การละหมาดของบุคคลที่ได้รับการผ่อนผัน
บทความนี้ถูกแปลเป็นภาษา
หมวดหมู่
Full Description
การละหมาดของบุคคลที่ได้รับการผ่อนผัน
﴿صلاة أهل الأعذار﴾
] ไทย – Thai – تايلاندي [
มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์
แปลโดย : ดานียา เจะสนิ
ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์
2010 - 1431
﴿صلاة أهل الأعذار﴾
« باللغة التايلاندية »
الشيخ محمد بن إبراهيم التويجري
ترجمة: دانيال جيء سنيك
مراجعة: صافي عثمان
المصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي
2010 - 1431
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
14. การละหมาดของบุคคลที่ได้รับการผ่อนผัน
บุคคลที่ได้รับการผ่อนผัน ในที่นี้ คือ ผู้ป่วย ผู้เดินทาง ผู้ที่กลัวบางอย่างซึ่งไม่สามารถที่ละหมาดในลักษณะปรกติทั่วไปได้ ทั้งนี้ด้วยความโปรดปรานของอัลลอฮฺ พระองค์ได้ให้ความสะดวกต่อพวกเขาเหล่านั้น เพื่อขจัดความลำบากออกจากพวกเขาโดยที่พวกเขายังคงมีโอกาสตักตวงผลบุญอยู่ อัลลอฮฺจึงบัญญัติให้พวกเขาละหมาดเท่าความสามารถที่พวกเขาจะทำได้ บนพื้นฐานแบบอย่างที่มีอยู่ในสุนนะฮฺ ดังต่อไปนี้
1- การละหมาดของผู้ป่วย
ลักษณะการละหมาดของผู้ป่วย
หนึ่ง สำหรับผู้ป่วยนั้นเขาจำเป็นต้องละหมาดฟัรฎูในท่ายืนในส่วนที่ต้องยืน แต่หากเขาไม่สามารถยืนได้ ก็อนุโลมให้เขาละหมาดในท่านั่งขัดสมาธิหรือในท่าตะชะฮฺฮุด(นั่งพับเพียบ)โดยโค้งหลังของเขาในขณะรุกูอฺและสุญูดตามสภาพ หากเขาไม่สามารถทำลักษณะดังกล่าวได้ก็ให้เขารุกูอฺและสุญูดด้วยการทำสัญญาณด้วยศรีษะของเขา หากเขาไม่สามารถละหมาดในท่านั่งดังกล่าวได้ ก็ให้ละหมาดในท่านอนตะแคงขวา หันใบหน้าไปทางกิบละฮฺ และหากลำบากที่จะทำเช่นนั้น ก็ให้นอนตะแคงซ้าย หากไม่สามารถอีกก็ให้ละหมาดในท่านอนหงายโดยให้ยื่นสองขามาทางกิบละฮฺหากสะดวกที่จะทำเช่นนั้น หากไม่สะดวกก็ให้ละหมาดตามสภาพที่เขาทำได้โดยให้สัญญานด้วยศรีษะของเขาไปยังหน้าอกของเขาหากจะรุกูอฺและสุญูด ซึ่งการสุญูดนั้นให้ทำสัญญาณหรือก้มต่ำกว่ารุกูอฺ ดังนั้นจึงถือว่าผู้ป่วยนั้นยังคงต้องละหมาดอยู่ตราบใดที่เขายังมีสติ เพียงแต่อนุโลมให้เขาละหมาดตามสภาพที่เขาจะทำได้ตามที่มีรายงานมาจากตัวบทหลักฐาน
สอง ผู้ป่วยนั้นเหมือนกับคนอื่นๆ ซึ่งในการละหมาดแต่ละครั้งเขาจำเป็นต้องหันหน้าไปสู่กิบละฮฺ แต่หากเขาไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ เขาก็สามารถที่ละหมาดตามสภาพที่เขาทำได้โดยหันหน้าไปทางไหนก็แล้วแต่เขาสะดวก การละหมาดของผู้ป่วยจะใช้ไม่ได้หากละหมาดด้วยการให้สัญญานด้วยเปลือกตาหรือนิ้วมือของเขา แต่การละหมาดของเขาจะใช้ได้ด้วยลักษณะที่มีรายงานมาในตัวบทหลักฐาน
1- อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
(ﮧ ﮨ ﮩ ﮪ ﮫ ﮬ ﮭ ﮮ ﮯ ﮰ ﮱ ﯓ ﯔ ﯕ ﯖ ﯗ ﯘ ﯙ) [التغابن/ 16]
ความว่า “ดังนั้นจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิดเท่าที่พวกเจ้ามีความสามารถ และจงเชื่อฟังและปฏิบัติตามและบริจาคเถิด เพราะเป็นการดียิ่งสำหรับพวกเจ้าและผู้ใดถูกปกป้องให้พ้นจากความตระหนี่แห่งจิตใจของเขา ชนเหล่านั้นคือผู้ประสบความสำเร็จ” (อัต-ตะฆอบุน : 16)
2- มีรายงานจากท่านอิมรอน อิบนุ อัล-หุศ็อยนฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่าฉันเป็นโรคริดสีดวงทวาร ฉันถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่าฉันจะละหมาดอย่างไร? ท่านก็ตอบฉันว่า
«صَلِّ قَائِماً، فَإنْ لَـمْ تَسْتَطِعْ فَقَاعِداً، فَإنْ لَـمْ تَسْتَطِعْ فَعَلَى جَنْبٍ»
ความว่า “ท่านจงละหมาดในท่ายืน หากไม่สามารถในท่ายืน ท่านจงละหมาดในท่านั่ง หากไม่สามารถในท่านั่ง ท่านจงละหมาดในท่านอนตะแคง” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1117)
3- มีอีกรายงานจากท่านอิมรอน อิบนุ อัล-หุศ็อยนฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ซึ่งเขาเป็นโรคริดสีดวงทวารอยู่ เขากล่าวว่า ฉันถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เกี่ยวกับการที่คนคนหนึ่งจะละหมาดในท่านั่งท่าน ก็ตอบฉันว่า
«إنْ صَلَّى قَائِماً فَهُوَ أَفْضَلُ، وَمَنْ صَلَّى قَاعِداً فَلَـهُ نِصْفُ أَجْرِ القَائِمِ، وَمَنْ صَلَّى نَائِماً فَلَـهُ نِصْفُ أَجْرِ القَاعِدِ»
ความว่า “หากเขาจะละหมาดในท่ายืนนั้นดีกว่า หากผู้ใดละหมาดในท่านั่ง เขาจะได้ผลบุญลดลงมาครึ่งหนึ่งจากผลบุญของผู้ที่ละหมาดในท่ายืน และหากผู้ใดละหมาดในท่านอน เขาจะได้ผลบุญลดลงมาครึ่งหนึ่งจากผลบุญของผู้ที่ละหมาดในท่านั่ง” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1115(
การทำความสะอาดของผู้ป่วย
ก่อนการละหมาดวาญิบสำหรับผู้ป่วยอาบน้ำละหมาดด้วยน้ำ แต่หากไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ก็ให้เขาทำการตะยัมมุม(การใช้ดินฝุ่นแทนน้ำ) และหากไม่สามารถตะยัมมุมได้ การทำความสะอาดของผู้ป่วยก็เป็นอันตกไป เขาสามารถละหมาดตามสภาพที่เขาเป็นอยู่ได้เลย
หุก่มต่างๆ ที่เกี่ยวกับการละหมาดของผู้ป่วย
1- เมื่อผู้ป่วยได้ละหมาดในท่านั่งแล้วหลังจากนั้นเขาสามารถที่จะยืนได้ หรือละหมาดในท่านอนอยู่แล้วเขาก็สามารถที่จะนั่งได้ในขณะละหมาด ก็ให้เขาเปลี่ยนไปปฏิบัติในสิ่งที่เขาสามารถทำได้เหมือนเดิม เพราะนั่นคือสิ่งที่วาญิบสำหรับเขาแต่เดิมแล้ว
2- อนุญาตให้ผู้ป่วยละหมาดในท่านอนได้หากเป็นไปเพื่อการรักษาตามคำยืนยันของแพทย์ที่เชื่อถือได้ ถึงแม้ว่าเขาสามารถจะละหมาดในท่ายืนได้ก็ตาม
3- หากผู้ป่วยสามารถที่จะละหมาดยืนและนั่งได้แต่ไม่สามารถรุกูอฺและสุญูดได้ ให้เขาละหมาดในท่ายืนในอิริยาบทที่ต้องยืน และให้รุกูอฺด้วยการให้สัญญานก้มหัวในขณะที่เขายืนอยู่ และให้นั่งละหมาดในอิริยาบทที่ต้องนั่งและสุญูดด้วยการให้สัญญานก้มหัวในขณะที่เขานั่งอยู่
4- ผู้ใดที่ไม่สามารถลงสุญูดกับพื้นได้ ให้เขารุกูอฺและสุญูดในท่านั่ง โดยท่าก้มสุญูดให้ต่ำกว่าท่าก้มรุกูอฺ และวางมือทั้งสองบนหัวเข่าทั้งสอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องรองหรือยกพื้นให้สูงจนถึงหน้าผากของเขาแต่อย่างใด ไม่ว่าจะใช้หมอนหรือสิ่งอื่นๆ
เมื่อใดบ้างที่อนุญาตให้ผู้ป่วยละหมาดควบรวมได้
หากผู้ป่วยประสบความลำบากหรือไม่สามารถที่จะละหมาดในแต่ละครั้งในเวลาที่กำหนดได้ เขาสามารถที่จะละหมาดควบรวมระหว่างซุฮฺริกับอัศฺริในเวลาหนึ่งเวลาใดของสองเวลาละหมาดนี้ได้ และเขาสามารถที่จะละหมาดรวมระหว่างมัฆฺริบกับอิชาอ์ในเวลาหนึ่งเวลาใดของสองเวลาละหมาดนี้ได้เช่นกัน
- ความลำบากในการละหมาดนั้น คือสิ่งที่อาจทำให้การคุชูอฺในละหมาดหมดไป การคุชูอฺ ก็คือการทำใจให้อยู่กับเนื้อกับตัวและการสงบนิ่งมีสมาธิในขณะละหมาด
ผู้ป่วยจะละหมาดที่ไหน?
สำหรับผู้ป่วยที่สามารถไปมัสญิดได้ เขาจำเป็นต้องไปละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิด และให้ละหมาดยืนหากเขาสามารถยืนได้ หรือถ้ายืนไม่ได้ก็ให้เขาละหมาดพร้อมญะมาอะฮฺตามสภาพเท่าที่เขาสามารถจะทำได้
แต่หากไม่สามารถไปมัสญิดได้ให้ละหมาดญะมาอะฮฺในสถานที่ที่เขาพักอยู่ หากไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ให้เขาละหมาดคนเดียวตามสภาพของเขา
ผลบุญที่ถูกกำหนดไว้จากการงานอิบาดะฮฺสำหรับผู้ป่วยและผู้เดินทาง
อัลลอฮฺจะบันทึกผลบุญจากการงานอิบาดะฮฺสำหรับผู้ป่วยและผู้เดินทางเหมือนกับที่พระองค์ได้บันทึกไว้สำหรับผู้ป่วยคนนั้นในขณะที่เขามีสุขภาพดีและสำหรับผู้เดินทางคนนั้นในขณะที่เขาไม่ได้เดินทาง และยังจะมีการให้อภัยโทษ ลบล้างบาปสำหรับผู้ป่วยด้วย
มีรายงานจากท่านอบู มูซา เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«إذَا مَرِضَ العَبْدُ أَوْ سَافَرَ، كُتِبَ لَـهُ مِثْلُ مَا كَانَ يَـعْمَلُ مُقِيْـماً صَحِيحاً»
ความว่า “เมื่อบ่าวคนหนึ่งป่วยหรือเดินทาง อัลลอฮฺจะบันทึกผลบุญจากการงานอิบาดะฮฺไว้สำหรับผู้ป่วยและผู้เดินทางเหมือนกับที่ได้เคยบันทึกไว้ในขณะที่เขามีสุขภาพดีและในขณะที่เขาไม่ได้เดินทาง” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 2996)
2- การละหมาดของผู้เดินทาง
การเดินทาง คือการออกไปจากถิ่นที่อยู่อาศัย
ส่วนหนึ่งของคุณค่าแห่งอิสลามก็คือการบัญญัติให้มีการย่อและควบรวมละหมาดได้ในเวลาเดินทาง เพราะการเดินทางนั้น ปรกติแล้วจะนำมาซึ่งความลำบาก และอิสลามเป็นศาสนาที่มีแต่ความเมตตาปรานี และสะดวกง่ายดาย
มีรายงานจากท่านยะอฺลา อิบนุ อุมัยยะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ฉันได้อ่านอายะฮฺแก่ท่านอุมัรฺว่า
(ﰁ ﰂ ﰃ ﰄ ﰅ ﰆ ﰇ ﰈ ﰉ ﰊ ﰋ ﰌ ﰍ ﰎ) [النساء/101]
ความว่า “และเมื่อพวกเจ้าเดินทางไปในพื้นแผ่นดิน ก็ไม่มีบาปใดๆ แก่พวกเจ้าในการที่จะลดจำนวนร็อกอะฮฺการละหมาด หากพวกเจ้ากลัวว่าบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาจะข่มเหงรังแกพวกเจ้า” (อัน-นิสาอ์ : 101)
ซึ่งความจริงมนุษย์ทุกคนได้ศรัทธาแล้ว ท่านอุมัรฺจึงกล่าวว่า ฉันก็เคยสงสัยดังที่ท่านสงสัยนี้แหละ แล้วฉันก็ไปถามเราะสูลุลลอฮฺถึงข้อสงสัยดังกล่าว ท่านก็ตอบว่า
«صَدَقَةٌ تَصَدَّقَ الله بِـهَا عَلَيْكُمْ، فَاقْبَلُوا صَدَقَتَـهُ»
ความว่า “มันเป็นเศาะดะเกาะฮฺที่อัลลอฮฺเศาะดะเกาะฮฺให้แก่พวกท่าน ฉะนั้นพวกจงรับเศาะดะเกาะฮฺดังกล่าวเถิด” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 686)
หุก่มการย่อ(ก็อศฺร์)และการควบรวม(ญัมอฺ)ละหมาด
1- การย่อละหมาด(ก็อศฺร์)ในขณะเดินทางนั้นเป็นสุนนะฮฺที่ย้ำให้ปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นในเวลาปรกติหรือในเวลาหวาดกลัว สำหรับการก็อศฺร์นั้นหมายถึงการลดหย่อนละหมาดที่มีสี่ร็อกอะฮฺ(ซุฮฺริ อัศฺริ อิชาอ์)ให้เป็นสองร็อกอะฮฺ และไม่อนุญาตให้กระทำได้เว้นแต่ในเวลาเดินทางเท่านั้น ส่วนละหมาดมัฆฺริบและศุบฺหินั้นจะทำการก็อศฺร์ไม่ได้เด็ดขาด
ส่วนการควบรวมละหมาด(ญัมอฺ)นั้นสุนัตทั้งในขณะที่ไม่ได้เดินทางและในขณะเดินทาง หากมีเหตุผลที่ทำได้ ฉะนั้นให้ญัมฺอุรวมละหมาดซุฮฺริกับอัศริได้ และรวมละหมาดมัฆฺริบกับอิชาอ์ในเวลาของแต่ละเวลาละหมาดได้
2- เมื่อมุสลิมมีการเดินทางไม่ว่าเดินเท้าหรือด้วยพาหนะ ทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ สุนัตให้เขาย่อละหมาดสี่ร็อกอะฮฺให้เป็นสองร็อกอะฮฺ และสุนัตให้ควบรวมสองเวลาละหมาดให้เป็นหนึ่งในเวลาหนึ่งเวลาใดของเวลาละหมาดทั้งสอง หากเขาสะดวกจะทำเช่นนั้นจนกว่าจะสิ้นสุดการเดินทาง
มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า
الصَّلاةُ أَوَّلُ مَا فُرِضَتْ رَكْعَتَيْنِ فَأُقِرَّتْ صَلاةُ السَّفَرِ وَأُتِـمَّتْ صَلاةُ الحَضَر
ความว่า “การละหมาดนั้น เดิมทีถูกบัญญัติไว้เพียงสองร็อกอะฮฺ หลังจากนั้น ก็มีบัญญัติให้คงไว้ซึ่งสภาพเดิม(สองร็อกอะฮฺ)ของละหมาดในขณะเดินทาง และได้เพิ่มจำนวนร็อกอะฮฺในละหมาดขณะที่ไม่ได้เดินทาง” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ : 1090 สำนวนนี้เป็นของอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม เลขที่: 685)
- ทุกๆ การกระทำที่เรียกว่าเป็นการเดินทางตามความเข้าใจที่ถือปฏิบัติของคนทั่วไป(อุรฺฟ์) ก็จะถือใช้ตามหุก่มต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทาง อันได้แก่ การก็อศฺร์ การญัมอฺ การละศีลอด การเช็ดบนรองเท้าคุฟฺ(หรือถุงเท้า) เป็นต้น
ผู้เดินทางจะเริ่มต้นใช้หุก่มต่างๆ เกี่ยวกับการเดินทางได้เมื่อไร?
ผู้เดินทางจะเริ่มทำการก็อศฺร์และญัมอฺได้ก็ต่อเมื่อเขาออกจากเขตเคหะสถานของหมู่บ้านของเขาแล้ว ไม่มีกำหนดระยะห่างของการเดินทางที่แน่นอน ที่แน่นอนคือจะใช้จารีตประเพณีเป็นตัวกำหนด ฉะนั้นตราบใดที่เขาอยู่ในระหว่างการเดินทางและไม่ได้ตั้งเจตนาชี้ชัดว่าเขาจะอยู่ที่นั่นตลอดไป เขาก็คือผู้เดินทางที่สามารถปฏิบัติใช้หุก่มต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทางได้ จนกว่าเขาจะกลับไปสู่ภูมิลำเนาของเขา
- การย่อละหมาดในขณะเดินทางนั้นเป็นสุนนะฮฺ และสามารถย่อละหมาดได้ในทุกๆ การกระทำที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเดินทาง แต่หากจะละหมาดเต็มการละหมาดนั้นก็ถูกต้องใช้ได้
ลักษณะการละหมาดของผู้เดินทางที่ตามหลังคนที่ไม่ได้เดินทาง
1- เมื่อผู้เดินทางได้ละหมาดตามหลังคนที่ไม่ได้เดินทาง เขาต้องละหมาดเต็มตามอิมาม แต่หากคนที่ไม่ได้เดินทางละหมาดตามหลังผู้ที่เดินทาง ตามสุนนนะฮฺแล้วผู้เดินทางที่เป็นอิมามให้ย่อละหมาด ส่วนมะอ์มูมที่ไม่ได้เดินทางให้เพิ่มจำนวนร็อกะฮฺให้เต็มหลังจากอิมามให้สะลามแล้ว
2- ตามสุนนะฮฺแล้วหากผู้ที่เดินทางเป็นอิมามละหมาดนำคนที่ไม่ได้เดินทางในพื้นที่ของพวกเขา ให้ผู้เป็นอิมามละหมาดเพียงสองร็อกอะฮฺ หลังจากนั้นให้เขากล่าวว่า พวกท่านจงเพิ่มการละหมาดของพวกท่านให้สมบูรณ์ แท้จริงพวกเราคือหมู่ชนที่เดินทางอยู่
หุก่มการละหมาดสุนัตในระหว่างเดินทาง
ตามสุนนะฮฺแล้วให้งดการละหมาดสุนัตเราะวาติบในระหว่างเดินทาง ยกเว้นละหมาดตะฮัจญุด วิติรฺ และสุนัตก่อนศุบหิ
ส่วนสุนัตมุฏลัก(การละหมาดสุนัตโดยทั่วไปที่ปราศจากมูลเหตุเฉพาะ)นั้นได้บัญญัติให้ทำทั้งในเวลาเดินทางและไม่เดินทาง เช่นเดียวกันกับการละหมาดสุนัตที่มีสาเหตุ เช่นสุนัตวุฎูอ์(หลังอาบน้ำละหมาด) สุนัตเฏาะวาฟ ตะหิยะตุลมัสญิด ละหมาดฎุหา เป็นต้น
- การกล่าวซิกิรหลังละหมาดห้าเวลานั้นเป็นสิ่งสุนัตสำหรับชายและหญิง ไม่ว่าจะเดินทางหรือไม่เดินทาง
หุก่มสำหรับผู้ที่เดินทางตลอดทั้งปี
กัปตันเครื่องบิน เรือ คนขับรถยนต์ รถไฟ และผู้ที่เดินทางตลอดเวลาอนุญาตให้เขาใช้สิทธิ์ผ่อนปรนได้ไม่ว่าจะเป็นการย่อละหมาด การควบรวมละหมาด การละศีอลด การเช็ดบนรองเท้าคุฟฺ
สิ่งที่ผู้เดินทางต้องทำเมื่อกลับภูมิลำเนาของเขา
สุนัตสำหรับผู้เดินเมื่อกลับสู่ภูมิลำเนาให้แวะที่มัสญิดก่อนเป็นลำดับแรก แล้วละหมาดที่มัสญิดสองร็อกอะฮฺ
หุก่มต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทาง
1- สิ่งที่ใช้ชี้ขาดในเรื่องการย่อละหมาดคือการยึดเอาสถานที่เป็นหลัก ไม่ใช่การยึดเวลาเป็นหลัก ฉะนั้นเมื่อผู้เดินทางลืมว่าตัวเองยังไม่ได้ละหมาดเวลาใดเวลาหนึ่งเมื่อตอนที่อยู่บ้าน แล้วนึกขึ้นได้ในขณะที่ตัวเองเดินทางอยู่ก็ให้เขาละหมาดชดเวลาที่เขาลืมนั้นด้วยการย่อได้ และหากลืมว่าตัวเองยังไม่ได้ละหมาดเวลาใดเวลาหนึ่งตอนที่เดินทาง แล้วนึกขึ้นได้เมื่อกลับถึงบ้านแล้วก็ให้เขาละหมาดชดเวลานั้นๆ ให้เต็มจำนวนร็อกอะฮฺโดยไม่ย่อละหมาด
2- เมื่อผู้เดินทางจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในที่หนึ่งแต่ไม่ได้มีเจตนาอยู่อย่างถาวร หรือคิดที่จะอยู่จนกว่าเสร็จธุระแต่ไม่ได้มีเจตนาจะอยู่อย่างถาวรให้เขาทำการก็อศฺร์ได้ตลอดไม่ว่าจะใช้เวลานานเท่าใดก็ตาม
3- เมื่อเข้าเวลาละหมาดแล้วเขาก็เริ่มออกเดินทาง ให้เขาทำการย่อและควบรวมในระหว่างทางได้ แต่หากถึงเวลาละหมาดในขณะที่เขากำลังเดินทางอยู่ จากนั้นเขาได้กลับถึงภูมิลำเนา ก็ให้เขาละหมาดเวลานั้นเต็มจำนวนร็อกอะฮฺ จะควบรวมและย่อไม่ได้อีก
ลักษณะการละหมาดบนเครื่องบิน
หากอยู่บนเครื่องบินและไม่มีสถานที่ที่จะละหมาด ให้เขาละหมาดตรงที่นั่งของเขาในท่ายืนหันหน้าไปทางกิบละฮฺ ให้สัญญานในท่ารุกูอฺเท่าที่จะทำได้ แล้วนั่งบนที่นั่งแล้วให้ทำสัญญานท่าสุญูดเท่าที่เขาสามารถทำได้
หุก่มของผู้เดินเมื่อเดินทางถึงมักกะฮฺ
ผู้ใดที่เดินทางไปมักกะฮฺหรือที่อื่นๆ ให้เขาละหมาดเต็มตามอิมาม แต่ถ้าไม่ทันละหมาดพร้อมอิมาม สุนัตให้เขาละหมาดก็อศฺร์
และผู้ใดที่เดินทางผ่านหมู่บ้านหนึ่งโดยได้ยินเสียงอะซานหรืออิกอมะฮฺและเขายังไม่ได้ละหมาด หากเขาประสงค์ที่จะหยุดละหมาดญะมาอะฮฺพร้อมชาวบ้านเขาก็หยุดได้ และหากประสงค์ที่จะผ่านไปละหมาดที่อื่น เขาก็เดินทางผ่านไปได้เช่นกัน
หุก่มการอะซานและอิกอมะฮฺในขณะเดินทาง
ผู้ใดประสงค์จะทำการควบรวมระหว่างละหมาดซุฮฺริกับอัศริ หรือมัฆฺริบกับอิชาอ์ ให้เขาอะซานแล้วอิกอมะฮฺหลังจากนั้นจึงละหมาดฟัรฎูแรกให้เสร็จ แล้วให้อิกอมะฮฺอีกครั้งหลังจากนั้นจึงละหมาดฟัรฎูที่สองต่อไป โดยให้ละหมาดเป็นญะมาอะฮฺทุกคน และหากมีเหตุอันสมควรควบรวมได้ เช่น หนาวจัด ลมแรง หรือฝนตกหนักให้ละหมาดร่วมกันในที่พักอาศัยของพวกเขาได้
ลักษณะการควบรวมและย่อละหมาดในระหว่างเดินทาง
สุนัตสำหรับผู้เดินทางทำการควบรวมละหมาดซุฮฺริกับอัศริ และมัฆฺริบกับอิชาอ์เมื่อมีเหตุผลที่อนุโลมให้ทำ ในเวลาหนึ่งเวลาใดของเวลาละหมาดทั้งสองตามลำดับ หรือในเวลากลางระหว่างทั้งสอง ซึ่งหากเป็นเวลาหยุดพักให้กระทำในเวลาที่สะดวกที่สุด
และหากกำลังเดินทางอยู่นั้นตามสุนนะฮฺแล้ว หากตะวันตกดินก่อนที่เขาจะออกเดินทางให้เขาทำการควบรวมระหว่างมัฆฺริบกับอิชาอ์ในเวลามัฆฺริบ(ญัมอฺ ตักดีม)
หากเขาออกเดินทางก่อนตะวันตกดินให้เขาทำการควบรวมระหว่างมัฆฺริบกับอิชาอ์ในเวลาของอิชาอ์(ญัมอฺ ตะอ์คีรฺ)
และเมื่อตะวันคล้อยก่อนที่เขาจะเดินทางให้เขาทำการควบรวมระหว่างซุฮฺริกับอัศฺริในเวลาของซุฮฺริ(ญัมอฺ ตักดีม)
หากเขาออกเดินทางก่อนตะวันคล้อยให้เขาทำการควบรวมระหว่างซุฮฺริกับอัศฺริในเวลาของอัศฺริ(ญัมอฺ ตะอ์คีรฺ)
1- มีรายงานจากท่านอิบนุ อับบาสเราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า
كَانَ رَسُولُ الله صلى الله عليه وسلم يَـجْـمَعُ بَيْنَ صَلاةِ الظُّهْرِ وَالعَصْرِ إذَا كَانَ عَلَى ظَهْرِ سَيْرٍ، وَيَـجْـمَعُ بَيْنَ المَغْرِبِ وَالعِشَاءِ
ความว่า “ปรากฏว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ทำการควบรวมละหมาดซุฮฺริกับอัศฺริหากท่านออกเดินทางในเวลาซุฮฺริ และได้ทำการควบรวมละหมาดมัฆฺริบกับอิชาอ์” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1107)
2- มีรายงานจากท่านอะนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า
كَانَ رَسُولُ الله صلى الله عليه وسلم إذَا ارْتَـحَلَ قَبْلَ أَنْ تَزِيغَ الشَّمْسُ أَخَّرَ الظُّهْرَ إلَى وَقْتِ العَصْرِ، ثُمَّ نَزَلَ فَجَـمَعَ بَيْنَـهُـمَا، فَإذَا زَاغَتِ الشَّمْسُ قَبْلَ أَنْ يَرْتَـحِلَ صَلَّى الظُّهْرَ، ثُمّ رَكِبَ
ความว่า “ปรากฏว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อท่านออกเดินทางก่อนตะวันคล้อยท่านผลัดละหมาดซุฮฺริจนถึงเวลาอัศฺริ จากนั้นท่านก็จะหยุดพักและทำการควบรวมระหว่างละหมาดทั้งสอง และเมื่อตะวันคล้อยก่อนที่ท่านจะเดินทางท่านจะละหมาดซุฮฺริก่อนแล้วจึงออกเดินทาง” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ : 1112 สำนวนนี้เป็นของอัล-บุคอรีย์และมุสลิม เลขที่: 704)
3- มีรายงานจากท่านมุอาซฺ อิบนุ ญะบัลเราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า
أَنَّ النَّبِيَّ صلى الله عليه وسلم كَانَ فِي غَزْوَةِ تَبُوكَ إِذَا ارْتَـحَلَ قَبْلَ أَنْ تَزِيغَ الشَّمْسُ أَخَّرَ الظُّهْرَ حَتَّى يَجْمَعَهَا إِلَى الْعَصْرِ فَيُصَلِّيَهُمَا جَمِيعًا، وَإِذَا ارْتَـحَلَ بَعْدَ زَيْغِ الشَّمْسِ صَلَّى الظُّهْرَ وَالْعَصْرَ جَمِيعًا ثُمَّ سَارَ، وَكَانَ إِذَا ارْتَـحَلَ قَبْلَ الْمَغْرِبَ أَخَّرَ الْمَغْرِبَ حَتَّى يُصَلِّيَهَا مَعَ الْعِشَاءِـ وَإِذَا ارْتَـحَلَ بَعْدَ الْمَغْرِبِ عَجَّلَ الْعِشَاءَ فَصَلَّاهَا مَعَ الْمَغْرِبِ
ความว่า “ความจริงแล้วในระหว่างสงครามตะบูกปรากฏว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อท่านออกเดินทางก่อนตะวันคล้อยท่านจะผลัดการละหมาดซุฮฺริจนกระทั่งได้ละหมาดรวมกับอัศฺริในเวลาของอัศฺริ แต่เมื่อท่านออกเดินทางหลังจากตะวันคล้อยแล้วท่านจะทำการควบรวมละหมาดซุฮฺริกับอัศฺริในเวลาของซุฮฺริแล้วจึงจะออกเดินทาง และเมื่อท่านออกเดินทางหลังจากเข้าเวลามัฆฺริบแล้วท่านจะทำการควบรวมระหว่างมัฆฺริบกับอิชาอ์ในเวลามัฆฺริบ” (เป็นหะดีษเศาะฮีหฺที่บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข 1220 ซึ่งสำนวนนี้เป็นสำนวนของเขาและบันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 553)
หุก่มการควบรวมและย่อที่อะเราะฟะฮฺและมุซฺดะลิฟะฮฺ
เป็นสิ่งสุนัตในการทำหัจญ์สำหรับผู้ที่พักอยู่ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺให้ทำการย่อและควบรวมระหว่างละหมาดซุฮฺริกับอัศริในเวลาของซุฮฺริ และที่มุซฺดะลิฟะฮฺให้ทำการย่อมและควบรวมระหว่างละหมาดมัฆฺริบกับอิชาอ์ในเวลาอิชาอ์ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ทำเป็นตัวอย่างไว้
หุก่มการละหมาดญะมาอะฮฺในระหว่างเดินทาง
วาญิบสำหรับผู้ที่เดินทางให้ละหมาดญะมาอะฮฺหากเขาสะดวกที่จะทำ หากไม่สะดวกให้ต่างคนต่างทำตามลำพังเท่าที่สามารถทำได้ ฉะนั้นเมื่ออยู่เครื่องบิน เรือ รถไฟหรืออื่นๆ ให้เขาละหมาดในท่ายืน หากไม่สามารถทำเช่นนั้น ให้ละหมาดในท่านั่งและรุกูอฺ สุญูดด้วยการให้สัญญาน ให้เขาละหมาดฟัรฎูโดยหันหน้าไปทางกิบละฮฺ และสุนัตให้อะซานและอิกอมะฮฺถึงแม้จะละหมาดคนดียวก็ตาม
ลักษณะการละหมาดสุนัตบนพาหนะ
สุนัตสำหรับผู้เดินทางให้ละหมาดสุนัตบนพาหนะ และสุนัตให้หันหน้าไปทางกิบละฮฺในระหว่างตักบีเราะตุลอิหฺรอมหากสะดวกที่จะทำ หากไม่สะดวกก็ให้ละหมาดทางทิศที่พาหนะมุ่งหน้าไป ให้ละหมาดในท่ายืนเท่าที่ทำได้ ถ้าทำไม่ได้ให้ละหมาดในท่านั่งโดยในอิริยาบทอื่นๆ ให้ทำสัญญานด้วยศรีษะ
- สุนัตให้เริ่มออกเดินในเวลาเช้าตรู่ และสุนัตให้เป็นวันพฤหัสบดีหากสะดวก ไม่ควรเดินทางคนเดียว และหากเดินทางกันสามคนขึ้นไปให้ตั้งคนหนึ่งคนใดเป็นหัวหน้าคณะในการเดินทาง
หุก่มการควบรวมละหมาดในระหว่างที่ไม่ได้เดินทาง
สุนัตให้ทำการควบรวมละหมาดระหว่างซุฮฺริกับอัศฺริ หรือมัฆฺริบกับอิชาอ์สำหรับผู้ป่วย ซึ่งหากไม่ควบรวมแล้วอาจจะเกิดความลำบากแก่เขา หรือในคืนที่มีฝนตกหนัก หรือเย็นจัด หรือพายุ หรือลมหนาว หรือสำหรับผู้หญิงที่มีเลือดเสีย(มุสตะหาเฎาะฮฺ) ผู้ที่ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ผู้ที่กลัวว่าจะเกิดอันตรายกับตนเอง ครอบครัว หรือทรัพย์สิน เป็นต้น
3- การละหมาดในกรณีหวาดกลัว
ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่เน้นความสะดวกและง่าย เป็นหลัก แต่เนื่องจากคำนึงถึงประโยชน์และความสำคัญยิ่งของการละหมาดห้าเวลา ความเป็นวาญิบของมันจึงไม่อาจตกไปไม่ว่าในกรณีใด ฉะนั้นในขณะที่มุสลิมอยู่ในสนามรบเพื่อญิฮาดและหวาดกลัวต่อการโจมตีของฝ่ายตรงข้าม พวกเขาก็ยังต้องละหมาดในกรณีนี้ด้วยวีธีการที่หลากหลาย และวิธีการที่นิยมแพร่หลายคือ
ลักษณะการละหมาดในกรณีหวาดกลัว
หนึ่ง ในกรณีที่ศัตรูอยู่ทางด้านกิบละฮฺ ก็ให้พวกเขาละหมาดด้วยวิธีการต่อไปนี้
เริ่มต้นด้วยการตักบีรฺของอิมาม แล้วมุสลิมกลุ่มหนึ่งตั้งแถวหน้ากระดานหลังอิมามสองแถวแล้วพวกเขาทั้งหมดทั้งสองแถวก็ดำเนินการละหมาดโดยเริ่มตักบีรฺตามอิมาม แล้วรุกูอฺ แล้วเงยขึ้นจากรุกูอฺ หลังจากนั้นเฉพาะแถวแรกที่ถัดจากอิมามให้ลงสุญูดพร้อมอิมาม เมื่อพวกแถวแรกลุกขึ้นยืน แถวที่สองก็ลงสุญูดต่อ เสร็จแล้วลุกขึ้นยืน แล้วทำการเปลี่ยนแถวโดยผู้ที่อยู่แถวหลังก้าวมาอยู่แถวหน้าและผู้ที่แถวหน้าถอยไปอยู่แถวหลัง แล้วทั้งหมดก็ละหมาดตามอิมามต่อไปในลักษณะที่เหมือนในร็อกอะฮฺแรก จนถึงการเวลาให้สะลาม ก็ให้พวกเขาสะลามตามอิมามพร้อมๆ กันทุกคน
สอง ในกรณีที่ศัตรูไม่ได้อยู่ทางด้านกิบละฮฺก็ให้พวกเขาละหมาดด้วยวิธีการต่อไปนี้
1- เริ่มต้นด้วยการตักบีรฺของอิมาม แล้วมุสลิมกลุ่มก็มาหนึ่งตั้งแถวละหมาดพร้อมอิมาม และมุสลิมอีกกลุ่มยืนประจำการเพื่อคอยระวังทางด้านที่ศัตรูอยู่ ซึ่งเมื่ออิมามนำละหมาดกลุ่มแรกได้หนึ่งร็อกอะฮฺแล้ว อิมามก็หยุดยืนคอย ปล่อยให้บรรดามะอ์มูมแต่ละคนละหมาดต่อโดยลำพังจนเสร็จ แล้วไปเปลี่ยนเวรยืนประจำการกับกลุ่มที่สองต่อ หลังจากนั้นกลุ่มที่สองที่ยังไม่ได้ละหมาดก็ไปตั้งแถวละหมาดหลังอิมาม แล้วอิมามก็เริ่มละหมาดต่อไปพร้อมมะอ์มูมในอีกหนึ่งร็อกอะฮฺที่เหลือจนถึงการนั่งตะชะฮฺฮุด แล้วอิมามก็หยุดนั่งคอย ปล่อยให้มะอ์มูมแต่ละคนละหมาดต่อโดยลำพังอีกหนึ่งร็อกอะฮฺจนกระทั่งนั่งนั่งตะชะฮฺฮุด แล้วอิมามก็ให้สะลามและมะอ์มูมก็ให้สะลามตามอิมามพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ในระหว่างละหมาดอยู่พวกเขาก็มีอาวุธเบาๆ เตรียมอยู่และระวังการจู่โจมของศัตรูอยู่เสมอ
2- หรือให้อิมามนำละหมาดกลุ่มแรกในสองกลุ่มก่อนสองร็อกอะฮฺจนกระทั่งนั่งตะชะฮฺฮุด แล้วอิมามหยุดนั่งคอย ปล่อยมะอ์มูมกลุ่มแรกให้สะลามไปก่อน แล้วให้มะอ์มูมกลุ่มที่สองมาละหมาดพร้อมอิมาม แล้วอิมามก็ละหมาดนำมะอ์มูมกลุ่มที่สองอีกสองร็อกอะฮฺ จนกระทั่งให้สะลาม ซึ่งในรูปแบบนี้อิมามจะละหมาดสี่ร็อกอะฮฺในขณะที่มะอ์มูมแต่ละกลุ่มละหมาดสองร็อกอะฮฺ
3- หรือให้อิมามเริ่มนำละหมาดกลุ่มแรกในสองกลุ่มก่อนสองร็อกอะฮฺจนเสร็จสมบูรณ์จนถึงสะลาม แล้วเริ่มนำละหมาดใหม่กับกลุ่มที่สองร็อกอะฮฺจนเสร็จสมบูรณ์จนถึงสะลามเช่นกัน
4- หรือให้อิมามนำละหมาดแต่ละกลุ่มเพียงหนึ่งร็อกอะฮฺเท่านั้น ซึ่งรูปแบบนี้อิมามละหมาดได้สองร็อกอะฮฺในขณะที่มะอ์มูมแต่ละกลุ่มละหมาดได้ร็อกอะฮฺเดียวโดยไม่ต้องเกาะฎออ์(ชดใช้) เพราะทุกรูปแบบมีรายงานในสุนนะฮฺทั้งสิ้น
สาม ในกรณีที่ฉุกเฉินหวาดกลัวมาก ถึงขั้นปะทะกันแล้วให้พวกเขาละหมาดทั้งๆ ที่เดินหรืออยู่บนพาหนะเพียงร็อกอะฮฺเดียวโดยรุกูอฺและสุญูดด้วยการให้สัญญาน ไม่ว่าจะหันไปทางกิบละฮฺหรือไม่ หากไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ให้ละการละหมาดไว้ก่อน จนกว่าอัลลอฮฺจะให้รู้แพ้ชนะแล้วจึงละหมาด
1- อัลลอฮฺได้กล่าวว่า
(ﭑ ﭒ ﭓ ﭔ ﭕ ﭖ ﭗ ﭘﭙ ﭚ ﭛ ﭜ ﭝ ﭞ ﭟ ﭠ ﭡ ﭢ ﭣ ﭤ ﭥ ﭦ ﭧ ﭨ ﭩ ﭪ) [البقرة/ 238-239].
ความว่า “และพวกเจ้าจงรักษาบรรดาละหมาดไว้ และจงรักษาละหมาดที่อยู่กึ่งกลาง และจงยืนเพื่ออัลลอฮฺโดยนอบน้อม ถ้าพวกเจ้ากลัว ก็จงเดินละหมาดหรือขี่พาหนะ ครั้นเมื่อพวกเจ้าปลอดภัยแล้ว ก็จงรำลึกถึงอัลลอฮฺดังที่พระองค์สอนพวกเจ้าสิ่งซึ่งพวกเจ้าไม่เคยรู้มาก่อน” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 238-239)
2- มีรายงานจากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า
فَرَضَ الله الصَّلاةَ عَلَى لِسَانِ نَبِيِّكُمْ صلى الله عليه وسلم فِي الحَضَرِ أَرْبَـعاً، وَفِي السَّفَرِ رَكْعَتَينِ، وَفِي الخَوْفِ رَكْعَةً
ความว่า “อัลลอฮฺได้บัญญัติไว้ซึ่งการละหมาดด้วยถ้อยคำที่มาจากนบีของท่านในขณะปรกติไม่ได้เดินทางสี่ร็อกอะฮฺ ในขณะเดินทางสองร็อกอะฮฺ และในขณะหวาดกลัวร็อกอะฮฺเดียว” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 687)
- หากเป็นการละหมาดมัฆฺริบซึ่งไม่สามารถจะย่อได้ ให้อิมามนำละหมาดกลุ่มแรกสองร็อกอะฮฺ แล้วนำละหมาดกลุ่มที่สองหนึ่งร็อกอะฮฺหรือกลับกัน