×
อธิบายเป้าหมายของสูเราะฮฺ อัล-อันอาม กล่าวถึงความพิเศษของสูเราะฮฺนี้ ซึ่งเป็นสูเราะฮฺที่ได้รับเกียรติโดยให้มะลาอิกะฮฺจำนวนเจ็ดหมื่นตนร่วมติดตามในการประทานมันลงมา เนื่องจากเป็นสูเราะฮฺที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแจ้งประกาศิตถึงเอกภาพของอัลลอฮฺ และการโต้ตอบข้อกล่าวหาอันมดเท็จของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา

    เป้าหมายต่างๆ ของสูเราะฮฺ อัล-อันอาม

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ฟุอาด ซัยดาน

    แปลโดย : แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ

    ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือ อะฮฺดาฟ กุลลิ สูเราะฮฺ มิน อัลกุรอาน

    2012 - 1433

    ﴿ أهداف سورة الأنعام﴾

    « باللغة التايلاندية »

    فؤاد زيدان

    ترجمة: محمد صبري يعقوب

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: كتاب أهداف كل سورة من القرآن

    2012 - 1433

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    เป้าหมายต่างๆ ของสูเราะฮฺ อัล-อันอาม

    มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ พรอันประเสริฐและความศานติจงมีแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาเครือญาติตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านทั้งหลาย และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีการตั้งภาคีใดๆ ต่อพระองค์ และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

    เป้าหมายของสูเราะฮฺ

    การให้เอกภาพแด่อัลลอฮฺด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทั้งในด้านหลักศรัทธาและวิถีดำเนินชีวิต

    สูเราะฮฺอัล-อันอาม ถือเป็นสูเราะฮฺมักกียะฮฺสูเราะฮฺแรกในการจัดอันดับสูเราะฮฺของอัลกุรอาน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการนำเสนอสูเราะฮฺมะดะนียะฮฺต่างๆ และถือเป็นสูเราะฮฺแรกที่มีการเริ่มต้นด้วยการสรรเสริญแด่อัลลอฮฺ

    ﴿ ٱلۡحَمۡدُ لِلَّهِ ٱلَّذِي خَلَقَ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضَ ١﴾ ]سورة الأنعام : 1[

    ความว่า “การสรรเสริญทั้งหลายนั้นเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ผู้ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 1)

    ในจำนวนความพิเศษของสูเราะฮฺนี้นั้นคือ มันถูกประทานลงมาในค่ำคืนเดียวทั้งสูเราะฮฺ โดยมีบรรดามลาอิกะฮฺเป็นผู้ติดตามมากถึง 70,000 ท่าน และด้วยเหตุที่สูเราะฮฺนี้มีความพิเศษอันมากมายนั้นเอง มันจึงได้ประมวลหลักฐานต่างๆ ถึงความเป็นเอกภาพ ความยุติธรรม(ของอัลลอฮฺ) การเป็นศาสนทูต(ของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ) การฟื้นคืนชีพ การลบล้างแนวคิดที่ผิดๆ แห่งความเชื่อที่นอกรีตและปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย

    ท่านอิมามอัล-กุรฏุบีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “อันที่จริง เดิมทีสูเราะฮฺนี้เป็นการตอบโต้ชาวมุชริกีนและ(แนวคิด)อื่นๆ แห่งความเชื่อที่นอกรีต รวมทั้งผู้ที่ปฏิเสธในการฟื้นคืนชีพ และนี่เองจึงเป็นเหตุจำเป็นที่ต้องประทานลงมาในรวดเดียวทั้งสูเราะฮฺ” (ดูใน ตัฟสีร อัล-กุรฏุบีย์ เล่ม 6 หน้า 383)

    และการที่สูเราะฮฺนี้ถูกประทานลงมาในช่วงเวลาค่ำคืนก็เนื่องด้วยช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่จิตใจมีความสงบสุข และทำให้เกิดการครุ่นคิดและใคร่ครวญในความเกรียงไกรและความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ ตะอาลา โดยที่เนื้อหาของสูเราะฮฺอัล-อันอามได้กล่าวถึงประเด็นที่เป็นหลักการพื้นฐานของหลักยึดมั่นและหลักศรัทธาต่างๆ ที่สำคัญ ซึ่งสามารถสรุปประเด็นข้างต้นได้ดังนี้ 1.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพระเจ้า 2.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอัล-วะหฺยู(โองการอัลกุรอาน)และอัร-ริสาละฮฺ(สาส์น) 3.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นคืนชีพและการตอบแทน

    อนึ่ง เนื้อหาของสูเราะฮฺนี้วนเวียนกล่าวถึงหลักการพื้นฐานต่างๆ ของการเรียกร้องเชิญชวนผู้คน โดยที่เราสามารถพบเครื่องมือต่างๆ ในนั้น ทั้งที่เป็นข้อโต้แย้งและเหตุผลทั้งหลาย รวมทั้งหลักฐานอันชัดเจนที่เป็นตัวโน้มน้าว(จิตใจของผู้คน-ผู้แปล-) ด้วยเหตุเพราะว่าสูเราะฮฺนี้ได้ถูกประทานที่เมืองมักกะฮฺแก่ชาวมุชริกีนนั่นเอง

    และจากการพินิจพิจารณาเนื้อหาในสูเราะที่มีเกียรตินี้เราสามารถพบได้อีกว่ามันมีการนำเสนอสองวิธีการที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นไว้ด้วยกันจนเราแทบไม่สามารถพบในสูเราะฮฺอื่นอีกที่มีการนำเสนอวิธีการทั้งสองที่มากมายเช่นในสูเราะฮฺนี้ นั่นคือ “ตักรีร” (การแจ้งประกาศิต) และ “ตัลกีน” (การสอนและเตือนแบบเน้นย้ำ) และเรายังพบอีกว่าทั้งสองวิธีการข้างต้นนี้ก็จะมีเนื้อหาที่ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงมีอายะฮฺต่างๆ ที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้นำเสนอแก่เราเพื่อเป็นข้อพิสูจน์ถึงความยิ่งใหญ่และความเกรียงไกรของพระองค์ในการสร้างสรรค์สรรพสิ่งทั้งหลาย หลังจากนั้นอายะฮฺต่าง ๆ ก็จะดำเนินเรื่องเพื่อเป็นการตอบโต้ชาวมุชริกีนและหลักความเชื่อที่นอกรีตและห่างไกลจากการให้เอกภาพแด่อัลลอฮฺ

    วิธีการ “ตักรีร” (การแจ้งประกาศิต) อัลกุรอานได้นำเสนอหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับการให้เอกภาพแด่อัลลอฮฺ และหลักฐานต่างๆ ที่สามารถพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของพระองค์ ความสามารถของพระองค์ อำนาจการปกครองของพระองค์ และพลานุภาพของพระองค์ในรูปแบบที่เป็นข้อพิสูจน์ที่จำต้องยอมจำนน ด้วยเหตุนี้จึงมีการใช้สรรพนามบุรุษที่สามเพื่อเป็นการกระตุ้นให้หัวใจได้ตื่นตัวโดยที่มันจะไม่มีข้อกังขาใดๆ อีกสำหรับหัวใจที่บริสุทธิ์และสติปัญญาที่มีความปราดเปรื่องว่าอัลลอฮฺ ตะอาลา นั้นคือผู้สร้างสรรค์สรรพสิ่งต่างๆ ทั้งยังเป็นเจ้าของแห่งความกรุณาปรานีและความโปรดปรานทั้งหลาย ดังนั้น การที่มีสำนวนว่า “هو(พระองค์อัลลอฮฺ) ก็เป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการเป็นผู้สร้าง ผู้บริหารจัดการที่ทรงปรีชาญาณนั่นเอง

    ในส่วนเนื้อหาของอายะฮฺต่างๆ นั้นก็มีการฉายภาพลักษณ์ของอัลกุรอานถึงศิลปะอันวิจิตรโวหารซึ่งทำให้คนที่อ่านอายะฮฺเหล่านั้นมีความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่และความเกรียงไกรของอัลลอฮฺ และประหนึ่งว่าอายะฮฺเหล่านั้นเป็นฉากสดที่ถูกนำเสนอเบื้องหน้าสายตาของเรา โดยที่สำนวน “هو” ได้ปรากฏในสูเราะฮฺนี้มากถึง 38 ครั้ง ในจำนวนอายะฮฺเหล่านั้นคือ

    ﴿ٱلۡحَمۡدُ لِلَّهِ ٱلَّذِي خَلَقَ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضَ وَجَعَلَ ٱلظُّلُمَٰتِ وَٱلنُّورَۖ ثُمَّ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ بِرَبِّهِمۡ يَعۡدِلُونَ ١﴾]سورة الأنعام : 1[

    ความว่า “การสรรเสริญทั้งหลายนั้นเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ผู้ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินได้ทรงให้มีบรรดาความมืดและแสงสว่าง แต่แล้วบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้น ก็ยังให้(สิ่งอื่น)เท่าเทียมกับพระเจ้าของเขาอยู่” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 1)

    ﴿هُوَ ٱلَّذِي خَلَقَكُم مِّن طِينٖ ثُمَّ قَضَىٰٓ أَجَلٗاۖ وَأَجَلٞ مُّسَمًّى عِندَهُۥۖ ثُمَّ أَنتُمۡ تَمۡتَرُونَ ٢﴾ ]سورة الأنعام : 2[

    ความว่า “พระองค์คือ ผู้ที่ทรงบังเกิดพวกเจ้าจากดิน แล้วได้ทรงกำหนดเวลาแห่งความตายไว้ และกำหนดที่ถูกระบุไว้อีกกำหนดหนึ่งนั้น อยู่ที่พระองค์แต่แล้วพวกเจ้าก็ยังสงสัยกันอยู่” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 2)

    ﴿وَهُوَ ٱللَّهُ فِي ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَفِي ٱلۡأَرۡضِ يَعۡلَمُ سِرَّكُمۡ وَجَهۡرَكُمۡ وَيَعۡلَمُ مَا تَكۡسِبُونَ ٣﴾ ]سورة الأنعام : 3[

    ความว่า “และพระองค์นั้นคือ อัลลอฮฺ ทั้งในบรรดาชั้นฟ้าและในแผ่นดิน ทรงรู้สิ่งเร้นลับของพวกเจ้า และสิ่งเปิดเผยของพวกเจ้า และทรงรู้สิ่งที่พวกเจ้าขวนขวายกันอยู่” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 3)

    ﴿وَهُوَ ٱلۡقَاهِرُ فَوۡقَ عِبَادِهِۦۚ وَهُوَ ٱلۡحَكِيمُ ٱلۡخَبِيرُ ١٨﴾ ]سورة الأنعام : 18[

    ความว่า “และพระองค์คือผู้ทรงชนะเหนือปวงบ่าวของพระองค์ และพระองค์คือผู้ทรงปรีชาญาณผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 18)

    ﴿۞وَعِندَهُۥ مَفَاتِحُ ٱلۡغَيۡبِ لَا يَعۡلَمُهَآ إِلَّا هُوَۚ وَيَعۡلَمُ مَا فِي ٱلۡبَرِّ وَٱلۡبَحۡرِۚ وَمَا تَسۡقُطُ مِن وَرَقَةٍ إِلَّا يَعۡلَمُهَا وَلَا حَبَّةٖ فِي ظُلُمَٰتِ ٱلۡأَرۡضِ وَلَا رَطۡبٖ وَلَا يَابِسٍ إِلَّا فِي كِتَٰبٖ مُّبِينٖ ٥٩﴾ ]سورة الأنعام : 59[

    ความว่า “และที่พระองค์นั้นมีบรรดากุญแจแห่งความเร้นลับ โดยที่ไม่มีใครรู้กุญแจเหล่านั้น นอกจากพระองค์เท่านั้น และพระองค์ทรงรู้สิ่งที่อยู่ในแผ่นดิน และในทะเล และไม่มีใบไม้ใดร่วงหล่นลงนอกจากพระองค์จะทรงรู้มัน และไม่มีเมล็ดพืชใด ซึ่งอยู่ในความมืดของแผ่นดิน และไม่มีสิ่งที่เปียกชื้นใดๆ และสิ่งที่แห้งใดๆ นอกจากจะอยู่ในบันทึกอันชัดแจ้ง” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 59)

    ﴿وَهُوَ ٱلَّذِي يَتَوَفَّىٰكُم بِٱلَّيۡلِ وَيَعۡلَمُ مَا جَرَحۡتُم بِٱلنَّهَارِ ثُمَّ يَبۡعَثُكُمۡ فِيهِ لِيُقۡضَىٰٓ أَجَلٞ مُّسَمّٗىۖ ثُمَّ إِلَيۡهِ مَرۡجِعُكُمۡ ثُمَّ يُنَبِّئُكُم بِمَا كُنتُمۡ تَعۡمَلُونَ ٦٠﴾ ]سورة الأنعام : 60[

    ความว่า “และพระองค์คือผู้ที่ทรงให้พวกเจ้าตาย ในเวลากลางคืน และทรงรู้สิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำขึ้นในเวลากลางวัน แล้วก็ทรงให้พวกเจ้าฟื้นคืนชีพในเวลานั้น เพื่อว่าเวลาแห่งอายุที่ถูกกำหนดไว้นั้นจะได้ถูกใช้ให้หมดไป แล้วยังพระองค์นั้นคือการกลับไปของพวกเจ้า แล้วพระองค์จะทรงบอกแก่พวกเจ้าในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 60)

    ﴿وَهُوَ ٱلۡقَاهِرُ فَوۡقَ عِبَادِهِۦۖ وَيُرۡسِلُ عَلَيۡكُمۡ حَفَظَةً حَتَّىٰٓ إِذَا جَآءَ أَحَدَكُمُ ٱلۡمَوۡتُ تَوَفَّتۡهُ رُسُلُنَا وَهُمۡ لَا يُفَرِّطُونَ ٦١﴾ ]سورة الأنعام : 61[

    ความว่า “และพระองค์คือผู้ทรงชนะเหนือปวงบ่าวของพระองค์ และทรงส่งบรรดาผู้บันทึกความดีและความชั่วมายังพวกเจ้าด้วย จนกระทั่งเมื่อความตายได้มายังคนใดในพวกเจ้าแล้ว บรรดาทูตของเรา ก็จะรับชีวิตของพวกเขาไป โดยที่พวกเขาจะไม่ทำให้ภารกิจดังกล่าวบกพร่องแม้แต่น้อย” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 61)

    ﴿وَهُوَ ٱلَّذِي خَلَقَ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضَ بِٱلۡحَقِّۖ وَيَوۡمَ يَقُولُ كُن فَيَكُونُۚ قَوۡلُهُ ٱلۡحَقُّۚ وَلَهُ ٱلۡمُلۡكُ يَوۡمَ يُنفَخُ فِي ٱلصُّورِۚ عَٰلِمُ ٱلۡغَيۡبِ وَٱلشَّهَٰدَةِۚ وَهُوَ ٱلۡحَكِيمُ ٱلۡخَبِيرُ ٧٣﴾ ]سورة الأنعام : 73[

    ความว่า “และพระองค์คือ ผู้ที่ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินด้วยความสัจจริง และวันที่พระองค์ตรัสว่า เจ้าจงเป็นขึ้น แล้วมันก็จะเป็นขึ้น พระดำรัสของพระองค์คือความจริง และอำนาจทั้งหลายนั้นเป็นของพระองค์ในวันที่จะถูกเป่าเข้าไปในแตร พระผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งเร้นลับและในสิ่งเปิดเผย และพระองค์คือผู้ทรงปรีชาญาณ ผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 73)

    ﴿وَهُوَ ٱلَّذِي جَعَلَ لَكُمُ ٱلنُّجُومَ لِتَهۡتَدُواْ بِهَا فِي ظُلُمَٰتِ ٱلۡبَرِّ وَٱلۡبَحۡرِۗ قَدۡ فَصَّلۡنَا ٱلۡأٓيَٰتِ لِقَوۡمٖ يَعۡلَمُونَ ٩٧﴾ ]سورة الأنعام : 97[

    ความว่า “และพระองค์คือ ผู้ที่ทรงให้มีแก่พวกเจ้าซึ่งดวงดาวทั้งหลาย เพื่อพวกเจ้าจะได้รับการชี้นำด้วยดวงดาวเหล่านั้น ทั้งในความมืดแห่งทางบกและทางทะเล แน่นอนเราได้แจกแจงโองการทั้งหลายไว้แล้ว สำหรับกลุ่มชนที่รู้” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 97)

    ﴿وَهُوَ ٱلَّذِي جَعَلَكُمۡ خَلَٰٓئِفَ ٱلۡأَرۡضِ وَرَفَعَ بَعۡضَكُمۡ فَوۡقَ بَعۡضٖ دَرَجَٰتٖ لِّيَبۡلُوَكُمۡ فِي مَآ ءَاتَىٰكُمۡۗ إِنَّ رَبَّكَ سَرِيعُ ٱلۡعِقَابِ وَإِنَّهُۥ لَغَفُورٞ رَّحِيمُۢ ١٦٥﴾ ]سورة الأنعام : 165[

    ความว่า “และพระองค์นั้นคือผู้ที่ทรงให้พวกเจ้าเป็นผู้สืบแทนในแผ่นดิน และได้ทรงเทิดบางคนของพวกเจ้าเหนือกว่าอีกบางคนหลายขั้น เพื่อที่พระองค์จะทรงทดสอบพวกเจ้าในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงประทานแก่พวกเจ้า แท้จริง พระเจ้าของเจ้านั้น เป็นผู้รวดเร็วในการลงโทษ และแท้จริง พระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงเอ็นดูเมตตา” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 165)

    วิธีการ “ตัลกีน” (การสอนและการเตือนแบบเน้นย้ำ) นับเป็นวิธีการที่สามารถเห็นได้อย่างเด่นชัดในการที่อัลลอฮฺสอนท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ให้ท่านได้รู้จักใช้หลักฐานเพื่อการโต้แย้ง จนกระทั่งทำให้คู่กรณีต้องรับฟัง(ในสิ่งที่ท่านได้นำเสนอ)และสามารถพิชิตหัวใจของพวกเขาได้ โดยที่พวกเขาไม่สามารถที่จะรอดพ้นหรือเล็ดลอดออกจากหลักฐานต่างๆ เหล่านั้นได้เลย ซึ่งวิธีการนี้จะมาในรูปแบบของการถามตอบ โดยที่ท่านได้ถามพวกเขาแล้วพวกเขาก็ตอบ และจากการที่ได้พินิจเนื้อหาในสูเราะฮฺนี้เราจะพบว่ามีการใช้คำว่า (قُلْ) “จงกล่าวเถิด โอ้ มุหัมมัด” อย่างมากมาย ซึ่งปรากฏในสูเราะฮฺนี้มากถึง 42 ครั้ง และเช่นนี้เองที่เนื้อหาของสูเราะฮฺอันมีเกียรตินี้ได้นำเสนอ เพื่อเป็นการสนทนาโต้ตอบกับชาวมุชริกีนและทำให้พวกเขายุติการโต้เถียงด้วยหลักฐานที่กระจ่างแจ้งและข้อโต้แย้งที่เด็ดขาด อันทำให้ความมดเท็จได้แตกกระจายออกเป็นเสี่ยงๆ

    ณ จุดนี้เอง สูเราะฮฺอัล-อันอามจึงได้ให้ความสำคัญกับการเน้นย้ำในประเด็นของการดะอฺวะฮฺสู่อิสลาม ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงข้อเท็จจริงของมันและเพื่อเป็นการยืนยันในข้อสนับสนุนดังกล่าว และได้โต้ตอบคู่กรณีด้วยกับวิธีการวิพากษ์และโต้แย้ง

    ในสูเราะฮฺนี้ได้นำเสนอความจำเป็นที่ต้องเชื่อมั่นในเอกภาพของอัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่งในด้านการสร้างสรรค์และบันดาล(เตาฮีดรุบูบิยะฮฺ) รวมถึงให้เอกภาพต่อพระองค์ในด้านการตามข้อบัญญัติและการอิบาดะฮฺ(เตาฮีดอุลูฮียะฮฺ) และสูเราะฮฺนี้ยังนำเสนอจุดยืนของผู้ปฏิเสธศรัทธาต่อบรรดาเราะสูลของอัลลอฮฺ และเล่าเรื่องราวของกลุ่มชนที่ล่วงลับไปแล้วให้เป็นตัวอย่างแก่พวกเขา และได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีพและการตอบแทน ซึ่งต่อไปนี้คือบางอายะฮฺที่มีคำว่า (قُلْ) ปรากฏอยู่

    ﴿قُلۡ سِيرُواْ فِي ٱلۡأَرۡضِ ثُمَّ ٱنظُرُواْ كَيۡفَ كَانَ عَٰقِبَةُ ٱلۡمُكَذِّبِينَ ١١﴾ ]سورة الأنعام : 11[

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด)ว่า พวกท่านจงเดิน ไปในแผ่นดินเถิด แล้วจงดูว่า ผลสุดท้ายของบรรดาผู้ปฏิเสธนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ?” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 11) (อายะฮฺนี้ได้สาธยายว่าอัลลอฮฺ ตะอาลา นั้นคือ ผู้ทรงกรรมสิทธิ์ในการบริหารจัดการสถานที่)

    ﴿قُل لِّمَن مَّا فِي ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضِۖ قُل لِّلَّهِۚ كَتَبَ عَلَىٰ نَفۡسِهِ ٱلرَّحۡمَةَۚ لَيَجۡمَعَنَّكُمۡ إِلَىٰ يَوۡمِ ٱلۡقِيَٰمَةِ لَا رَيۡبَ فِيهِۚ ٱلَّذِينَ خَسِرُوٓاْ أَنفُسَهُمۡ فَهُمۡ لَا يُؤۡمِنُونَ ١٢﴾ ]سورة الأنعام : 12[

    ความว่า “จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่า สิ่งที่อยู่ในบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินนั้นเป็นของใคร ? จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) ว่าเป็นของอัลลอฮฺ พระองค์ได้ทรงกำหนดการเอ็นดูเมตตาไว้เป็นหน้าที่เหนือพระองค์ แน่นอนพระองค์จะทรงรวบรวมพวกเจ้าไปสู่วันกิยามะฮฺ โดยที่ไม่มีการสงสัยใดๆ ในวันนั้นอีก ส่วนบรรดาผู้ที่ทำให้ตัวของพวกเขาขาดทุนนั้น พวกเขาก็จะไม่ศรัทธา” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 12) (อายะฮฺนี้ได้สาธยายว่าอัลลอฮฺ ตะอาลา นั้นคือ ผู้ทรงกรรมสิทธิ์ในการบริหารจัดการเวลา)

    ﴿قُلۡ أَغَيۡرَ ٱللَّهِ أَتَّخِذُ وَلِيّٗا فَاطِرِ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضِ وَهُوَ يُطۡعِمُ وَلَا يُطۡعَمُۗ قُلۡ إِنِّيٓ أُمِرۡتُ أَنۡ أَكُونَ أَوَّلَ مَنۡ أَسۡلَمَۖ وَلَا تَكُونَنَّ مِنَ ٱلۡمُشۡرِكِينَ ١٤﴾ ]سورة الأنعام : 14[

    ความว่า “จงกล่าวเถิด ฉันจะยึดถือ “ผู้คุ้มครองอื่นจากอัลลอฮฺกระนั้นหรือ” ? ทั้งๆ ที่พระองค์เป็นผู้สร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน และพระองค์เป็นผู้ทรงให้อาหาร และไม่ถูกให้อาหาร จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) แท้จริง ฉันถูกใช้ให้เป็นคนแรกในหมู่ที่สวามิภักดิ์ และถูกใช้ว่าจงอย่าเป็นหนึ่งในหมู่ผู้ตั้งภาคีเป็นอันขาด” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 14)

    ﴿ قُلۡ إِنِّيٓ أَخَافُ إِنۡ عَصَيۡتُ رَبِّي عَذَابَ يَوۡمٍ عَظِيمٖ ١٥﴾ ]سورة الأنعام : 15[

    ความว่า “จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่า แท้จริงฉันกลัวการลงโทษในวันอันยิ่งใหญ่ หากฉันฝ่าฝืนพระเจ้าของฉัน” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 15)

    ﴿قُلۡ أَرَءَيۡتَكُمۡ إِنۡ أَتَىٰكُمۡ عَذَابُ ٱللَّهِ أَوۡ أَتَتۡكُمُ ٱلسَّاعَةُ أَغَيۡرَ ٱللَّهِ تَدۡعُونَ إِن كُنتُمۡ صَٰدِقِينَ ٤٠﴾ ]سورة الأنعام : 40[

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) พวกท่านจงบอกเรามาเถิดว่า หากการลงโทษของอัลลอฮฺมายังพวกท่าน หรือวันกิยามะฮฺได้มายังพวกท่านแล้ว อื่นจากอัลลอฮฺกระนั้นหรือที่พวกท่านจะวิงวอนหากพวกเจ้าเป็นผู้พูดจริง” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 40)

    ﴿قُلۡ إِنِّي نُهِيتُ أَنۡ أَعۡبُدَ ٱلَّذِينَ تَدۡعُونَ مِن دُونِ ٱللَّهِۚ قُل لَّآ أَتَّبِعُ أَهۡوَآءَكُمۡ قَدۡ ضَلَلۡتُ إِذٗا وَمَآ أَنَا۠ مِنَ ٱلۡمُهۡتَدِينَ ٥٦﴾ ]سورة الأنعام : 56[

    ความว่า “จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่าแท้จริง ฉันถูกห้ามมิให้เคารพสักการะบรรดาผู้ที่พวกท่านวิงวอนกันอยู่ อื่นจากอัลลอฮฺ จงกล่าวเถิดฉันจะไม่ปฏิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำของพวกเจ้า ถ้าเช่นนั้นแน่นอนฉันก็ย่อมหลงผิดไปด้วยและฉันก็จะไม่ใช่เป็นคนหนึ่งในหมู่ผู้ได้รับคำแนะนำ” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 56)

    ﴿قُلۡ إِنِّي عَلَىٰ بَيِّنَةٖ مِّن رَّبِّي وَكَذَّبۡتُم بِهِۦۚ مَا عِندِي مَا تَسۡتَعۡجِلُونَ بِهِۦٓۚ إِنِ ٱلۡحُكۡمُ إِلَّا لِلَّهِۖ يَقُصُّ ٱلۡحَقَّۖ وَهُوَ خَيۡرُ ٱلۡفَٰصِلِينَ ٥٧﴾ ]سورة الأنعام : 57[

    ความว่า “จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) แท้จริง ฉันอยู่บนหลักฐานอันชัดเจนจากพระเจ้าของฉัน ในขณะเดียวกันพวกเจ้าก็ปฏิเสธหลักฐานนั้น ที่ฉันนั้นไม่มีสิ่งที่พวกเจ้าเร่งรีบดอก แท้จริง การชี้ขาดนั้นมิใช่สิทธิของใครอื่นนอกจากเป็นสิทธิของอัลลอฮฺเท่านั้น โดยที่พระองค์จะทรงแจ้งความจริง และพระองค์เป็นผู้ที่เยี่ยมที่สุดในบรรดาผู้ชี้ขาด” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 57)

    ﴿قُلۡ مَن يُنَجِّيكُم مِّن ظُلُمَٰتِ ٱلۡبَرِّ وَٱلۡبَحۡرِ تَدۡعُونَهُۥ تَضَرُّعٗا وَخُفۡيَةٗ لَّئِنۡ أَنجَىٰنَا مِنۡ هَٰذِهِۦ لَنَكُونَنَّ مِنَ ٱلشَّٰكِرِينَ ٦٣﴾ ]سورة الأنعام : 63[

    ความว่า “จงกล่าวเถิด(มุอัมมัด)ว่า ใครเล่าจะช่วยพวกเจ้าให้พ้นจากบรรดาความมืดของทางบกและทางทะเล โดยที่พวกเจ้าวิงวอนขอต่อเขาด้วยความนอบน้อมและแผ่วเบาว่า ถ้าหากพระองค์ทรงช่วยเราให้รอดพ้นจากสิ่งนี้แล้ว แน่นอนพวกข้าพระองค์ก็จะเป็นผู้ที่อยู่ในหมู่ผู้กตัญญูรู้คุณ” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 63)

    ﴿قُلِ ٱللَّهُ يُنَجِّيكُم مِّنۡهَا وَمِن كُلِّ كَرۡبٖ ثُمَّ أَنتُمۡ تُشۡرِكُونَ ٦٤﴾ ]سورة الأنعام : 64[

    ความว่า “จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่าอัลลอฮฺจะช่วยพวกท่านให้รอดพ้นจากมัน และจากความทุกข์ยากทุกอย่างด้วย แต่แล้วพวกท่านก็ให้มีภาคีขึ้นอีก(แก่พระองค์) (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 64)

    ﴿قُلۡ هُوَ ٱلۡقَادِرُ عَلَىٰٓ أَن يَبۡعَثَ عَلَيۡكُمۡ عَذَابٗا مِّن فَوۡقِكُمۡ أَوۡ مِن تَحۡتِ أَرۡجُلِكُمۡ أَوۡ يَلۡبِسَكُمۡ شِيَعٗا وَيُذِيقَ بَعۡضَكُم بَأۡسَ بَعۡضٍۗ ٱنظُرۡ كَيۡفَ نُصَرِّفُ ٱلۡأٓيَٰتِ لَعَلَّهُمۡ يَفۡقَهُونَ ٦٥﴾ ]سورة الأنعام : 65[

    ความว่า “จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) พระองค์คือผู้ทรงสามารถที่จะส่งการลงโทษมายังพวกท่าน จากเบื้องบน ของพวกท่านหรือจากใต้เท้าของพวกท่าน หรือไม่ก็ให้พวกท่านปนเปกันโดยมีหลายพวก และให้บางส่วนของพวกท่านลิ้มรสซึ่งการรุกรานของอีกบางส่วน จงดูเถิด(มุหัมมัด)ว่า เรากำลังแจกแจงโองการทั้งหลายอยู่อย่างไร ? เพื่อว่าพวกเขาจะได้เข้าใจ” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 65)

    ﴿قُلۡ يَٰقَوۡمِ ٱعۡمَلُواْ عَلَىٰ مَكَانَتِكُمۡ إِنِّي عَامِلٞۖ فَسَوۡفَ تَعۡلَمُونَ مَن تَكُونُ لَهُۥ عَٰقِبَةُ ٱلدَّارِۚ إِنَّهُۥ لَا يُفۡلِحُ ٱلظَّٰلِمُونَ ١٣٥﴾ ]سورة الأنعام : 135[

    ความว่า “จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่า ประชาชาติของฉันทั้งหลาย! จงปฏิบัติตามสภาพ ของพวกท่านเถิด แท้จริงฉันก็จะเป็นผู้ปฏิบัติด้วย และพวกท่านจะได้รู้ว่าใครกัน บั้นปลาย แห่งปรโลกจะเป็นของเขา แท้จริงบรรดาผู้อธรรมนั้นจะไม่ได้รับความสำเร็จ” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 135)

    ﴿قُلۡ إِنَّنِي هَدَىٰنِي رَبِّيٓ إِلَىٰ صِرَٰطٖ مُّسۡتَقِيمٖ دِينٗا قِيَمٗا مِّلَّةَ إِبۡرَٰهِيمَ حَنِيفٗاۚ وَمَا كَانَ مِنَ ٱلۡمُشۡرِكِينَ ١٦١﴾ ]سورة الأنعام : 161[

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่า แท้จริงฉันนั้น พระเจ้าของฉันได้แนะนำฉันไปสู่ทางอันเที่ยงตรง คือศาสนาที่เที่ยงแท้อันเป็นแนวทางของอิบรอฮีมผู้ใฝ่หาความจริง และเขา(อิบรอฮีม) ไม่เป็นผู้อยู่ในหมู่ผู้ให้มีภาคีขึ้น” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 161)

    ﴿قُلۡ إِنَّ صَلَاتِي وَنُسُكِي وَمَحۡيَايَ وَمَمَاتِي لِلَّهِ رَبِّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ١٦٢﴾ ]سورة الأنعام : 162[

    ความว่า “จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่า แท้จริงการละหมาดของฉัน และการอิบาดะฮฺของฉัน และการมีชีวิตของฉัน และการตายของฉันนั้นเพื่ออัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าแห่งสากลโลกเท่านั้น” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 162)

    ﴿قُلۡ أَغَيۡرَ ٱللَّهِ أَبۡغِي رَبّٗا وَهُوَ رَبُّ كُلِّ شَيۡءٖۚ وَلَا تَكۡسِبُ كُلُّ نَفۡسٍ إِلَّا عَلَيۡهَاۚ وَلَا تَزِرُ وَازِرَةٞ وِزۡرَ أُخۡرَىٰۚ ثُمَّ إِلَىٰ رَبِّكُم مَّرۡجِعُكُمۡ فَيُنَبِّئُكُم بِمَا كُنتُمۡ فِيهِ تَخۡتَلِفُونَ ١٦٤﴾ ]سورة الأنعام : 164[

    ความว่า “จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่า อื่นจากอัลลอฮฺกระนั้นหรือ ที่ฉันจะแสวงหาพระเจ้า? ทั้งๆ ที่พระองค์นั้นเป็นพระเจ้าของทุกสิ่ง และแต่ละชีวิตนั้นจะไม่แสวงหาสิ่งใด นอกจากจะเป็นภาระแก่ชีวิตนั้นเองเท่านั้น และไม่มีผู้แบกภาระคนใดจะแบกภาระบาปของผู้อื่น แล้วยังพระเจ้าของพวกเจ้านั้นคือการกลับไปของพวกเจ้า แล้วพระองค์จะทรงแจ้งแก่พวกเจ้าในสิ่งที่พวกเจ้าขัดแย้งกัน” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 164)

    เช่นนี้เอง ที่เนื้อหาของสูเราะฮฺนี้ได้ดำเนินเรื่องราว เป็นกลุ่มอายะฮฺที่บ่งชี้ถึงเดชานุภาพของอัลลอฮฺ ตะอาลา หลังจากนั้นอายะฮฺต่างๆ ก็ได้ติดตามมาเพื่อเป็นการโต้ตอบและเผชิญหน้ากับชาวมุชริกีนและผู้ที่ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย

    หลังจากนั้น เรื่องราวของท่านนบีอิบรอฮีมกับกลุ่มชนของท่านก็ได้มีมา ซึ่งเหตุที่เนื้อหาส่วนที่เป็นเรื่องราวของท่านอิบรอฮีมได้ปรากฏในสูเราะฮฺอัล-อันอามนั้น เพราะเรื่องราวของท่านสอดคล้องกับวิธีการนำเสนอเหตุผล การประกาศข้อโต้แย้งและหลักฐาน ในการเผชิญหน้ากับชาวมุชริกีนและผู้ปฏิเสธศรัทธา โดยอายะฮฺต่างๆ ที่นำเสนอเรื่องราวของท่านนบีอิบรอฮีมและการโต้ตอบของท่านที่มีต่อกลุ่มชนของท่านนั้นมีระบุในอายะฮฺที่ 74-83 (ดังนี้ -ผู้แปล-)

    ﴿۞وَإِذۡ قَالَ إِبۡرَٰهِيمُ لِأَبِيهِ ءَازَرَ أَتَتَّخِذُ أَصۡنَامًا ءَالِهَةً إِنِّيٓ أَرَىٰكَ وَقَوۡمَكَ فِي ضَلَٰلٖ مُّبِينٖ ٧٤ وَكَذَٰلِكَ نُرِيٓ إِبۡرَٰهِيمَ مَلَكُوتَ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضِ وَلِيَكُونَ مِنَ ٱلۡمُوقِنِينَ ٧٥ فَلَمَّا جَنَّ عَلَيۡهِ ٱلَّيۡلُ رَءَا كَوۡكَبٗاۖ قَالَ هَٰذَا رَبِّيۖ فَلَمَّآ أَفَلَ قَالَ لَآ أُحِبُّ ٱلۡأٓفِلِينَ ٧٦ فَلَمَّا رَءَا ٱلۡقَمَرَ بَازِغٗا قَالَ هَٰذَا رَبِّيۖ فَلَمَّآ أَفَلَ قَالَ لَئِن لَّمۡ يَهۡدِنِي رَبِّي لَأَكُونَنَّ مِنَ ٱلۡقَوۡمِ ٱلضَّآلِّينَ ٧٧ فَلَمَّا رَءَا ٱلشَّمۡسَ بَازِغَةٗ قَالَ هَٰذَا رَبِّي هَٰذَآ أَكۡبَرُۖ فَلَمَّآ أَفَلَتۡ قَالَ يَٰقَوۡمِ إِنِّي بَرِيٓءٞ مِّمَّا تُشۡرِكُونَ ٧٨ إِنِّي وَجَّهۡتُ وَجۡهِيَ لِلَّذِي فَطَرَ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضَ حَنِيفٗاۖ وَمَآ أَنَا۠ مِنَ ٱلۡمُشۡرِكِينَ ٧٩ وَحَآجَّهُۥ قَوۡمُهُۥۚ قَالَ أَتُحَٰٓجُّوٓنِّي فِي ٱللَّهِ وَقَدۡ هَدَىٰنِۚ وَلَآ أَخَافُ مَا تُشۡرِكُونَ بِهِۦٓ إِلَّآ أَن يَشَآءَ رَبِّي شَيۡ‍ٔٗاۚ وَسِعَ رَبِّي كُلَّ شَيۡءٍ عِلۡمًاۚ أَفَلَا تَتَذَكَّرُونَ ٨٠ وَكَيۡفَ أَخَافُ مَآ أَشۡرَكۡتُمۡ وَلَا تَخَافُونَ أَنَّكُمۡ أَشۡرَكۡتُم بِٱللَّهِ مَا لَمۡ يُنَزِّلۡ بِهِۦ عَلَيۡكُمۡ سُلۡطَٰنٗاۚ فَأَيُّ ٱلۡفَرِيقَيۡنِ أَحَقُّ بِٱلۡأَمۡنِۖ إِن كُنتُمۡ تَعۡلَمُونَ ٨١ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَلَمۡ يَلۡبِسُوٓاْ إِيمَٰنَهُم بِظُلۡمٍ أُوْلَٰٓئِكَ لَهُمُ ٱلۡأَمۡنُ وَهُم مُّهۡتَدُونَ ٨٢ وَتِلۡكَ حُجَّتُنَآ ءَاتَيۡنَٰهَآ إِبۡرَٰهِيمَ عَلَىٰ قَوۡمِهِۦۚ نَرۡفَعُ دَرَجَٰتٖ مَّن نَّشَآءُۗ إِنَّ رَبَّكَ حَكِيمٌ عَلِيمٞ ٨٣﴾ ]سورة الأنعام : 74-83[

    ความว่า “และจงรำลึกขณะที่อิบรอฮีมได้กล่าวแก่บิดาของเขา คืออาซัรฺว่า ท่านจะยึดถือเอาบรรดาเจว็ดเป็นที่เคารพสักการะกระนั้นหรือ? แท้จริงฉันเห็นว่าท่านและกลุ่มชนของท่านนั้นอยู่ในความหลงผิดอันชัดแจ้ง และในทำนองนั้นแหละ เราจะให้อิบรอฮีมเห็นอำนาจอันยิ่งใหญ่ ในบรรดาชั้นฟ้า และแผ่นดินและเพื่อเขาจะได้เป็นผู้หนึ่งในหมู่ผู้เชื่อมั่นทั้งหลาย ครั้นเมื่อกลางคืนปกคลุมเขา เขาได้เห็นดาวดวงหนึ่ง เขากล่าวว่า นี่คือพระเจ้าของฉัน แต่เมื่อมันลับไป เขาก็กล่าวว่า ฉันไม่ชอบบรรดาสิ่งที่ลับไป ครั้นเมื่อเขาเห็นดวงจันทร์กำลังขึ้นเขาก็กล่าวว่านี่คือพระเจ้าของฉัน แต่เมื่อมันลับไป เขาก็กล่าวว่า ถ้าพระเจ้าของฉันมิได้ทรงแนะนำฉันแล้ว แน่นอนฉันก็จะกลายเป็นคนหนึ่งในกลุ่มชนที่หลงผิด ครั้นเมื่อเขาเห็นดวงอาทิตย์กำลังขึ้นเขาก็กล่าวว่า นี่แหละคือพระเจ้าของฉัน นี่แหละใหญ่กว่า แต่เมื่อมันได้ลับไป เขาก็กล่าวว่า โอ้กลุ่มชนของฉัน! แท้จริงฉันขอปลีกตัวออก จากสิ่งที่พวกท่านให้มีภาคีขึ้น(แก่อัลลอฮฺ) แท้จริง ข้าพระองค์ขอผินหน้าของข้าพระองค์แด่ผู้ที่สร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินในฐานะผู้ใฝ่หาความจริง ผู้สวามิภักดิ์และข้าพระองค์มิใช่คนหนึ่งในหมู่ผู้ให้มีภาคีขึ้น และกลุ่มชนของเขาได้โต้เถียงเขา เขาได้กล่าวว่า พวกท่านจะโต้เถียงฉันในเรื่องอัลลอฮฺกระนั้นหรือ? และแท้จริงพระองค์ได้ทรงแนะนำฉันแล้ว และฉันจะไม่กลัวสิ่งที่พวกท่านให้สิ่งนั้นเป็นภาคีขึ้น นอกจากพระเจ้าของข้าพระองค์จะทรงประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่านั้น พระเจ้าของฉันนั้นมีความรู้กว้างขวางทั่วทุกสิ่ง แล้วพวกเจ้าไม่รำลึกลึกหรือ? และอย่างไรเล่าที่ฉันจะกลัวสิ่งที่พวกท่านให้มีภาคีขึ้น โดยที่พวกท่านไม่กลัวที่พวกท่านได้ให้มีภาคีแก่อัลลอฮฺซึ่งสิ่งที่พระองค์มิได้ทรงให้มีหลักฐานใดๆ ลงมาแก่พวกเจ้าในสิ่งนั้น แล้วฝ่ายใดเล่าในสองฝ่ายนั้น เป็นฝ่ายที่สมควรต่อความปลอดภัยยิ่งกว่าหากพวกท่านรู้ บรรดาผู้ที่ศรัทธา โดยที่มิได้ให้การศรัทธาของพวกเขาปะปนกับการอธรรมนั้น ชนเหล่านี้แหละพวกเขาจะได้รับความปลอดภัย และพวกเขาคือผู้ที่รับเอาคำแนะนำไว้ และนั่นคือ หลักฐานของเราที่ได้ให้มันแก่อิบรอฮีม โดยมีฐานะเหนือกลุ่มชนของเขา เราจะยกขึ้นหลายขั้นให้ผู้ที่เราประสงค์ แท้จริง พระเจ้าของเจ้านั้น เป็นผู้ทรงปรีชาญาณผู้ทรงรอบรู้” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 74-83)

    หลังจากนั้น อายะฮฺที่เป็นตัวขั้นกลางของสูเราะฮฺก็ได้มีมาเพื่อเป็นสิ่งที่บ่งชี้แก่เราว่าสัญญาณต่างๆ ของอัลลอฮฺที่มีอยู่ในสรรพสิ่งทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ แต่หากหัวใจมืดบอดแล้วไซร้ก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นมันได้ และทำให้เขาดื้อรั้นและปฏิเสธในการศรัทธา นั่นคืออายะฮฺที่ว่า

    ﴿قَدۡ جَآءَكُم بَصَآئِرُ مِن رَّبِّكُمۡۖ فَمَنۡ أَبۡصَرَ فَلِنَفۡسِهِۦۖ وَمَنۡ عَمِيَ فَعَلَيۡهَاۚ وَمَآ أَنَا۠ عَلَيۡكُم بِحَفِيظٖ ١٠٤﴾ ]سورة الأنعام : 104[

    ความว่า “แท้จริงบรรดาหลักฐานจากพระเจ้าของพวกเจ้านั้นได้มายังพวกเจ้าแล้ว ดังนั้น ผู้ใดมองเห็น ก็ย่อมได้แก่ตัวของเขา และผู้ใดมองไม่เห็น ก็ย่อมเป็นภัยแก่ตัวของเขา และฉันมิใช่เป็นผู้พิทักษ์รักษาพวกเจ้า” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 104)

    หลังจากนั้นสูเราะฮฺนี้ก็ได้ปิดท้ายด้วยเนื้อหาจำนวนเศษหนึ่งส่วนสี่(รุบุอฺ)ของสูเราะฮฺเต็มๆ เป็นเนื้อหาคำสั่งเสียทั้งสิบประการที่ถูกประทานลงมาในคัมภีร์เล่มก่อนๆ และเป็นสิ่งที่บรรดานบีก่อนหน้านี้ได้เรียกร้องกลุ่มชนของพวกท่านมาแล้ว (ซึ่งคำสั่งเสียข้างต้นมีเนื้อหาดังนี้-ผู้แปล-)

    ﴿۞قُلۡ تَعَالَوۡاْ أَتۡلُ مَا حَرَّمَ رَبُّكُمۡ عَلَيۡكُمۡۖ أَلَّا تُشۡرِكُواْ بِهِۦ شَيۡ‍ٔٗاۖ وَبِٱلۡوَٰلِدَيۡنِ إِحۡسَٰنٗاۖ وَلَا تَقۡتُلُوٓاْ أَوۡلَٰدَكُم مِّنۡ إِمۡلَٰقٖ نَّحۡنُ نَرۡزُقُكُمۡ وَإِيَّاهُمۡۖ وَلَا تَقۡرَبُواْ ٱلۡفَوَٰحِشَ مَا ظَهَرَ مِنۡهَا وَمَا بَطَنَۖ وَلَا تَقۡتُلُواْ ٱلنَّفۡسَ ٱلَّتِي حَرَّمَ ٱللَّهُ إِلَّا بِٱلۡحَقِّۚ ذَٰلِكُمۡ وَصَّىٰكُم بِهِۦ لَعَلَّكُمۡ تَعۡقِلُونَ ١٥١ وَلَا تَقۡرَبُواْ مَالَ ٱلۡيَتِيمِ إِلَّا بِٱلَّتِي هِيَ أَحۡسَنُ حَتَّىٰ يَبۡلُغَ أَشُدَّهُۥۚ وَأَوۡفُواْ ٱلۡكَيۡلَ وَٱلۡمِيزَانَ بِٱلۡقِسۡطِۖ لَا نُكَلِّفُ نَفۡسًا إِلَّا وُسۡعَهَاۖ وَإِذَا قُلۡتُمۡ فَٱعۡدِلُواْ وَلَوۡ كَانَ ذَا قُرۡبَىٰۖ وَبِعَهۡدِ ٱللَّهِ أَوۡفُواْۚ ذَٰلِكُمۡ وَصَّىٰكُم بِهِۦ لَعَلَّكُمۡ تَذَكَّرُونَ ١٥٢ وَأَنَّ هَٰذَا صِرَٰطِي مُسۡتَقِيمٗا فَٱتَّبِعُوهُۖ وَلَا تَتَّبِعُواْ ٱلسُّبُلَ فَتَفَرَّقَ بِكُمۡ عَن سَبِيلِهِۦۚ ذَٰلِكُمۡ وَصَّىٰكُم بِهِۦ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ ١٥٣ ثُمَّ ءَاتَيۡنَا مُوسَى ٱلۡكِتَٰبَ تَمَامًا عَلَى ٱلَّذِيٓ أَحۡسَنَ وَتَفۡصِيلٗا لِّكُلِّ شَيۡءٖ وَهُدٗى وَرَحۡمَةٗ لَّعَلَّهُم بِلِقَآءِ رَبِّهِمۡ يُؤۡمِنُونَ ١٥٤ وَهَٰذَا كِتَٰبٌ أَنزَلۡنَٰهُ مُبَارَكٞ فَٱتَّبِعُوهُ وَٱتَّقُواْ لَعَلَّكُمۡ تُرۡحَمُونَ ١٥٥ أَن تَقُولُوٓاْ إِنَّمَآ أُنزِلَ ٱلۡكِتَٰبُ عَلَىٰ طَآئِفَتَيۡنِ مِن قَبۡلِنَا وَإِن كُنَّا عَن دِرَاسَتِهِمۡ لَغَٰفِلِينَ ١٥٦ أَوۡ تَقُولُواْ لَوۡ أَنَّآ أُنزِلَ عَلَيۡنَا ٱلۡكِتَٰبُ لَكُنَّآ أَهۡدَىٰ مِنۡهُمۡۚ فَقَدۡ جَآءَكُم بَيِّنَةٞ مِّن رَّبِّكُمۡ وَهُدٗى وَرَحۡمَةٞۚ فَمَنۡ أَظۡلَمُ مِمَّن كَذَّبَ بِ‍َٔايَٰتِ ٱللَّهِ وَصَدَفَ عَنۡهَاۗ سَنَجۡزِي ٱلَّذِينَ يَصۡدِفُونَ عَنۡ ءَايَٰتِنَا سُوٓءَ ٱلۡعَذَابِ بِمَا كَانُواْ يَصۡدِفُونَ ١٥٧ هَلۡ يَنظُرُونَ إِلَّآ أَن تَأۡتِيَهُمُ ٱلۡمَلَٰٓئِكَةُ أَوۡ يَأۡتِيَ رَبُّكَ أَوۡ يَأۡتِيَ بَعۡضُ ءَايَٰتِ رَبِّكَۗ يَوۡمَ يَأۡتِي بَعۡضُ ءَايَٰتِ رَبِّكَ لَا يَنفَعُ نَفۡسًا إِيمَٰنُهَا لَمۡ تَكُنۡ ءَامَنَتۡ مِن قَبۡلُ أَوۡ كَسَبَتۡ فِيٓ إِيمَٰنِهَا خَيۡرٗاۗ قُلِ ٱنتَظِرُوٓاْ إِنَّا مُنتَظِرُونَ ١٥٨ إِنَّ ٱلَّذِينَ فَرَّقُواْ دِينَهُمۡ وَكَانُواْ شِيَعٗا لَّسۡتَ مِنۡهُمۡ فِي شَيۡءٍۚ إِنَّمَآ أَمۡرُهُمۡ إِلَى ٱللَّهِ ثُمَّ يُنَبِّئُهُم بِمَا كَانُواْ يَفۡعَلُونَ ١٥٩ مَن جَآءَ بِٱلۡحَسَنَةِ فَلَهُۥ عَشۡرُ أَمۡثَالِهَاۖ وَمَن جَآءَ بِٱلسَّيِّئَةِ فَلَا يُجۡزَىٰٓ إِلَّا مِثۡلَهَا وَهُمۡ لَا يُظۡلَمُونَ ١٦٠ قُلۡ إِنَّنِي هَدَىٰنِي رَبِّيٓ إِلَىٰ صِرَٰطٖ مُّسۡتَقِيمٖ دِينٗا قِيَمٗا مِّلَّةَ إِبۡرَٰهِيمَ حَنِيفٗاۚ وَمَا كَانَ مِنَ ٱلۡمُشۡرِكِينَ ١٦١ قُلۡ إِنَّ صَلَاتِي وَنُسُكِي وَمَحۡيَايَ وَمَمَاتِي لِلَّهِ رَبِّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ١٦٢ لَا شَرِيكَ لَهُۥۖ وَبِذَٰلِكَ أُمِرۡتُ وَأَنَا۠ أَوَّلُ ٱلۡمُسۡلِمِينَ ١٦٣ قُلۡ أَغَيۡرَ ٱللَّهِ أَبۡغِي رَبّٗا وَهُوَ رَبُّ كُلِّ شَيۡءٖۚ وَلَا تَكۡسِبُ كُلُّ نَفۡسٍ إِلَّا عَلَيۡهَاۚ وَلَا تَزِرُ وَازِرَةٞ وِزۡرَ أُخۡرَىٰۚ ثُمَّ إِلَىٰ رَبِّكُم مَّرۡجِعُكُمۡ فَيُنَبِّئُكُم بِمَا كُنتُمۡ فِيهِ تَخۡتَلِفُونَ ١٦٤﴾ ]سورة الأنعام : 151-164[

    ความว่า “จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่าท่านทั้งหลายจงมากันเถิด ฉันจะอ่านให้ฟังสิ่งที่พระเจ้าของพวกท่านได้ห้ามไว้แก่พวกท่านคือ พวกเจ้าอย่าให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นภาคีกับพระองค์ และจงทำดีต่อผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง และอย่าฆ่าลูกของพวกเจ้าเนื่องจากกลัวความจน เพราะเราเป็นผู้ให้ปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้าและแก่พวกเขา และจงอย่าเข้าใกล้บรรดาสิ่งชั่วช้า ทั้งที่เปิดเผยและที่ปกปิด และอย่าฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้ นอกจากด้วยสิทธิอันชอบธรรมเท่านั้น นั่นแหละที่พระองค์ได้ทรงสั่งเสียมันไว้แก่พวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะใช้ปัญญา และจงอย่าเข้าใกล้ทรัพย์สมบัติของเด็กกำพร้า นอกจากด้วยวิถีทางที่ดียิ่ง จนกว่าเขาจะบรรลุวัยฉกรรจ์ และจงให้ครบเต็มซึ่งเครื่องตวงและเครื่องชั่งด้วยความเที่ยงตรง เราจะไม่บังคับชีวิตใดนอกจากเท่าที่เขามีความสามารถเท่านั้น และเมื่อพวกเจ้าพูดก็จงยุติธรรม และแม้ว่าเขาจะเป็นญาติที่ใกล้ชิดก็ตาม และต่อสัญญาของอัลลอฮฺนั้นก็จงปฏิบัติตามให้ครบถ้วน นั่นแหละที่พระองค์ได้ทรงสั่งเสียมันไว้แก่พวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รำลึก และแท้จริง นี่คือทางของข้าอันเที่ยงตรง พวกเจ้าจงปฏิบัติตามมันเถิด และอย่าปฏิบัติตามทางอื่นๆ เพราะมันจะทำให้พวกเจ้าแยกออกไปจากทางของพระองค์ นั่นแหละที่พระองค์ได้สั่งเสียมันไว้แก่พวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะยำเกรง แล้วเราได้ให้คัมภีร์แก่มูซา ทั้งนี้เป็นการครบถ้วนแก่ผู้ที่กระทำดี และเป็นการแจกแจงในทุกสิ่งทุกอย่าง และเพื่อเป็นการแนะนำและเป็นความเมตตา เพื่อว่าพวกเขาจะได้ศรัทธาต่อการพบกับพระเจ้าของพวกเขา และนี่(อัลกุรอาน)คือคัมภีร์ ที่มีความจำเริญซึ่งเราได้ให้คัมภีร์ลงมายังเจ้า จงปฏิบัติตามคัมภีร์นั้นเถิด และจงยำเกรง เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความกรุณาเมตตา (มิเช่นนั้น) พวกเจ้าจะกล่าวว่า แท้จริงคัมภีร์ได้ถูกประทานลงมาให้แก่สองพวกเท่านั้นก่อนหน้าพวกข้าพระองค์ และแท้จริงพวกข้าพระองค์ไม่รู้เรื่องในการอ่านของพวกเขา หรือไม่ก็พวกเจ้าจะกล่าวว่า แท้จริงพวกข้าพระองค์นั้น หากได้มีคัมภีร์ถูกประทานลงมาแก่พวกข้าพระองค์แล้วไซร้ แน่นอนพวกข้าพระองค์ก็เป็นผู้ที่อยู่ในคำแนะนำดียิ่งกว่าพวกเขา แท้จริง ได้มายังพวกเจ้าแล้วจากพระเจ้าของพวกเจ้า ซึ่งหลักฐานอันชัดแจ้ง และคำแนะนำและความเมตตา ดังนั้นใครเล่าคือผู้อธรรมยิ่งไปกว่าผู้ที่ปฏิเสธบรรดาโองการของอัลลอฮฺและผินหลังให้แก่โองการเหล่านั้น เราจะตอบแทนแก่บรรดาผู้ที่ผินหลังให้แก่โองการทั้งหลายของเรา ซึ่งการลงโทษอันชั่วช้า เนื่องจากการที่พวกเขาผินหลังให้ พวกเขามิได้รอคอยอะไร นอกจากการที่มะลาอิกะฮฺจะมายังพวกเขา หรือการที่พระเจ้าของเจ้าจะมา หรือการที่สัญญาณบางอย่างแห่งพระเจ้าของเจ้าจะมา วันที่สัญญาณบางอย่างแห่งพระเจ้าของเจ้ามานั้น จะไม่อำนวยประโยชน์แก่ชีวิตหนึ่งชีวิตใดซึ่งการศรัทธาของเขาโดยที่เขามิได้ศรัทธามาก่อน หรือมิได้แสวงหาความดีใดๆ ไว้ในการศรัทธาของเขา จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่า พวกท่านจงรอกันเถิด แท้จริงพวกเราก็เป็นผู้รอคอยเช่นกัน แท้จริง บรรดาผู้ที่แบ่งแยกศาสนาของพวกเขา และพวกเขาได้กลายเป็นนิกายต่างๆ นั้น เจ้า(มุหัมมัด)หาใช่อยู่ในหมู่พวกเขาแต่อย่างใดไม่ แท้จริงเรื่องราวของพวกเขานั้นย่อมไปสู่อัลลอฮฺ แล้วพระองค์จะทรงแจ้งแก่พวกเขาในสิ่งที่พวกเขากระทำกัน ผู้ใดที่นำความดีมา เขาก็จะได้รับสิบเท่าของความดีนั้น และผู้ใดนำความชั่วมาเขาจะไม่ถูกตอบแทน นอกจากเท่าความชั่วนั้นเท่านั้น และพวกเขาจะไม่ถูกอธรรม จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่า แท้จริง พระเจ้าของฉันได้แนะนำฉันไปสู่ทางอันเที่ยงตรง คือศาสนาที่เที่ยงแท้อันเป็นแนวทางของอิบรอฮีมผู้ใฝ่หาความจริง และเขา(อิบรอฮีม) ไม่เป็นผู้อยู่ในหมู่ผู้ให้มีภาคีขึ้น จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่า แท้จริงการละหมาดของฉัน และการอิบาดะฮฺของฉัน และการมีชีวิตของฉัน และการตายของฉันนั้นเพื่ออัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าแห่งสากลโลกเท่านั้น ไม่มีภาคีใดๆ แก่พระองค์ และด้วยสิ่งนั้นแหละข้าพระองค์ถูกใช้ และข้าพระองค์คือคนแรกในหมู่ผู้สวามิภักดิ์ทั้งหลาย จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่า อื่นจากอัลลอฮฺกระนั้นหรือ ที่ฉันจะแสวงหาพระเจ้า? ทั้งๆ ที่พระองค์นั้นเป็นพระเจ้าของทุกสิ่ง และแต่ละชีวิตนั้นจะไม่แสวงหาสิ่งใด นอกจากจะเป็นภาระแก่ชีวิตนั้นเองเท่านั้น และไม่มีผู้แบกภาระคนใดจะแบกภาระของผู้อื่นได้ แล้วยังพระเจ้าของพวกเจ้านั้น คือการกลับไปของพวกเจ้า แล้วพระองค์จะทรงแจ้งแก่พวกเจ้าในสิ่งที่พวกเจ้าขัดแย้งกัน” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 151-164)

    แล้วได้จบท้ายด้วยอายะฮฺที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งได้เปิดเผยแก่มนุษย์ถึงภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในช่วงที่มีชีวิตต่อพระเจ้าของเขา นั่นคือ การเป็นผู้ปกครองดูแลบนหน้าแผ่นดินนี้ และอัลลอฮฺ ตะอาลา ยังได้กำหนดให้การดูแลรักษาสรรพสิ่งต่างๆ นั้นอยู่ในความรับผิดชอบของมนุษย์และผู้ที่เป็นลูกหลานของพวกเขา และการที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ให้ความแตกต่างเกิดขึ้นระหว่างมนุษย์นั้น ก็มีเป้าหมายอันสูงสุดและเหตุผลที่สำคัญ คือ เพื่อเป็นบททดสอบในการดำรงชีวิตที่มีอยู่นี้ ซึ่งกิจการต่างๆ ที่เขาได้ทำก็จะกลับไปยังพระองค์ ดังที่เป็นเป้าประสงค์ของการสร้างสรรค์และการวางระบบต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนั้นคือมีความเกี่ยวพันกับเป้าหมายของสูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ ที่ได้วางเป้าหมายเกี่ยวกับการได้เป็นผู้ปกครองบนหน้าแผ่นดิน สูเราะฮฺอัล-อันอามยังได้กล่าวถึงกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺที่มีต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย ประหนึ่งพระองค์กำลังบอกแก่เราว่า เป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียวที่จะให้พวกเจ้า(มนุษย์)มีสิทธิ์ในการครองครองบนหน้าแผ่นดินและให้พวกเจ้าได้เป็นผู้ปกครองสืบแทนบนหน้าแผ่นดิน ซึ่งมีเนื้อหาของอายะฮฺดังนี้

    ﴿وَهُوَ ٱلَّذِي جَعَلَكُمۡ خَلَٰٓئِفَ ٱلۡأَرۡضِ وَرَفَعَ بَعۡضَكُمۡ فَوۡقَ بَعۡضٖ دَرَجَٰتٖ لِّيَبۡلُوَكُمۡ فِي مَآ ءَاتَىٰكُمۡۗ إِنَّ رَبَّكَ سَرِيعُ ٱلۡعِقَابِ وَإِنَّهُۥ لَغَفُورٞ رَّحِيمُۢ ١٦٥﴾ ]سورة الأنعام : 165[

    ความว่า “และพระองค์นั้นคือผู้ที่ทรงให้พวกเจ้าเป็นผู้สืบแทนในแผ่นดิน และได้ทรงเทิดบางคนของพวกเจ้าเหนือกว่าอีกบางคนหลายขั้น เพื่อที่พระองค์จะทรงทดสอบพวกเจ้าในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงประทานแก่พวกเจ้า แท้จริงพระเจ้าของเจ้านั้น เป็นผู้รวดเร็วในการลงโทษและแท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงเอ็นดูเมตตา” (สูเราะฮฺอัล-อันอาม : 165)

    สำหรับการตั้งชื่อสูเราะฮฺนี้ว่า “อัล-อันอาม” นั้น ไม่ใช่เป็นเพราะมีคำว่า “อัล-อันอาม” หมายถึงปศุสัตว์ ได้ปรากฏในสูเราะฮฺนี้เท่านั้น แต่เหตุผลที่แท้จริงนั้นคือ ปศุสัตว์ในสังคมของชาวกุร็อยชฺแล้วนั้นถือเป็นสิ่งที่พวกเขาได้ใช้บริโภคทั้งกินและดื่ม ใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง และเป็นทรัพย์ที่สร้างความมั่งคั่งให้แก่ชีวิต ซึ่งชาวกุร็อยชฺเคยกล่าวว่า พวกเราได้ทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺก็จริงแต่ในเรื่องการแสวงหาความมั่งคั่งให้แก่ชีวิตนั้นเราขอทำตามสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้สาธยายแก่พวกเขาว่า การให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺนั้นต้องเกิดขึ้นทั้งในเรื่องการศรัทธาและในส่วนที่เป็นภาคปฏิบัติ ซึ่งจำเป็นที่ต้องให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺในการแสวงหาปัจจัยยังชีพต่างๆ ไม่ใช่เพียงแค่ในเรื่องการศรัทธาเท่านั้น โดยข้อชี้นำนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อสำทับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาชาวกุร็อยชฺเพียงเท่านั้น แต่มันได้หมายรวมถึงมนุษย์ทุกคนที่มีความเชื่อมั่นในหลักเอกภาพที่มีต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา แต่ในภาคปฏิบัติของพวกเขานั้นได้สวนทางกับสิ่งที่เขาได้ให้การเชื่อมั่น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คำว่า ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺนั้น จึงต้องปรากฏทั้งในด้านหลักศรัทธาและภาคปฏิบัติ ซึ่งนี่ก็เป็นความสอดคล้องกับสิ่งที่มีมาในสูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺก่อนหน้านี้ในพระดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

    ﴿ ٱلۡيَوۡمَ أَكۡمَلۡتُ لَكُمۡ دِينَكُمۡ وَأَتۡمَمۡتُ عَلَيۡكُمۡ نِعۡمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ ٱلۡإِسۡلَٰمَ دِينٗاۚ ﴾ ]سورة المائدة : 3[

    ความว่า “วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งศาสนาของพวกเจ้า และข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาแก่พวกเจ้าแล้ว” (สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ : 3)

    ดังนั้น จำเป็นสำหรับเราที่ต้องยึดมั่นในศาสนาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และเราต้องให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺทั้งในด้านความศรัทธาและที่เป็นภาคปฏิบัติพร้อมๆ กัน

    والله أعلم بالصواب

    وصلى الله على نبينا محمد وعلى آله وصحبه وسلم

    والحمد لله رب العالمين