×
กล่าวถึงข้อผิดพลาดบางประการในการละหมาด อาทิ หลังไม่ยืดตรง การไม่มีสมาธิในอากัปกิริยาในละหมาด การทำอิริยาบทต่างๆ ก่อนอิมามนำละหมาด การลุกขึ้นในร็อกอะฮฺที่ยังเหลือก่อนที่อิมามจะให้สลามครั้งที่สอง การสวมเสื้อผ้ายาวระพื้น จากหนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ โดย ดร.อะมีน อัช-ชะกอวีย์.

    ข้อผิดพลาดในการละหมาด

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : รีมา เพชรทองคำ

    ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

    2012 - 1433

    ﴿ أخطاء في الصلاة ﴾

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبد الله الشقاوي

    ترجمة: ريما بيتونكام

    مراجعة: عصران نيومديشا

    2012 - 1433

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    เรื่องที่ 130

    ข้อผิดพลาดในการละหมาด

    มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ขอความสุข ความจำเริญและความศานติจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่านโดยทั่วกัน ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่า มุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

    แท้จริงการละหมาดนั้นเป็นดั่งเสาหลักของศาสนา เป็นรุก่น(หลักการ)ที่สองของบรรดาหลักการอิสลาม เป็นสิ่งแรกที่มนุษย์จะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ ดังนั้น จำเป็นที่มุสลิมทุกคนจะต้องใส่ใจในวิธีการปฏิบัติละหมาด ให้เสมือนดังที่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ปฏิบัติและชี้แจงลักษณะการละหมาดแก่ประชาติของท่านไว้

    จากรายงานที่บันทึกโดยอิมามอัล-บุคอรีย์ ในเศาะหีหฺของท่าน ซึ่งหะดีษที่รายงานโดยมาลิก บิน อัลหุวัยริษ ว่า ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    )) صَلُّوا كَمَا رَأَيْتُمُونِي أُصَلِّي ((

    ความว่า “พวกท่านจงละหมาดเสมือนดังที่พวกท่านเห็นฉันละหมาด” (หน้า137 / หะดีษเลขที่631)

    ในอัล-เอาสัฏ ซึ่งบันทึกโดยอัฏ-เฏาะบะรอนียฺ จากหะดีษของอับดุลลอฮฺ บิน กุรฏฺ เล่าว่า ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    )) أَوَّلُ مَا يُحَاسَبُ بِهِ الْعَبْدُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ الصَّلَاةُ ، فَإِنْ صَلَحَتْ صَلَحَ لَهُ سَائِرُ عَمَلِهِ ، وَإِنْ فَسَدَتْ فَسَدَ سَائِرُ عَمَلِه ((

    ความว่า “สิ่งแรกที่บ่าวจะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ คือการละหมาด หากว่าการละหมาดนั้นถูกต้องสมบูรณ์ การงานอื่นๆก็จะถูกต้องสมบูรณ์ด้วย แต่หากว่าการละหมาดขาดตกบกพร่อง การงานอื่นๆก็จะขาดตกบกพร่องไปด้วย” (เล่ม2 หน้า240 / หะดีษเลขที่1859 และเชคอัล-อัลบานียฺ วินิจฉัยในหนังสืออัส-สิลสิละฮฺ อัศ-เศาะหีหะฮฺ เลขที่1358 ว่าเป็นหะดีษเศาะหีหฺ)

    ข้อผิดพลาด ข้อบกพร่องบางประการที่พบบ่อยๆ ในการปฏิบัติละหมาด ซึ่งเมื่อเห็นข้อผิดพลาด ข้อบกพร่องใดก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องตักเตือนกัน นั่นก็คือ

    ประการแรก การที่กระดูกสันหลังไม่ยืดตรงในการรุกัวอฺหรือสุญูด ซึ่งมีรายงานที่บันทึกโดยอิมามอะห์มัด ในหนังสือมุสนัดของท่าน จากหะดีษที่รายงานโดยอบีมัสอูด ว่า ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    )) لَا تُجْزِئُ صَلَاةٌ لِأَحَدٍ لَا يُقِيمُ فِيهَا ظَهْرَهُ فِي الرُّكُوعِ وَالسُّجُودِ ((

    ความว่า “การละหมาดของผู้หนึ่งผู้ใดที่หลังของเขาไม่ตรงในเวลารุกัวอฺและสุญูด จะใช้ไม่ได้” (เล่ม 4 / หน้า 122)

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เปรียบการละหมาดของผู้ที่หลังของเขาไม่ตรงในเวลารุกัวอฺและสุญูดว่าเป็นการขโมยละหมาด โดยถือว่าการขโมยละหมาดเป็นความชั่วช้ากว่าการขโมยทรัพย์สินเงินทองเสียอีก ดังหะดีษที่บันทึกโดยอิมามอะห์มัด ในหนังสือมุสนัดของท่าน ซึ่งรายงานจากอบีเกาะตาดะห์ เล่าว่า ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    )) أَسْوَأُ النَّاسِ سَرِقَةً الَّذِي يَسْرِقُ مِنْ صَلَاتِهِ ((قَالُوا: يَا رَسُولَ اللَّهِ ، وَكَيْفَ يَسْرِقُ مِنْ صَلَاتِهِ ؟ قَالَ: ))لَا يُتِمُّ رُكُوعَهَا وَلَا سُجُودَهَا (( أَوْ قَالَ: )) لَا يُقِيمُ صُلْبَهُ فِي الرُّكُوعِ وَالسُّجُود ((

    ความว่า “ผู้ขโมยที่ชั่วช้าที่สุด คือผู้ที่ขโมยละหมาดของเขาเอง” บรรดาเศาะหาบะฮฺกล่าวว่า “โอ้เราะสูลของอัลลอฮฺ เขาจะขโมยละหมาดของเขาอย่างไรกันเล่า” ท่านเราะสูลตอบว่า “เขาไม่ได้ทำการรุกัวอฺและสุญูดในละหมาดอย่างสมบูรณ์” หรือได้กล่าวว่า “กระดูกสันหลังของเขาไม่ยืดตรงขณะรุกัวอฺและสุญูด” (เล่ม 5 / หน้า 310)

    ในแง่การรุกัวอฺ บางคนนั้นได้โค้งงอหลังของเขามากเกินไป หรือบางคนก็ยกหลังสูงเกินไป และนั่นก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้น เมื่อท่านรุกัวอฺ ท่านจะทำหลังให้ตรงและเสมอกัน ( เศาะหีห อัล-บุคอรีย์ หน้า 169 / หะดีษหมายเลข 828 ) จนกระทั่งถ้าหากเทน้ำลงไป น้ำก็จะไม่ไหลลงพื้น ( สุนัน อิบนิมาญะห์ หน้า 103 / หะดีษหมายเลข 872 )

    มีรายงานที่บันทึกโดยอัน-นะสาอียฺ จากหะดีษของอบีหุมัยดฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อท่านรุกัวอฺ ท่านก็จะทำให้หลังเหยียดตรง ไม่จิ้มศีรษะของท่านลงมากไป และไม่เงยศีรษะขึ้นมามากเกินไป (คือ ให้ศีรษะอยู่ในระดับเดียวกับหลัง) และวางมือทั้งสองของท่านลงบนเข่าทั้งสอง” (หน้า 127 / หะดีษหมายเลข 1039)

    ในแง่ของการสุญูด ผู้ทำการละหมาดบางคนนั้น เมื่อเขาทำการสุญูด หน้าผากของเขาไม่แตะพื้น บางคนก็ยกเท้าขึ้นมาจากพื้น มีรายงานที่บันทึกโดยอิมามอัล-บุคอรีย์ และอิมามมุสลิม ในหนังสือเศาะหีหของท่านทั้งสอง ซึ่งหะดีษที่รายงานมาจากอัล-อับบาส บิน อับดิลมุฏเฏาะลิบ ว่า ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    )) أُمِرْتُ أَنْ أَسْجُدَ عَلَى سَبْعَةِ أَعْظُمٍ: الجَبْهَةِ ، وَأَشَارَ بِيَدِهِ عَلَى أَنْفِهِ ، وَاليَدَيْنِ ، وَالرُّكْبَتَيْنِ ، وَأَطْرَافِ القَدَمَيْنِ ((

    ความว่า “ฉันถูกสั่งใช้ให้สุญูดด้วย 7 กระดูก (อวัยวะ) อันได้แก่ หน้าผาก และท่านก็ได้ชี้ไปที่จมูกของท่าน, มือทั้งสอง, เข่าทั้งสอง, และปลายเท้าทั้งสอง” (อัล-บุคอรีย์ หน้า 167 / หะดีษหมายเลข 812, มุสลิม หน้า 202 / หะดีษหมายเลข 490)

    หะดีษข้างต้น บ่งชี้ถึงอวัยวะในการสุญูดทั้ง 7 แห่ง และจำเป็นที่ผู้ทำละหมาด จะต้องสุญูดด้วยอวัยวะทั้ง 7 นี้ทั้งหมด

    อีกประการหนึ่งจากข้อผิดพลาด ข้อบกพร่องในการละหมาดคือ การไม่มีความสงบนิ่ง (เฏาะมะอ์นีนะฮฺ) ในการละหมาด ทั้งที่สิ่งนี้เป็นหลักการของการละหมาด เพราะหากขาดสิ่งนี้ การละหมาดจะใช้ไม่ได้ มีรายงานซึ่งบันทึกโดยอิมามอัล-บุคอรียฺในเศาะหีหฺของท่าน จากหะดีษที่รายงานโดยซัยดฺ บิน วะฮับ เล่าว่า หุซัยฟะห์ได้เห็นชายผู้หนึ่งทำการรุกัวอฺและสุญูดอย่างไม่สมบูรณ์ (ทำแบบลวกๆ เร็วๆ) เขาจึงกล่าวกับชายผู้นั้นว่า ท่านยังไม่ได้ละหมาด และถ้าหากว่าท่านเสียชีวิตลงไป ท่านก็เสียชีวิตโดยไม่อยู่บนศาสนาซึ่งอัลลอฮฺทรงให้ต่อมุหัมมัด (เสียชีวิตโดยไม่อยู่ในแนวทางของท่านนบี ไม่อยู่ในศาสนา) ( หน้า 162 / หะดีษหมายเลข 791 )

    นี่ชี้ให้เห็นว่า การสงบนิ่ง (เฏาะมะอ์นีนะฮฺ) นั้นจำเป็นอย่างยิ่งในการรุกัวอฺและสุญูด หากขาดไปก็จะทำให้การละหมาดเป็นโมฆะ เพราะท่านได้กล่าวแก่ชายผู้นั้นว่า “ท่านยังไม่ได้ละหมาด” รายงานนี้พ้องกับหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เกี่ยวกับชายผู้หนึ่งซึ่งทำการละหมาดอย่างบกพร่องไม่สมบูรณ์ โดยมีบันทึกจากอิมามอัล-บุคอรียฺ และอิมามมุสลิม จากหะดีษที่รายงานโดยอบีฮุรอยเราะฮฺ ว่า

    ))أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ دَخَلَ المَسْجِدَ فَدَخَلَ رَجُلٌ ، فَصَلَّى ، فَسَلَّمَ عَلَى النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ، فَرَدَّ وَقَال " ارْجِعْ فَصَلِّ ، فَإِنَّكَ لَمْ تُصَلِّ " ، فَرَجَعَ يُصَلِّي كَمَا صَلَّى ، ثُمَّ جَاءَ ، فَسَلَّمَ عَلَى النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ، فَقَالَ " ارْجِعْ فَصَلِّ ، فَإِنَّكَ لَمْ تُصَلِّ " ثَلاَثًا ، فَقَالَ : وَالَّذِي بَعَثَكَ بِالحَقِّ مَا أُحْسِنُ غَيْرَهُ ، فَعَلِّمْنِي ، فَقَالَ " إِذَا قُمْتَ إِلَى الصَّلاَةِ فَكَبِّرْ ، ثُمَّ اقْرَأْ مَا تَيَسَّرَ مَعَكَ مِنَ القُرْآنِ ، ثُمَّ ارْكَعْ حَتَّى تَطْمَئِنَّ رَاكِعًا ، ثُمَّ ارْفَعْ حَتَّى تَعْدِلَ قَائِمًا ، ثُمَّ اسْجُدْ حَتَّى تَطْمَئِنَّ سَاجِدًا ، ثُمَّ ارْفَعْ حَتَّى تَطْمَئِنَّ جَالِسًا ، وَافْعَلْ ذَلِكَ فِي صَلاَتِكَ كُلِّهَا((

    ความว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เข้ามัสญิด ต่อมามีชายผู้หนึ่งได้เข้ามัสญิดมาด้วย แล้วชายผู้นั้นก็ได้ทำละหมาด เมื่อเสร็จแล้ว เขาก็ให้สลามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านนบีจึงตอบรับสลาม แล้วก็ได้กล่าวแก่เขาว่า “จงกลับไปทำละหมาด แท้จริงท่านยังไม่ได้ละหมาด” ชายผู้นั้นก็กลับไปละหมาดอีกครั้ง อย่างเช่นที่เขาละหมาดครั้งแรก หลังจากนั้นเขาก็มาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ให้สลามท่าน ท่านก็กล่าวอีกว่า “จงกลับไปละหมาด แท้จริงท่านยังไม่ได้ละหมาด” เป็นเช่นนี้อยู่ 3 ครั้ง ชายผู้นั้นจึงกล่าวว่า “ขอสาบานด้วยผู้ที่ส่งท่านมาด้วยกับความจริง ฉันไม่สามารถทำได้ดีกว่านี้อีกแล้ว ขอท่านจงสอนฉันเถิด” ท่านนบีกล่าวตอบว่า “เมื่อท่านยืนขึ้นเพื่อทำละหมาดแล้ว ก็จงกล่าวตักบีร (อัลลอฮุอักบัร) หลังจากนั้นก็จงอ่านสิ่งที่ท่านสามารถอ่านได้จากอัลกุรอาน หลังจากนั้นก็รุกัวอฺ จนกว่าจะสงบนิ่งในท่ารุกัวอฺ และหลังจากนั้นก็จงยืนขึ้น จนกว่าจะยืนนิ่งตรง หลังจากนั้นก็สุญูด จนกว่าจะสงบนิ่งในท่าสุญูด หลังจากนั้นก็ขึ้นมานั่ง จนกว่าจะสงบนิ่งในท่านั่ง และก็จงทำเช่นนี้ในละหมาดของท่านทุกอิริยาบถ” (อัล-บุคอรียฺ หน้า 157 / หะดีษหมายเลข 757 , มุสลิม หน้า 170-171 / หะดีษหมายเลข 397 )

    อีกประการจากข้อผิดพลาด ข้อบกพร่องในการละหมาด ก็คือ การทำละหมาดนำอิมาม (ทำก่อนอิมามจะทำ) ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีคำสั่งห้ามอย่างชัดเจนจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีบันทึกโดยอิมามมุสลิม ในเศาะหีหฺของท่าน จากหะดีษที่รายงานโดยอะนัส บิน มาลิก ว่า

    ))صَلَّى بِنَا رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ذَاتَ يَوْمٍ فَلَمَّا قَضَى الصَّلَاةَ أَقْبَلَ عَلَيْنَا بِوَجْهِهِ ، فَقَالَ" أَيُّهَا النَّاسُ ، إِنِّي إِمَامُكُمْ ، فَلَا تَسْبِقُونِي بِالرُّكُوعِ وَلَا بِالسُّجُودِ ، وَلَا بِالْقِيَامِ وَلَا بِالِانْصِرَافِ ، فَإِنِّي أَرَاكُمْ أَمَامِي وَمِنْ خَلْفِي " ثُمَّ قَالَ " وَالَّذِي نَفْسُ مُحَمَّدٍ بِيَدِهِ ، لَوْ رَأَيْتُمْ مَا رَأَيْتُ لَضَحِكْتُمْ قَلِيلًا وَلَبَكَيْتُمْ كَثِيرًا " قَالُوا : وَمَا رَأَيْتَ يَا رَسُولَ اللَّهِ قَالَ : رَأَيْتُ الْجَنَّةَ وَالنَّارَ ((

    ความว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นำละหมาดเราในวันหนึ่ง และเมื่อเสร็จสิ้นจากการละหมาด ท่านก็ผินหน้ามายังพวกเราและกล่าวว่า “โอ้ ประชาชนทั้งหลาย แท้จริงฉันนั้นเป็นอิมามของพวกท่าน ดังนั้นพวกท่านจงอย่าได้ทำการรุกัวอฺก่อนฉัน อย่าได้สุญูดก่อนฉัน อย่าได้ยืนขึ้นก่อนฉัน หรือกระทั่งให้สลามเสร็จละหมาดก่อนฉัน” แท้จริงฉันเห็นพวกท่านข้างหน้าฉัน (นอกเวลาละหมาด) และข้างหลังฉัน (ในเวลาละหมาด ด้วยการเห็น โดยวิถีอันไม่ปกติ) (คือ ฉันเห็นพวกท่านในเวลาละหมาด ดังที่เห็นพวกท่านนอกเวลาละหมาด) และท่านก็ได้กล่าวว่า “ขอสาบานด้วยผู้ที่ชีวิตของมุหัมมัดอยู่ในอุ้งหัตถ์ของพระองค์ ถ้าหากว่าพวกท่านได้เห็นสิ่งที่ฉันได้เห็น พวกท่านจะหัวเราะน้อย และจะร้องไห้มากอย่างแน่นอน” บรรดาเศาะหาบะฮฺกล่าวว่า “ท่านได้เห็นอะไรหรือ” ท่านนบีตอบว่า “ฉันได้เห็นสวรรค์และนรก” (หน้า 183 / หะดีษหมายเลข 426)

    มีรายงานซึ่งบันทึกโดยอิมามอัล-บุคอรียฺ และอิมามมุสลิม ในเศาะหีหฺของทั้งสอง จากหะดีษที่รายงานโดยอบีฮุร็อยเราะฮฺ ว่า

    )) أَمَا يَخْشَى الَّذِي يَرْفَعُ رَأْسَهُ قَبْلَ الْإِمَامِ ، أَنْ يُحَوِّلَ اللَّهُ رَأْسَهُ رَأْسَ حِمَارٍ ((

    ความว่า “ผู้ที่ยกศีรษะของเขาขึ้นก่อนอิมามนั้น เขาไม่เกรงกลัวหรอกหรือ ที่อัลลอฮฺจะทรงเปลี่ยนศีรษะของเขาให้กลายเป็นหัวของลา” (มุสลิม หน้า 183 / หะดีษหมายเลข 427, อัล-บุคอรียฺ หน้า 147 / หะดีษหมายเลข 691)

    มีรายงานซึ่งบันทึกโดยท่านอิมามอัล-บุคอรียฺ ในเศาะหีหฺของท่าน จากหะดีษที่รายงานโดยอัลบะรออ์ บิน อาซิบ เล่าว่า เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า สะมิอัลลอฮุลิมันหะมิดะฮฺ ไม่มีคนใดในพวกเราที่โค้งเอียงหลังของเขา จนกว่าท่านนบีจะลงไปอยู่ในท่าสุญูด หลังจากนั้นเราจึงลงสุญูดตามไป” (หน้า 147 / หะดีษหมายเลข 690)

    อีกประการหนึ่งจากข้อผิดพลาด ข้อบกพร่องในการละหมาด คือ ในกรณีที่บางคนมาละหมาดไม่ทัน และเขาต้องละหมาดชดใช้ตามจำนวนร็อกอะฮฺที่ขาดไป หลังจากที่อิมามได้ทำการให้สลามครั้งแรกแล้ว เขาก็ยืนขึ้นเพื่อทำละหมาดในร็อกอะฮฺที่ขาดไปในทันที โดยไม่รอให้อิมามสลามครั้งที่ 2 ให้เรียบร้อยเสียก่อน ดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่เป็นการสมควรยิ่งว่าเขาจะต้องรอให้อิมามสลามครั้งที่ 2 ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน จึงจะลุกขึ้นทำการละหมาดชดใช้ร็อกอะฮฺที่ขาดไปของเขา

    ข้อผิดพลาด ข้อบกพร่องประการสุดท้ายที่จะกล่าวถึง คือ การละหมาดโดยสวมเสื้อผ้าที่ยาวระพื้น โดยเสื้อผ้าที่ยาวระพื้นนั้นได้ถูกห้ามในภาพรวมอยู่แล้ว (การใส่เสื้อผ้ายาวเกินตาตุ่มเป็นที่ต้องห้ามสำหรับผู้ชาย) ดังคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ถูกบันทึกโดยอิมามมุสลิม ในเศาะหีหฺของท่าน จากรายงานของอบีซัรฺ ว่า ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า


    (( ثَلَاثَةٌ لَا يُكَلِّمُهُمُ اللَّهُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ ، وَلَا يَنْظُرُ إِلَيْهِمْ وَلَا يُزَكِّيهِمْ وَلَهُمْ عَذَابٌ أَلِيمٌ )) قَالَ: فَقَرَأَهَا رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ثَلَاثَ مِرَارًا ، قَالَ أَبُو ذَرٍّ: خَابُوا وَخَسِرُوا ، مَنْ هُمْ يَا رَسُولَ اللَّهِ ؟ قَال: الْمُسْبِلُ ، وَالْمَنَّانُ ، وَالْمُنَفِّقُ سِلْعَتَهُ بِالْحَلِفِ الْكَاذِبِ((

    ความว่า "ในวันกิยามะฮฺ มีบุคคล 3 จำพวก ที่อัลลอฮฺจะไม่ทรงสนทนากับพวกเขา ไม่ทรงมองไปยังพวกเขา ไม่ทรงทำให้พวกเขาสะอาดบริสุทธิ์ (จากความชั่ว) และสำหรับพวกเขานั้นคือการลงโทษอันเจ็บแสบ” ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าว 3 ครั้ง แล้วอบูซัรจึงกล่าวว่า “พวกเขาพ่ายแพ้และขาดทุนอย่างย่อยยับ พวกเขาคือใครกันหรือ เราะสูลของอัลลอฮฺ” ท่านเราะสูลกล่าวตอบว่า “ผู้ที่ใส่เสื้อผ้ายาวระพื้น ผู้ที่บริจาคทรัพย์หรือทำความดีเพื่อหวังคำชมเชย (อีกนัยหนึ่ง คือ ผู้ที่โกงตราชั่งในการซื้อขาย:อัลค็อฏฏอบีย์) และผู้ที่นำเสนอสินค้าของเขาด้วยคำพูดชวนเชื่อที่ไม่เป็นความจริง” ( หน้า 68 / หะดีษหมายเลข 106 )

    มีรายงานบันทึกโดยอิมามอัล-บุคอรียฺ ในเศาะหีหฺของท่าน ซึ่งหะดีษที่รายงานโดยท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ ว่า

    )) مَا أَسْفَلَ مِنَ الكَعْبَيْنِ مِنَ الإِزَارِ فَفِي النَّارِ ((

    ความว่า “สิ่งที่อยู่ใต้ตาตุ่มจากเสื้อผ้านั้นอยู่ในนรก” (หน้า 1132 / หะดีษหมายเลข 5787)

    นักวิชาการบางท่าน จะเข้มงวดเคร่งครัดในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นในการละหมาด เพราะเงื่อนไขหนึ่งของการละหมาด คือ การปกปิดเอาเราะฮฺ ดังนั้น ผู้ที่ละหมาดโดยใส่เสื้อผ้ายาวระพื้นเลยตาตุ่ม ก็เท่ากับว่าเขาปกปิดร่างกายด้วยสิ่งหะรอม ด้วยเหตุนี้ การละหมาดของเขาจึงอยู่ในภาวะอันตราย

    มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ขอความสุข ความจำเริญและความศานติจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่านโดยทั่วกัน

    والحمد لله رب العالمين، وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين