บทบัญญัติว่าด้วยซะกาตฟิฏเราะฮฺ
หมวดหมู่
Full Description
บทบัญญัติว่าด้วยซะกาตฟิฏเราะฮฺ
[ ไทย ]
أحكام زكاة الفطر
[ باللغة التايلاندية ]
อุษมาน อิดรีส
عثمان إدريس
ตรวจทาน: ซุฟอัม อุษมาน
مراجعة: صافي عثمان
สำนักงานความร่วมมือเพื่อการเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด
المكتب التعاوني للدعوة وتوعية الجاليات بالربوة بمدينة الرياض
1429 – 2008
บทบัญญัติว่าด้วยซะกาตฟิฏเราะฮฺ
ความหมายของซะกาตฟิฏเราะฮฺ
ซะกาตด้านภาษาบ่งชี้ถึง การเจริญเติบโต งอกเงย เพิ่มพูน ขัดเกลาให้สะอาด และความประเสริฐ (อันนิฮายะฮฺ เล่ม 2 หน้า 307, ลิสานอัลอะร็อบ เล่ม 14 หน้า 358, อัลกอมูส อัลมุหีฏ หน้า 1667, อัตตะอฺรีฟาต หน้า 152)
ส่วนคำว่า ฟิฏรฺ ด้านภาษาหมายถึง การเปิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือทำให้แตกและแยกออก (มะกอยีสุล ลุเฆาะฮฺ เล่ม 4 หน้า 510, ลิสานอัลอะร็อบ เล่ม 10 หน้า 285)
ซะกาตฟิฏรฺ หรือ ซะกาตฟิฏเราะฮฺ หมายถึง การบริจาคทานที่ถูกกำหนดให้มุสลิมทุกคนต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เพศชายหรือหญิง ไทหรือทาส อันเนื่องจากการสิ้นสุดของการถือศีลอดเดือนรอมฎอน เพื่อเป็นการขัดเกลาผู้ถือศีลอดให้สะอาดบริสุทธิ์จากความหลงลืมและการพูดที่โสมม มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เศาะดะเกาะฮฺ ฟิฏเราะฮฺ”
หุกมการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ
ซะกาตฟิฏเราะฮฺได้ถูกบัญญัติขึ้นในปีที่สองแห่งฮิจเราะฮฺศักราช พร้อมๆกับการบัญญัติของการถือศีลอดเดือนรอมฎอน
อัลลอฮฺตรัสว่า
«قَدْ أَفْلَحَ مَن تَزَكَّى» (الأعلى : 14 )
ความว่า “แน่แท้ ผู้ที่ขัดเกลาตนเอง (ด้วยการจ่ายซะกาต) ย่อมบรรลุความสำเร็จ” (อัลอะอฺลา 14)
อิกริมะฮฺ กล่าวว่า “หมายความว่า ชายผู้หนึ่งที่จ่ายซะกาต (ฟิฏเราะฮฺ) ก่อนที่เขาจะละหมาด (อีด)” และมีอุละมาอ์สะลัฟอีกหลายท่านที่มีความเห็นว่า ความหมายของ “ซะกาต” ในอายะฮฺนี้คือ “ซะกาตฟิฏเราะฮฺ” วัลลอฮุอะอฺลัม
ส่วนหุก่มของการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺนั้น อุละมาอ์ส่วนใหญ่ ถือว่าเป็นวาญิบ (อัลมัจญ์มูอฺ 6/61)
อัลบัยฮะกีย์ และอิบนุล มุนซิร กล่าวว่า “อุละมาอ์มีมติเห็นพ้องว่า ซะกาตฟิฏเราะฮฺเป็นสิ่งที่วาญิบ” (อัลมัจญ์มูอฺ 6/62, อัลอิจญ์มาอฺ หน้า 55)
อิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา เล่าว่า
«أَنَّ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيهِ وَسَلَّم فَرَضَ زَكَاةَ الْفِطْرِ مِنْ رَمَضَانَ عَلَى كُلِّ نَفْسٍ مِنْ المُسْلِمِينَ حُرٍّ أَوْ عَبْدٍ أَوْ رَجُلٍ أَوْ امْرَأَةٍ صَغِيرٍ أَوْ كَبِيرٍ صَاعًا مِنْ تَمْرٍ أَوْ صَاعًا مِنْ شَعِيرٍ»
ความว่า “แท้จริง ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กำหนดให้มุสลิมทุกคนวาญิบต้องจ่าย ซะกาตฟิฏเราะฮฺจาก (การถือศีลอดใน) เดือนรอมฎอน ไม่ว่าจะเป็นไท หรือทาส ชายหรือหญิง เด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ จำนวนคนละหนึ่งศออฺจากผลอินทผลัมแห้ง หรือหนึ่งศออฺจากข้าวบาเล่” (มุสลิม เลขที่ 1639)
ทำไมต้องบัญญัติให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ?
ส่วนหนึ่งของเหตุผลที่อิสลามมีบัญญัติให้ชาวมุสลิมต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ คือ
1. เพื่อขัดเกลาผู้ถือศีลอดให้สะอาดบริสุทธิ์จากสิ่งโสโครกโสมมทั้งหลาย ขจัดความตระหนี่ถี่เหนียว และความรู้สึกที่ต่ำทรามอื่นๆออกจากจากจิตใจ
2. เพื่อเติมเต็มและเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอจากการปฏิบัติอิบาดะฮฺการถือศีลอด -ซึ่งอาจเกิดจากความหลงลืม พูดจาไม่สุภาพ และอื่นๆ- ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
3. เพื่อทำให้ผลบุญของการถือศีลอดครบสมบูรณ์ และทำนุบำรุงอะมัลศอลิหฺ
4. เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่บรรดาผู้ที่ขัดสนและอนาถา และปกป้องพวกเขาจากความต่ำต้อยในวันอีด และการขอบริจาคทานจากผู้อื่น อิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา กล่าวว่า
«فَرَضَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيهِ وَسَلَّم زَكَاة الْفِطْرِ طُهْرَةً لِلصَّائِمِ مِنْ اللَّغْوِ وَالرَّفَثِ وَطُعْمَةً لِلْمَسَاكِينِ»
ความว่า “รอซูลุลลอฮฺได้กำหนด (ให้มุสลิม) จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ เพื่อเป็นการขัดเกลาให้ผู้ถือศีลอดสะอาดบริสุทธิ์จากมลทินของการหลงลืม และการพูดจาที่หยาบคาย และเพื่อเป็นทานอาหารแก่บรรดาผู้ยากไร้” (อบูดาวูด 1317)
5. เพื่อแสดงความขอบคุณต่อนิอฺมัตที่ของอัลลอฮฺที่ทำให้บ่าวของพระองค์สามารถปฏิบัติภารกิจการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนจนสำเร็จลุล่วงด้วยดี รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ล้นเหลือ ทั้งอาหารการกิน และความแข็งแรงของร่างกายจนสามารถละหมาดในช่วงกลางคืนและปฏิบัติอิบาดะฮฺอื่นๆ ได้ครบถ้วน
6. เผยแผ่ความรู้สึกรักและผูกพันสู่สังคมมุสลิมด้วยวิธีการให้ความช่วยเหลือและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน
เงื่อนไขของการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ
อุละมาอ์มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ซะกาตฟิฏเราะฮฺเป็นซะกาตทางร่างกาย และผู้ที่วาญิบต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺต้องประกอบด้วยเงื่อนไขต่างๆ สามประการดังนี้
1. เป็นมุสลิม มุสลิมทุกคนจำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง เด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ เป็นไทหรือทาส และไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ชนบทหรือในเมือง
อิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา กล่าวว่า
«فَرَضَ رَسُولُ اللهِ زَكَاةَ الْفِطْرِ صَاعًا مِنْ تَمْرٍ أَوْ صَاعًا مِنْ شَعِيرٍ عَلَى الْعَبْدِ وَالْحُرِّ وَالذَّكَرِ وَالأُنْثَى وَالصَّغِيرِ وَالْكَبِيرِ مِنْ الْمُسْلِمِينَ»
ความว่า “ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กำหนดให้ชาวมุสลิมทุกคนจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺจำนวนหนึ่งศออฺจากผลอินทผลัมแห้ง หรือหนึ่งศออฺจากข้าวบาเล่ ไม่ว่าจะเป็นทาสหรือไท ชายหรือหญิง และเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่” (อัลบุคอรีย์ 1407)
อิบนุ รุชดิ กล่าวว่า “อุละมาอ์มีมติเป็นเอกฉันท์ว่ามุสลิมทุกคนถูกสั่งให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง เด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ ทาสหรือไท นอกจากทัศนะที่แปลกแยกเท่านั้น (ที่มีทัศนะว่าไม่วาญิบ)” (บิดายะตุลมุจญ์ตะฮิด เล่ม 2 หน้า 130)
2. ร่ำรวย หมายความว่า มุสลิมที่วาญิบต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺต้องมีทรัพย์สินหรืออาหารที่เหลือจากความจำเป็นประจำวันสำหรับตัวเองและผู้อยู่ใต้การดูแลเลี้ยงดูในคืนวันอีดและวันรุ่งขึ้นจำนวนหนึ่งศออฺ (อัลกาฟี ของ อิบนุ กุดามะฮฺ เล่ม 2 หน้า 168)
3. ถึงกำหนดเวลา หมายความว่า ซะกาตฟิฏเราะฮฺจะไม่ถือว่าวาญิบต้องจ่ายจนกว่าจะถึงกำหนดเวลาของมัน โดยจะเริ่มตั้งแต่ตะวันลับขอบฟ้าของวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน หรือคืนวันอีด จนถึงเวลาก่อนที่อิหม่ามจะเริ่มตักบีรเพื่อละหมาดอีด
ดังนั้น ผู้ใดแต่งงาน หรือครอบครองทาส หรือเข้ารับอิสลาม หรือให้กำเนิดบุตร ก่อนตะวันลับขอบฟ้าของวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน และมีชีวิตอยู่จนถึงตะวันลับขอบฟ้าของคืนวันอีด ก็ถือวาญิบต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺสำหรับตัวเขาและสำหรับผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลเลี้ยงดูของเขา แต่ถ้าเกิดขึ้น(หมายถึงการรับอิสลาม แต่งงาน กำเนิดบุตร)หลังจากตะวันลับขอบฟ้าของคืนวันอีดไปแล้วก็ถือว่าไม่วาญิบ ขณะเดียวกัน ผู้ที่เสียชีวิตก่อนตะวันลับขอบฟ้าของคืนวันอีดถือว่าไม่วาญิบต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺสำหรับตัวเขา แต่ถ้าเสียชีวิตหลังจากตะวันลับขอบฟ้าไปแล้ว ก็จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺสำหรับตัวเขา (อัลมุฆนีย์ เล่ม 4 หน้า 298, อัลกาฟี เล่ม 2 หน้า 170)
เวลาสำหรับจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ
อุละมาอ์ได้แบ่งเวลาสำหรับการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺไว้สามเวลา คือ
1. เวลาที่วาญิบ โดยจะเริ่มหลังจากตะวันลับขอบฟ้าของวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน หรือคืนวันอีด ตามทัศนะใหม่และถูกต้องกว่าในมัซฮับอัชชาฟิอีย์ ไปจนถึงเวลาเริ่มละหมาดอีด (อัตตะฮฺซีบ ฟี ฟิกฮฺ อัชชาฟิอีย์ เล่ม 3หน้า /125, เราเฎาะฮฺ อัตฏอลิบีน 2 เล่ม หน้า 153) โดยอ้างหลักฐานจากหะดีษของอิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ที่ว่า
«فَرَضَ صَدَقَةَ الْفِطْرِ مِنْ رَمَضَانَ»
ความว่า “ท่านรอซูลุลลอฮฺได้กำหนดให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺจากเดือนรอมฎอน”
อิหม่าม อันนะวะวีย์กล่าวว่า “คำว่า “จากเดือนรอมฎอน” เป็นการให้สัญญาณถึงเวลาที่วาญิบต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ซึ่งอุละมาอ์มีทัศนะที่ขัดแย้งกัน แต่ทัศนะที่ถูกต้องของอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ คือซะกาตฟิฏเราะฮฺวาญิบต้องจ่ายก็ต่อเมื่อตะวันลับขอบฟ้าไปแล้วและเริ่มเข้าส่วนหนึ่งของคืนวันอีดฟิฏร์" (ชัรหฺมุสลิม เล่ม 7 หน้า 63 และดู อัตตะฮฺซีบ ฟี ฟิกฮฺ อัชชาฟิอีย์ เล่ม 3หน้า /125, อัลมัจญ์มูอฺ เล่ม 6 หน้า 84)
2. เวลาที่ส่งเสริม ส่วนเวลาที่ส่งเสริมและดีที่สุดสำหรับการจ่ายซะกาตคือ เวลาเช้าตรู่ของวันอีด ก่อนที่จะออกเดินทางสู่สนามละหมาดอีด หรือก่อนละหมาดอีดเพียงเล็กน้อย (อัลมัจญ์มูอฺ 6 เล่ม หน้า 88)
เพราะท่านนบีได้สั่งให้ออกซะกษตฟิฏเราะฮฺก่อนเดินทางไปละหมาดอีดที่มุศ็อลลา ดังมีรายงานจากอิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ท่านเล่าว่า
«...وَأَمَرَ بِهَا أَنْ تُؤَدَّى قَبْلَ خُرُوجِ النَّاسِ إِلَى الصَّلاةِ»
ความว่า “และท่านรอซูลได้สั่งให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺก่อนที่ประชาชนจะเดินทางออกไปละหมาดอีด (ยังสนามละหมาด)” (อัลบุคอรีย์ 1407)
3. เวลาที่อนุญาต หมายความว่าอนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺก่อนถึงกำหนดเวลาที่วาญิบ นั่นคืออนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺตลอดช่วงเดือนรอมฎอน ตามทัศนะของมัซฮับอัชชาฟิอีย์ (เราเฎาะตุลฏอลิบีน เล่ม 2 หน้า154)
ส่วนอุละมาอ์ส่วนใหญ่มีทัศนะว่า อนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺก่อนถึงกำหนดเวลาที่วาญิบประมาณหนึ่งหรือสองวันก่อนวันอีดเท่านั้น และไม่อนุญาตให้จ่ายซะกาตก่อนหน้านั้น (อัลมุฆนีย์ เล่ม 4 หน้า 300) เพราะมีรายงานจากอิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ท่านกล่าวว่า
«كَانُوْا يُعْطُوْنَ قَبْلَ الْفِطْرِ بِيَوْمٍ أَوْ يَوْمِيْنَ»
ความว่า “บรรดาเศาะหาบะฮฺจะจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺก่อนวันอีดหนึ่งหรือสองวัน” (อัลบุคอรีย์ 1415)
ทัศนะหลังนี้น่าจะมีน้ำหนักมากกว่าเพราะเป็นทัศนะที่สอดคล้องกับแบบอย่างการปฏิบัติจริงของบรรดาเศาะหาบะฮฺ วัลลอฮุอะอฺลัม
อนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺหลังละหมาดอีดหรือไม่
ไม่อนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺหลังจากเลยเวลาที่ถูกกำหนดไว้ หรือหลังจากละหมาดอีดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ผู้ใดจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺหลังละหมาดอีด จะถือว่าซะกาตที่ได้จ่ายไปนั้นเป็นซะกาตทั่วๆไป ไม่ใช่ซะกาตฟิฏเราะฮฺ เพราะท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้ในหะดีษที่รายงานโดยอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ว่า
«...مَنْ أَدَّاهَا قَبْلَ الصَّلاَةِ فَهِيَ زَكَاةٌ مَقْبُولَةٌ وَمَنْ أَدَّاهَا بَعْدَ الصَّلاَةِ فَهِيَ صَدَقَةٌ مِنْ الصَّدَقَاتِ»
ความว่า “...ผู้ใดจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺก่อนละหมาดอีดมันก็จะเป็นซะกาตที่ถูกรับ และผู้ใดจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺหลังจากละหมาดอีด มันก็จะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการบริจาคทานทั่วไปเท่านั้น” (อบูดาวูด 1609, อิบนุมาญะฮฺ 1827)
เชคอิบนุอุษัยมีนได้กล่าวเกี่ยวกับผู้ที่จงใจจ่ายซะกาตผิตเราะฮฺหลังละหมาดอีดว่า “และที่ถูกต้องคือ การจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺในเวลาดังกล่าวเป็นที่ต้องห้าม (บาป) และเป็นการจ่ายที่ไม่ถูกรับ หลักฐานคือหะดีษของอิบนุอุมัรที่ว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม สั่งให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺก่อนที่ประชาชนจะออกไปละหมาดอีด (ยังสนามละหมาด) ขณะเดียวกัน หะดีษอิบนุ อับบาสก็ระบุอย่างชัดเจนว่า “ผู้ใดจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺก่อนละหมาด ดังนั้นมันคือซะกาตที่ถูกรับ และผู้ใดจ่ายซะกาตหลังจากละหมาดมันก็จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบริจาคทานทั่วๆ ไป” และนี่คือหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺหลังละหมาดนั้นไม่ถูกรับ (อัชชัรหฺ อัลมุมติอฺ เล่ม 6 หน้า 171-172)
ชนิดของซะกาตฟิฏเราะฮฺที่วาญิบต้องจ่าย
อุละมาอ์ส่วนใหญ่ได้วางเงื่อนไขของสิ่งที่จะใช้เป็นซะกาตฟิฏเราะฮฺว่าต้องเป็นอาหารหลักที่สามารถประทังชีวิตได้ (ให้ความอิ่ม) เช่น ข้าวสาร แป้ง ข้าวบาเล่ เป็นต้น (อัลมัจญ์มูอฺ เล่ม 6 หน้า 91-98)
อบูสะอีด อัลคุดรีย์กล่าวว่า
«كُنَّا نُخْرِجُ فِي عَهْدِ رَسُولِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيهِ وَسَلَّم يَوْمَ الْفِطْرِ صَاعًا مِنْ طَعَامٍ، وَكَانَ طَعَامَنَا الشَّعِيرُ وَالزَّبِيبُ وَالْأَقِطُ وَالتَّمْرُ»
ความว่า “พวกเราได้จ่าย (ซะกาตฟิฏเราะฮฺ) ในวันอีดฟิฏรฺสมัยท่านรอซูลุลลอฮฺ ด้วยจำนวนหนึ่งศออฺจากอาหาร และอาหารของเราในสมัยนั้นคือ ข้าวบาเล่ องุ่นแห้ง นมเปรี้ยวแห้ง(เป็นก้อนแข็ง) และอินทผลัมแห้ง” (อัลบุคอรีย์ 1414)
อิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า
«صَدَقَةُ الْفِطْرِ صَاعًا مِنْ شَعِيرٍ، أَوْ صَاعًا مِنْ تَمْرٍ، أَوْ صَاعًا مِنْ سُلْتٍ»
ความว่า “ซะกาตฟิฏเราะฮฺต้องจ่ายจำนวนหนึ่งศออฺจากข้าวบาเล่ หรือหนึ่งศออฺจากผลอินทผลัมแห้ง หรือหนึ่งศออฺจากข้าวบาเล่ (ชนิดหนึ่งมีสีขาวและไม่มีเปลือก)” (อิบนุคุซัยมะฮฺ เล่ม 4 หน้า 80, อัลหากิม เล่ม 1หน้า 408)
อุละมาอ์มีทัศนะที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “อาหาร” ที่มีระบุในหะดีษของอบู สะอีด อัลคุดรีย์ บางท่านยืนยันว่า คำว่า “อาหาร” ในหะดีษนี้หมายถึง เมล็ดข้าวบาเล่ และอื่นๆ แต่ทัศนะที่คิดว่าน่าจะมีน้ำหนักที่สุดคือ ทัศนะที่ว่า “อาหาร” ที่หมายถึงในหะดีษอบู สะอีดนี้ ครอบคลุมทุกๆ ประเภทอาหารหลักที่สามารถประทังชีวิตได้ของแต่ละพื้นที่ วัลลอฮุอะอฺลัม
ถึงแม้ว่า “อาหาร” ในหะดีษข้างต้นจะครอบคลุมทุกๆ อาหารหลักของแต่ละพื้นที่ก็ตาม แต่ชนิดของอาหารที่ประเสริฐที่สุดที่จะนำมาจ่ายเป็นซะกาตฟิฏเราะฮฺคือชนิดของอาหารที่มีระบุในหะดีษต่างๆ ตราบใดที่ยังสามารถหาอาหารประเภทเหล่านั้นมาจ่ายเป็นซะกาตฟิฏเราะฮฺ และผู้ที่มีสิทธิรับซะกาตประสงค์ที่จะรับมัน
อิหม่าม อันนะวะวีย์กล่าวว่า “สิ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ คือจำนวนหนึ่งศออฺจากชนิดใดชนิดหนึ่งของบรรดาอาหารหลัก ไม่ว่าจะเป็นแป้งข้าวบาเล่ ผลอินทผลัมแห้ง ผลองุ่นแห้ง เมล็ดข้าวบาเล่ และอื่นๆที่อนุญาตให้ใช้เป็นซะกาตฟิฏเราะฮฺ" (อัลมัจญ์มูอฺ เล่ม 6 หน้า 110)
อัตราที่ต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ
มีรายงานจากหะดีษเศาะฮีหฺระบุว่าอัตราอาหารที่ต้องจ่ายสำหรับซะกาตฟิฏเราะฮฺคือจำนวนหนึ่ง ศออฺ มะดะนีย์ เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า
«الْوَزْنُ وَزْنُ أَهْلِ مَكَّةَ وَالْمِكْيَالُ مِكْيَالُ أَهْلِ الْمَدِينَةِ»
ความว่า “ตราชั่งต้องใช้ตราชั่งชาวมักกะฮฺ และการตวงต้องใช้เครื่องตวงของชาวมะดีนะฮฺ” (อบูดาวูด 2899)
หนึ่งศออฺของชาวมะดีนะฮฺในอดีต ปัจจุบันตวงข้าวสารได้ประมาณสี่ลิตรตามการตวงบ้านเรา หรือชั่งได้ประมาณสองกิโลกรัมครึ่ง
ต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺสำหรับผู้ใดบ้าง?
มุสลิมทุกคนจำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺสำหรับตัวเอง และทุกๆ คนที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขา ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ ผู้ชายหรือผู้หญิง ทาสหรือไท
อิบนุอุมัรเล่าว่า
«أَمَرَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيهِ وَسَلَّم بِصَدَقَةِ الْفِطْرِ عَنِ الصَّغِيْرِ وَالْكَبِيْرِ وَالْحُرِّ وَالْعَبْدِ مِمَّنْ تَمُوْنُوْنَ»
ความว่า “ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม สั่งให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺแก่เด็กเล็กและผู้ใหญ่ ผู้เป็นไทและทาส จากบรรดาผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของพวกท่าน” (อัดดาเราะกุฏนีย์ 220, อัลบัยฮะกีย์ เล่ม 4 หน้า 161)
นาฟิอฺ เล่าว่า “อิบนุอุมัรจะจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺสำหรับครอบครัวของท่านทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก หรือผู้ใหญ่ ท่านจะจ่ายซะกาตสำหรับผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของท่าน และสำหรับทาสและทาสี” (อิบนุ อะบีชัยบะฮฺ เล่ม 4 หน้า 37)
จะจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺให้แก่ผู้ใด?
อิบนุ รุชด์ กล่าวว่า “บรรดาอุละมาอ์มีมติเป็นเอกฉันท์ว่ามีบัญญัติให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺแก่บรรดาผู้ยากไร้และผู้ขัดสน (ฟุเกาะรออฺและมะสากีน) เพราะท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า
«اغْنُوْهُمْ عَنِ السُّؤَالِ فِي هَذَا الْيَوْمِ»
ความว่า “พวกท่านจงทำให้พวกเขา (บรรดาผู้ยากไร้) ไม่ต้องพึ่งพาการขอทานในวัน (อีด) นี้” (อัดดาเราะกุฏนีย์ 67, อัลบัยฮะกีย์ เล่ม 4 หน้า 175 ด้วยสายรายงานที่อ่อน) (บิดายะฮฺ อัลมุจญ์ตะฮิด เล่ม 2 หน้า 137)
เพียงแต่อุละมาอ์มีทัศนะที่ขัดแย้งเกี่ยวกับบรรดาผู้มีสิทธิ์รับซะกาตอีกหกจำพวกอื่นจากนั้น ว่ามีสิทธิรับซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยหรือไม่ ?
มัซฮับหะนะฟีย์ และทัศนะที่ถูกต้องของมัซฮับหันบะลีย์ มีทัศนะว่าอนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺแก่บรรดาผู้ที่มีสิทธิที่จะรับส่วนแบ่งทั้งแปดประเภท เพราะซะกาตฟิฏเราะฮฺเป็นส่วนหนึ่งของการบริจาคทานที่รวมอยู่ในความหมายของอายะฮฺ
«إِنَّمَا الصَّدَقَاتُ لِلْفُقَرَاء وَالْمَسَاكِينِ وَالْعَامِلِينَ عَلَيْهَا وَالْمُؤَلَّفَةِ قُلُوبُهُمْ وَفِي الرِّقَابِ وَالْغَارِمِينَ وَفِي سَبِيلِ اللّهِ وَابْنِ السَّبِيلِ» (التوبة : 60 )
ความว่า “แท้จริงทานทั้งหลายนั้น สำหรับบรรดาผู้ที่ยากจน ผู้ที่ขัดสน เจ้าหน้าที่ในการรวบรวมมัน ผู้ที่หัวใจได้รับการโน้มน้าว (สู่อิสลาม) การไถ่ทาส ผู้มีหนี้สินล้นตัว ในทางของอัลลอฮฺ และผู้ที่อยู่ในระหว่างเดินทาง” (อัตเตาบะฮฺ 60)
(ดู หะชิยะฮฺ อิบนุอาบิดีน เล่ม 2 หน้า 79, อัลอินศอฟ เล่ม 7 หน้า 137, อัลมุฆนีย์ เล่ม 4 หน้า 314)
มัซฮับอัชชาฟิอีย์ มีทัศนะว่า จำเป็นต้องแบ่งซะกาตฟิฏเราะฮฺให้แก่บรรดาผู้ที่มีสิทธิรับซะกาตทั้งแปดประเภท หรือเท่าที่พบเจอ ในกรณีที่มอบหมายซะกาตให้อิหม่ามเป็นผู้แบ่งให้ แต่ถ้าประสงค์จะจ่ายซะกาตด้วยตนเอง เขาต้องแบ่งซะกาตออกเป็นหกส่วนสำหรับผู้มีสิทธิ์รับซะกาตหกประเภท โดยตัดส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านซะกาต (อามิลีน) และผู้ที่หัวใจได้รับการโน้มน้าว (มุอัลลัฟ กุลูบ) ออก และหากไม่พบผู้มิสิทธิทั้งหกประเภทก็ให้แจกจ่ายแก่บรรดาผู้มีสิทธิเท่าที่พบเจอ (อัลอุมม์ เล่ม 2 หน้า 69, อัลหาวีย์ อัลกะบีร เล่ม 4 หน้า 430, อัลมุจญ์มูอฺ เล่ม 6 หน้า 104)
ส่วนมัซอับมาลิกีย์และรายงานหนึ่งจากอะหมัดระบุว่า ซะกาตฟิฏเราะฮฺต้องมอบให้แก่ผู้ที่ยากจนและผู้ที่ขัดสน (ฟุเกาะรออ์และมะสากีน) เท่านั้น ไม่อนุญาตให้จ่ายแก่อื่นจากทั้งสอง (อัตตัฟรีอฺ เล่ม 2 หน้า 296, หาชิยะฮฺ อัดดุสูกีย์ เล่ม 1 หน้า 508, อัลฟุรูอฺ เล่ม 2 หน้า 540)
โดยตีความจากหะดีษอิบนุอับบาสที่กล่าวว่า
«فَرَضَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيهِ وَسَلَّم زَكَاة الْفِطْرِ طُهْرَةً لِلصَّائِمِ مِنْ اللَّغْوِ وَالرَّفَثِ وَطُعْمَةً لِلْمَسَاكِينِ»
ความว่า “รอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กำหนด (ให้มุสลิม) จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ เพื่อเป็นการขัดเกลาให้ผู้ถือศีลอดสะอาดบริสุทธิ์จากมลทินของการหลงลืม และการพูดจาที่หยาบคาย และเพื่อเป็นทานอาหารแก่บรรดาผู้ยากไร้” (อบูดาวูด 1317)
ดังนั้น คำว่ากล่าวที่ว่า “เพื่อเป็นทานอาหารแก่บรรดาผู้ยากไร้” ทำให้เข้าใจว่าการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺนั้น ถูกเจาะจงเฉพาะสำหรับผู้ยากไร้ อันหมายถึงฟุเกาะรออ์และมะสากีนเท่านั้น ส่วนบรรดาผู้มีสิทธิ์รับซะกาตทั่วไปอีกหกประเภทจะไม่มีสิทธิ์รับซะกาตฟิฏเราะฮฺตามทัศนะของอุละมาอ์กลุ่มนี้
ทัศนะนี้ได้รับการเห็นชอบและสนับสนุนจากอุละมาอ์ชั้นแนวหน้าหลายท่าน เช่น อิบนุตัยมิยะฮฺ (มัจญ์มูอฺอัลฟะตาวา เล่ม 25 หน้า 71-78) อิบนุก็อยยิม (ซาดุลมะอาด เล่ม 2 หน้า 44) และในบรรดาอุละมาอ์ปัจจุบันที่เห็นด้วยกับทัศนะนี้คือ เชคอับดุลอะซีซ บิน บาซ (มัจญ์มูอฺฟะตาวาอิบนุบาซ เล่ม 14 หน้า 202, 215), เชคอุษัยมีน (อัชชัรหฺ อัลมุมติอฺ เล่ม 6 หน้า 184) และเชคอัลบานีย์ เป็นต้น
จากทัศนะที่ขัดแย้งข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่า ควรให้ความสำคัญกับบรรดาผู้ยากไร้ (ฟุเกาะรออ์และมะสากีน) เป็นอันดับแรก แต่ถ้าไม่มีคนเหล่านั้น ก็อนุญาตให้จ่ายซะกาตแก่บรรดาผู้มีสิทธิ์รับซะกาตทั้งหกประเภทที่เหลือ วัลลอฮุอะอฺลัม
อนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยเงินหรือไม่?
อุละมาอ์ส่วนใหญ่ (มัซฮับมาลิกีย์ ชาฟิอีย์ และหันบะลีย์) ไม่อนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยเงินแทนอาหาร และผู้ใดจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยเงิน ซะกาตฟิฏเราะฮฺของเขาจะไม่ถูกรับ เพราะไม่มีหลักฐานบ่งชี้ถึงการอนุญาต (อัลอุมม์ เล่ม 3 หน้า 174, อัลมุฆนีย์ เล่ม 4 หน้า 295)
ส่วนมัซฮับหะนะฟีย์ มีทัศนะว่าอนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยเงิน (อัลเมาสุอะฮฺ อัลฟิตฮิยะฮฺ เล่ม 23 หน้า 344)
มีคนเล่าให้อิหม่ามอะหมัดฟังว่า “ฉันได้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยเงินดิรฮัม”
ท่านตอบว่า “ฉันกลัวว่าการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺเช่นนั้นจะไม่ถูกรับ เพราะค้านกับสุนนะฮฺของท่านรอซูลุลลอฮฺ” มีคนถามท่านว่า “มีคนกลุ่มหนึ่งอ้างว่า อุมัร บิน อับดุลอะซีซเคยรับซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยราคาของอาหาร?” ท่านตอบว่า “พวกเขาละทิ้งคำพูดของท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม แล้วอ้างว่า คนนั้น คนนี้กล่าวอย่างนั้นอย่างนี้ กระนั้นหรือ” (อัลมุฆนีย์ เล่ม 4 หน้า 295)
อิบนุ กุดามะฮฺ กล่าวว่า “ไม่อนุญาตให้จ่ายเป็นราคา เพราะเป็นการละทิ้งจากสิ่งที่ได้ถูกระบุไว้แล้ว” (อัลมุฆนีย์ เล่ม 4 หน้า 295)
อัชเชากานีย์กล่าวว่า “ผู้ที่มีทัศนะว่าจำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยประเภท(ใดประเภทหนึ่ง)ของประเภทอาหารที่จำเพาะเจาะจง ได้ยกหะดีษของอิบนุ อุมัรเป็นหลักฐาน และพวกเขาจะไม่อนุญาตให้เปลี่ยนไปจ่ายด้วยราคาของอาหารเหล่านั้น นอกจากเมื่อไม่มีอาหารเหล่านั้น หรืออาหารประเภทเดียวกัน” (นัยลุลเอาฏอร เล่ม 4 หน้า 171)
ท่านยังกล่าวอีกว่า “ที่มีหลักฐานถูกต้อง (เกี่ยวกับการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ) ในสมัยของท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม คือ ซะกาตฟิฏเราะฮฺจะถูกเก็บจากทรัพย์สิน (ไม่ใช่เงินตรา) ที่ถูกกำหนดไว้ และสิ่งเหล่านั้นเป็นที่ทราบกันดีอย่างไม่ต้องสงสัย…” (สัยลุลญัรรอร)
เชคอับดุลอะซีซ บิน บาซ กล่าวว่า “และไม่อนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยราคาตามทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ และมันคือทัศนะที่มีหลักฐานที่ถูกต้องกว่า ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่วาญิบต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺต้องมาจากอาหารหลักเท่านั้น ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺได้ปฏิบัติ” (มัจญ์มูอฺอัลฟะตาวา เล่ม 14 หน้า 202)
ท่านยังกล่าวอีกว่า “....ซะกาตฟิฏเราะฮฺเป็นอิบาดะฮฺอย่างหนึ่งด้วยมติเป็นเอกฉันท์ของชาวมุสลิม และหลักการดั้งเดิมของอิบาดะฮฺต่างๆ ต้องตะวักกุฟ (หมายความว่าต้องพึ่งพาหลักฐานเท่านั้น) ดังนั้น จึงไม่อนุญาตให้ผู้ใดปฏิบัติอิบาดะฮฺใดๆ เว้นแต่มีหลักฐานที่ถูกต้องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม” (มัจญ์มูอฺอัลฟะตาวา เล่ม 14 หน้า 208)
คณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยทางวิชาการและการฟัตวา ประเทศซาอุดีอาระเบียกล่าวว่า “และไม่อนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยเงิน เพราะหลักฐานทางศาสนบัญญัติได้บ่งชี้ถึงความจำเป็น (วาญิบ) ที่จะต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยอาหาร และไม่อนุญาตให้ละทิ้งหลักฐานทางศาสนบัญญัติด้วยคำพูดของผู้ใดก็ตาม” (มัจญ์มูอฺฟะตาวาอัลลัจญ์นะฮฺอัดดาอิมะฮฺ เล่ม 9 หน้า 379)
ที่กล่าวเช่นนั้นเพราะมีเหตุผลสำคัญดังนี้
1. ซะกาตฟิฏเราะฮฺเป็นอิบาดะฮฺที่ถูกเจาะจงให้จ่ายจากอาหารหลักบางประเภทเป็นการเฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงไม่อนุญาตให้จ่ายด้วยสิ่งอื่นจากประเภทของอาหารที่ถูกกำหนดไว้เหล่านั้น เช่นเดียวกับที่ไม่อนุญาตให้จ่ายซะกาตนอกเวลาที่ถูกกำหนดไว้
2. การจ่ายซะกาตด้วยราคาของอาหารเป็นการปฏิบัติที่ค้านกับคำสั่งและการปฏิบัติของท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺ
เชค อิบนุ อุษัยมีน กล่าวว่า “เนื่องจากการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยราคาเป็นการปฏิบัติที่ค้านกับการปฏิบัติของบรรดาเศาะหาบะฮฺ ซึ่งพวกท่านจะจ่ายเป็นอาหารจำนวนหนึ่งศออฺเป็นประจำ และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็ได้กล่าวไว้ว่า
«عَلَيْكُمْ بِسُنَّتِي وَسُنَّةِ الْخُلَفَاءِ الرَّاشِدِينَ الْمَهْدِيِّينَ مِنْ بَعْدِي»
ความว่า “พวกท่านจงดำเนินตามสุนนะฮฺของฉันและสุนนะฮฺของบรรดาเคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมหลังจากฉัน” (อบูดาวูด 3991)
เชค อบู บักร์ อัลญะซาอิรีย์ กล่าวว่า “สิ่งที่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺคือประเภทต่างๆ ของอาหาร และจะไม่ (อนุญาตให้) เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นนอกจากในกรณีที่สุดวิสัยเท่านั้น เพราะไม่มีรายงานที่ถุกต้องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่าท่านจ่ายซาตฟิฏเราะฮฺด้วยเงินแทนอาหาร อีกทั้งไม่เคยมีรายงานจากบรรดาเศาะหาบะฮฺแม้แต่คนเดียวว่าพวกเขาเคยจ่ายวะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยเงิน” (มินฮาจญ์อัลมุสลิม หน้า 259)
3. ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กำหนดอัตราส่วนและประเภทของอาหารสำหรับใช้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺอย่างชัดเจน ในขณะที่อาหารแต่ละประเภทมีราคาที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากแม้นว่า ราคาอาหารหรือเงินสามารถใช้จ่ายเป็นค่าซะกาตฟิฏเราะฮฺได้ แน่นอนว่าสิ่งที่วาญิบต้องจ่ายต้องเป็นหนึ่งศออฺจากอาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือราคาของอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น
อิหม่าม อันนะวะวีย์กล่าวว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ระบุถึงอาหารบางประเภท (สำหรับใช้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ) ซึ่งมีราคาที่แตกต่างกัน และท่านได้กำหนดให้จ่าย (ซะกาตฟิฏเราะฮฺ) จำนวนหนึ่งศออฺเท่านั้นจากบรรดาอาหารเหล่านั้น การกำหนดเช่นนั้นเป็นการบ่งชี้สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ (อัตราของอาหาร นั่นคือหนึ่ง) ศออฺ โดยไม่ได้คำนึงถึงราคาของอาหาร" (อัลมินฮาจญ์ ชัรหฺเศาะหีหมุสลิม เล่ม 7 หน้า 60)
อิบนุ หะญัร กล่าวว่า “เสมือนกับว่า (ได้มีการเจาะจง) อาหารทุกประเภทที่มีระบุในหะดีษของอบู สะอีด อัลคุดรีย์ (เป็นการเฉพาะ) โดยที่ทุกๆ ประเภทของอาหารเหล่านั้นมีอัตราส่วน (ที่ต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ) เท่าๆ กัน (นั่นคือหนึ่งศออฺ) พร้อมกับความแตกต่างด้านราคาของอาหารเหล่านั้น ดังนั้น จึงบ่งชี้ว่า ที่ (ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ประสงค์) คือจ่ายซะกาตตามอัตราส่วนดังกล่าวจากประเภทใดประเภทหนึ่งของอาหาร (นั่นคือหนึ่งศออฺ ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างด้านราคาของแต่ละประเภทก็ตาม)” (ฟัตหุลบารีย์ เล่ม 4 หน้า 437) วัลลอฮุอะอฺลัม
ส่วนอบู หะนีฟะฮฺ อนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยเงินตราหรือราคาของอาหารหลัก และถือว่าการจ่ายซะกาตด้วยเงินตราประเสริฐกว่า เพื่อให้ผู้ยากไร้มีความสะดวกที่จะซื้อหาสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาต้องการในวันอีด เพราะบางที พวกเขาอาจจะไม่จำเป็นต่ออาหารหลัก แต่อาจจำเป็นต่อเสื้อผ้า หรือเนื้อ หรืออื่นๆ ดังนั้น การจ่ายซะกาตด้วยอาหารหลักแก่พวกเขาอาจทำให้พวกเขาจำเป็นต้องเสาะหาคนที่จะรับซื้ออาหารหลักจากเขา และบางทีพวกเขาอาจจำเป็นต้องขายอาหารเหล่านั้นด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาจริงตามท้องตลาด ทั้งหมดนั้นจะพูดถึงในกรณีที่มีความสะดวก และอาหารหลักตามท้องตลาดมีจำนวนมากอยู่แล้ว ส่วนเวลาที่ยากลำบากและตามท้องตลาดมีอาหารหลักอยู่น้อย ในกรณีเช่นนี้การจ่ายซะกาตด้วยอาหารหลักย่อมประเสริฐกว่าการจ่ายด้วยราคาของอาหาร โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ยากไร้ (อัลมับสูฏ เล่ม 3 หน้า 114, บะดาอิอฺ อัสเศาะนาอิอฺ เล่ม 2หน้า 73, อัลบะนายะฮฺ เล่ม 3 หน้า 494)
จะอย่างไรก็ตาม การปฏิบัติที่สอดคล้องกับคำสั่งของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และการปฏิบัติของบรรดาเศาะหาบะฮฺย่อมเป็นการดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงทัศนะของอุละมาอ์ส่วนใหญ่ที่ระบุว่า การจ่ายซะกาตด้วยราคาอาหารจะไม่ถูกรับ .. วัลลอฮุอะอฺลัม