาบะฮฺทั้งหมดไม่ได้ ถึงแม้เศาะหาบะฮฺส่วนมากปฏิบัติ แต่เมื่อเทียบแล้วท่านอุมัรฺมีน้ำหนักมากกว่าเศาะหาบะฮฺธรรมดา
อุละมาอ์มีทรรศนะที่แตกต่างกันเรื่องละหมาดที่มัสญิดหรือที่บ้านประเสริฐกว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บอกว่าละหมาดสุนนะฮฺที่บ้านดีกว่าและละหมาดช่วงสุดท้ายของกลางคืนดีกว่า แต่อีกหะดีษหนึ่งท่านนบีบอกว่าการละหมาดกับอิมามที่มัสญิดได้ผลบุญเท่ากับการละหมาดตลอดคืน จึงมีทรรศนะ(ทรรศนะแรก)ที่ยึดหะดีษนี้ว่าละหมาดที่มัสญิดดีกว่า เพราะไม่มีอะไรสมบูรณ์กว่าการละหมาดตลอดคืน
ทรรศนะที่ 2 บอกว่าละหมาดที่บ้านดีกว่า โดยยึดตามหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่บอกว่าละหมาดสุนนะฮฺทุกประเภทที่บ้านดีกว่า และละหมาดช่วงสุดท้ายของคืนดีกว่า ส่วนการละหมาดที่มัสญิดท่านนบีไม่ได้ใช้คำว่า “อัฟฎ็อลฺ (ประเสริฐกว่า)” เพียงแต่บอกว่าได้รับผลบุญเท่าการละหมาดตลอดคืน
ทรรศนะที่ 3 คือทรรศนะของอุละมาอ์ที่ได้ให้แง่คิดว่า หากรู้ว่าการละหมาดที่บ้านช่วงสุดท้ายของคืนมีคุชูอฺ(มีสมาธิ)มากกว่าและยาวกว่าที่มัสญิด นั่นดีกว่าและได้ผลบุญมากกว่า แต่ถ้ารู้ว่าละหมาดที่มัสญิดยาวกว่านั่นย่อมดีกว่า เพราะความประเสริฐไม่ใช่ในด้านเวลาอย่างเดียว แต่รวมถึงจำนวนและความสมบูรณ์ด้วย
การละหมาดตามอิมามที่บะแล(บาหล่าย)หรือมุศ็อลลาก็ถือว่าเป็นมัสญิด แต่มีคิลาฟว่ามัสญิดบ้าน (คือการตั้งห้องหนึ่งเป็นบะแลหรือมุศ็อลลา เนื่องจากไม่สามารถสร้างมัสญิดหลังใหญ่ได้) ถือว่าเป็นมัสญิดหรือไม่ เพราะมีหะดีษบางบทเรียกว่าเป็นมัสญิด ดังที่เศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งกล่าวว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สั่งให้กำหนดมัสญิดที่บ้านของเราและรักษาความสะอาดด้วย” และเป็นที่ปฏิบัติของบรรดาเศาะหาบะฮฺว่าในหมู่บ้านจะมีมัสญิดหรือมุศ็อลลา บางบ้านมีห้องเฉพาะสำหรับละหมาด ถึงแม้จะเรียกว่ามัสญิด อุละมาอ์บางท่านบอกว่าไม่ได้ผลบุญเหมือนมัสญิด ถ้าเรียกว่ามัสญิดและมีญะมาอะฮฺก็ได้ผลบุญ เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เรียกว่ามัสญิด แต่ที่เรียกว่ามัสญิดสมบูรณ์คือ เป็นที่วะกัฟของมัสญิด ไม่ได้อยู่อาศัยเป็นบ้าน
รูปแบบการละหมาด
รูปแบบที่ 1 ละหมาด 13 ร็อกอัต คือ ละหมาด 2 ร็อกอัตแรกเร็วหน่อย (เชคอัล-อัลบานียฺบอกว่า 2 ร็อกอัตนี้คือสุนนะฮฺหลังอิชาอ์ หรือนับเป็น 2 ร็อกอัตเริ่มกิยามุลลัยลฺ) 2 ร็อกอัตต่อมายาว 2 ร็อกอัตต่อมาสั้นลง แล้วพัก ต่อมาละหมาด 2 ร็อกอัตสั้นกว่า 4 ร็อกอัตที่ผ่านไป และอีก 2 ร็อกอัตสั้นลง แล้วพัก ต่อมาละหมาด 2 ร็อกอัตที่สั้นกว่าที่ผ่านไปทั้งหมด และวิตรฺ 1 ร็อกอัต
รูปแบบที่ 2 ละหมาด 13 ร็อกอัต คือ ละหมาด 8 ร็อกอัตทีละสอง (ให้สลามทุก 2 ร็อกอัต) และละหมาด 5 ร็อกอัตเป็นวิตรฺรวดเดียว อุละมาอ์ส่วนมากให้น้ำหนักว่าตะชะฮุดครั้งเดียวในละหมาดวิตรฺ 5 ร็อกอัต
รูปแบบที่ 3 ละหมาด 11 ร็อกอัต เหมือนรูปแบบที่ 1 แต่ไม่มี 2 ร็อกอัตเร็วตอนแรก คือ 2 ร็อกอัต 2 ร็อกอัต แล้วพัก จากนั้นก็ละหมาดอีก 2 ร็อกอัต 2 ร็อกอัต แล้วพัก ต่อมาก็ 2 ร็อกอัต และ 1 ร็อกอัต
รูปแบบที่ 4 ละหมาด 11 ร็อกอัต คือ ละหมาด 4 ร็อกอัตรวดเดียว (สลามครั้งเดียว ตะชะฮุดเดียว) จากนั้นก็อีก 4 ร็อกอัตรวดเดียว(สลามครั้งเดียวเช่นกัน) และ 3 ร็อกอัตรวดเดียว (เชคอัล-อัลบานียฺบอกว่า ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในสุนนะฮฺว่าท่านนบีละหมาด 4 ร็อกอัตรวดเดียวหรือมีตะชะฮุดด้วย แต่ที่แน่นอนว่าถ้าละหมาดวิตรฺ 3 ร็อกอัตรวดเดียวไม่ให้ตะชะฮุดร็อกอัตที่สอง เพราะมีหะดีษชัดเจนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บอกว่า “อย่าละหมาดวิตรฺเหมือนมัฆริบ” นี่จึงเป็นทรรศนะของอุละมาอ์กลุ่มหนึ่งว่า การละหมาดสุนนะฮฺ 4 ร็อกอัตก็ให้นั่งตะชะฮุดครั้งเดียว เพราะถ้านั่งตะชะฮุด 2 ครั้งจะเป็นการเลียนแบบฟัรฎู)
รูปแบบที่ 5 ละหมาด 11 ร็อกอัต คือ ละหมาด 8 ร็อกอัตรวดเดียว นั่งตะชะฮุดและเศาะละวาตในร็อกอัตที่ 8 แล้วลุกขึ้น (ไม่ให้สลาม) ละหมาดวิตรฺ 1 ร็อกอัต ให้สลาม แล้วนั่งละหมาดอีก 2 ร็อกอัต (นี่เป็นลักษณะที่ท่านนบีละหมาดกิยามุลลัยลฺที่บ้าน ไม่มีหลักฐานว่าท่านใช้ละหมาดตะรอวีหฺ น่าจะไม่เคยทำเป็นญะมาอะฮฺ ถ้าจะนำรูปแบบนี้มาละหมาดเป็นญะมาอะฮฺก็ทำได้ แต่มีคิลาฟว่าถ้าอิมามนั่งละหมาดแล้วมะมูมต้องนั่งหรือไม่ บางท่านบอกว่าต้องนั่ง บางท่านบอกว่ายืนก็ได้)
รูปแบบที่ 6 ละหมาด 9 ร็อกอัต คือ ละหมาด 9 ร็อกอัตรวดเดียว นั่งตะชะฮุดและเศาะละวาตในร็อกอัตที่ 6 แล้วลุกขึ้น (ไม่ให้สลาม) ละหมาดวิตรฺ 1 ร็อกอัต ให้สลาม แล้วนั่งละหมาดอีก 2 ร็อกอัต
เชคอัล-อัลบานียฺบอกว่า สามารถเพิ่มเติมบางรูปแบบที่บรรจุในรูปแบบนั้น ๆ อาทิเช่น ลดจำนวนร็อกอัตจากรูปแบบดังกล่าว เช่น จากรูปแบบที่ 1 สามารถลดจำนวนเหลือ 7 ร็อกอัตได้ (2-2-2-1) หรือจากรูปแบบที่ 6 สามารถลดจำนวนเหลือ 7 ร็อกอัตได้ (4-1-2) เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “ใครจะละหมาด (รวมวิตรฺ) 5 ร็อกอัตก็ได้ ใครจะละหมาด 3 ร็อกอัตก็ได้ หรือจะละหมาดเพียง 1 ร็อกอัตก็ได้เช่นเดียวกัน”
สำหรับการอ่านในวิตรฺ ร็อกอัตแรกท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อ่านสูเราะฮฺ อัล-อะอฺลา ร็อกอัตที่ 2 อ่านสูเราะฮฺ อัล-กาฟิรูน และร็อกอัตที่ 3 อ่านสูเราะฮฺ อัล-อิคลาศ บางครั้งเพิ่มสูเราะฮฺ อัล-ฟะลัก และสูเราะฮฺ อัน-นาสด้วย ในการบันทึกของท่านอิมามอัน-นะสาอียฺ และ อะหฺมัด ด้วยอิสนาดเศาะฮีหฺ ครั้งหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อ่านในวิตรฺร็อกอัตสุดท้ายด้วย 100 อายะฮฺจากสูเราะฮฺ อัน-นิสาอ์ แสดงว่าการอ่านสูเราะฮฺ อัล-อิคลาศในร็อกอัตสุดท้ายวิตรฺไม่ใช่วาญิบ
การละหมาด 20 ร็อกอัต ไม่ใช่บิดอะฮฺ เพราะมีรายงานชัดเจนว่าท่านอุมัรฺแต่งตั้งอิมามนำละหมาด 20 ร็อกอัต ไม่มีรายงานว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทำ แต่ชัดเจนว่าเศาะหาบะฮฺทำ และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อนุโลมตามหะดีษบันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “การละหมาดกลางคืนทีละสองๆ” ไม่ได้จำกัดจำนวน อัลกุรอานได้เปิดกว้างว่าการละหมาดกลางคืน ครึ่งคืนก็ได้ ตลอดคืนก็ได้ จึงมีโอกาสมากกว่า 11 ร็อกอัตได้ เศาะหาบะฮฺเข้าใจเจตนารมณ์ของท่านนบีและปฏิบัติเช่นนั้น อุละมาอ์บอกว่าเศาะหาบะฮฺเลือกปฏิบัติความประเสริฐของการละหมาดด้วยการเลือกระหว่างจำนวนกับความยาวของการละหมาด ถ้าจะละหมาดยาวก็ลดจำนวน แต่ถ้าละหมาดสั้นก็เพิ่มจำนวน ถ้าละหมาดที่มัสญิดไม่จบแล้วไปวิตรฺที่บ้านก็ไม่ได้ผลบุญที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บอกว่า “การละหมาดกับอิมามจนจบเหมือนละหมาดตลอดคืน” ถ้าที่มัสญิดละหมาดเร็วมากไม่ควรร่วมด้วย เพราะไม่ได้ผลบุญ และอาจถึงขั้นละหมาดใช้ไม่ได้ เพราะขาดความสงบ(ฏุมะอ์นีนะฮฺ)ซึ่งเป็นรุก่นในการละหมาด
ละหมาดถืออัลกุรอานสามารถทำได้ ถ้ามีความต้องการ แต่ถ้าท่องจำแม่นแล้วไม่ถือดีกว่า มีรายงานว่าทาสของท่านหญิงอาอิชะฮฺ เคยละหมาดโดยถืออัลกุรอาน ท่านหญิงอาอิชะฮฺเห็นแล้วไม่ได้ตำหนิ จึงถือว่าทำได้ แต่ไม่ถือว่าประเสริฐกว่า
[1] กลางคืนนับตั้งแต่มัฆริบถึงศุบหฺ สมมติศุบหฺตีห้าและมัฆริบหกโมง รวม 11 ชั่วโมง ดังนั้น 1 ใน 3 จึงประมาณ 3 ชั่วโมง 40 นาที นี่คือเวลาที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ละหมาดกลางคืน (ในสมัยก่อนไม่มีนาฬิกา ใช้นับเวลาด้วยการกะ เช่น ช่วงรีดนมแพะหนึ่งถ้วย ช่วงตัดต้นไม้หนึ่งต้น แต่เมื่อรับอิสลามแล้วการกะเวลาจึงเปลี่ยนไป เช่น ช่วงเวลาระหว่างกินสะหูรฺกับศุบหฺประมาณอ่านอัลกุรอาน 50 อายะฮฺ เห็นได้ว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺได้บูรณะเวลาของพวกเขาด้วยการซิกรุลลอฮฺ เพราะใช้การอ่านอัลกุรอานเป็นมาตรฐานในการกะเวลา
[2] หมายถึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญปฏิเสธไม่ได้ หรือเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ มัซฮับอบู หะนีฟะฮฺอ้างหะดีษนี้ว่าวิตรฺเป็นวาญิบ แต่อีกสามมัซฮับบอกว่าเป็นสุนนะฮฺ อุละมาอ์ส่วนมากบอกว่า “ฮักกฺ” หมายถึงมีความสำคัญแต่ไม่ถึงขั้นวาญิบ เพราะอัลกุรอานและหะดีษบอกชัดเจนว่าละหมาดฟัรฎูมี 5 เวลา
[3] คนที่มั่นใจว่าจะตื่นก็ให้วิตรฺช่วงท้ายดีกว่า แต่ถ้าไม่มั่นใจให้วิตรฺไว้ก่อน และถ้าตื่นก็ละหมาดทีละสองร็อกอัต (โดยไม่ต้องวิตรฺอีก)
[4] มีหะดีษรายงานจากอัล-บุคอรียฺ, มุสลิม และท่านอื่น ๆ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “ช่วง 1 ใน 3 ส่วนสุดท้ายของกลางคืน อัลลอฮฺจะเสด็จลงมายังชั้นฟ้าสุดท้ายของโลกนี้ และกล่าวว่าใครที่เตาบัตพระองค์จะรับ ใครขออภัยโทษจะอภัยโทษให้ และใครวิงวอนดุอาอ์พระองค์ก็จะตอบรับ”