×
กล่าวถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งกายของผู้หญิงมุสลิม ที่หลายคนละเลยและไม่ได้ใส่ใจ ซึ่งเป็นหน้าที่ผู้นำครอบครัวจะต้องรับผิดชอบในการสอนและเตือนบรรดาสตรีที่อยู่ใต้การดูแลของเขาด้วย อธิบายหลักฐานต่างๆ จากอัลกุรอานและหะดีษ รวมถึงความเห็นของนักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ เป็นบทความจากหนังสืออัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ ของเชคอะมีน อัช-ชะกอวีย์

    ผู้หญิงกับการฝ่าฝืนเรื่องการแต่งกาย

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : มาวัดดะห์ จะปะกียา

    ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

    ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-
    มุลกอฮฺ

    2013 - 1434


    أحكام لباس المرأة

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبدالله الشقاوي

    ترجمة: مودة بنت إسماعيل لطفي جافاكيا

    مراجعة: عصران نيومديشا

    المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة

    2013 - 1434

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    ผู้หญิงกับการฝ่าฝืนเรื่องการแต่งกาย

    มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและศานติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

    อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า

    ﴿ ٱلرِّجَالُ قَوَّٰمُونَ عَلَى ٱلنِّسَآءِ بِمَا فَضَّلَ ٱللَّهُ بَعۡضَهُمۡ عَلَىٰ بَعۡضٖ وَبِمَآ أَنفَقُواْ مِنۡ أَمۡوَٰلِهِمۡۚ ﴾ [النساء : ٣٤]

    ความว่า “บรรดาชายนั้น คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองบรรดาสตรี เนื่องด้วยการที่อัลลอฮฺได้ทรงให้บางคนของพวกเขาเหนือกว่าอีกบางคน และด้วยการที่พวกเขาได้ใช้จ่ายไปจากทรัพย์ของพวกเขา (ในการเลี้ยงดูภรรยา) (อัน-นิสาอ์: 34)

    ท่านอิบนุกะษีร (ขอความเมตตาจงประสบแด่ท่าน) ได้อธิบายความหมายจากโองการข้างต้นว่า “ผู้ชายนั้นมีร่างกายที่กำยำ มีกำลังที่แข็งแรง และมีความกล้าหาญเหนือกว่าหญิง ดังนั้น เขาจึงมีหน้าที่ปกครองและเลี้ยงดูผู้หญิง เป็นหัวหน้าของพวกนาง เป็นผู้ตัดสินในหมู่พวกนาง และเป็นผู้ดัดนิสัยพวกนางเมื่อพวกนางได้กระทำผิด” (ตัฟสีรอิบนุกะษีร เล่ม 4 หน้า 20)

    ท่านอิบนุ อับบาส กล่าวว่า “โองการที่ว่า ‘บรรดาชายนั้น คือผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองบรรดาสตรี’ บรรดาชายในที่นี้ คือ ผู้ปกครองชายทั้งหลายที่บรรดาผู้หญิงจะต้องเคารพเชื่อฟังในสิ่งที่พวกเขาได้สั่งใช้ให้นางปฏิบัติ เพราะอัลลอฮฺตะอาลาได้สั่งใช้ให้นางเชื่อฟัง โดยการเชื่อฟังนั้นจะต้องอยู่ในกรอบของการสั่งใช้ในสิ่งที่ดีงาม โดยที่เขานั้นจะต้องเป็นผู้ที่ดีต่อครอบครัว และรักษาซึ่งเกียรติและทรัพย์สินของครอบครัว” (ตัฟสีรอิบนุกะษีร เล่ม 4 หน้า 21)

    อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า

    ﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ قُوٓاْ أَنفُسَكُمۡ وَأَهۡلِيكُمۡ نَارٗا وَقُودُهَا ٱلنَّاسُ وَٱلۡحِجَارَةُ عَلَيۡهَا مَلَٰٓئِكَةٌ غِلَاظٞ شِدَادٞ لَّا يَعۡصُونَ ٱللَّهَ مَآ أَمَرَهُمۡ وَيَفۡعَلُونَ مَا يُؤۡمَرُونَ ٦ ﴾ [التحريم: ٦]

    ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงคุ้มครองตัวของพวกเจ้า และครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรก เพราะเชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์และก้อนหิน มีมลาอิกะฮฺผู้แข็งกร้าวหาญคอยเฝ้ารักษามันอยู่ พวกเขาจะไม่ฝ่าฝืนอัลลอฮฺในสิ่งที่พระองค์ทรงบัญชาแก่พวกเขา และพวกเขาจะปฏิบัติตามที่ถูกบัญชา” (อัต-ตะหฺรีม: 6)

    นี่เป็นการเรียกร้องของอัลลอฮฺ แก่ปวงบ่าวของพระองค์ที่เป็นมุอ์มิน (ผู้ศรัทธา) และทรงตักเตือนพวกเขาให้คุ้มครองปกป้องตนเองและครอบครัวที่ประกอบไปด้วยภรรยาและลูกหลานให้รอดพ้นจากไฟนรกที่ร้อนแรง ด้วยการหยุดกระทำสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระองค์และเราะสูลของพระองค์

    แต่น่าสลดใจยิ่งนัก ที่ผู้ชายบางคนไม่ค่อยได้ตระหนัก และปล่อยปะละเลยการตักเตือนภรรยาและบรรดาลูกสาวที่อยู่ภายใต้การดูแลของตนเองจากการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนคำบัญชาของอัลลอฮฺ ปล่อยให้ผู้หญิงต้องกุมเชือกบังเหียนเอง ด้วยเหตุนี้ทำให้เราเห็นผู้หญิงมากมายในปัจจุบันที่แต่งกายฝ่าฝืนบทบัญญัติที่อิสลามได้กำหนดไว้สำหรับพวกนาง

    การฝ่าฝืนในเรื่องการแต่งกายของบรรดาสตรีนั้นมีหลากหลายรูปแบบ โดยจำแนกออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ

    1.เครื่องแต่งกายเมื่ออยู่ในหมู่สตรีด้วยกัน และเมื่ออยู่กับชายซึ่งเป็นมะหฺร็อม มีการฝ่าฝืนดังนี้

    1.1 การนุ่งเสื้อผ้าที่โปร่งบาง ซึ่งพบเห็นได้มากในพิธีแต่งงาน งานสังสรรค์ และตามโอกาสต่างๆ ที่ผู้เข้าร่วมเป็นผู้หญิงทั้งหมด แม้กระทั่งในการใช้ชีวิตประจำวันที่บ้านของนางเอง การนุ่งเสื้อผ้าที่มีลักษณะบางเมื่ออยู่ในบ้าน ต่อหน้าสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้หญิงและมะหฺร็อมของนาง ก็ถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

    1.2 การสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดรูป มองเห็นรูปร่างสัดส่วนของร่างกายชัดเจน

    1.3 การนุ่งเสื้อผ้าที่เปิดเผยสัดส่วน ผ่าหน้า ผ่าหลัง กึ่งเปลือย เผยให้เห็นอวัยวะร่างกายบางส่วนที่พึงปกปิด

    1.4 การนุ่งกางเกง ซึ่งมีการสวมใส่กันเยอะมากในหมู่สตรี โดยเฉพาะเวลาอยู่บ้าน บางคนยังสวมใส่ออกไปนอกบ้าน พร้อมกับใส่ผ้าคลุมหัวพาดถึงไหล่ คล้ายกับการแต่งตัวของผู้ชาย

    ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า

    « لَعَنَ رَسُولُ اللهِ صلى الله عليه وسلم الرَّجُلَ يَلْبَسُ لِبْسَةَ المَرْأَةِ، والمَرْأَةَ تَلْبَسُ لِبْسَةَ الرَّجُلِ » [رواه أبو داود برقم 4098]

    ความว่า “ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สาปแช่งผู้ชายที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าของสตรี และสตรีที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าของบุรุษ” (บันทึกโดย อบู ดาวูด: 4098)

    คำฟัตวาชี้ขาดของคณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยทางวิชาการและการฟัตวาแห่งประเทศซาอุดีอารเบีย เลขที่ (21302) ได้ระบุถึงเรื่องขอบเขตของเอาเราะฮฺ (ส่วนที่ไม่อนุญาตให้เปิดเผย) ของผู้หญิงเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้หญิงด้วยกัน และลักษณะการแต่งกายที่เหมาะสม เมื่ออยู่ต่อหน้าบรรดาผู้หญิงด้วยกันว่า:

    “เมื่อนางอยู่ต่อหน้าผู้หญิงด้วยกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่นางจะต้องมีความละอาย ซึ่งท่านนบีได้ตระหนักให้พวกนางมีความละอายในตัวเอง เพราะความละอายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา นางจะต้องไม่เปิดเผยเอาเราะฮฺต่อหน้าผู้หญิงด้วยกัน เว้นแต่สิ่งที่เปิดเผยได้ต่อหน้ามะหฺร็อมของนางในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานทั่วไปภายในบ้าน ดังที่อัลลฮฮฺ ตะอาลาตรัสไว้ว่า

    ﴿ وَلَا يُبۡدِينَ زِينَتَهُنَّ إِلَّا لِبُعُولَتِهِنَّ أَوۡ ءَابَآئِهِنَّ أَوۡ ءَابَآءِ بُعُولَتِهِنَّ أَوۡ أَبۡنَآئِهِنَّ أَوۡ أَبۡنَآءِ بُعُولَتِهِنَّ أَوۡ إِخۡوَٰنِهِنَّ أَوۡ بَنِيٓ إِخۡوَٰنِهِنَّ أَوۡ بَنِيٓ أَخَوَٰتِهِنَّ أَوۡ نِسَآئِهِنَّ أَوۡ مَا مَلَكَتۡ أَيۡمَٰنُهُنَّ أَوِ ٱلتَّٰبِعِينَ غَيۡرِ أُوْلِي ٱلۡإِرۡبَةِ مِنَ ٱلرِّجَالِ أَوِ ٱلطِّفۡلِ ٱلَّذِينَ لَمۡ يَظۡهَرُواْ عَلَىٰ عَوۡرَٰتِ ٱلنِّسَآءِۖ وَلَا يَضۡرِبۡنَ بِأَرۡجُلِهِنَّ لِيُعۡلَمَ مَا يُخۡفِينَ مِن زِينَتِهِنَّۚ وَتُوبُوٓاْ إِلَى ٱللَّهِ جَمِيعًا أَيُّهَ ٱلۡمُؤۡمِنُونَ لَعَلَّكُمۡ تُفۡلِحُونَ ٣١ ﴾ [النور : ٣١]

    ความว่า “และอย่าเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอ เว้นแต่แก่สามีของพวกเธอ หรือบิดาของพวกเธอ หรือบิดาของสามีของพวกเธอ หรือลูกชายของพวกเธอ หรือลูกชายของสามีของพวกเธอ หรือพี่ชายน้องชายของพวกเธอ หรือลูกชายของพี่ชายน้องชายของพวกเธอ หรือพวกผู้หญิงของพวกเธอ (พวกผู้หญิงที่เป็นมุสลิมะฮฺ) หรือที่มือขวาของพวกเธอครอบครอง (ทาสและทาสี) หรือคนใช้ผู้ชายที่ไม่มีความรู้สึกทางเพศ หรือเด็กที่ยังไม่รู้เรื่องเพศสงวนของผู้หญิง และอย่าให้เธอกระทืบเท้าของพวกเธอเพื่อให้ผู้อื่นรู้สิ่งที่พวกเธอควรปกปิดในเครื่องประดับของพวกเธอ (เพราะสตรีในสมัยญาฮิลียะฮฺ เมื่อเธอเดินผ่านฝูงชน เธอจะกระทืบเท้า เพื่อให้ผู้คนได้ยินเสียงกำไลเท้าของเธอ) และพวกเจ้าทั้งหลายจงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮฺเถิด โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ” (อัน-นูร: 31)

    และนี่คือโองการจากอัลลอฮฺตะอาลาแก่บรรดามุอ์มินะฮฺทั้งหลาย ซึ่งตรงกับสุนนะฮฺที่ท่านเราะสูลได้สั่งใช้บรรดาภรรยาของท่านเราะสูล บรรดาเศาะหาบิยาต และผู้ที่เจริญรอยตามแนวทางของพวกนาง จากบรรดาสตรีทั้งหลายจนถึงยุคของเรา ณ ปัจจุบัน

    และ สิ่งที่นางพึงเปิดเผยได้ ที่ได้กล่าวไว้ในโองการข้างต้น ก็คือสิ่งที่นางเปิดเผยโดยส่วนใหญ่ในการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงานภายในบ้านของนาง และเป็นส่วนที่ลำบากสำหรับพวกนางที่จะหลีกเลี่ยงไม่เปิดเผยส่วนนั้น นั่นก็คือ การเปิดเผยในส่วนของศีรษะ มือทั้งสองข้าง และลำคอ แต่หากว่า เปิดเผยมากเกินไปในส่วนนั้น (อาจจะด้วยความสั้น บาง หรือรัดรูปของเสื้อผ้า) เป็นสิ่งที่ไม่อนุญาต ด้วยหลักฐานที่ยืนยันชัดเจนจากอัลกรุอานและสุนนะฮฺ เพราะการเปิดเผยในลักษณะนั้นจะเป็นหนทางหนึ่งที่ก่อให้เกิดฟิตนะฮฺในหมู่สตรีเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่และเกิดขึ้นจริงในสังคมของเรา โดยที่เราไม่อาจจะปฏิเสธได้ นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างแบบอย่างที่ไม่ดีแก่ผู้หญิงคนอื่นๆอีกด้วย และที่มากไปกว่านั้นคือมันเป็นการแต่งกายที่ลอกเลียนแบบการแต่งกายของบรรดาผู้หญิงกาฟิรผู้ปฏิเสธศรัทธา และบรรดาหญิงโสเภณีอีกด้วย

    มีรายงานหะดีษเศาะฮีหฺ จากท่านอิบนุอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮอัลฮุมา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    « مَنْ تَشَبَّهَ بِقَوْمٍ فَهُوَ مِنْهُمْ » [رواه أبو داود برقم 4031]

    ความว่า “ผู้ใดเลียนแบบกลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใด ดังนั้น เขาก็เป็นพวกเดียวกับชนกลุ่มนั้น” (รายงานโดย อบู ดาวูด: 4031)

    ยังมีรายงานหะดีษเศาะฮีหฺอีกบทหนึ่งซึ่งบันทึกโดยท่านอิมามมุสลิม จากอับดุลลอฮ บิน อัมรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า แท้จริง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เห็นเสื้อผ้าสองตัวที่ย้อมสีเหลืองฉูดฉาด แล้วท่านกล่าวว่า

    « إِنَّ هَذِهِ مِنْ ثِيَابِ الْكُفَّارِ فَلَا تَلْبَسْهَا » [مسلم برقم 2077]

    ความว่า “แท้จริงมันคือเสื้อผ้าของบรรดาผู้ปฏิเสธ ดังนั้น ท่านอย่าได้สวมใส่มัน” (บันทึกโดย มุสลิม: 2077)

    นอกจากนี้การสวมใส่เสื้อผ้าในรูปแบบดังกล่าวยังสอดคล้องกับลักษณะต้องห้ามในหะดีษที่รายงานโดยอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งกล่าวว่า

    « صِنْفَانِ مِنْ أَهْلِ النَّارِ لَمْ أَرَهُمَا: قَوْمٌ مَعَهُمْ سِيَاطٌ كَأَذْنَابِ الْبَقَرِ يَضْرِبُونَ بِهَا النَّاسَ، وَنِسَاءٌ كَاسِيَاتٌ عَارِيَاتٌ، مُمِيلاَتٌ مَائِلاَتٌ، رُءُوسُهُنَّ كَأَسْنِمَةِ الْبُخْتِ الْمَائِلَةِ، لاَ يَدْخُلْنَ الْجَنَّةَ وَلاَ يَجِدْنَ رِيحَهَا، وَإِنَّ رِيحَهَا لَيُوجَدُ مِنْ مَسِيرَةِ كَذَا وَكَذَا » [رواه مسلم برقم 2128]

    ความว่า: “มีชาวนรกอีกสองจำพวกที่ฉันยังไม่เคยเห็นพวกเขา พวกแรกคือกลุ่มชนที่ใช้แส้เฉกเช่นหางวัวโบยผู้คนทั้งหลาย และพวกที่สองคือผู้หญิงที่สวมเสื้อผ้าแต่ยังดูเปลือยกายอยู่ เป็นผู้หญิงที่เอียงไปเอียงมาในขณะที่เดิน ศีรษะของพวกนางทำมวยผมไว้สูงเหมือนกับโหนกอูฐที่โอนเอียง พวกนางจะไม่ได้เข้าสวรรค์และจะไม่ได้รับกลิ่นอายของสวรรค์ด้วย ทั้งๆที่แท้จริงแล้ว กลิ่นอายของสวรรค์นั้น สามารถที่รับรู้ได้จากระยะทางเท่านั้นเท่านี้” (บันทึกโดย มุสลิม: 2128)

    คำว่า كاسِيَاتٌ عَارِيَاتٌ หมายถึง บรรดาผู้หญิงที่นางได้สวมใส่เสื้อผ้า แต่เป็นเสื้อผ้าที่ไม่ได้ปกปิดเรือนร่างของนาง ซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้ต่างอะไรกับการเปลือยกายเลย เช่น การแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่บาง มองเห็นสีผิวพรรณและเรือนร่าง หรือแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่รัดรูป มองเห็นสัดส่วนต่างๆของร่างกายอย่างชัดเจน หรือแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สั้น จนไม่ปกปิดบางส่วนของอวัยวะที่พึงปกปิด ดังนั้น เป็นสิ่งที่วาญิบ (จำเป็น) อย่างยิ่งสำหรับมุสลิมะฮฺ ที่จะต้องใส่ใจในเรื่องการปกปิดร่างกายที่ถูกต้องและเหมาะสม ตามแนวทางของบรรดามารดาแห่งศรัทธาชน (อุมมุลมุอ์มินีน) และเหล่าเศาะหาบิยาต ที่ได้ปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่างแก่สตรีทั้งหลายมาแล้วก่อนหน้านี้ และจงระวัง การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ในเรื่องการแต่งกายที่ลอกเลียนแบบเครื่องแต่งกายของบรรดาหญิงผู้ปฏิเสธศรัทธาและหญิงโสเภณี

    และเช่นเดียวกัน สำหรับบรรดาผู้ศรัทธาชายทั้งหลาย จงเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺในเรื่องการแต่งกายของบรรดาสตรีที่อยู่ภายใต้การปกครองของท่าน อย่าได้ปล่อยให้พวกนางแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่อัลลอฮฺและเราะสูลทรงห้ามและกริ้ว อย่าได้ละเลยที่จะตักเตือนพวกนาง เมื่อพวกนางได้ฝ่าฝืนในเรื่องการแต่งกาย พึงทราบเถิดว่าแท้จริงเขาเหล่านั้น (บรรดาผู้ชาย) คือผู้ดูแล และผู้รับผิดชอบต่อผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขา ในวันแห่งการสอบสวน ซึ่งแน่นอนเขาจะถูกไต่สวนในเรื่องนี้” (ฟัตวาคณะกรรมการถาวรฯ เล่ม 17 หน้า 290-294 โดยย่อ)

    ครั้งหนึ่ง ชัยคฺ อิบนุอุษัยมีน (ขอความเมตตาจงประสบแด่ท่าน) ถูกถามว่า ในกรณีที่ผู้หญิงบางคนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สั้น แคบจนรัดรูปร่าง มองเห็นสัดส่วนของเรือนร่างอย่างชัดเจน หรือแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ไม่มีแขน เปิดส่วนอกและแผ่นหลัง ซึ่งคล้ายกับการเปลือยกายมาก และเมื่อเราได้ตักเตือนพวกนาง พวกนางกล่าวว่า เราจะไม่สวมเสื้อผ้าที่เปิดเผยในลักษณะเช่นนี้ ยกเว้นเมื่ออยู่ในหมู่ผู้หญิงด้วยกันเท่านั้น เพราะขอบเขตของเอาเราะฮฺ (ส่วนที่ไม่อนุญาตให้เปิดเผย) ของผู้หญิงเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้หญิงด้วยกันนั้น อยู่ระหว่างสะดือจนถึงหัวเข่า ดังนั้น เราจึงอยากทราบหุก่มในเรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไร? และหุก่ม การแต่งตัวในลักษณะดังกล่าวต่อหน้ามะหฺร็อมเป็นอย่างไร? ท่านตอบว่า:

    “คำตอบในเรื่องนี้มีระบุไว้ในหะดีษเศาะฮีหฺ ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    « صِنْفَانِ مِنْ أَهْلِ النَّارِ لَمْ أَرَهُمَا... » [رواه مسلم برقم 2128]

    ซึ่งนักวิชาการได้อธิบายความหมายของคำว่า كَاسِيَاتٌ عَارِيَاتٌว่าคือการที่พวกนางแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายที่รัดรูป แคบ หรือบาง ทำให้ไม่ปกปิดส่วนที่อยู่ภายใน หรือเครื่องแต่งกายที่สั้นจนเกินไป

    ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมิยะฮฺ (ขอความเมตตาจงประสบแด่ท่าน) ได้ระบุในเรื่องการแต่งกายของสตรีไว้ว่า เครื่องแต่งกายเวลาอยู่ในบ้านของบรรดาสตรีในสมัยของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้น จะปกปิดตั้งแต่ส่วนข้อมือยาวไปจนถึงส้นเท้าของนาง ซึ่งส่วนนั้นทั้งหมดจะถูกปกปิดเมื่อนางนั้นอยู่ในบ้าน และเมื่อพวกนางออกนอกบ้าน หรือไปตลาด พวกนางจะแต่งตัวมิดชิดด้วยเสื้อคลุมยาวจนลากพื้น ซึ่งท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อนุญาตให้พวกนางสามารถปล่อยชายผ้าของนางยาวลากพื้นได้หนึ่งศอก ห้ามมากไปกว่านั้น

    และสำหรับเรื่องที่เป็นที่สงสัยสำหรับผู้หญิงหลายคนต่อคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า

    « لاَتَنْظُرْ المَرْأَةُ إِلى عَوْرَةِ المَرْأَةِ وَلاَ الرَّجلُ إِلى عَوْرَةِ الرَّجلِ » [رواه مسلم برقم 238]

    ความว่า “ผู้หญิงจงอย่ามองไปที่เอาเราะฮฺของผู้หญิงด้วยกัน และผู้ชายก็จงอย่ามองดูไปที่เอาเราะฮฺของผู้ชายด้วยกัน” (บันทึกโดย มุสลิม: 238)

    โดยเข้าใจไปว่าการที่ขอบเขตเอาเราะฮฺของผู้หญิงเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้หญิงด้วยกันคือระหว่างสะดือจนถึงหัวเข่านั้น หมายความว่านางสามารถแต่งกายโดยเปิดเผยส่วนที่นอกเหนือจากเอาเราะฮฺเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้หญิงด้วยกันได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่ได้กล่าวว่า ‘เครื่องแต่งกายของสตรีคือระหว่างสะดือกับหัวเข่า’ จนอาจจะเป็นหลักฐานให้พวกนางนำมากล่าวอ้างเช่นนั้นได้

    แต่ท่านกล่าวว่า “ผู้หญิงจงอย่ามองไปที่เอาเราะฮฺของผู้หญิงด้วยกัน” ซึ่งจะเห็นว่าท่านห้ามการมอง เพราะผู้หญิงบางคนแม้จะแต่งตัวยาวมิดชิดแล้ว แต่ในบางครั้งเอาเราะฮฺของนางก็อาจถูกเปิดเผยออกมาโดยที่นางไม่ได้ตั้งใจขณะปลดทุกข์ หรือจะด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับนาง ดังนั้น ท่านนบีจึงห้ามไม่ให้มองไปที่เอาเราะฮฺของผู้อื่น ซึ่งหากเราพิจารณาดูจากสภาพความเป็นจริงแล้ว เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือกับการที่มุสลิมะฮฺจะปกปิดเฉพาะส่วนที่อยู่ระหว่างสะดือและหัวเข่าเท่านั้นเมื่อนางอยู่ต่อหน้าผู้หญิงด้วยกัน โดยเปิดเผยส่วนที่เหลือได้ตามต้องการ? แน่นอนไม่มีใครกล่าวเช่นนั้น ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้พบเห็นได้ในสังคมผู้หญิงชาวกาฟิรเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่มุสลิมะฮฺบางคนเข้าใจจากหะดีษบทนี้จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ทั้งนี้ตัวบทหะดีษมีความหมายที่ชัดเจน

    มุสลิมะฮฺทั้งหลายจึงควรเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ และมีความละอาย ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญยิ่งสำหรับมุสลิมะฮฺ เพราะความละอายคือ ส่วนหนึ่งของความศรัทธา ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

    « الحَيَاءُ شُعْبَةٌ مِنَ الإِيمَانِ » [رواه البخاري برقم 9 ومسلم برقم 35]

    ความว่า “ความละอายเป็นส่วนหนึ่งของของความศรัทธา” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ : 9 และมุสลิม: 35)

    จงเป็นผู้หญิงที่มีความเขินอาย ดังที่มีการเปรียบเปรยผู้หญิงบางคนว่า “นางมีความเขินอายยิ่งกว่าเด็กสาวบริสุทธิ์ที่เก็บตัวอยู่แต่ในบ้านเสียอีก”

    และแม้แต่บรรดาหญิงสาวในยุคญาฮิลิยะฮฺเอง ก็ไม่ปรากฏว่าพวกนางสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดเฉพาะส่วนที่อยู่ระหว่างสะดือถึงหัวเข่าเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นต่อหน้าผู้หญิงด้วยกัน หรือต่อหน้าผู้ชายก็ตาม ฉะนั้นแล้ว สมควรแล้วหรือที่บรรดามุสลิมะฮฺจะแต่งกายเช่นนั้น? สมควรแล้วหรือที่จะให้ภาพพจน์การแต่งกายของมุสลิมะฮฺแย่ไปกว่าการแต่งกายของหญิงสาวในยุคญาฮิลิยะฮฺก่อนอิสลาม มันสมควรหรือ? แน่นอนว่าไม่

    และสำหรับมะหฺร็อมของพวกนาง ขอบเขตของการมองดูนั้น เช่นเดียวกับการมองดูระหว่างผู้หญิงด้วยกัน คือเมื่ออยู่กับมะหฺร็อมของพวกนาง เป็นที่อนุญาตแก่พวกนางที่จะเปิดเผยส่วนที่พวกนางเองสามารถเปิดเผยได้เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้หญิงด้วยกัน เช่น ศีรษะ ลำคอ เท้า แขน ข้อมือ หน้าแข้ง แต่ทั้งนี้ต้องไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่สั้น” (มัจญฺมูอฺฟะตาวา ชัยคฺ อิบนุอุษัยมีน เล่ม 12 หน้า 274-277)

    2.เครื่องแต่งกายที่สวมใส่ออกนอกบ้าน ตลาด หรือสถานที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งมีการฝ่าฝืน ดังนี้

    2.1 การสวมเสื้อคลุมที่เป็นลูกไม้ลายฉลุ

    2.2 การสวมผ้าพาดไว้แค่ถึงบ่าหรือ คลุมสั้นแค่ถึงบ่า (ในกรณี ผ้าคลุมศีรษะ)

    2.3 การสวมบุรกา หรือ ลิษาม โดยเปิดส่วนที่เป็นจมูก แก้ม หรือ ส่วนอื่นๆ ที่แสดงความงามบนใบหน้าออกมา

    มีการตั้งคำถามถึงคณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยทางวิชาการและการฟัตวา แห่งประเทศซาอุดีอาระเบีย เลขที่(21352) เกี่ยวกับการสวมเสื้อผ้าที่ตัดเข้ารูปตามลักษณะของเรือนร่าง โดยเป็นเสื้อผ้าที่แคบและรัดรูป ประกอบด้วยผ้าสองชั้นบางๆ ทำจากผ้าย่นสีดำ ติดแนบกับลำตัว แขนเสื้อเปิดกว้างและมีลวดลายฉูดฉาด และคลุมศรีษะถึงแค่บ่า การแต่งกายเช่นนี้เป็นที่อนุญาตหรือไม่อย่างไร? ทางคณะกรรมการถาวรฯ ตอบว่า

    “เสื้อคลุมที่ถูกต้องตามหลักชะริอะฮฺ (บทบัญญัติของอิสลาม) นั้น เรียกว่าญิลบาบ เป็นเสื้อคลุมที่ปกปิดร่างกายอย่างมิดชิด และเป็นเสื้อคลุมที่ทำให้ห่างไกลจากฟิตนะฮฺ ซึ่งต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ

    1. จะต้องเป็นเสื้อผ้าที่หนา โดยไม่สามารถมองทะลุผ่านได้ และเนื้อผ้าจะต้องไม่ติดแนบกับผิวกาย

    2. จะต้องปกปิดทุกส่วนของร่างกาย กว้าง และไม่เผยให้เห็นรายละเอียดส่วนต่างๆของร่างกาย

    3. เปิดได้เฉพาะส่วนข้างหน้าเท่านั้น และแขนเสื้อต้องแคบพอดีกับข้อมือและรัดกุม

    4. จะต้องไม่ประดับตกแต่งเครื่องแต่งกายจนเป็นที่ดึงดูดสายตาของผู้คนที่พบเห็น จะต้องเป็นเสื้อผ้าที่ปราศจากรูปวาด เครื่องประดับที่มีสีสัน ตัวอักษร และสัญลักษณ์ต่างๆ

    5. จะต้องเป็นเครื่องแต่งกายที่ไม่เหมือนกับเครื่องแต่งกายของผู้หญิงกาฟิร และต้องไม่เหมือนเครื่องแต่งกายของผู้ชาย

    6. จะต้องสวมเสื้อคลุมที่คลุมเริ่มตั่งแต่หัวจรดเท้า

    ดังนั้น เครื่องแต่งกายที่ระบุในคำถามข้างต้นนั้น ถือเป็นรูปแบบการสวมเสื้อคลุมออกนอกบ้านที่ขัดกับแนวทางของอิสลาม จึงไม่อนุญาตให้แต่งกายในลักษณะดังกล่าว ตลอดจนการซื้อขายหรือนำเข้าเสื้อผ้าในรูปแบบนั้น ก็ไม่เป็นที่อนุญาตในอิสลามเช่นเดียวกัน เพราะถือเป็นการให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่เป็นบาป” (อ้างจากหนังสือ อัล-อะบาอะฮฺ ละกะ เอา อะลัยกะ โดยชัยคฺ มุหัมมัด อัล-ฮับดาน หน้า 24-26)

    และสำหรับการสวมบุรกา หรือ นิกอบ (คลุมหน้า) เดิมแล้วเป็นที่อนุญาต ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า ( لَا تَنْتَقِبُ المُحْرِمَةُ ) ความว่า “หญิงที่ครองอิหฺรอมอยู่อย่าคลุมหน้า” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การคลุมหน้าเป็นที่อนุญาต ยกเว้นขณะที่พวกนางครองอิหฺรอม พวกนางจะต้องเปิดหน้า แต่ก็ไม่เป็นที่อนุญาตให้หญิงที่ครองอิหฺรอมอยู่นั้น เปิดหน้ากว้างเกินไป จนมองเห็นรูปหน้า เช่น จมูก คิ้วทั้งสองข้าง และบางส่วนของแก้มทั้งสอง เพราะมันจะเป็นการดึงดูดผู้ที่พบเห็นได้ นางควรที่จะคลุมผ้าบางๆ ที่ตาสามารถมองผ่านได้ทับบุรกาไว้อีกชิ้นหนึ่ง เพื่อปกปิดส่วนที่จะออกมาของใบหน้าจากการสวมนิกอบแล้ว

    บทสรุป

    มุสลิมทุกท่านควรตระหนักและเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ ในเรื่องการแต่งกายของบรรดาสตรีที่อยู่ภายใต้การปกครองของตน อย่าได้ปล่อยปะละเลยให้พวกนางแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายที่หะรอม ซึ่งอัลลอฮฺและเราะสูลได้ห้ามไว้ และจงใส่ใจดูแลในเรื่องการแต่งกายของพวกนาง ให้ถูกต้องตามหลักการของอิสลาม เพราะแท้จริงแล้วพวกท่านจะถูกถามเกี่ยวกับหน้าที่ของพวกท่านที่มีต่อพวกนางในวันกิยามัต ดังที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «وَالرَّجُلُ رَاعٍ في أَهْلِهِ ، وَهُوَمَسْؤُولٌ عَنْ رَعِيَّتِه» [البخاري برقم 893، ومسلم برقم 1829]

    ความว่า “และผู้ชาย คือผู้ดูแลครอบครัวของเขา และเขาคือ ผู้รับผิดชอบ เกี่ยวกับผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขา (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์: 893 และมุสลิม: 1829)

    والحمد لله رب العالمين،

    وصلى وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين.