×
เนื้อหาประกอบด้วย ... ลักษณะการประกอบพิธีอุมเราะฮฺ หุก่มการจูบหะญัรฺอัสวัด ความประเสริฐของการเฏาะวาฟรอบบัยติลลาฮฺ จากหนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์ โดยเชคมุหัมมัด อัตตุวัยญิรีย์

    ลักษณะการประกอบพิธีอุมเราะฮฺ

    [ ไทย ]

    صفة العمرة

    [ باللغة التايلاندية ]

    มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม บิน อับดุลลอฮฺ อัต-ตุวัยญิรีย์

    محمد بن إبراهيم بن عبدالله التويجري

    แปลโดย: อัสรัน นิยมเดชา

    ترجمة: عصران إبراهيم

    ตรวจทาน: อุษมาน อิดรีส

    مراجعة: عثمان إدريس

    จากหนังสือ: มุคตะศ็อร อัล-ฟิกฮฺ อัล-อิสลามีย์

    المصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي

    สำนักงานความร่วมมือเพื่อการเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด

    المكتب التعاوني للدعوة وتوعية الجاليات بالربوة بمدينة الرياض

    1429 – 2008

    ลักษณะการประกอบพิธีอุมเราะฮฺ

    เริ่มด้วยการเนียตครองอิหฺรอมจากมีกอตก่อนที่จะล้ำผ่านเข้าไป ส่วนผู้ที่อยู่ใกล้มักกะฮฺมากกว่ามีกอตให้เนียตครองอิหฺรอมจากจุดที่เขาอยู่ ชาวมักกะฮฺให้ออกไปเนียตครองอิหฺรอมนอกเขตหะร็อม เช่น ตันอีม และสุนัตให้เข้าสู่มักกะฮฺจากส่วนบนไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน และให้ออกจากมักกะฮฺทางตอนใต้หากกระทำได้อย่างไม่ลำบาก และให้หยุดการตัลบิยะฮฺเมื่อเริ่มเข้าสู่เขตหะร็อม

    เมื่อถึงมัสยิดหะรอมให้เข้าสู่ข้างในในสภาพที่มีน้ำละหมาด และเริ่มเฏาะวาฟจากหะญัรฺอัสวัด (หินดำ) โดยให้บัยตุลลอฮฺอยู่ทางซ้ายมือ

    สุนัตให้ทำการอิฎฏิบาอฺ (สไบเฉียง) ก่อนทำการเฏาะวาฟ นั่นคือให้ส่วนกลางของผ้าอยู่ใต้ไหล่ขวาและให้ชายผ้าทั้งสองข้างอยู่บนไหล่ซ้ายตลอดการเฎาะวาฟ

    สุนัตให้ทำการเราะมัล นั่นคือการเดินเร็วๆกึ่งเดินกึ่งวิ่ง (วิ่งเหยาะๆ) ด้วยความกระฉับกระเฉงเป็นพิเศษใน 3 รอบแรกตั้งแต่หะญัรฺอัสวัดจนสิ้นสุดที่เดิม ส่วนอีก 4 รอบที่เหลือให้เดินตามปกติ ซึ่งการอิฎฏิบาอฺ (สไบเฉียง) และเราะมัล (วิ่งเหยาะๆ) นั้นสุนัตให้กระทำเฉพาะบุรุษเท่านั้น และในการเฏาะวาฟกุดูมสำหรับอุมเราะฮฺเท่านั้น

    เมื่อถึงแนวขนานของหะญัรฺอัสวัดก็ให้หันเข้าหาแล้วยื่นมือไปจับ และจูบหินดำ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ก็ให้เอามือจับหินแล้วจูบมือที่จับนั้น ถ้าหากไม่สะดวกก็อนุญาตให้ยื่นแตะด้วยไม้เท้าหรือสิ่งของใดๆในลักษณะนั้นก็ได้ แล้วก็จูบไม้เท้านั้น ถ้ายังไม่สามารถกระทำได้อีกก็ให้ชี้ไปยังหะญัรฺอัสวัดด้วยมือขวาแต่ไม่ต้องจูบมือแต่อย่างใด และเดินต่อไปไม่ต้องหยุด โดยขณะที่ผ่านแนวขนานหะญัรฺอัสวัดให้กล่าวว่า "อัลลอฮุอักบัรฺ" หนึ่งครั้งในทุกๆรอบ และให้อ่านดุอาอ์ใดก็ได้ขณะทำการเฏาะวาฟ และให้รำลึกถึงอัลลอฮฺให้มาก

    เมื่อถึงรุกนุนยะมานีย์ ก็ให้จับด้วยมือขวาโดยไม่ต้องจูบ ทำเช่นนี้ทุกรอบ และไม่ต้องกล่าว "อัลลอฮุอักบัรฺ" ถ้าหากไม่สะดวกที่จะจับกับมือก็ให้ทำการเฏาะวาฟต่อไปโดยไม่ต้องตักบีรฺ (กล่าวอัลลอฮุอักบัรฺ) หรือชี้ด้วยมือ และให้กล่าวระหว่างรุกนุนยะมานีย์กับหะญัรฺอัสวัดว่า

    رَبَّنَا آتِنَا في الدُّنْيَا حَسَنَةً وَفي الآخِرَةِ حَسَنَةً وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ

    และให้ทำการเฏาะวาฟ 7 รอบจากรอบนอกกะอฺบะฮฺและหิจญรฺอิสมาอีล ทุกครั้งที่ผ่านแนวขนานหะญัรฺอัสวัดให้ตักบีรฺ ยื่นมือจับ และจูบในทุกๆรอบหากกระทำได้ ส่วนมุมกะอฺบะฮฺอีก 2 มุมไม่ต้องจับ และถ้าหากจะวางตัวแนบกับมุลตะซัมซึ่งอยู่ระหว่างรุกนุนยะมานีย์กับประตูกะอฺบะฮฺหลังเฏาะวาฟกุดูมหรือวะดาอฺเพื่อขอดุอาอฺก็ทำได้

    เมื่อเสร็จจากการเฏาะวาฟ ให้ปิดไหล่ขวาแล้วไปละหมาดสุนัตหลังมะกอมอิบรอฮีมอะลัยฮิสสลามโดยอ่าน

    (ﯣ ﯤ ﯥ ﯦ ﯧ )

    ความว่า “และพวกเจ้าจงยึดเอาที่ยืนของอิบรอฮีมเป็นที่ละหมาดเถิด” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 125)

    จากนั้นสุนัตให้ละหมาด 2 ร็อกอัตสั้นๆหลังมะกอมอิบรอฮีมหากกระทำได้ ถ้าหากไม่สะดวกก็ให้ละหมาดส่วนไหนของมัสยิดหะรอมก็ได้ และสุนัตให้อ่านสูเราะฮฺอัลกาฟิรูนหลังฟาติหะฮฺในร็อกอัตแรก และสูเราะฮฺอัล-อิคลาศในร็อกอัตที่สอง เมื่อละหมาดเสร็จก็ให้ลุกขึ้น ส่วนการขอดุอาอ์หลังละหมาด ณ จุดนี้ไม่มีแบบฉบับให้กระทำ เช่นเดียวกับการดุอาอ์ที่มะกอมอิบรอฮีม

    เมื่อละหมาดเสร็จ สุนัตให้เดินไปจับหะญัรฺอัสวัดหากกระทำได้

    จากนั้นให้เดินไปยังเขาเศาะฟา และสุนัตให้อ่านขณะเดินขึ้นเขาว่า

    ( ﮅ ﮆ ﮇ ﮈ ﮉ ﮊ ﮋ ﮌ ﮍ ﮎ ﮏ ﮐ ﮑ ﮒ ﮓ ﮔ ﮕ ﮖ ﮗ ﮘ ﮙ ﮚ ﮛ ﮜ ﮝ ﮞ ﮟ)

    ความว่า “แท้จริงภูเขาเศะฟา และภูเขามัรวะฮ์นั้น เป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาเครื่องหมายของอัลลอฮฺ ดังนั้นผู้ใดประกอบพิธีหัจญ์หรืออุมเราะฮ์ ณ บัยตุลลอฮฺก็ไม่มีบาปใด ๆ แก่เขาที่จะเดินไปมาระหว่างภูเขาทั้งสองนั้น และผู้ใดประกอบความดีโดยสมัครใจแล้ว แน่นอนอัลลอฮฺนั้นคือผู้ทรงขอบใจและผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง“ (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 158)

    และกล่าวว่า “ฉันขอเริ่มต้นเหมือนกับที่อัลลอฮฺตะอาลาเริ่ม” เมื่อขึ้นสู่เขาเศาะฟาและเห็นบัยตุลลอฮฺก็ให้ยืนหันไปทางกิบลัต และกล่าวตักบีรฺ 3 ครั้ง โดยยกมือ (เหมือนขอดุอาอ์) เพื่อกล่าวซิเกรฺและดุอาอ์ ไม่ใช่ในลักษณะการยกมือตักบีรฺในละหมาด จากนั้นให้กล่าวว่า

    «لا إلَـهَ إلَّا الله وَحْدَهُ لا شَرِيكَ لَـهُ، لَـهُ المُلْكُ، وَلَـهُ الحَـمْدُ، وَهُوَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ، لا إلَـهَ إلا الله وَحْدَهُ، أَنْجَزَ وَعْدَهُ، وَنَصَرَ عَبْدَهُ، وَهَزَمَ الأحْزَابَ وَحْدَهُ»

    ความว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากอัลลอฮฺ ไม่มีผู้ใดเป็นภาคีกับพระองค์ อำนาจ และการสรรเสริญเป็นสิทธิของพระองค์ พระองค์คือผู้ทรงอำนาจเหนือทุกสิ่ง ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากอัลลอฮฺ พระองค์ทรงปฏิบัติตามสัญญาของพระองค์ ทรงช่วยเหลือบ่าวของพระองค์ และพระองค์เพียงผู้เดียวที่ทรงสร้างความปราชัยให้แก่พลพรรคทั้งหลาย” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ : 4114 และมุสลิม : 1218)

    จากนั้นให้ขอดุอาอ์ และกล่าวบทซิเกรฺดังกล่าวอีกครั้ง แล้วขอดุอาอ์ และกล่าวซิเกรฺเป็นครั้งที่ 3 โดยบทซิเกรฺให้กล่าวเสียงดัง ส่วนดุอาอ์ให้ขอเบาๆ

    จากนั้นให้ลงจากเขาเศาะฟามุ่งหน้าไปยังเขามัรฺวะฮฺด้วยความสงบเสงี่ยมและนอบน้อม เมื่อเดินถึงเส้นเขียวให้กึ่งเดินกึ่งวิ่งเร็วๆจนกระทั่งถึงเส้นเขียวที่สอง จากนั้นก็ให้เดินไปยังเขามัรฺวะฮฺ โดยตลอดทางให้กล่าวตักบีรฺ ซิเกรฺและขอดุอาอ์

    เมื่อถึงเขามัรฺวะฮฺ ให้เดินขึ้นแล้วหันไปทางกิบลัต ยกมือขึ้นกล่าวซิเกรฺและขอดุอาอ์ และกล่าวเช่นเดียวกับที่กล่าวบนเขาเศาะฟา 3 ครั้ง จากนั้นให้ลงจากมัรฺวะฮฺเพื่อมุ่งหน้าไปยังเศาะฟา โดยเดินในส่วนที่ต้องเดิน และกึ่งเดินกึ่งวิ่งในส่วนที่ต้องกระทำเช่นนั้น ทำเช่นนั้น 7 รอบ เที่ยวไปคิดเป็น 1 รอบ และเที่ยวกลับ 1 รอบ เริ่มต้นที่เขาเศาะฟาสิ้นสุดที่มัรฺวะฮฺ และสุนัตให้ทำการสะแอในสภาพที่มีน้ำละหมาด และให้ทำอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน และสุนัตให้มีความต่อเนื่องระหว่างการเฏาะวาฟและสะแอ

    เมื่อเสร็จสิ้นจากการสะแอแล้วให้โกนผม หรือตัดให้ทั่วศีรษะ ซึ่งการโกนดีกว่า ส่วนสตรีให้ตัดผมเพียงกระจุกเล็กๆก็เป็นการเพียงพอแล้ว ซึ่งเช่นนี้การประกอบพิธีอุมเราะฮฺก็ถือว่าสิ้นสุด และทุกอย่างที่เคยเป็นที่ต้องห้ามขณะครองอิหฺรอมก็เป็นที่อนุญาต เช่น เสื้อผ้า เครื่องหอม หรือการสมรส เป็นต้น

    ให้สตรีปฏิบัติเหมือนบุรุษทุกอย่างในการเฏาะวาฟและสะแอ ยกเว้นการเราะมัลหรือกึ่งเดินกึ่งวิ่งในการเฏาะวาฟซึ่งเฉพาะบุรุษเท่านั้น และไม่ต้องเดินกึ่งเดินกึ่งวิ่งในการสะแอ และไม่ต้องอิฎฏิบาอฺ และควรหลีกเลี่ยงการเปิดเผยเครื่องประดับ การเปิดเผยใบหน้า ส่งเสียงดัง หรือปะปนกับบุรุษ

    ชายใดมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาหลังจากเนียตอุมเราะฮฺ จำเป็นที่เขาต้องประกอบพิธีให้เสร็จและต้องชดใช้ภายหลัง เนื่องจากเขาได้ทำให้พิธีอุมเราะฮฺเสียด้วยการมีเพศสัมพันธ์ ถ้าหากเขามีเพศสัมพันธ์ภายหลังการเฏาะวาฟและการเดินสะแอแต่ก่อนที่จะโกนหรือตัดผมก็ถือว่าอุมเราะฮฺของเขาไม่เสียแต่อย่างใด แต่ต้องจ่ายฟิดยะฮฺผู้มีเหตุจำเป็น

    สุนัตให้ผู้ประกอบพิธีหัจญ์แบบตะมัตตุอฺตัดผมในพิธีอุมเราะฮฺ โดยเหลือบางส่วนไว้โกนในพิธีหัจญ์หากว่าระยะเวลาระหว่างสองพิธีนั้นห่างกันไม่มาก

    เมื่อมีการอิกอมะฮฺขณะที่เขากำลังเฏาะวาฟ หรือเดินสะแอ ก็ให้เข้าร่วมละหมาดพร้อมญะมาอะฮฺ เมื่อละหมาดเสร็จก็ให้ทำการเฏาะวาฟต่อจากจุดที่หยุดให้ครบรอบ โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มรอบใหม่

    หุก่มการจูบหะญัรฺอัสวัด

    การจูบ จับ และชี้หะญัรฺอัสวัดพร้อมตักบีรฺล้วนเป็นสุนัต ซึ่งหากใครลำบากที่จะกระทำก็ให้เว้นส่วนนี้ไปได้

    สุนัตให้จูบและจับหะญัรฺอัสวัดสำหรับผู้ที่สามารถกระทำได้ในการเฏาะวาฟ และระหว่างการเฏาะวาฟกับการเดินสะแอ แต่ถ้าหากต้องเบียดเสียดหรือสร้างความลำบากแก่ผู้อื่นก็ถือว่าไม่ควรกระทำ และให้เว้นเสียดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสตรี ทั้งนี้ เนื่องจากการจับและจูบนั้นถือเป็นสุนัต ส่วนการทำความเดือดร้อนแก่คนอื่นถือว่าเป็นบาปหะรอม จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะกระทำสิ่งที่เป็นสุนัตกับสิ่งที่เป็นหะรอมในเวลาเดียวกัน

    หะญัรอัสวัดเป็นหินที่ลงมาจากสวรรค์ เดิมทีนั้นขาวยิ่งกว่าน้ำนม แต่บาปความชั่วของลูกหลานอาดัมทำให้สีของมันเปลี่ยนเป็นสีดำ หากแม้นว่ามันไม่ถูกแปดเปื้อนด้วยความสกปรกของยุคญาฮิลิยะฮฺแล้วละก็ ผู้ใดที่เจ็บป่วยเมื่อได้จับมันก็จะหายจากอาการเจ็บป่วยนั้น ในวันกิยามะฮฺอัลลอฮฺตะอาลาจะให้มันเป็นสักขีพยานแก่ผู้ที่เคยจับมันด้วยใจที่บริสุทธิ์ โดยการจับหะญัรฺอัสวัดและรุกนุนยะมานีย์นั้นยังเป็นการล้างบาปให้หมดไป

    ความประเสริฐของการเฏาะวาฟรอบบัยติลลาฮฺ

    สุนัตให้มุสลิมทำการเฏาะวาฟให้มาก

    عن عُبَيْدِ بْنِ عُمَيْرٍ أَنَّهُ سَمِعَ أَبَاهُ يَقُولُ لِابْنِ عُمَرَ رَضِيَ اللهُ عَنْهُمَا: مَا لِـي لَا أَرَاكَ تَسْتَلِمُ إِلَّا هَذَيْنِ الرُّكْنَيْنِ الْحَجَرَ الْأَسْوَدَ وَالرُّكْنَ الْيَمَانِـيَ؟ فَقَالَ ابْنُ عُمَرَ: إِنْ أَفْعَلْ فَقَدْ سَمِعْتُ رَسُولَ الله صلى الله عليه وسلم يَقُولُ: «إِنَّ اسْتِلَامَهُمَا يَـحُطُّ الْـخَطَايَا». أخرجه أحمد والترمذي

    จากอุบัยดฺ บิน อุมัยรฺ เล่าว่า ท่านได้ยินบิดาของท่านกล่าวแก่อิบนุอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า “ทำไมฉันไม่เห็นท่านจับ (มุมใด) นอกจากสองมุมนี้ หะญัรฺอัสวัดกับรุกนุนยะมานีย์? อิบนุอุมัรฺ ก็ตอบว่า “ที่ฉันทำเพราะฉันได้ยินท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า การจับมุมหินทั้งสองนั้นเป็นการลบล้างบาป” บันทึกโดยอะหฺมัด (4462) และตัรมิซีย์ (959)

    การเฏาะวาฟในสภาพที่มีน้ำละหมาดประเสริฐและสมบูรณ์กว่า แต่ถ้าทำการเฏาะวาฟโดยไม่มีน้ำละหมาดก็ถือว่ากระทำได้ (อุละมาอฺส่วนใหญ่มีทัศนะว่าจำเป็นต้องมีน้ำละหมาด –ผู้แปล) ส่วนการปราศจากหะดัษใหญ่เช่นญะนาบะฮฺ หรือประจำเดือนนั้นถือเป็นวาญิบ