×
การได้รับความปลอดภัย หรือ อัล-อาฟียะฮฺ เป็นหนึ่งในบรรดาความโปรดปรานหรือนิอฺมัตที่มนุษย์ควรระลึกและขอบคุณอัลลอฮฺอยู่เสมอ และต้องหมั่นวิงวอนขอให้พระองค์ประทานมันให้กับเขา ซึ่งความปลอดภัยแบ่งเป็นสองประเภทคือ ในโลกนี้ด้วยการมีพลานามัยที่สมบูรณ์ และในโลกหน้าคือการรอดพ้นจากโทษทัณฑ์ของอัลลอฮฺ เป็นบทความจากหนังสืออัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ ของเชคอะมีน อัช-ชะกอวีย์

    การได้รับความปลอดภัย

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : อับดุศศอมัด อัดนาน

    ตรวจทานโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ

    ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต
    อัล-มุลกอฮฺ

    2012 - 1433

    ﴿العافية﴾

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبدالله الشقاوي

    ترجمة: عبدالصمد عدنان

    مراجعة: يوسف أبوبكر

    المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة

    2012 - 1433

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    เรื่องที่ 114

    การได้รับความปลอดภัย

    การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงผู้เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์...

    ความโปรดปรานอันใหญ่หลวงอีกประการหนึ่งที่อัลลอฮฺได้มอบให้แก่ปวงบ่าวของพระองค์ คือการมีสุขภาพพลานามัยที่ดี อัลลอฮฺได้เล่าเรื่องราวของนบีฮูด อะลัยฮิสสลาม ในขณะที่เขาได้กล่าวแก่กลุ่มชนของเขาว่า

    ﴿ وَيَٰقَوۡمِ ٱسۡتَغۡفِرُواْ رَبَّكُمۡ ثُمَّ تُوبُوٓاْ إِلَيۡهِ يُرۡسِلِ ٱلسَّمَآءَ عَلَيۡكُم مِّدۡرَارٗا وَيَزِدۡكُمۡ قُوَّةً إِلَىٰ قُوَّتِكُمۡ وَلَا تَتَوَلَّوۡاْ مُجۡرِمِينَ ٥٢ ﴾ [هود : 52]

    ความว่า ”โอ้กลุ่มชนของฉัน จงขออภัยโทษและกลับเนื้อกลับตัวต่อผู้ทรงอภิบาลของพวกท่านกันเถิด พระองค์จะทรงให้มีน้ำฝนหลั่งลงมามากมายอย่างต่อเนื่อง และจะทรงเพิ่มพลังเป็นทวีคูณแก่พวกท่าน และพวกท่านอย่าได้ผินหลังให้โดยเป็นผู้กระทำผิด “ (ฮูด : 52 )

    มีรายงานจากอิบนุ อับบาสเล่าว่า ท่านบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า

    «نِعْمَتَانِ مَغْبُونٌ فِيهِمَا كَثِيرٌ مِنْ النَّاسِ الصِّحَّةُ وَالْفَرَاغُ» [رواه البخاري برقم 6412]

    ความว่า “ความโปรดปรานสองประการที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่า นั่นคือ การมีสุขภาพที่ดี และการมีเวลาว่าง”(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 6412)

    คำว่า ( الغبن ) หมายถึง ผู้ที่ถูกหลอกให้ซื้อสินค้าในราคาที่เกินความเป็นจริง ดังนั้นใครที่มีสุขภาพที่ดี และมีเวลาว่าง แต่กลับใช้มันไม่ให้เกิดผลในทางที่ดีกับชีวิตของเขาในโลกหน้าจะถูกเรียกว่า มัฆบูน (مَغْبُونٌ) หรือผู้ถูกหลอก (โดยใช้เวลาที่มีค่าให้หมดไปกับสิ่งที่ไร้สาระ)

    ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า

    «مَنْ أَصْبَحَ مِنْكُمْ آمِنًا فِي سِرْبِهِ، مُعَافًى فِي جَسَدِهِ، عِنْدَهُ قُوتُ يَوْمِهِ، فَكَأَنَّمَا حِيزَتْ لَهُ الدُّنْيَا» [رواه الترمذي برقم 2346]

    ความว่า “ผู้ใดที่ตื่นเช้าขึ้นมาพบกับภาวะที่สงบสุข มีความปลอดภัยในชีวิต ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย มีอาหารการกินที่หะลาลอย่างครบครัน เหมือนกับว่าความผาสุกแห่งโลกนี้ได้ถูกเตรียมไว้สำหรับเขาหมดแล้ว” (บันทึกโดย อัต-ติรมิซียฺ : 2346)

    คำว่า (آمناً في سربه) หมายถึง มีความปลอดภัย มีความสงบสุขในชีวิต ครอบครัว และทรัพย์สินเงินทอง

    คำว่า (معافًى في بدنه) หมายถึง มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง

    คำว่า (عنده قوت يومه) หมายถึง มีอาหารในปริมาณที่เพียงพอสำหรับเขาจะใช้รับประทานในแต่ละวัน และเป็นอาหารที่หะลาล

    คำว่า (فَكَأَنَّمَا حِيزَتْ لَهُ الدُّنْيَا) หมายถึง ได้รวบรวม ได้เตรียมไว้

    ดังนั้น ใครก็แล้วแต่ที่อัลลอฮฺได้ให้เขามีพลานามัยที่ดีและมีจิตใจที่สงบ มีอาหารการกินอย่างเพียงพอในแต่ละวัน สมาชิกในครอบครัวไม่เจ็บไข้ได้ป่วย แน่นอนยิ่งว่าอัลลอฮฺได้รวบรวมความโปรดปรานทั้งหลายที่ผู้คนในโลกนี้ต่างแสวงหากันให้กับเขาแล้ว จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่เขาจะต้องขอบคุณต่ออัลลอฮฺ ด้วยการภักดี เชื่อฟัง และปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์ และอย่าได้เป็นผู้ฝ่าฝืนต่อพระองค์

    และประการสำคัญและสูงส่งยิ่งที่ผู้ศรัทธาจะต้องร้องขอต่ออัลลอฮฺอยู่เสมอ นั่นคือ การขอให้มีพลานามัยที่ดี จากหะดีษ ริฟาอะฮฺ อิบนุ รอฟิอฺ เล่าว่า วันหนึ่ง ขณะที่ท่านอบู บักรฺ ได้ยืนขึ้นปราศรัยบนมิมบัรฺ แล้วท่านก็ร้องไห้ ท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ยืนบนมิมบัรฺแห่งนี้แล้วท่านก็ร้องไห้ ท่านกล่าวแก่พวกเราว่า

    «سَلُوا اللهَ العَفْوَ وَالْعَافِيَةَ، فَإِنَّ أَحَدًا لَمْ يُعْطَ بَعْدَ الْيَقِيْنِ خَيْرًا مِنَ العَافِيَةِ» [رواه ابن حبان برقم 889، وصححه الألباني في السلسلة الصحيحة برقم 1325]

    ความว่า “พวกเจ้าจงขอต่ออัลลอฮฺให้มีความสุขสบาย ปลอดจากโรคภัยทั้งปวงเถิด เพราะไม่มีความดีอันใดที่บุคคลหนึ่งจะได้รับหลังจากการตักวา ที่จะดียิ่งไปกว่าการมีสุขพลานามัยที่ดี ” (บันทึกโดยอิบนุ หิบบาน : 889 และท่านเชค อัล-อัลบานียฺได้กล่าวว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺไว้ในสิลสิละฮฺ อัศ-เศาะฮีหะฮฺ หมายเลข : 1325)

    อิบนุล-ก็อยยิม ได้อธิบายหะดีษบทนี้ว่า “เขาได้รับความสุขสบายทั้งในเรื่องศาสนาและการใช้ชีวิตในโลกนี้ ซึ่งบุคคลหนึ่งจะมีชีวิตที่ดีมีความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้าได้ก็ต่อเมื่อเขามีความมั่นใจ(ยะกีน)และมีพลานามัยที่ดี(อาฟียะฮฺ) ความมั่นใจในศรัทธาจะคอยปกป้องเขาจากการลงโทษในวันอาคิเราะฮฺ ส่วนการมีพลานามัยที่ดีจะปกป้องเขาจากโรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิดขึ้นทางด้านจิตใจและร่างกายในโลกนี้ ดังนั้น กิจการทั้งหลายของโลกอาคิเราะฮฺได้ถูกรวบรวมไว้ในคำแค่คำเดียว และกิจการทั้งหลายของโลกนี้ก็ได้ถูกรวบรวมไว้ในคำแค่คำเดียวเช่นกัน” (ตุหฺฟะตุซ-ซากิรีน หน้า : 305)

    อบู ฮุร็อยเราะฮฺ – เราะฎิยัลลอฮุอันฮู – เล่าว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า

    «مَا مِنْ دَعْوَةٍ يَدْعُو بِهَا الْعَبْدُ أَفْضَلَ مِنْ : اللَّهُمَّ إِنِّي أَسْأَلُكَ الْمُعَافَاةَ فِي الدُّنْيَا وَالْآخِرَةِ» [رواه ابن ماجه برقم 3851، وصححه الألباني في صحيح سنن ابن ماجه برقم 3106]

    ความว่า “ดุอาอ์ที่ดีที่สุดที่บุคคลหนึ่งควรจะวอนขอ คือ โอ้อัลลอฮฺขอได้โปรดให้ข้าพระองค์ได้รับความสุขสบายทั้งในโลกนี้และโลกหน้าด้วยเถิด ” (บันทึกโดยอิบนุ มาญะฮฺ : 3851 และเชคอัล-อัลบานียฺได้กล่าวว่าเศาะฮีหฺในเศาะฮีหฺ สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ หมายเลข : 3106)

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้บอกกล่าวถึงสิ่งที่บรรดาปวงบ่าวควรที่จะแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุด นั่นคือ การขอต่ออัลลอฮฺให้ได้มีพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ เพราะเป้าหมายอันยิ่งใหญ่และของขวัญอันล้ำค่าที่จะนำมาซึ่งความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า คือ การมีพลานามัยที่ดีนั่นเอง

    อนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮู เล่าว่า “ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เดินผ่านกลุ่มคนที่ได้รับการทดสอบ(ด้วยโรคภัย) ท่านจึงกล่าวว่า

    «أَمَا كَانَ هٰؤُلَاءِ يَسْأَلُونَ اللهَ العَافِيَةَ» [رواه البزار في كشف الأستار 4/36 برقم 3134، وصححه الألباني في السلسلة الصحيحة برقم 2197]

    ความว่า “ทำไมที่พวกเขาไม่ขอให้มีสุขพลานามัยที่ดีต่ออัลลอฮฺกันล่ะ” ( บันทึกโดยอัล-บัซซารฺ ในกัชฟุล อัสตารฺ เล่ม 4 หน้า 36 หมายเลข 3134 และอัล-อัลบานีย์ได้กล่าวว่าเศาะฮีหฺใน อัส-สิลสิละฮฺ อัศ-เศาะฮีหะฮฺ หมายเลข 2197)

    บทเรียนที่ได้รับจากหะดีษนี้ คือ การขอให้ได้มีพลานามัยที่ดีต่ออัลลอฮฺจะสามารปกป้องภัยพิบัติต่างๆ ได้และสามารถคลี่คลายการทดสอบที่กำลังประสบอยู่ได้ ด้วยเหตุนี้ท่านนบีจึงถามในเชิงสำทับแก่พวกเขา เหมือนกับท่านต้องการเตือนพวกเขาว่า “พวกท่านปล่อยให้ตัวเองได้รับการทดสอบอยู่ได้อย่างไร ทั้งที่สามารถจะทำการเยียวยารักษาได้ ด้วยการร้องขอต่ออัลลอฮฺให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดี และขอให้ได้รับการปกป้องจากบททดสอบที่กำลังเผชิญอยู่เพื่อให้รอดพ้นจากภัยพิบัติต่างๆ ได้”

    และในการขอเช่นนี้จะทำให้จิตใจเบิกบาน กระปรี้กระเปร่าด้วยกับยาตำรับนี้ คราใดที่ได้ประสบกับปัญหาต่างๆ ได้ ชาวสลัฟผู้หนึ่งกล่าวแนะนำว่า “ท่านทั้งหลายโปรดขอต่ออัลลอฮฺให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดีกันเถิด เนื่องจากผู้ที่ได้รับการทดสอบอยู่แล้วนั้น อาจจะพบกับบททดสอบที่รุนแรงกว่านี้อีกก็ได้ และใช่ว่าผู้ที่เขาได้รับการทดสอบเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺให้มีพลานามัยที่ดี แต่ผู้ที่มีพลานามัยที่ดีอยู่แล้วก็มีสิทธิ์ที่จะขอได้เช่นกัน พึงทราบเถิดว่าผู้ที่เขาได้รับการทดสอบด้วยโรคภัยไข้เจ็บในวันนี้คือผู้ที่มีพลานามัยที่ดีอยู่เมื่อวาน และผู้ที่ได้รับการทดสอบในวันพรุ่งนี้คือผู้ที่มีพลานามัยที่ดีอยู่ในวันนี้มิใช่หรือ ?”

    บุคคลใดก็ตามที่เขาเคยเยี่ยมเยียนโรงพยาบาลเขาย่อมเห็นบรรดาพี่น้องมุสลิมหลายๆ คนที่ถูกทดสอบด้วยโรคร้ายนานาชนิดที่นายแพทย์ไม่สามารถเยียวยารักษาให้หายได้ หวังว่าเขาคงจะขอบคุณต่ออัลลอฮฺอย่างมากล้นที่ทำให้เขามีสุขภาพพลานามัยที่ดีตลอดมา

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มักจะวิงวอนขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺทั้งยามเช้าและยามเย็นเพื่อให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดีอยู่เป็นประจำ แม้แต่เมื่อท่านจะเข้านอน อิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า

    لمْ يَكُنْ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَدَعُ هَؤُلَاءِ الدَّعَوَاتِ حِينَ يُمْسِي وَحِينَ يُصْبِحُ : «اللَّهُمَّ إِنِّي أَسْأَلُكَ الْعَافِيَةَ فِي الدُّنْيَا وَالْآخِرَةِ، اللَّهُمَّ إِنِّي أَسْأَلُكَ الْعَفْوَ وَالْعَافِيَةَ فِي دِينِي وَدُنْيَايَ وَأَهْلِي وَمَالِي، اللَّهُمَّ اسْتُرْ عَوْرَتِي ـ وَقَالَ عُثْمَانُ عَوْرَاتِي ـ وَآمِنْ رَوْعَاتِي، اللَّهُمَّ احْفَظْنِي مِنْ بَيْنِ يَدَيَّ وَمِنْ خَلْفِي وَعَنْ يَمِينِي وَعَنْ شِمَالِي وَمِنْ فَوْقِي، وَأَعُوذُ بِعَظَمَتِكَ أَنْ أُغْتَالَ مِنْ تَحْتِي» [رواه أبو داود برقم 5074، وصححه الألباني في صحيح سنن أبي داود 3/248]

    ความว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่เคยละเว้นที่จะกล่าวบทดุอาอ์เหล่านี้เลยทั้งยามเช้าและยามเย็นว่า “โอ้อัลลอฮฺได้โปรดให้ฉันมีพลานามัยที่ดีทั้งในโลกนี้และโลกหน้าด้วยเถิด ขอให้ฉันได้รับการอภัยโทษและความปลอดภัยทั้งในเรื่องศาสนาและเรื่องดุนยา รวมทั้งครอบครัวและทรัพย์สินของฉันด้วยเถิด โอ้อัลลอฮฺขอทรงโปรดปกปิดเอาเราะฮฺของฉัน และให้ฉันได้มีจิตใจที่สงบสุขด้วยเถิด โอ้อัลลอฮฺขอได้โปรดปกป้องฉันทางด้านหน้า ด้านหลัง ด้านขวาและด้านซ้ายด้วยเถิด และฉันขอความคุ้มครองด้วยความยิ่งใหญ่ของท่านให้รอดพ้นจากภัยพิบัติจากเบื้องล่างของฉันด้วยเถิด” ( บันทึกโดยอบู ดาวูด หน้า : 547 หะดีษหมายเลข : 5074 และเชคอัล-อัลบานียฺได้บันทึกไว้ในเศาะฮีหฺ สุนัน อบี ดาวูด เล่มที่ : 3 หมายเลขหน้า : 248 )

    และเล่าจากอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัล-หาริษ ว่า อิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า

    عَنْ عَبْدِ اللَّهِ بْنِ عُمَرَأَنَّهُ أَمَرَ رَجُلًا إِذَا أَخَذَ مَضْجَعَهُ قَالَ : «اللَّهُمَّ خَلَقْتَ نَفْسِي وَأَنْتَ تَوَفَّاهَا، لَكَ مَمَاتُهَا وَمَحْيَاهَا، إِنْ أَحْيَيْتَهَا فَاحْفَظْهَا، وَإِنْ أَمَتَّهَا فَاغْفِرْ لَهَا، اللَّهُمَّ إِنِّي أَسْأَلُكَ الْعَافِيَةَ». فَقَالَ لَهُ رَجُلٌ : أَسَمِعْتَ هَذَا مِنْ عُمَرَ ؟ فَقَالَ : مِنْ خَيْرٍ مِنْ عُمَرَ، مِنْ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ. [رواه مسلم برقم 2712]

    ความว่า อิบนุ อุมัรฺ ได้สอนชายผู้หนึ่งให้เขากล่าวบทดุอาอ์เมื่อต้องการที่จะนอนว่า “โอ้อัลลอฮฺ พระองค์ได้ให้ชีวิตแก่ฉัน และพระองค์เป็นผู้เอาชีวิตนี้กลับไป หากพระองค์ไว้ชีวิตของฉันก็ขอให้รักษามันด้วยเถิด และหากท่านต้องการเอาชีวิตนี้กลับไปก็ทรงโปรดอภัยให้ด้วยเถิด โอ้อัลลอฮฺขอให้ฉันมีสุขภาพพลานามัยที่ดีด้วยเถิด” ชายผู้หนึ่งกล่าวถามว่า ท่านได้ยินคำพูดนี้มาจากท่านอุมัรฺใช่ไหม? ท่านตอบว่า ฉันได้ยินมาจากบุคคลที่ดีกว่าอุมัรฺเสียอีก นั่นคือ ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข : 2712)

    อนึ่ง...ความปลอดภัยในโลกนี้ คือการที่อัลลอฮฺทรงปกป้องปวงบ่าวให้รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ ภัยพิบัติและจากอุปสรรคทั้งปวง ส่วนความปลอดภัยในโลกหน้า คือการที่อัลลอฮฺทรงปกป้องให้เขารอดพ้นจากความน่าสะพรึงกลัวและความเลวร้ายทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นในวันอาคิเราะฮฺ ซึ่งคำร้องขอใดๆ ของบ่าวคนหนึ่งย่อมไม่พ้นไปจากการขอสองประเภทนี้

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้รอดพ้นจากโรคร้ายต่างๆ ทั้งปวง ดังที่อนัสเล่าว่า

    أن النبي صلى الله عليه وسلم كان يقول : اللهم إني أعوذبك من البَرَصِ ، وَالجُنُونِ، وَمِنْ سَيِّئِ الأَسْقَامِ» [رواه أحمد 3/192]

    ความว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวขอดุอาอ์ว่า “โอ้อัลลอฮฺ ฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้รอดพ้นจากโรคเรื้อน จากโรคลมพิษ และจากโรคร้ายทั้งปวงด้วยเถิด” (บันทึกโดยอะหฺมัด เล่มที่ : 3 หน้า : 192)

    และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังได้แนะนำประชาชาติของท่านให้ฉกฉวยโอกาสขณะที่มีสุขภาพที่ดีก่อนที่จะเจ็บไข้ได้ป่วย อิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวตักเตือนชายผู้หนึ่งว่า

    «اغْتَنِمْ خَمْسًا قَبْلَ خَمْسٍ : شَبَابَكَ قَبْلَ هَرَمِكَ ، وَصِحَّتَكَ قَبْلَ سَقَمِكَ، وَغَنَاءَكَ قَبْلَ فَقْرِكَ ، وَفَرَاغَكَ قَبْلَ شُغْلِكَ ، وَحَيَاتَكَ قَبْلَ مَوْتِكَ» [رواه الحاكم في المستدرك برقم 7846 وقال : هذا حديث صحيح على شرط الشيخين ولم يخرجاه، وصححه الألباني في صحيح الجامع الصغير برقم 1077]

    ความว่า “จงฉวยโอกาสห้าประการก่อนที่อีกห้าประการจะมาถึง กล่าวคือ ในขณะที่เจ้ายังหนุ่มแน่นก่อนที่เจ้าจะชราภาพ ขณะที่เจ้ายังมีสุขภาพที่ดีก่อนที่เจ้าจะป่วยไข้ ขณะที่เจ้าร่ำรวยก่อนที่เจ้าจะยากจน ขณะที่เจ้ายังมีเวลาว่างก่อนที่เจ้าจะยุ่งเหยิง และขณะที่เจ้ายังมีชีวิตอยู่ก่อนที่เจ้าจะพบกับความตาย” (บันทึกโดยอัล-หากิม เล่มที่ : 4 หน้า : 341 หมายเลข 7846 และท่านกล่าวว่าหะดีษบทนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของอิหม่ามอัล-บุคอรีย์และมุสลิม แต่ท่านทั้งสองมิได้บันทึกไว้ และอัล-อัลบานีย์ ได้กล่าวว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ใน เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ หมายเลข 1077)

    และอิบนุ อุมัรฺ กล่าวว่า “เมื่อท่านมีชีวิตอยู่ในยามเช้าก็อย่าได้คอยจนกระทั่งถึงยามเย็น และหากท่านมีชีวิตอยู่ในยามเย็นก็อย่าได้คอยจนกระทั่งถึงยามเช้า และจงฉกฉวยโอกาสขณะที่ท่านยังมีสุขภาพที่ดีก่อนที่ท่านจะป่วย และขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ก่อนที่ท่านจะพบกับความตาย” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ เล่มที่ : 4 หน้า : 176 หมายเลข : 6416)

    والحمد لله رب العالمين ، وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين .