×
จากหนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์ โดย เชคมุหัมมัด อัตตุวัยญิรีย์ ประกอบด้วยเนื้อหาต่างๆ เกี่ยวกับมารยาทของผู้ทำหน้าที่พิพากษา สิ่งที่ผู้พิพากษาควรหลีกเลี่ยง เมื่อใดที่ผู้พิพากษาจะตัดสินด้วยสิ่งที่ตนรู้ ความประเสริฐของการสร้างสมานฉันท์ระหว่างมนุษยชาติและการเมตตาสงสารต่อพวกเขา บทบัญญัติว่าด้วยการตักเตือนคู่กรณีก่อนจะตัดสิน อันตรายที่เกิดจากการไม่ตัดสินตามบทบัญญัติแห่งอัลลอฮฺ ความแตกต่างระหว่างกอฎี (ผู้พิพากษา) และมุฟตี (ผู้ชี้ขาดปัญหาศาสนา)

    จรรยามารยาทของผู้พิพากษา

    ﴿آداب القاضي﴾

    มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

    แปลโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ

    ผู้ตรวจทาน : อัสรัน นิยมเดชา

    ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    الشيخ محمد بن إبراهيم التويجري

    ترجمة: يوسف أبو بكر

    مراجعة: عصران إبراهيم


    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    จรรยามารยาทของผู้พิพากษา

    1.  สมควรอย่างยิ่งที่ผู้พิพากษาจะต้องมีความเข้มแข็งแต่ไม่หยาบกระด้าง เพื่อมิให้ผู้อธรรมคิดคดโกง   และต้องเป็นผู้ที่มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ เพื่อมิให้เจ้าของสิทธิรู้สึกหวาดกลัว 

    2.  สมควรอย่างยิ่งที่ผู้พิพากษาจะต้องเป็นผู้ที่มีความสุขุมรอบคอบ เพื่อว่าจะไม่มีอารมณ์โกรธจากคำพูดที่เกิดจากการโต้เถียง  ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เขารีบร้อนและไม่มีความชัดเจนพอในการที่จะตัดสิน  และเขาจะต้องเป็นผู้ที่มีความอดทนอดกลั้น อันจะไม่กระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมเนื่องจากความรีบร้อนของเขา  และเขาจะต้องเป็นผู้ที่มีความชาญฉลาดเพื่อว่าเขาจะได้ไม่ถูกหลอกลวงจากคู่กรณี  และเขาจะต้องเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์  เป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์ใจต่อหน้าที่การงานและคาดหวังจะได้รับผลบุญจากอัลลอฮฺ  และไม่กลัวคำตำหนิของผู้ใด  และเขาจะต้องเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ในเรื่องการพิพากษาก่อนที่จะตัดสินเพื่อให้เกิดความง่ายดายในการตัดสิน    

    3.  สมควรที่ผู้พิพากษาจะต้องเข้าร่วมฟังและปรึกษาหารือกับบรรดาผู้รู้นักวิชาการในเรื่องที่ยังเป็นที่สงสัยคุมเครือต่อเขา

    4.  จำเป็นที่ผู้พิพากษาจะต้องให้ความเท่าเทียมกัน ระหว่างคู่กรณีทั้งสองในการให้เข้ามาพบเขา  การนั่งอยู่ต่อหน้าเขา  การหันหน้าไปหา  การรับฟัง  และในการตัดสินต่อคู่กรณีทั้งสองตามที่อัลลอฮฺได้ประทานลงมา  

    5.  เป็นที่ต้องห้ามแก่ผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีในขณะที่เขามีความโกรธแค้น  ป่วยไข้  หิวจัด  กระหาย  วิตกกังวล  อ่อนล้า  ขี้เกียจ  หรือง่วงนอน  แต่หากว่าเขาได้ตัดสินคดีไปแล้ว  (ขณะที่มีลักษณะที่ต้องห้าม)  และเป็นการตัดสินที่ถูกต้องก็ให้ดำเนินไปตามนั้น

    6.  และเป็นการสมควรที่ผู้พิพากษาจะต้องแต่งตั้งผู้บันทึกที่เป็นมุสลิม  บรรลุศาสนภาวะ  มีความยุติธรรม   เพื่อที่จะคอยบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ  การตัดสินและรวมถึงทุกเรื่องราว

    สิ่งที่ผู้พิพากษาควรหลีกเลี่ยง          

     เป็นที่ต้องห้ามแก่ผู้พิพากษาในการรับสินบนและรับของกำนัลนอกจากในกรณีผู้ที่เคยรับของกำนัลก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง  และเป็นการดีเขาไม่สมควรรับ  ดั่งพจนารถของท่านรอสูล อะลัยฮิศศอลาตุวัสลาม  ที่ว่า

    «هَدَايَا العُمَّالِ غُلُولٌ». أخرجه أحمد

    ความหมาย  “การให้ของกำนัลแก่เจ้าหน้าที่พนักงาน  คือ  การคดโกงฉ้อฉล”  (บันทึกโดยอะหฺมัด หมายเลขหะดีษ 23999  ดูเพิ่มเติมใน อัลอิรวาอฺ หมายเลขหะดีษ 2622)      

    เมื่อใดที่ผู้พิพากษาจะตัดสินด้วยสิ่งที่ตนรู้

    ผู้พิพากษาจะไม่ตัดสินคดีตามที่เขารับรู้มา  เนื่องจากการตัดสินในสภาพดังกล่าวจะนำไปสู่การถูกกล่าวหาใส่ร้ายได้  แต่ทว่าเขาจะต้องตัดสินตามที่เขาได้รับฟังมา  และเป็นที่อนุญาตให้เขาตัดสินตามที่รู้มาได้หากไม่กลัวว่าจะเกิดข้อสงสัยหรือถูกกล่าวหา  หรือในกรณีที่เรื่องนั้นๆ เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปอย่างแพร่หลาย

    ความประเสริฐของการสร้างสมานฉันท์ระหว่างมนุษยชาติและการเมตตาสงสารต่อพวกเขา

    นับว่าเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ผู้พิพากษาจะสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นระหว่างคู่กรณีพิพาทและโน้มน้าวให้พวกเขาได้อภัยซึ่งกันและกัน  ตราบใดที่เขายังไม่มีความชัดเจนต่อบทบัญญัตินั้นๆ ที่เขาจะตัดสินชี้ขาด

    1.      อัลลอฮฺตะอะลาตรัสว่า

    ( ﭒ ﭓ ﭔ ﭕ ﭖ ﭗ ﭘ ﭙ ﭚ ﭛ ﭜ ﭝ ﭞ ﭟ ﭠ ﭡ ﭢ ﭣ ﭤ ﭥ ﭦ ﭧ ﭨ ﭩ ﭪ ﭫ ﭬﭭ)  [النساء/114]

    ความหมาย  “ไม่มีความดีงามอันใดในการพูดซุบซิบมากมายของพวกเขา  นอกจากผู้ที่ใช้ให้ทำทานหรือให้ทำสิ่งที่ดีงามหรือให้ประนีประนอมระหว่างผู้คนเท่านั้น  และผู้ใดกระทำดังกล่าวเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺแล้วเราจะให้แก่เขาซึ่งรางวัลอันใหญ่หลวง”  (อันนิสาอฺ / 114)

          2.   อัลลอฮฺตะอะลาตรัสว่า            

    (ﯜ ﯝ ﯞ ﯟ ﯠ ﯡ ﯢ ﯣ ﯤ ﯥ ﯦﯧ)  [الحجرات/10]

    ความหมาย  “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน  ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของพวกเจ้า  และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิดเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา”  (อัลหุญุรอต / 10) 

    3.  อัลลอฮฺตะอะลาตรัสว่า

    (ﭑ ﭒ ﭓ ﭔ ﭕ ﭖ ﭗ ﭘ ﭙ ﭚ ﭛﭜ)  [الفتح/29]

    ความหมาย  “มุฮัมมัดเป็นรอสูลของอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ที่อยู่ร่วมกับเขาเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งกล้าหาญต่อบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา เป็นผู้เมตตาสงสารระหว่างพวกเขาเอง  เจ้าจะเห็นพวกเขาเป็นผู้รูกัวะผู้สูญูดโดยแสวงหาความดีงามจากอัลลอฮฺและความโปรดปรานของพระองค์”(อัลฟัตหฺ / 29)

                4. จากญะรีร บิน อับดุลลอฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ  กล่าวว่า   ท่านรอสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม  กล่าวว่า 

    عن جرير بن عبدالله رضي الله عنه قال: قال رسول الله ﷺ: «لا يَرْحَـمُ الله مَنْ لا يَرْحَـمُ النَّاسَ». متفق عليه

    ความหมาย  “อัลลอฮฺจะไม่ทรงเมตตาต่อผู้ที่ไม่มีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์”  (บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 7376  สำนวนหะดีษเป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลขหะดีษ  2319)

    บทบัญญัติว่าด้วยการตักเตือนคู่กรณีก่อนจะตัดสิน

    ส่งเสริมให้ผู้พิพากษาอบรมตักเตือนคู่กรณีก่อนที่จะดำเนินการตัดสิน

    عن أم سلمة رضي الله عنها أن رسول الله ﷺ قال: «إنَّمَا أَنَا بَشَرٌ وَإنَّكُمْ تَـخْتَصِمُونَ إلَيَّ، وَلَعَلَّ بَـعْضَكُمْ أَنْ يَكُونَ أَلْـحَنَ بِحُجَّتِـهِ مِنْ بَـعْضٍ فَأَقْضِي عَلَى نَحْوِ مَا أَسْمَعُ، فَمَنْ قَضَيْتُ لَـهُ بِحَقِّ أَخِيهِ شَيْئاً فَلا يَأْخُذْهُ، فَإنَّمَا أَقْطَعُ لَـهُ قِطْعَةً مِنَ النَّارِ». متفق عليه 

    ความหมาย  จากอุมมุสะละมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮา  กล่าวว่า  ท่านรอสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม  กล่าวว่า  “แท้จริงฉันก็คือมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง และพวกท่านก็นำข้อพิพาทมายังฉัน  และเกรงว่าบางคนอาจจะนำหลักฐาน (ที่ทำให้คดีคลาดเคลื่อนได้) ดีกว่าอีกคน  แล้วฉันจะตัดสินตามที่ฉันได้รับฟัง  ดังนั้นผู้ใดที่ฉันได้ตัดสินให้เขาสิ่งใดก็ตาม (สิทธิของผู้อื่น) เขาอย่าได้เอามัน  เพราะแท้จริงฉันได้ตัดส่วนหนึ่งจากไฟนรกให้แก่เขา”  (บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 7169 สำนวนหะดีษเป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลขหะดีษ  1713)

    การตัดสินของผู้พิพากษาจะไม่เป็นผลเมื่อเขาได้ตัดสินให้แก่ตัวเอง  หรือตัดสินให้แก่บุคคลที่ไม่สามารถเป็นพยานให้แก่เขาได้  เช่น  เชื้อสายต้นตระกูลทั้งสองฝ่าย  ภรรยา  และคนอื่นๆ ที่มีสถานะเหมือนกัน

                เมื่อมีบุคคลสองคนหรือมากกว่านั้นได้ร้องขอให้คนที่ดี (ศอลิหฺ) มาเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดกรณีของเขาทั้งสอง  ก็ถือว่าใช้ได้

    อันตรายที่เกิดจากการไม่ตัดสินตามบทบัญญัติแห่งอัลลอฮฺ

    นับเป็นความจำเป็นต่อผู้พิพากษาจะต้องตัดสินปัญหาด้วยกับสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานลงมา  และไม่เป็นที่อนุญาตแก่บุคคลใดตัดสินปัญหาด้วยกับบทบัญญัติอื่นจากที่อัลลอฮฺประทานลงมาไม่ว่าจะด้วยสภาพใดก็ตาม  เพราะการตัดสินปัญหาด้วยกับบทบัญญัติอื่นนั้นเป็นพฤติกรรมส่วนหนึ่งของบรรดาผู้ปฏิเสธ

    และเมื่อบทบัญญัติอิสลามเป็นสิ่งที่รับประกันการพัฒนาศักยภาพของมวลมนุษยชาติในทุกสภาวการณ์  ดังนั้นก็เป็นความจำเป็นที่ผู้พิพากษาจะต้องพิจารณาและตัดสินตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าสภาพใดก็ตาม  และตัดสินไปตามสิ่งที่อัลลอฮฺได้ประทานลงมาเพราะศาสนาของอัลลอฮฺครบถ้วนสมบูรณ์  เพียงพอ  ครอบคลุม  และให้การคุ้มครอง

    1.  อัลลอฮฺตะอะลาตรัสว่า

    ( ﮤ ﮥ ﮦ ﮧ ﮨ ﮩ ﮪ ﮫ ﮬ ﮭ) [المائدة/44]

    ความหมาย  “และผู้ใดที่ไม่ได้ตัดสินด้วยกับสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานลงมา  พวกเขาเหล่านั้นคือบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา”  (อัลมาอิดะฮฺ / 44)

          2.  อัลลอฮฺตะอะลาตรัสว่า

    (ﯚ ﯛ ﯜ ﯝ ﯞ ﯟ ﯠ ﯡ ﯢ ﯣ ﯤ ﯥ ﯦ ﯧ ﯨ ﯩ ﯪ ﯫ ﯬ ﯭ ﯮ ﯯ ﯰ ﯱ ﯲ ﯳ ﯴ ﯵ ﯶ ﯷ ﯸ ﯹ ﯺ ﯻ ﯼ ﯽ)   [المائدة/49]

    ความหมาย  “และเจ้าจงตัดสินระหว่างพวกเขาด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานลงมา และจงอย่าปฏิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำของพวกเขา และจงระวังพวกเขาในการที่พวกเขาจะจูงใจเจ้า  ให้ไขว้เขวออกจากบางสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานลงมาแก่เจ้า  ถ้าหากพวกเจ้าผินหลังให้ก็พึงรู้เถิดว่าแท้จริงอัลลอฮฺนั้นประสงค์ให้ประสบแก่พวกเขา  ซึ่งบางส่วนจากการลงโทษของพวกเขาเท่านั้น และแท้จริงบรรดามนุษย์จำนวนมากเป็นผู้ที่ละเมิด”  (อัลมาอิดะฮฺ / 49)

    ความแตกต่างระหว่างกอฎี (ผู้พิพากษา) และมุฟตี (ผู้ชี้ขาดปัญหาศาสนา)

    ผู้พิพากษามีคุณสมบัติ 3 ประการ 

    หนึ่ง..ในการยืนยันคือพยาน 

    สอง..ในการอธิบายแจกแจงบทบัญญัติคือมุฟตี 

    และสาม..ในการบังคับใช้บทบัญญัติคือสุลฏอน (ผู้ปกครอง)

    ความแตกต่างระหว่างกอฎี (ผู้พิพากษา) และมุฟตี (ผู้ชี้ขาดปัญหาศาสนา)  กอฎี  คือ  ผู้ที่อธิบายแจกแจงบทบัญญัติศาสนาและเป็นผู้บังคับใช้  ส่วนมุฟตี  คือ  ผู้ที่มาอธิบายแจกแจงบทบัญญัติเพียงอย่างเดียว