×
กล่าวถึงความสำคัญของการวะศิยะฮฺ หรือคำสั่งเสีย ซึ่งเป็นสิ่งที่อิสลามสนับสนุนให้กระทำ อันเนื่องจากมีผลประโยชน์ต่อมุสลิม พร้อมระบุหลักฐานต่างๆ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้ เป็นบทความจากหนังสืออัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ ของเชคอะมีน อัช-ชะกอวีย์

    วะศิยะฮฺ การเขียนคำสั่งเสีย

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : ซุกรีย์นูร จงรักศักดิ์

    ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต
    อัล-มุลกอฮฺ

    2013 - 1434

    كتابة الوصية

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبدالله الشقاوي

    ترجمة: شكري نور

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة

    2013 - 1434

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    เรื่องที่ 6

    วะศิยะฮฺ การเขียนคำสั่งเสีย

    การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงผู้เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์...

    สิ่งหนึ่งที่ชาวมุสลิมจะต้องให้ความสนใจก็คือการเขียนคำสั่งเสีย เพราะสิ่งนี้มีผลดีเชิงดุนยาและอาคิเราะฮฺและเป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่มองข้าม ซึ่งหากถามใครสักคนว่าท่านเขียนคำสั่งเสียของท่านหรือยัง? แน่นอน เขาย่อมหันมาจ้องท่านอย่างแปลกอกแปลกใจ เอ๊ะ เขากำลังจะตายหรือเปล่าถึงกับต้องเขียนคำสั่งเสียไว้

    เขาไม่เคยเฉลียวใจนึกถึงคนที่ตายอย่างกะทันหันที่เกิดขึ้นเป็นประจำและได้ยินข่าวทุกวัน ทั้งๆ ที่พระองค์อัลลอฮฺได้บอกแล้วว่าหนึ่งในรูปแบบการลงโทษของพระองค์อัลลอฮฺก็คือการปลิดชีวิตอย่างฉับพลัน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นแล้วท่านไม่อาจจะสั่งเสียสิ่งที่ต้องการได้อีกต่อไป พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงกล่าวว่า :

    ﴿ وَيَقُولُونَ مَتَىٰ هَٰذَا ٱلۡوَعۡدُ إِن كُنتُمۡ صَٰدِقِينَ ٤٨ مَا يَنظُرُونَ إِلَّا صَيۡحَةٗ وَٰحِدَةٗ تَأۡخُذُهُمۡ وَهُمۡ يَخِصِّمُونَ ٤٩ فَلَا يَسۡتَطِيعُونَ تَوۡصِيَةٗ وَلَآ إِلَىٰٓ أَهۡلِهِمۡ يَرۡجِعُونَ ٥٠ ﴾ [يس: ٤٨-٥٠]

    ความว่า : “และพวกเขากล่าวว่า เมื่อไรล่ะการนัดหมายนี้จะเกิดขึ้นเป็นจริงหากพวกท่านเป็นผู้ซื่อตรง พวกเขากำลังคอยเพียงเสียงกัมปนาทครั้งเดียวที่จะคร่าชีวิตพวกเขาในขณะที่กำลังโต้เถียงกัน แล้วพวกเขาก็จะไม่สามารถสั่งเสียสิ่งใดและไม่ทันจะกลับไปหาครอบครัวได้อีกต่อไป” (ยาซีน : 48-50)

    และมีกี่ศพแล้วที่ต้องโดนจำนองจองจำเพราะหนี้สินของตัวเองที่ยังไม่ได้รับการจัดการจนเสร็จ มีคนรวยกี่รายแล้วที่ไม่สามารถจะใช้ประโยชน์จากทรัพย์สมบัติหลังจากตายไปแล้ว และมีสิทธิและอะมานะฮฺมากแค่ไหนแล้วที่ต้องถูกลอยแพและไม่ได้รับการสนองตอบแก่เจ้าของ ทั้งหมดนั้น ต้นเหตุก็คือการไม่เอาใจใส่ต่อการเขียนคำสั่งเสีย

    มีรายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ -เราะฏิยัลลอฮฺ อันฮฺ-ว่าท่านนบี-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า :

    «نَفْسُ الْمُؤْمِنِ مُعَلَّقَةً بِدَيْنِهِ حَتَّى يُقْضَى عَنْهُ» [الترمذي 3/390ن وحسنه الألباني في صحيح الجامع برقم 6779]

    ความว่า : ชีวิตของคนมุมินจะถูกแขวนค้างเพราะหนี้ของเขาจนกว่าจะได้รับการชำระแทน (สุนัน อัต-ติรฺมิซียฺ เล่มที่ 3 หน้า 390 และระบุว่าหะดีษนี่เป็นหะดีษหะสัน อัล-อัลบานียฺได้ระบุในหนังสือเศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ อัศ-เศาะฆีรฺ หมายเลข 6779 ว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)

    การฝากคำสั่งเสียถือเป็นสุนนะฮฺของท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม-และเหล่านบีก่อนหน้า ชาวมุสลิมทุกคนจึงควรปฏิบัติตามด้วยการสั่งเสียลูกๆ และเครือญาติที่จะมาภายหลังให้ยำเกรงต่อพระองค์อัลลอฮฺและยึดมั่นในศาสนาของพระองค์ และต้องสั่งเสียพวกเขาในสิ่งที่ท่าน นบีอิบรอฮีมและท่านนบี ยะอฺกูบได้สั่งเสียลูกๆ ของท่าน พระองค์อัลลอฮฺได้กล่าวว่า :

    ﴿ وَمَن يَرۡغَبُ عَن مِّلَّةِ إِبۡرَٰهِ‍ۧمَ إِلَّا مَن سَفِهَ نَفۡسَهُۥۚ وَلَقَدِ ٱصۡطَفَيۡنَٰهُ فِي ٱلدُّنۡيَاۖ وَإِنَّهُۥ فِي ٱلۡأٓخِرَةِ لَمِنَ ٱلصَّٰلِحِينَ ١٣٠ إِذۡ قَالَ لَهُۥ رَبُّهُۥٓ أَسۡلِمۡۖ قَالَ أَسۡلَمۡتُ لِرَبِّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ١٣١ وَوَصَّىٰ بِهَآ إِبۡرَٰهِ‍ۧمُ بَنِيهِ وَيَعۡقُوبُ يَٰبَنِيَّ إِنَّ ٱللَّهَ ٱصۡطَفَىٰ لَكُمُ ٱلدِّينَ فَلَا تَمُوتُنَّ إِلَّا وَأَنتُم مُّسۡلِمُونَ ١٣٢ ﴾ [البقرة: ١٣٠-١٣٢]

    ความว่า : “และมีก็เพียงคนโง่เง่าเท่านั้นที่ไม่นิยมชมชอบศาสนาอิบรอฮีม บนโลกนี้เราได้เลือกเขา อีกทั้งในอาคิเราะฮฺเขายังจะเป็นหนึ่งในจำนวนคนดีๆ อย่างแน่นอน จงนึกซิ ตอนที่พระเจ้าของเขาได้กล่าวสั่งเขาว่า เจ้าจงสวามิภักดิ์เถิด เขาตอบว่า ข้าพระองค์ขอสวามิภักดิ์แด่พระเจ้าแห่งสากลโลก และสิ่งนี้แหล่ะที่อิบรอฮีมและยะอฺกูบใช้สั่งเสียลูกๆ ว่าโอ้ ลูกหลานเอ๋ย แท้จริง พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงเลือกศาสนานี้ให้แก่พวกเจ้า ดังนั้น พวกเจ้าจงอย่าตายจนกว่าจะอยู่ในสภาพเป็นมุสลิมที่สมบูรณ์” (อัลบะเกาะเราะฮฺ : 130-132)

    การให้คำวะศิยะฮฺนั้นมีหลายหุกุ่มแตกต่างกัน กล่าวคือ วาญิบ สุนัต และหะรอม

    โดยถือเป็นการวาญิบสำหรับชาวมุสลิมที่มีพันธะผูกพันกับพระองค์อัลลอฮฺ เช่น มีสิ่งนะซัรฺ (บนบานกับพระองค์อัลลอฮฺ) ซะกาต หัจญ์ เป็นต้น หรือมีหนี้กับคนอื่นไม่ว่าจะเป็นหนี้เงินตราหรือสิ่งอื่น หรือคนอื่นเป็นหนี้เขาซึ่งเขาไม่ยกเว้นให้

    มีรายงานจากอับดุลลอฮฺ บินอุมัรฺ -เราะฏิยัลลอฮฺ อันฮุมา – ว่าท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า :

    « مَا حَقُّ امْرِئٍ مُسْلِمٍ لَهُ شَىْءٌ يريد أن يُوصِى فِيهِ يَبِيتُ ليلتين إِلاَّ وَوَصِيَّتُهُ مَكْتُوبَةٌ عِنْدَهُ ». قَالَ عَبْدُ اللَّهِ بْنُ عُمَرَ : مَا مَرَّتْ عَلَىَّ لَيْلَةٌ مُنْذُ سَمِعْتُ رَسُولَ اللَّهِ -صلى الله عليه وسلم- قَالَ ذَلِكَ إِلاَّ وَعِنْدِى وَصِيَّتِى. [صحيح البخاري برقم 2738]

    ความว่า : “มุสลิมคนใดที่มีสิ่งจะวะศิยะฮฺจะต้องเขียนวะศิยะฮฺอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรแนบไว้กับตัวภายในสองวัน” อับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ ได้กล่าวว่า : หลังจากที่ฉันได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- พูดอย่างนี้แล้ว ฉันก็แนบวะศิยะฮฺติดกับตัวมาตลอด. (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่มที่ 2 หน้า 286 หมายเลข 2738)

    เป็นการสุนัตสำหรับผู้มั่งมีที่จะต้องวะศิยะฮฺให้เศาะดะเกาะฮฺทรัพย์สินบางส่วนเพื่อการกุศล เพื่อเป็นการเศาะดะเกาะฮฺญาริยะฮฺแก่ตัวเองหลังจากสิ้นชีวิตไป ซึ่งการวะศิยะฮฺนี้มีเงื่อนไขสองอย่างด้วยกัน คือ

    หนึ่ง จะต้องไม่เกินหนึ่งส่วนสามของทรัพย์สินเพราะท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ได้บอกกับสะอัดตอนจะเขียนวะศิยะฮฺว่า

    «الثُّلُثُ ، وَالثُّلُثُ كَثِيرٌ» [البخاري برقم 287، ومسلم برقم 1627]

    ความว่า “หนึ่งในสามก็พอน่ะ หนึ่งในสามก็มากโขแล้ว” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่มที่ 2 หน้า 287 และ เศาะฮีหฺ มุสลิม เล่มที่ 3 หน้า 1250 หมายเลข 1627)

    สอง จะต้องให้กับคนนอกที่ไม่ใช่ทายาท ซึ่งมีรายงานจากอบู อุมามะฮฺ -เราะฏิยัลลอฮฺ อันฮฺ- ว่าท่านนบี-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า :

    « إِنَّ اللَّهَ قَدْ أَعْطَى كُلَّ ذِى حَقٍّ حَقَّهُ فَلاَ وَصِيَّةَ لِوَارِثٍ ». [الترمذي برقم 2121، وقال : حديث حسن صحيح]

    ความว่า : แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺได้กำหนดให้ทุกคนที่มีสิทธิซึ่งสิทธิของเขาแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีการวะศิยะฮฺใดๆ แก่บรรดาทายาทอีกต่อไป” (สุนัน อัต-ติรฺมิซียฺ หะดีษนี้เป็นส่วนหนึ่งของหะดีษหมายเลข 2121 เล่มที่ 4 หน้า 434 และท่านให้ความเห็นว่าหะดีษนี้เป็นหะดีษ หะสัน เศาะฮีหฺ)

    ห้ามการวะศิยะฮฺที่ค้านกับหลักอิสลาม เช่น การวะศิยะฮฺให้ลูกหลานร้องห่มร้องไห้เมื่อเขาสิ้นชีวิต หรือ ให้ตัดญาติ หรือ รังแกเพื่อนมุสลิม หรือ ล้างแค้นกับคนนั้นคนนี้ หรือ รังแกหมู่ทายาทด้วยกันเอง หรืออื่นๆ ซึ่งผู้ใดกระทำเช่นนี้ก็ถือว่าไม่เป็นวะศิยะฮฺและทายาทไม่จำเป็นจะต้องสนองปฏิบัติ พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

    ﴿ فَمَنۡ خَافَ مِن مُّوصٖ جَنَفًا أَوۡ إِثۡمٗا فَأَصۡلَحَ بَيۡنَهُمۡ فَلَآ إِثۡمَ عَلَيۡهِۚ إِنَّ ٱللَّهَ غَفُورٞ رَّحِيمٞ ١٨٢ ﴾ [البقرة: ١٨٢]

    ความว่า : “แล้วผู้ใดเกรงว่าเจ้าของพินัยกรรมจะพลาดพลั้ง หรือกระทำผิด แล้วเขาได้ประนีประนอมในระหว่างพวกเขา ก็ไม่มีความผิดใดๆ กับเขา แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺนั้น เป็นผู้อภัยผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 182)

    อิบนุ กะษีรฺ -เราะหิมะฮุลลอฮฺ- ได้อ้างจากอิบนุ อับบาสและอุละมาอ์คนอื่นๆ ว่า คำว่า ญะนัฟ ในอายะฮฺข้างต้น คือ ความผิดพลาด จากนั้น ท่านได้อธิบายว่า “หมายถึง ครอบคลุมความผิดพลาดทุกอย่าง เช่น สั่งให้เพิ่มมรดกแก่ทายาทคนหนึ่งโดยผ่านคนกลางหรือผู้ช่วย เช่นเดียวกับการวะศิยะฮฺให้ขายทรัพย์สินแก่คนหนึ่งคนใดอย่างเลือกปฏิบัติ หรือ วะศิยะฮฺให้เพิ่มมรดกแก่บุตรชายของลูกหญิง เป็นต้น หรือ ด้วยวิธีการอื่นๆ

    ทั้งนี้ การวะศิยะฮฺยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกคือ

    1. เป็นผลบุญอันใหญ่หลวงสำหรับตัวผู้ทำวะศิยะฮฺเองอันเป็นผลตอบแทนจากทำการภักดีต่อพระองค์อัลลอฮฺและเชื่อฟังเราะสูลของพระองค์ พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงกล่าวว่า :

    ﴿وَمَن يُطِعِ ٱللَّهَ وَرَسُولَهُۥ فَقَدۡ فَازَ فَوۡزًا عَظِيمًا ٧١ ﴾ [الأحزاب: ٧١]

    ความว่า : “และผู้ใดเชื่อฟังปฏิบัติตามพระองค์อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ แน่นอนเขาได้รับความสำเร็จใหญ่หลวงแล้ว”(อัล-อะหฺซาบ : 71)

    2. เขาจะได้ผลบุญอันมหาศาลในวะศิยะฮฺที่เป็นคำแนะนำตักเตือนอันเนื่องจากผลดีที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

    3. เป็นการทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากการปฏิบัติผิดกฎระเบียบศาสนาและละเมิดสิทธิทางการเงินและอื่นๆ

    4. เป็นการขจัดความขัดแย้งและยับยั้งการพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในหมู่ทายาทหลังจากที่เขาสิ้นชีวิตลง

    และต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างของคำวะศิยะฮฺ

    ให้เขียนหลังจากที่กล่าวขอบคุณและสรรเสริญพระองค์อัลลอฮฺและเศาะละวาตต่อท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม-ว่า

    นี่คือคำวะศิยะฮฺ ของ .... บุตรของ.......ซึ่งได้ปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าที่สมควรกราบไหว้เว้นแต่ พระองค์อัลลอฮฺเพียงหนึ่งเดียว โดยไม่มีภาคีใดๆ นบีมุหัมมัดนั้นเป็นบ่าวและเราะสูลของ พระองค์ และนบีอีซานั้นคือบ่าวของพระองค์อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่กำเนิดจากคำปรารภของพระองค์ นรกมีจริง สวรรค์มีจริง การเกิดวันกิยามะฮฺเป็นสิ่งแน่นอนไม่มีการเคลือบแคลงใดๆเลย และพระองค์อัลลอฮฺนั้นทรงฟื้นชีพคนตายในหลุมฝังศพ ฉันขอวะศิยะฮฺลูกๆ บรรดาภรรยาและญาติๆและชาวมุสลิมทั้งมวลให้ยำเกรงต่อพระองค์อัลลอฮฺและขอวะศิยะฮฺในสิ่งที่ท่านนบีอิบรอฮีมและนบียะอฺกูบได้วะศิยะฮฺแก่ลูกๆ ของท่านว่า :

    ﴿ وَوَصَّىٰ بِهَآ إِبۡرَٰهِ‍ۧمُ بَنِيهِ وَيَعۡقُوبُ يَٰبَنِيَّ إِنَّ ٱللَّهَ ٱصۡطَفَىٰ لَكُمُ ٱلدِّينَ فَلَا تَمُوتُنَّ إِلَّا وَأَنتُم مُّسۡلِمُونَ ١٣٢ ﴾ [البقرة: ١٣٢]

    ความว่า : “และสิ่งนี้แหล่ะที่อิบรอฮีมและยะอฺกูบใช้สั่งเสียลูกๆว่าโอ้ ลูกหลานเอ๋ย แท้จริง พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงเลือกศาสนานี้ให้แก่พวกเจ้า ดังนั้น พวกเจ้าจงอย่าตายจนกว่าจะอยู่ในสภาพเป็นมุสลิมที่สมบูรณ์” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 132)

    ... ฉันขอวะศิยะฮฺให้ชำระหนี้ (หากเขามีหนี้) หรือเป็นการดีหากจะเขียนว่า และจงนำหนึ่งส่วนสามของทรัพย์สมบัติฉันให้กับคนนั้นคนนี้หรือทำเป็นเศาะดะเกาะฮฺญาริยะฮฺ ส่วนลูกๆ ของฉันที่ยังเด็กนั้นขอแต่งตั้งคนนั้นคนนี้เป็นผู้รับผิดชอบ ให้ทำการรักษามรดกจนกว่าพวกเขาจะเติบใหญ่บรรลุศาสนภาวะ จากนั้นให้วะศิยะฮฺในสิ่งที่เป็นเรื่องศาสนา สังคม ตามที่ต้องการ และขอให้จัดการอาบน้ำและจัดการศพตามสุนนะฮฺของท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- จากนั้นให้ลงท้ายด้วยการกล่าวดุอาอ์ให้ตัวเองได้รับอภัยโทษ ได้รับความเมตตาปรานีและได้เข้าสรวงสวรรค์อันสถาพร

    ทั้งนี้ เขาจะต้องให้ผู้ชายที่ซื่อสัตย์สองคนมาร่วมเป็นพยานในการเขียนคำวะศิยะฮฺนี้ด้วย

    والحمد لله رب العالمين

    وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين .