×
ความโปรดปรานที่ประเสริฐที่สุดประการหนึ่งซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงประทานแก่บ่าวของพระองค์คือสติปัญญา หากมนุษย์ไร้ซึ่งสติปัญญา เขาก็คงไม่รู้จักอิสลาม ไม่ศรัทธาต่อบรรดานบี ไม่สามารถแยกแยะความดีความชั่ว และความจริงความเท็จได้ บทความนี้อธิบายความสำคัญของสติปัญญา และข้อสังเกตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญญาในทัศนะอิสลาม โดยอิงจากหลักฐานในอัลกุรอาน หะดีษและคำพูดของบรรดาอุละมาอ์ เป็นบทความจากหนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ โดยเชคอะมีน อัช-ชะกอวีย์

    สติปัญญาคือของขวัญอันล้ำค่า

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ

    ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

    ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-
    มุลกอฮฺ

    2014 - 1435


    نعمة العقل

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبدالله الشقاوي

    ترجمة: حسنى فوانجسيري

    مراجعة: عصران نيومديشا

    المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة

    2014 - 1435

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    สติปัญญาคือของขวัญอันล้ำค่า

    มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใด ๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ และเป็นศาสนทูตของพระองค์

    ความโปรดปรานที่ประเสริฐที่สุดประการหนึ่งซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงประทานแก่บ่าวของพระองค์คือสติปัญญา หากมนุษย์ไร้ซึ่งสติปัญญา เขาก็คงไม่รู้จักอิสลาม ไม่ศรัทธาต่อบรรดานบี ไม่สามารถแยกแยะความดีความชั่ว และความจริงความเท็จได้

    อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ ۞وَلَقَدۡ كَرَّمۡنَا بَنِيٓ ءَادَمَ وَحَمَلۡنَٰهُمۡ فِي ٱلۡبَرِّ وَٱلۡبَحۡرِ وَرَزَقۡنَٰهُم مِّنَ ٱلطَّيِّبَٰتِ وَفَضَّلۡنَٰهُمۡ عَلَىٰ كَثِيرٖ مِّمَّنۡ خَلَقۡنَا تَفۡضِيلٗا ٧٠ ﴾ [الإسراء: ٧٠]

    "และโดยแน่นอน เราได้ให้เกียรติแก่ลูกหลานของอาดัม และเราได้บรรทุกพวกเขาทั้งทางบกและทางทะเล และได้ให้ปัจจัยยังชีพที่ดีทั้งหลายแก่พวกเขา และเราได้ให้พวกเขาดีเด่นอย่างมีเกียรติเหนือกว่าผู้ที่เราได้ให้บังเกิดมาเป็นส่วนใหญ่" (อัลอิสรออ์: 70)

    กล่าวคือ อัลลอฮฺทรงให้มนุษย์ลูกหลานอาดัมมีความประเสริฐดีเด่นเหนือสิ่งถูกสร้างอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งไร้ชีวิต สัตว์ หรือพืชผล ด้วยสติปัญญานั่นเอง

    พระองค์ได้ตรัสสรรเสริญบ่าวผู้มีสติปัญญาว่า

    ﴿ إِنَّ فِي خَلۡقِ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضِ وَٱخۡتِلَٰفِ ٱلَّيۡلِ وَٱلنَّهَارِ لَأٓيَٰتٖ لِّأُوْلِي ٱلۡأَلۡبَٰبِ ١٩٠ ﴾ [آل عمران: ١٩٠]

    “แท้จริงในการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน และการที่กลางวันและกลางคืนตามหลังกันนั้น แน่นอนมีหลายสัญญาณ สำหรับผู้มีปัญญา” (อาลอิมรอน: 190)

    อิบนุกะษีร กล่าวว่า “หมายถึงสติปัญญาที่ดีซึ่งมีความบริสุทธิ์ปลอดโปร่ง สามารถแยกแยะและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องชัดเจนตรงกับข้อเท็จจริง มิใช่ดั่งผู้ที่หูหนวกบอดใบ้ ไร้ซึ่งสติปัญญา ซึ่งอัลลอฮฺได้ตรัสถึงพวกเขาว่า

    ﴿ وَكَأَيِّن مِّنۡ ءَايَةٖ فِي ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضِ يَمُرُّونَ عَلَيۡهَا وَهُمۡ عَنۡهَا مُعۡرِضُونَ ١٠٥ وَمَا يُؤۡمِنُ أَكۡثَرُهُم بِٱللَّهِ إِلَّا وَهُم مُّشۡرِكُونَ ١٠٦ ﴾ [يوسف: ١٠٥-106]

    “และกี่มากน้อยแล้ว จากสัญญาณในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน ที่พวกเขาผ่านมันไปโดยที่พวกเขาผินหลังให้ และส่วนใหญ่ของพวกเขาจะไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ เว้นแต่พวกเขาเป็นผู้ตั้งภาคี” (ยูสุฟ: 105-106)

    และอัลลอฮฺได้ทรงตำหนิบรรดาผู้ที่เพิกเฉยและไม่ใช้สติปัญญาใคร่ครวญศึกษาศาสนาว่า

    ﴿ ۞إِنَّ شَرَّ ٱلدَّوَآبِّ عِندَ ٱللَّهِ ٱلصُّمُّ ٱلۡبُكۡمُ ٱلَّذِينَ لَا يَعۡقِلُونَ ٢٢ ﴾ [الأنفال: ٢٢]

    “แท้จริงสัตว์ที่ชั่วร้ายยิ่ง ณ อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่หูหนวก (ไม่สนใจจะรับฟังโองการของอัลลอฮฺและเราะสูล) ที่เป็นใบ้ (ประหนึ่งเป็นใบ้ เพราะเมื่อไม่เข้าใจก็ไม่พูดไม่ถาม) ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ใช้ปัญญา” (อัลอันฟาล: 22)

    และพระองค์ตรัสว่า

    ﴿ وَلَقَدۡ ذَرَأۡنَا لِجَهَنَّمَ كَثِيرٗا مِّنَ ٱلۡجِنِّ وَٱلۡإِنسِۖ لَهُمۡ قُلُوبٞ لَّا يَفۡقَهُونَ بِهَا وَلَهُمۡ أَعۡيُنٞ لَّا يُبۡصِرُونَ بِهَا وَلَهُمۡ ءَاذَانٞ لَّا يَسۡمَعُونَ بِهَآۚ أُوْلَٰٓئِكَ كَٱلۡأَنۡعَٰمِ بَلۡ هُمۡ أَضَلُّۚ أُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡغَٰفِلُونَ ١٧٩ ﴾ [الأعراف: ١٧9]

    “และแน่นอนเราได้บังเกิดมนุษย์และญินจำนวนมากเพื่อเตรียมไว้สำหรับนรกญะฮันนัม โดยที่พวกเขามีหัวใจ ซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันทำความเข้าใจ และพวกเขามีตา ซึ่งพวกไม่ใช้มันมอง และพวกเขามีหู ซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันฟัง ชนเหล่านี้แหละประหนึ่งปศุสัตว์ ใช่แต่เท่านั้น พวกเขาเป็นผู้หลงผิดยิ่งกว่า ชนเหล่านี้แหละ พวกเขาคือผู้ที่เผอเรอ” (อัลอะอฺรอฟ: 179)

    แน่นอนว่าเมื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดไร้ซึ่งสติปัญญาที่ถูกต้องซึ่งจะนำพาเขาไปสู่ความดี และฉุดดึงเขาให้ออกห่างจากความชั่ว ก็เปรียบได้ดังสัตว์เดรัจฉานที่ใช้ชีวิตดื่มกินไปวัน ๆ โดยไม่ต้องใช้สมองไตร่ตรองสิ่งใด ซึ่งจะว่าไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นยังดีกว่าเขาเสียด้วยซ้ำ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสในอายะฮฺข้างต้น

    ท่านสะฮัล บิน สะอัด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    « إِنَّ اللَّهَ كَرِيمٌ يُحِبُّ الْكَرَمَ، وَيُحِبُّ مَعَالِيَ الْأَخْلَاقِ، وَيَكْرَهُ سَفْسَافَهَا » [رواه الحاكم في مستدركه 1/64]

    “แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงโอบอ้อมใจบุญ พระองค์ทรงรักความใจบุญ ทรงชอบการมีมารยาทที่ดีงาม และทรงรังเกียจมารยาทที่ต่ำทรามชั่วช้า” (บันทึกโดยอัลหากิม 1/64)

    อิบนุหิบบาน กล่าวว่า “การที่คนเราชื่นชอบการมีมารยาทและความประพฤติที่ดี และรังเกียจความประพฤติที่ชั่วช้าต่ำทรามนั้น คือแก่นแท้ของการมีปัญญา ผู้ใดมีสติปัญญานับว่าเป็นผู้ที่โชคดี เขาจะมีความสุขความเบิกบานใจ แม้ยามเหงาและห่างไกลความยากจน ไม่มีทรัพย์สินใดจะดีไปกว่าการเป็นผู้ที่มีสติปัญญา และศาสนาของคนคนหนึ่งจะไม่สมบูรณ์หากเขาขาดสติปัญญา ดังนั้นสติปัญญาจึงถือเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ที่สุด ที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานให้แก่บ่าวของพระองค์ สติปัญญายังเป็นยารักษาจิตใจ เป็นกำลังใจให้เกิดความเพียรขยันประกอบคุณงามความดีเพื่อโลกอาคิเราะฮฺ ทั้งยังเป็นดั่งมงกุฎประดับความงามแก่ผู้ศรัทธาในดุนยา ผู้ที่ไร้สติปัญญานั้นอำนาจบารมีหรือทรัพย์สินเงินทองมิอาจช่วยให้เขาสูงส่งมีเกียรติขึ้นได้ และแน่นอนผู้ที่หลงลืมอาคิเราะฮฺ และมัวเพลิดเพลินกับดุนยานั้น คือผู้ที่ไร้ซึ่งสติปัญญาที่สุด” (เราเฎาะฮฺ อัลอุเกาะลาอ์ วะนุซฮะฮฺ อัลฟุเฎาะลาอ์ หน้า 16-19)

    กวีคนหนึ่งกล่าวว่า

    وَ أَفضَلُ قَسم الله للمرءِ عَقلهُ فَلَيْسَ مِنَ الخَيْرَاتِ شَيْءٌ يُقَارِبُهْ

    إِذَا أَكْمَلَ الرَّحْمَنُ لِلْمَرْءِ عَقْلَهُ فـقـد كَـمُلتْ أخلاقُـه ومآرِبُهُ

    ปัญญาคือสุดยอดของขวัญจากอัลลอฮฺ

    ไม่มีสิ่งใดจะเทียบได้

    หากอัลลอฮฺให้มีปัญญาที่สมบูรณ์แล้วไซร้

    มารยาทและความประพฤติก็จะสมบูรณ์ไปด้วย

    กวีอีกคนหนึ่งกล่าวว่า

    لَيْسَ الجَمَالُ بِأَثْوَابٍ تُزَيِّنُنَا إِنَّ الجَمَالَ جَمَالُ العَقْلِ وَالأَدَبِ

    ความงามที่แท้จริงมิได้ขึ้นอยู่กับเสื้อผ้าอาภรณ์

    แต่เป็นความงดงามของสติปัญญาและมารยาท

    อาจมีคำถามว่าสติปัญญาคืออะไร? และใครคือผู้มีสติปัญญา?

    สติปัญญาคือ การรู้จักแยกแยะสิ่งที่เป็นความถูกต้องชอบธรรมอันควรประพฤติปฏิบัติ และหลีกเลี่ยงออกห่างจากสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ในอายะฮฺที่ว่า

    ﴿ حَتَّىٰٓ إِذَا بَلَغَ أَشُدَّهُۥ وَبَلَغَ أَرۡبَعِينَ سَنَةٗ ﴾ [الأحقاف: ١٥]

    “จนกระทั่งเมื่อเขาบรรลุวัยหนุ่มฉกรรจ์ของเขา และมีอายุถึงสี่สิบปี” (อัลอะหฺกอฟ: 15)

    อิบนุกะษีรฺ ได้กล่าวอธิบายว่า “หมายถึง เมื่อเขามีสติปัญญาที่สมบูรณ์ มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และความอดทนอดกลั้นอย่างสูง ซึ่งกล่าวกันว่าคุณลักษณะเหล่านี้มักจะเริ่มคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เมื่อมีอายุสี่สิบปี” (ตัฟสีรฺอิบนุกะษีรฺ เล่ม 13 หน้า 15)

    อิบนุหัซมฺ กล่าวว่า “การมีสติปัญญา คือการปฏิบัติตามคำสั่งใช้และกระทำสิ่งที่ดีงาม พร้อมหลีกห่างจากการฝ่าฝืนและสิ่งชั่วร้าย อัลลอฮฺได้ทรงระบุในคัมภีร์ของพระองค์ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนพระองค์ เขาผู้นั้นคือผู้ที่ไร้ซึ่งสติปัญญา พระองค์ตรัสว่า

    ﴿ وَقَالُواْ لَوۡ كُنَّا نَسۡمَعُ أَوۡ نَعۡقِلُ مَا كُنَّا فِيٓ أَصۡحَٰبِ ٱلسَّعِيرِ ١٠ فَٱعۡتَرَفُواْ بِذَنۢبِهِمۡ فَسُحۡقٗا لِّأَصۡحَٰبِ ٱلسَّعِيرِ ١١ ﴾ [الملك: ١٠-١١]

    “และพวกเขากล่าวอีกว่า หากพวกเราฟังและใช้สติปัญญาใคร่ครวญ พวกเราก็จะมิได้อยู่เป็นชาวนรกอย่างนี้ดอก พวกเขายอมสารภาพในความผิดของพวกเขา แต่มันห่างไกลไปเสียแล้วสำหรับชาวนรก” (อัลมุลกฺ: 10-11)

    ส่วนความโง่เขลา คือการฝ่าฝืนและลุ่มหลงอยู่กับความชั่วร้ายต่ำช้า ซึ่งตรงกันข้ามการมีสติปัญญา ส่วนสิ่งที่อยู่กลาง ๆ ระหว่างสองสิ่งนี้คือความไร้สาระ” (อัลอัคลาก หน้า 65-66)

    มีชายผู้หนึ่งถามอิบนุลมุบาร็อกว่า “อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดในบรรดาสิ่งที่คนคนหนึ่งมี?” ท่านตอบว่า “สติปัญญาอันเฉียบคม” เขาถามอีกว่า “หากเขาไม่มีสิ่งนั้นเล่า?” ท่านตอบว่า “มารยาทอันงดงาม” เขากล่าวถามว่า “หากเขาทำไม่ได้เล่า?” ท่านตอบว่า “การมีเพื่อนที่ดีคอยให้คำปรึกษา” ชายผู้นั้นถามต่อว่า “หากไม่มีเล่า?” ท่านตอบว่า “การนิ่งเงียบ” ชายคนดังกล่าวถามว่า “หากเขาทำไม่ได้เล่า?” ท่านตอบว่า “ถ้าเป็นเช่นนั้น ความตายก็คงจะเป็นการดีที่สุด” (เราเฎาะตุล อุเกาะลาอ์ หน้า 17)

    บุคคลที่มีความประพฤติที่ดี และมีสติปัญญาอันชาญฉลาดนั้น มักจะเป็นที่รักของคนทั่วไป ซึ่งท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นผู้ที่มีสติปัญญาและไหวพริบปฏิภาณอันล้ำเลิศที่สุด ในยุคญาฮิลิยะฮฺก่อนที่ท่านจะได้รับวะฮีย์จากอัลลอฮฺ ท่านไม่เคยก้มกราบเจว็ดรูปปั้นเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่มันมีอยู่เป็นจำนวนมากรอบ ๆ ตัวท่าน และผู้คนต่างยึดถือบูชาเคารพสักการะกันก็ตาม เพราะท่านทราบดีว่าเจว็ดเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งไร้ชีวิตที่ไม่เคยให้คุณให้โทษแก่ใคร นอกจากนี้ชาวกุร็อยชฺยังเคยฝากทรัพย์สินของพวกเขาให้ท่านดูแลรักษา ทั้งยังขอคำปรึกษาและคำชี้แนะจากท่านอยู่เสมอด้วยความที่ท่านเป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉียบคม และมีความคิดความอ่านที่หลักแหลม และท่านยังได้ปลีกตัวออกห่างจากผู้คน แล้วเข้าไปอยู่ในถ้ำหิรออฺ เพื่อวิงวอนขอให้พระผู้อภิบาลทรงโปรดประทานทางนำแก่ท่าน

    มีบันทึกในเศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์ว่า ท่านอบูบักรฺได้กล่าวแก่ ซัยดฺ บิน ษาบิต ว่า “แท้จริงท่านเป็นคนหนุ่มที่มีสติปัญญาหลักแหลม และเราก็ไม่พบว่าท่านมีข้อเสียหายใด ๆ ท่านคือผู้ที่บันทึกวะฮีย์แก่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดังนั้นขอให้ท่านรวบรวมอัลกุรอานให้มาอยู่ที่เดียวเถิด” ซัยดฺกล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ หากพวกเขามอบหมายให้ฉันขนย้ายภูเขาทั้งลูก ยังเป็นการง่ายสำหรับฉันยิ่งกว่าการที่ให้ฉันรวบรวมอัลกุรอานเสียอีก” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษซึ่งบันทึกโดย อัลบุคอรีย์ เลขที่ 4987)

    มีเรื่องเล่าว่า ชาวนะศอรอกลุ่มหนึ่งได้พูดคุยกันในหมู่พวกเขา โดยมีผู้หนึ่งกล่าวว่า “พวกมุสลิมช่างไร้สติปัญญาเสียนี่กระไร พวกเขาอ้างว่าศาสนทูตของพวกเขาเคยเป็นคนเลี้ยงแกะ มันเหมาะสมหรือที่คนเลี้ยงแกะเลี้ยงจะได้เป็นศาสนทูต?” ทันใดนั้นมีคนหนึ่งในกลุ่มกล่าวขึ้นว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ในความเป็นจริงแล้วพวกเขามีสติปัญญาที่ชาญฉลาดกว่าพวกเรา เพราะอัลลอฮฺทรงมีเหตุผลอันล้ำลึกในการที่ทรงให้ศาสนทูตของพระองค์เคยชินกับการเลี้ยงสัตว์ เมื่อท่านสามารถเลี้ยงดูสัตว์ได้เป็นอย่างดี พระองค์ก็ทรงให้ท่านได้ปกครองดูแลมนุษย์ตามลำดับอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่พวกเราชาวนะศอรอ กลับยกย่องเชิดชูทารกซึ่งเกิดจากสตรีนางหนึ่ง ใช้ชีวิตไปกับการกินการดื่ม ปัสสาวะ และร้องไห้ ให้เป็นพระเจ้าผู้สร้างชั้นฟ้าและแผ่นดิน” ผู้คนในกลุ่มจึงพากันเงียบกริบ (ญามิอุลอาดาบ เล่ม 1 หน้า 218)

    ข้อสังเกตบางประการ

    ข้อแรก สติปัญญาความคิดของคนเรานั้นขึ้นอยู่กับหัวใจ ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า

    ﴿ أَفَلَمۡ يَسِيرُواْ فِي ٱلۡأَرۡضِ فَتَكُونَ لَهُمۡ قُلُوبٞ يَعۡقِلُونَ بِهَآ أَوۡ ءَاذَانٞ يَسۡمَعُونَ بِهَاۖ فَإِنَّهَا لَا تَعۡمَى ٱلۡأَبۡصَٰرُ وَلَٰكِن تَعۡمَى ٱلۡقُلُوبُ ٱلَّتِي فِي ٱلصُّدُورِ ٤٦ ﴾ [الحج : ٤٦]

    “พวกเขามิได้ออกเดินทางไปในแผ่นดินดอกหรือ เพื่อหัวใจจะได้พิจารณาเพื่อพวกเขาเอง หรือมีหูเพื่อสดับฟังมัน เพราะแท้จริงการมองของนัยน์ตานั้นมิได้บอดดอก แต่ว่าหัวใจที่อยู่ในทรวงอกต่างหากที่บอด” (อัลหัจญ์: 46)

    ชัยคฺ มุหัมมัด อัชชันกีฏีย์ กล่าวว่า “เป็นการไม่ถูกต้องที่จะกล่าวว่า สติปัญญานั้นอยู่ที่สมองดังที่พวกนักปรัชญาได้กล่าวไว้ และมีมุสลิมบางส่วนคล้อยตาม ซึ่งนักวิชาการมุสลิมส่วนใหญ่ มีความเห็นว่าสติปัญญานั้นมีหัวใจเป็นศูนย์บัญชาการ ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ وَلَقَدۡ ذَرَأۡنَا لِجَهَنَّمَ كَثِيرٗا مِّنَ ٱلۡجِنِّ وَٱلۡإِنسِۖ لَهُمۡ قُلُوبٞ لَّا يَفۡقَهُونَ بِهَا ﴾ [الأعراف: ١٧9]

    “และแน่นอนเราได้บังเกิดสำหรับญะฮันนัมซึ่งมากมายจากญินและมนุษย์ โดยที่พวกเขามีหัวใจซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันทำความเข้าใจ” (อัลอะอฺรอฟ: 179)

    โดยพระองค์ได้ทรงตำหนิพวกเขาว่า เป็นผู้ที่ไม่มีความเข้าใจ ซึ่งการจะเข้าใจได้ต้องใช้สติปัญญา จึงเป็นหลักฐานยืนยันว่าสติปัญญานั้นอยู่ที่หัวใจ และพระองค์ยังตรัสว่า

    ﴿ وَلَمَّا يَدۡخُلِ ٱلۡإِيمَٰنُ فِي قُلُوبِكُمۡۖ ﴾ [الحجرات: ١٤]

    “เพราะการศรัทธายังมิได้เข้าสู่หัวใจของพวกท่าน” (อัลหุญรอต: 14)

    อันนุอฺมาน บิน บะชีรฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะลัลลัม กล่าวว่า

    « أَلَا وَإِنَّ فِي الْجَسَدِ مُضْغَةً، إِذَا صَلَحَتْ صَلَحَ الْجَسَدُ كُلُّهُ، وَإِذَا فَسَدَتْ فَسَدَ الْجَسَدُ كُلُّهُ، أَلَا وَهِيَ الْقَلْبُ » [رواه البخاري برقم 52 ومسلم برقم 1599]

    “พึงทราบเถิดว่าในร่างกายเรานั้นมีก้อนเนื้ออยู่ก้อนหนึ่ง ถ้าส่วนดังกล่าวดี ร่างกายทุกส่วนก็จะดีตามไปด้วย แต่ถ้าส่วนดังกล่าวไม่ดี ร่างกายส่วนอื่นๆ ก็จะไม่ดี ก้อนเนื้อที่ว่านั้นก็คือหัวใจนั่นเอง” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 52 และ มุสลิม หะดีษเลขที่ 1599)

    เมื่อหัวใจมีความศรัทธามั่น ทุกส่วนของร่างกายก็จะเป็นเช่นนั้น จะน้อมรับปฏิบัติตามคำสั่งใช้ และละทิ้งข้อสั่งห้าม เพราะหัวใจนั้นคือศูนย์ปฏิบัติการของร่างกาย ดังนั้น จึงเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าหัวใจคือศูนย์รวมของความเข้าใจ ความคิด และสติปัญญา” (อัรริหฺละฮฺ อิลา อัฟรีเกีย หน้า 25-29)

    ข้อที่สอง มิใช่ทุกคนที่อ้างว่าตนเองเป็นผู้มีสติปัญญา จะเป็นผู้ที่มีสติปัญญาอย่างแท้จริง เพราะคำกล่าวอ้างเช่นนั้นแม้แต่คนโง่เขลาเบาปัญญาก็กล่าวอ้างได้ แต่ผู้ที่มีสติปัญญาที่แท้จริง คือผู้ที่หลีกห่างจากความโง่เขลา การทำบาป ห่างไกลจากความประพฤติที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติทุกประการ และจะต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งใช้ และมีมารยาทที่ดีงามด้วย

    อิบนุหิบบาน กล่าวหลังจากยกทัศนะของอุละมาอ์เกี่ยวกับความหมายของการมีเกียรติ (المروءة) ว่า “สำหรับฉันแล้ว เห็นว่าการมีเกียรตินั้นประกอบด้วยสองคุณลักษณะคือ การออกห่างจากการกระทำที่อัลลอฮฺและบรรดาผู้ศรัทธารังเกียจ และประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่อัลลอฮฺและผู้ศรัทธาพึงพอใจ ซึ่งการปฏิบัติทั้งสองคุณลักษณะนี้ได้ คือแก่นแท้ของการมีสติปัญญานั่นเอง ดังที่มีรายงานว่า การมีเกียรติของบุคคลหนึ่งนั้น คือการที่เขามีสติปัญญา” (เราะเฎาะตุล อุเกาะลาอ์ หน้า 232)

    ข้อที่สาม บางคนอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด แต่อาจไม่ใช่ผู้มีสติปัญญา เพราะความเฉลียวฉลาดคือความเข้าใจที่ว่องไวรวดเร็ว ส่วนสติปัญญาคือสิ่งที่จะคอยเตือนใจมนุษย์มิให้กระทำในสิ่งที่มิควร

    ข้อที่สี่ สติปัญญามีสองประเภท ชัยคฺ อิบนุอุษัยมีน กล่าวว่า “การมีสติสัมปชัญญะ คือเงื่อนไขสำคัญสำหรับการปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนา ซึ่งก็คือการรับรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ สติปัญญาในลักษณะดังกล่าวนี้คือสิ่งที่อุละมาอ์ได้กล่าวถึง ในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอิบาดะฮฺ ธุรกรรมต่าง ๆ และเรื่องอื่น ๆ ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือ สติปัญญาที่บ่งบอกถึงความเฉลียวฉลาด (عقل الرشد) คือการที่คนเรารู้จักประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เหมาะที่ควร ซึ่งผู้ที่รู้จักปฏิบัติสิ่งที่เหมาะที่ถูกต้องนี้ เรียกว่าเป็นผู้ที่มีสติปัญญา” (ตัฟสีร สูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ เล่ม 1 หน้า 158)

    อัลลอฮฺ ตรัสว่า

    ﴿ كَذَٰلِكَ يُحۡيِ ٱللَّهُ ٱلۡمَوۡتَىٰ وَيُرِيكُمۡ ءَايَٰتِهِۦ لَعَلَّكُمۡ تَعۡقِلُونَ ٧٣ ﴾ [البقرة: ٧٣]

    “ในทำนองนั้นแหละอัลลอฮฺจะทรงให้ผู้ที่ตายมีชีวิตขึ้นมา และจะทรงให้พวกเจ้าเห็นสัญญาณต่าง ๆ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้เข้าใจ” (อัลบะเกาะเราะฮฺ: 73)

    และพระองค์ตรัสว่า

    ﴿ ۞أَتَأۡمُرُونَ ٱلنَّاسَ بِٱلۡبِرِّ وَتَنسَوۡنَ أَنفُسَكُمۡ وَأَنتُمۡ تَتۡلُونَ ٱلۡكِتَٰبَۚ أَفَلَا تَعۡقِلُونَ ٤٤ ﴾ [البقرة: ٤٤]

    “พวกเจ้าใช้ให้ผู้คนกระทำความดี โดยที่พวกเจ้าลืมตัวของพวกเจ้าเองกระนั้นหรือ และทั่ง ๆ ที่พวกเจ้าอ่านคัมภีร์อยู่ แล้วพวกเจ้าไม่ใช้ปัญญากระนั้นหรือ” (อัลบะเกาะเราะฮฺ: 44)

    ข้อที่ห้า บางคนอาจเป็นผู้ที่มีสติปัญญาอันชาญฉลาดเฉียบคม แต่ทว่าเขากลับไม่ได้รับทางนำ ดังมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ทั้งนี้ บรรดานักประดิษฐ์ที่คิดค้นสิ่งต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า เครื่องบิน ระเบิดนิวเคลียร์ หรืออื่น ๆ อีกมากมาย โดยที่พวกเขามิใช่มุสลิม แต่เป็นชาวยิว ชาวคริสต์ หรือพวกไร้ศาสนา

    นอกจากนี้อัลลอฮฺได้ตรัสถึงชาวอ๊าด ซึ่งพวกเขาเป็นผู้มีที่มีสติปัญญาและมีไหวพริบปฏิภาณเป็นเลิศ พวกเขาได้สร้างอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง อัลลอฮฺ ตรัสว่า

    ﴿ إِرَمَ ذَاتِ ٱلۡعِمَادِ ٧ ٱلَّتِي لَمۡ يُخۡلَقۡ مِثۡلُهَا فِي ٱلۡبِلَٰدِ ٨ ﴾ [الفجر: ٧-٨]

    (แห่ง) อิร็อม พวกเขามีเสาหินสูงตระหง่าน ซึ่งเยี่ยงนั้นมิได้ถูกสร้างตามหัวเมืองต่าง ๆ” (อัลฟัจญรฺ: 7-8)

    แต่ทว่าพวกเขากลับปฏิเสธโองการของพระองค์ สติปัญญาและความสามารถที่พวกเขามีจึงมิอาจยังประโยชน์อันใดแก่พวกเขาได้ แต่จะกลับกลายเป็นเพียงความวิบัติแก่พวกเขาเอง อัลลอฮฺ ตรัสว่า

    ﴿ وَلَقَدۡ مَكَّنَّٰهُمۡ فِيمَآ إِن مَّكَّنَّٰكُمۡ فِيهِ وَجَعَلۡنَا لَهُمۡ سَمۡعٗا وَأَبۡصَٰرٗا وَأَفۡ‍ِٔدَةٗ فَمَآ أَغۡنَىٰ عَنۡهُمۡ سَمۡعُهُمۡ وَلَآ أَبۡصَٰرُهُمۡ وَلَآ أَفۡ‍ِٔدَتُهُم مِّن شَيۡءٍ إِذۡ كَانُواْ يَجۡحَدُونَ بِ‍َٔايَٰتِ ٱللَّهِ وَحَاقَ بِهِم مَّا كَانُواْ بِهِۦ يَسۡتَهۡزِءُونَ ٢٦ ﴾ [الأحقاف: ٢٦]

    “และโดยแน่นอน เราได้ตั้งหลักแหล่งที่มั่นคงแก่พวกเขา โดยที่เรามิได้ตั้งหลักแหล่งที่มั่นคงแก่พวกเจ้าในนั้น และเราได้ทำให้พวกเขา มีหูตาและหัวใจ แต่ว่าหูของพวกเขา ตามของพวกเขา และหัวใจของพวกเขามิได้อำนวยประโยชน์อันใดแก่พวกเขา และสิ่งที่พวกเขาได้เคยเยาะเย้ยไว้นั้นก็ห้อมล้อมพวกเขา” (อัลอะหฺกอฟ: 26)

    والحمد لله رب العالمين، وصلى الله وسلم على نبينا محمد،

    وعلى آله وصحبه أجمعين.