×
อธิบายความหมายและเคล็ดลับ(หิกมะฮฺ)การบัญญัติการหัจญ์รฺ (อายัด) ประเภทยของการหัจญ์รฺ บัญญัติว่าด้วยบุคคลล้มละลาย ผู้ที่ไม่มีความสามารถจะชดใช้หนี้สิน ความประเสริฐของการยืดเวลาให้แก่ลูกหนี้ที่ยากจน หุก่มผู้ที่พบทรัพย์สินของตนอยู่กับบุคคลล้มละลาย หุก่มการหัจญ์รฺทรัพย์สินของเด็กและคนวิกลจริต การหัจญ์รฺทรัพย์สินของเด็กจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และ เมื่อใดที่การหัจญ์รฺฺทรัพย์สินคนวิกลจริตหรือคนเสมือนไร้ความสามารถจะสิ้นสุดลง? จากหนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    อัล-หัจญ์รฺ (การอายัด)

    ﴿الحجر﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์

    แปลโดย : อิสมาน จารง

    ผู้ตรวจทาน : อัสรัน นิยมเดชา

    2009 - 1430

    ﴿الحجر﴾

    « باللغة التايلاندية »

    محمد بن إبراهيم التويجري

    ترجمة: عثمان جاورنج

    مراجعة: عصران إبراهيم

    2009 - 1430

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    อัล-หัจญ์รฺ (การอายัด)

    อัล-หัจญ์รฺ คือ การห้ามหรือกีดกันบุคคลจากการใช้ทรัพย์สินของเขาเองเพราะเหตุผลทางหลักบัญญัติศาสนาอิสลาม

    เคล็ดลับ(หิกมะฮฺ)การบัญญัติการหัจญ์รฺ (อายัด)

    อัลลอฮฺได้บัญญัติให้มีการปกป้องรักษาทรัพย์และได้ทรงกำหนดให้การหัจญ์รฺเป็นวิธีการหนึ่งในการปกป้องรักษาดังกล่าวสำหรับคนที่ไม่สามารถใช้ทรัพย์สินของตนได้ เช่น คนวิกลจริต หรือคนที่การใช้ทรัพย์ของเขามีส่วนนำไปสู่ความเสียหาย เช่น เด็ก หรือคนที่ใช้ทรัพย์สินอย่างสิ้นเปลืองและฟุ่มเฟือยเช่นคนที่สุรุ่ยสุร่าย เบาปัญญา หรือคนที่การใช้ทรัพย์ในมือของเขาจะนำมาซึ่งการสูญเสียสิทธิของผู้อื่น เช่น บุคคลที่ล้มละลายเพราะมีหนี้สินล้นตัว อัลลอฮฺจึงได้บัญญัติการหัจญ์รฺเพื่อปกป้องรักษาทรัพย์สินของบุคคลเหล่านั้นเอาไว้

    การหัจญ์รฺทรัพย์สินนั้นมีอยู่ 2 ประเภท

    (1) การหัจญ์รฺเพื่อสิทธิของผู้อื่น คือ การหัจญ์รฺทรัพย์สินของผู้ที่ล้มละลายเพื่อปกป้องสิทธิของเจ้าหนี้

    (2) การหัจญ์รฺเพื่อตัวผู้ถูกหัจญ์รฺเอง คือ การหัจญ์รฺทรัพย์สินของเด็ก คนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือสติฟั่นเฟือน เพื่อปกป้องรักษาทรัพย์ของพวกเขา

    บัญญัติว่าด้วยบุคคลล้มละลาย

    บุคคลล้มละลาย คือ คนที่มีหนี้เกินกว่าทรัพย์สินที่เขามีอยู่ ศาลจะทำการหัจญ์รฺทรัพย์สินของเขาโดยการร้องขอของเจ้าหนี้ของเขาทุกคน หรือเจ้าหนี้บางคน โดยห้ามไม่ให้เขาใช้ทรัพย์ในทางที่เกิดความเสียต่อเจ้าหนี้ และการใช้ของเขาจะเป็นโมฆะแม้เขาจะยังมิได้ถูกหัจญ์รฺ

    1- คนที่ทรัพย์ของเขามีจำนวนเท่ากับหนี้หรือมากกว่าหนี้ จะไม่ถูกหัจญ์รฺไว้ แต่เขาจะต้องถูกสั่งให้ชดใช้หนี้ของเขา แต่ถ้าหากเขาปฏิเสธก็จะต้องถูกควบคุมโดยการร้องเรียนของเจ้าหนี้ และถ้าเขายังคงยืนกรานไม่ยอมขายทรัพย์ของตนเพื่อชดใช้หนี้ ศาลจะทำการขายมันแล้วนำมาชดใช้หนี้

    2- คนที่มีทรัพย์สินน้อยกว่าหนี้ที่ถึงกำหนดชำระของเขา เขาคือบุคคลที่ล้มละลายซึ่งจำเป็นต้องมีการหัจญ์รฺทรัพย์สินแล้วประกาศให้คนทั่วไปรู้เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาโดนหลอกจากผู้ที่ถูกฟ้องล้มละลายดังกล่าว และต้องหัจญ์รฺทรัพย์สินของเขาไว้จ่ายหนี้โดยการร้องเรียนของเจ้าหนี้ทุกคนหรือเพียงบางคน

    3- เมื่อได้ทำการหัจญ์รฺทรัพย์สินของคนที่ล้มละลายแล้วเขาจะไม่ต้องถูกเรียกร้องอะไรอีก และเขาจะไม่มีสิทธิใช้ทรัพย์สินของเขา แล้วศาลก็จะเอาทรัพย์สินของเขาไปขายและแบ่งเงินที่ได้ตามส่วนของเจ้าหนี้ทุกคนที่ครบกำหนดเวลาจ่ายหนี้แล้ว และถ้าหากจ่ายหนี้จนหมดแล้วเขาก็จะหลุดพ้นจากการถูกหัจญ์รฺเพราะสาเหตุของมันได้หมดสิ้นไปแล้ว

    4- เมื่อศาลได้แบ่งทรัพย์ของผู้ล้มละลายให้ทุกคนแล้วการทวงหนี้จากเขาก็จะจบลงและไม่อนุญาตให้ติดตามเขาและกักขังเขาเพราะหนี้ดังกล่าวอีก แต่จะปล่อยเขาเป็นอิสระและยืดเวลาให้เขาจนกว่าอัลลอฮฺจะให้ริสกีแก่เขาแล้วจึงชดใช้หนี้ที่เหลือแก่บรรดาเจ้าหนี้

    ผู้ที่ไม่มีความสามารถจะชดใช้หนี้สิน

    คนที่ไม่สามารถที่จะจ่ายหนี้ได้เลยจะไม่มีการทวงหนี้จากเขาและห้ามกักขังเขาหากแต่จำเป็นจะต้องยืดเวลาให้กับเขา และการช่วยปลดหนี้จากเขาเป็นสิ่งที่สุนัตให้กระทำ ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า

    (ﯧ ﯨ ﯩ ﯪ ﯫ ﯬ ﯭ ﯮ ﯯ ﯰ ﯱ ﯲ ﯳ ﯴ ﯵ ﯶ ﯷ) [البقرة/280].

    ความว่า "และหากเขา (ลูกหนี้ ) เป็นผู้ยากไร้ก็จงให้มีการรอคอยจนกว่าจะถึงคราวสะดวก และการที่พวกเจ้าจะให้เป็นทานนั้นย่อมเป็นการดีแก่พวกเจ้าหากพวกเจ้ารู้" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 280)

    ความประเสริฐของการยืดเวลาให้แก่ลูกหนี้ที่ยากจน

    การยืดเวลาให้แก่คนยากจนเมื่อถึงเวลาที่เขาต้องจ่ายหนี้นั้นเป็นผลบุญอันยิ่งใหญ่ ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

    «... مَنْ أَنْظَرَ مُعْسراً فَلَـهُ بِكُلِّ يَومٍ مِثْلَيْـهِ صَدَقَةٌ». أخرجه أحمد.

    ความว่า “ใครที่ยืดระยะเวลาให้แก่ลูกหนี้ที่ยากไร้ เขาจะได้รับผลบุญแต่ละวันที่ยืดเวลาให้ เสมือนหนึ่งเขาทำกุศลทาน (เศาะดะเกาะฮฺ) จำนวนสองเท่าของหนี้ดังกล่าว” (หะดีษ เศาะฮีหฺ บันทึกโดย อะห์หมัด เลขที่ 23434 ดู อิรวาอ์ อัลเฆาะลีล หมายเลข 1438)

    หุก่มผู้ที่พบทรัพย์สินของตนอยู่กับบุคคลล้มละลาย

    ผู้ใด(เจ้าหนี้)ที่พบทรัพย์สินของตนเองอยู่ที่บุคคลล้มละลายเขาย่อมมีสิทธิในทรัพย์นั้นมากกว่า(เจ้าหนี้)ผู้อื่น ถ้าหากเขายังไม่ได้รับการชดใช้หนี้ใดๆ เลย และผู้เป็นลูกหนี้ยังคงมีชีวิตอยู่ และทรัพย์สินดังกล่าวยังคงอยู่ในสภาพเดิมเหมือนตอนที่ยังอยู่ในการครอบครองของเขา

    หุก่มการหัจญ์รฺทรัพย์สินของเด็กและคนวิกลจริต

    การหัจญ์รฺทรัพย์สินของคนวิกลจริต เด็ก และคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจศาล ผู้ปกครองของเด็กและคนเหล่านี้ก็คือพ่อของเขาเอง ถ้าหากเขา(พ่อ)เป็นคนที่มีความยุติธรรมและมีสติปัญญาสมบูรณ์ หรือถ้าหากไม่มีพ่อก็ให้คนที่ได้รับการมอบอำนาจให้ดูแลเป็นผู้ปกครอง แต่หากไม่มีบุคคลดังกล่าวอีก ก็ให้ศาลเป็นผู้ปกครองแทน และผู้ปกครองจะต้องใช้ในสิ่งที่เกิดประโยชน์แก่พวกเขาเหล่านั้นมากที่สุด

    การหัจญ์รฺทรัพย์สินของเด็กจะสิ้นสุดลงโดยสองสิ่งต่อไปนี้

    1. บรรลุศาสนภาวะ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

    2. การมีสติปัญญาที่สมบูรณ์ คือ เขาสามารถใช้จ่ายทรัพย์อย่างสมเหตุสมผล โดยการมอบทรัพย์ให้และทดสอบการซื้อขายจนรู้ชัดว่าเขาสามารถใช้ทรัพย์อย่างฉลาดได้ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสในอัลกรุอานว่า

    ( ﯥ ﯦ ﯧ ﯨ ﯩ ﯪ ﯫ ﯬ ﯭ ﯮ ﯯ ﯰ ﯱ ﯲ...) [النساء/6].

    ความว่า "และจงทดสอบพวกเด็กกำพร้าดู จนกระทั่งพวกเขาบรรลุวัยสมรสถ้าพวกเจ้าเห็นว่าในหมู่พวกเขานั้น มีไหวพริบรู้ผิดรู้ถูกแล้ว ก็จงมอบทรัพย์สินของพวกเขาให้แก่พวกเขาไป" (อัน-นิสาอ์ 6)

    เมื่อใดที่การหัจญ์รฺทรัพย์สินคนวิกลจริตหรือคนเสมือนไร้ความสามารถจะสิ้นสุดลง?

    เมื่อคนวิกลจริตหายและกลับมามีสติเหมือนคนปกติ หรือผู้มีสติฟั่นเฟือนกลับมามีสติปรกติโดยที่สามารถใช้จ่ายทรัพย์สินอย่างถูกต้องได้ ไม่ถูกหลอก ไม่ใช้จ่ายในสิ่งที่หะรอมหรือสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ การอายัดต่อบุคคลทั้งสองก็จะหมดไปและต้องคืนสิทธิในทรัพย์สินทั้งสองให้แก่บุคคลทั้งสอง

    การโกหกไม่ยอมจ่ายหนี้ของผู้ที่มีทรัพย์ที่จะจ่ายหนี้ได้ถือเป็นการอธรรม ซึ่งการลงโทษเขาถือเป็นที่อนุญาต ดังนั้นศาสนาจึงกำหนดให้คุมขังลูกหนี้ที่มีทรัพย์และไม่ยอมจ่ายเพื่อเป็นการสั่งสอนแก่เขา ส่วนลูกหนี้ที่ยากจนเขามีสิทธิที่จะได้รับการยืดเวลาให้ และการอภัย(ยกหนี้ให้)ก็ย่อมดีกว่าและประเสริฐกว่า