×
กล่าวถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับการจ่ายซะกาตฟิฏรฺ หรือ ซะกาตฟิตเราะฮฺ ระบุหลักฐานจากหะดีษที่เป็นต้นบัญญัติของอะมัลดังกล่าว รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น จำนวนของซะกาต สิ่งใดที่ใช้ออกซะกาต ผู้ที่สามารถรับซะกาตฟิฏรฺได้ เป็นต้น เป็นบทความจากหนังสืออัด-ดุร็อร อัล-มุนตะกอฮฺ โดยเชคอะมีน อัช-ชะกอวีย์

    ซะกาต ฟิฏรฺ

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย :อิสมาน จารง

    ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต
    อัล-มุลกอฮฺ

    2012 - 1433

    ﴿زكاة الفطر﴾

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبدالله الشقاوي

    ترجمة: عثمان جارونج

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة

    2012 - 1433

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    เรื่อง ที่ 66

    ซะกาต ฟิฏรฺ

    มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิของอัลลอฮฺ ขอการเจริญพรและความสันติมีแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ
    อะลัยฮิวะสัลลัม ข้าขอปฏิญานว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจาก
    อัลลอฮฺ และมุหัมมัดนั้นเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

    ส่วนหนึ่งของอิบาดะฮฺที่อัลลอฮฺได้กำหนดไว้เหนือบรรดามุสลิมทั้งมวลในเดือนเราะมะฎอนอันจำเริญนี้นั้นคือ
    ซะกาต ฟิฏรฺ (ซะกาตฟิตเราะฮฺ) อัลลอฮฺได้บัญญัติเหนือผู้ถือศีลอดเพื่อให้จิตใจเขาสะอาดจากความสกปรกของความตระหนี่ และสะอาดจากสิ่งที่มีผลเสียต่อการถือศีลอด และผลบุญของการถือศีลอดของเขา จากคำพูดที่ไม่ดี ไร้สาระและหยาบคายต่างๆ ซะกาตฟิฏรฺยังเป็นการช่วยเหลือคนยากจน เป็นการแสดงถึงการขอบคุณต่อนิอฺมัตต่างๆ ของอัลลอฮฺที่มีต่อปวงบ่าว/มวลมนุษย์ที่ได้ทรงทำให้การถือศีลอดและการละหมาดกลางคืนในเดือนเราะมะฎอนของเขาได้บรรลุอย่างเสร็จสมบูรณ์ และให้มีความสามารถทำคุณความดีต่างๆ ในเดือนนี้ได้

    عَنْ ابْنِ عَبَّاسٍ رضي الله عنه قَالَ : فَرَضَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ زَكَاةَ الْفِطْرِ طُهْرَةً لِلصَّائِمِ مِنْ اللَّغْوِ وَالرَّفَثِ وَطُعْمَةً لِلْمَسَاكِينِ. [رَوَاهُ أَبُو دَاوُد برقم 1609]

    รายงานจากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำหนดซะกาตฟิฏรฺเป็นการขัดเกลาผู้ถือศีลอดให้สะอาดจาก(บาปที่มาจาก)คำพูดที่ไม่ดีไร้สาระและหยาบคาย(ในช่วงถือศีลอด) และเป็นการให้อาหารแก่คนยากจน (สุนัน อบูดาวูด หมายเลข 1609)

    และซะกาตฟิฏรฺนั้นเป็นวาญิบเหนือมุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง เป็นไทหรือเป็นทาส หากเขามีอาหารหนึ่งศออฺ(มาตรตวงวัดของชาวอาหรับโบราณ)ที่เหลือจากการใช้บริโภคสำหรับเขาและครอบครัวในวันอีดและคืนวันอีด

    عَنْ ابْنِ عُمَرَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا قَالَ : فَرَضَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ زَكَاةَ الْفِطْرِ صَاعًا مِنْ تَمْرٍ، أَوْ صَاعًا مِنْ شَعِيرٍ، عَلَى الْعَبْدِ، وَالْحُرِّ، وَالذَّكَرِ، وَالْأُنْثَى، وَالصَّغِيرِ، وَالْكَبِيرِ، مِنْ الْمُسْلِمِينَ، وَأَمَرَ بِهَا أَنْ تُؤَدَّى قَبْلَ خُرُوجِ النَّاسِ إِلَى الصَّلَاةِ. [البخاري برقم 1503، ومسلم برقم 984]

    รายงานจากท่านอิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำหนดซะกาตฟิฏรฺเป็นอินทผลัมจำนวนหนึ่งศออฺ (ประมาณ 2.5 กิโลกรัม) หรือ ข้าวบาร์เล่ย์จำนวนหนึ่งศออฺ เหนือทาส ไท ชาย หญิง เด็ก ผู้ใหญ่ จากบรรดาคนมุสลิมทั้งหมด และท่านได้สั่งใช้ให้จ่าย(มอบให้)ก่อนที่ผู้คนจะออกไปละหมาด(วันอีด)(เศาะฮีหฺอัล-บุคอรีย์ 1/466 หมายเลข 1503 เศาะฮีหฺมุสลิม 2/677 หมายเลข 984)

    และหากเขาจ่ายแทนให้แก่ทารกในครรภ์เป็นการทำทานสุนัตก็ถือว่าใช้ได้

    عَنْ أَبِي سَعِيدٍ الْخُدْرِيِّ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ قَالَ : كُنَّا نُخْرِجُ فِي عَهْدِ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَوْمَ الْفِطْرِ صَاعًا مِنْ طَعَامٍ، أَوْ صَاعًا مِنْ تَمْرٍ، أَوْ صَاعًا مِنْ شَعِيرٍ، أَوْ صَاعًا مِنْ زَبِيبٍ. [البخاري برقم 1508، ومسلم برقم 985] وَفي رواية عنه: وَكَانَ طَعَامَنَا الشَّعِيرُ وَالزَّبِيبُ وَالْأَقِطُ وَالتَّمْرُ . [البخاري برقم 1510]

    รายงานจากท่านอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า พวกเราได้เคยจ่ายซะกาตวันอีดในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จำนวนหนึ่งศออฺจากอาหาร หรือ หนึ่งศออฺจากอินทผลัม หรือ หนึ่งศออฺจากข้าวบาร์เล่ย์ หรือองุ่นแห้ง (เศาะฮีหฺอัล-บุคอรีย์ 1/467 หมายเลข 1508 เศาะฮีหฺมุสลิม 2/678 หมายเลข 985) และในบางรายงานกล่าวว่า อาหารของเราในสมัยนั้น คือ ข้าวบาร์เล่ย์ องุ่นแห้ง นมแห้ง(เนยแข็ง) และอินทผลัม (เศาะฮีหฺอัล-บุคอรีย์ 1/467 หมายเลข 1510)

    มุสลิมควรจ่ายซะกาตจากสิ่งที่ดีที่สุดและเกิดประโยชน์มากที่สุดแก่คนยากจนจากอาหารต่างๆ ที่กล่าวมา ไม่ควรเลือกให้สิ่งที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่ดี อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ لَن تَنَالُواْ ٱلۡبِرَّ حَتَّىٰ تُنفِقُواْ مِمَّا تُحِبُّونَۚ وَمَا تُنفِقُواْ مِن شَيۡءٖ فَإِنَّ ٱللَّهَ بِهِۦ عَلِيمٞ ٩٢ ﴾ [آل عمران: ٩٢]

    ความว่า “พวกเจ้าจะไม่ได้คุณธรรมเลยจนกว่าพวกเจ้าจะบริจาคจากสิ่งที่พวกเจ้าชอบ(รัก) และสิ่งใดที่พวกเจ้าบริจาคไป แท้จริงอัลลอฮฺทรงรู้ในสิ่งนั้นดี” (อาล อิมรอน 929)

    นักปราชญ์บางส่วน เช่น ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ และท่านอิบนุล-ก็อยยิม เราะหิมะฮุมัลลอฮฺ มองว่าเป็นที่อนุญาตให้มุสลิมจ่ายสิ่งอื่นจากที่กล่าวในหะดีษ อบู สะอีด อัล-คุดรีย์ ตราบใดที่มันเป็นอาหารหลักของคนในเมืองนั้นๆ เช่นข้าวสารและอื่นๆ (ฟะตาวา ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ 25/68)

    และหนึ่งศออฺที่กล่าวในหะดีษนั้นเท่ากับสี่กอบมือ หนึ่งกอบมือก็คือปริมาณเต็มฝ่ามือทั้งสองที่ประสานกันโดยเป็นฝ่ามือของผู้ชายขนาดกลางๆ(ไม่ใช่มือที่ใหญ่หรือเล็กเกินไป)จากข้าวบาร์เล่ที่ดีหรืออื่นๆ (ฟะตาวา อัล-ลัจญ์นะฮฺ 9/371 หมายเลข 12572)

    เวลาในการจ่ายซะกาตฟิฏรฺนั้นมีสองเวลา คือ

    เวลาแรกคือ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินในคืนวันอีดถึงละหมาดวันอีด และเวลาที่ประเสริฐที่สุดคือระหว่างหลังละหมาดศุบหฺไปจนถึงก่อนละหมาดวันอีด

    عَنْ ابْنِ عُمَرَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا قَالَ : فَرَضَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ زَكَاةَ الْفِطْرِ ..... الحديث، وفيه قال : وَأَمَرَ بِهَا أَنْ تُؤَدَّى قَبْلَ خُرُوجِ النَّاسِ إِلَى الصَّلَاةِ. [البخاري برقم 1503، ومسلم برقم 984]

    รายงานจากท่านอิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำหนดซะกาตฟิฏรฺ ... และให้หะดีษระบุว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สั่งใช้ให้จ่าย(มอบให้)ก่อนที่ผู้คนจะออกไปละหมาด(วันอีด)(เศาะฮีหฺอัล-บุคอรีย์ 1/466 หมายเลข 1503 เศาะฮีหฺมุสลิม 2/677 หมายเลข 984)

    เวลาที่สองคือ เวลาที่ใช้ได้ คือก่อนวันอีดหนึ่งถึงสองวัน ท่านอิบนุอุมัรฺได้จ่ายแก่ผู้ที่จะรับได้ และพวกเขาต่างก็จ่ายก่อนวันอีดหนึ่งหรือสองวัน (เศาะฮีหฺอัล-บุคอรีย์ 1/468 หมายเลข 1511)

    รายงานจากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «فَمَنْ أَدَّاهَا قَبْلَ الصَّلاةِ فَهِيَ زَكَاةٌ مَقْبُولَةٌ، وَمَنْ أَدَّاهَا بَعْدَ الصَّلاةِ فَهِيَ صَدَقَةٌ مِنْ الصَّدَقَاتِ» [سنن أبي داود برقم 1609]

    ความว่า และผู้ใดที่ทำการจ่ายก่อนการละหมาด ก็ถือว่าเป็นการจ่ายซะกาตที่ถูกตอบรับ และผู้ใดที่จ่ายหลังละหมาดมันจะเป็นทานบริจาคหนึ่งในบรรดาทานบริจาคต่างๆ (สุนันอบีดาวูด 2/111 หมายเลข 1609)

    ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า หากเขาล่าช้า(ในการจ่ายซะกาต)จนถึงเวลาหลังละหมาดอีด(จึงจ่ายมันไป)ก็ถือเป็นการชดเชย การจ่ายมันถือว่าไม่พ้นภาระแม้จะล่วงเวลาไปแล้วก็ตาม(หมายถึง แม้จะหมดเวลาแล้วก็ยังจำเป็นต้องจ่ายอยู่ดี) และเขาก็จะได้รับบาปเพราะการล่าช้านั้น

    ซะกาตจะมอบให้แก่คนยากจน คนอนาถา เพราะมีรายงานจากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า มันเป็นอาหารสำหรับคนยากจน และอนุญาตที่จะให้ซะกาตของคนหลายคนหรือคนในครอบครัวแก่คนยากจนหนึ่งคน และอนุญาตเช่นกันที่จะแบ่งซะกาตของคนหนึ่งคนให้แก่คนยากจนหลายๆ คนได้ หากมีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น

    และไม่อนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏรฺเป็นเงิน เพราะหลักฐานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่กล่าวถึงอาหารประเภทต่างๆ โดยไม่ได้กล่าวถึงมูลค่า(หรือเงิน)ทั้งๆ ที่มันก็เป็นสิ่งที่มีการใช้อยู่ในสมัยนั้น หากมูลค่าหรือราคาสามารถแทนได้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็จะต้องชี้แจงว่าได้เพราะไม่อนุญาตให้ละเลยการชี้แจงเมื่อมันเป็นเวลาที่ความจำเป็นต้องชี้แจง และไม่มีรายงานว่ามีเศาะหาบะฮฺท่านใดที่จ่ายซะกาตฟิฏรฺเป็นเงิน ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งที่อยู่ในความสามารถของพวกเขาในยุคนั้นที่จะทำเช่นนั้น และการจ่ายเป็นมูลค่าแทนจะทำให้เอกลักษณ์อันยิ่งใหญ่นี้หายไปและผู้คนก็จะไม่รู้ถึงบทบัญญัติของมัน

    หลักเดิมถือว่าบุคคลต้องจ่ายซะกาตแก่คนในพื้นที่ที่เขาอยู่ในวันอีด แต่อนุญาตให้ย้ายการจ่ายยังเมืองอื่นที่มีผู้ที่ยากจนกว่า(จำเป็นกว่า) นี่คือคำฟัตวาวินิจฉัยของอัล-ลัจญ์นะฮฺ อัด-ดาอิมะฮฺ (สภาฟัตวาของประเทศซาอุดิอารเบีย) (ฟะตาวา อัล-ลัจญ์นะฮฺ 9/369 หมายเลข 6364)

    ส่วนการมอบอำนาจให้ครอบครัวจ่ายแทนให้ในเมืองอื่นในขณะที่ตัวเองอยู่อีกเมืองหนึ่ง กรณีนี้ไม่เข้าข่ายประเด็นที่กล่าวมาสักครู่นี้ อย่างไรก็ตามถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นที่อนุญาตให้ทำได้เช่นกัน

    والحمد لله رب العالمين ، وصلّى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين.