×
เป็นโอวาทบางประการสำหรับสตรีมุสลิม ซึ่งในอิสลามถือว่าสตรีหน้าที่และความรับผิดชอบที่เท่าเทียมกับบุรุษ จึงจำเป็นที่นางจะต้องเรียนรู้หน้าที่ต่างๆ ตามสภาพความเป็นจริงและธรรมชาติของผู้หญิงที่อัลลอฮฺได้กำหนดไว้อย่างเหมาะสมกับแต่ละเพศ จากหนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ โดย ดร.อะมีน อัช-ชะกอวีย์

    คำชี้แนะแด่สตรีทั้งหลาย

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ

    ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

    ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ

    2012 - 1433

    ﴿كلمة توجيهية للمرأة

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبدالله الشقاوي

    ترجمة: حسنى فوانجسيري

    مراجعة: عصران نيومديشا

    المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة

    2012 - 1433

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    เรื่องที่ 126

    คำชี้แนะแด่สตรีทั้งหลาย

    มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ขอความสุข ความจำเริญและความศานติจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่านโดยทั่วกัน ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่า มุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

    อัลลลอฮ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ إِنَّ ٱلۡمُسۡلِمِينَ وَٱلۡمُسۡلِمَٰتِ وَٱلۡمُؤۡمِنِينَ وَٱلۡمُؤۡمِنَٰتِ وَٱلۡقَٰنِتِينَ وَٱلۡقَٰنِتَٰتِ وَٱلصَّٰدِقِينَ وَٱلصَّٰدِقَٰتِ وَٱلصَّٰبِرِينَ وَٱلصَّٰبِرَٰتِ وَٱلۡخَٰشِعِينَ وَٱلۡخَٰشِعَٰتِ وَٱلۡمُتَصَدِّقِينَ وَٱلۡمُتَصَدِّقَٰتِ وَٱلصَّٰٓئِمِينَ وَٱلصَّٰٓئِمَٰتِ وَٱلۡحَٰفِظِينَ فُرُوجَهُمۡ وَٱلۡحَٰفِظَٰتِ وَٱلذَّٰكِرِينَ ٱللَّهَ كَثِيرٗا وَٱلذَّٰكِرَٰتِ أَعَدَّ ٱللَّهُ لَهُم مَّغۡفِرَةٗ وَأَجۡرًا عَظِيمٗا ٣٥ ﴾ [الأحزاب : ٣٥]

    ความว่า: "แท้จริง บรรดาผู้นอบน้อมชายและหญิง บรรดาผู้ศรัทธาชายและหญิง บรรดาผู้ภักดีชายและหญิง บรรดาผู้สัตย์จริงชายและหญิง บรรดาผู้อดทนชายและหญิง บรรดาผู้ถ่อมตัวชายและหญิง บรรดาผู้บริจาคทานชายและหญิงบรรดาผู้ถือศีลอดชายและหญิง บรรดาผู้รักษาอวัยวะเพศของพวกเขาที่เป็นชายและหญิง บรรดาผู้รำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมากที่เป็นชายและหญิงนั้น อัลลอฮฺจะทรงเตรียมไว้แก่พวกเขาซึ่งการอภัยโทษและผลบุญอันมหาศาล" (อัล-อะหฺซาบ: 35)

    อัต-ติรมิซียฺ บันทึกรายงานในหนังสือสุนันของท่านจากอุมมุ อัมมาเราะฮฺ อัล-อันศอริยะฮฺ เล่าว่านางได้เข้าพบท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วกล่าวว่า: "ดิฉันรู้สึกว่าทุกๆอย่างล้วนเกี่ยวกับบุรุษทั้งสิ้น แทบไม่เห็นสตรีถูกกล่าวถึงเลย" อายะฮฺนี้จึงถูกประทานลงมา ﴿ إِنَّ ٱلۡمُسۡلِمِينَ وَٱلۡمُسۡلِمَٰتِ

    และที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือคำสั่งเสียบางส่วนสำหรับพี่น้องมุสลิมะฮฺทั้งหลาย ขออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทรงให้สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ด้วยเถิด อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ وَٱلۡمُؤۡمِنُونَ وَٱلۡمُؤۡمِنَٰتُ بَعۡضُهُمۡ أَوۡلِيَآءُ بَعۡضٖۚ يَأۡمُرُونَ بِٱلۡمَعۡرُوفِ وَيَنۡهَوۡنَ عَنِ ٱلۡمُنكَرِ وَيُقِيمُونَ ٱلصَّلَوٰةَ وَيُؤۡتُونَ ٱلزَّكَوٰةَ وَيُطِيعُونَ ٱللَّهَ وَرَسُولَهُۥٓۚ أُوْلَٰٓئِكَ سَيَرۡحَمُهُمُ ٱللَّهُۗ إِنَّ ٱللَّهَ عَزِيزٌ حَكِيمٞ ٧١ ﴾ [التوبة: ٧١]

    ความว่า “และบรรดามุอ์มินชาย และบรรดามุอ์มินหญิงนั้น บางส่วนของพวกเขาต่างเป็นผู้ช่วยเหลืออีกบางส่วน ซึ่งพวกเขาจะกำชับใช้ให้ปฏิบัติในสิ่งที่ชอบและห้ามปรามในสิ่งที่ไม่ชอบ และพวกเขาจะดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและจ่ายซะกาต และภักดีต่ออัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์ ชนเหล่านี้แหละ อัลลอฮฺจะทรงเอ็นดูเมตตาพวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัต-เตาบะฮฺ: 71)

    คำสั่งเสียข้อแรก : ให้ยึดมั่นในเอกภาพของพระองค์อัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา และพึงระวังในเรื่องการทำชิริก (การตั้งภาคี)

    อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ لَآ إِكۡرَاهَ فِي ٱلدِّينِۖ قَد تَّبَيَّنَ ٱلرُّشۡدُ مِنَ ٱلۡغَيِّۚ فَمَن يَكۡفُرۡ بِٱلطَّٰغُوتِ وَيُؤۡمِنۢ بِٱللَّهِ فَقَدِ ٱسۡتَمۡسَكَ بِٱلۡعُرۡوَةِ ٱلۡوُثۡقَىٰ لَا ٱنفِصَامَ لَهَاۗ وَٱللَّهُ سَمِيعٌ عَلِيمٌ ٢٥٦ ﴾ [البقرة: ٢٥٦]

    ความว่า “ไม่มีการบังคับใด (ให้นับถือ) ในศาสนาอิสลาม แน่นอนความถูกต้องนั้นได้เป็นที่กระจ่างแจ้งแล้วจากความผิด ดังนั้นผู้ใดปฏิเสธศรัทธาต่อ อัฎ-ฎอฆูต และศรัทธาต่ออัลลอฮฺแล้ว แน่นอนเขาได้ยึดห่วงอันมั่นคงไว้แล้ว โดยไม่มีการขาดใดๆเกิดขึ้นแก่มัน และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 256)

    และตรัสอีกว่า

    ﴿ ۞وَمَن يُسۡلِمۡ وَجۡهَهُۥٓ إِلَى ٱللَّهِ وَهُوَ مُحۡسِنٞ فَقَدِ ٱسۡتَمۡسَكَ بِٱلۡعُرۡوَةِ ٱلۡوُثۡقَىٰۗ وَإِلَى ٱللَّهِ عَٰقِبَةُ ٱلۡأُمُورِ ٢٢ ﴾ [لقمان: ٢٢]

    ความว่า "และผู้ใดยอมนอบน้อมใบหน้าของเขายังอัลลอฮฺ โดยที่เขาเป็นผู้กระทำดี แน่นอนเขาได้ยึดห่วงอันมั่นคงไว้แล้ว และบั้นปลายของกิจการทั้งหลายย่อมกลับไปหาอัลลอฮฺ" (ลุกมาน: 22)

    ชัยคุลอิสลาม มุหัมมัด บิน อับดุลวะฮาบ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า สองสิ่งที่ยิ่งใหญ่อันเป็นพื้นฐานหลักของอิสลามคือ:

    ประการที่หนึ่ง คำสั่งใช้ให้เคารพอิบาดะฮฺต่อพระองค์อัลลอฮฺ ตะอาลา เพียงพระองค์เดียว โดยปราศจากการชิริก และผู้ใดที่ละทิ้งคำสั่งใช้นี้ ถือเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา

    อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ قُلۡ يَٰٓأَهۡلَ ٱلۡكِتَٰبِ تَعَالَوۡاْ إِلَىٰ كَلِمَةٖ سَوَآءِۢ بَيۡنَنَا وَبَيۡنَكُمۡ أَلَّا نَعۡبُدَ إِلَّا ٱللَّهَ وَلَا نُشۡرِكَ بِهِۦ شَيۡ‍ٔٗا وَلَا يَتَّخِذَ بَعۡضُنَا بَعۡضًا أَرۡبَابٗا مِّن دُونِ ٱللَّهِۚ فَإِن تَوَلَّوۡاْ فَقُولُواْ ٱشۡهَدُواْ بِأَنَّا مُسۡلِمُونَ ٦٤ ﴾ [آل عمران: ٦٤]

    ความว่า "จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) ว่า โอ้บรรดาผู้ได้รับคัมภีร์! จงมายังถ้อยคำหนึ่งซึ่งเท่าเทียมกันระหว่างเราและพวกท่าน คือว่าเราจะไม่เคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺ และเราจะไม่ให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นภาคีเทียบเคียงพระองค์ และพวกเราบางคนก็จะไม่ยึดถืออีกบางคนเป็นพระเจ้าอื่นจากอัลลอฮฺ แล้วหากพวกเขาหันหลังให้ ก็จงกล่าวเถิดว่า พวกท่านจงเป็นพยานด้วยว่า แท้จริงพวกเราเป็นผู้น้อมตาม" (อาล อิมรอน: 64)

    อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงสั่งใช้ให้บรรดานบีของพระองค์ เรียกร้องเชิญชวนชาวคัมภีร์ด้วยสิ่งที่ท่านเชิญชวนชาวอาหรับและชนอื่นๆ นั่นคือการเข้าใจความหมายของคำว่า "ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ" (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ) ซึ่งหมายความว่า ไม่มีผู้ใดพึงได้รับการเคารพภักดีอย่างถูกต้องแท้จริงนอกจากอัลลอฮฺ ดังนั้น การขอดุอาอ์ การวิงวอนขอความช่วยเหลือ การเชือดสัตว์พลี การสาบาน หรืออิบาดะฮฺอื่นใด จึงต้องกระทำและเป็นไปเพื่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา แต่เพียงพระองค์เดียว และนี่คือแก่นแท้แห่งการเรียกร้องเชิญชวนของศาสนทูตทุกท่าน

    ประการที่สอง การเตือนสำทับและเน้นย้ำให้พึงระวังในเรื่องการชิริกในการทำอิบาดะฮฺ และถือว่าผู้กระทำการดังกล่าวตกเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา เพราะการให้เอกภาพนั้นมิอาจสมบูรณ์ได้หากขาดส่วนนี้ไป เช่นนี้คือแนวปฏิบัติของบรรดาเราะสูล พวกท่านได้เตือนประชาชาติของพวกท่านให้หลีกห่างจากการตั้งภาคี ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสว่า

    ﴿ وَلَقَدۡ بَعَثۡنَا فِي كُلِّ أُمَّةٖ رَّسُولًا أَنِ ٱعۡبُدُواْ ٱللَّهَ وَٱجۡتَنِبُواْ ٱلطَّٰغُوتَۖ﴾ [النحل: ٣٦]

    ความว่า "และโดยแน่นอน เราได้ส่งเราะสูลมาในทุกประชาชาติ (โดยบัญชาว่า): พวกท่านจงเคารพภักดีอัลลอฮฺ และจงหลีกหนีให้ห่างจากพวกเจว็ด" (อัน-นะหฺล์: 36)

    ผู้ที่ทำชิริกไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ อัลลอฮฺจะไม่ทรงรับการงานของเขาอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการงานที่เป็นฟัรฎูหรือที่เป็นสุนัตก็ตาม อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ وَقَدِمۡنَآ إِلَىٰ مَا عَمِلُواْ مِنۡ عَمَلٖ فَجَعَلۡنَٰهُ هَبَآءٗ مَّنثُورًا ٢٣ ﴾ [الفرقان: ٢٣]

    ความว่า "และเรามุ่งสู่ส่วนหนึ่งของการงานที่พวกเขาได้ปฏิบัติไป แล้วเราจะทำให้มันไร้คุณค่ากลายเป็นละอองฝุ่นที่ปลิวว่อน" (อัล-ฟุรกอน: 23)

    และสิ่งหนึ่งที่เป็นภัยคุกคามอันน่าวิตกยิ่งต่อประชาชาติของเราก็คือ บรรดาช่องดาวเทียมและสื่อต่างๆที่มักนำเสนอโฆษณาชวนเชื่อผิดๆ โดยมุ่งหวังจะสร้างความสับสนแก่พี่น้องมุสลิมต่อศาสนาของพวกเขา และชักนำพวกเขาด้วยวิธีการอันแยบยลสู่การหลุดพ้นจากกรอบศาสนา ดังนั้น จึงพึงระวังเป็นอย่างยิ่ง และนี่คืออันตรายประการแรก

    ส่วนอันตรายประการที่สองนั้น ก็คือการที่ไสยศาสตร์และการดูหมอแพร่หลายเป็นอย่างมากในปัจจุบัน โดยมีผู้แวะเวียนใช้บริการสิ่งเหล่านี้เป็นจำนวนมาก โดยให้อ้างว่าเพื่อเป็นการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งนี้ อิสลามไม่อนุญาตให้มุสลิมะฮฺไปหาผู้ที่ทำคุณไสยพวกนั้นซึ่งอ้างตัวว่ารู้ในสิ่งเร้นลับ เพื่อสอบถามถึงโรคภัยที่นางเผชิญอยู่ และไม่อนุญาตให้พวกนางเชื่อในสิ่งที่พวกเขาบอกนาง เพราะแท้จริงแล้วพวกเขาเพียงกล่าวอ้างในสิ่งที่เร้นลับ หรืออาจขอความช่วยเหลือจากญินเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่พวกเขาต้องการ คนกลุ่มนี้ถือเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาและหลงผิดอย่างชัดแจ้งหากพวกเขาอ้างว่ารู้ในสิ่งเร้นลับ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    « مَنْ أَتَى عرّافاً، فَسَأَلَهُ عَنْ شَيْءٍ لَمْ تُقْبَلْ لَهُ صَلاةٌ أَرْبَعِيْنَ لَيْلَةً» [مسلم برقم 2230]

    ความว่า "ผู้ใดหาหมอดูเพื่อถามถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด ละหมาดของเขาจะไม่ถูกรับเป็นเวลาสี่สิบคืน" (มุสลิม หะดีษเลขที่ 2230)

    คำสั่งเสียประการที่สอง จงดำรงละหมาดให้ครบสมบูรณ์ซึ่งองค์ประกอบ เงื่อนไข และสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติ อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ حَٰفِظُواْ عَلَى ٱلصَّلَوَٰتِ وَٱلصَّلَوٰةِ ٱلۡوُسۡطَىٰ وَقُومُواْ لِلَّهِ قَٰنِتِينَ ٢٣٨ ﴾ [البقرة: ٢٣٨]

    ความว่า "พวกเจ้าจงรักษาบรรดาละหมาด และละหมาดที่อยู่กึ่งกลางไว้ และจงยืนละหมาดโดยนอบน้อม เพื่ออัลลอฮฺ" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 238)

    การละหมาดคือสิ่งแรกที่มนุษย์จะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ อัฏ-เฏาะบะรอนียฺ บันทึกในอัล-เอาสัฏ จากอับดุลลอฮฺ บิน กุรฏฺ เล่าว่า ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «أَوَّلُ مَا يُحَاسَبُ بِهِ الْعَبْدُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ الصَّلَاةُ ، فَإِنْ صَلَحَتْ صَلَحَ لَهُ سَائِرُ عَمَلِهِ ، وَإِنْ فَسَدَتْ فَسَدَ سَائِرُ عَمَلِه» [الطبراني في الأوسط برقم 1859، وصححه الألباني في السلسلة الصحيحة برقم 1358]

    ความว่า “สิ่งแรกที่บ่าวจะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ คือการละหมาด หากว่าการละหมาดของเขาถูกต้องสมบูรณ์ การงานอื่นๆก็จะถูกต้องสมบูรณ์ด้วย แต่หากว่าการละหมาดขาดตกบกพร่อง การงานอื่นๆก็จะขาดตกบกพร่องไปด้วย” (หะดีษเลขที่ 1859 และเชคอัล-อัลบานียฺ วินิจฉัยในหนังสืออัส-สิลสิละฮฺ อัศ-เศาะฮีหะฮฺ เลขที่ 1358 ว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)

    คำสั่งเสียท้ายๆข้อหนึ่งของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตท่านกล่าวว่า

    «الصَلاةَ، الصَلاةَ، وَمَا مَلَكَتْ أَيْمَانُكُم» [ابن ماجه برقم 2697]

    ความว่า "พวกท่านจงให้ความสำคัญกับการละหมาด และสิ่งที่มือขวาของท่านถือครองเถิด" (อิบนุ มาญะฮฺ หะดีษเลขที่ 2697)

    อบู ดาวูดบันทึกในหนังสือสุนันของท่านจากรายงานของอุบาดะฮฺ บิน อัศศอมิต เล่าว่า: ฉันได้ยินท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

    «خَمْسُ صَلَوَاتٍ كَتَبَهُنَّ اللَّهُ عَلَى الْعِبَادِ ، فَمَنْ جَاءَ بِهِنَّ لَمْ يُضَيِّعْ مِنْهُنَّ شَيْئًا اسْتِخْفَافًا بِحَقِّهِنَّ ، كَانَ لَهُ عِنْدَ اللَّهِ عَهْدٌ أَنْ يُدْخِلَهُ الْجَنَّةَ ، وَمَنْ لَمْ يَأْتِ بِهِنَّ فَلَيْسَ لَهُ عِنْدَ اللَّهِ عَهْدٌ ، إِنْ شَاءَ عَذَّبَهُ ، وَإِنْ شَاءَ أَدْخَلَهُ الْجَنَّةَ» [أبو داود برقم 1420]

    ความว่า "อัลลอฮฺทรงบัญชาให้ปวงบ่าวทำละหมาดห้าเวลา ดังนั้น ผู้ใดปฏิบัติได้ครบถ้วนโดยไม่มีการขาดตกบกพร่องอันเกิดจากความไม่ใส่ใจ อัลลอฮฺทรงให้สัญญาว่าพระองค์จะให้เขาได้เข้าสู่สรวงสวรรค์ แต่ถ้าหากผู้ใดไม่ปฏิบัติ เขาก็จะไม่ได้รับคำสัญญาใดๆจากอัลลอฮฺ หากพระองค์ประสงค์ก็จะทรงลงโทษเขา และหากพระองค์ประสงค์ก็จะให้เขาได้เข้าสวรรค์" (หะดีษเลขที่ 1420)

    บรรดามุสลิมะฮฺทั้งหลายพึงรู้ไว้เถิดว่า ศาสนาของนางจะไม่สมบูรณ์หากขาดการดำรงไว้ซึ่งหลักการอิสลามทั้งห้าข้อ ท่านอิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «بُنِيَ الإسْلامُ عَلى خَمْسٍ: شَهَادَة أنْ لا إلهَ إلا اللهُ، وَأَنَّ مُحَمَّداً رَسُوْلُ اللهِ، وَإقام الصلاةِ، وَإيْتَاء الزَكاةِ، وَصَوْم رَمَضَان، وَحجُّ البَيْتِ» [البخاري برقم 8، ومسلم برقم 16]

    ความว่า "ศาสนาอิสลามถูกก่อตั้งไว้บนรากฐานห้าประการ นั่นคือการปฏิญาณว่าไม่มีผู้ใดควรแก่การได้รับการสักการะนอกจากอัลลอฮฺ และมุหัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์ การดำรงการละหมาด การจ่ายซะกาต การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน และการประกอบพิธีหัจญ์" (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 8 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 16)

    คำสั่งเสียข้อที่สาม: จงหมั่นศึกษาหาความรู้ในเรื่องศาสนา อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ قُلۡ هَلۡ يَسۡتَوِي ٱلَّذِينَ يَعۡلَمُونَ وَٱلَّذِينَ لَا يَعۡلَمُونَۗ إِنَّمَا يَتَذَكَّرُ أُوْلُواْ ٱلۡأَلۡبَٰبِ ﴾ [الزمر: ٩]

    ความว่า "จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) บรรดาผู้รู้และบรรดาผู้ไม่รู้จะเท่าเทียมกันหรือ แท้จริงบรรดาผู้มีสติปัญญาเท่านั้นที่จะใคร่ครวญ" (อัซซุมัรฺ: 9)

    ท่านมุอาวิยะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

    «مَنْ يُرِدِ اللهُ بِهِ خَيْراً يُفَقِّهْهُ في الدِيْنُ» [البخاري برقم 3116، ومسلم برقم 1037]

    ความว่า "ผู้ใดที่อัลลอฮฺประสงค์ให้เกิดความดีแก่เขา พระองค์จะทรงให้เขาเข้าใจศาสนา" (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 3116 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1037)

    ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่มุสลิมะฮฺจะต้องพยายามศึกษาหาความรู้ในเรื่องศาสนา เช่น การเข้าร่วมรับฟังการบรรยายศาสนธรรม การฟังเทปซีดีหรืออ่านหนังสือที่มีประโยชน์ และที่สำคัญที่สุด คือการท่องจำอัลกุรอาน เพราะอัลกุรอานนั้นคือหัวใจหลักของทุกสิ่ง และเป็นแหล่งรวมความรู้และวิทยปัญญา ที่จะช่วยให้นางนั้นรอดพ้นจากความหลงผิด ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า: "บรรดาสตรีชาวอันศอรฺช่างน่าชื่นชมยิ่ง ความเขินอายมิได้เป็นอุปสรรคทำให้พวกนางกลัวที่จะถามเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาของพวกนางเลย"

    คำสั่งเสียข้อที่สี่: จงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เพราะการยำเกรงต่ออัลลอฮฺนั้น คือคำสั่งเสียของพระองค์แก่ชนรุ่นแรกและรุ่นหลัง

    อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ وَلَقَدۡ وَصَّيۡنَا ٱلَّذِينَ أُوتُواْ ٱلۡكِتَٰبَ مِن قَبۡلِكُمۡ وَإِيَّاكُمۡ أَنِ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَۚ ﴾ [النساء : ١٣١]

    ความว่า "และแท้จริงเราได้สั่งเสียไว้แก่บรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ก่อนจากพวกเจ้า และพวกเจ้าด้วย ว่าจงยำเกรง อัลลอฮฺเถิด" (อัน-นิสาอ์: 131)

    หลายต่อหลายครั้งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สั่งเสียบรรดาเศาะหาบะฮฺให้ยำเกรงอัลลอฮฺ ท่านอัล-อิรบาฎ บิน สาริยะฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

    «أوْصِيْكُم بِتَقْوى اللهِ والسَمْعِ والطاعَةِ» [الترمذي برقم 2676]

    ความว่า "ฉันขอสั่งเสียพวกท่านให้มีความยำเกรงอัลลอฮฺ และเชื่อฟังปฏิบัติตาม" (อัต-ติรมิซีย์ หะดีษเลขที่ 2676)

    และพึงระวังการฝ่าฝืน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นบาปเล็กหรือบาปใหญ่ก็ตาม อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงสัญญาว่าผู้ใดหลีกห่างจากบรรดาบาปใหญ่ พระองค์จะทรงลบล้างความผิดเล็กๆน้อยๆให้ และให้เขาได้เข้าไปอยู่ในสถานที่อันมีเกียรติ อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ إِن تَجۡتَنِبُواْ كَبَآئِرَ مَا تُنۡهَوۡنَ عَنۡهُ نُكَفِّرۡ عَنكُمۡ سَيِّ‍َٔاتِكُمۡ وَنُدۡخِلۡكُم مُّدۡخَلٗا كَرِيمٗا ٣١ ﴾ [النساء : ٣١]

    ความว่า "หากพวกเจ้าปลีกตัวออกจากบรรดาบาปใหญ่ที่พวกเจ้าถูกห้ามให้ละเว้นแล้ว เราก็จะลบล้างบรรดาความผิดเล็กๆน้อยๆของพวกเจ้า และเราจะให้พวกเจ้าเข้าอยู่ในสถานที่อันมีเกียรติ" (อัน-นิสาอ์: 31)

    คำสั่งเสียข้อที่ห้า: จงกำชับใช้ให้ปฏิบัติในสิ่งที่ดี และห้ามปรามในสิ่งที่ผิด อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ يَٰنِسَآءَ ٱلنَّبِيِّ لَسۡتُنَّ كَأَحَدٖ مِّنَ ٱلنِّسَآءِ إِنِ ٱتَّقَيۡتُنَّۚ فَلَا تَخۡضَعۡنَ بِٱلۡقَوۡلِ فَيَطۡمَعَ ٱلَّذِي فِي قَلۡبِهِۦ مَرَضٞ وَقُلۡنَ قَوۡلٗا مَّعۡرُوفٗا ٣٢ ﴾ [الاحزاب : ٣٢]

    ความว่า "โอ้บรรดาภริยาของนบีเอ๋ย! พวกเธอไม่เหมือนกับสตรีใดๆ หากพวกเธอมีความยำเกรง ก็ไม่ควรพูดจาเพราะพริ้งนัก เพราะจะทำให้ผู้ที่ในหัวใจของเขามีโรคเกิดความโลภ แต่จงพูดด้วยถ้อยคำที่พอเหมาะพอควร" (อัล-อะหฺซาบ: 32)

    อายะฮฺนี้ได้ถูกประทานลงมายังบรรดาภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพื่อเป็นการดูแลคุ้มครองพวกนาง โดยครอบคลุมบรรดาภรรยาของผู้ศรัทธาด้วยเช่นกัน อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ وَٱلۡمُؤۡمِنُونَ وَٱلۡمُؤۡمِنَٰتُ بَعۡضُهُمۡ أَوۡلِيَآءُ بَعۡضٖۚ يَأۡمُرُونَ بِٱلۡمَعۡرُوفِ وَيَنۡهَوۡنَ عَنِ ٱلۡمُنكَرِ وَيُقِيمُونَ ٱلصَّلَوٰةَ وَيُؤۡتُونَ ٱلزَّكَوٰةَ وَيُطِيعُونَ ٱللَّهَ وَرَسُولَهُۥٓۚ أُوْلَٰٓئِكَ سَيَرۡحَمُهُمُ ٱللَّهُۗ إِنَّ ٱللَّهَ عَزِيزٌ حَكِيمٞ ٧١ ﴾ [التوبة: ٧١]

    ความว่า “และบรรดามุอ์มินชาย และบรรดามุอ์มินหญิงนั้น บางส่วนของพวกเขาต่างเป็นผู้ช่วยเหลืออีกบางส่วน ซึ่งพวกเขาจะใช้ให้ปฏิบัติในสิ่งที่ชอบและห้ามปรามในสิ่งที่ไม่ชอบ และพวกเขาจะดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและจ่ายซะกาต และภักดีต่ออัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์ ชนเหล่านี้แหละ อัลลอฮฺจะทรงเอ็นดูเมตตาพวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัต-เตาบะฮฺ : 71)

    จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมุสลิมะฮฺที่จะต้องระวังรักษาคุณลักษณะที่ดีงามเหล่านี้ไว้ โดยเฉพาะขณะที่อยู่ในบ้านของนาง กับลูกๆหรือญาติพี่น้องของนาง และเมื่อนางเห็นพี่น้องมุสลิมะฮฺคนใดบกพร่องในเรื่องการละหมาด การถือศีลอด หรือแม้แต่เรื่องสิทธิและหน้าที่ของสามีภรรยา ก็จำเป็นที่นางจะต้องคอยตักเตือนด้วยคำพูดที่ดี ที่ไพเราะ ตามแบบฉบับของภรรยาเศาะหาบะฮฺ

    คำสั่งเสียข้อที่หก: จงมีของความเขินอาย อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสถึงเรื่องราวของท่านนบีมูซา อะลัยฮิสสลาม ซึ่งช่วยตักน้ำจากบ่อให้สตรีสองคน ว่า

    ﴿ فَجَآءَتۡهُ إِحۡدَىٰهُمَا تَمۡشِي عَلَى ٱسۡتِحۡيَآءٖ قَالَتۡ إِنَّ أَبِي يَدۡعُوكَ لِيَجۡزِيَكَ أَجۡرَ مَا سَقَيۡتَ لَنَاۚ ﴾ [القصص: ٢٥]

    ความว่า "นางคนหนึ่งในสองคนได้มาหาเขา โดยเดินมาอย่างขวยเขิน แล้วกล่าวขึ้นว่า คุณพ่อของดิฉันขอเชิญท่านไป เพื่อจะตอบแทนค่าแรงแก่ท่านที่ได้ช่วยตักน้ำให้เรา” (อัล-เกาะศ็อศ: 25)

    เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่าในสังคมปัจจุบัน ความเขินอายของสตรีนั้นได้ลดน้อยลงเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการที่นางกล้าที่จะออกไปไหนมาไหนกับคนขับรถเพียงลำพัง หรือสวมเสื้อผ้าที่รัดรูปหรือเผยให้เห็นสัดส่วน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

    «صِنْفَانِ مِنْ أَهْلِ النَارِ لَمْ أَرَهُمَا... وذكر أحدهما : نِسَاءٌ كَاسِيَاتٌ عَارِيَاتٌ مُمِيْلاتٌ مَائِلاتٌ رُؤُوْسُهُنَّ كَأَسْنِمَةِ البُخْتِ المائِلَةِ لا يَدْخُلْنَ الجَنَّةَ وَلا يَجِدْنَ رِيْحَهَا وَإِنَّ رِيْحَهَا لَتُوْجَدُ مِنْ مَسِيْرَةِ كَذا وَكَذا» [مسلم برقم 2128]

    ความว่า "มีชาวนรกสองจำพวกซึ่งฉันยังไม่เคยเห็นมาก่อน.. หนึ่งในสองจำพวกที่ท่านกล่าวถึงก็คือ: บรรดาสตรีซึ่งแต่งกายไม่ปกปิดมิดชิด เน้นสัดส่วนที่ดึงดูดความสนใจ ศีรษะของพวกนางเหมือนตะโหนกอูฐที่โน้มเอียง พวกนางเหล่านั้นจะไม่ได้เข้าสวรรค์ และพวกนางจะไม่ได้รับรู้กลิ่นของสรวงสวรรค์ ทั้งที่กลิ่นของมันหอมฟุ้งโชยขจรไปเป็นระยะทางไกลแสนไกล" (มุสลิม หะดีษเลขที่ 2128)

    จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมุสลิมะฮฺที่จะต้องตระหนักถึงเป้าประสงค์ของบรรดาศัตรูอัลลอฮฺ ผู้ซึ่งหมายมุ่งให้พวกนางเป็นเพียงสินค้าราถูกในเงื้อมมือของพวกเขา ทำให้นางออกห่างจากกรอบแห่งศรัทธาและศาสนาอันดีงาม ฝืนฝ่าสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้ในกมลสันดานอันบริสุทธิ์

    คำสั่งเสียข้อที่เจ็ด: จงบริจาคทานให้มาก อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ ۞لَّا خَيۡرَ فِي كَثِيرٖ مِّن نَّجۡوَىٰهُمۡ إِلَّا مَنۡ أَمَرَ بِصَدَقَةٍ أَوۡ مَعۡرُوفٍ أَوۡ إِصۡلَٰحِۢ بَيۡنَ ٱلنَّاسِۚ وَمَن يَفۡعَلۡ ذَٰلِكَ ٱبۡتِغَآءَ مَرۡضَاتِ ٱللَّهِ فَسَوۡفَ نُؤۡتِيهِ أَجۡرًا عَظِيمٗا ١١٤ ﴾ [النساء : ١١٤]

    ความว่า "ไม่มีความดีใดๆ ในการพูดคุยซุบซิบอันมากมายของพวกเขา นอกจากผู้ที่ใช้ให้ทำทานหรือให้ทำสิ่งที่ดีงาม หรือให้ประนีประนอมระหว่างผู้คนเท่านั้น และผู้ใดกระทำการดังกล่าวเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺแล้ว เราจะให้แก่เขาซึ่งรางวัลอันใหญ่หลวง" (อัน-นิสาอ์: 114)

    และตรัสอีกว่า

    ﴿ قُلۡ إِنَّ رَبِّي يَبۡسُطُ ٱلرِّزۡقَ لِمَن يَشَآءُ مِنۡ عِبَادِهِۦ وَيَقۡدِرُ لَهُۥۚ وَمَآ أَنفَقۡتُم مِّن شَيۡءٖ فَهُوَ يُخۡلِفُهُۥۖ وَهُوَ خَيۡرُ ٱلرَّٰزِقِينَ ٣٩ ﴾ [سبأ : ٣٩]

    ความว่า "จงกล่าวเถิด แท้จริงพระเจ้าของฉันทรงมอบปัจจัยยังชีพอย่างมากมายหรือน้อยนิดแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์จากปวงบ่าวของพระองค์ และสิ่งใดก็ดีที่พวกเจ้าจับจ่ายบริจาคไป พระองค์จะให้สิ่งทดแทน และพระองค์นั้นทรงเป็นผู้ดีเลิศแห่งบรรดาผู้ประทานปัจจัยยังชีพ" (สะบะอ์: 39)

    ท่านญาบิร บิน อับดิลลาฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยกล่าวตักเตือนบรรดาสตรีว่า:

    «أَكْثِرْنَ مِن الصَدَقَةِ، فَإِنَّ أَكْثَرَكُنَّ حَطَبُ جَهَنَّم» [مسلم برقم 885]

    ความว่า "พวกเธอจงบริจาคทานให้มากเถิด เพราะแท้จริงแล้วพวกเธอ(สตรี)ส่วนใหญ่จะเป็นฟืนในนรกญะฮันนัม" (มุสลิม หะดีษเลขที่ 885)

    อิบนุลก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า "การให้และการบริจาคทานนั้น เป็นสิ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โปรดปรานที่สุด ความเบิกบานใจของท่านขณะที่เป็นผู้ให้นั้น ยิ่งใหญ่กว่าความปีติยินดีของผู้รับเสียอีก ท่านเป็นผู้ที่ใจบุญอย่างหาที่เปรียบมิได้ เมื่อมีผู้ขัดสนมาขอสิ่งใดจากท่าน ท่านก็พร้อมที่จะเสียสละให้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเครื่องนุ่งห่ม ท่านกำชับใช้และสนับสนุนให้บริจาคทานด้วยคำพูดและการกระทำของท่าน และด้วยผลอันน่าประหลาดของการบริจาคทานนี่เอง ที่ทำให้ท่านเป็นผู้ที่มีจิตใจที่สงบ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ผาสุก" (โดยย่อจากซาดุลมะอาด เล่ม 2 หน้า 22-23)

    การบริจาคทานที่ประเสริฐที่สุด และมีผลให้ผู้กระทำได้รับผลบุญอย่างต่อเนื่องกระทั่งหลังจากที่เขาเสียชีวิตไป ก็คือ การทำเศาะดะเกาะฮฺญารียะห์ (ทานที่ให้ผลต่อเนื่อง) เช่น การขุดบ่อน้ำ การสร้างมัสยิด การจัดพิมพ์หนังสือที่มีประโยชน์ รวมถึงการวะกัฟแก่ผู้ยากจนและขัดสน

    คำสั่งเสียข้อสุดท้าย: จงออกห่างจากเพื่อนที่ไม่ดี เพราะมนุษย์นั้นจะรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งในวันกิยามะฮฺ จากสาเหตุที่เขาคบหาเพื่อนที่ไม่ดี ซึ่งนำพาเขาไปสู่ความหลงผิด และทำให้เขานั้นออกห่างจากทางที่เที่ยงตรงถูกต้อง อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ وَيَوۡمَ يَعَضُّ ٱلظَّالِمُ عَلَىٰ يَدَيۡهِ يَقُولُ يَٰلَيۡتَنِي ٱتَّخَذۡتُ مَعَ ٱلرَّسُولِ سَبِيلٗا ٢٧ يَٰوَيۡلَتَىٰ لَيۡتَنِي لَمۡ أَتَّخِذۡ فُلَانًا خَلِيلٗا ٢٨ لَّقَدۡ أَضَلَّنِي عَنِ ٱلذِّكۡرِ بَعۡدَ إِذۡ جَآءَنِيۗ وَكَانَ ٱلشَّيۡطَٰنُ لِلۡإِنسَٰنِ خَذُولٗا ٢٩ وَقَالَ ٱلرَّسُولُ يَٰرَبِّ إِنَّ قَوۡمِي ٱتَّخَذُواْ هَٰذَا ٱلۡقُرۡءَانَ مَهۡجُورٗا ٣٠ ﴾ [الفرقان: ٢٧ - ٣٠]

    ความว่า "และวันที่ผู้อธรรมจะกัดมือของเขาแล้วกล่าวว่า: โอ้! ถ้าฉันได้ยึดแนวทางร่วมกับเราะสูลก็คงจะดี โอ้ความวิบัติประสบแก่ฉัน! หากฉันไม่คบคนนั้นเป็นเพื่อนก็คงจะดี แน่นอนเขาได้ทำให้ฉันหลงผิดจากการตักเตือน หลังจากที่มันได้มันมายังฉัน และชัยฏอนมารร้ายนั้นมันเป็นผู้เหยียดหยามมนุษย์เสมอ และเราะสูลได้กล่าวว่า: ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ แท้จริงชนชาติของข้าพระองค์ได้ยึดเอาอัลกรุอานนี้เป็นที่ทอดทิ้งเสียแล้ว” (อัล-ฟุรกอน: 27-30)

    และตรัสอีกว่า

    ﴿ٱلۡأَخِلَّآءُ يَوۡمَئِذِۢ بَعۡضُهُمۡ لِبَعۡضٍ عَدُوٌّ إِلَّا ٱلۡمُتَّقِينَ ٦٧﴾ [الزخرف: ٦٧]

    ความว่า "ในวันนั้นบรรดามิตรสหายจะเป็นศัตรูต่อกัน นอกจากบรรดาผู้ยำเกรง" (อัซ-ซุครุฟ: 67)

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

    «مَثَلُ الجَلِيْسِ الصَالِحِ وَالسُوْءِ كَحَامِلِ المِسْكِ وَنَافِخِ الكيْر، فَحَامِلُ المِسْكِ إمَّا أَنْ يحْذِيَكَ، وَإِمَّا أَنْ تَبْتَاعَ مِنْهُ، وَإمَّا أَنْ تَجِدَ مِنْهُ رِيْحاً طَيِّبَةً، وَنَافِخُ الكيْرِ إمَّا أَنْ يَحْرِقَ ثِيَابَكَ وَإمَّا أَنْ تَجِدَ مِنْهُ رِيْحاً خَبِيْثَةً» [البخاري برقم 5534، ومسلم برقم 2628]

    ความว่า "เพื่อนที่ดีและเพื่อนที่ไม่ดีนั้น เปรียบได้กับคนขายน้ำหอมและช่างตีเหล็ก กล่าวคือคนขายน้ำหอมนั้น เขาอาจจะมอบน้ำหอมให้แก่ท่าน หรือไม่ท่านก็อาจจะซื้อน้ำหอมจากเขา หรืออย่างน้อยท่านก็คงก็ได้รับกลิ่นหอมจากเขาบ้าง ในขณะที่ช่างตีเหล็กนั้น เขาอาจทำให้เสื้อผ้าของท่านถูกไฟเผาไหม้ หรือไม่ท่านก็อาจพลอยได้กลิ่นอันน่ารังเกียจไปด้วย" (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 5534 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2628)

    เด็กผู้หญิงจำนวนมากที่มีผลการเรียนตกต่ำย่ำแย่ เสียผู้เสียคน เสียชื่อเสียงความมีเกียรติ และถูกชักนำให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด นำมาซึ่งหายนะและความเศร้าสลด โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการคบเพื่อนที่ไม่ดี เพราะเหตุนี้ จึงจำเป็นที่นางจะต้องเลือกคบหาแต่เพื่อนที่ดีมีคุณธรรม

    والحمد لله رب العالمين، وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين.