×
ความเป็นพี่น้องร่วมศาสนา บทความถอดเทปจากคุฏบะฮฺของเชคศอลิหฺ บิน เฟาซาน อัล-เฟาซาน กล่าวถึงความสำคัญของการพี่น้องในอิสลามซึ่งแน่นแฟ้นและมั่นคงกว่าการพี่น้องร่วมสายเลือด ท่านได้กล่าวถึงหลักฐานต่างๆ จากอัลกุรอานและสุนนะฮฺที่ระบุถึงความจำเป็นที่มุสลิมต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวและต้องไม่แตกแยก เพราะถ้าหากพวกเขาทำเช่นนั้นได้ก็จะสามารถนำโลกนี้ให้สันติสุขได้เช่นที่บรรดาบรรพบุรุษอิสลามได้เคยนำมาแล้ว ท่านยังได้ยกตัวอย่างต่างๆ ที่เป็นสิ่งพึงระวังในการปฏิสัมพันธ์ที่อาจจะบ่อนทำลายความเป็นพี่น้องกันอีกด้วย

    ความเป็นพี่น้องร่วมศาสนา

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ศอลิหฺ บิน เฟาซาน อัล-เฟาซาน

    แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา

    ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : islamhouse.com

    2013 - 1434

    في الأخوة الدينية

    « باللغة التايلاندية »

    صالح بن فوزان الفوزان

    ترجمة: عصران نيومديشا

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: islamhouse.com

    2013 - 1434

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    ความเป็นพี่น้องร่วมศาสนา

    มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกำหนดให้บรรดาผู้ศรัทธาเป็นพี่น้องกัน โดยภายใต้บริบทของความเป็นพี่น้องนี้ พระองค์ทรงบัญญัติหน้าที่และข้อพึงปฏิบัติระหว่างพวกเขา และทรงห้ามมิให้พูดหรือกระทำการใดๆ ที่เป็นการบั่นทอนทำลายความเป็นพี่น้องร่วมศาสนา ฉันขอสรรเสริญพระองค์ผู้ทรงประทานนิอฺมัตความโปรดปรานอันเหลือคณานับ

    ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใด (ที่ควรคู่แก่การเคารพสักการะ) นอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ เทียบเคียงพระองค์ และขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์ ท่านได้ชี้แจงสิ่งที่มุสลิมจำเป็นต้องปฏิบัติต่อพี่น้องมุสลิมด้วยกัน และได้กำชับให้ยึดมั่นในแนวทางดังกล่าว อันจะนำมาซึ่งผลดีทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ ขออัลลอฮฺทรงเศาะละวาตและสลามแก่ท่าน ตลอดจนบรรดาวงศ์วานและมิตรสหายของท่าน ผู้ซึ่งเป็นตัวอย่างอันงดงามยิ่งของความเป็นพี่น้องอย่างแท้จริง โดยพวกท่านเป็นดั่งเรือนร่างเดียวกัน และเป็นเสมือนอาคารสิ่งปลูกสร้างซึ่งต่างส่วนต่างเสริมความแข็งแกร่งให้แก่กัน

    ท่านทั้งหลาย..

    จงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และจงตอบรับปฏิบัติตามคำสั่งของพระผู้อภิบาลของพวกท่าน อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ وَتَعَاوَنُواْ عَلَى ٱلۡبِرِّ وَٱلتَّقۡوَىٰۖ وَلَا تَعَاوَنُواْ عَلَى ٱلۡإِثۡمِ وَٱلۡعُدۡوَٰنِۚ وَٱتَّقُواْ ٱللَّهَۖ إِنَّ ٱللَّهَ شَدِيدُ ٱلۡعِقَابِ ﴾ [المائ‍دة: ٢]

    ความว่า “และพวกจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และความยำเกรง และจงอย่าช่วยกันในสิ่งที่เป็นบาปและเป็นศัตรูกัน และพึงกลัวเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรุนแรงในการลงโทษ” (อัล-มาอิดะฮฺ: 2)

    และพระองค์ตรัสว่า

    ﴿ وَالْمُؤْمِنُونَ وَالْمُؤْمِنٰتُ بَعْضُهُمْ أَوْلِيَاءُ بَعْضٍ ﴾ [التوبة: 71 ]

    ความว่า “และบรรดามุอ์มินชาย และบรรดามุอ์มินหญิงนั้น บางส่วนของพวกเขาต่างเป็นผู้ช่วยเหลืออีกบางส่วน” (อัตเตาบะฮฺ: 71)

    และพระองค์ตรัสอีกว่า

    ﴿ إِنَّمَا ٱلۡمُؤۡمِنُونَ إِخۡوَةٞ ﴾ [الحجرات: ١٠]

    ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน” (อัล-หุญุรอต: 10)

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    « المُؤْمِنُ لِلْمُؤْمِنِ كَالْبُنْيَانِ يَشُدُّ بَعْضُهُ بَعْضًا » [رواه البخاري برقم 2446 ومسلم برقم 2585]

    ความว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างมุอ์มินผู้ศรัทธานั้น เปรียบได้ดังอาคารที่ต่างส่วนต่างเกื้อหนุนเสริมความแกร่งให้แก่กัน” แล้วท่านก็สอดประสานนิ้วมือเข้าด้วยกัน (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 2446 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2585)

    พี่น้องที่รัก จากตัวบทหลักฐานเหล่านี้เราได้ทราบถึงสิ่งที่มุสลิมพึงปฏิบัติต่อมุสลิมด้วยกัน ทั้งนี้ความเป็นพี่น้องร่วมศาสนานั้นถือเป็นสายสัมพันธ์ที่สำคัญและยิ่งใหญ่กว่าความเป็นพี่น้องร่วมสายเลือด เพราะความเป็นพี่น้องร่วมศาสนาคือสิ่งยึดเหนี่ยวระหว่างมุสลิม แม้ว่าตัวจะอยู่ห่างไกลกันเพียงใดก็ตาม เป็นความสัมพันธ์ฉันพี่น้องที่วางอยู่บนพื้นฐานของการตักเตือนและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พร้อมทั้งกำชับแนะนำให้ยืนหยัดในสิ่งที่เป็นสัจธรรมความถูกต้อง และเป็นความสัมพันธ์ที่ห้ามมิให้มุสลิมคดโกงหลอกลวงหรือทอดทิ้งพี่น้องมุสลิมด้วยกัน ตลอดจนกระทำการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือเกียรติศักดิ์ศรีของพี่น้องมุสลิม

    อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ وَٱلَّذِينَ يُؤۡذُونَ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ وَٱلۡمُؤۡمِنَٰتِ بِغَيۡرِ مَا ٱكۡتَسَبُواْ فَقَدِ ٱحۡتَمَلُواْ بُهۡتَٰنٗا وَإِثۡمٗا مُّبِينٗا ٥٨ ﴾ [الأحزاب : ٥٨]

    ความว่า “และบรรดาผู้กล่าวร้ายแก่บรรดาผู้ศรัทธาชายและบรรดาผู้ศรัทธาหญิงในสิ่งที่พวกเขามิได้กระทำ แน่นอนพวกเขาได้แบกการกล่าวร้ายและบาปอันชัดแจ้งไว้” (อัล-อะหฺซาบ: 58)

    อัลลอฮฺตะอาลาได้ทรงวางแนวทางอันเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยฟูมฟักรักษาความเป็นพี่น้องในอิสลามและขจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง ซึ่งแนวทางที่อัลลอฮฺทรงวางไว้นี้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในสูเราะฮฺอัล-หุญุรอต โดยพระองค์ได้ทรงกำชับให้ตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัด เมื่อได้รับฟังสิ่งที่ไม่ดีเกี่ยวกับบุคคลหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นพี่น้องมุสลิม โดยไม่ปักใจเชื่อข่าวดังกล่าวจนกว่าจะมั่นใจในความถูกต้องน่าเชื่อถือของข้อมูล พระองค์ตรัสว่า

    ﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ إِن جَآءَكُمۡ فَاسِقُۢ بِنَبَإٖ فَتَبَيَّنُوٓاْ أَن تُصِيبُواْ قَوۡمَۢا بِجَهَٰلَةٖ فَتُصۡبِحُواْ عَلَىٰ مَا فَعَلۡتُمۡ نَٰدِمِينَ ٦ ﴾ [الحجرات: ٦]

    ความว่า “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย หากคนชั่วนำข่าวใดๆ มาแจ้งแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จงสอบสวนให้แน่ชัด หาไม่แล้วพวกเจ้าก็จะก่อเคราะห์กรรมแก่พวกหนึ่งโดยไม่รู้ตัว แล้วพวกเจ้าจะกลายเป็นผู้เสียใจในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไป” (อัล-หุญุรอต: 6)

    แล้วพระองค์ก็ทรงใช้ให้หลีกเลี่ยงความแตกแยกร้าวฉานระหว่างพี่น้องมุสลิมที่มีความไม่ลงรอยกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความขัดแย้งนั้นนำไปสู่การประหัตประหารกันด้วยอาวุธ ทั้งนี้ เพื่อปกป้องรักษาชีวิตผู้บริสุทธิ์ไม่ให้ต้องสูญเสียไปโดยปราศจากความผิด พระองค์ทรงชี้แนะว่าความขัดแย้งเช่นนี้สามารถยุติสิ้นสุดลงได้ด้วยหนึ่งในสองวิธีคือ การไกล่เกลี่ยสงบศึกด้วยการขจัดสิ่งที่เป็นต้นตอและผลของความขัดแย้ง หรือด้วยการลงโทษป้องปรามฝ่ายที่อธรรมซึ่งไม่ยอมรับการไกล่เกลี่ยและไม่ยอมยืนอยู่ข้างฝ่ายที่ถูกอธรรม อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า

    ﴿ وَإِن طَآئِفَتَانِ مِنَ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ ٱقۡتَتَلُواْ فَأَصۡلِحُواْ بَيۡنَهُمَاۖ فَإِنۢ بَغَتۡ إِحۡدَىٰهُمَا عَلَى ٱلۡأُخۡرَىٰ فَقَٰتِلُواْ ٱلَّتِي تَبۡغِي حَتَّىٰ تَفِيٓءَ إِلَىٰٓ أَمۡرِ ٱللَّهِۚ فَإِن فَآءَتۡ فَأَصۡلِحُواْ بَيۡنَهُمَا بِٱلۡعَدۡلِ وَأَقۡسِطُوٓاْۖ إِنَّ ٱللَّهَ يُحِبُّ ٱلۡمُقۡسِطِينَ ٩ إِنَّمَا ٱلۡمُؤۡمِنُونَ إِخۡوَةٞ فَأَصۡلِحُواْ بَيۡنَ أَخَوَيۡكُمۡۚ وَٱتَّقُواْ ٱللَّهَ لَعَلَّكُمۡ تُرۡحَمُونَ ١٠ ﴾ [الحجرات: ٩-10]

    ความว่า “และหากมีสองฝ่ายจากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกัน พวกเจ้าก็จงไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายนั้นละเมิดอีกฝ่ายหนึ่ง พวกเจ้าก็จงปรามฝ่ายที่ละเมิดจนกว่าฝ่ายนั้นจะกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ ฉะนั้นหากฝ่ายนั้นกลับ (สู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ) แล้ว พวกเจ้าก็จงประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยความยุติธรรม และพวกเจ้าจงให้ความเที่ยงธรรมเถิด แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักใคร่บรรดาผู้ให้ความเที่ยงธรรม แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของพวกเจ้า และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด หวังว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา” (อัล-หุญุรอต: 9-10)

    และอัลลอฮฺทรงห้ามมิให้มุสลิมเยาะเย้ยถากถางและดูหมิ่นเกียรติพี่น้องของเขา เนื่องจากมุสลิมนั้นมีสถานะอันสูงส่ง ณ อัลลอฮฺ ทั้งนี้ การเยาะเย้ยดูถูกนั้นเป็นสาเหตุของความบาดหมางผิดใจระหว่างพี่น้องมุสลิม ซึ่งคนที่คุณดูถูกเหยียดหยามนั้นเขาอาจจะดีกว่าคุณ ณ อัลลอฮฺก็ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่าคุณได้ดูถูกสิ่งที่อัลลอฮฺทรงให้ความสำคัญ อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า

    ﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ لَا يَسۡخَرۡ قَوۡمٞ مِّن قَوۡمٍ عَسَىٰٓ أَن يَكُونُواْ خَيۡرٗا مِّنۡهُمۡ وَلَا نِسَآءٞ مِّن نِّسَآءٍ عَسَىٰٓ أَن يَكُنَّ خَيۡرٗا مِّنۡهُنَّۖ ﴾ [الحجرات: ١١]

    ความว่า “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย ชนกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยชนอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีชนกลุ่มที่ถูกเยาะเย้ยนั้นอาจจะดีกว่าชนกลุ่มที่เยาะเย้ย และสตรีกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยสตรีอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีกลุ่มที่ถูกเยาะเย้ยนั้นอาจจะดีกว่ากลุ่มที่เยาะเย้ยก็ได้” (อัล-หุญุรอต: 11)

    ซึ่งการเยาะเย้ยผู้อื่นนั้น มีเพียงผู้ที่หัวใจของเขาอัดแน่นไปด้วยความชั่วร้ายเท่านั้นที่จะทำได้ ด้วยเหตุนี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า

    « بِحَسْبِ امْرِئٍ مِنَ الشَرِّ أَنْ يَحْقِرَ أَخَاهُ المُسْلِمَ » [رواه مسلم برقم 2564]

    ความว่า “ถือเป็นความชั่วร้ายที่เพียงพอแล้วสำหรับคนคนหนึ่ง กับการที่เขาดูถูกเยาะเย้ยพี่น้องมุสลิม” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 2564)

    พระองค์ยังทรงห้ามมิให้เสาะแสวงหาข้อบกพร่องของพี่น้องมุสลิมเพื่อป่าวประกาศให้ผู้อื่นรับรู้ และทรงห้ามมิให้เรียกขานพี่น้องมุสลิมด้วยชื่อหรือฉายาที่เขาไม่ชอบ เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสร้างความเสียหายต่อพี่น้องมุสลิมและนำไปสู่ความขัดแย้งเป็นศัตรูต่อกัน ทั้งยังอาจเป็นสาเหตุของการตอบโต้ในลักษณะเดียวกัน หากเป็นเช่นนี้นอกจากเราจะอธรรมต่อผู้อื่นแล้ว ยังอธรรมต่อตัวเองอีกด้วย อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า

    ﴿ وَلَا تَلۡمِزُوٓاْ أَنفُسَكُمۡ وَلَا تَنَابَزُواْ بِٱلۡأَلۡقَٰبِۖ ﴾ [الحجرات: ١١]

    ความว่า “และพวกเจ้าอย่าได้ตำหนิตัวของพวกเจ้าเอง (หมายถึงพี่น้องมุสลิมด้วยกัน) และอย่าได้เรียกกันด้วยฉายาที่ไม่ชอบ " (อัล-หุญุรอต: 11)

    โดยทรงถือว่าผู้ที่กระทำการดังกล่าวแล้วไม่สำนึกผิดกลับตัวกลับใจ เป็นผู้ที่ชั่วร้ายและอธรรมต่อผู้อื่น พระองค์ตรัสว่า

    ﴿ بِئۡسَ ٱلِٱسۡمُ ٱلۡفُسُوقُ بَعۡدَ ٱلۡإِيمَٰنِۚ وَمَن لَّمۡ يَتُبۡ فَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلظَّٰلِمُونَ ١1﴾ [الحجرات: ١١]

    ความว่า "ช่างเลวทรามจริง ๆ ที่บรรดาผู้ศรัทธาจะเรียกกันว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนภายหลังจากที่ได้มีการศรัทธากันแล้ว และผู้ใดไม่สำนึกผิด ชนเหล่านั้นคือบรรดาผู้อธรรม” (อัล-หุญุรอต: 11)

    และพระองค์ก็ทรงห้ามมิให้มองพี่น้องมุสลิมในแง่ร้ายตราบใดที่ไม่มีสิ่งบ่งชี้อย่างชัดเจน เพราะโดยพื้นฐานแล้ว ให้ถือว่ามุสลิมเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นคนดี ทั้งนี้การมองเขาในแง่ร้ายจะเป็นเหตุให้เราออกห่างจากเขา และเกิดความรู้สึกชิงชังเป็นอริศัตรูกัน ซึ่งสิ่งนี้ค้านกับความเป็นพี่น้องร่วมศรัทธาอย่างไม่ต้องสงสัย อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱجۡتَنِبُواْ كَثِيرٗا مِّنَ ٱلظَّنِّ إِنَّ بَعۡضَ ٱلظَّنِّ إِثۡمٞۖ ﴾ [الحجرات: ١٢]

    ความว่า “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย พวกเจ้าจงปลีกตัวให้พ้นจากส่วนใหญ่ของการสงสัย แท้จริงการสงสัยบางอย่างนั้นเป็นบาป" (อัล-หุญุรอต: 12)

    และทรงห้ามมิให้สอดรู้สอดเห็นสิ่งที่เป็นความลับหรือขุดคุ้ยเปิดโปงข้อผิดพลาดของพี่น้องมุสลิมซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงปกปิดไว้ เพราะการขุดคุ้ยความลับหรือข้อผิดพลาดของมุสลิมทั้งที่อัลลอฮฺได้ทรงช่วยปกปิดไว้นั้น ถือเป็นการเผยแพร่สิ่งที่ไม่ดี และสร้างความเสื่อมเสียแก่สังคมมุสลิม ทั้งยังส่งผลให้ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างพี่น้องมุสลิมต้องสั่นคลอน พระองค์ตรัสว่า

    ﴿ وَ لَا تَجَسَّسُواْ ﴾ [الحجرات: ١٢]

    ความว่า "และพวกเจ้าอย่าสอดแนม" (อัล-หุญุรอต: 12)

    นอกจากนี้พระองค์ยังทรงห้ามการนินทา ซึ่งก็คือการที่คุณกล่าวถึงพี่น้องของคุณลับหลังด้วยสิ่งที่เขาไม่ชอบ ทั้งนี้ เนื่องจากการนินทานั้นเป็นการละเมิดต่อพี่น้องมุสลิม ทำให้เกียรติศักดิ์ศรีของเขาต้องแปดเปื้อนหม่นหมอง และเป็นการทรยศต่อเขาลับหลัง พระองค์ได้ทรงเปรียบผู้ที่นินทาพี่น้องมุสลิมเหมือนผู้ที่กัดกินเนื้อพี่น้องของเขาในสภาพที่ตายเป็นศพไปแล้ว ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ทุกคนรังเกียจขยะแขยงและรับไม่ได้อย่างไม่ต้องสงสัย อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ وَلَا يَغۡتَب بَّعۡضُكُم بَعۡضًاۚ أَيُحِبُّ أَحَدُكُمۡ أَن يَأۡكُلَ لَحۡمَ أَخِيهِ مَيۡتٗا فَكَرِهۡتُمُوهُۚ ﴾ [الحجرات: ١٢]

    ความว่า “และบางคนในหมู่พวกเจ้าอย่านินทาซึ่งกันและกัน คนหนึ่งในหมู่พวกเจ้านั้นชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ พวกเจ้าย่อมเกลียดมัน" (อัล-หุญุรอต: 12)

    ดังนั้น เหตุใดเล่าคนคนหนึ่งจึงรังเกียจที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาในสภาพที่เป็นศพ แต่กลับกัดกินเนื้อของเขาขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ได้อย่างไม่แยแส?

    บ่าวที่รักของอัลลอฮฺ..

    ที่กล่าวมานี้คือตัวอย่างของแนวทางที่อัลลอฮฺได้ทรงวางไว้ เพื่อสานสัมพันธ์ความเป็นพี่น้องร่วมศาสนาระหว่างมุสลิมด้วยกันให้แน่นแฟ้น และเป็นแนวปฏิบัติสำหรับสังคมของเรา ทั้งนี้ ในอัลกุรอานและสุนนะฮฺของท่านเราะสูลนั้น มีคำสั่งใช้และข้อห้ามมากมายที่หากมุสลิมในยุคสมัยนี้ให้ความสำคัญและปฏิบัติตามแล้ว แน่นอนว่าพวกเขาจะกลับมายิ่งใหญ่และเป็นผู้นำของโลกนี้ เฉกเช่นที่บรรพบุรุษยุคแรกของประชาชาตินี้เคยนำ ดังที่พระองค์ตรัสว่า

    ﴿ كُنتُمۡ خَيۡرَ أُمَّةٍ أُخۡرِجَتۡ لِلنَّاسِ تَأۡمُرُونَ بِٱلۡمَعۡرُوفِ وَتَنۡهَوۡنَ عَنِ ٱلۡمُنكَرِ وَتُؤۡمِنُونَ بِٱللَّهِۗ ﴾ [آل عمران: ١١٠]

    ความว่า “พวกเจ้านั้นเป็นประชาชาติที่ดียิ่งซึ่งถูกให้อุบัติขึ้นสำหรับมนุษยชาติ โดยที่พวกเจ้าใช้ให้ปฏิบัติสิ่งที่ชอบ ห้ามมิให้ปฏิบัติสิ่งที่มิชอบ และศรัทธาต่ออัลลอฮฺ" (อาล อิมรอน: 110)

    พี่น้องทั้งหลาย..

    ศรัทธาของคนหนึ่งคนใดหาสมบูรณ์ได้ไม่ จนกว่าเขาจะปรารถนาให้พี่น้องของเขาได้รับในสิ่งที่ตัวเขาชอบด้วย ซึ่งขั้นต่ำสุดของความเป็นพี่น้องร่วมศาสนานั้น คือการที่คุณปฏิบัติต่อพี่น้องของคุณในลักษณะเดียวกับที่คุณชอบให้เขาปฏิบัติต่อคุณ แน่นอนว่าคุณย่อมหวังที่จะให้พี่น้องของคุณปกปิดความลับของคุณไว้ และหวังว่าเขาจะไม่ปริปากพูดถึงมุมที่ไม่ดีของคุณ

    อนึ่ง คุณหวังจะได้รับการปฏิบัติจากพี่น้องของคุณ ในสิ่งที่ตัวคุณเองไม่เคยปฏิบัติเช่นนั้นต่อเขากระนั้นหรือ?

    คุณไม่พอใจหากพี่น้องของคุณทำไม่ดีต่อคุณแม้เพียงเล็กน้อย แต่คุณกลับพอใจที่จะทำไม่ดีต่อเขาอย่างนั้นหรือ?

    คุณคาดหวังว่าพี่น้องของคุณจะมีความซื่อสัตย์ต่อคุณในการทำธุรกรรมใดๆ และหวังว่าเขาจะไม่หลอกไม่โกงคุณ แล้วคุณจะปฏิบัติต่อเขาในทางตรงกันข้ามได้อย่างไรกัน?

    การที่คุณเรียกร้องให้พี่น้องของคุณมีความจริงใจและปฏิบัติต่อคุณด้วยความเป็นธรรม ในขณะที่ตัวคุณเองกลับไม่ให้ความเป็นธรรมแก่เขานั้น ถือว่าเข้าข่ายสิ่งที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสไว้ว่า

    ﴿ وَيۡلٞ لِّلۡمُطَفِّفِينَ ١ ٱلَّذِينَ إِذَا ٱكۡتَالُواْ عَلَى ٱلنَّاسِ يَسۡتَوۡفُونَ ٢ وَإِذَا كَالُوهُمۡ أَو وَّزَنُوهُمۡ يُخۡسِرُونَ ٣ ﴾ [المطففين: ١-٣]

    ความว่า "ความหายนะจงประสบแด่บรรดาผู้ทำให้พร่อง (ในการตวงและการชั่ง) คือบรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขาตวงเอาจากคนอื่นก็ตวงเอาเต็ม และเมื่อพวกเขาตวงหรือชั่งให้คนอื่นก็ทำให้ขาด" (อัล-มุฏ็อฟฟิฟีน: 1-3)

    ศาสนาอิสลามได้บัญญัติห้ามการกระทำใดๆ ที่สร้างความเดือดร้อนหรือเป็นการละเมิดสิทธิ์ของพี่น้องมุสลิม ในเรื่องการซื้อขายอิสลามได้ห้ามการ “นะญัช” ซึ่งหมายถึงการขอเพิ่มราคาสินค้าในการประมูลแข่งขันกับผู้อื่นเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า (เป็นหน้าม้าช่วยผู้ขายปั่นราคา - ผู้แปล) ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้ต้องการจะซื้อสินค้าดังกล่าว

    และศาสนาห้ามมิให้ขายตัดราคาผู้อื่น กล่าวคือหากพี่น้องมุสลิมตกลงขายสินค้าใดๆ ไปแล้ว ก็ไม่อนุญาตให้ผู้อื่นยื่นข้อเสนอแก่ผู้ที่ซื้อสินค้านั้นไปว่า “อย่าไปซื้อสินค้านี้จากเขาเลย เดี๋ยวฉันจะขายสินค้าตัวเดียวกันนี้แก่ท่าน ในราคาที่ต่ำกว่า”

    อิสลามยังห้ามมิให้สู่ขอสตรีแข่งกับผู้อื่น กล่าวคือเมื่อมีพี่น้องมุสลิมสู่ขอหมั้นหมายสตรีคนใดแล้ว ไม่อนุญาตให้ผู้อื่นสู่ขอสตรีคนดังกล่าวอีก จนกว่าชายคนแรกจะยกเลิกการสู่ขอหรือได้รับการปฏิเสธไป

    นอกจากนี้ศาสนายังห้ามยุแยงสตรีให้แข็งข้อต่อสามีของนาง รู้สึกรังเกียจเบื่อหน่ายสามี และแสดงพฤติกรรมหรือมารยาทที่ไม่เหมาะสม จนนำไปสู่การหย่าร้าง

    พวกท่านลองฟังหะดีษต่อไปนี้ให้ดี..

    ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    « لَا تَحَاسَدُوْا، وَلَا تَنَاجَشُوْا، وَلَا تَبَاغَضُوْا، وَلَا تَدَابَرُوْا، وَلَا يَبِعْ بَعْضُكُمْ عَلىَ بَيْعِ بَعْضٍ، وَكُوْنُوْا عِبَادَ اللهِ إِخْوَانًا » [رواه مسلم برقم 2564]

    ความว่า “พวกท่านจงอย่าอิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน อย่าเพิ่มราคาสินค้าโดยที่ท่านเองไม่ต้องการซื้อ (เพื่อเป็นหน้าม้าให้ผู้ขายได้รับประโยชน์) อย่าได้โกรธเคืองซึ่งกันและกัน อย่าได้ขัดแย้งกันเอง อย่าได้ขายของตัดหน้ากัน และพวกท่านจงเป็นบ่าวของอัลลอฮฺที่มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 2564)

    และมีรายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ อีกเช่นกันระบุว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    « لَيْسَ مِنَّا مَنْ خَبَّبَ امْرَأَةً عَلى زَوْجِهَا أَوْ عَبْدًا عَلَى سَيِّدِهِ » [ رواه أبو داود برقم 2157 و ابن حبان برقم 5560 ]

    ความว่า “ผู้ที่ยุแยงส่งเสริมให้สตรีแข็งข้อกับสามีของนาง หรือให้ทาสดื้อดึงต่อนายของเขา ถือว่าไม่ได้ประพฤติตนอยู่ในแนวทางของเรา” (บันทึกโดยอบู ดาวูด หะดีษเลขที่ 2157 และอิบนุ หิบบาน หะดีษเลขที่ 5560)

    ในรายงานอีกบทหนึ่งท่านเษาบาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    « أَيُّمَا امْرَأَةٍ سَألَتْ زَوْجَهَا طَلاقَهَا مِنْ غِيْرِ مَا بَأْسٍ فَحَرَامٌ عَلَيْهَا رَائِحَةُ الجَنَّةِ » [ رواه البخاري برقم 806]

    ความว่า “สตรีคนใดร้องขอให้สามีของนางหย่านาง โดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ กลิ่นหอมหวนของสรวงสวรรค์จะเป็นที่ต้องห้ามสำหรับนาง” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 806)

    และท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า “ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ห้ามมิให้ผู้ที่อยู่ในเมืองขายสินค้าแก่ผู้ที่เดินทางเข้ามาจากชนบท (โดยไม่รู้ราคาสินค้า – ผู้แปล) ห้ามการนะญัช ห้ามมิให้ขายของตัดราคาผู้อื่น ห้ามมิให้สู่ขอสตรีแข่งกับผู้อื่น และห้ามมิให้สตรีคนใดเรียกร้องให้สามีหย่าขาดจากภรรยาซึ่งเป็นพี่น้องผู้ศรัทธา เพื่อที่นางจะได้ครอบครองสิทธิการเป็นภรรยาแต่เพียงผู้เดียว” (หะดีษ มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ)

    ดังนั้นจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด โอ้ บ่าวของอัลลอฮฺ และจงระวังรักษาความสัมพันธ์กับพี่น้องของพวกท่าน และสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับให้ดีที่สุด อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ حَقَّ تُقَاتِهِۦ وَلَا تَمُوتُنَّ إِلَّا وَأَنتُم مُّسۡلِمُونَ ١٠٢ وَٱعۡتَصِمُواْ بِحَبۡلِ ٱللَّهِ جَمِيعٗا وَلَا تَفَرَّقُواْۚ وَٱذۡكُرُواْ نِعۡمَتَ ٱللَّهِ عَلَيۡكُمۡ إِذۡ كُنتُمۡ أَعۡدَآءٗ فَأَلَّفَ بَيۡنَ قُلُوبِكُمۡ فَأَصۡبَحۡتُم بِنِعۡمَتِهِۦٓ إِخۡوَٰنٗا وَكُنتُمۡ عَلَىٰ شَفَا حُفۡرَةٖ مِّنَ ٱلنَّارِ فَأَنقَذَكُم مِّنۡهَاۗ كَذَٰلِكَ يُبَيِّنُ ٱللَّهُ لَكُمۡ ءَايَٰتِهِۦ لَعَلَّكُمۡ تَهۡتَدُونَ ١٠٣ وَلۡتَكُن مِّنكُمۡ أُمَّةٞ يَدۡعُونَ إِلَى ٱلۡخَيۡرِ وَيَأۡمُرُونَ بِٱلۡمَعۡرُوفِ وَيَنۡهَوۡنَ عَنِ ٱلۡمُنكَرِۚ وَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُفۡلِحُونَ ١٠٤ وَلَا تَكُونُواْ كَٱلَّذِينَ تَفَرَّقُواْ وَٱخۡتَلَفُواْ مِنۢ بَعۡدِ مَا جَآءَهُمُ ٱلۡبَيِّنَٰتُۚ وَأُوْلَٰٓئِكَ لَهُمۡ عَذَابٌ عَظِيمٞ ١٠٥﴾ [آل عمران: ١٠٢-١٠٥]

    ความว่า “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงอัลลอฮฺอย่างแท้จริงเถิด และพวกเจ้าจงอย่าตายเป็นอันขาดนอกจากในฐานะที่พวกเจ้าเป็นผู้นอบน้อมเท่านั้น และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกของอัลลอฮฺโดยพร้อมกันทั้งหมด และจงอย่าแตกแยกกัน และจำรำลึกถึงความเมตตาของอัลลอฮฺที่มีต่อพวกเจ้า ขณะที่พวกเจ้าเป็นศัตรูกัน แล้วพระองค์ได้ทรงให้สนิทสนมกันระหว่างหัวใจของพวกเจ้า แล้วพวกเจ้าก็กลายเป็นพี่น้องกันด้วยความเมตตาของพระองค์ และพวกเจ้าเคยปรากฏอยู่บนปากหลุมแห่งไฟนรก แล้วพระองค์ก็ทรงช่วยพวกเจ้าให้พ้นจากปากหลุมแห่งนรกนั้น ในทำนองนั้นแหละ อัลลอฮฺจะทรงแจกแจงแก่พวกเจ้าซึ่งบรรดาโองการของพระองค์ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับแนวทางอันถูกต้อง และจงให้มีขึ้นจากพวกเจ้าซึ่งคณะหนึ่งที่จะเชิญชวนไปสู่ความดีและใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ และห้ามมิให้กระทำสิ่งที่มิชอบ และชนเหล่านี้แหละพวกเขาคือผู้ได้รับความสำเร็จ และพวกเจ้าจงอย่าเป็นเช่นบรรดาผู้ที่แตกแยกกัน และขัดแย้งกันหลังจากที่บรรดาหลักฐานอันชัดแจ้งได้มายังพวกเขาแล้ว และชนเหล่านี้แหละสำหรับพวกเขา คือการลงโทษอันใหญ่หลวง" (อาล อิมรอน: 102-105)

    แปลจาก : http://IslamHouse.com/295343

    والحمد لله رب العالمين، وصلى الله وسلم على نبينا محمد،

    وعلى آله وصحبه أجمعين.