หุก่มของการอิอฺติกาฟ
หมวดหมู่
Full Description
หุก่มของการอิอฺติกาฟ
] ไทย – Thai – تايلاندي [
เชค มุหัมมัด บิน ศอลิหฺ อัล-อุษัยมีน
แปลโดย : ซุฟอัม อุษมาน
﴿حكم الاعتكاف﴾
« باللغة التايلاندية »
الشيخ محمد بن صالح العثيمين
ترجمة: صافي عثمان
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
หุก่มของการอิอฺติกาฟ
คำถาม: อะไรคือหุก่มของการอิอฺติกาฟ? อนุญาตให้ผู้ที่อิอฺติกาฟออกไปเพื่อถ่ายทุกข์ ทานอาหาร และรักษาอาการป่วยไข้ได้หรือไม่? และวิธีการอิอฺติกาฟที่ถูกต้องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นเป็นอย่างไร?
คำตอบ: การอิอฺติกาฟ หมายถึงการประจำอยู่ในมัสยิดเพื่อให้มีเวลาว่างเฉพาะเพื่อทำการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ เป็นภารกิจที่สุนัตให้ปฏิบัติเพื่อเป็นการแสวงหาคืนลัยละตุลก็อดรฺ ซึ่งอัลลอฮฺได้ชี้ถึงภารกิจนี้ในพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า
﴿وَلَا تُبَٰشِرُوهُنَّ وَأَنتُمۡ عَٰكِفُونَ فِي ٱلۡمَسَٰجِدِۗ ﴾ [البقرة: ١٨٧]
ความว่า “และพวกเจ้าอย่าได้มีสัมพันธ์ทางเพศกับพวกนาง(เหล่าภรรยาของท่าน)ในขณะที่พวกท่านอิอฺติกาฟอยู่ในมัสยิด" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 187)
และมีปรากฏในหะดีษเศาะฮีหฺว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ทำการอิอฺติกาฟและบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านก็ได้อิอฺติกาฟพร้อมๆ กับท่านด้วย (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 2036)
การอิอฺติกาฟเป็นบทบัญญัติที่ปรากฏมาจนถึงทุกวันนี้โดยไม่ได้ถูกยกเลิกแต่ประการใด เนื่องด้วยมีหะดีษจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อิอฺติกาฟในช่วงสิบวันสุดท้ายของเราะมะฎอน จนกระทั่งท่านได้เสียชีวิต จากนั้นบรรดาภริยาของท่านก็ได้อิอฺติกาฟสืบเนื่องต่อมา (อัล-บุคอรีย์ 2026 และมุสลิม 1172)
ในเศาะฮีหฺมุสลิมมีรายงานของท่านอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อิอฺติกาฟช่วงสิบวันแรกของเราะมะฎอน แล้วก็อิอฺติกาฟช่วงสิบวันกลางของเราะมะฎอน แล้วท่านก็บอกว่า
«إِنِّيْ اعْتَكَفْتُ العَشْرَ الأَوَّلَ أَلْتَمِسُ هَذِهِ اللَّيْلَةَ (يعني لَيْلَةَ القَدْرِ)، ثُمَّ اعْتَكَفْتُ العَشْرَ الْأَوْسَطَ، ثُمَّ أُتِيْتُ فَقِيْلَ لِيْ: إِنَّهَا فِي الْعَشْرِ الْأَوَاخِرِ، فَمَنْ أَحَبَّ مِنْكُمْ أَنْ يَعْتَكِفَ فَلْيَعْتَكِفْ». [البخاري برقم 2027، ومسلم برقم 2828]
ความว่า “แท้จริง ฉันได้อิอฺติกาฟในช่วงสิบวันแรกเพื่อแสวงคืนนี้(คืนลัยละตุลก็อดรฺ) แล้วฉันก็อิอฺติกาฟช่วงสิบวันกลาง แล้วก็มีผู้ที่มาบอกแก่ฉันว่า แท้จริงแล้ว คืนนั้นอยู่ในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือน ดังนั้น ผู้ใดในหมู่พวกท่านที่ปรารถนาจะอิอฺติกาฟก็จงอิอฺติกาฟ(ในช่วงสิบวันสุดท้ายนี้)" (อัล-บุคอรีย์ 2027 และมุสลิม 2828) ดังนั้น เศาะหาบะฮฺของท่านจึงได้อิอฺติกาฟพร้อมๆ กับท่านด้วย อิมามอะห์มัดได้กล่าวว่า “ฉันไม่เคยรู้ว่ามีอุละมาอ์คนไหนที่เห็นแย้งไปจากความเห็นที่ว่าอิอฺติกาฟนั้นเป็นสิ่งที่สุนัตให้ปฏิบัติ"
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าอิอฺติกาฟนั้นสุนัตให้ปฏิบัติ ทั้งโดยหลักฐานและการเห็นพ้องกันของอุละมาอ์
สถานที่ของการอิอฺติกาฟก็คือมัสยิดที่มีการละหมาดญะมาอะฮฺ ไม่ว่าจะในเมืองหรือประเทศใดก็ตาม โดยยึดหลักฐานที่ระบุในลักษณะรวมๆ ของอายะฮฺที่ว่า
﴿وَأَنتُمۡ عَٰكِفُونَ فِي ٱلۡمَسَٰجِدِۗ ﴾ [البقرة: ١٨٧]
ความว่า “ในขณะที่พวกเจ้ากำลังอิอฺติกาฟกันอยู่ในมัสยิด" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 187)
และที่ดีที่สุดก็คือการอิอฺติกาฟในมัสยิดที่มีการทำละหมาดญุมอัต(ละหมาดวันศุกร์)ด้วย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องออกไปละหมาดวันศุกร์ที่อื่น แต่ถ้าอิอฺติกาฟในมัสยิดทั่วไปก็ถือว่าไม่เป็นไรถ้าหากจะออกตั้งแต่เช้าเพื่อไปรอละหมาดวันศุกร์ในมัสยิดอื่น
เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ผู้อิอฺติกาฟจะต้องง่วนอยู่กับการอิบาดะฮฺแสดงความเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ ไม่ว่าจะเป็นการละหมาด การอ่านอัลกุรอาน การซิกิรฺรำลึกถึงอัลลอฮฺ เพราะนี่คือเป้าประสงค์ของการอิอฺติกาฟ และถ้าหากว่าจะมีการพูดคุยกันเล็กๆ น้อยๆ กับเพื่อนฝูงก็ถือว่าไม่เสียหายอะไร โดยเฉพาะถ้าหากการพูดคุยดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีประโยชน์
ไม่อนุญาตให้ผู้อิอฺติกาฟมีเพศสัมพันธ์ และรวมถึงการเล้าโลมเฉยๆ โดยไม่มีเพศสัมพันธ์
ส่วนการออกจากมัสยิดนั้นจะมีอยู่สามลักษณะ คือ
หนึ่ง อนุญาตให้ออกได้ คือ ออกเพราะมีความจำเป็นที่รับรองโดยบทบัญญัติศาสนา หรือจำเป็นตามธรรมชาติ เช่น ออกไปละหมาดญุมอัต ออกไปเพื่อทานอาหารและดื่มถ้าหากว่าไม่มีใครนำอาหารมาให้ ออกไปเพื่ออาบน้ำละหมาดหรือเพื่ออาบน้ำวาญิบ ออกเพื่อถ่ายหนักถ่ายเบา
สอง การออกไปเพื่อทำอิบาดะฮฺที่ไม่วาญิบ เช่น การเยี่ยมผู้ป่วย การร่วมส่งศพเพื่อนำไปฝัง กรณีนี้ถ้ามีการตั้งเงื่อนไขเอาไว้แต่แรกก็ถือว่าอนุญาตให้ทำได้ แต่ถ้าไม่ได้ตั้งเงื่อนไขไว้ก็ไม่อนุญาตให้กระทำ
สาม การออกไปเนื่องด้วยสาเหตุที่ขัดกับเป้าหมายของอิอฺติกาฟ เช่น ออกเพื่อกลับบ้าน เพื่อซื้อของ เพื่อมีเพศสัมพันธ์กับภรรยา หรืออื่นๆ กรณีนี้ถือว่าไม่อนุญาต แม้ว่าจะตั้งเงื่อนไขไว้หรือไม่ก็ตาม
วัลลอฮุล มุวัฟฟิก (ขออัลลอฮฺประทานเตาฟีก)