×
อรรถาธิบายสูเราะฮฺ อัล-ฟะลัก กล่าวถึงคุณค่าและความประเสริฐของสูเราะฮฺ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนสามสูเราะฮฺที่ใช้ปัดเป่าเพื่อป้องกันตัวจากการมุ่งร้ายของผู้ไม่หวังดี ควรอย่างยิ่งที่มุสลิมจะใช้เป็นบทอ่านในชีวิตประจำวัน เป็นบทความจากหนังสืออัด-ดุร็อร อัล-มุนตะกอฮฺ โดยเชคอะมีน อัช-ชะกอวีย์

    อรรถาธิบายสูเราะฮฺ อัล-ฟะลัก

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : อัฟนาน เพ็ชรทองคำ

    ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

    ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ

    2012 - 1433

    ﴿تفسير سورة الفلق﴾

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبدالله الشقاوي

    ترجمة: أفنان فيتونكام

    مراجعة: عصران نيومديشا

    المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة

    2012 - 1433

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    เรื่องที่ 147

    อรรถาธิบายสูเราะฮฺ อัล-ฟะลัก

    มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ขอการสรรเสริญจากอัลลอฮฺ และความสันติจงมีแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่าน ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ ฉันขอปฏิญาณว่า มุหัมมัดเป็นบ่าวของพระองค์อัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

    สูเราะฮฺสำคัญที่เราได้ยินอยู่บ่อยครั้ง และควรค่าแก่การใช้เวลาใคร่ครวญ นั่นคือสูเราะฮฺ อัล-ฟะลัก

    ﴿قُلۡ أَعُوذُ بِرَبِّ ٱلۡفَلَقِ ١ مِن شَرِّ مَا خَلَقَ ٢ وَمِن شَرِّ غَاسِقٍ إِذَا وَقَبَ ٣ وَمِن شَرِّ ٱلنَّفَّٰثَٰتِ فِي ٱلۡعُقَدِ ٤ وَمِن شَرِّ حَاسِدٍ إِذَا حَسَدَ ٥﴾ [سورة الفلق]

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระเจ้าแห่งรุ่งอรุณ ให้พ้นจากความชั่วร้ายที่พระองค์ได้ทรงบันดาลขึ้น และจากความชั่วร้ายแห่งความมืดของเวลากลางคืนเมื่อมันแผ่คลุม และจากความชั่วร้ายของบรรดาผู้เสกเป่าในปมเงื่อน และจากความชั่วร้ายของผู้อิจฉาเมื่อเขาอิจฉา”

    จากหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า: "เมื่อท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ป่วย ท่านอ่านมุเอาวิซาต (สูเราะฮฺขอความคุ้มครองทั้งสามคือ สูเราะฮฺ อัล-อิคลาศ, อัล-ฟะลัก และ อัน-นาส) แล้วเป่าลงบนตัวของท่าน และเมื่อการป่วยของท่านรุนแรงขึ้น ฉันจึงเป็นผู้อ่านให้กับท่าน แล้วลูบด้วยมือของท่านเพื่อต้องการความจำเริญจากมัน” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 5019 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2192)

    และจากหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า: "เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เข้าที่นอนของท่านในทุกๆคืน ท่านรวบสองฝ่ามือของท่าน เป่าลงในฝ่ามือแล้วอ่านใส่สองฝ่ามือนั้น (ดังต่อไปนี้)

    ﴿قُلۡ هُوَ ٱللَّهُ أَحَدٌ ١[إلخ .. سورة الإخلاص]

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) พระองค์คืออัลลอฮฺผู้ทรงเอกะ” (จนจบสูเราะฮฺ)

    ﴿قُلۡ أَعُوذُ بِرَبِّ ٱلۡفَلَقِ ١ [إلخ .. سورة الفلق]

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระเจ้าแห่งรุ่งอรุณ” (จนจบสูเราะฮฺ)

    ﴿ قُلۡ أَعُوذُ بِرَبِّ ٱلنَّاسِ ١[إلخ .. سورة الناس]

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระเจ้าแห่งมนุษย์ชาติ” (จนจบสูเราะฮฺ)

    หลังจากนั้น ท่านจะลูบทั่วร่างกายของท่านเท่าที่สามารถด้วยสองมือ โดยเริ่มจากศีรษะและใบหน้าของท่าน ไปถึงด้านหน้าของร่างกายของท่าน ท่านทำดังกล่าวสามครั้ง” (บันทึกโดยบุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 5017)

    และจากหะดีษของอุกบะฮฺ บิน อามิร เล่าว่า: ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า: “พวกท่านรู้หรือไม่ว่ามีอายาตถูกประทานลงมาในคืนนี้ ในลักษณะที่ไม่เคยมีมาก่อน?”

    ﴿قُلۡ هُوَ ٱللَّهُ أَحَدٌ ١[إلخ .. سورة الإخلاص]

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) พระองค์คืออัลลอฮฺผู้ทรงเอกะ” (จนจบสูเราะฮฺ)

    ﴿قُلۡ أَعُوذُ بِرَبِّ ٱلۡفَلَقِ ١ [إلخ .. سورة الفلق]

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระเจ้าแห่งรุ่งอรุณ” (จนจบสูเราะฮฺ)

    ﴿قُلۡ أَعُوذُ بِرَبِّ ٱلنَّاسِ ١[إلخ .. سورة الناس]

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระเจ้าแห่งมนุษย์ชาติ” (จนจบสูเราะฮฺ)

    (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 814)

    -----------

    คำตรัสของผู้ทรงสูงส่ง

    ﴿قُلۡ أَعُوذُ بِرَبِّ ٱلۡفَلَقِ ١﴾

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระเจ้าแห่งรุ่งอรุณ”

    หมายถึง ข้าพระองค์ขอพึ่งพิง และขอความคุ้มครองจากพระเจ้าแห่งอรุโณทัย แต่ก็เป็นไปได้ว่ามันจะมีความหมายที่ครอบคลุมกว่านี้ เพราะคำว่า "อัลฟะลัก" หมายถึงทุกๆสิ่งที่พระองค์ทรงให้แยกแตกออก ไม่ว่าจะเป็นรุ่งอรุณ เมล็ดพืช หรือเมล็ดอินทผลัม ดังที่พระองค์ตรัสว่า

    ﴿إِنَّ ٱللَّهَ فَالِقُ ٱلۡحَبِّ وَٱلنَّوَىٰۖ ﴾ [الأنعام : 95]

    ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺ เป็นผู้ทรงให้เมล็ดพืชและเมล็ดอินทผาลัมปริออก” (สูเราะฮฺ อัล-อันอาม: 95) และที่พระองค์ตรัสว่า

    ﴿ فَالِقُ ٱلۡإِصۡبَاحِ ﴾ [الأنعام : 96]

    ความว่า “ผู้ทรงเผยอรุโณทัย” (สูเราะฮฺ อัล-อันอาม : 96)

    -----------

    คำตรัสของผู้ทรงสูงส่ง

    ﴿مِن شَرِّ مَا خَلَقَ ٢﴾

    ความว่า “ให้พ้นจากความชั่วร้ายที่พระองค์ได้ทรงบันดาลขึ้น”

    หมายถึง ขอความคุ้มครองให้พ้นจากความชั่วร้ายของสิ่งที่ถูกสร้างทั้งมวล แม้กระทั่งความชั่วร้ายของจิตใจ เพราะว่าจิตใจนั้นถูกครอบงำไว้ด้วยความชั่ว ดังปรากฏในหะดีษ “และเราขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺให้พ้นจากความชั่วร้ายของจิตใจของเรา”

    และ(ขอความคุ้มครอง) ให้พ้นจากความชั่วร้ายของสิ่งที่พระองค์บันดาลขึ้น รวมไปถึงเหล่าชัยฎอนในคราบมนุษย์ ญิน และสัตว์ที่เป็นอันตราย และอื่นๆ

    -----------

    คำตรัสของผู้ทรงสูงส่ง

    ﴿وَمِن شَرِّ غَاسِقٍ إِذَا وَقَبَ ٣﴾

    ความว่า “และจากความชั่วร้ายแห่งความมืดของเวลากลางคืนเมื่อมันแผ่คลุม”

    “อัลฆอสิก” หมายถึง กลางคืน และมีผู้กล่าวว่า หมายถึงดวงจันทร์ ซึ่งที่ถูกต้องคือความหมายของมันครอบคลุมทั้งสองสิ่ง

    ส่วนที่หมายถึง “กลางคืน” เพราะอัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า

    ﴿أَقِمِ ٱلصَّلَوٰةَ لِدُلُوكِ ٱلشَّمۡسِ إِلَىٰ غَسَقِ ٱلَّيۡلِ﴾ [الإسراء: 78]

    ความว่า “จงดำรงการละหมาดไว้ตั้งแต่ตะวันคล้อย จนพลบค่ำ" (สูเราะฮฺ อัล-อิสรออ์ : 78)

    และในเวลากลางคืนมีสัตว์ที่เป็นอันตรายอยู่มาก ดังกล่าวจึงต้องขอความคุ้มครองจากความชั่วร้ายของ อัลฆอสิก นั่นคือ “เวลากลางคืน”

    ส่วนที่หมายถึง “ดวงจันทร์” เพราะมีรายงานจากหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ เล่าว่า: ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มองไปที่ดวงจันทร์ พลางกล่าวว่า

    «اسْتَعِيذِي بِاللَّهِ مِنْ شَرِّ هَذَا فَإِنَّهُ الْغَاسِقُ إِذَا وَقَبَ» [الترمذي برقم 3366]

    ความว่า “เธอจงขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้พ้นจากความชั่วร้ายของสิ่งนี้ เพราะสิ่งนี้คืออัลฆอสิก” (บันทึกโดยอัต-ติรมีซีย์ ในสุนันของท่าน หมายเลขหะดีษ : 3366)

    เพราะว่าอำนาจของมันอยู่ในเวลากลางคืน “เมื่อมันแผ่คลุม” إِذَا وَقَبَ คือ เมื่อมันเข้ามา

    ดังนั้นเมื่อความมืดแผ่ปกคลุมกลางคืน เรียกว่า “ฆอสิก” เช่นเดียวกับดวงจันทร์เมื่อมันส่องแสงนวล เรียกว่า “ฆอสิก” และสองสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในเวลากลางคืนเท่านั้น

    -----------

    คำตรัสของผู้ทรงสูงส่ง

    ﴿وَمِن شَرِّ ٱلنَّفَّٰثَٰتِ فِي ٱلۡعُقَد ِ٤﴾

    ความว่า “และจากความชั่วร้ายของบรรดาผู้เสกเป่าในปมเงื่อน”

    คือ นักไสยศาสตร์ หมอผี ผู้เสกเป่าในปมเงื่อนจะเสกเป่าด้วยกับการอ่านคาถาปลุกเสก โดยมีชื่อของชัยฏอนในทุกๆปมเงื่อน หลังจากนั้นก็จะเป่า ต่อมาก็ทำปมแล้วก็เป่า มันเป็นสิ่งที่สกปรกโสมมซึ่งต้องการปองร้ายบุคคลที่เจาะจง ดังนั้นไสยศาสตร์จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ถูกทำไสย

    การที่อัลลอฮฺกล่าวถึงผู้เสกเป่าในปมเงื่อนที่เป็นเพศหญิง ٱلنَّفَّٰثَٰتِ (อลิฟกับตาที่ต่อท้ายด้านหลังบ่งชี้ถึงเพศหญิง) โดยไม่ได้กล่าวถึงเพศชายالنفاثين นั้นก็เพราะว่าผู้ที่ทำและพึ่งพาไสยศาสตร์ส่วนมากจะเป็นหญิง ดังกล่าวนี้พระองค์จึงตรัสว่า ٱلنَّفَّٰثَٰتِ “ผู้เสกเป่าในปมเงื่อน (หญิง)

    และเป็นไปได้ที่จะกล่าวว่า “ผู้เสกเป่า” หมายถึง “บรรดาจิตใจผู้เสกเป่า” (คำว่าจิตใจในภาษาอาหรับเป็นเพศหญิง) หากหมายถึงเช่นนี้ คำว่า ٱلنَّفَّٰثَٰتِ จะครอบคลุมทั้งชายและหญิง

    จากหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมาเล่าว่า: ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถูกชาวยิวคนหนึ่งจากเผ่าซะรีก ชื่อ ละบีด บิน อัล-อะอฺศ็อม ทำไสยศาสตร์ จนถึงขนาดที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมคิดไปว่าท่านทำสิ่งหนึ่งไปโดยที่ท่านไม่ได้ทำสิ่งนั้น จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านขอดุอาอ์และขอดุอาอ์ แล้วกล่าวว่า:

    «يَا عَائشَةُ أَشَعَرْتِ أَنّ اللّهَ أَفْتَانِي فِيمَا اسْتَفْتَيْتُهُ فِيهِ؟ جَاءَنِي رَجُلاَنِ فَقَعَدَ أَحَدُهُمَا عِنْدَ رَأْسِي، وَالاَخَرُ عِنْدَ رِجْلَيّ، فَقَالَ الّذِي عِنْدَ رَأْسِي لِلّذِي عِنْدَ رِجْلَيّ، أَوِ الّذِي عِنْدَ رِجْلَيّ لِلّذِي عِنْدَ رَأْسِي: مَا وَجَعُ الرّجُلِ؟ قَالَ: مَطْبُوبٌ. قَالَ: مَنْ طَبّهُ؟ قَالَ: لَبِيدُ بْنُ الأَعْصَمِ. قَالَ: فِي أَيّ شَيْءٍ؟ قَالَ: فِي مُشْطٍ وَمُشَاطَةٍ. قَالَ: وَجُفِّ طَلْعَةِ ذَكَرٍ. قَالَ: فَأَيْنَ هُوَ؟ قَالَ: فِي بِئْرِ ذِي أَرْوَانَ»

    “อาอิชะฮฺเอ๋ย เธอรู้ไหมว่าอัลลอฮฺทรงตอบรับคำวิงวอนของฉันแล้ว(ให้คำตอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับฉันแล้ว)? มีชายสองคนมาหาฉัน คนหนึ่งนั่งด้านศีรษะของฉัน อีกคนนั่งด้านปลายเท้าของฉัน และผู้อยู่ด้านศีรษะของฉันกล่าวกับผู้นั่งอยู่ปลายเท้า หรือ ผู้ที่อยู่ปลายเท้ากล่าวกับผู้ที่นั่งอยู่ด้านศีรษะของฉันว่า:

    “อะไรทำให้ชายผู้นี้เจ็บป่วยรึ?” อีกคนตอบว่า “เขาถูกทำคุณไสย”

    คนแรกถามว่า “ใครเป็นผู้ทำเขา?” คนที่สองตอบว่า “ละบีด บิน อัลอะอฺศ็อม”

    คนแรกถามต่อว่า “ทำด้วยกับอะไร?” คนที่สองตอบว่า “หวีและเส้นผม”

    คนแรกกล่าวว่า “และทะลายของต้นอินทผลัมตัวผู้” คนที่สองถามว่า “มันอยู่ที่ไหนล่ะ?” คนแรกกล่าวตอบว่า “ในบ่ออัรวาน”

    ท่านหญิงอาอิชะฮฺกล่าวว่า: และท่านเราะสูลุลลอฮฺ ก็รุดไปยังบ่อน้ำดังกล่าวพร้อมกับสหายของท่าน แล้วท่านก็กล่าวว่า:

    « يَا عَائشَةُ، وَاللّهِ لَكَأَنّ مَاءَهَا نُقَاعَةُ الْحِنّاءِ، وَلَكَأَنّ نَخْلَهَا رُؤُوسُ الشّيَاطِينِ»

    “อาอิชะฮฺเอ๋ย ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ น้ำ(ในบ่อ)นั้นแดงเหมือนน้ำล้างภาชนะที่ใส่เฮนนะห์ และทะลายของต้นอินทผลัมนั้นเหมือนเช่นหัวของชัยฏอน”

    ท่านหญิงอาอิชะฮฺกล่าวว่า “ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ท่านไม่นำมันมาเผาหรือ?” ท่านกล่าวว่า:

    « لاَ، أَمّا أَنَا فَقَدْ عَافَانِي اللّهُ، وَكَرِهْتُ أَنْ أُثِيرَ عَلَىَ النّاسِ شَرّا » [مسلم برقم 3268]

    “ไม่ อัลลอฮฺทรงทำให้ฉันมีสุขภาพแข็งแรงหายเป็นปกติแล้ว ฉันเกรงว่ามันจะสร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่น” แล้วท่านนบีก็สั่งให้กลบบ่อนั้นเสีย (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2189 และอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 3268)

    -----------

    และคำดำรัสของผู้ทรงสูงส่ง

    ﴿وَمِن شَرِّ حَاسِدٍ إِذَا حَسَدَ ٥﴾

    ความว่า “และจากความชั่วร้ายของผู้อิจฉาเมื่อเขาอิจฉา”

    ผู้ที่อิจฉา คือ ผู้ที่รังเกียจความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่พระองค์มอบให้ผู้อื่น ดังนั้นจะพบว่าเขารู้สึกคับแค้นลำบากใจเมื่ออัลลอฮฺมอบความโปรดปรานให้กับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน เกียรติยศ ตำแหน่ง ความรู้ หรืออื่นจากนี้ นั่นคือความอิจฉา

    ผู้อิจฉา มีสองประเภท ประเภทแรก คือผู้ที่ในใจของเขามีความอิจฉา และไม่ชอบความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่พระองค์มอบให้กับผู้อื่น แต่ว่าผู้ที่ถูกอิจฉาไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากเขา จะพบว่าผู้อิจฉามีความเศร้าตรม กลัดกลุ้มใจ จากความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่พระองค์มอบให้กับผู้อื่น

    แต่ความชั่วร้าย และบททดสอบจะมาจากผู้ที่อิจฉาเมื่อเขาอิจฉาริษยา ดังกล่าวพระองค์จึงตรัสว่า “เมื่อเขาอิจฉาริษยา”

    ส่วนหนึ่งของการอิจฉาริษยาคือ “อัยน์” (ดวงตาที่อิจฉา) เพราะว่ามันจะออกมาจากผู้ที่มีความชั่วร้ายเป็นนิสัย มีจิตใจที่สกปรก และ “อัยน์” มีกล่าวในหะดีษ จากท่านอิบนิ อับบาส เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

    « الْعَيْنُ حَقٌّ، لَوْ كَانَ شَيْءٌ سَابَقَ الْقَدَرَ، سَبَقَتْهُ الْعَيْنُ » [مسلم برقم 2188]

    ความว่า “อัยน์ นั้นมีอยู่จริง และหากมีสิ่งใดที่จะรุดหน้าก่อนกำหนดสภาวะ ก็มี อัยน์ นี่แหล่ะที่จะรุดไปก่อนหน้ามัน” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2188)

    และรายงานจาก อิบนุ อะดีย์ ในอัล-กามิล จากหะดีษของญาบิรฺ เล่าว่า: ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

    « إِنَّ الْعَيْنَ لَتُدْخِلُ الرَّجُلَ الْقَبْرَ ، وَالْجَمَلَ الْقِدْرَ » [الكامل في ضعفاء الرجال (6/408) وقال الشيخ الألباني : حديث حسن، انظر صحيح الجامع برقم 4144]

    ความว่า “แท้จริงอัยน์นั้นอาจทำให้ชายผู้หนึ่งเข้าไปสู่หลุมศพ และอูฐลงไปอยู่ในหม้อได้” (เชคอัล-บานีย์กล่าวว่าเป็นหะดีษหะซัน ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ หมายเลข 4144)

    อัลมุนาวีย์กล่าวว่า: "หมายถึง (อัยน์) ฆ่าเขาทำให้เขาถูกฝังในหลุมศพ ส่วนข้อความที่ว่า “และอูฐลงไปอยู่ในหม้อ” หมายถึง เมื่ออูฐโดนอัยน์ หรือว่าถึงวาระการตายของมัน เจ้าของก็จะเชือด และปรุงเนื้ออูฐในหม้อ ดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่า “อัยน์” เป็นโรค และโรคนั้นมีอานุภาพที่จะสังหารได้ ดังนั้น จึงเป็นการสมควรสำหรับผู้ที่มีโรคอิจฉาริษยาต้องเร่งรักษาด้วยความดีงาม เพื่อที่เขาจะได้หายจากโรคนี้" (ฟัยฎุลเกาะดีรฺ 4/2186)

    จากหะดีษของ อบีสะอีด อัลคุดรีย์ เล่าว่า: ท่านญิบรีลมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และกล่าวว่า “มุหัมมัดเอ๋ย ท่านไม่สบายหรือ?” ท่านกล่าวว่า “ใช่” ญิบรีลจึงกล่าวว่า:

    «بِاسْمِ اللَّهِ أَرْقِيكَ، مِنْ كُلِّ شَىْءٍ يُؤْذِيكَ، مِنْ شَرِّ كُلِّ نَفْسٍ أَوْ عَيْنِ حَاسِدٍ، اللَّهُ يَشْفِيكَ، بِاسْمِ اللَّهِ أَرْقِيكَ» [مسلم برقم 2186]

    “ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ฉันขอรักษาท่านจากทุกสิ่งที่ทำร้ายท่าน และจากความชั่วร้ายของทุกจิตใจ หรือดวงตาของผู้ที่อิจฉาริษยา ขอให้อัลลอฮฺทรงบำบัดท่าน ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ฉันขอรักษาท่าน” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2186)

    และอัลลอฮฺกล่าวถึง “ความมืดเมื่อมันแผ่มาปกคลุม” และ “ผู้เสกเป่าในปมเงื่อน” และ “ผู้อิจฉาริษยาเมื่อเขาอิจฉาริษยา” ก็เพราะว่าบททดสอบทั้งหลายที่อยู่ในสามสามอย่างนี้เป็นสิ่งที่เร้นลับ จำเป็นสำหรับผู้ศรัทธาต้องเชื่อมโยงหัวใจไว้กับพระเจ้าของเขา มอบหมายกิจการต่างๆไว้กับพระองค์ และใช้ดุอาอ์ที่มีอยู่ในบทบัญญัติของศาสนาเป็นเกราะป้องกัน และรักษาตัวของเขาจากทุกความชั่วร้ายของไสยศาสตร์ ผู้อิจฉาริษยา และอื่นๆ (ตัฟสีรฺญุซอัมมะ โดยเชคอิบนุ อุษัยมีน หน้า 352-354)

    والحمد لله رب العالمين، وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين.