×
คำถาม : ในโอกาสที่เรากำลังจะได้พบพานกับค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ พวกเราปรารถนาที่จะให้ท่านชัยค์ได้กล่าวแนะนำ ตักเตือนต่อบรรดาพี่น้องมุสลิมอันเนื่องจากโอกาสอันทรงคุณค่านี้ ... ตอบโดยเชค อับดุลอะซีซ บิน บาซ

    ลัยละตุลก็อดรฺ .. ราตรีกาลที่ดีที่สุด

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    อับดุลอะซีซ บิน อับดุลลอฮฺ บิน บาซ

    แปลโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ

    ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : www.binbaz.org.sa

    2011 – 1432


    ﴿ ليلة القدر هي أفضل الليالي

    « باللغة التايلاندية »

    الشيخ عبد العزيز بن عبد الله بن باز رحمه الله

    ترجمة: يوسف أبوبكر

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: الموقع الرسمي لفضيلة الشيخ www.binbaz.org.sa

    2011 – 1432

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    ค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ (ลัยละตุลก็อดรฺ) .. ราตรีกาลที่ดีที่สุด

    คำถาม : ในโอกาสที่เรากำลังจะได้พบพานกับค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ พวกเราปรารถนาที่จะให้ท่านชัยค์ได้กล่าวแนะนำ ตักเตือนต่อบรรดาพี่น้องมุสลิมอันเนื่องจากโอกาสอันทรงคุณค่านี้

    คำตอบ : ค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ..นับว่าเป็นราตรีกาลที่มีความประเสริฐมากที่สุด พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงประทานคัมภีร์อัลกุรอานลงมาในค่ำคืนนี้ โดยที่พระองค์ได้ตรัสบอกไว้ว่าความดีงามในคืนนี้มีความประเสริฐมากกว่าหนึ่งพันเดือน เป็นคืนที่มีความศิริมงคล และอัลกุรอานก็คือสิ่งที่มาจำแนกรายละเอียดของกิจการทั้งหลายที่ทรงคุณค่าแห่งวิทยปัญญา ดังที่พระองค์ตรัสไว้ในตอนต้นของสูเราะฮฺอัด-ดุคอน ว่า

    ﴿حمٓ ١ وَٱلۡكِتَٰبِ ٱلۡمُبِينِ ٢ إِنَّآ أَنزَلۡنَٰهُ فِي لَيۡلَةٖ مُّبَٰرَكَةٍۚ إِنَّا كُنَّا مُنذِرِينَ ٣ فِيهَا يُفۡرَقُ كُلُّ أَمۡرٍ حَكِيمٍ ٤ أَمۡرٗا مِّنۡ عِندِنَآۚ إِنَّا كُنَّا مُرۡسِلِينَ ٥ رَحۡمَةٗ مِّن رَّبِّكَۚ إِنَّهُۥهُوَ ٱلسَّمِيعُ ٱلۡعَلِيمُ ٦﴾ (الدخان : 1-6)

    ความหมาย “หามีม ขอสาบานด้วยคัมภีร์อันชัดแจ้ง แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในค่ำคืนอันศิริมงคล แท้จริงเราเป็นผู้ตักเตือน ในคืนนั้นทุกๆ กิจการที่สำคัญถูกจำแนกไว้แล้ว โดยทางบัญชามาจากเรา แท้จริงเราเป็นผู้ส่งมา เป็นความเมตตาจากพระเจ้าของเจ้า แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้" (อัด-ดุคอน : 1-6)

    อัลลอฮฺตรัสอีกว่า

    ﴿إِنَّآ أَنزَلۡنَٰهُ فِي لَيۡلَةِ ٱلۡقَدۡرِ ١ وَمَآ أَدۡرَىٰكَ مَا لَيۡلَةُ ٱلۡقَدۡرِ ٢ لَيۡلَةُ ٱلۡقَدۡرِ خَيۡرٞ مِّنۡ أَلۡفِ شَهۡرٖ ٣ تَنَزَّلُ ٱلۡمَلَٰٓئِكَةُ وَٱلرُّوحُ فِيهَا بِإِذۡنِ رَبِّهِم مِّن كُلِّ أَمۡرٖ ٤ سَلَٰمٌ هِيَ حَتَّىٰ مَطۡلَعِ ٱلۡفَجۡرِ ٥﴾ (سورة القدر)

    ความหมาย “แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัล-ก็อดรฺ และอะไรเล่าจะทำให้เจ้ารู้ได้ว่าคืนอัล-ก็อดรฺนั้นคืออะไร คืนอัล-ก็อดรฺนั้นมีความประเสริฐยิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน บรรดามะลาอิกะฮฺและอัร-รูหฺ(ญิบรีล) จะลงมาในคืนนั้น โดยอนุมัติแห่งพระเจ้าของพวกเขาเนื่องจากกิจการทุกสิ่ง คืนนั้นมีความศานติจนกระทั่งรุ่งอรุณ" (อัล-ก็อดรฺ : 1-5)

    มีหะดีษรายงานจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

    «مَنْ قَامَ لَيْلَةَ القَدْرِ إِيْمَاناً وَاحْتِسَاباً غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ» (البخاري برقم 1901، ومسلم برقم 7060)

    ความหมาย “ผู้ใดที่กิยาม(ลุกขึ้นประกอบอิบาดะฮฺ)ในค่ำคืนอัล-ก็อดรฺด้วยความศรัทธาและหวังในผลบุญ เขาจะได้รับการอภัยจากความผิดที่ผ่านมา" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 1901 และมุสลิมหมายเลขหะดีษ 7060)

    การประกอบอิบาดะฮฺในค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ นั้นประกอบด้วยภารกิจต่างๆ เช่น การละหมาด การรำลึก การวิงวอน(ดุอาอ์) การอ่านอัลกุรอาน และการทำงานที่เป็นความดีงามอื่นๆ ในคืนนี้

    ในสูเราะฮฺที่ยิ่งใหญ่นี้ได้ชี้ถึงการปฏิบัติศาสนกิจในค่ำคืนนี้ ซึ่งมีความดีงามมากกว่าหนึ่งพันเดือน นับว่าเป็นคุณูปการที่แสนยิ่งใหญ่ และเป็นความเมตตากรุณาอย่างล้นพ้นจากอัลลอฮฺที่มีต่อปวงบ่าว ดังนั้นเป็นการสมควรยิ่งสำหรับบรรดามุสลิมที่จะต้องทำให้มันยิ่งใหญ่และทำให้ค่ำคืนนี้มีชีวิตชีวาด้วยการสวามิภักดิ์ต่ออัลลอฮฺ โดยที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้บอกไว้ว่ามันจะอยู่ในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคืนคี่ โดยที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

    «فَالْتَمِسُوهَا فِي الْعَشْرِ الْأَوَاخِرِ مِنْ رَمَضَانَ، الْتَمِسُوهَا فِي كُلِّ وِتْرٍ» (البخاري برقم 1986، 1992، والترمذي برقم 792)

    ความหมาย “จงแสวงหามัน (ค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ) ในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน จงแสวงหามัน (ค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ) ในคืนคี่" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 1986 , 1992 และอัต-ติรมิซีย์ หมายเลขหะดีษ 792)

    มีหะดีษเศาะหีฮฺจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม มากมายที่ยืนยันว่าค่ำคืนนี้จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปในช่วงสิบคืนนี้ ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นคืนหนึ่งคืนใดเป็นการเฉพาะ บางครั้งเกิดขึ้นในคืนที่ 21 บางครั้งเกิดขึ้นในคืนที่ 23 บางครั้งเกิดขึ้นในคืนที่ 25 บางครั้งเกิดขึ้นในคืนที่ 27 บางครั้งเกิดขึ้นในคืนที่ 29 หรือบางครั้งอาจจะเกิดขึ้นในคืนคู่ก็เป็นได้ ดังนั้น ผู้ใดที่ดำรงตนเพื่อแสวงหาค่ำคืนอัล-ก็อดรฺช่วงสิบคืนสุดท้ายในทุกค่ำคืนด้วยความศรัทธามุ่งมั่น และหวังผลบุญเป็นการตอบแทน เขาจะได้พบกับค่ำคืนอันมีเกียรตินี้อย่างไร้ข้อกังขา และได้รับชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ด้วยกับสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสัญญาเอาไว้ ในขณะที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้เจาะจงเป็นกรณีพิเศษให้มีความพยายามมุ่งมั่นในการแสวงหาความดีงามในช่วงสิบคืนสุดท้ายมากกว่าช่วงยี่สิบคืนแรก ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม มีความมุ่งมั่น(ในการทำอิบาดะฮฺ)ช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน อย่างที่ไม่เคยมุ่งมั่นในค่ำคืนอื่น และท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา กล่าวอีกว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เมื่อเข้าช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน ท่านจะทำให้ยามค่ำคืนมีชีวิตชีวา ปลุกสมาชิกในครอบครัว และได้กระชับผ้านุ่งให้มั่น(แสดงถึงความมุ่งมั่นในการทำอิบาดะฮฺ) และในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอิอฺติกาฟ อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า

    ﴿لَّقَدۡ كَانَ لَكُمۡ فِي رَسُولِ ٱللَّهِ أُسۡوَةٌ حَسَنَةٞ﴾ (الأحزاب : 21)

    ความหมาย “โดยแน่นอน ในเราะสูลของอัลลอฮฺมีแบบฉบับอันดีงามสำหรับพวกเจ้าแล้ว" (อัล-อะหฺซาบ : 21)

    ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา ได้ถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถึงค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ เธอได้ถามว่า โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ หากฉันได้พบกับค่ำคืนอัล-ก็อดรฺฉันจะกล่าวว่าอย่างไร ? ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตอบว่า

    «قُولِي اللَّهُمَّ إِنَّكَ عُفُوٌّ تُحِبُّ الْعَفْوَ فَاعْفُ عَنِّي» (الترمذي برقم 3513)

    ความหมาย “เธอจงกล่าวว่า อัลลอฮุมมะ อินนะกะ อะฟูวุน ตุหิบบุลอัฟวะ ฟะอฺฟูอันนีย์ (คำแปล โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงอภัย พระองค์ทรงรักใคร่ในการอภัย ดังนั้นขอพระองค์ทรงให้อภัยแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด)" (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ หมายเลขหะดีษ 3513)

    เราพบว่าบรรดาอัครสาวกของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และบรรดาบรรพชนรุ่นหลังจากพวกเขาได้ให้ความสำคัญต่อช่วงสิบวันสุดท้ายนี้ และมีความพยายามในการประกอบคุณงามความดีรูปแบบต่างๆ ดังนั้น จึงส่งเสริมให้บรรดามุสลิมทั่วทุกมุมโลก ร่วมกันฟื้นฟูจริยวัตรของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และแนวทางปฏิบัติของบรรดาอัครสาวกและบรรพชนรุ่นก่อนจากพวกเขา ทำให้ค่ำคืนนี้มีชีวิตชีวาด้วยการละหมาด อ่านอัลกุรอาน รำลึกถึงอัลลอฮฺ และทำอิบาดะฮฺด้วยความศรัทธาและมุ่งหวังต่อการตอบแทน จนกระทั่งได้รับชัยชนะด้วยกับการอภัยโทษจากความผิด ถูกลบล้างจากมลทิน และรอดพ้นจากไฟนรก ซึ่งทั้งหมดนั้นนับเป็นความโปรดปรานและเอื้อเฟื้อที่ยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ

    มีหลักฐานจากอัลกุรอานและหะดีษที่ชี้ว่า สัญญาอันยิ่งใหญ่นี้จะได้รับก็ต่อเมื่อเราได้หลีกเลี่ยงออกห่างจากการทำบาปใหญ่แล้วเท่านั้น ดังที่พระองค์ตรัสว่า

    ﴿إِن تَجۡتَنِبُواْ كَبَآئِرَ مَا تُنۡهَوۡنَ عَنۡهُ نُكَفِّرۡ عَنكُمۡ سَئَِّاتِكُمۡ وَنُدۡخِلۡكُم مُّدۡخَلٗا كَرِيمٗا﴾ (النساء : 31)

    ความหมาย “หากพวกเจ้าปลีกตัวออกจากบรรดาบาปใหญ่ต่างๆ ที่พวกเจ้าถูกห้ามให้ละเว้นมันแล้ว เราก็จะลบล้างบรรดาความผิดเล็กน้อยของพวกเจ้าออกจากตัวพวกเจ้า และเราจะให้พวกเจ้าเข้าอยู่ในสถานที่อันมีเกียรติ" (อัล-นิสาอฺ : 31)

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

    «الصَّلَوَاتُ الْخَمْسُ، وَالْجُمُعَةُ إِلَى الْجُمُعَةِ، وَرَمَضَانُ إِلَى رَمَضَانَ، مُكَفِّرَاتٌ مَا بَيْنَهُنَّ إِذَا اجْتَنَبَ الْكَبَائِرَ» (مسلم برقم 233)

    ความหมายช่วงเวลาระหว่างการละหมาดทั้งห้าเวลา ระหว่างการละหมาดวันศุกร์ในแต่ละสัปดาห์ และระหว่างเดือนเราะมะฎอนของแต่ละปี เป็นช่วงเวลาแห่งการลบล้างความผิดหรือบาปที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ถ้าหากว่าเขาได้หลีกเลี่ยงจากบาปใหญ่แล้ว" (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 233)

    และมีสิ่งจำเป็นที่ควรระวังอีกประการหนึ่งคือ มีพี่น้องมุสลิมบางส่วนได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการทำความดีช่วงเดือนเราะมะฎอน สารภาพผิด(เตาบะฮฺ)ที่ผ่านมาต่ออัลลอฮฺ แต่เมื่อเราะมะฎอนได้ผ่านเลยไปเขากลับไปทำความผิดเหมือนเดิม เรื่องนี้นับว่าเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างมาก ดังนั้น จำเป็นต่อมุสลิมที่ควรระวังการกระทำในลักษณะดังกล่าว และต้องมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ยืนหยัดในการสวามิภักดิ์เชื่อฟังต่ออัลลอฮฺและงดเว้นเรื่องการฝ่าฝืนต่อพระองค์ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสกับนบีของพระองค์ว่า

    ﴿وَٱعۡبُدۡ رَبَّكَ حَتَّىٰ يَأۡتِيَكَ ٱلۡيَقِينُ﴾ (الحجر : 99)

    ความหมาย “และจงเคารพภักดีต่อพระผู้อภิบาลของเจ้า จนกว่าความแน่นอน(ความตาย) จะมายังเจ้า" (อัล-หิจญ์รฺ : 99)

    พระองค์ตรัสอีกว่า

    ﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ حَقَّ تُقَاتِهِۦ وَلَا تَمُوتُنَّ إِلَّا وَأَنتُم مُّسۡلِمُونَ﴾ (آل عمران : 102)

    ความหมาย “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงอัลลอฮฺอย่างแท้จริงเถิด และพวกเจ้าอย่าได้เสียชีวิตเป็นอันขาด นอกจากในสภาพที่พวกเจ้าเป็นผู้นอบน้อมเท่านั้น "(อาล-อิมรอน : 102)

    และพระองค์ตรัสว่า

    ﴿إِنَّ ٱلَّذِينَ قَالُواْ رَبُّنَا ٱللَّهُ ثُمَّ ٱسۡتَقَٰمُواْ تَتَنَزَّلُ عَلَيۡهِمُ ٱلۡمَلَٰٓئِكَةُ أَلَّا تَخَافُواْ وَلَا تَحۡزَنُواْ وَأَبۡشِرُواْ بِٱلۡجَنَّةِ ٱلَّتِي كُنتُمۡ تُوعَدُونَ ٣٠ نَحۡنُ أَوۡلِيَآؤُكُمۡ فِي ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَفِي ٱلۡأٓخِرَةِۖ وَلَكُمۡ فِيهَا مَا تَشۡتَهِيٓ أَنفُسُكُمۡ وَلَكُمۡ فِيهَا مَا تَدَّعُونَ ٣١ نُزُلٗا مِّنۡ غَفُورٖ رَّحِيمٖ ٣٢﴾ (فصلت : 30-32)

    ความหมาย “แท้จริงบรรดาผู้กล่าวว่าอัลลอฮฺคือพระเจ้าของพวกเรา แล้วพวกเขาก็ยืนหยัดตามคำกล่าวนั้น มะลาอิกะฮฺจะลงมาหาพวกเขา (โดยกล่าวกับพวกเขาว่า) พวกท่านอย่าหวาดกลัวและอย่าเศร้าสลดใจแต่จงต้อนรับข่าวดี คือสวนสวรรค์ซึ่งพวกเจ้าได้ถูกสัญญาไว้ พวกเราเป็นผู้อารักขาพวกท่านทั้งในการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และปรโลก และสำหรับพวกท่านในสวนสวรรค์นั้น จะได้สิ่งที่จิตใจของพวกท่านปรารถนา และสำหรับพวกท่านในสวนสวรรค์นั้นจะได้ในสิ่งที่พวกท่านเรียกร้อง เป็นการต้อนรับด้วยความเมตตาจากพระผู้ทรงอภัยผู้ทรงเมตตาเสมอ" (ฟุศศิลัต : 30-32)

    ความหมายของอายะฮฺ คือ บรรดาผู้ที่ยอมจำนนว่าพระผู้อภิบาลของเขาคืออัลลอฮฺ พวกเขาได้ศรัทธามั่นต่อพระองค์ มีความบริสุทธิ์ใจในการเคารพภักดีต่อพระองค์ และยืนหยัดอย่างมั่นคงในกิจการงานดังกล่าว มะลาอิกะฮฺจะแจ้งข่าวดีแก่พวกเขาขณะที่จะเสียชีวิตว่า จะไม่มีความหวาดกลัวอันใดแก่พวกเขา และพวกเขาจะไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ และของกำนัลที่จะตอบแทนพวกเขาคือสวนสวรรค์ อันเนื่องจากการที่พวกเขาได้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ยืนหยัดในการสวามิภักดิ์พร้อมทั้งมิได้ฝ่าฝืนต่อพระองค์ และมีความบริสุทธิ์ใจในการเคารพภักดีต่อพระองค์

    โองการต่างๆ ที่มีความหมายในทำนองเดียวกันนี้มีอยู่มากมาย ทั้งหมดล้วนแล้วบ่งชี้ถึงความจำเป็นในการยืนหยัดต่อสัจธรรมอย่างหนักแน่นไม่สั่นคลอน และย้ำเตือนให้ระวังในการที่จะฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺอย่างต่อเนื่องเป็นอาจิณ ส่วนหนึ่งพระองค์อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿وَسَارِعُوٓاْ إِلَىٰ مَغۡفِرَةٖ مِّن رَّبِّكُمۡ وَجَنَّةٍ عَرۡضُهَا ٱلسَّمَٰوَٰتُ وَٱلۡأَرۡضُ أُعِدَّتۡ لِلۡمُتَّقِينَ ١٣٣ ٱلَّذِينَ يُنفِقُونَ فِي ٱلسَّرَّآءِ وَٱلضَّرَّآءِ وَٱلۡكَٰظِمِينَ ٱلۡغَيۡظَ وَٱلۡعَافِينَ عَنِ ٱلنَّاسِۗ وَٱللَّهُ يُحِبُّ ٱلۡمُحۡسِنِينَ ١٣٤ وَٱلَّذِينَ إِذَا فَعَلُواْ فَٰحِشَةً أَوۡ ظَلَمُوٓاْ أَنفُسَهُمۡ ذَكَرُواْ ٱللَّهَ فَٱسۡتَغۡفَرُواْ لِذُنُوبِهِمۡ وَمَن يَغۡفِرُ ٱلذُّنُوبَ إِلَّا ٱللَّهُ وَلَمۡ يُصِرُّواْ عَلَىٰ مَا فَعَلُواْ وَهُمۡ يَعۡلَمُونَ ١٣٥ أُوْلَٰٓئِكَ جَزَآؤُهُم مَّغۡفِرَةٞ مِّن رَّبِّهِمۡ وَجَنَّٰتٞ تَجۡرِي مِن تَحۡتِهَا ٱلۡأَنۡهَٰرُ خَٰلِدِينَ فِيهَاۚ وَنِعۡمَ أَجۡرُ ٱلۡعَٰمِلِينَ ١٣٦﴾ (آل عمران 133-136)

    ความหมาย “และพวกเจ้าจงรีบเร่งกันไปสู่การอภัยโทษจากพระผู้อภิบาลของพวกเจ้า และไปสู่สวนสวรรค์ซึ่งความกว้างของมันนั้น คือบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน โดยที่มันถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง คือบรรดาผู้ที่บริจาคทั้งในยามสุขสบายและในยามเดือดร้อน และบรรดาผู้ข่มโทษและบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์ และอัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้กระทำความดีทั้งหลาย บรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขากระทำสิ่งชั่วใดๆ หรืออยุติธรรมแก่ตัวเองแล้ว พวกเขาก็รำลึกถึงอัลลอฮฺ แล้วขออภัยโทษต่อบรรดาความผิดของพวกเขา และใครเล่าที่จะอภัยโทษบรรดาความผิดทั้งหลายให้ได้นอกจากอัลลอฮฺ และพวกเขามิได้ดื้อรั้นปฏิบัติ(ความผิด)ในสิ่งที่เขาเคยปฏิบัติมาโดยที่พวกเขารู้อยู่แก่ตัว(ว่าสิ่งนั้นคือความผิด) ชนเหล่านี้แหละการตอบแทนแก่พวกเขาคือการอภัยโทษจากพระผู้อภิบาลของพวกเขาและจะได้เข้าสวนสวรรค์ ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลอยู่ภายในสวนเหล่านั้น โดยที่พวกเขาจะพำนักอยู่ในสวนเหล่านั้นตลอดกาล และรางวัลของผู้ทำงานนั้นช่างเลิศหรูเสียนี่กระไร" (อาล-อิมรอน : 133-136)

    ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺให้พวกเราและพี่น้องมุสลิมทั่วทุกมุมโลกได้รับความสำเร็จในค่ำคืนที่มีเกียรตินี้ และค่ำคืนอื่นที่พระองค์ทรงรักใคร่ พอพระทัย และขอความคุ้มครองให้พวกเราทั้งหมดก้าวพ้นจากความชั่วร้ายอันเกิดจากตัวของเราและการงานของพวกเรา แน่แท้พระองค์คือผู้ทรงยิ่งแห่งเมตตาปราณี ผู้ทรงยิ่งแห่งเกียรติ

    อ้างถึง : มัจญ์มูอฺ ฟะตาวา วะ มะกอลาต มุตะเนาวิอะฮฺ เล่มที่ 15 ของชัยค์อับดุลอะซีซ บิน บาซ http://www.binbaz.org.sa/mat/635