×
อธิบายเรื่องความสำคัญของเวลา และสะกิดเตือนให้รู้จักใช้เวลาในทางที่เกิดประโยชน์ รวมถึงการระมัดระวังในการใช้เวลาอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่คำนึงถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของมัน และบทนะศีหะฮฺบางประการสำหรับมุสลิมที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม

    เวลาและสิ่งพึงระวังในการท่องเที่ยวต่างประเทศ

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย :อิสมาน จารง

    ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    2012 - 1433

    ﴿ الوقت وخطر السفر إلى الخارج ﴾

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبد الله الشقاوي

    ترجمة: عثمان جارونج

    مراجعة: صافي عثمان

    2012 - 1433

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    เรื่อง ที่ 51

    เวลาและสิ่งพึงระวังในการท่องเที่ยวต่างประเทศ

    มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิของอัลลอฮฺ ขอการประทานพรและความสันติมีแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ข้าขอปฏิญานว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมหมัดนั้นเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

    อัลลอฮฺได้กล่าวว่า

    ﴿ وَٱلۡعَصۡرِ ١ إِنَّ ٱلۡإِنسَٰنَ لَفِي خُسۡرٍ ٢ إِلَّا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلۡحَقِّ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلصَّبۡرِ ٣ ﴾ [العصر: ١-٣]

    ความว่า “ขอสาบานด้วยกาลเวลา แท้จริง มนุษย์นั้นอยู่ในการขาดทุน นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย และตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนกันและกันให้มีความอดทน” (อัล-อัศรฺ 1-3)

    ท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า คำว่า “อัล-อัศรฺ” คือ เวลา และท่านอิบนุล ก็อยยิม ได้กล่าวว่า การใช้ คำว่า อัศรฺ ในความหมายว่ากาลเวลานั้นเป็นสิ่งที่แพร่หลายในสำนวนภาษาอาหรับ(บะดาอิอฺ อัต-ตัฟซีรฺ เล่มที่ 5 หน้าที่ 328-329)

    อัลลอฮฺได้สาบานด้วยเวลาเพราะมันเป็นที่เก็บรวบรวมการงานต่างๆ ของปวงบ่าวทั้งที่ดีและชั่ว และเพราะความมีเกียรติและยิ่งใหญ่ของเวลา และในการสาบานนี้ อัลลอฮฺได้เตือนมนุษย์ถึงคุณค่าของเวลาและเตือนถึงการที่พวกเขาควรกอบโกยใช้มันอย่างคุ้มค่าและให้ความสำคัญกับมัน นอกจากนี้ อัลลอฮฺยังได้สาบานกับส่วนหนึ่งของเวลาในที่อื่นๆ ในอัลกุรอาน เช่นที่อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ وَٱلۡفَجۡرِ ١ وَلَيَالٍ عَشۡرٖ ٢ ﴾ [الفجر: ١- ٢]

    ความว่า “ขอสาบานด้วยเวลารุ่งอรุณและค่ำคืนทั้งสิบ(สิบคืนแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ) (อัล-ฟัจญ์รฺ 1-2)

    พระองค์ได้ตรัสอีกว่า

    ﴿ وَٱلَّيۡلِ إِذَا يَغۡشَىٰ ١ وَٱلنَّهَارِ إِذَا تَجَلَّىٰ ٢ ﴾ [الليل: ١- ٢]

    ความว่า “ขอสาบานด้วยเวลากลางคืนเมื่อมันปกคลุม และด้วยเวลากลางวันเมื่อมันประกายแสง” (อัล-ลัยลฺ :1-2)

    และพระองค์ยังได้ตรัสอีกว่า

    ﴿ وَٱلضُّحَىٰ ١ وَٱلَّيۡلِ إِذَا سَجَىٰ ٢ ﴾ [الضحى: ١- ٢]

    ความว่า “ขอสาบานด้วยเวลาสาย และด้วยเวลากลางคืนเมื่อมันมืดและสงัดเงียบ“ (อัฎ-ฎุหา 1-2)

    เวลานั้นมีค่ามากกว่าเงินและทอง เพราะเงินและทองนั้นสามารถชดใช้ได้ แต่เวลาหากผ่านพ้นไปแล้วไม่อาจชดใช้หรือทดแทนได้ และอายุขัยของมนุษย์ซึ่งเขามีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่กี่สิบปีนั้นพวกเขาจะถูกสอบสวนถึงเวลาทุกอณูของมัน โดยมันเป็นคำถามหลักๆ ที่เขาจะต้องถูกสอบสวนด้วยในวันกิยามะฮฺ

    รายงานจากท่านมุอาซฺ บิน ญะบัล เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า แท้จริง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «مَا تَزُولُ قَدَمَا عَبْدٍ يوم الْقِيَامَةِ حَتّٰى يُسْأَلَ عن أَرْبَعٍ : عن عُمْرِهِ فِيمَ أَفْنَاهُ، وَعَنْ شَبَابِهِ فِيمَ أَبْلاهُ، وَعَنْ مَالِهِ فِيمَ اكْتَسَبَهُ وَفِيْمَ أَنْفَقَهُ، وَعَنْ عِلْمِهِ مَاذَا عَمِلَ بِهِ» [شعب الإيمان 2/286 برقم 1785- 1786]

    ความว่า “เท้าของบ่าวคนหนึ่งๆ จะไม่สามารถขยับได้ในวันกิยามะฮฺ จนกว่าเขาจะถูกสอบถามถึงสี่ประการต่อไปนี้ จะถูกถามถึงอายุขัยของเขาว่าปล่อยให้มันหมดไปอย่างไร ความเป็นหนุ่มของเขาเขาใช้มันอย่างไร ทรัพย์สินของเขาหามาได้อย่างไรและใช้จ่ายมันไปอย่างไร และความรู้ของเขาเขาเอาไปปฏิบัติใช้อย่างไร” (ชุอะบุล อีมาน เล่มที่2 หน้าที่ 286 หะดีษหมายเลข 1785-1786)

    ดังนั้น เขาจะถูกถามถึงการใช้อายุขัยของเขาในภาพรวม และในช่วงวัยหนุ่มเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้เพราะวัยหนุ่มนั้นเป็นช่วงวัยที่มีพละกำลังและการความกระฉับกระเฉง และเป็นวัยที่สามารถทำงานได้ดีกว่าในช่วงวัยอื่นของชีวิต

    เวลา ถือเป็นนิอฺมัต(โชคลาภที่อัลลอฮฺประทานให้)ที่ดีที่สุดที่อัลลอฮฺประทานให้กับบ่าวของพระองค์ รายงานจากท่าน อับดุลลอฮฺ บิน อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่าแท้จริง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «نِعْمَتَانِ مَغْبُونٌ فِيهِمَا كَثِيرٌ مِنَ النَّاسِ : الصِّحَّةُ وَالْفَرَاغُ» [البخاري برقم 6412]

    ความว่า “สองนิอฺมัตที่มนุษย์ส่วนใหญ่ขาดทุนมัน คือการมีสุขภาพดีและมีเวลาว่าง” (อัล-บุคอรีย์หะดีษหมายเลข 6412)

    อัล-ฆ็อบนุ (ขาดทุน) นั้น คือการที่บุคคลซื้อสินค้าหนึ่งด้วยราคาที่แพงกว่าราคาปกติของมันหลายเท่า ดังนั้น ผู้ใดที่ร่างกายของเขามี่สุขภาพดีและมีเวลาว่างจากภาระงานต่างๆ แต่เขาไม่พยายามที่จะปรับปรุงอาคิเราะฮฺ(ชีวิตหลังความตาย)ของเขา บุคคลผู้นั้นจะถูกเรียกว่าเป็นผู้ขาดทุน และในตัวบทหะดีษยังบ่งบอกว่า เวลานั้นเป็นนิอฺมัตที่ใหญ่ยิ่ง บุคคลจะไม่ได้ประโยชน์จากเวลาของเขา ยกเว้นเขาได้รับเลือกจากอัลลอฮฺแล้ว และผู้ที่ได้รับประโยชน์นี้นั้นมีน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ละเลยและขาดทุนมากกว่า

    รายงานจากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่าแท้จริง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «اغْتَنِمْ خَمْسًا قَبْلَ خَمْسٍ» وذكر منها : «وَفَرَاغَك قَبْلَ شَغْلِكَ ، وَشَبَابَك قَبْلَ هَرَمِكَ» [مستدرك الحاكم برقم 7846]

    ความว่า “จงรีบเร่งหาประโยชน์จากห้าสิ่งก่อนที่จะเกิดห้าสิ่ง” ส่วนหนึ่งในห้าสิ่งนั้นท่านได้กล่าวว่า (จงหาประโยชน์จาก)เวลาว่างของท่าน ก่อนที่ท่านจะมีภาระงาน และวัยหนุ่มของท่านก่อนที่ท่านจะแก่ตัวลง” (อัล-มุสตัดร็อก ของ อัล-หากิม 7846)

    หากใครพิจารณาสภาพของชาวสะลัฟ(ชนยุคแรกของอิสลาม) และบุคคลที่เจริญรอยตามชนเหล่านั้นแล้วเขาจะพบว่า ชาวสะลัฟนั้นจะมีความความกระตือรือร้นในการใช้เวลาของพวกเขา โดยการเติมเต็มเวลาทุกส่วน ด้วยความดี ท่านอับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า “ฉันไม่เคยเสียใจกับสิ่งใดยิ่งไปกว่าการที่ดวงอาทิตย์ได้ลับขอบฟ้าไปในวันหนึ่งโดยที่อายุขัยของฉันได้สั้นลงแต่การงานที่ดีของฉันไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย”

    ท่านอิบนุล ก็อยยิม ได้กล่าวว่า “การปล่อยเวลาให้หมดไปโดยไร้ค่านั้นร้ายยิ่งกว่าความตาย เพราะการปล่อยเวลาให้หมดไปโดยไร้ประโยชน์นั้น มันทำลายการงานของท่านทั้งทางโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ” (บะดาอิอฺ อัล-ฟะวาอิด 1/53)

    นักกวีได้กล่าวความว่า

    وَالوَقْتُ أَنْفَسُ مَا عُنِيْتَ بِحِفْظِهِ وَأَرَاهُ أَسْهَلَ مَا عَلَيْكَ يَضِيْعُ

    “เวลานั้นมีค่ายิ่งที่สุด ซึ่งควรค่าที่ท่านต้องดูแลรักษามัน

    แต่ฉันเห็นว่ามันกลับเป็นสิ่งที่ง่ายดายมาก ที่มันจะสูญหายไปจากท่าน”

    จากที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดเจนว่าความขาดทุนนั้นเกิดขึ้นแน่นอนกับคนที่เดินทางไปยังประเทศของผู้ปฏิเสธ เพื่อใช้เวลาช่วงนั้นด้วยการละเลยหลงลืมอย่างเสียเปล่า จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเตือนถึงอันตรายและความเสียหายของการเดินทางลักษณะนี้ ส่วนหนึ่งก็คือ

    ประการแรก การเดินทางไปยังแผ่นดินผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อย่างชัดเจน ซึ่งมีรายงานจากท่าน ญะรีรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า แท้จริง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «أَنَا بَرِىءٌ مِنْ كُلِّ مُسْلِمٍ يُقِيمُ بَيْنَ أَظْهُرِ الْمُشْرِكِينَ، لاَ تَتَرَاءَى نَارَاهُمَا» [سنن الترمذي برقم 1604]

    ความว่า “ฉันนั้นหลุดพ้นไม่เกี่ยวข้องกับมุสลิมทุกคนที่อาศัยอยู่ท่ามกลางผู้ตั้งภาคี ไฟทั้งสองของคนสองกลุ่มไม่ควรจะเห็นกัน (ไม่ควรอยู่ใกล้กันจนเห็นไฟในบ้านกันและกัน) (สุนัน อัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 1604)

    บรรดานักปราชญ์ได้ทำการยกเว้นในกรณีของผู้ที่ออกไปทำการสู้รบในหนทางของอัลลอฮฺ ผู้ที่เดินทางเพื่อเผยแพร่ศาสนา ผู้ที่เดินทางเพื่อการรักษาที่ไม่อาจรักษาได้ในประเทศของตน ผู้ที่เดินทางเพื่อศึกษาหาความรู้ที่ไม่มีในประเทศมุสลิม ทั้งหมดนั้นด้วยเงื่อนไขว่าต้องเปิดเผยศาสนาของตนเอง รู้ถึงสิ่งที่อัลลอฮฺได้กำหนดให้เป็นวาญิบเหนือตนเอง มีศรัทธาที่มั่นคงต่ออัลลอฮฺซุบฮานะหุวะตะอาลา และสามารถปฏิบัติศาสนกิจของตนเองได้ด้วยความปลอดภัยจากฟิตนะฮฺต่างๆ ซึ่งในภาวะที่มีความจำเป็นนั้นศาสนาจะมีบทบัญญัติเป็นการเฉพาะเอาไว้

    ประการที่สอง เพราะเหตุว่ามีสิ่งที่จะชักจูงไปสู่การทำสิ่งที่ชั่วและต้องห้ามจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิตนะฮฺ(บททดสอบ)จากสตรี รายงานจากท่านอุสามะฮฺ บิน ซัยดฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่าแท้จริง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «مَا تَرَكْتُ بَعْدِى فِتْنَةً أَضَرَّ عَلَى الرِّجَالِ مِنَ النِّسَاءِ» [مسلم برقم 2741]

    ความว่า “ฉันไม่ได้ทิ้งไว้ซึ่งฟิตนะฮฺใดที่เป็นอันตรายสำหรับผู้ชายมากกว่าฟิตนะฮฺที่มาจากผู้หญิง” (เศาะฮีหฺ มุสลิม 2741)

    และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวเช่นกันว่า

    «فَاتَّقُوا الدُّنْيَا وَاتَّقُوا النِّسَاءَ» [مسلم برقم 2742]

    ความว่า “จงยำเกรงเกี่ยวกับดุนยา และจงยำเกรงเกี่ยวกับผู้หญิง” (เศาะฮีหฺ มุสลิม 2742)

    ท่านเชค อับดุลอะซีซ บิน บาซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า การเดินทางไปยังประเทศที่มีการปฏิเสธศรัทธา หลงผิด เปิดเสรี และมีการผิดประเวณี ดื่มเหล้าอย่างเปิดเผย การปฏิเสธศรัทธาและหลงทางแพร่หลายนั้น เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับบุรุษและสตรี มีคนที่ดีจำนวนไม่น้อยที่เดินทางไปและกลับมาในสภาพเสื่อมเสีย มุสลิมหลายคนกลับมาในสภาพที่เป็นกาฟิรฺ อันตรายจากการเดินทางลักษณะนี้นั้นใหญ่ยิ่ง วาญิบที่จะต้องมีการระมัดระวังในการเดินทางไปยังประเทศพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นในช่วงการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์หรืออื่นๆ ก็ตามที”

    ประการที่สาม เป็นการใช้เวลาสิ้นเปลืองกับสิ่งที่อัลลอฮฺไม่พึงพอใจ ซึ่งเวลานั้นดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าจะต้องถูกสอบถามในวันอาคีเราะฮฺ

    ประการที่สี่ เป็นการสิ้นเปลืองทรัพย์สินจำนวนมากในสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ในสิ่งที่เป็นการสนองตันหา อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    ﴿إِنَّ ٱلۡمُبَذِّرِينَ كَانُوٓاْ إِخۡوَٰنَ ٱلشَّيَٰطِينِۖ وَكَانَ ٱلشَّيۡطَٰنُ لِرَبِّهِۦ كَفُورٗا ٢٧﴾ [الإسراء: ٢٧]

    ความว่า “แท้จริง บรรดาผู้สุรุ่ยสุร่ายนั้นเป็นพวกพ้องของเหล่าชัยฏอน และชัยฏอนนั้นเนรคุณต่อพระเจ้าของมัน“ (อัล-อิสรออ์ 27)

    ประการที่ห้า ผู้ที่เดินทางอาจไม่ปลอดภัยจากการไขว้เขวในหลักศรัทธา จริยธรรม และการปฏิบัติในศาสนกิจและอื่นๆ และหากตัวเขาปลอดภัยจากสิ่งเหล่านั้น ก็อาจคงเหลืออยู่ในความทรงจำของลูกๆ ของเขาซึ่งภาพของเมืองที่เต็มไปด้วยโบสถ์ สถานที่ที่เสื่อมเสีย ที่ที่มีการเผยเอาเราะฮฺ เปลือยกาย และมีการขายเหล้าสุราตามถนนหนทางอย่างโจ่งแจ้ง เหล่านี้ก็คือการเสื่อมเสียที่หายนะเพียงพอแล้ว

    ประการที่หก การประสบเจอบ่อยครั้งกับสิ่งที่เป็นที่ต้องห้าม เช่นการละเลยการละหมาดของผู้คน การเปิดเอาเราะฮฺของสตรี การซื้อขายสิ่งที่ต้องห้ามต่างๆ และอื่น สิ่งเหล่านี้จะทำให้การสั่งใช้ในความดีและห้ามปรามในความชั่วที่จะต้องมีในใจผู้ที่ศรัทธานั้นอ่อนแอลง เพราะเขาจะต้องห้ามปรามในสิ่งขัดกับหลักศาสนา รายงานจากท่าน อบู สะอีด อัล-คุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าแท้จริง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «مَنْ رَأَى مِنْكُمْ مُنْكَرًا فَلْيُغَيِّرْهُ بِيَدِهِ، فَإِنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِلِسَانِهِ، فَإِنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِقَلْبِهِ، وَذَلِكَ أَضْعَفُ الإِيمَانِ» [مسلم برقم 49]

    ความว่า “ใครคนหนึ่งในหมู่พวกท่านที่เห็นความชั่ว เขาจงเปลี่ยนแปลงมันด้วยมือของเขา หากเขาไม่มีความสามารถที่จะทำเช่นนั้นได้ ก็ให้เขาเปลี่ยนแปลงมันด้วยลิ้น(การพูด) และถ้าหากเขาไม่มีความสามารถอีก ให้เขาจงเปลี่ยนแปลงมันด้วยการปฏิเสธสิ่งนั้นในใจ และนั่นคือความศรัทธาขั้นต่ำสุด”(เศาะฮีหฺ มุสลิม หมายเลข 49)

    และความเสียหายประการอื่นๆ อีกมากมาย

    وسبحانك اللهم وبحمدك، أشهد أن لا إله إلا أنت أستغفرك وأتوب إليك.