×
รวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องซะกาตฟิฏรฺ เช่น เหตุผลหรือวิทยปัญญาในการบัญญัติซะกาตฟิฏรฺ ข้อตัดสินหรือ หุก่มของซะกาตฟิฏรฺ ปริมาณของซะกาตฟิฏรฺ เวลาของซะกาตฟิฏรฺ แหล่งจ่ายซะกาตฟิฏรฺ หะดีษที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายซะกาตฟิฏรฺ ฟัตวาการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยเงินได้หรือไม่ ?

    ซะกาตฟิฏรฺ (ฟิฏเราะฮฺ)

    [ ไทย ]

    زكاة الفطر

    [ باللغة التايلاندية ]

    ทีมงาน อิสลามเฮ้าส์.คอม ภาษาไทย

    فريق الموقع التايلاندي ـ دار الإسلام

    ตรวจทาน: ซุฟอัม อุษมาน

    مراجعة: صافي عثمان

    สำนักงานความร่วมมือเพื่อการเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด

    المكتب التعاوني للدعوة وتوعية الجاليات بالربوة بمدينة الرياض

    1429 – 2008

    ซะกาตฟิฏรฺ (ฟิฏเราะฮฺ)

    1. เหตุผลหรือวิทยปัญญาในการบัญญัติซะกาตฟิฏรฺ

    ซะกาตฟิฏรฺ ถูกตราเป็นบัญญัติขึ้นเพื่อเป็นสิ่งขัดเกลาและชำระล้างผู้ที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ให้ปราศจากบาปอันเกิดจากคำพูดที่ไร้สาระและหยาบคายที่อาจเกิดขึ้นในขณะ ปฏิบัติศาสนกิจอันนี้

    ทั้งยังเป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แก่ผู้ยากจนขัดสนในการบริจาคอาหาร เพื่อพวกเขาจะได้อิ่มหน่ำสำราญ ไม่ต้องขอวิงวอนจากผู้ใดในวันตรุษ(วันอีด)นั่นเอง ดังที่ได้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในหะดีษฺที่รายงานโดยท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ความว่า

    “ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะสัลลัมได้กำหนด ซะกาตฟิฏรฺเพื่อชำระผู้ถือศีลอดให้สะอาดจากคำพูดที่ไร้สาระและหยาบคาย และเพื่อเป็นอาหารแก่คนยากไร้” (รายงานโดยอบู ดาวูด และอิบนุ มาญะฮฺ)

    2. ข้อตัดสินหรือ หุก่มของซะกาตฟิฏรฺ

    ซะกาตฟิฏรฺ เป็นฟัรฎู และจำเป็นเหนือมุสลิมทุกคน ทั้งชายและหญิง เด็กและผู้ใหญ่ ทาสและคนทั่วไป ซึ่งมีหลักฐานจากหะดีษฺที่รายงานโดยท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ มีความว่า

    “ท่านรอซูลศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กำหนดซะกาตฟิฏรฺของเราะมะฎอนไว้หนึ่งศออฺจากผลอินทผาลัม หรือหนึ่งศออฺจากข้าวสาลี เหนือทุกคนที่เป็นเสรีชนหรือเป็นทาส เป็นเพศชายหรือเพศหญิง เป็นผู้เยาว์หรือผู้ใหญ่ ที่เป็นมุสลิม และได้กำชับให้จ่ายมันก่อนที่ผู้คนจะออกไปละหมาดอีด” (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)

    ทั้งนี้ยังส่งเสริม(สุนัต)ให้จ่ายซะกาตฟิฏรฺในส่วนของทารกที่อยู่ในครรภ์เช่นกัน การจ่ายซะกาตฟิฏรฺเป็นสิ่งจำเป็นที่มุสลิมจะต้องจ่าย ในส่วนของตนและส่วนของผู้อยู่ใต้การอุปการะเลี้ยงดู เช่น ภรรยา หรือญาติพี่น้องที่ตนเลี้ยงดูอยู่

    และไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิฏรฺ ในกรณีที่อาหารไม่เพียงพอสำหรับเขาและสมาชิกครอบครัวของเขาในการบริโภคสำหรับวันอีดและค่ำคืนของวันอีด

    3. ปริมาณของซะกาตฟิฏรฺ

    ปริมาณที่ต้องจ่ายได้แก่ 1 ศออฺ (หนึ่งกันตัง – ดูรายละเอียดในหัวข้อใหญ่ถัดไป) ของอาหารหลักในถิ่นนั้นๆ เช่นข้าวสาร ข้าวสาลี ข้าวบาเล่ย์ อิทผาลัม องุ่นแห้งเป็นต้น

    โดย 1 ศออฺ มีปริมาณเท่ากับ 2.176 กิโลกรัมโดยเฉลี่ย และไม่อนุมัติให้จ่ายเป็นค่าเงินแทนซะกาตฟิฏรฺตามทัศนะของนักวิชาการส่วนมาก (กรุณาดูความเห็นในประเด็นนี้จากฟัตวาท้ายบทความ – บก.) เนื่องจากการกระทำดังกล่าวนั้น ผิดวัตถุประสงค์ที่ท่าน รอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กำหนดไว้ ทั้งยังเป็นการขัดแย้งกับแบบอย่างของเหล่าเศาะฮาบะฮฺของท่านอีกด้วย


    4. เวลาของซะกาตฟิฏรฺ

    การจ่ายซะกาตฟิฏรฺมีสองเวลาคือก่อนคืนวันอีดหนึ่งหรือสองวันหรือ เวลาอันประเสริฐ ได้แก่ ตั้งแต่เริ่มรุ่งอรุณของวันอีดจนกระทั่งก่อนการละหมาดอีด เนื่องจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กำชับให้จ่ายซะกาตก่อนที่ผู้คนจะออกไปสู่การละหมาดอีด และหากผู้ใดล่าช้าในการจ่ายซะกาตฟิฏรฺ โดยปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปจนละหมาดเสร็จเขาผู้นั้นจะมีความผิดและบาปในการล่า ช้าของเขา โดยสิ่งที่เขาบริจาคนั้นก็ไม่จัดว่าเป็นซะกาตฟิฏรฺแต่อย่างใด หากถือว่าเป็นเพียงการบริจาคธรรมดาเท่านั้นเอง

    5. แหล่งจ่ายซะกาตฟิฏรฺ

    ซะกาตฟิฏรฺถูกกำหนดให้จ่ายหรือบริจาคแก่ผู้ขัดสนยากไร้เนื่องจากบุคคลเหล่านี้เหมาะสมกับสิ่งนี้กว่าคนอื่นๆ

    จากหนังสือ หลักการอิสลาม www.islamhouse.com/p/399

    หะดีษที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายซะกาตฟิฏรฺ

    عَنْ ابنِ عُمَرَ رَضِىَ اللهُ عَنهُمَا قَالَ : فَرَضَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمْ زَكَاةَ الفِطْرِ صَاعًا مِنْ تَمْرٍ أَو صَاعًا مِنْ شَعِيْرٍ عَلَى الحُرِّ وَالعَبْدِ وَالذَّكَرِ وَالأُنْثىٰ ، وَالصَّغِيْرِ وَالكَبِيْرِ مِنَ المُسْلِمِيْنَ . وَأَمَرَ بِهَا أَنْ تُؤَدّٰى قَبْلَ خُرُوْجِ النَّاسِ إِلَى الصَّلاَةِ .

    ความว่า จากอับดุลลอฮฺ บิน อุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า : “ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กำหนดบัญญัติให้ออกซะกาตฟิฏเราะฮฺหนึ่ง ศออฺ (กันตัง) ด้วยลูกอินทผลัม หรือหนึ่ง ศออฺ (กันตัง) ด้วยแป้งสาลีแก่มุสลิมที่เป็นเสรีชนและทาส ชายและผู้หญิง คนแก่และเด็ก และท่านรอซูลได้สั่งให้จ่ายซะกาตก่อนที่ผู้คนจะออกไปเพื่อละหมาดวันอีด” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ : อัล--บุคอรี 3/291-292 และมุสลิม 983)

    คำอธิบาย

    อิมามอันนะวะวีย์กล่าวว่า อุละมาอ์มีทัศนะที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับความหมายของคำว่า ฟะเราะฎอ “فرض” ซึ่งอุละมาอ์ส่วนใหญ่จากสะลัฟและเคาะลัฟให้ความหมายว่า “ลาซิมและวาญิบ” เพราะซะกาตฟิฏเราะฮฺสำหรับพวกเขามีหุก่มวาญิบ เนื่องจากเข้าอยู่ในภาพรวมคำสั่งของอัลลอฮฺ และเนื่องจากการใช้คำ “فرض

    ยังมีอุละมาอ์บางท่านเห็นว่าซะกาตฟิฏเราะฮฺนั้นสุนัตไม่ใช่วาญิบ

    ท่าน อิบนุ กุตัยบะฮฺกล่าวว่า ที่หมายถึงซะกาตฟิฏเราะฮฺนั้นคือ ซะกาตสำหรับตนเอง ซึ่งมาจากคำว่า “ฟิฏเราะฮฺ” (อัล-ฟัตหุ อัร-ร็อบบานีย์ มะอาชัรหิฮี 9/138)

    หะดีษข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ซะกาตฟิฏเราะฮฺไม่เป็นเงื่อนไขของถึงนิศอบ (เกณฑ์) ทั้งนี้วาญิบสำหรับผู้ยากจนและผู้ร่ำรวย

    อัล-อิมาม อัช-ชาฟิอีย์กล่าวว่า หากมีค่าใช้จ่ายที่เหลือจากค่าใช้จ่ายสำหรับตนเองและครอบครัวในเช้าตรู่ของวันอีดและกลางคืนของวันอีด เมื่อนั้นจึงเป็นวาญิบสำหรับเขาต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ (ชัรหุ อัส-สุนนะฮฺ ของ อัล-บะเฆาะวีย์ 6/71)

    ที่ถูกต้องตามสุนนะของรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม คือ ซะกาตฟิฏเราะฮฺจะต้องจ่ายฟิฏเราะฮฺในวันอีดก่อนออกไปสู่มุศ็อลลา แต่ถ้าหากว่าการให้ฟิฏเราะฮฺทันทีหลังจากเข้าเราะมะฎอนก่อนวันอีดถือว่าใช้ได้ เพราะท่านอุมัรเคยฝากซะกาตฟิฏเราะฮฺให้แก่ผู้จัดเก็บฟิฏเราะฮฺก่อนวันอีดสองวันหรือสามวัน (อัล-มุวัฏเฏาะอ์ 1/285 ออกโดยอัช-ชาฟีอีย์ 1/248 สายรายงานเศาะฮีหฺ ดูใน ชัรหุ อัส-สุนนะฮฺ 6/76)

    บทเรียนจากหะดีษ

    1. กำหนดให้จ่ายซะกาตฟิเราะฮ์ในเดือนรอมฎอน เพื่อให้ผู้ที่ถือศีลอดมีความบริสุทธิ์ และเป็นการช่วยเหลือคนยากจน

    2. การจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺถูกบัญญัติขึ้น (ฟัรฎู) ในปีที่สองหลังจากฮิจญ์เราะฮ์ไปยังนครมะดีนะฮฺ

    3. มุสลิมที่วาญิบต้องจ่ายซะกาตได้แก่ ผู้ชาย ผู้หญิง มุสลิมที่เสรีชน ทาส คนแก่ หนุ่มสาว จนถึงเด็กทารกที่เพิ่งเกิดในช่วงปลายรอมฎอนก็จะต้องจ่ายซะกาตเช่นเดียวกัน

    4. ประเภทซะกาต ได้แก่ ลูกอินทผลัมหรือแป้งสาลี ส่วนข้าวสารนั้นเป็นการกิยาสกับแป้งสาลีที่เป็นอาหารหลัก

    5. อัตราซะกาตที่จะต้องจ่าย คือ 1 ศออฺ ( กันตังของชาวมะดีนะฮฺเท่ากับ 3 ลิตร กับ 1 กระป๋องนมของบ้านเรา)

    6. ซะกาตจะต้องจ่ายให้เสร็จสิ้นก่อนละหมาดอีด

    7. ผู้ที่มีสิทธิรับซะกาตฟิฏเราะฮฺ คือคนแปดจำพวกเหมือนกับจำพวกที่สามารถรับซะกาตทั่วไปได้ แต่ที่ดีที่สุดคือจ่ายให้กับคนฟุกอรออ์และมิสกีน (คนยากจนและขัดสน)

    8. เวลาที่สามารถจ่ายซะกาตคือ เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนรอมฎอนจนถึงเช้าวันอีดก่อนละหมาดอีด

    9. ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่สอนให้ประชาชาติมีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะคนที่มีฐานะร่ำรวยจะต้องช่วยเหลือคนที่ยากจน เพื่อให้เกิดความรักใคร่ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน


    ที่มา : หะดีษที่ 34 จากหนังสืออธิบาย 40 หะดีษเดือนรอมฎอน

    www.iqraforum.com/forum2/index.php?topic=395.msg4477#msg4477

    ฟัตวา การจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยเงิน

    ถาม : สามารถจ่ายซะกาตฟิฏรฺเป็นเงินแทนอาหารได้หรือไม่ เนื่องจากความจำเป็นของผู้คนปัจจุบันนั้นต้องการเงินมากกว่าอาหาร ?

    ตอบ : อัลหัมดุลิลลาฮฺ ขอเศาะละวาตและสลามจงประสบแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ..

    การจ่ายเงินเป็นซะกาตฟิฏรฺนั้น มีความเห็นขัดแย้งกันในหมู่อุละมาอ์แบ่งเป็นสองทัศนะ ดังนี้ :

    หนึ่ง ไม่อนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏรฺเป็นเงิน เป็นความเห็นของอิมามมัซฮับทั้งสาม คือ อิมาม มาลิก, อิมาม อัช-ชาฟิอีย์ และอิมาม อะห์มัด และเป็นความเห็นของมัซฮับซอฮิรีย์อีกด้วยเช่นกัน ทัศนะนี้ยึดหลักฐานที่เป็นหะดีษจากอับดุลลอฮฺ บิน อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ที่มีปรากฏในบันทึกของอัล-บุคอรีย์และมุสลิมว่า

    فَرَضَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمْ زَكَاةَ الفِطْرِ صَاعًا مِنْ تَمْرٍ أَو صَاعًا مِنْ بُرٍّ أَو صَاعًا مِنْ شَعِيْرٍ (وفي رواية : أَوْ صَاعاً مِنْ أَقِطٍ) عَلَى الصَّغِيْرِ وَالكَبِيْرِ مِنَ المُسْلِمِيْنَ.

    ความว่า “ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กำหนดบัญญัติให้ออกซะกาตฟิฏเราะฮฺหนึ่งศออฺ(กันตัง)ด้วยลูกอินทผลัม หรือหนึ่งศออฺ(กันตัง)ด้วยแป้งสาลีละเอียด หรือหนึ่งศออฺ(กันตัง)ด้วยแป้งสาลีหยาบ (ในรายงานหนึ่งระบุว่า หรือหนึ่งศออฺ(กันตัง)ด้วยนมแข็ง) เหนือมุสลิมทั้งคนแก่และเด็ก”

    พวกเขาวิเคราะห์หะดีษนี้ว่า ถ้าหากซะกาตฟิฏรฺสามารถจ่ายด้วยเงินได้ แน่นอนท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ย่อมต้องกล่าวถึงในหะดีษด้วย เพราะไม่ถูกต้องถ้าหากจะละเลยไม่อธิบายบทบัญญัติโดยปล่อยให้ล่าช้าออกไปจากเวลาที่จำเป็นต้องอธิบาย

    และเพราะมีปรากฏในรายงานอื่นว่า

    «أَغْنُوهُمْ فِيْ هَذَا الْيَوْمِ»

    ความว่า "จงให้ความร่ำรวยแก่พวกเขา(คนยากจน)ในวันนี้"

    อุละมาอ์ในทัศนะนี้กล่าวว่า ความร่ำรวยของคนยากจนในวันอีดก็คือ การที่พวกเขามีสิ่งที่จะใช้รับประทาน เพื่อจะได้ไม่จำเป็นต้องเที่ยวขออาหารจากคนอื่นในวันอีด

    ความเห็นที่สอง อนุญาตให้จ่ายค่าเงิน (อาจจะเป็นตัวเงินจริง หรือสิ่งอื่นที่มีค่าเป็นเงิน) เป็นซะกาตฟิฏรฺได้ เป็นทัศนะของอิมาม อบู หะนีฟะฮฺและพรรคพวกของท่าน และยังเป็นทัศนะของอุละมาอ์ตาบิอีนเช่น สุฟยาน อัษ-เษารีย์, อัล-หะสัน อัล-บัศรีย์, เคาะลีฟะฮฺ อุมัร บิน อับดุลอะซีซ และยังมีรายงานเล่าถึงเศาะหาบะฮฺบางท่านเช่น มุอาวิยะฮฺ บิน อบี สุฟยาน เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ซึ่งได้กล่าวว่า "ฉันเห็นว่าข้าวสาลีของชาวเมืองชาม(เมืองแถบซีเรียและปาเลสไตน์)สองมุดด์(ครึ่งหนึ่งของศออฺ) เท่ากับอินทผลัมหนึ่งศออฺ"

    อัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ กล่าวว่า "ถือว่าไม่เป็นไร ถ้าหากจะให้เงินดิรฮัมในการจ่ายซะกาตฟิฏรฺ"

    เคาะลีฟะฮฺ อุมัร บิน อับดุลอะซีซ ได้ส่งสาสน์ไปยังผู้ว่าการของท่านที่เมืองบัศเราะฮฺว่า "ให้เอา(ซะกาตฟิฏรฺ)จากคนที่ติดหนี้ จาก(เงินช่วยเหลือของรัฐ)ที่ต้องให้แก่พวกเขาคนละครึ่งดิรฮัม"

    อิบนุ มุลซิร ได้กล่าวในหนังสือ อัล-เอาสัฏ ว่า แท้จริงแล้วบรรดาเศาะหาบะฮฺได้อนุญาตให้จ่ายซะกาต(ฟิฏรฺ)ครึ่งศออฺด้วยข้าวสาลี เพราะพวกเขาเห็นว่ามันเท่ากับค่าของอินทผลัมหรือแป้งหนึ่งศออฺ

    จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงเห็นได้ชัดว่า ความเห็นขัดแย้งในประเด็นนี้มีมานานแล้ว และเห็นว่าในประเด็นนี้ก็มีการเปิดกว้าง ฉะนั้นในกรณีที่คนยากจนมีความต้องการอาหารในวันอีดก็จ่ายด้วยสิ่งของต่างๆ ที่ระบุในหะดีษ และอนุญาตให้ออกเป็นค่าเงินได้ในกรณีที่เงินมีประโยชน์มากกว่าแก่คนยากจน(ผู้รับซะกาต) ตามที่เราพบเห็นจริงในหลายๆ ประเทศในปัจจุบัน

    ส่วนหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวความว่า "จงให้ความร่ำรวยแก่พวกเขา(คนยากจน)ในวันนี้" นั้น น่าจะสนับสนุนทัศนะนี้(ทัศนะที่สอง)ด้วยซ้ำ เพราะความต้องการของคนยากจนในปัจจุบันนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะอาหารอย่างเดียวเท่านั้น ทว่ายังต้องการสิ่งอื่นเช่นเสื้อผ้า และอื่นๆ ด้วย

    สาเหตุที่มีการระบุสิ่งของต่างๆ ในหะดีษนั้น น่าจะเป็นเพราะในสมัยก่อนนั้น ความต้องการอาหารและเครื่องดื่มนั้นเป็นเรื่องจำเป็นกว่า และเงินก็มีไม่มากด้วย เพราะคนสมัยก่อนจะจับจ่ายด้วยการแลกสิ่งของ และหากเป็นเช่นนั้นบทบัญญัติที่ว่าจึงเกี่ยวข้องกับสาเหตุ(อิลละฮฺ)ว่ายังมีอยู่หรือไม่(ตามสภาพปัจจุบัน) เพราะฉะนั้นจึงอนุญาตให้จ่ายเงินเป็นซะกาตฟิฏรฺได้ เนื่องจากเห็นได้ชัดว่าคนยากคนจนในสมัยปัจจุบันมีความจำเป็นและต้องการมันจริงๆ .. วัลลอฮฺ อะอฺลัม

    คำตอบโดย : ศ.ดร.สุอูด บิน อับดุลลอฮฺ อัล-ฟุนัยสาน

    อดีตคณบดีคณะชะรีอะฮฺ มหาวิทยาลัยอิสลาม อิมามมุหัมมัด บิน สุอูด กรุงริยาด

    ที่มา : http://islamtoday.net/questions/show_question_content.cfm?id=114305