เจตนารมณ์พื้นฐานห้าประการในอิสลาม
หมวดหมู่
Full Description
เจตนารมณ์พื้นฐาน 5 ประการในอิสลาม
﴿الضروريات الخمس في الشريعة الإسلامية﴾
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ดร.มุฮำหมัดซากี เจ๊ะหะ
ผู้ตรวจทาน : มัสลัน มาหะมะ
ที่มา : หนังสืออิสลามวิถีแห่งชีวิต
2010 - 1431
﴿الضروريات الخمس في الشريعة الإسلامية﴾
« باللغة التايلاندية »
الدكتور محمد زكي يوسف جيءهأ
مراجعة: مزلان محمد
المصدر: كتاب الإسلام منهج الحياة
2010 - 1431
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
เจตนารมณ์พื้นฐาน 5 ประการในอิสลาม
ความนำ
เจตนารมณ์พื้นฐาน 5 ประการในอิสลาม เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าอิสลามได้กำหนดมาตรการและคำสอนต่างๆ เพื่อเป็นหลักประกันการสร้างความมั่นคงในชีวิตมนุษย์ ทั้งในลักษณะของการก่อให้เกิด และการธำรงรักษา มิให้สูญหายหรือนำไปใช้ในทิศทางที่ผิดๆ ซึ่งล้วนสอนให้เรารู้ว่าอิสลามคือศาสนาที่ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพที่แท้จริง
บรรดานักการศาสนาและนักวิชาการเห็นพ้องต้องกันว่าจุดมุ่งหมายสำคัญของการกำหนดบทบัญญัติในอิสลาม คือการปกป้องมนุษย์ในห้าประการสำคัญ คือ ศาสนา ชีวิต สติปัญญา วงศ์ตระกูล และทรัพย์สิน จะเห็นได้ว่าอิสลามได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการปกป้อง 5 ประการดังกล่าวไว้อย่างสมบูรณ์และครอบคลุม ทั้งในมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการก่อให้กำเนิดหรือมาตรการที่เกี่ยวกับการผดุงรักษาเจตนารมณ์อิสลามทั้ง 5 ประการดังกล่าวให้สามารถคงอยู่กับชีวิตมนุษย์สืบไป
เจตนารมณ์พื้นฐาน 5 ประการในอิสลาม สรุปได้ดังนี้
1. การปกป้องศาสนา
อิสลามได้ให้คุณค่าต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ด้วยการสนองความต้องการให้มนุษย์สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการภักดีต่ออัลลอฮฺ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของจิตใจด้วยกระทำความดี ตลอดจนสร้างหลักประกันให้มนุษย์ประสบความสันติสุขที่แท้จริง
วัตถุประสงค์หนึ่งของบทบัญญัติอิสลามก็เพื่อปกป้องศาสนา ไม่ว่าในลักษณะของการให้เกิดหรือการธำรงรักษาให้คงอยู่เพื่อทำหน้าที่ชี้นำมนุษย์สู่แนวทางอันเที่ยงตรง โดยกำหนดมาตรการต่างๆ ดังนี้
ก. มาตรการการปกป้องศาสนาในลักษณะของการให้เกิด มีดังต่อไปนี้
1. เสริมความเข้มแข็งของหลักการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ศาสนทูตของพระองค์ บรรดาคัมภีร์ เทวทูต (มะลาอิกะฮฺ) วันปรโลก(อะคีเราะฮฺ)และการกำหนดสภาวการณ์(เกาะดัร) ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสว่า
﴿يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ آمِنُواْ بِاللهِ وَرَسُولِهِ وَالْكِتَابِ الَّذِي نَزَّلَ عَلَى رَسُولِهِ وَالْكِتَابِ الَّذِيَ أَنزَلَ مِن قَبْلُ وَمَن يَكْفُرْ بِاللهِ وَمَلاَئِكَتِهِ وَكُتُبِهِ وَرُسُلِهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ فَقَدْ ضَلَّ ضَلاَلاً بَعِيدا﴾ (النساء : 136 )
ความว่า “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงศรัทธาต่ออัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์เถิด และคัมภีร์ที่พระองค์ได้ประทานลงมาแก่เราะซูลของพระองค์ และคัมภีร์ที่พระองค์ได้ประทานลงมาก่อนนั้น และผู้ใดปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮฺ มะลาอิกะฮฺ บรรดาคัมภีร์ บรรดาเราะซูล และวันปรโลกแล้วไซร้ แน่นอนเขาได้หลงทางไปแล้วอย่างไกล” (อัลกุรอาน 4 :136)
2. ความศรัทธาเหล่านี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของสติปัญญาและการใช้เหตุผลทางวิชาการ เนื่องจากการเชิญชวนสู่อิสลามต้องอาศัยหลักการใคร่ครวญและการไตร่ตรอง ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿أَوَلَمْ يَنظُرُواْ فِي مَلَكُوتِ السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضِ وَمَا خَلَقَ اللهُ مِن شَيْءٍ﴾ (الأعراف : 185 )
ความว่า “และพวกเขามิได้ใคร่ครวญในอำนาจทั้งหลายแห่งบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน และสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงบังเกิดขึ้นดอกหรือ” (อัลกุรอาน 7:185)
3. การทำการภักดีสักการะ (อิบาดะฮฺ) ต่อพระผู้เป็นเจ้า เช่น การละหมาด การจ่ายซะกาต การถือศีลอด และการประกอบพิธีหัจญ์ ซึ่งอิบาดะฮฺเหล่านี้มีเคล็ดลับและจุดมุ่งหมายที่สูงส่ง ที่สำคัญที่สุดคือเปิดโอกาศให้มนุษย์สร้างความสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้าอันเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างความศรัทธาที่เข้มแข็ง ดังที่ท่านนบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวในหะดีษกุดซีย์ความว่า “ไม่มีการกระทำใดๆ ที่บ่าวของฉันได้กระทำไว้ ที่สร้างความพึงพอใจแก่ฉันมากกว่าการที่เขาได้ปฏิบัติในสิ่งที่ฉันบังคับให้กระทำ”
4. อิสลามกำหนดให้มุสลิมทำการเชิญชวนสู่หนทางของอัลลอฮฺ ตลอดจนปกป้องดูแลผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าว ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَلْتَكُن مِّنكُمْ أُمَّةٌ يَدْعُونَ إِلَى الْخَيْرِ وَيَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكَرِ وَأُوْلَـئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ﴾ (آل عمران : 104 )
ความว่า “และจงให้มีขึ้นจากพวกเจ้า ซึ่งกลุ่มหนึ่งที่เชิญชวนสู่ความดี สั่งใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบและห้ามปรามมิให้กระทำสิ่งมิชอบ และชนเหล่านี้แหละคือผู้ได้รับความสำเร็จ” (อัลกุรอาน 3:104)
ข. มาตรการการปกป้องศาสนาให้ดำรงอยู่
หมายถึง อิสลามได้กำหนดมาตรการและแนวทางต่างๆ สำหรับการปกป้องศาสนาจากการทำลาย และการกำจัดอุปสรรคขวากหนาม เพื่อการดำรงอยู่ของศาสนา
ส่วนหนึ่งของแนวทางดังกล่าวมีดังต่อไปนี้
1. อิสลามได้รับรองให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา เพราะอิสลามมิได้บังคับให้ผู้ใดมานับถืออิสลาม และยอมรับการอยู่ร่วมกันระหว่างต่างศาสนิก และยังอนุญาตให้มีการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติของแต่ละศาสนาอย่างอิสระ ตามที่ได้ปรากฏในประวัติศาสตร์การปกครองในอิสลาม
2. อิสลามได้บัญญัติให้มีการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ (ญิฮาด) เพื่อความมั่นคงของศาสนา ปกป้องการรุกราน และพิทักษ์รักษาเสรีภาพในความเชื่อ ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَقَاتِلُواْ فِي سَبِيلِ اللهِ الَّذِينَ يُقَاتِلُونَكُمْ وَلاَ تَعْتَدُواْ إِنَّ اللهَ لاَ يُحِبِّ الْمُعْتَدِينَ﴾ (البقرة : 190 )
ความว่า “และพวกเจ้าจงต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺต่อบรรดาผู้ที่ทำสงครามพวกเจ้า และจงอย่ากระทำที่เกินเลย แท้จริงอัลลอฮฺไม่ทรงชอบการกระทำที่เกินเลย” (อัลกุรอาน 2: 190)
3. อิสลามกำชับให้มุสลิมยึดหลักคำสอนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนปฏิบัติตามหลักคำสอนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้เพื่อทำให้จิตใจใสสะอาด อันจะส่งผลต่อการมีพฤติกรรมที่ดีในชีวิตประจำวัน ดังที่อัลกุรอานได้ผนวกรวมบรรดาผู้ศรัทธากับบรรดาผู้กระทำความดีอยู่เสมอเพื่อเป็นบทเรียนว่า การศรัทธากับการกระทำความดีเป็นสิ่งที่ควบคู่กันที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้
4. อิสลามกำหนดบทลงโทษฐานพ้นจากศาสนา (ริดดะฮฺ) เพื่อให้เกิดความจริงจังในการนับถือ เพราะการนับถือศาสนา ต้องนับถืออย่างสมบูรณ์แบบ อิสลามมิได้บังคับให้ผู้ใดนับถืออิสลาม แต่เมื่อนับถือแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของผู้นับถือที่ต้องปฏิบัติตามกฏกติกาอย่างเคร่งครัด หากผู้ใดกระทำการที่พ้นจากศาสนาหลังจากนั้น ก็หมายความว่าเขาได้สร้างความปั่นป่วนทางความคิด และสร้างความสับสนวุ่นวายแก่สังคม ดังนั้น บทลงโทษของความผิดฐานพ้นจากศาสนามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความจริงจังในการนับถือศาสนา อันเป็นการให้เกียรติแก่ศาสนา
5. อิสลามได้สร้างกำแพงเพื่อเป็นเกราะกำบัง และเสริมความเข้มเเข็งของสังคม ด้วยการทำ อิบาดะฮฺ ประเภทต่างๆ เช่นการละหมาดรวมกัน (ญะมาอะฮฺ) การถือศีลอด การจ่ายซะกาตเป็นต้นทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างจิตใจที่มั่นคงของคนในสังคม
2. การปกป้องชีวิต
สิ่งจำเป็นอีกประการหนึ่งสำหรับมนุษย์คือการมีชีวิต อิสลามได้วางแนวทางในการป้องกันคุณค่าแห่งชีวิตไว้ดังนี้
ก. มาตรการการปกป้องชีวิตด้านการให้กำเนิด
อิสลามได้อนุมัติการสมรสหรือการใช้ชีวิตคู่ทั้งนี้เนื่องจากการสมรสนั้นเป็นการสืบเผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติอันเป็นผู้แทนของอัลลอฮฺบนหน้าแผ่นดิน และการสมรสนั้นเป็นการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์อันจะนำมาซึ่งความรักและสันติโดยที่อิสลามถือว่าการมีชีวิตคู่คือส่วนหนึ่งของสัญญาณแห่งความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺดังที่พระองค์ตรัสว่า
﴿وَمِنْ آيَاتِهِ أَنْ خَلَقَ لَكُم مِّنْ أَنفُسِكُمْ أَزْوَاجاً لِّتَسْكُنُوا إِلَيْهَا وَجَعَلَ بَيْنَكُم مَّوَدَّةً وَرَحْمَةً إِنَّ فِي ذَلِكَ لَآيَاتٍ لِّقَوْمٍ يَتَفَكَّرُونَ﴾ (الروم : 21 )
ความว่า “และหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์คือทรงสร้างคู่ครองให้แก่พวกเจ้าจากตัวของพวกเจ้าเอง เพื่อพวกเจ้าจะได้มีความสุขอยู่กับนาง และทรงให้มีความรักใคร่และความเมตตาระหว่างพวกเจ้า” (อัลกุรอาน 30:21)
ข. มาตรการการปกป้องชีวิตให้สามารถคงอยู่
1. สิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ คือการมีชีวิตอย่างต่อเนื่องและการอยู่รอดบนโลกนี้ ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยยังชีพไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยารักษาโรค เครื่องแต่งกายและที่อยู่อาศัย อิสลามถือว่าผู้ใดที่ละเลยในการแสวงหาปัจจัยสี่ดังกล่าวเพื่อประกันการอยู่รอดของชีวิตแล้ว เขาได้กระทำความผิดอย่างใหญ่หลวง
2. รัฐอิสลามจำต้องสร้างหลักประกัน ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยแก่ประชาชน และกิจการภายในประเทศ ตลอดจนผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม และการให้สิทธิและเสรีภาพต่างๆแก่ผู้ใต้ปกครองเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชน
3. อิสลามได้กำหนดมาตรการการปกป้องรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การประกอบอาชีพ การเลือกถิ่นฐานที่อยู่อาศัย และสิทธิอื่นๆที่มนุษย์พึงได้ แม้กระทั่งหลังจากมนุษย์ได้สิ้นชีวิตแล้ว ฉะนั้นการทำลายและสร้างความเสียหายต่อเกียรติและชื่อเสียงของมนุษย์ เช่นการใส่ร้ายป้ายสีว่าผิดประเวณี การด่าทอ การดูถูกเหยียดหยาม การทรมานร่างกายและจิตใจ หรือแม้กระทั่งการทำร้ายศพ ล้วนแล้วเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลามที่มีบทบัญญัติอย่างชัดเจน
4. อิสลามได้ผ่อนปรนในการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆอันเนื่องมาจากความจำเป็นหรือความยากลำบากและเกินความสามารถของบุคคลที่จะกระทำการได้ เช่น การผ่อนปรนละศีลอดในตอนกลางวันของเดือนรอมฎอนด้วยเหตุอาการป่วย เดินทาง หรือสตรีมีครรภ์ และการผ่อนปรนในศาสนบัญญัติอื่นๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้มุสลิมเกิดความยุ่งยากลำบากในการประกอบพิธีทางศาสนาและไม่ก่ออันตรายต่อชีวิตอันเนื่องมาจากการปฏิบัติศาสนกิจ
5. อิสลามได้ห้ามการฆาตกรรม ทั้งการฆ่าตัวเองหรือผู้อื่น เพราะเป็นอาชญากรรมที่สร้างความเสียหายต่อมวลมนุษยชาติทั้งมวล อิสลามถือว่าการฆ่าชีวิตหนึ่งที่บริสุทธิ์ เปรียบเสมือนการฆ่าชีวิตมนุษย์ทั้งโลก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งการฆ่าชีวิตหนึ่งที่บริสุทธิ์ ก็ไม่ต่างไปจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั่นเอง ทั้งนี้อิสลามถือว่าไม่มีผู้ใดมีสิทธิ์ทำลายชีวิตของใครคนหนึ่งเว้นแต่ผู้ที่ประทานชีวิตเขาเท่านั้น
6. อิสลามได้กำหนดบทลงโทษประหารชีวิต (กิศอศ) สำหรับผู้กระทำผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา และกำหนดให้มีการจ่ายค่าชีวิต(ดิยัต) และค่าสินไหมทดแทน (กัฟฟาเราะฮฺ) สำหรับผู้กระทำผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาหรือโดยพลาดพลั้ง
7. อิสลามกำหนดให้ประกาศสงคราม เพื่อปกป้องชีวิตผู้บริสุทธิ์และผู้อ่อนแอ จากการล่วงละเมิดและรุกรานของฝ่ายศัตรู
8. อิสลามสอนให้มุสลิมต้องให้ความช่วยเหลือและปกป้องเพื่อนมนุษย์ที่ถูกอธรรม อย่างสุดความสามารถ
9. อิสลามสอนให้มุสลิมรู้จักปกป้องตนเองให้พ้นจากการถูกอธรรมโดยฝ่ายศัตรู
3. การปกป้องสติปัญญา
อิสลามได้ให้ความสำคัญต่อการการรักษาสติปัญญาของมนุษย์ เพราะสติปัญญาเป็นสิ่งประเสริฐที่สร้างความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ถูกสร้างอื่นๆ และด้วยสติปัญญาทำให้มนุษย์มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมายในฐานะผู้แทนของอัลลอฮฺบนหน้าแผ่นดินนี้ ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงได้วางแนวทางในการรักษาสติปัญญาให้สมบูรณ์ ดังต่อไปนี้
1. อิสลามได้ห้ามสิ่งต่างๆที่ส่งผลต่อการทำลายความสมบูรณ์ของสติปัญญามนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการห้ามสิ่งมึนเมาต่างๆ สิ่งเสพติดหรือสิ่งใดๆที่ทำให้มันสมองของมนุษย์เกิดความบกพร่องและไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะมนุษย์เรืองปัญญา
2. อิสลามได้กำหนดบทลงโทษที่เด็ดขาดสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งมึนเมาหรือสิ่งเสพติดอย่างครบวงจรตั้งแต่ ผู้ผลิตจำหน่าย ผู้สนับสนุน ผู้ซื้อผู้ขาย เจ้าของกิจการ พนักงาน ล้วนได้รับผลตอบแทนอย่างสาสมเท่าเทียมกัน
3.อิสลามได้อบรมสั่งสอนและสร้างจิตสำนึกให้มนุษย์มีสติปัญญาที่สมบูรณ์ เข้าใจสัจธรรม คิดและปฏิบัติในสิ่งที่ดีและถูกต้อง
4.อิสลามได้เรียกร้องให้มนุษย์สร้างความสมบูรณ์แก่สติปัญญา ทั้งทางด้านกายภาพและชีวภาพ ในด้านกายภาพนั้นอิสลามได้สั่งให้มนุษย์รับประทานอาหารที่มีคุณค่าเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอันส่งผลต่อการพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์ ฉะนั้นอิสลามจึงถือว่าไม่บังควรสำหรับผู้พิพากษาที่จะทำการตัดสินคดีในขณะที่ตนหิวโหย ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงส่งเสริมให้ผู้พิพากษารับประทานอาหารก่อนจะทำการพิจารณาพิพากษาคดี ทั้งนี้เพื่อขจัดอุปสรรคและปัญหาในการพิจารณาตัดสินคดี
ส่วนการสร้างความสมบูรณ์แก่สติปัญญาด้านชีวภาพนั้นก็คือการให้ความรู้และความศรัทธา ดังนั้น เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมทั้งชายและหญิงที่จะต้องแสวงหาความรู้จนวาระสุดท้ายของชีวิต
5.อิสลามได้ยกฐานะของสติปัญญาด้วยการให้เกียรติต่อผู้มีปัญญาที่ดีเลิศ ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿قُلْ هَلْ يَسْتَوِي الَّذِينَ يَعْلَمُونَ وَالَّذِينَ لَا يَعْلَمُونَ إِنَّمَا يَتَذَكَّرُ أُوْلُوا الْأَلْبَابِ﴾ (الزمر : 9 )
ความว่า “จงกล่าวเถิด(มูฮัมมัด) บรรดาผู้รู้และบรรดาผู้ไม่รู้จะเท่าเทียมกันหรือ แท้จริงบรรดาผู้มีสติปัญญาเท่านั้นที่จะใคร่ครวญ” (อัลกุรอาน 39:9)
6. อิสลามสอนให้มนุษย์ปลดปล่อยสติปัญญาจากการถูกครอบงำทางความคิดที่ผิดเพี้ยน งมงายและไม่ถูกต้อง ดังนั้นอิสลามจึงห้ามมนุษย์มิให้เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ การทำนายพยากรณ์ หรือสิ่งงมงายอื่นๆ และถือว่าผู้ทีมีความเชื่อในสิ่งงมงายดังกล่าว เป็นผู้กระทำบาปอันใหญ่หลวง
7. อิสลามได้ฝึกฝนสติปัญญาเพื่อให้เกิดผลและรับรู้ถึงสัจธรรมผ่านกระบวนการสองประการต่อไปนี้
7.1 การเอาหลักการที่ถูกต้อง มาคิดไตร่ตรองและ ใคร่ครวญเพื่อให้เกิดความเชื่อมันในสัจธรรม
7.2 การเชิญชวนให้พิจารณาไตร่ตรองถึงการสร้างสรรพสิ่งต่างๆ ของอัลลอฮฺเพื่อให้เกิดความมั่นใจในความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺมากขึ้น
8. อิสลามได้สั่งให้พิจารณาไตร่ตรองในความบริสุทธิ์แห่งบทบัญญัติอิสลามและวิทยปัญญาของบทบัญญัตินั้นๆ ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿أَفَلاَ يَتَدَبَّرُونَ الْقُرْآنَ وَلَوْ كَانَ مِنْ عِندِ غَيْرِ اللهِ لَوَجَدُواْ فِيهِ اخْتِلاَفاً كَثِيراً﴾ (النساء : 82 )
ความว่า “พวกเขาไม่พิจารณาดูอัลกุรอานบ้างหรือ และหากอัลกุรอานมาจากผู้อื่นที่ไม่ใช่อัลลอฮฺแล้ว แน่นอนพวกเขาจะพบว่าในนั้นมีความขัดแย้งกันมากมาย”(อัลกุรอาน 4:82)
9. อิสลามได้สั่งให้มนุษย์ใช้สติปัญญาในการไตร่ตรองถึงลักษณะกายภาพของจักวาลและใช้เป็นประโยชน์ในการสร้างอารยธรรมอัยสูงส่ง
10. อิสลามได้เปิดโอกาสให้มนุษย์ใช้สติปัญญาในการวินิจฉัยปัญหาทางศาสนาที่มิได้มีตัวบทบัญญัติไว้เป็นที่ชัดแจ้งในกรณีต่อไปนี้
10.1 การวินิจฉัยค้นหาเกี่ยวกับความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินั้นๆ
10.2 การวินิจฉัยปัญญาร่วมสมัยทางศาสนา เพื่อให้ครอบคลุมและสามารถบังคับใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัยโดยผ่านวิธีการเทียบเคียงตัวบท การคำนึงผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
4. การปกป้องวงศ์ตระกูล
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ก็คือปกป้องวงศ์ตะกูลโดยผ่านการสมรส เพื่อรักษาเชื้อสายของการสืบสกุลของมนุษยชาติ จนถึงวาระสุดท้ายของโลกใบนี้ ดังแนวทางต่อไปนี้
1. มีการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการสมรส อิสลามได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการสมรสและส่งเสริมให้ใช้ชีวิตคู่ที่ถูกต้องตามหลักการแห่งศาสนา ทั้งนี้เพื่อปกป้องความคงอยู่ของมนุษย์ในการสร้างอารยธรรมของโลกอย่างต่อเนื่อง
2. กำชับให้บิดามารดาให้การอบรมผู้เป็นบุตร ตลอดจนให้ปัจจัยยังชีพและความรักความเอ็นดูที่อบอุ่น
3. ดูแลและปกป้องครอบครัวให้พ้นจากภยันตราย เพื่อสร้างสมาชิกชนรุ่นใหม่ที่มีจริยธรรมดีงาม อิสลามได้กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาบนพื้นฐานของความสมัครใจและยินยอม ของทั้งสองฝ่าย ให้มีการปรึกษาหารือในกิจการทุกอย่างของครอบครัวจนเกิดความรัก ความเข้าใจระหว่างคู่สามีภรรยา
4. ควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างบุรุษและสตรีให้อยู่ในขอบเขต กำหนดให้มีการลดสายตาลงต่ำต่อเพศตรงข้ามที่สมรสได้ ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดอารมณ์ใคร่ตามมา กำหนดให้สตรีแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ปกปิดมิดชิดเพื่อให้พ้นจากสิ่งชั่วร้าย ห้ามมิให้ชายหญิงที่สามารถสมรสได้อยู่ปะปนกัน ยกเว้นมีบุคคลที่หญิงไม่สามารถสมรส (มะห์ร็อม) อยู่ด้วย อิสลามยังได้ห้ามมิให้เข้าบ้านของผู้อื่นจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าของหลังจากที่ให้สลามแล้ว เป็นต้น
5. ห้ามคุกคามร่างกายของผู้อื่น ดังที่อัลลอฮฺได้ทรงห้ามการผิดประเวณี เหมือนกับที่พระองค์ทรงห้ามการกล่าวหาหญิงบริสุทธิ์ว่ากระทำผิดประเวณี(ก็อซฟ์) ดังที่อัลกุรอานบัญญัติบทลงโทษของความผิดทั้งสองว่า
﴿الزَّانِيَةُ وَالزَّانِي فَاجْلِدُوا كُلَّ وَاحِدٍ مِّنْهُمَا مِئَةَ جَلْدَةٍ وَلَا تَأْخُذْكُم بِهِمَا رَأْفَةٌ فِي دِينِ اللهِ﴾ (النور : 2 )
ความว่า “หญิงผิดประเวณีและชายผิดประเวณี พวกเจ้าจงโบยแต่ละคนในสองคนั้นคนละหนึ่งร้อยที และอย่าให้ความสงสารยับยั้งการกระทำของพวกเจ้าต่อคนทั้งสองนั้นในบัญญัติของอัลลอฮฺเป็นอันขาด” (อัลกุรอาน 24: 2)
﴿وَالَّذِينَ يَرْمُونَ الْمُحْصَنَاتِ ثُمَّ لَمْ يَأْتُوا بِأَرْبَعَةِ شُهَدَاء فَاجْلِدُوهُمْ ثَمَانِينَ جَلْدَةً وَلَا تَقْبَلُوا لَهُمْ شَهَادَةً أَبَداً﴾ (النور : 4 )
ความว่า “และบรรดาผู้กล่าวหาบรรดาหญิงบริสุทธิ์ว่ากระทำผิดประเวณี แล้วพวกเขามิได้นำพยานสี่คนมา พวกเจ้าจงโบยพวกเขาแปดสิบที และพวกเจ้าอย่ารับการเป็นพยานของพวกเขาเป็นอันขาด” (อัลกุรอาน 24:4 )
5. การปกป้องทรัพย์สิน
อิสลามถือว่าทรัพย์สินเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ ดังนั้นการปกป้องทรัพย์สินจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังแนวทางต่อไปนี้
1. ส่งเสริมให้หาปัจจัยยังชีพ เพื่อชีวิตประจำวัน อิสลามถือว่าการประกอบอาชีพสุจริตเป็น อิบาดะฮฺ ต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างหนึ่งหากมีการตั้งใจที่บริสุทธิ์เพื่ออัลลอฮฺ ดังที่อัลกุรอานบัญญัติว่า
﴿هُوَ الَّذِي جَعَلَ لَكُمُ الْأَرْضَ ذَلُولاً فَامْشُوا فِي مَنَاكِبِهَا وَكُلُوا مِن رِّزْقِهِ﴾ (الملك : 15 )
ความว่า “พระองค์คือผู้ทรงทำแผ่นดินนี้ให้ราบเรียบสำหรับพวกเจ้า ดังนั้นจงสัญจรไปตามขอบเขตของมัน และจงบริโภคจากปัจจัยยังชีพของพระองค์” (อัลกุรอาน 67: 15)
2. อิสลามได้ให้ความสำคัญแก่อาชีพและผู้ประกอบอาชีพการงานงาน ดังที่ท่านนบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวไว้ความว่า
“ไม่มีผู้ใดที่รับประทานอาหารที่ประเสริฐมากกว่าการที่เป็นผลงานของเขาเอง แท้จริงนบีดาวูดรับประทานอาหารที่เป็นผลจากการที่ท่านได้กระทำด้วยตนเอง”
เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องหางานแก่ผู้ที่ยังไม่มีงานทำ และจ่ายค่าตอบแทนแก่พวกเขาอย่างเป็นธรรม ดังที่ท่านนบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวความว่า
“จงจ่ายค่าจ้างตามสิทธิที่ลูกจ้างพึงได้รับ ก่อนที่เหงื่อจากการทำงานของเขาจะแห้ง”
3. อิสลามอนุมัติให้ก่อนิติสัมพันธ์ที่ยุติธรรมแก่คู่สัญญา และไม่คุกคามสิทธิของผู้อื่น ดังกรณีการอนุมัติการซื้อขาย การเช่า การจำนองจำนำ การรวมหุ้นและนิติสัมพันธ์อื่น โดยมีเงื่อนไขว่าไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นและเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม
สำหรับมาตรการของอิสลามในการรักษาทรัพย์สินให้ดำรงคงอยู่ มีดังต่อไปนี้
1. อิสลามกำชับให้มุสลิมใช้ทรัพย์สินเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ห้ามมิให้กอบโกยทรัพย์สินที่ผ่านวิธีการที่ขัดกับหลักการศาสนา และสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เช่น การก่อนิติกรรมที่มีดอกเบี้ยดังที่อัลกุรอานบัญญัติว่า
﴿وَأَحَلَّ اللهُ الْبَيْعَ وَحَرَّمَ الرِّبَا﴾ (البقرة : 275 )
ความว่า “อัลลอฮฺทรงอนุญาตการซื้อขาย แต่ทรงห้ามดอกเบี้ย”(อัลกุรอาน 2:275)
﴿وَلاَ تَأْكُلُواْ أَمْوَالَكُم بَيْنَكُم بِالْبَاطِلِ﴾ (البقرة : 188 )
ความว่า “จงอย่ากินทรัพย์สินระหว่างพวกเจ้าโดยไม่ชอบธรรม”(อัลกุรอาน 2:188)
2. ห้ามลิดรอนสิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยการกำหนดบทลงโทษสำหรับความผิดฐานลักทรัพย์ โกง หรือปล้นทรัพย์ ดังที่อัลกุรอานบัญญัติว่า
﴿وَالسَّارِقُ وَالسَّارِقَةُ فَاقْطَعُواْ أَيْدِيَهُمَا﴾ (المائدة : 38 )
ความว่า“และขโมยชายและขโมยหญิงนั้นจงตัดมือของเขาทั้งสอง” (อัลกุรอาน 5: 38)
3. ห้ามแจกจ่ายทรัพย์สินไปในหนทางที่อิสลามไม่อนุมัติ แต่ส่งเสริมให้ใช้จ่ายทรัพย์สินในหนของความดี ดังหลักการสำคัญของระบบเศรษฐกิจอิสลาม ที่ถือว่าทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของอัลลอฮฺ ส่วนมนุษย์นั้นเป็นผู้แทนของพระองค์ในการใช้จ่ายทรัพย์สินไปในหนทางหรือกิจการที่เป็นความดี
4. กำหนดบทบัญญัติในการรักษาทรัพย์สินของ ผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถ จนกว่าบุคคลเหล่านี้จะมีความสามารถ เช่นรักษาทรัพย์สินของผู้เยาว์จนกว่าเขาจะบรรลุนิติภาวะ
5. วางระบบการเงินบนพื้นฐานของความพึงพอใจและเป็นธรรม โดยกำหนดว่านิติกรรมสัญญาจะไม่มีผลตราบใดที่คู่สัญญายังไม่มีความพึงพอใจและนิติกรรมนั้นไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ดังที่อัลกุรอานบัญญัติว่า
﴿يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ لاَ تَأْكُلُواْ أَمْوَالَكُمْ بَيْنَكُمْ بِالْبَاطِلِ إِلاَّ أَن تَكُونَ تِجَارَةً عَن تَرَاضٍ مِّنكُمْ﴾ (النساء : 29 )
ความว่า “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่ากินทรัพย์ของพวกเจ้าในระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ นอกจากมันจะเป็นการค้าขายที่เกิดจากความพอใจในหมู่พวกเจ้า”(อัลกุรอาน 4: 29)
6. เชิญชวนมนุษย์ให้มีการพัฒนาทรัพย์สินจนเกิดดอกผลงอกเงยขึ้นในสังคม ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงส่งเสริมให้มีการลงทุน เพื่อให้ทรัพย์สินเกิดการหมุนเวียน อิสลามสั่งห้ามมิให้มีการกักตุนสินค้าหรือสะสมเงินทองโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งนี้เพื่อให้ทรัพย์สมบัติสามารถสร้างความสงบสุขในสังคมอย่างแท้จริง
สรุป
จากเนื้อหาที่กล่าวทั้งหมด จะเห็นได้ว่าจุดมุ่งหมายของบทบัญญัติอิสลามเพื่อปกป้องมนุษย์ในห้าด้าน คือ ศาสนา ชีวิต สติปัญญา วงศ์ตระกูลและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของดำรงชีวิตที่สมบูรณ์และมั่นคง ดังนั้นสังคมที่เข้มแข็งและมั่นคงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อผู้คนในสังคมนั้นสามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติอย่างสมบูรณ์ ในกรณีที่จุดมุ่งหมายทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นหรือบางส่วนหรือประการหนึ่งประการใดไม่ได้รับการสนองตอบ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความระส่ำระสายในสังคมอันจะเป็นตัวบั่นทอนมั่นคงของมนุษย์ในที่สุด