ความประเสริฐของสิบวันแรกซุลหิจญะฮฺ
หมวดหมู่
แหล่งอ้างอิง
Full Description
ความประเสริฐของสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ
] ไทย – Thai – تايلاندي [
อับดุลอะซีซ บิน อับดุลลอฮฺ บิน บาซ
แปลโดย : อุษมาน อิดรีส
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : www.binbaz.org.sa
2011 - 1432
﴿فضل عشر ذي الحجة﴾
« باللغة التايلاندية »
الشيخ عبد العزيز بن عبد الله بن باز رحمه الله
ترجمة: عثمان إدريس
مراجعة: صافي عثمان
المصدر: الموقع الرسمي لفضيلة الشيخ www.binbaz.org.sa
2011 - 1432
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
ความประเสริฐของสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ
คำถาม: ฉันได้ยินจากอาจารย์สอนศาสนาท่านหนึ่งที่โรงเรียนของฉันว่าส่วนหนึ่งของอิบาดะฮฺที่ส่งเสริมให้กระทำคือการถือศีลอดในสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ เพราะการปฏิบัติอะมัลศอลิหฺในช่วงสิบวันดังกล่าวเป็นอะมัลที่อัลลอฮฺทรงโปรดปรานที่สุด ถ้าคำพูดบอกเล่าของอาจารย์ท่านนั้นถูกต้อง และโดยทั่วไปแล้ววันที่สิบซุลหิจญะฮฺซึ่งเป็นวันที่ถัดจากวันอะเราะฟะฮฺจะเป็นวันแรกของวันตัชรีกซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาวันอีดสำหรับชาวมุสลิมที่กำลังประกอบพิธีหัจญ์และอื่นๆ และเท่าที่ฉันทราบ จะไม่อนุญาตให้ถือศีลอดในบรรดาวันอีดเหล่านั้น ดังนั้นไม่ทราบว่าท่านจะอธิบายอย่างไรในเมื่อไม่อนุญาตให้ถือศีลอดในวันที่สิบทั้งๆ ที่มันเป็นหนึ่งในบรรดาสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ? และถ้าไม่อนุญาตให้ถือศีลอดในวันนั้นไม่ทราบว่าจะมีวันที่สิบอื่นแทนวันดังกล่าวหรือไม่? และถ้าฉันถือศีลอดในบรรดาสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺดังกล่าวฉันจำเป็นต้องถือศีลอดครบสิบวันหรือไม่? เพราะฉันเคยถือศีลอดในวันที่หก เจ็ด แปด และเก้าเท่านั้น ไม่ได้ถือศีลอดวันที่สิบ?
คำตอบ: คำว่าสิบตรงนี้ถูกเรียกแบบเหมารวมเฉพาะเก้าวันของซุลหิจญะฮฺเท่านั้น และวันอีดไม่ถือนับว่าเป็นหนึ่งในบรรดาสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ(ตามสำนวนหะดีษ) ที่กล่าวว่าสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ ก็หมายถึงเก้าวันแรกที่อนุญาตให้ถือศีลอดเท่านั้น ส่วนในวันอีด (ซึ่งเป็นวันที่สิบ)นั้นอุละมาอ์มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่อนุญาตให้ถือศีลอดในวันนั้น ดังนั้น เมื่อพูดว่า ถือศีลอดสิบวัน จึงหมายถึงการถือศีลอดเพียงเก้าวันจนถึงวันอะเราะฟะฮฺเป็นวันสุดท้าย และการถือศีลอดในบรรดาวันดังกล่าวเป็นอิบาดะฮฺที่ถูกส่งเสริมให้กระทำและยังเป็นการใกล้ชิดอัลลอฮฺอีกด้วย มีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมว่าท่านเคยถือศีลอดในบรรดาวันเหล่านั้น และท่านได้กล่าวเกี่ยวกับ (ความประเสริฐของการปฏิบัติอิบาดะฮฺในบรรดา) วันดังกล่าวว่า การปฏิบัติอะมัลในบรรดาวันเหล่านั้นจะเป็นที่โปรดปรานของอัลลอฮฺกว่าวันอื่นๆ ท่านกล่าวว่า
«مَا مِنْ أَيَّامٍ الْعَمَلُ الصَّالِحُ فِيهِنَّ أَحَبُّ إِلَى اللهِ مِنْ هَذِهِ الْأَيَّامِ الْعَشْرِ، فَقَالُوا يَا رَسُولَ اللهِ وَلَا الْجِهَادُ فِي سَبِيلِ اللهِ؟، فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: وَلَا الْجِهَادُ فِي سَبِيلِ اللهِ، إِلَّا رَجُلٌ خَرَجَ بِنَفْسِهِ وَمَالِهِ فَلَمْ يَرْجِعْ مِنْ ذَلِكَ بِشَيْءٍ» [البخاري برقم 969]
ความว่า “ไม่มีวันใดๆ ที่การปฏิบัติอะมัลศอลิหฺในวันดังกล่าวจะเป็นที่โปรดปรานของอัลลอฮฺมากกว่าการปฏิบัติอะมัลศอลิหฺในสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ" บรรดาเศาะหาบะฮฺจึงถามว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ แม้กระทั่งการออกไปญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ (ก็เทียบไม่ได้) กระนั้นหรือ? ท่านตอบว่า “แม้กระทั่งการออกไปญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ (ก็เทียบไม่ได้) นอกจากว่าชายคนนั้นพาตัวเองไปญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺพร้อมกับทรัพย์สินของตน แล้วเขาก็ไม่ได้นำสิ่งใดๆกลับมาอีกเลย (หมายถึงเสียชีวิตในหนทางของอัลลอฮฺ)" (อัล-บุคอรีย์ 969)
ในสิบวันนี้ส่งเสริมให้กล่าวซิกิรฺ ตักบีรฺ อ่านอัลกุรอาน บริจาคทาน ซึ่งรวมถึงวันที่สิบด้วย นอกจากศีลอดเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่ไม่อนุญาตให้กระทำในวันที่สิบ เพราะการถือศีลอดจะเกี่ยวข้องกับวันอะเราะฟะฮฺเป็นการเฉพาะและบรรดาวันก่อนหน้านั้น เพราะบรรดานักวิชาการทั้งหมดต่างมีความเห็นว่าไม่อนุญาตให้ถือศีลอดในวันอีด ส่วนอิบาดะฮฺอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซิกิรฺ การขอดุอาอ์ และการบริจาคทานส่งเสริมให้ปฏิบัติในวันที่สิบซึ่งเป็นวันอีดด้วย และบรรดาวันอีดที่นอกเหนือจากวันอีดอัฎฮานั้นมีด้วยกันสามวัน คือวันที่สิบเอ็ด สิบสองและสิบสาม รวมทั้งหมดเป็นสี่วัน นั่นคือวันอีด และวันตัชรีกทั้งสามวันถัดจากวันอีด นี่คือสิ่งที่ถูกต้องตามทัศนะของบรรดานักวิชาการ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า
«أَيَّامُ التَّشْرِيقِ أَيَّامُ أَكْلٍ وَشُرْبٍ وَذِكْرٍ للهِ -عَزَّ وَجَلَّ- »
ความว่า “วันตัชรีก คือบรรดาวันแห่งการกินดื่ม และกล่าวซิกิรฺ (รำลึกถึงอัลลอฮฺ)" (บันทึกโดยมุสลิม)
บรรดาวันแห่งการกินดื่มในเดือนซุลหิจญะฮฺนั้นมีด้วยกันสี่วัน คือวันเชือด และวันตัชรีกทั้งสามวัน ส่วนในเดือนเราะมะฎอนวันอีดมีเพียงวันเดียวเท่านั้น นั่นคือวันแรกของเดือนเชาวาล วันนี้เท่านั้นที่เป็นวันอีด อื่นจากนั้นไม่ใช่วันอีด ดังนั้นเราจึงสามารถถือศีลอดในวันที่สองของเดือนเชาวาล เพราะวันอีดนั้นมีเฉพาะในวันแรกของเดือนเชาวาลเท่านั้น
ผู้อ่านคำถามได้ถามว่า “แล้วในส่วนของอีดอัฎฮาละมีกี่วัน?" เชคตอบว่า มีสี่วันดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อีดอัฎฮามีสี่วัน นั่นคือวันที่สิบ สิบเอ็ด สิบสอง และสิบสาม ทั้งหมดล้วนเป็นวันอีด ไม่อนุญาตให้ถือศีลอดในวันดังกล่าว ยกเว้นในวันตัชรีกทั้งสามวันซึ่งอนุโลมให้ผู้ประกอบพิธีหัจญ์แบบตะมัตตุอฺ และกิรอนที่ไม่มีความสามารถที่จะเชือดสัตว์ฮัดย์ถือศีลอดในวันดังกล่าวเป็นการเฉพาะ โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบพิธีหัจญ์แบบกิรอนและตะมัตตุอฺที่ไม่สามารถเชือดฮัดย์ถือศีลอดสามวันในช่วงวันตัชรีก นั่นคือวันที่สิบเอ็ด สิบสอง และสิบสาม หลังจากนั้นให้ถือศีลอดอีกเจ็ดวันเมื่อเดินทางกลับถึงภูมิลำเนาแล้ว ส่วนวันอีดบรรดาอุละมาอ์มีมติเป็นเอฉันท์ว่าไม่อนุญาตให้ถือศีลอด ไม่ว่าจะเป็นการถือศีลอดเพื่อทดแทนการเชือดสัตว์ฮัดย์ หรืออื่นๆ
ผู้อ่านคำถามได้ถามขึ้นว่า “การห้ามถือศีลอดในอีดอัฎฮามีเพียงวันเดียวเท่านั้นใช่ไหม"? เชคตอบว่า “ใช่วันเดียวเท่านั้น"
ผู้อ่านคำถามได้ถามอีกว่า “เชค...นางกล่าวว่านางได้ถือศีลอดบางวันเท่านั้นในบรรดาสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ เช่นวันที่เจ็ด แปด และเก้า ไม่ทราบว่าเชคจะให้คำแนะนำอย่างไร?" เชคตอบว่า “ไม่เป็นไร เมื่อนางได้ถือศีลอดวันที่เจ็ด แปล และเก้า ก็สามารถทำได้ หรือนางจะถือศีลอดมากกว่านั้นก็ถือว่าใช้ได้ เป้าหมายหลัก คือ (การทำอิบาดะฮฺใน) บรรดาวันต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งเป็นวันแห่งการกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺและวันแห่งการถือศีลอด และถ้านางถือศีลอดทั้งเก้าวันก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ดี และถ้านางถือสีลอดเพียงบางวันเท่านั้นก็ดีเหมือนกัน และถ้านางจะถือศีลอดเฉพาะวันอะเราะฟะฮฺเพียงวันเดียวเท่านั้น ก็ถือว่าการถือวันอะเราะฟะฮฺเป็นวันที่ประเสริฐที่สุดสำหรับการถือศีลอด เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า
«إِنَّ يَوْمَ عَرَفَةَ أَحْتَسِبُ أَنْ يُكَفِّرَ السَّنَةَ الَّتِى قَبْلَهُ، وَالسَّنَةَ الَّتِى بَعْدَهُ»
ความว่า “แท้จริงวันอะเราะฟะฮฺนั้น ฉันคาดหวังว่าอัลลอฮฺจะทรงลบล้างความผิดบาปต่างๆสำหรับหนึ่งปีที่ผ่านมาและหนึ่งปีหลังจากนี้" (บันทึกโดยมุสลิม)
วันอะเราะฟะฮฺเป็นวันที่ยิ่งใหญ่ ส่งเสริมให้ชาวมุสลิมทุกคนถือศีลอดในวันนั้น ทั้งที่เป็นชาวเมืองและชาวชนบท ยกเว้นบรรดาผู้ที่กำลังประกอบพิธีหัจญ์อยู่ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺ พวกเขาไม่ควรถือศีลอดในวันนั้น เช่นเดียวกับวันอื่นๆ นับตั้งแต่วันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺจนถึงวันอะเราะฟะฮฺล้วนส่งเสริมให้ชาวมุสลิมถือศีลอดทั้งเก้าวันดังกล่าว แต่ที่ประเสริฐที่สุดคือการถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ ซึ่งมีซุนนะฮฺให้ชาวมุสลิมที่เป็นชาวเมืองและชนบทถือศีลอดในวันนั้น ยกเว้นวันอีดที่ใม่อนุญาตผู้ใดถือศีลอดในวันนั้น ส่วนบรรดาผู้ประกอบพิธีหัจญ์ไม่ส่งเสริมให้พวกเขาถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ แต่ให้พวกเขาพำนักอยู่ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺในสภาพที่กินดื่ม ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้ละศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ
ที่มา http://www.binbaz.org.sa/mat/17194