สุขสันต์วันอีด
หมวดหมู่
แหล่งอ้างอิง
Full Description
สุขสันต์วันอีด
﴿فرحة العيد﴾
] ไทย – Thai – تايلاندي [
บะดัรฺ อับดุลหะมีด ฮะมีสะฮฺ
แปลโดย : แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ
ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : www.saaid.net
2010 - 1431
﴿فرحة العيد﴾
« باللغة التايلاندية »
الدكتور بدر عبدالحميد هميسه
ترجمة: وان محمد صبري وان يعقوب
مراجعة: صافي عثمان
المصدر: موقع صيد الفوائد www.saaid.net
2010 - 1431
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
สุขสันต์วันอีด
สำหรับทุกๆ ประชาชาติจะมีวันอีด(วันรื่นเริง) เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ในวันดังกล่าวนั้นเองที่จะทำให้พวกเขาได้รื่นเริงและสุขสันต์กัน สำหรับวันอีดหรือวันรื่นเริงของเรานั้น มันคือวันที่ได้ผนวกไว้ด้วยความศรัทธา จรรยามารยาท และปรัชญาในการใช้ชีวิตของประชาชาตินี้เอาไว้ด้วย เพราะวันรื่นเริงบางประเภทของคนบางกลุ่มนั้นเป็นวันรื่นเริงเฉลิมฉลองที่คิดค้นขึ้นโดยสติปัญญาของมนุษย์ซึ่งห่างไกลและแตกต่างสิ้นเชิงจากแนวทางแห่งวิวรณ์(วะหฺยู)ของพระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่ “วันอีดิลฟิฏรฺและวันอีดิลอัฎฮา" นั้น คือวันรื่นเริงที่มาจากอัลลอฮฺ ตะอาลา ซึ่งพระองค์ได้ทรงบัญญัติแก่ประชาชาติอิสลาม ตามที่ทรงได้ตรัสไว้ว่า
﴿وَلِكُلِّ أُمَّةٍ جَعَلْنَا مَنسَكًا﴾
ความว่า “และสำหรับทุก ๆ ประชาชาตินั้น เราได้กำหนดพิธีกรรมทางศาสนาให้พวกเขาแล้ว" (สูเราะฮฺอัลหัจญ์ : 34)
ท่านอิบนุ ญะรีรได้บันทึกในหนังสือตัฟสีรของท่าน จากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า مَنسَكًا หรือพิธีกรรมทางศาสนาในที่นี้หมายถึง “วันอีด" นั่นเอง (ตัฟสีรอิบนุ ญะรีร 17/198 และอัส-สุยูฏีย์ได้อ้างในตัฟสีร อัด-ดุรรุลมันษูรฺของท่าน 6/47 ไปถึงอิบนุ อบี หาติม)
วันอีดิลฟิฏรฺและวันอีดิลอัฎฮา คือวันที่เราได้ลุล่วงจากการปฏิบัติรุกุ่น(ส่วนสำคัญ)บางประการของอิสลามแล้ว ซึ่งสำหรับวันอีดิลฟิฏรฺนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้ลุล่วงจากการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ส่วนวันอีดิลอัฎฮาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้ลุล่วงจากการประกอบพิธีหัจญ์ อันมีหลักฐานที่รายงานสืบต่อกันมาหลายกระแสที่ได้จำกัดจำนวนวันรื่นเริงในอิสลามเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น นั่นคือ “วันอีดิลฟิฏรฺ" และ “วันอีดิลอัฎฮา" และจะไม่มีวันที่สามอย่างเด็ดขาด นอกจากวันอีดประจำสัปดาห์นั้นคือวันศุกร์ ซึ่งวันรื่นเริงอื่นจากนี้นั้นคือการอุปโลกน์ขึ้นมาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรายสัปดาห์ ตามเทศกาลหรือโอกาสใดโอกาสหนึ่ง หรืออาจจะเป็นรายปี และอื่นๆ
ท่านอิบนุล อะอฺรอบีย์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เหตุที่เรียกขานวันนั้นว่า “วันอีด" ก็เนื่องจากว่าในทุกๆปี มันจะหวนกลับมาพร้อมกับนำความรื่นเริงครั้งใหม่(มาสู่ประชาชาติ)" (ดูการอ้างถึงของอัล-อัซฮะรีย์ ในหนังสือ อัต-ตะฮฺซีบ 3/132)
ความหมายของวันอีดตามที่กล่าวมานี้ คือความหมายเดียวกับที่มีปรากฏในสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ถูกต้อง ซึ่งมีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า
دَخَلَ أَبُو بَكْرٍ وَعِنْدِي جَارِيَتَانِ مِنْ جَوَارِي الأَنْصَارِ تُغَنِّيَانِ بِمَا تَقَاوَلَتْ الأَنْصَارُ يَوْمَ بُعَاثَ ، قَالَتْ : وَلَيْسَتَا بِمُغَنِّيَتَيْنِ ، فَقَالَ أَبُو بَكْرٍ : أَمَزَامِيرُ الشَّيْطَانِ فِي بَيْتِ رَسُولِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ! وَذَلِكَ فِي يَوْمِ عِيدٍ ، فَقَالَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : «يَا أَبَا بَكْرٍ إِنَّ لِكُلِّ قَوْمٍ عِيدًا وَهَذَا عِيدُنَا».
ความว่า “ท่านอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ได้เข้ามาในบ้านฉัน ในขณะนั้นมีทาสหญิงของชาวอันศอรฺสองคนกำลังร้องรำทำเพลงเป็นทำนองที่ชาวอันศอรฺร้องกันในวันบุอาษ (วันที่เผ่าเอาซ์และค็อซรอจญ์ทำสงครามในอดีต) ซึ่งท่านหญิงอาอิชะฮฺได้กล่าวว่า ทั้งสองคนมิได้เป็นนักร้องเพลงแต่อย่างใด (คือไม่ได้ร้องประจำเป็นกิจวัตรหรือเป็นการเป็นงาน) ท่านอบูบักรฺ จึงกล่าวขึ้นว่า (เธอปล่อยให้)มีเสียงขลุ่ยแห่งชัยฏอนในบ้านของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กระนั้นหรือ ? เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันอีดหนึ่ง ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า “โอ้อบูบักรฺเอ๋ย แท้จริงแล้ว สำหรับทุกกลุ่มชนจะมีวันอีด(วันรื่นเริง)สำหรับพวกเขา และนี่เป็นวันอีด(วันรื่นเริง)ของพวกเรา(ชาวมุสลิมทุกคน)" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 952 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 892 )
ดังนั้น “วันอีด" ในนัยด้านศาสนา ก็คือ เป็นวันแห่งการขอบคุณต่ออัลลอฮฺในโอกาสที่ได้ลุล่วงจากการปฏิบัติศาสนกิจอย่างสมบูรณ์
และ “วันอีด" ในนัยด้านมนุษยธรรม ก็คือ เป็นวันแห่งการพบปะกันระหว่างความเข้มแข็งของคนรวย กับความอ่อนแอของคนจน บนพื้นฐานแห่งความรัก ความเมตตา และความเที่ยงธรรม ที่เป็นคำสั่งสอนจากฟากฟ้า ภายใต้สัญลักษณ์ของการจ่ายซะกาต การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการให้ความสะดวกสบายในด้านต่างๆ
และ “วันอีด" ในนัยด้านจิตวิญญาณ ก็คือ เส้นแบ่งระหว่างข้อกำหนดต่างๆ ที่อารมณ์ส่วนตัวต้องยอมรับและอวัยวะต่างๆ ต้องสิโรราบ กับการเปิดกว้างให้มีการรื่นเริงผ่อนคลายตามที่ชอบ และเป็นที่ปรารถนาของอารมณ์
วันอีดในอิสลามนั้นมีมารยาทและข้อปฏิบัติต่างๆ กำกับไว้ดังนี้
หนึ่ง : ให้สุขสันต์และปลื้มปิติกับการมาของวันอีด
“วันอีด" ถือเป็นวันที่นำความสุขสันต์และความปลื้มปิติมายังเรา และไม่ใช่วันที่นำความทุกข์ใจและความเศร้าโศกหวนกลับมา ดังที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ได้เล่าเรื่องนี้ว่า
رَأَيْتُ النَّبِيَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَسْتُرُنِي وَأَنَا أَنْظُرُ إِلَى الْحَبَشَةِ وَهُمْ يَلْعَبُونَ فِي الْمَسْجِدِ فَزَجَرَهُمْ عُمَرُ، فَقَالَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: «دَعْهُمْ أَمْنًا بَنِي أَرْفِدَةَ» يَعْنِي مِنْ الْأَمْنِ.
ความว่า “ฉันเห็นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ปกปิดฉันไว้(ด้วยผ้าสไบของท่าน)และฉันก็มองดูชาวหะบะชะฮฺ(ชาวเผ่าเอธิโอเปีย)แสดงการละเล่นในมัสยิด(ในวันอีด) ซึ่งท่านอุมัรฺได้ห้ามปรามพวกเขา ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า “ปล่อยพวกเผ่าอัรฟิดะฮฺ(เป็นชื่อที่เรียกขานชาวหะบะชะฮฺ)ให้เล่นไปเถิด" หมายถึง ให้เล่นต่อไปโดยไม่ต้องกวนหรือสร้างความเดือดร้อนแก่พวกเขา" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 988 )
ท่านอิบนุ หะญัรได้อธิบาย ในคำสั่งให้ปล่อยพวกเขาสุขสันต์ในวันทั้งสองไว้ว่า นั่นคือ “ในหะดีษนี้มีระบุถึงสาเหตุที่สั่งให้ปล่อยพวกเขาได้เล่นต่อ ... (วันอีดนั้นคือ)วันแห่งความปลื้มปิติตามบัญญัติทางศาสนา ซึ่งไม่ต้องไปห้ามการเล่นระเริงในลักษณะนี้ เหมือนกับที่ไม่ห้ามถ้าจะเล่นระเริงในวันแต่งงาน" (ฟัตหุลบารีย์ 2/442)
ท่านอิบนุ อาบิดีนได้กล่าวว่า “สาเหตุที่ถูกเรียกขานวันนี้ว่าวันอีด เพราะอัลลอฮฺทรงนำความเมตตาและความดีงามต่างๆ ของพระองค์กลับคืนสู่บ่าวของพระองค์อีกครั้ง อาทิเช่น อนุญาตให้ละจากการถือศีลอดหลังจากที่พระองค์ทรงห้าม(เป็นเวลา 1 เดือนเต็ม) การแจกจ่ายซะกาตแก่คนจน การประกอบพิธีหัจญ์ได้สมบูรณ์ด้วยการเฏาะวาฟอิฟาเฎาะฮฺ การแจกจ่ายเนื้อสัตว์อุฎหิยะฮฺ(สัตว์กุรฺบาน)และอื่นๆ และเนื่องจากว่าโดยปรกติแล้วในวันนี้จะมีแต่ความสุข ความสนุกสนาน รื่นเริง กระฉับกระเฉง และมีสีสันสวยงาม" (หาชิยะฮฺ อิบนิ อาบิดีน 2/165)
“วันอีด" เป็นวันที่คนตรมทุกข์ได้รับสายลมแห่งความสุขพัดพาเข้ามา เป็นวันที่คนซึ่งข้นแค้นได้อยู่ในบรรยากาศของความสะดวกอีกครั้ง เป็นวันที่คนยากไร้สามารถลิ้มรสริสกีดีๆ ที่ตนไม่เคยมีมาก่อน และเป็นวันที่คนรวยเองก็สามารถสำราญกับความหอมหวานต่างๆ ในวันนั้นได้
“วันอีด" เป็นวันที่จิตใจอันดื้อด้านได้โอนอ่อนไปสู่ความดีงาม และเป็นวันที่จิตใจอันแข้งกระด้างพร้อมที่จะทำดีโดยบริสุทธ์ใจ
และ “วันอีด" เป็นวันที่ธรรมชาติในตัวมนุษย์ได้ดำเนินไปตามสันดานบริสุทธิ์อันดั้งเดิมของมัน และเป็นวันที่ความรู้สึกและความปรารถนาได้เผยออกมาให้เห็นตามที่มันเป็นจริง
สอง : ให้อาบน้ำชำระร่างกาย พรมน้ำหอม และแต่งกายด้วยอาภรณ์ที่สวยงามและดูดีที่สุด
วิธีการหนึ่งที่สามารถแสดงออกถึงความสุขสันต์และความรื่นเริงในวันอีดนั่นคือ ส่งเสริมให้อาบน้ำชำระร่างกาย พรมน้ำหอม และแต่งกายด้วยอาภรณ์ใหม่ที่สวยงามและดูดีที่สุด
มีรายงานจากท่านนาฟิอฺ ผู้รับใช้ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้เล่าว่า “ท่านอิบนุอุมัรฺ จะอาบน้ำชำระร่างกายในวันอีดิลฟิฏรฺก่อนที่ท่านจะเดินทางสู่สนามละหมาด" (บันทึกโดยอิมาม มาลิก ในอัล-มุวัฏเฏาะอ์ 1/177)
แต่ท่านอัล-บัซซารฺ ได้กล่าวว่า “ฉันไม่เคยบันทึกหะดีษที่เศาะฮีหฺเกี่ยวกับการอาบน้ำชำระร่างกายในวันอีดทั้งสองเลย" (ดูใน อัต-ตัลคีศ อัล-หะบีร 2/81)
และท่านอิบนุ อับดิลบัรฺ ได้กล่าวว่า “การอาบน้ำชำระร่างกายในวันอีดทั้งสองนั้น ไม่มีรายงานในเชิงการเล่าถึงที่ชัดเจนจากการปฏิบัติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เลย" (อัต-ตัมฮีด 10/266)
แต่ก็มีรายงานที่น่าเชื่อถือได้จากการปฏิบัติของท่านอิบนุ อุมัรฺ ซึ่งท่านจะอาบน้ำชำระร่างกายในวันอีดทั้งสอง (บันทึกโดยอิมามมาลิก ในอัล-มุวัฏเฏาะอ์ ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง 1/146)
และมีรายงานจากนักนิติศาสตร์อิสลามมากมายที่พวกเขาเห็นพ้องกันว่า “ส่งเสริมให้อาบน้ำชำระร่างกายในวันอีดทั้งสอง"
ท่านอิบนุ อับดิลบัรฺ ได้กล่าวว่า “บรรดานักนิติศาสตร์อิสลามต่างเห็นพ้องกันว่า การอาบน้ำชำระร่างกายในวันอีดทั้งสองนั้น เป็นสิ่งที่ดีงามสำหรับคนที่ปฏิบัติมัน" (อัล-อิสติซการฺ 7/1)
ท่านอิบนุ รุชดฺ ได้กล่าวว่า “บรรดานักวิชาการมีมติเอกฉันท์เห็นดีเห็นงามให้มีการอาบน้ำชำระร่างกายเพื่อละหมาดในวันอีดทั้งสอง" (บิดายะฮฺ อัล-มุจญ์ตะฮิด 1/216)
และบรรดานักติศาสตร์อิสลามโดยรวมต่างก็เห็นว่า “ส่งเสริมให้พรมน้ำหอมและแต่งกายด้วยอาภรณ์ที่สวยงามและดูดีที่สุด"
ท่านอับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้เล่าว่า ท่านอุมัรฺ ได้นำเสื้อยาวที่ทำมาจากผ้าไหมหนา(อิสตับร็อก)ที่วางขายอยู่ที่ตลาดมาเสนอแก่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พลันกล่าวว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ท่านจงซื้อเสื้อตัวนี้ไว้แต่งตัวให้สวยงามในวันอีดและวันที่มีแขก(สำคัญ)มาหาท่านเถิด ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า
«إنّمَا هَذِهِ لِبَاسُ مَنْ لَّا خَلاَقَ لَهُ»
ความว่า “อาภรณ์นี้ เป็นเสื้อผ้าสำหรับคนที่ไม่มีผลบุญในอาคิเราะฮฺ" (อัล-บุคอรีย์ 948)
ท่านอิบนุ กุดามะฮฺ ได้กล่าวว่า “หะดีษนี้ทำให้เข้าใจว่า แท้จริงแล้วการแต่งตัวให้สวยงามในวันต่างๆ เหล่านี้ - หมายถึง วันศุกร์ วันอีด และวันที่มีการรับแขกสำคัญ - นั้น เป็นประเพณีที่รู้กันว่าได้ปฏิบัติกันมาในหมู่พวกเขา" (อัล-มุฆนีย์ 5/257)
ท่านอิมามมาลิก ได้กล่าวว่า “ฉันได้ยินว่า บรรดานักวิชาการทั้งหลายนั้น ต่างก็ส่งเสริมให้พรมน้ำหอมและแต่งกายด้วยอาภรณ์ที่สวยงามและดูดีที่สุดในทุกวันอีด โดยเฉพาะคนที่เป็นอิมาม เพราะผู้คนทั้งหลายนั้นจะให้ความสนใจไปยังเขา" (อัล-มุฆนีย์ 5/258)
สาม : สุนนะฮฺเฉพาะในแต่ละวันอีด
ส่งเสริมให้รับประทานผลอินทผลัมจำนวนหนึ่ง ก่อนที่จะออกเดินทางสู่สนามละหมาดสำหรับวันอีดิลฟิฏรฺ ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺได้ทำไว้เป็นแบบอย่าง (อัล-เอาสัฏ โดยอิบนุล มุนซิร 4/254)
ท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า
كَانَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لَا يَغْدُو يَوْمَ الْفِطْرِ حَتَّى يَأْكُلَ تَمَرَاتٍ وَيَأْكُلُهُنَّ وِتْرًا
ความว่า “ท่านเราะสูลุลลอฮฺจะไม่ออกเดินทางสู่สนามละหมาดในวันอีดิลฟิฏรฺ จนกว่าท่านจะรับประทานผลอินทผลัมเสียก่อน ซึ่งท่านรับประทานด้วยจำนวนที่เป็นคี่"(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 953)
ท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้เล่าว่า “หากพวกท่านมีความสามารถที่จะไม่ออกเดินทางสู่สนามละหมาดในวันอีดิลฟิฏรฺจนกว่าจะรับประทานอาหารเสียก่อน ก็จงทำเถิด" (บันทึกโดย อับดุรร็อซซาก หมายเลข 5734 และอิบนุล มุนซิร หมายเลข 2111)
ส่วนในวันอีดิลอัฎฮานั้นส่งเสริมให้รับประทานอาหารหลังจากเดินทางกลับจากละหมาดแล้ว ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้กล่าวว่า
﴿إِنَّا أَعْطَيْنَاكَ الْكَوْثَرَ، فَصَلِّ لِرَبِّكَ وَانْحَرْ، إِنَّ شَانِئَكَ هُوَ الْأَبْتَرُ ﴾
ความว่า “แท้จริงเราได้ประทานสระน้ำอัล-เกาษัรฺแก่เจ้าแล้ว ดังนั้นเจ้าจงละหมาดเพื่อพระเจ้าของเจ้า และจงเชือดสัตว์พลี แท้จริงศัตรูของเจ้านั้นเขาเป็นผู้ถูกตัดขาด" (อัล-เกาษัรฺ : 1-3)
และส่งเสริมให้ใช้เส้นทางไปและกลับที่ต่างกัน (ไม่ว่าจะเดินเท้าหรือใช้ยานพาหนะ) ท่านญาบิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าเรื่องนี้ว่า
كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا كَانَ يَوْمُ عِيدٍ خَالَفَ الطَّرِيقَ
ความว่า “ในวันอีด ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะใช้เส้นทาง(ไปและกลับจากสนามละหมาด)ที่ต่างกัน" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 986)
เช่นเดียวกัน ส่งเสริมให้กล่าวตักบีรฺ(ตลอดทางสู่สนามละหมาด) จากท่านอัล-วะลีด บิน มุสลิม ได้เล่าว่า ฉันได้ถามท่านอัล-เอาซาอีย์ และท่านมาลิก บิน อะนัส ในประเด็นการกล่าวตักบีรฺในวันอีดทั้งสอง ซึ่งท่านทั้งสองได้ตอบว่า “ใช่แล้ว ท่านอับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ (เมื่อท่านเดินทางออกจากบ้านท่านก็)จะยกเสียงตักบีรฺตลอด(จนไปถึงสนามละหมาด และยังคงกล่าวตักบีรฺต่อไป)จนกระทั่งอิมามนำละหมาดเดินทางมาถึง"
และมีรายงานที่ถูกต้องจากท่านอบู อับดุรเราะหฺมาน อัส-สุละมีย์ ได้กล่าวว่า “พวกเขา(เศาะหาบะฮฺ)จะกล่าวตักบีรฺในวันอีดิลฟิฏรฺอย่างจริงจังมากกว่าในวันอีดิลอัฎฮา" (อิรวาอุล เฆาะลีลฺ 3/122)
มีรายงานที่น่าเชื่อถือได้จากการปฏิบัติของท่านอิบนุ มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ บันทึกโดยอิบนุ อบี ชัยบะฮฺ ซึ่งท่านอิบนุ มัสอูด ได้กล่าวตักบีรฺว่า
الله أكبر، الله أكبر، لا إله إلا الله، والله أكبر، الله أكبر ولله الحمد
อัลลอฮุ อักบัรฺ, อัลลอฮุ อักบัรฺ (หรืออาจจะเพิ่มอีกครั้งว่า อัลลอฮุ อักบัรฺ), ลาอิละฮะอิลลัลลอฮฺ, วัลลอฮุ อักบัรฺ, อัลลอฮุ อักบัรฺ, วะลิลลาฮิล หัมดฺ
ความว่า “อัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีพระเจ้าที่แท้จริงนอกจากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่ และมวลการสรรเสริญทั้งหลายเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ" โดยให้กล่าวตักบีรฺ “อัลลอฮุ อักบัรฺ" ท่อนแรกนั้นสองครั้ง แต่ในสายรายงานอื่นจากท่านอิบนุ อบีชัยบะฮฺเช่นเดียวกัน ให้กล่าวตักบีรฺ “อัลลอฮุ อักบัรฺ" ท่อนแรกนั้นสามครั้ง ซึ่งสายรายงาน(ทั้งสอง)มีความถูกต้อง (ตะมามุล มินนะฮฺ โดยชัยคฺ อัล-อัลบานีย์ 356)
ท่านอิบนุ หะญัร ได้กล่าวว่า “สำนวนที่ถูกต้องที่สุดคือ สำนวนที่บันทึกโดยท่านอับดุรร็อซซาก ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง จากท่านสัลมาน อัล-ฟาริสีย์ ได้กล่าวว่า จงกล่าวตักบีรฺโดยการกล่าวว่า
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر كبيراً
อัลลอฮุ อักบัรฺ, อัลลอฮุ อักบัรฺ, อัลลอฮุ อักบะรุ กะบีรอ
ความว่า “อัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺคือผู้เป็นที่สุดแห่งความยิ่งใหญ่" (ฟัตหุลบารีย์ 2/536)
และห้ามถือศีลอดในวันอีดทั้งสอง ดังที่ท่านอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ ได้เล่าว่า
نَهَى النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَنْ صَوْمِ يَوْمِ الْفِطْرِ وَالنَّحْرِ
ความว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ห้ามไม่ให้ถือศีลอดในวันอีดิลฟิฏรฺและวันนะหัรฺ(วันอีดิลอัฎฮา)" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 1991 ดูใน ฟัตหุลบารีย์ 3/280, 10/26 และบันทึกโดยมุสลิม 2/799)
ท่านอัน-นะวาวีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “บรรดานักวิชาการต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าห้ามถือศีลอดในวันอีดทั้งสองอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการถือศีลอดนะซัรฺ(การบนบานต่อพระผู้เป็นเจ้า) หรือสุนัต หรือชดเชย(กัฟฟาเราะฮฺ) หรืออื่นๆ ก็ตาม ถือแม้ว่าเขาจะเจาะจงนะซัรฺถือศีลอดในวันสองวันนั้นก็ตาม ตามทัศนะของมัซฮับชาฟิอีย์และนักวิชาการส่วนใหญ่แล้ว ไม่ถือว่าการนะซัรฺของเขามีผลบังคับให้เขาต้องถือศีลอด และไม่จำเป็นต้องถือศีลอดชดเชยด้วย" (ชัรหุ เศาะฮีหฺ มุสลิม โดยอัน-นะวาวีย์ 8/15)
นักวิชาการบางท่านได้กล่าวว่า “เหตุผลของการห้ามถือศีลอดในวันอีดทั้งสองนั้น เพราะว่าการถือศีลอดในวันนั้นเสมือนเป็นการปฏิเสธสิ่งที่อัลลอฮฺได้จัดเลี้ยงรับรองให้กับเขา" (นัยลุลเอาฏอรฺ 4/262)
สี่ : กล่าวอวยพรให้แก่กันในวันอีด
ท่านญุบัยรฺ บิน นุฟัยรฺ ได้เล่าเรื่องนี้ว่า “ทุกครั้งที่บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มาเจอกันในวันอีด พวกเขาจะกล่าวให้แก่กันว่า
تَقَبَّلَ اللهُ مِناَّ وَمِنْكَ
ตะก็อบบะลัลลอฮุ มินนา วะ มินกะ
ความว่า “ขออัลลอฮฺทรงรับ(การงาน)ทั้งจากเราและจากท่าน" (ท่านอิมามอะหฺมัด ได้กล่าวว่า สายรายงานของมัน ญัยยิด(ใช้ได้) ท่านอิบนุหะญัร ได้กล่าวว่าสายรายงานของมัน หะสัน(ระดับดี) ในฟัตหุล บารีย์ 2/517 และดูในตะมามุล มินนะฮฺ โดยชัยคฺ อัล-อัลบานีย์ หน้า 354-356)
การกล่าวอวยพรให้แก่กันในวันอีดนั้น จะบ่มเพาะความรักในหัวใจของผู้คน ด้วยเหตุนี้จึงส่งเสริมให้เดินทางไปละหมาดในวันอีดโดยให้ใช้เส้นทางไปและกลับที่ต่างกัน เพื่อให้ผู้ศรัทธาทั้งหลายสามารถกล่าวอวยพรให้แก่กันได้มากที่สุด
ห้า : กระชับความสัมพันธ์และสร้างมิตรไมตรีกับครอบครัวและญาติพี่น้อง
ในความเป็นจริง การกระชับความสัมพันธ์และสร้างมิตรไมตรีกับครอบครัวและญาติพี่น้องนั้นถือเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติในทุกโอกาสอยู่แล้ว แต่ ณ ที่นี้ เป็นการเน้นย้ำให้ปฏิบัติในวันอีดทั้งสอง โดยเฉพาะกับพ่อแม่ของเรา เพราะมันจะเป็นสิ่งที่นำความเบิกบานนำสู่ท่านทั้งสอง ซึ่งเป็นการตอบสนองคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺในคัมภีร์ของพระองค์ให้ทำดีต่อท่านทั้งสอง อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า
﴿وَالَّذِينَ يَصِلُونَ مَا أَمَرَ اللَّـهُ بِهِ أَن يُوصَلَ وَيَخْشَوْنَ رَبَّهُمْ وَيَخَافُونَ سُوءَ الْحِسَابِ﴾
ความว่า “และบรรดาผู้เชื่อมสัมพันธ์ในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงบัญชาให้เขาเชื่อมสัมพันธ์ และยำเกรงพระเจ้าของพวกเขา และกลัวการมีบัญชีที่ชั่ว" (สูเราะฮฺ อัร-เราะอฺดุ : 21)
มีรายงานจากท่านอิบนุ ชิฮาบ ได้เล่าว่า ท่านอะนัส บินมาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«مَنْ أَحَبَّ أَنْ يُبْسَطَ لَهُ فِي رِزْقِهِ ، وَيُنْسَأَ لَهُ فِي أَثَرِهِ ، فَلْيَصِلْ رَحِمَهُ»
ความว่า “ผู้ใดก็ตามชอบที่จะให้เงินทองไหลมาเทมาและมีอายุยืน (มีความบาเราะกะฮฺในชีวิต)แล้ว เขาจงกระชับความสัมพันธ์กับญาติของเขาเถิด" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 2067 มุสลิม หมายเลขหะดีษ 6615 และอะหฺมัด หมายเลขหะดีษ 13620)
ในจำนวนวิธีการเชื่อมสัมพันธ์และทำดี ก็คือการเอาใจใส่เด็กกำพร้า อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสถึงการกระชับความสัมพันธ์กับเด็กกำพร้าและการโอบอ้อมอารีต่อพวกเขาไว้ว่า
﴿فَأَمَّا الْيَتِيمَ فَلَا تَقْهَرْ، وَأَمَّا السَّائِلَ فَلَا تَنْهَرْ ، وَأَمَّا بِنِعْمَةِ رَبِّكَ فَحَدِّثْ﴾
ความว่า “ดังนั้นส่วนเด็กกำพร้าเจ้าอย่าข่มขี่ และส่วนผู้เอ่ยขอนั้น เจ้าอย่าตวาดขับไล่ และส่วนความโปรดปรานแห่งพระเจ้าของเจ้านั้น เจ้าจงแสดงออก " (สูเราะฮฺ อัฎ-ฎุหา 9-11)
มีรายงานจากท่านสะฮัลฺ บิน สะอัด ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«أَنَا وَكَافِلُ الْيَتِيمِ كَهَاتَيْنِ فِى الْجَنَّةِ» وَأَشَارَ بِالسَّبَّابَةِ وَالْوُسْطَى ، وَفَرَّقَ بَيْنَهُمَا قَلِيلاً
ความว่า “ฉันและผู้อุปการะเด็กกำพร้าจะได้อยู่ในสวรรค์เช่นนี้แหละ" ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ชูนิ้วชี้กับนิ้วกลางขึ้นแล้วแยกออกจากกันเล็กน้อย (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 5304 และอะหฺมัด หมายเลขหะดีษ 23208)
เศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งได้เข้าไปในมัสญิด แต่เขาต้องหยุดชะงักเมื่อได้เห็นเด็กน้อยคนหนึ่ง อายุประมาณ 11 ปี กำลังยืนละหมาดด้วยความนอบน้อมและมีสมาธิ(คุชูอฺ) ภายหลังจากเด็กน้อยเสร็จจากการละหมาดแล้ว เศาะหาบะฮฺท่านนั้นจึงถามเด็กน้อยว่า “เด็กน้อย เจ้าเป็นลูกของใครหรือ ?" เด็กน้อยจึงตอบว่า “ฉันเป็นเด็กกำพร้า" เศาะหาบะฮฺท่านนั้นจึงถามอีกว่า “เจ้าพอใจมั้ย หากจะให้ฉันเป็นพ่อของเจ้า ?" เด็กน้อยจึงตอบว่า “ท่านจะให้อาหารแก่ฉัน เมื่อฉันหิวมั้ย ?" เศาะหาบะฮฺท่านนั้นจึงตอบว่า “ใช่แล้ว" เด็กน้อยถามต่อว่า “ท่านจะให้เครื่องดื่มแก่ฉัน เมื่อฉันกระหายมั้ย ?" เศาะหาบะฮฺท่านนั้นจึงตอบว่า “ใช่แล้ว" เด็กน้อยถามต่ออีกว่า “ท่านจะให้อาภรณ์แก่ฉัน เมื่อฉันไม่มีอะไรจะใส่มั้ย ?" เศาะหาบะฮฺท่านนั้นจึงตอบว่า “ใช่แล้ว" เด็กน้อยจึงถามเป็นคำถามสุดท้ายว่า “ท่านจะให้ฉันมีชีวิต เมื่อฉันได้ตายมั้ย ?" เศาะหาบะฮฺท่านนั้นตกใจกับคำถามสุดท้ายที่ได้ฟังและตอบว่า “นี่...มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้" เด็กน้อยจึงกล่าวว่า “ดังนั้น จงปล่อยฉันไปเถิด ปล่อยฉันให้กับอัลลอฮฺผู้ที่สร้างฉัน ประทานปัจจัยยังชีพแก่ฉัน ให้ฉันได้ตายไป และให้ฉันมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง" เมื่อเป็นเช่นนั้น เศาะหาบะฮฺท่านนั้นก็จากไปพลางกล่าวว่า “แน่แท้ ผู้ที่มอบหมายต่ออัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงทำให้เขามีความเพียงพอแล้ว"
หก : จัดงานเลี้ยงฉลองให้แก่ครอบครัวและประกาศความรื่นเริงสุขสันต์ในวันอีด
ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ที่จะจัดงานเลี้ยงฉลองในวันอีดโดยปราศจากความสุรุ่ยสุร่าย เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวถึงวันอีดิลอัฎฮาว่า
«أَيَّامُ التَّشْرِيقِ أَيَّامُ أَكْلٍ وَشُرْبٍ ، وَذِكْرِ اللهِ عَزَّ وَجَلَّ»
ความว่า “วันตัชฺรีกทั้งสาม คือวันแห่งการกินการดื่มและวันกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ" (บันทึกโดยอะหฺมัด หมายเลขหะดีษ 20722)
ชายคนหนึ่งเข้ามาหาท่านอะลี บิน อบี ฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ในวันอีดิลฟิฏรฺ ซึ่งพบว่าท่านกำลังทานอาหารที่แข็งและหยาบ ชายคนนั้นจึงกล่าวต่อท่านว่า “โอ้ผู้นำของเหล่าผู้ศรัทธา ... ท่านทานอาหารที่แข็งและหยาบในวันอีดหรือ ?" ท่านอะลี จึงตอบไปว่า “พึงทราบเถิด.. โอ้พี่น้องของฉัน วันอีดนั้นมีไว้สำหรับผู้ที่อัลลอฮฺได้ตอบรับการถือศีลอดของเขา และพระองค์ก็ให้อภัยโทษแก่เขาแล้ว" แล้วท่านก็ได้กล่าวแก่เขาอีกว่า “วันนี้สำหรับเราแล้วคือวันอีด พรุ่งนี้สำหรับแล้วก็คือวันอีด และทุกๆ วันที่เราไม่ฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ นั่นคือวันอีดสำหรับเรา"
เช่นเดียวกัน อนุญาตให้มีการละเล่นในวันอีดได้ ดังที่มีหะดีษซึ่งบันทึกโดย อบู ดาวูด และอัน-นะสาอีย์ด้วยสายสือที่เศาะฮีหฺจากท่านอะนัส บินมาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า
كَانَ لِأَهْلِ الْجَاهِلِيَّةِ يَوْمَانِ فِي كُلِّ سَنَةٍ يَلْعَبُونَ فِيهِمَا، فَلَمَّا قَدِمَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ الْمَدِينَةَ، قَالَ: «كَانَ لَكُمْ يَوْمَانِ تَلْعَبُونَ فِيهِمَا، وَقَدْ أَبْدَلَكُمْ اللهُ بِهِمَا خَيْرًا مِنْهُمَا، يَوْمَ الْفِطْرِ وَيَوْمَ الْأَضْحَى»
ความว่า ในยุคก่อนอิสลามนั้น ประชาชนเคยเฉลิมฉลองวันสำคัญสองวันทุกๆ ปี เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มายังมะดีนะฮฺ ท่านประกาศว่า “พวกท่านเคยมีวันเฉลิมฉลองกันสองวัน แต่อัลลอฮฺได้ทรงเปลี่ยนสองวันนั้นด้วยสองวันที่ประเสริฐกว่า นั่นคือวันอีดิลฟิฏรฺและวันอีดิลอัฎฮา" (บันทึกโดยอัน-นะสาอีย์ หมายเลขหะดีษ 1555)
และมีหะดีษที่บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ มุสลิม และอะหมัด จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ได้เล่าเช่นเดียวกันว่า
أَنَّ الْحَبَشَةَ كَانُوا يَلْعَبُونَ عِنْدَ رَسُول اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِي يَوْمِ عِيدٍ، قَالَتْ فَاطَّلَعْتُ مِنْ فَوْقِ عَاتِقِهِ، فَطَأْطَأَ لِي رَسُول اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مَنْكِبَيْهِ، فَجَعَلْتُ أَنْظُرُ إِلَيْهِمْ مِنْ فَوْقِ عَاتِقِهِ حَتَّى شَبِعْتُ ثُمَّ انْصَرَفْتُ
ความว่า มีทาสชาวหะบะชะฮฺ(อบิสสิเนีย)มาแสดงการละเล่น(บริเวณมัสญิด)ในวันอีด ต่อหน้าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งฉันได้มองดูพวกเขาเล่นโดยตั้งคางบนไหล่ของท่าน และท่านก็ได้ย่อไหล่ทั้งสองของท่านให้ฉัน และแล้วฉันก็ชมการละเล่นดังกล่าวจากบนไหล่ของท่าน จนกระทั่งฉันได้ดูจนพอใจแล้วฉันก็จากไป (บันทึกโดยอะหฺมัด หมายเลขหะดีษ 24296)
ส่วนการขับร้องเพลง การฟังเสียงดนตรี หรือเสียงขับร้องเป็นทำนองที่ศาสนาอนุญาตนั้น มีหะดีษที่บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ มุสลิม และอะหมัด จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ซึ่งเคยเล่าเรื่องนี้ว่า
دَخَلَ عَلَيَّ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، وَعِنْدِي جَارِيَتَانِ تُغَنِّيَانِ بِغِنَاءِ بُعَاثَ، فَاضْطَجَعَ عَلَى الْفِرَاشِ وَحَوَّلَ وَجْهَهُ، وَدَخَلَ أَبُو بَكْرٍ فَانْتَهَرَنِي، وَقَالَ: مِزْمَارَةُ الشَّيْطَانِ عِنْدَ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، فَأَقْبَلَ عَلَيْهِ رَسُولُ اللهِ عَلَيْهِ السَّلَام، فَقَالَ: دَعْهُمَا – وفي رواية – يَا أَبَا بَكْرٍ إِنَّ لِكُلِّ قَوْمٍ عِيدًا، وَهَذَا عِيدُنَا» فَلَمَّا غَفَلَ غَمَزْتُهُمَا فَخَرَجَتَا
ความว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เข้ามาหาฉัน ซึ่งขณะนั้นมีเด็กรับใช้หญิงสองคนกำลังร้องเพลงของสงครามบุอาษฺอยู่ แล้วท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็เอนกายลงนอนตะแคงบนที่นอนพร้อมกับผินหน้าไปทางอื่น หลังจากนั้นท่านอบูบักรฺ ก็เข้ามาในบ้าน พออบู บักรฺเห็นเด็กสองคนนั้นก็เตือนฉันว่า (เธอปล่อยให้)มีเสียงขลุ่ยแห่งชัยฏอนในบ้านของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กระนั้นหรือ ? ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงหันมากล่าวแก่ท่านอบูบักรฺว่า “ปล่อยให้พวกเขาเล่นไปเถิด เพราะทุกๆประชาชาติจะมีวันอีด และวันนี้เป็นวันอีดของเรา" และหลังจากที่ท่านเผลอ ฉันก็ให้เด็กทั้งสองรีบออกไป (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 949, 952)
เจ็ด : หลีกห่างจากการรื่นเริงที่หะรอม ไม่ดี และอุตริกรรมทั้งหลาย
วันอีดในอิสลาม เป็นวันที่มีความสงบและมีเกียรติ เป็นวันที่มอบความยิ่งใหญ่แด่ผู้ทรงเป็นเอกะ ผู้ทรงอนุภาพ และเป็นวันที่เราได้หลุดพ้นจากสาเหตุของความพินาศและการเข้าสู่ไฟนรก
วันอีด คือสนามแห่งการแข่งขันกันทำความดีและการได้รับเกียรติ
วันอีด ไม่ได้มีสำหรับการสวมเสื้อผ้าใหม่ แต่วันอีดมีไว้สำหรับผู้ที่ความยำเกรงของเขาได้เพิ่มพูนขึ้น
วันอีด ไม่ได้มีสำหรับการสวมเสื้อผ้าและรองเท้าที่สวย แต่วันอีดมีไว้สำหรับผู้ที่อัลลอฮฺได้ให้อภัยในความผิดของเขาไปแล้ว
วันอีด ไม่ได้มีสำหรับผู้ที่ได้รับของกำนัลด้วยเงินหรือทอง แต่วันอีดมีไว้สำหรับผู้ที่ได้เชื่อฟังยำเกรงต่อผู้ทรงเดชานุภาพและผู้ที่ทรงมากด้วยการให้อภัย
วันอีด ไม่ได้มีสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการสวมเสื้อผ้าที่ใหม่ แต่วันอีดมีไว้สำหรับผู้ที่ยำเกรงต่อพระผู้ทรงอภิบาลแห่งปวงบ่าว และเกรงกลัวต่อวันที่ถูกสัญญา (วันกิยามะฮฺ) และทำอะมัลเพื่อวันนั้น
วันอีด ไม่ได้มีสำหรับการสวมเสื้อผ้าอย่างโอ่อ่า แต่วันอีดมีไว้สำหรับผู้ที่ทำอะมัลและเกรงกลัวต่อวันโลกหน้า
มีรายงานว่า แท้จริง บรรดามลาอิกะฮฺจะลงมาจากฟากฟ้าในช่วงเช้าของวันอีดิลฟิฏรฺ และจะหยุดยืนอยู่บนเส้นทางทั้งหลาย แล้วจะเรียกร้องประชาชาติของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า “จงเดินไปยังพระผู้อภิบาลผู้ทรงเกียรติเถิด พระองค์จะทรงประทานความดีงามและจะประทานผลบุญต่างๆ แด่ท่าน แท้จริงพวกท่านถูกสั่งใช้ให้ถือศีลอด พวกท่านก็ถือศีลอด พวกท่านถูกสั่งใช้ให้ยืนกิยามุลลัยลฺพวกท่านก็ลุกขึ้นละหมาด และพวกท่านได้ยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลของพวกท่าน ดังนั้น พวกท่านจงกลับไปในสภาพที่ได้รับการอภัยโทษแล้วเถิด" และมีการเรียกขานวันนี้ในหมู่บรรดาผู้ที่อยู่บนฟากฟ้า(หมู่มะลาอิกะฮฺและผู้ใกล้ชิดอัลลอฮฺ)ว่าเป็นวันแห่งการมอบรางวัล
วันอีดในอิสลามมีความสงบและมีเกียรติ เป็นวันที่มอบความยิ่งใหญ่แด่ผู้ทรงเป็นเอกะ ผู้ทรงอนุภาพ และหลุดพ้นจากต้นเหตุของความพินาศและการเข้าสู่ไฟนรก
ท่านอิมามมาลิก บิน อะนัส เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า สำหรับผู้ศรัทธาแล้วมีวันอีดทั้งหมด 5 วันด้วยกัน นั่นคือ
1. ผู้ศรัทธาที่ชีวิตของเขาผ่านไปในแต่ละวัน โดยที่เขาไม่ได้ถูกบันทึกแม้เพียง 1 ความชั่วก็ตามที นั่นคือวันอีดสำหรับเขา
2. วันที่เขาได้จากโลกนี้ไปด้วยสภาพของการมีศรัทธา นั่นก็คือวันอีดเช่นกัน
3. วันที่เขาผ่านพ้นสะพานอัศ-ศิรอฏบนนรก และปลอดภัยจากสิ่งน่าสะพรึงกลัวต่างๆในวันกิยามะฮฺ นั่นคือวันอีดสำหรับเขา
4. วันที่เขาได้เข้าสวนสวรรค์ นั่นก็คือวันอีด
5. วันที่เขาได้มองไปยังพระพักตร์แห่งพระผู้อภิบาลของเขา นั่นก็คือวันอีด
เคาะลีฟะฮฺผู้ทรงยุติธรรมและปราดเปรื่องท่านหนึ่ง นั่นคือท่านอุมัรฺ บิน อับดุลอะซีซ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เห็นลูกของท่านที่ชื่อ อับดุลมะลิก สวมเสื้อผ้าเก่าและขาดวิ่นในวันอีด ทำให้ท่านถึงกับร้องไห้ ดังนั้น เมื่อลูกชายคนของท่านเห็นเช่นนั้น จึงถามว่า “ท่านพ่อ ร้องไห้ทำไมครับ ?" ผู้เป็นพ่อจึงตอบลูกว่า “พ่อเกรงว่า ลูกจะออกไปเล่นกับพวกเด็กๆ ด้วยเสื้อผ้าที่เก่าและขาดตัวนี้ ซึ่งอาจจะทำให้หัวใจของลูกปวดร้าวได้" ลูกที่ศอลิหฺคนนั้นตอบพ่อผู้อารีของตนไปว่า “ท่านพ่อครับ..แท้จริงหัวใจจะปวดร้าวก็เมื่อได้ฝ่าฝืนพระเจ้าของมัน และการอกตัญญูต่อพ่อและแม่ของเขาต่างหากเล่า! และลูกก็หวังว่าอัลลอฮฺจะทรงพึงพระทัยในตัวลูก ด้วยสาเหตุที่พ่อได้พอใจในตัวของลูกแล้ว โอ้ ท่านพ่อที่รักของลูก" เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านอุมัรฺ จึงโอบลูกชายมาแนบอกแล้วจูบระหว่างสองตาของเขา และขอดุอาอ์ให้ลูกชายคนนี้... ซึ่งปรากฏว่าลูกชายของท่านคนนี้เป็นผู้สมถะที่สุดในบรรดาลูกๆ ทั้งหลาย
แนวปฏิบัติที่อุตริกรรมและเป็นประเพณีที่ผิดๆ บางประการ ที่จำเป็นต้องหลีกห่างจากมันในวันอีด
1. ความเข้าใจของคนบางกลุ่มที่คิดว่าการทำอิบาดะฮฺทั้งคืนในคืนวันอีดเป็นบทบัญญัติหนึ่งในอิสลาม
2. การเยี่ยมสุสานต่างๆ ในวันอีดทั้งสอง
3. การออกจากบ้านของผู้หญิงด้วยสภาพที่ใส่เครื่องหอม เสริมสวย เปิดเผยร่างกาย
4. การฟังเสียงดนตรีหรือเสียงขับร้องเป็นทำนองที่หะรอม
5. ละทิ้งการละหมาดญะมาอะฮฺและการนอนหลับในเวลาละหมาด
6. การกระชับสัมพันธ์เครือญาติและอวยพรแก่พวกเขาโดยใช้การพูดคุยหรือส่งข้อความทางโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว โดยไม่ไปเยี่ยมเยียนและกระชับความสัมพันธ์โดยตรง
ดังนั้น มาเถิด มาร่วมกันทำให้วันรื่นเริงของเรา เป็นเทศกาลแห่งความยำเกรง และเป็นช่วงเวลาที่จะมอบให้แก่เครือญาติ การทำความดีงาม การมอบความรักให้แก่กัน และการกระชับความสัมพันธ์กันเถิด
ที่มา http://www.saaid.net/Doat/hamesabadr/162.htm