×
บทความแนะนำแนวคิดกลุ่มอัน-นุศ็อยรียะฮฺโดยสรุป อาทิ นิยามกลุ่ม ผู้ก่อตั้งแนวคิด คุณลักษณะเฉพาะ ปราชญ์ในแนวคิดนี้ และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในอดีตและปัจจุบันเกี่ยวกับกลุ่มลัทธินี้.

    กลุ่มลัทธิ อัน-นุศ็อยรียะฮฺ

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    สภายุวมุสลิมโลก WAMY

    แปลโดย : อันวา สะอุ

    ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    2012 - 1433

    ﴿ النصيرية ﴾

    « باللغة التايلاندية »

    الندوة العالمية للشباب الإسلامي

    ترجمة: أنور إسماعيل

    مراجعة: صافي عثمان

    2012 - 1433

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    อัน-นุศ็อยรียะฮฺ

    คำนิยาม

    อัน-นุศ็อยรียะฮฺ คือ กลุ่มลัทธิบาฏีนิยะฮฺ (คือลัทธิที่เชื่อว่าบทบัญญัติมีทั้งสิ่งที่เปิดเผยและสิ่งซ่อนเร้น และพวกเขาเท่านั้นที่สามารถรับรู้ถึงบทบัญญัติที่ซ่อนเร้น) ซึ่งอุบัติขึ้นในฮิจญ์เราะฮฺศตวรรษที่ 3 ผู้ทำตามแนวทางของกลุ่มนี้ถือเป็นชาวชีอะฮฺที่มีแนวคิดสุดโต่ง ซึ่งเชื่อว่าคุณลักษณะการเป็นพระผู้เป็นเจ้าแฝงตัวอยู่ในตัวท่านอะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ดังนั้นพวกเขายึดถือว่าอะลีย์เป็นพระเจ้า แท้จริงแล้ววัตถุประสงค์ของการก่อตั้งกลุ่มลัทธินี้ก็คือเพื่อทำลายล้างอิสลามจากรากเหง้า ดังนั้นจึงเห็นว่าพวกที่ทำตามแนวคิดของกลุ่มนี้จะยืนหยัดอยู่ข้างศัตรูที่รุกรานดินแดนของชาวมุสลิมเสมอ จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสได้เรียกขานคนกลุ่มนี้ในซีเรียว่า อัล-อะละวิยีน เพื่อหันเหและปกปิดข้อเท็จจริงของกลุ่มนี้ซึ่งมีเบื้องหลังคือพวก อัร-เราะฟิเฎาะฮฺ และ อัล-บาฏีนิยะฮฺ

    การก่อตั้งกลุ่มและบุคคลสำคัญ

    บุคคลที่ก่อตั้งกลุ่มนี้คือ อบู ชุอัยบฺ มุหัมหมัด บิน นุศ็อยรฺ อัล-บัศรีย์ อัน-นุมัยรีย์ (เสียชีวิตเมื่อ ปี ฮ.ศ. 270 เขาผู้นี้ทันกับสมัยอิหม่ามชีอะฮฺ 3 ท่านด้วยกัน คือ อะลีย์ อัล-ฮาดีย์ (อิหม่ามคนที่ 10) อัล-หะสัน อัล-อัสกะรีย์ (อิหม่ามคนที่ 11) และมุหัมหมัด อัล-มะฮฺดีย์ (อิหม่ามคนที่ 12 – ผู้ที่ชีอะฮฺอ้างว่าได้หายตัวไปและจะปรากฏตัวอีกครั้งในยุคสุดท้ายของโลก)

    อบู ชุอัยบฺ อ้างตนว่าเป็นอัล-บาบ (ประตูความรู้) ของอิหม่าม อัล-หะสัน อัล-อัสกะรีย์ เป็นผู้สืบทอดวิชาความรู้ของเขา เป็นที่พึ่งหรือที่อ้างอิงด้านวิชาการของชาวชีอะฮฺ หลังจากอิหม่าม อัล-อัสกะรีย์ และอ้างว่าคุณสมบัติการเป็นที่อ้างอิงและอัล-บาบยังคงอยู่กับตัวของเขาหลังการสูญหายของอิหม่ามอัล-มะฮฺดีย์

    อบู ชุอัยบฺ อ้างตนเองว่าเป็นศาสนทูตและรับวิวรณ์(วะหฺยู) จากอัลลอฮฺ และเขาได้เทิดทูนบรรดาอิหม่ามของชีอะฮฺจนเกินเลยถึงขั้นพระผู้เป็นเจ้า อบู ชุอัยบฺได้แต่งตั้งมุหัมหมัด บิน ญุนดุบ เป็นผู้นำลัทธิต่อจากเขา

    ต่อมา อบู มุหัมหมัด อับดุลลอฮฺ บิน มุหัมหมัด อัล-ญินาน อัล-ญุนบะลานีย์ (ฮ.ศ. 235-287 ) ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำลัทธิต่อ เขามีถิ่นกำเนิดที่ เมืองญุนบะลา แคว้นเปอร์เซีย เขามีฉายานามว่า อัล-อาบิด อัซ-ซาฮิด และอัล-ฟาริสีย์ เขาได้เดินทางไปยังอียิปต์ และได้แนะนำเชิญชวนแนวคิดของเขาแก่อัล-เคาะศีบีย์

    หุซัยนฺ บิน อะลีย์ บิน อัล-หุซัยนฺ บิน หัมดาน อัล-เคาะศีบีย์ เกิดเมื่อปี ฮ.ศ. 260 เป็นชาวอียิปต์โดยกำเนิด เขาได้เดินทางออกจากประเทศอียิปต์มายังเมืองญุนบะลาพร้อมกับอาจารย์ของเขา อับดุลลอฮฺ บิน มุหัมหมัด อัล-ญุนบะลานีย์ ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำหลังจากการเสียชีวิตของอาจารย์ เขาได้อาศัยอยู่ภายใต้อาณัติของอาณาจักรอัล-หัมดานียะฮฺ ที่เมืองหะลับ (Aleppo) ผู้ปกครองอาณาจักรแห่งนี้ได้จัดตั้งศูนย์กลางแนวคิดอัน-นุศ็อยรียะฮฺจำนวน 2 แห่ง คือ ที่เมืองหะลับ โดยมีมุหัมหมัด อะลีย์ อัล-ญะลีย์ เป็นหัวหน้าศูนย์ และที่กรุงแบกแดด (Bagdad) โดยมีอะลีย์ อัล-ญะสะรีย์ เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ อัล-เคาะศีบีย์ ได้เสียชีวิต ณ เมืองหะลับ สุสานของเขาเป็นที่รู้จักของชาวเมืองเป็นอย่างดี เขาผู้นี้มีงานเขียนมากมายเกี่ยวกับแนวทางของเขา ตลอดจนมีบทกวีที่ชื่นชมวงศ์วานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เขาผู้นี้เชื่อมั่นในทัศนะการว่ายเวียนตายเกิดของมนุษย์ ศูนย์กลางอัน-นุศ็อยรียะฮฺ ณ กรุงแบกแดดได้ล่มสลายหลังจากการรุกรานของกองทัพฮูลากู (Hulagu Khan) ส่วนศูนย์กลางอัน-นุศ็อยรียะฮฺ ณ เมืองหะลับ ได้ย้ายไปยังเมือง อัล-ลาซิกิยะฮฺ (Lattakia) โดยมีหัวหน้าศูนย์คนใหม่คือ อบู สะอัด อัล-มัยมูน สุรูร บิน กอสิม อัฏ-เฏาะบะเราะนีย์ (ฮ.ศ. 358-427)

    ชาวเคิร์ดและชาวเติร์กได้รุกรานพวกอัน-นุศ็อยรียะฮฺอย่างรุนแรงทำให้พวกเขาต้องร้องขอความช่วยเหลือจากอัล-อะมีรฺ หะสัน บิน ยูซุฟ อัล-มักซูน อัส-สินญารีย์ (ฮ.ศ. 583-638) เจ้าเมืองสินญารฺ (อยู่ทางตอนเหนือในประเทศอิรักติดพรมแดนประเทศซีเรีย) ทำให้เกิดการปะทะในพื้นที่ถึงสองครั้ง ซึ่งในครั้งแรกกองทัพอัน-นุศ็อยรียะฮฺประสบกับความล้มเหลว ส่วนในครั้งที่สองพวกเขาประสบความสำเร็จเอาชนะศัตรูที่มารุกรานได้ ซึ่งทำให้ลัทธิอัน-นุศ็อยรียะฮฺได้ปักหลักในพื้นที่เทือกเขาอัล-ลาซิกิยะฮฺอย่างถาวร

    หาติม อัฏ-ฏูบาน (ราวปี ฮ.ศ.700 หรือ ค.ศ. 1300) ผู้แต่งหนังสือ อัร-ริสาละฮฺ อัล-กุบรุศิยะฮฺ

    หะสัน อัจญ์ร็อด จากเขตอะอฺนา และเสียชีวิติ ณ เมืองอัล-ลาซิกิยะฮฺ (ฮ.ศ. 836 หรือ ค.ศ.1432)

    ต่อมามีการจัดตั้งสโมสรอัน-นุศ็อยรียะฮฺ นำโดยนักกวี ชื่อ มุหัมหมัด บิน ยูนุส กะลาซีย์ (ฮ.ศ. 1011/ ค.ศ.1602) ใกล้กับเมืองอันฏอเกีย (Antakya-Turkey), อะลีย์ อัล-มาคูส, นาศิรฺ นุศ็อยฟีย์ และยุซุฟ อุบัยดีย์

    สุลัยมาน อะฟันดีย์ อัล-อะซะนีย์ เกิดที่เมืองอันฏอเกีย (Antakya) เมื่อปี ฮ.ศ.1250 เขาผู้นี้รับการศึกษาแนวทางอัน-นุศ็อยรียะฮฺ แต่ต่อมาได้หันไปนับถือศาสนาคริสต์ตามคำเชิญชวนของมิชชันนารีคนหนึ่ง และได้ลี้ภัยไปอยู่ที่กรุงเบรุต (ประเทศเลบานอน) และได้แต่งหนังสือ อัล-บากูเราะฮฺ อัส-สุลัยมานียะฮฺ ซึ่งได้เปิดโปงความลับของกลุ่มอัน-นุศ็อยรียะฮฺ พวกอัน-นุศ็อยรียะฮฺได้ไปเกลี้ยกล่อมเขาให้กลับตัว จนในที่สุดเขายอมกลับตัวและได้กลับไปหาพวกอัน-นุศ็อยรียะฮฺอีกครั้ง แต่พวกเขาได้จับตัวเขามาประหารด้วยการแขวนคอ และเผาศพเขากลางสนามเมืองอัล-ลาซิกิยะฮฺ (Lattakia)

    ในประวัติศาสตร์ลัทธินี้รู้จักกันในนาม อัน-นุศ็อยรียะฮฺ ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของกลุ่มนี้ แต่ครั้งเมื่อมีการก่อตั้งพรรคการเมืองหนึ่งในซีเรีย ชื่อว่าพรรคอัล-กุตละฮฺ อัล-วะเฏาะนิยะฮฺ (The National Bloc Party) พรรคการเมืองนี้มีเป้าหมายที่จะดึงพวกอัน-นุศ็อยรียะฮฺมาเป็นสมาชิก พวกเขาจึงตั้งชื่อลัทธินี้ใหม่ว่า กลุ่มอัล-อะละวิยีน ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกใจพวกเขาเป็นอย่างมากและพวกก็ใช้ชื่อนี้จนถึงปัจจุบัน อาณานิคมฝรั่งเศสได้สถาปนารัฐหนึ่งให้แก่พวกเขาโดยตั้งชื่อว่ารัฐอัล-อะละวิยีน ตั้งแต่ ค.ศ.1920 - ค.ศ. 1936

    มุหัมหมัด อามีน ฆอลิบ อัฏ-เฏาะวีล เป็นบุคคลสำคัญของกลุ่มอัน-นุศ็อยรียะฮฺ เป็นผู้นำกลุ่มสมัยการล่าอาณานิคมฝรั่งเศสเหนือประเทศซีเรีย เขาผู้นี้ได้แต่งหนังสือ ตารีค อัล-อะละวิยีน ซึ่งกล่าวถึงประวัติศาสตร์และความเป็นมาของกลุ่มอัน-นุศ็อยรียะฮฺ

    สุลัยมาน อัล-อะหฺมัด ดำรงตำแหน่งสำคัญทางศาสนาสมัยอาณาจักรอัล-อะละวิยีน เมื่อปี ค.ศ. 1920

    สุลัยมาน อัล-มุรชิด เขาผู้นี้เดิมเป็นเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ แต่พวกฝรั่งเศสได้อุปถัมภ์อุ้มชูเขาและส่งเสริมให้เขาอ้างตนว่าเป็นพระเจ้า เช่นเดียวกันนั้นบางคนถือว่าเขาเป็นเราะสูล(ศาสนทูตของอัลลอฮฺ) เนื่องจากเขาเป็นคนเลี้ยงแพะ เมื่อซีเรียได้รับเอกราชจากจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสรัฐบาลใหม่ได้ตัดสินประหารชีวิตเขาด้วยการแขวนคอในปี ค.ศ. 1946

    จากนั้นบุตรชายของสุลัยมาน อัล-มุรชิด ซึ่งมีชื่อว่า มุญีบ ได้อ้างตนเป็นพระเจ้าเช่นกัน ต่อมาเขาได้ถูกสังหารโดยฝีมือของหัวหน้าข่าวกรองรัฐบาลซีเรียสมัยนั้นในปี ค.ศ. 1951 จวบจนปัจจุบัน กลุ่มอัล-มุวาเคาะสะฮฺ ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยจากลัทธิอัน-นุศ็อยรียะฮฺยังกล่าวชื่อของมุญีบ เมื่อทำการเชือดสัตว์เพื่อบริโภค

    และมีการเล่าขานว่าบุตรชายคนที่สองของสุลัยมาน อัล-มุรชิด ที่ชื่อว่า มุฆีษ ได้สืบทอดการเป็นพระเจ้าจากบิดาของตนตามที่กล่าวอ้าง

    พวกอัน-นุศ็อยรียะฮฺ หรือ อัล-อะละวียะฮฺ สามารถแทรกซึมเข้าแฝงตัวในองค์กรและสมาคมต่างในซีเรีย และพวกเขากลายเป็นผู้มีอิทธิพลในรัฐบาลซีเรียตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับชาวซุนนะฮฺ จากนั้นพวกเขาได้รวบรวมอำนาจจากแนวคิดสังคมนิยม ชาตินิยม และแนวคิดพรรคบาธ (Ba’ath Party-ฟื้นฟูสังคมนิยมอาหรับ) ด้วยการก่อปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1971 นับตั้งแต่บัดนั้นซีเรียก็ถูกปกครองโดยพวกอัล-อะละวิยีน(อัน-นุศ็อยรียะฮฺ) ภายใต้การนำของประธานาธิบดีหาฟิซ อัล-อะสัด ซึ่งต่อมาบุตรชายของเขาบัชชารฺ อัล-อะสัด สืบทอดอำนาจหลังการเสียชีวิตของผู้เป็นบิดา

    แนวคิดและหลักความเชื่อของพวกอัน-นุศ็อยรียะฮฺ

    - พวกเขาเชื่อว่าอะลีย์นั้นเป็นพระเจ้า โดยอวตารมาในรูปร่างของมนุษย์ เฉกเช่นกับที่มะลาอิกะฮฺญิบรีลเคยแปลงกายในรูปร่างของมนุษย์บางคน

    - การที่พระเจ้าอวตารมาในรูปร่างของอะลีย์ที่เป็นมนุษย์นั้นไม่มีจุดประสงค์ใดนอกจากจะให้บ่าวของพระองค์รูสึกคุ้นเคยกับพระองค์

    - พวกเขารักและชื่นชอบต่อับดุรเราะหฺมาน บิน อัล-มุลญัม ผู้ลงมือสังหารอิหม่ามอะลีย์ เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าอับดุรเราะหฺมานคนนี้แหละที่ได้ให้สถานะการเป็นพระเจ้าหลุดพ้นจากสถานะของมนุษย์ พวกเขาจะตำหนิผู้ที่สาปแช่งฆาตรกรที่สังหารอิหม่ามอะลีย์

    - พวกเขาเชื่อว่าหลังจากที่อะลีย์เสียชีวิตวิญญาณหลุดจากร่างแล้ว วิญญาณนั้นจะสถิตอยู่ในหมู่เมฆ ดังนั้นเมื่อหมู่เมฆพัดผ่านต่อหน้าพวกเขา พวกเขาจะกล่าวว่า ขอความศานติจงประสบแด่ท่านด้วย โอ้บิดาของท่านอัล-หะสัน และพวกเขายังเชื่ออีกว่าฟ้าร้องคือเสียงของท่านอะลีย์ส่วนฟ้าแลบนั้นคือแส้ของท่านอะลีย์

    - พวกเขาเชื่อว่าอะลีย์เป็นผู้สร้างท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และมุหัมมัดได้สร้างสัลมาน อัล-ฟาริสีย์ และสัลมาน อัล-ฟาริสีย์ได้สร้างเด็กกำพร้า 5 คน คือ

    1. อัล-มิกดาด บิน อัล-อัสวัด และพวกเขาถือว่าผู้นี้เป็นพระเจ้า เป็นผู้สร้าง และรับหน้าที่ดูแลฟ้าร้อง

    2. อบูซัรฺ อัล-ฆิฟารีย์ ถูกมอบให้ดูแลการโคจรของดาวเคราะห์และดวงดาวต่างๆ

    3. อับดุลลอฮฺ บิน เราะวาหะฮฺ ถูกมอบให้ดูแลเรื่องลม และถอนวิญญาณมนุษย์

    4. อุษมาน บิน มัซอูน ถูกมอบให้ดูแลเรื่องกระเพาะ ความร้อนของร่างกาย และโรคภัยต่างๆของมนุษย์

    5. กุนบุร บิน กาดาน ถูกมอบให้ดูแลเรื่องการเป่าวิญญาณสู่ร่างกายมนุษย์

    - พวกเขามีคืนหนึ่งที่ปะปนเพื่อสมสู่กันระหว่างชายหญิง เฉกเช่นเดียวกับกลุ่มอัล-บาฏินียะฮฺ

    - พวกเขาให้ความสำคัญกับสุรา ให้ความสำคัญกับต้นองุ่น และพวกเขาจะตำหนิการถอนหรือตัดต้นองุ่น อันเป็นที่มาของสุรา โดยพวกเขาตั้งชื่อสุราว่า อัน-นูรฺ

    - พวกเขาละหมาดวันหนึ่ง 5 เวลา แต่ทว่าการละหมาดของเขาจะแตกต่างในจำนวนร็อกอะฮฺ ไม่มีการสุญูด แม้ว่าจะมีการรุกูอฺในบางครั้ง

    - พวกเขาไม่ละหมาดวันศุกร์ และไม่ทำความสะอาดด้วยการอาบน้ำละหมาดหรืออาบน้ำยกหะดัษก่อนทำการละหมาด

    - พวกเขาไม่มีมัสยิด แต่จะละหมาดตามบ้านของพวกเขา และในการละหมาดพวกเขาจะอ่านบทคาถางมงาย

    - พวกเขามีพิธีการคล้ายพิธีการของศาสนาคริสต์ เช่น กุดดาสอัฏ-ฏีบ (ศีลน้ำหอม) กุดดาสอัล-บะคูรฺ (ศีลธูปจากไม้หอม) และกุดดาสอัล-อะซาน

    - พวกเขาไม่ยอมรับพิธีหัจญ์ เพราะเชื่อว่าการเดินทางไปทำหัจญ์ที่มักกะฮฺเป็นการปฏิเสธศรัทธาและถือว่าเป็นการเคารพบูชารูปปั้น

    - พวกเขาไม่ยอมรับในบทบัญญัติการจ่ายซะกาตตามที่ชาวมุสลิมทั่วไปยอมรับ แต่พวกเขาจะจ่ายส่วยภาษีแก่บรรดาปราชญ์ของพวกเขาด้วยอัตรา 1 ส่วน 5 จากทรัพย์ที่ครอบครองทั้งหมด

    - การถือศีลอดในทัศนะของพวกเขาคือการงดเว้นจากการร่วมนอนหลับระหว่างสามีภรรยาตลอดทั้งคืนในเดือนเราะมะฎอน

    - พวกเขามีความโกรธเคืองต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺอย่างมาก พวกเขาจะสาปแช่งท่านอบูบักรฺ อุมัรฺ และอุษมาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม

    - พวกเขาอ้างว่า หลักการศรัทธานั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ อัซ-ซอฮิรฺ(เปิดเผย) และ อัล-บาฏิน(เร้นลับ) และพวกเขาเท่านั้นที่รู้เกี่ยวความลับของอัล-บาฏิน เช่น พวกเขาเชื่อว่า อัล-ญะนาบะฮฺ คือการภักดีต่อศัตรูและโง่เขลาต่อความรู้เกี่ยวกับส่วนที่เร้นลับ, อัฏ-เฏาะฮาเราะฮฺ(ความสะอาด) คือ การเป็นปฏิปักษ์กับศัตรูและรู้เกี่ยวกับส่วนที่เร้นลับ, อัศ-ศิยาม(การถือศีลอด) คือ การรักษาความลับที่เกี่ยวข้องกับชาย 33 คนและหญิง 33 คน , อัซ-ซะกาต คือสัญลักษณ์ตัวตนของ สัลมาน , อัล-ญิฮาด (การต่อสู้) คือการสาปแช่งต่อศัตรูและผู้เปิดโปงความลับ, อัล-วิลายะฮฺ (การปกครอง) คือความจริงใจต่อครอบครัวอัน-นุศ็อยรียะฮฺ และเกลียดชังผู้ที่เป็นศัตรูกับอัน-นุศ็อยรียะฮฺ , อัช-ชะฮาดะฮฺ (การกล่าวคำปฏิญาณ) คือการชี้ด้วยวาจาว่า อัยนฺ มีม สีน, อัลกุรอาน คือ บทนำสู่การมอบความบริสุทธิ์ใจต่ออิหม่ามอะลีย์ และสัลมาน ได้ปรากฏตนในร่างของญิบรีลมาสอนอัลกุรอานแก่ท่านนบีมุหัมมัด, อัศ-เศาะลาฮฺ (การละหมาด) คือสัญลักษณ์ของชื่อบุคคล 5 ท่าน คือ อะลีย์ หะสัน หุสัยนฺ มุหฺสิน และฟาฏิมะฮฺ มุหฺสิน คนนี้คือความลับ พวกเขาอ้างว่ามุหฺสินเป็นชื่อลูกของฟาฏิมะฮฺที่แท้ง การกล่าวชื่อทั้งห้าชื่อนั้นถือว่าเป็นการทำแทนการอาบน้ำญะนาบะฮฺ และการอาบน้ำละหมาด

    นักปราชญ์มุสลิมเห็นพ้องว่า ไม่อนุญาตให้ชาวมุสลิมแต่งานกับพวกอัน-นุศ็อยรีย์ ห้ามรับประทานสัตว์เชือดของพวกเขา ไม่อนุญาตให้ละหมาดญะนาซะฮฺแก่พวกเขาที่ตาย ไม่อนุญาตให้ฝังศพร่วมกับบรรดาชาวมุสลิม และไม่อนุญาตให้เกณฑ์พวกเขาเป็นทหารประจำการบริเวณชายแดนหรือป้อมปราการต่างๆ

    ท่านอิบนุตัยมียะฮฺ กล่าวว่า “กลุ่มชนที่เรียกตนว่า อัน-นุศ็อยรียะฮฺนั้น พวกเขาทั้งหมดและพวกอัล-เกาะรอมิเฏาะฮฺ อัล-บาฏินียะฮฺ เป็นพวกที่ปฏิเสธศรัทธาร้ายแรงยิ่งกว่าชาวยิวและคริสเตียนเสียอีก ซ้ำยังปฏิเสธศรัทธายิ่งกว่าชาวมุชริกีน ความอันตรายร้ายกาจของพวกเขายิ่งกว่ากุฟฟารฺที่รุกรานชาวมุสลิมอย่างพวกตะตาร์ (Tatars) และพวกฝรั่ง พวกเขาจะอยู่เคียงข้างศัตรูของชาวมุสลิมเสมอ พวกเขาเคียงข้างกับชาวคริสต์ในการรุกรานมุสลิม ความเจ็บปวดที่รุนแรงสำหรับพวกเขาคือการที่ชาวมุสลิมมีชัยชนะเหนือพวกตะตาร์ เนื่องจากพวกเขาอยู่เคียงข้างตะตาร์ ทุกครั้งที่พวกตะตาร์ยกทัพมารุกรานประเทศมุสลิมและสังหารเคาะลีฟะฮฺ ณ กรุงแบกแดดนั้นหรือกษัตริย์อื่นๆ ของชาวมุสลิมนั้นก็ด้วยความช่วยเหลือสนับสนุนจากพวกอัน-นุศ็อยรียะฮฺ”

    วันเฉลิมฉลองของอัน-นุศ็อยรียะฮฺ

    วันอีด (วันเฉลิมฉลอง) ของพวกเขานั้นมีมากมาย ซึ่งสามารถบ่งบอกว่าหลักการความเชื่อมั่นของพวกเขาได้ ดังเช่นต่อไปนี้

    วันอีด อัน-นัยรูซ คือวันเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของชาวเปอร์เซีย ซึ่งตรงกับวันที่ 4 ของเดือนเมษายน

    วันอีด อัล-เฆาะดีรฺ, วันอีด อัล-ฟิรอชฺ, การเยี่ยมเยียนในวันอาชูรออ์ ในวันที่สิบของเดือนอัล-มุหัรร็อม เพื่อรำลึกถึงวันเสียชีวิตของอัล-หุสัยนฺที่เมืองกัรฺบะลาอ์

    วันอัล-มุบาฮะละฮฺ หรือวันอัล-กิสาอ์ ในวันที่ 9 ของเดือนเราะบีอุลเอาวัล เพื่อรำลึกถึงการที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เชิญชวนชาวคริสเตียนนัจญ์รอนมาทำการมุบาฮาละฮฺ (สาบานต่ออัลลอฮฺว่าหากใครพูดเท็จผู้นั้นจะประสบกับความหายนะ)

    วันอีด อัล-อัฎหา พวกเขาจะเฉลิมฉลองในวันที่ 12 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺ (ไม่ใช่วันที่ 10)

    พวกเขาเฉลิมฉลองในวันเฉลิมฉลองของชาวคริสต์ด้วย เช่น อีด อัล-ฆุฏอส อีด อัล-อุนศุเราะฮฺ อีดเซนต์บาร์บารา วันคริสต์มาส วันไม้กางเขน ซึ่งพวกเขานำมาเป็นฤกษ์ในการทำเกษตรและเก็บเกี่ยวไม้ผล อีกทั้งเป็นฤกษ์ในการทำมาค้าขาย และทำสัญญาเช่าหรือให้เช่า

    พวกเขาเฉลิมฉลองในวันดะลาม คือวันที่ 9 ของเดือนเราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นวันแห่งการสังหารท่านอุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เพื่อเป็นการแสดงความยินดีต่อการเสียชีวิตของอุมัรฺ และกล่าวด่าประณามท่านอุมัรฺ

    รากเหง้าและที่มาของแนวคิด

    นำหลักความเชื่อของพวกบูชาเจว็ดมาผสมผสาน และบูชาดวงดาวต่างๆและเชื่อว่าดวงดาวเหล่านั้นเป็นที่สถิตของอิหม่ามอะลีย์

    ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากปรัชญาเพลโต โดยนำทฤษฎีการทอแสงของรัศมีบนวัตถุ

    สร้างหลักความเชื่อบนพื้นฐานของหลักความเชื่อของนักปรัชญาเปอร์เซีย

    รับอิทธิพลความเชื่อจากชาวคริสต์ และชาวคริสต์นิกาย อัล-เฆาะนูศิยะฮฺ (Gnosticism) พร้อมกับศรัทธาต่อไม้กางเขน พิธีกรรมต่างๆ และอนุญาตให้ดื่มสุรา

    รับอิทธิพลความเชื่อเกี่ยวกับการว่ายเวียนตายเกิดจากหลักความเชื่อของชาวอินเดียหรือเอเชียตะวันออก

    พวกเขาคือพวกชีอะฮฺที่สุดโต่ง ซึ่งทำให้หลักการและแนวคิดของพวกเขามาจากแนวคิดของชีอะฮฺ ตามทัศนะที่อัร-เราะฟิเฎาะฮฺส่วนใหญ่ยึดถือ หรือตามที่พวกอัส-สะบะอียะฮฺ (กลุ่มของอับดุลลอฮฺ บิน สะบาอ์ ชาวยิว) เป็นการเฉพาะ

    สถานที่เผยแพร่แนวคิด

    พวกอัน-นุศ็อยรีย์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเทือกเขาอัล-ลาซิกิยะฮฺ และในระยะหลังๆได้แพร่กระจายไปยังทุกพื้นที่ของประเทศซีเรียที่อยู่ใกล้เคียง

    และพวกเขามีจำนวนที่ไม่น้อยอาศัยอยู่ในเขตอะนาฎูล (Anatolia-Turkey) ตะวันตก ซึ่งรู้จักกันในนามของกลุ่ม อัล-ตัคตะญิยะฮฺ (al-Takhtajiyah) และ อัล-หัฏฏอบูน (al-Hattaboun)

    กลุ่มอัน-นุศ็อยรียะฮฺที่อาศัยอยู่ฝั่งตะวันออกของอัล-อะนาฎูล รู้จักกันในนาม อัล-เกาะซัล บาเชห์ ส่วนในเขตอื่นๆ ของตุรกีและแอลบาเนีย รู้จักพวกนี้นามของกลุ่ม อัล-บิกตาชิยะฮฺ (Bektashiyah)

    บางพวกอาศัยอยู่ในเปอร์เซีย และตุรกิสถาน (Turkestan) รู้จักกันในนามกลุ่ม อัล-อะลีย์ อิลาฮิยะฮฺ และพวกเขาบางคนอาศัยอยู่ในประเทศเลบานอนและปาเลสไตน์

    บทสรุป

    อัน-นุศ็อยรียะฮฺ คือลัทธิบาฏีนิยะฮฺ ถือกำเนิดขึ้นในฮิจญ์เราะฮฺศตวรรษที่ 3 ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มแนวคิดที่สุดโต่ง หลุดจากกรอบของอิสลาม และได้สลัดนิยามของความเป็นอิสลาม ซึ่งไม่หลงเหลืออะไรนอกจากชื่อเรียกที่คล้ายกับอิสลามเท่านั้น และถือว่าพวกเขานั้นเป็นผู้ที่หลุดจากสภาพความเป็นมุสลิม ไม่อนุญาตให้ปฏิบัติต่อพวกเขาเฉกเช่นชาวมุสลิมทั่วไป เนื่องจากแนวคิดอันสุดโต่งของพวกเขาและทัศนะที่ผิดแผกจากอิสลาม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทำลายรากฐานของอิสลาม เช่นการปฏิเสธละหมาดวันศุกร์ การไม่ทำความสะอาดจากหะดัษ มีพิธีกรรมที่คล้ายคลึงกับศาสนาคริสต์ อีกทั้งยังปฏิเสธการประกอบพิธีหัจญ์ และการจ่ายซะกาตตามที่ศาสนาได้บัญญัติ

    หนังสืออ้างอิงเพื่อค้นคว้าเพิ่มเติม

    - หนังสืออัล-ญุซูรฺ อัต-ตาริคียะฮฺ ลิ อัน-นุศ็อยรียะฮฺ อัล-อะละวิยะฮฺ พิมพ์ที่ดารุล อิอฺติศอม, ไคโร, ปี ฮ.ศ. 1400 / ค.ศ. 1980

    - หนังสือ อัล-มิลัล วัน นิหัล โดยอบู อัล-ฟัตหฺ อัช-ชิฮฺริสตานีย์

    - หนังสือชัรหฺ นะฮฺญจ์ อัล-บะละเฆาะฮฺ โดยอิบนุ อบี อัล-หะดีด พิมพ์ที่ดารุล กุตุบ อัล-อะเราะบิยะฮฺ ,ไคโร

    - หนังสือริสาละฮฺ ฟี ร็อด อะลา อัน-นุศ็อยรียะฮฺ โดยอิบนุ ตัยมียะฮฺ

    - หนังสืออัล-บากูเราะฮฺ อัส-สุลัยมานียะฮฺ ฟี กัชฟี อัสรอร อัด-ดิยานะฮฺ อัน-นุศ็อยรียะฮฺ โดยสุลัยมาน อะฟันดีย์ อัล-อะซะนีย์, เบรุต, ปี ค.ศ. 1862

    - หนังสือตารีค อัล-อะละวียีน โดย มุหัมหมัดอามีน ฆอลิบ อัฏ-เฏาะวีล พิมพ์ที่ลัตตาเกีย ปี ค.ศ. 1924

    - หนังสือคุฏ็อฏ อัชชาม โดยมุหัมหมัด คุรดฺ อะลีย์, ดามัสกัส, ค.ศ. 1925 เล่มที่ 3 หน้า 265 และเล่มที่ 6 หน้า 107

    - สารานุกรมอิสลาม หมวด นุศ็อยรีย์

    - หนังสืออิสลาม บิลา มะษาฮิบ โดยมุศเฏาะฟา อัชชักอะฮฺ สำนักพิมพ์ดารุลเกาะลัม ,ไคโร , ค.ศ.1961

    - หนังสือตารีค อัล-อะกีดะฮฺ อัน-นุศ็อยรียะฮฺ (Histoire et religion des Nosairis) โดยนักบูรพาคดี René Dussaud, สำนักพิมพ์ Emile, Bouillon,1900

    - หนังสืออัล-อะอฺลาม โดย ซิริกลีย์ เล่มที่ 2 หน้าที่ 254 เบรุต ค.ศ.1954

    - หนังสือตารีค อัล-อะดับ อัล-อะเราะบีย์ โดยนักบูรพาคดี Carl Brockelmann เล่มที่ 3 หน้าที่ 357 สำนักพิมพ์ดารุลมะอาริฟ ค.ศ.1962

    - หนังสืออัล-หะเราะกาต อัล-บาฏินียะฮฺ ฟี อัล-อาลัม อัล-อิสลามีย์ โดย ดร.อะหฺมัด มุหัมหมัด อัล-เคาะฏีบ สำนักพิมพ์อัล-อักศอ, อัมมาน

    - หนังสือดิรอสาต ฟี อัล-ฟิร็อก, โดย ดร.ศอบิร ฏุอัยมะฮฺ สำนักพิมพ์อัล-มะอาริฟ, ริยาด ฮ.ศ.1401 / ค.ศ.1981

    - หนังสือ Opera Minora โดยนักบูรพาคดี Louis Massignon, เบรุต, ค.ศ.1963

    ที่มาของบทความ

    http://www.saaid.net/feraq/mthahb/35.htm

    จากหนังสือ อัล-เมาสูอะฮฺ อัล-มุยัสสะเราะฮฺ ฟี อัล-อัดยาน วะ อัล-มะษาฮิบ โดยสภายุวมุสลิมโล