×
อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่มีความสำคัญสำหรับการลบล้างบาปได้ อาทิ การเตาบะฮฺกลับตัวด้วยความจริงใจ อิสติฆฟารฺขออภัยโทษ การทำความดี ทุกข์ภัยความลำบาก ดุอาอ์และการขออภัยโทษที่ผู้ศรัทธาขอให้ ผลบุญที่ผู้ตายได้รับการอุทิศให้ การลงโทษในหลุมฝังศพ ความน่าสะพรึงกลัวของวันกิยามะฮฺ ชะฟาอะฮฺ(การช่วยเหลือ)ของผู้ที่มีสิทธิให้ความช่วยเหลือ การให้อภัยของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตาเหนือผู้ใดทั้งปวง อ้างจากหนังสือชัรหฺ อัฏเฏาะหาวิยะฮฺ

    สิ่งที่ลบล้างบาปความผิด (2)

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา

    ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ

    2014 - 1435


    كفارات الذنوب (2)

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبدالله الشقاوي

    ترجمة: عصران نيومديشا

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة

    2014 - 1435

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    สิ่งที่ลบล้างบาปความผิด (2)

    มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใด ๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของอัลลอฮฺ

    ผู้อธิบายหนังสือ ‘อัฏเฏาะหาวิยะฮฺ’ กล่าวว่า ตามหลักยึดมั่นศรัทธาของแนวทางอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺนั้น ผู้ที่กระทำบาปความผิดมีโอกาสที่จะได้รับการยกเว้นจากการถูกลงโทษในนรกญะฮันนัมด้วยสาเหตุประมาณสิบข้อ ดังที่ทราบได้จากการสำรวจตัวบทอัลกุรอานและสุนนะฮฺ

    ประการแรก เตาบะฮฺกลับตัวด้วยความจริงใจ อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ إِلَّا مَن تَابَ وَءَامَنَ وَعَمِلَ عَمَلٗا صَٰلِحٗا فَأُوْلَٰٓئِكَ يُبَدِّلُ ٱللَّهُ سَيِّ‍َٔاتِهِمۡ حَسَنَٰتٖۗ وَكَانَ ٱللَّهُ غَفُورٗا رَّحِيمٗا ٧٠ ﴾ [الفرقان: ٧٠]

    ความว่า "เว้นแต่ผู้ที่กลับเนื้อกลับตัว และศรัทธา และประกอบการงานที่ดี เขาเหล่านั้นแหละอัลลอฮฺจะทรงเปลี่ยนความชั่วของเขาเป็นความดี และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ" (อัลฟุรกอน: 70)

    และพระองค์ตรัสว่า

    ﴿ ۞قُلۡ يَٰعِبَادِيَ ٱلَّذِينَ أَسۡرَفُواْ عَلَىٰٓ أَنفُسِهِمۡ لَا تَقۡنَطُواْ مِن رَّحۡمَةِ ٱللَّهِۚ إِنَّ ٱللَّهَ يَغۡفِرُ ٱلذُّنُوبَ جَمِيعًاۚ إِنَّهُۥ هُوَ ٱلۡغَفُورُ ٱلرَّحِيمُ ٥٣ ﴾ [الزمر: ٥٢]

    ความว่า "จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ปวงบ่าวของข้าเอ๋ย บรรดาผู้ละเมิดต่อตัวเขาเอง พวกท่านอย่าได้หมดหวังต่อพระเมตตาของอัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงอภัยความผิดพลาดทั้งหลายทั้งมวล แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ" (อัซซุมัรฺ: 53)

    ดังกล่าวนี้เป็นกรณีของผู้ที่กลับตัวกลับใจ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงตรัสว่า

    ﴿ لَا تَقۡنَطُواْ ﴾

    “พวกท่านอย่าได้หมดหวัง”

    แล้วตรัสในอายะฮฺถัดไปว่า

    ﴿ وَأَنِيبُوٓاْ إِلَىٰ رَبِّكُمۡ ﴾ [الزمر: 54]

    “และจงผินหน้าไปหาพระเจ้าของพวกท่าน” (อัซซุมัรฺ: 54)

    ประการที่สอง อิสติฆฟารฺขออภัยโทษ อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ وَمَا كَانَ ٱللَّهُ لِيُعَذِّبَهُمۡ وَأَنتَ فِيهِمۡۚ وَمَا كَانَ ٱللَّهُ مُعَذِّبَهُمۡ وَهُمۡ يَسۡتَغۡفِرُونَ ٣٣ ﴾ [الأنفال: ٣٣]

    ความว่า "และพระองค์อัลลอฮฺจะไม่ทรงลงโทษพวกเขา ขณะที่เจ้าอยู่ในกลุ่มพวกเขา และอัลลอฮฺจะไม่เป็นผู้ทรงลงโทษพวกเขา ทั้ง ๆ ที่พวกเขาขออภัยโทษกัน" (อัลอันฟาล: 33)

    ท่านซัยดฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดกล่าว:

    « أسْتَغْفِرُ اللهَ الذي لَا إِلهَ إِلا هُوَ الحَيُّ القَيُّوْمُ وَأَتُوْبُ إِلَيْهِ »

    (ฉันขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ผู้ทรงไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ พระองค์คือผู้ทรงดำรงชีวิตตลอดกาล ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของทุกสิ่งในทุกเรื่อง โดยที่พระองค์ไม่จำเป็นต้องพึ่งสิ่งใด และฉันขอกลับตัวกลับใจ กลับเข้าหาพระองค์)

    เขาจะได้รับการอภัยโทษในบาปความผิด แม้ว่าเขาจะเคยหลบหนีจากสมรภูมิรบขณะเผชิญหน้ากับข้าศึกศัตรูก็ตาม” (บันทึกโดย อบูดาวูด หะดีษเลขที่ 1517)

    ประการที่สาม การทำความดี ทั้งนี้ ความดีหนึ่งจะได้รับผลบุญสิบเท่า ในขณะที่การทำความชั่วนั้น จะได้รับบาปเท่ากับความผิดที่ได้ทำ ดังนั้น ผู้ที่บาปของซึ่งได้รับการบันทึกครั้งละหนึ่ง มีมากกว่าความดีที่ได้รับการบันทึกครั้งละสิบ ย่อมเป็นผู้ที่ขาดทุนและน่าสมเพชยิ่งนัก อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ إِنَّ ٱلۡحَسَنَٰتِ يُذۡهِبۡنَ ٱلسَّيِّ‍َٔاتِۚ ذَٰلِكَ ذِكۡرَىٰ لِلذَّٰكِرِينَ ١١٤ ﴾ [هود: ١١٤]

    ความว่า "แท้จริงความดีทั้งหลายย่อมลบล้างความชั่วทั้งหลาย นั่นคือข้อเตือนสำหรับบรรดาผู้ที่รำลึก" (ฮูด: 114)

    ท่านมุอาซ บิน ญะบัล เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    « وَأَتْبِعِ السَّيِّئَةَ الحَسَنَةَ تَمْحُهَا، وَخَالِقِ النَاسَ بِخُلُقٍ حَسَنٍ » [رواه الترمذي برقم 1987]

    ความว่า "และเมื่อได้ทำสิ่งที่เป็นความชั่วลงไป ก็จงทำความดีเพื่อลบล้างความชั่วดังกล่าว และจงคบหาสมาคมกับผู้อื่นด้วยมารยาทที่ดีงาม" (บันทึกโดยอัตติรฺมิซีย์ หะดีษเลขที่ 1987)

    ประการที่สี่ ทุกข์ภัยความลำบาก ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า เมื่ออายะฮฺ

    ﴿ مَن يَعۡمَلۡ سُوٓءٗا يُجۡزَ بِهِۦ ﴾ [النساء : ١٢٣]

    ความว่า “ผู้ใดที่กระทำชั่วเขาก็ถูกตอบแทนด้วยความชั่วนั้น” (อันนิสาอ์: 123)

    ถูกประทานลงมา ผู้คนต่างรู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า

    « قَارِبُوا، وَسَدِّدُوا، فَفِي كُلِّ مَا يُصَابُ بِهِ الْمُسْلِمُ كَفَّارَةٌ، حَتَّى النَّكْبَةِ يُنْكَبُهَا، أَوِ الشَّوْكَةِ يُشَاكُهَا » [رواه مسلم برقم 2574]

    ความว่า “พวกท่านจงปฏิบัติการงานต่าง ๆ อย่างพอดี (ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป – ผู้แปล) และจงแสวงหาสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ทุก ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับมุสลิมนั้นถือเป็นการลบล้างบาปทั้งสิ้น แม้กระทั่งการที่เขาสะดุดล้ม หรือการที่เขาถูกหนามตำ” (บันทึกโดย มุสลิม หะดีษเลขที่ 2574)

    ประการที่ห้า ดุอาอ์และการขออภัยโทษที่ผู้ศรัทธาขอให้ ไม่ว่าในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ หรือภายหลังจากที่ตายไปแล้ว อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ وَٱلَّذِينَ جَآءُو مِنۢ بَعۡدِهِمۡ يَقُولُونَ رَبَّنَا ٱغۡفِرۡ لَنَا وَلِإِخۡوَٰنِنَا ٱلَّذِينَ سَبَقُونَا بِٱلۡإِيمَٰنِ وَلَا تَجۡعَلۡ فِي قُلُوبِنَا غِلّٗا لِّلَّذِينَ ءَامَنُواْ رَبَّنَآ إِنَّكَ رَءُوفٞ رَّحِيمٌ ١٠ ﴾ [الحشر: ١٠]

    ความว่า "และบรรดาผู้ที่มาหลังจากพวกเขา โดยพวกเขากล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ของเรา ทรงโปรดอภัยให้แก่เราและพี่น้องของเราผู้ซึ่งได้ศรัทธาก่อนหน้าเรา และขอพระองค์อย่าได้ให้มีการเคียดแค้นเกิดขึ้นในหัวใจของเราต่อบรรดาผู้ศรัทธา ข้าแต่พระเจ้าของเรา แท้จริงพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงเอ็นดู ผู้ทรงเมตตาเสมอ" (อัลหัชรฺ: 10)

    และพระองค์ตรัสว่า

    ﴿ رَّبِّ ٱغۡفِرۡ لِي وَلِوَٰلِدَيَّ وَلِمَن دَخَلَ بَيۡتِيَ مُؤۡمِنٗا وَلِلۡمُؤۡمِنِينَ وَٱلۡمُؤۡمِنَٰتِۖ ﴾ [نوح: ٢٨]

    ความว่า "ข้าแต่พระองค์ของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่ข้าพระองค์ และพ่อแม่ของข้าพระองค์ และผู้ที่เข้ามาในบ้านของข้าพระองค์ในฐานะเป็นผู้ศรัทธา และบรรดาผู้ศรัทธาชาย และบรรดาผู้ศรัทธาหญิงทั้งหลาย" (นูหฺ: 28)

    ประการที่หก ผลบุญที่ผู้ตายได้รับการอุทิศให้ เช่น ผลบุญของการบริจาคทาน หรือการทำหัจญ์ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วกล่าวว่า "มารดาของฉันเสียชีวิตลงอย่างกะทันหันโดยไม่ทันได้สั่งเสีย แต่ฉันคิดว่าถ้านางมีโอกาสพูดสิ่งใด นางคงจะขอให้บริจาคทานเป็นแน่แท้ เช่นนี้แล้ว หากฉันบริจาคแทนนาง นางจะได้รับผลบุญหรือไม่ครับ?" ท่านตอบว่า "ได้" (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 1004 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1388)

    และมีบันทึกในเศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์ว่า มารดาของท่านสะอัด บิน อุบาดะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เสียชีวิตขณะที่ท่านไม่อยู่ ท่านจึงไปหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วกล่าวถามว่า "ท่านเราะสูลุลลอฮฺครับ มารดาของผมเสียชีวิตโดยที่ผมไม่ได้อยู่ด้วย ถ้าหากผมจะบริจาคทานแทนนาง นางจะได้รับผลบุญใด ๆ หรือไม่ครับ?" ท่านนบีตอบว่า "ได้" ท่านสะอัดจึงกล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้นขอให้ท่านเป็นพยานว่า ผมได้บริจาคสวนของผมที่ชื่ออัลมิครอฟเป็นสาธารณกุศล เพื่ออุทิศผลบุญให้แก่นางแล้ว" (บันทึกโดย อัลบุอรีย์ หะดีษเลขที่ 2762)

    ประการที่เจ็ด การลงโทษในหลุมฝังศพ

    ประการที่แปด ความน่าสะพรึงกลัวของวันกิยามะฮฺ

    ประการที่เก้า หะดีษซึ่งบันทึกโดยอัลบุคอรีย์ จากท่านอบูสะอีด อัลคุดรีย์ เล่าว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    « يَخْلُصُ المُؤْمِنُونَ مِنَ النَّارِ، فَيُحْبَسُونَ عَلَى قَنْطَرَةٍ بَيْنَ الجَنَّةِ وَالنَّارِ، فَيُقَصُّ لِبَعْضِهِمْ مِنْ بَعْضٍ مَظَالِمُ كَانَتْ بَيْنَهُمْ فِي الدُّنْيَا، حَتَّى إِذَا هُذِّبُوا وَنُقُّوا أُذِنَ لَهُمْ فِي دُخُولِ الجَنَّةِ، فَوَالَّذِي نَفْسُ مُحَمَّدٍ بِيَدِهِ، لَأَحَدُهُمْ أَهْدَى بِمَنْزِلِهِ فِي الجَنَّةِ مِنْهُ بِمَنْزِلِهِ كَانَ فِي الدُّنْيَا » [رواه البخاري برقم 6535]

    ความว่า "เมื่อบรรดาผู้ศรัทธารอดพ้นจากไฟนรก (ผ่านสะพานที่อยู่เหนือนรกมาได้โดยไม่ตกลงไป – ผู้แปล) พวกเขาจะถูกกักตัวไว้ ณ ปลายสะพานซึ่งอยู่ระหว่างสวรรค์กับนรก (บางทัศนะระบุว่าเป็นสะพานอีกแห่ง – ผู้แปล) แล้วแต่ละคนก็จะได้รับการทวงสิทธิที่หลงเหลืออยู่จากกรณีความอธรรมซึ่งเกิดขึ้นระหว่างพวกเขาในโลกดุนยา (เป็นขั้นตอนสุดท้ายนอกเหนือจากความผิดต่าง ๆ ที่อัลลอฮฺได้ทรงชำระพิพากษาไปแล้ว – ผู้แปล) กระทั่งเมื่อพวกเขาได้รับการชำระขัดเกลาจนบริสุทธิ์ผุดผ่องแล้ว พวกเขาจึงได้รับอนุญาตให้เข้าสวรรค์ ซึ่งขอสาบานด้วยผู้ที่ชีวิตของมุหัมมัดอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระองค์ว่า พวกเขาจะรู้จักที่พำนักของพวกเขาในสรวงสวรรค์ยิ่งกว่าการที่พวกเขารู้จักที่พำนักของพวกเขาในโลกดุนยาเสียอีก" (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 6535)

    ประการที่สิบ ชะฟาอะฮฺ (การช่วยเหลือ) ของผู้ที่มีสิทธิให้ความช่วยเหลือ เช่น ชะฟาอะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และนบีท่านอื่น ๆ ชะฟาอะฮฺของ มลาอิกะฮฺ หรือชะฟาอะฮฺของเหล่าผู้ศรัทธา

    ประการที่สิบเอ็ด การให้อภัยของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตาเหนือผู้ใดทั้งปวง อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ وَيَغۡفِرُ مَا دُونَ ذَٰلِكَ لِمَن يَشَآءُۚ ﴾ [النساء : ١١٦]

    ความว่า "แต่พระองค์จะทรงอภัยโทษให้สิ่งอื่นจากนั้น (คือความผิดอื่นที่ไม่ถึงขั้นตั้งภาคี) สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์" (อันนิสาอ์: 116)

    ผู้อธิบายหนังสืออัฏเฏาะหาวิยะฮฺ กล่าวว่า "ถ้าหากเขาเป็นผู้ที่อัลลอฮฺไม่ทรงประสงค์จะอภัยให้ เพราะบาปความผิดอันใหญ่หลวงของเขา เขาก็จะต้องรับโทษในนรกเสียก่อน เพื่อเป็นการชำระล้างให้ปราศจากบาป กระทั่งไม่มีผู้ใดที่หัวใจของเขามีศรัทธาแม้เพียงน้อยนิด หรือเคยกล่าว ‘ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ’ หลงเหลืออยู่ในนรกอีกต่อไป ดังปรากฎในหะดีษซึ่งรายงานโดยท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ และมีบันทึกไว้ในเศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์ และเศาะฮีหฺมุสลิม

    เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่อนุญาตให้ตัดสินเจาะจงไปว่า ผู้ใดผู้หนึ่งจากประชาชาตินี้จะเป็นชาวสวรรค์ นอกจากผู้ที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ระบุไว้ แต่เราก็คาดหวังว่า อัลลอฮฺจะทรงอภัยให้แก่บรรดาผู้ศรัทธาที่เป็นคนดีมีคุณธรรม และจะทรงให้พวกเขาได้เข้าสรวงสวรรค์ด้วยความเมตตาของพระองค์ แต่ทั้งนี้ เราก็ไม่ไว้วางใจว่าพวกเขาจะปลอดภัยจากการลงโทษของอัลลอฮฺหรือไม่ และเราก็วิงวอนขออัลลอฮฺให้ทรงอภัยแก่ผู้ศรัทธาที่ทำผิด เรากลัวว่าพวกเขาจะต้องถูกลงโทษ แต่ทั้งนี้ เราจะไม่ทำให้พวกหมดหวังในเมตตาของอัลลอฮฺ” (เล่ม 2 หน้า 448-456)

    ฉะนั้น การที่บางคนกล่าวว่า อัลลอฮฺจะไม่ทรงอภัยให้แก่คนนั้นคนนี้ หรือกล่าวว่าคนชั่วคนนี้จะต้องเป็นชาวนรก หรือคนดีคนนั้นเป็นชาวสวรรค์ คำพูดเหล่านี้ล้วนเป็นคำพูดต้องห้าม เพราะขัดกับตัวบทหลักฐานทางศาสนา และหลักยึดมั่นศรัทธาตามแนวทางอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ

    ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    « كانَ رَجُلانِ في بني إسرائيلَ مُتَوَاخِيَيْنِ، فَكانَ أَحَدُهُما يُذنِبُ والآخرُ مُجتهدٌ في العِبَادَة، فكانَ لا يَزَالُ المُجْتَهدُ يَرى الآخرَ على الذَنْبِ، فَيَقُول: أَقصِرْ، فوَجَدَه يوماً عَلى ذَنْبٍ، فَقَال له: أَقصِرْ، فقال: خَلِّني وَرَبِّي، أبُعِثْتَ عليَّ رقيباً؟ فَقال: واللهِ لا يَغفِرُ اللهُ لكَ -أو لا يُدْخِلُكَ اللهُ الجنةَ- فَقَبَضَ أرواحَهُما، فَاجْتَمَعَا عند ربِّ العالمين، فَقَال لهذا المجتهدِ: أكُنتَ بي عالماً؟ أو كنتَ على ما في يدي قادِراً؟ وقال للمُذنِب: اذهَبْ فادخُلِ الجنةَ بِرَحْمَتي، وقال للآخر: اذهبُوا به إلى النار ». قال أبو هريرة: والذي نفسي بيده، لتكلم بكلمة: أوبقت دنياه وآخرته. [رواه أبو داود برقم 4901]

    ความว่า "มีชายสองคนจากบนีอิสรออีลเป็นเพื่อนสนิทกัน โดยที่คนหนึ่งมักทำบาป ส่วนอีกคนเป็นผู้ที่ขยันทำอิบาดะฮฺ ซึ่งผู้ที่ขยันทำอิบาดะฮฺนี้ ทุกครั้งที่ได้เห็นอีกคนทำบาปก็จะตักเตือนและกล่าวแก่เขาว่า “อย่าได้ทำบาปเลย” จนมาวันหนึ่ง เขาก็พบว่าเพื่อนของเขาทำบาปอีก เขาจึงกล่าวแก่เพื่อนของเขาเช่นเดิมว่า “อย่าได้ทำบาปเลย” เพื่อนของเขาก็ตอบกลับว่า “ท่านอย่ามายุ่งกับฉัน ปล่อยให้เป็นเรื่องระหว่างฉันกับพระผู้อภิบาลของฉัน ท่านถูกส่งมาให้คอยสอดส่องฉันหรืออย่างไร?" เขาจึงกล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ พระองค์จะไม่ทรงอภัยให้แก่ท่าน หรือกล่าวว่า พระองค์จะไม่ทรงอนุญาตให้ท่านเข้าสวรรค์แน่แล้ว” แล้วอัลลอฮฺก็ทรงปลิดวิญญาณเขาทั้งสอง เมื่อทั้งสองยืนต่อหน้าพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก พระองค์ก็ทรงกล่าวแก่ผู้ที่ขยันทำอิบาดะฮฺว่า “เจ้ารู้ดีเกี่ยวกับตัวข้าอย่างนั้นหรือ? หรือเจ้ามีความสามารถที่จะมาก้าวก่ายสิ่งที่เป็นอำนาจในมือของข้าอย่างนั้นหรือ?” แล้วพระองค์ก็ตรัสแก่ผู้ที่ทำบาปว่า “เจ้าจงไปเข้าสวรรค์ ด้วยความเมตตาของข้าเถิด” และตรัสถึงอีกคนว่า “พวกเจ้าจงนำตัวชายคนนั้นไปลงนรกเถิด“

    ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺกล่าวหลังจากรายงานหะดีษบทนี้ว่า “ขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระองค์ แท้จริงเขาได้เอื้อนเอ่ยคำพูดเพียงคำเดียว แต่มีผลทำลายทั้งดุนยา และอาคิเราะฮฺของเขาจนพังพินาศหมดสิ้น” (บันทึกโดย อบูดาวูด หะดีษเลขที่ 4901)

    والحمد لله رب العالمين، وصلى الله وسلم على نبينا محمد،

    وعلى آله وصحبه أجمعين.