ลัยละตุลก็อดรฺ จะมีขึ้นในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน
หมวดหมู่
Full Description
ค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ (ลัยละตุลก็อดรฺ) จะมีขึ้นในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน
] ไทย – Thai – تايلاندي [
อับดุลอะซีซ บิน อับดุลลอฮฺ บิน บาซ
แปลโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : www.binbaz.org.sa
2011 – 1432
﴿ ليلة القدر في العشر الأواخر من رمضان ﴾
« باللغة التايلاندية »
الشيخ عبد العزيز بن عبد الله بن باز رحمه الله
ترجمة: يوسف أبوبكر
مراجعة: صافي عثمان
المصدر: الموقع الرسمي لفضيلة الشيخ www.binbaz.org.sa
2011 – 1432
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
ค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ (ลัยละตุลก็อดรฺ) จะมีขึ้นในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน
ถาม : อัลลอฮฺ-สุบหานะฮู วะตะอะลา-ได้ให้ความประเสริฐในเดือนเราะมะฎอนอันศิริมงคลเหนือกว่าเดือนอื่นๆ ที่เหลือ และช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนประเสริฐกว่าค่ำคืนอื่นๆ ทั้งปี ค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ (ลัยละตุลก็อดรฺ) มีความประเสริฐยิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน จึงขอเรียนถามว่า ค่ำคืนอัล-ก็อดรฺจะเกิดขึ้นในวันที่จำกัด หรือมันจะเกิดขึ้นในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น ?
ตอบ : สำหรับค่ำคืน อัล-ก็อดรฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้บอกไว้ว่ามันจะเกิดขึ้นในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน และท่านยังได้อธิบายอีกว่าให้เน้นเป็นพิเศษในคืนคี่มากกว่าคืนคู่ ดังนั้นผู้ใดที่ได้แสวงหามันในค่ำคืนทั้งหมดเขาจะได้พบกับคืนนี้อย่างแน่นอน ดังมีหะดีษจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งท่านได้กล่าวว่า
«مَنْ قَامَ لَيْلَةَ القَدْرِ إِيْمَاناً وَاحْتِسَاباً غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ» (البخاري برقم 1901، ومسلم برقم 7060)
ความหมาย “ผู้ใดที่ละหมาดกิยามในค่ำคืนอัล-ก็อดรฺด้วยความศรัทธาและหวังในผลบุญ เขาจะได้รับการอภัยจากความผิดที่ผ่านมา" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 1901 และมุสลิมหมายเลขหะดีษ 7060)
ความหมายจากหะดีษข้างต้น คือ ผู้ใดที่ดำรงตนในค่ำคืนดังกล่าวด้วยการละหมาดและประกอบคุณงามความดีประเภทอื่นๆ ไม่ว่าการอ่านอัลกุรอาน การวิงวอนขอดุอาอ์ การบริจาคทาน ฯลฯ กระทำด้วยความศรัทธาว่าอัลลอฮฺได้บัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้ และหวังผลตอบแทนต่อพระองค์ โดยไม่ได้กระทำด้วยความโอ้อวดหรือมีเป้าหมายเพื่อโลกดุนยา อัลลอฮฺจะอภัยจากความผิดที่ผ่านมาของเขา ทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่(ญุมฮูรฺ)มีความเห็นว่า ภาคผลบุญที่กล่าวถึงในหะดีษนี้จะมีผลก็ต่อเมื่อได้หลีกเลี่ยงให้ห่างไกลจากบาปใหญ่แล้ว เนื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«الصَّلَوَاتُ الْخَمْسُ، وَالْجُمُعَةُ إِلَى الْجُمُعَةِ، وَرَمَضَانُ إِلَى رَمَضَانَ، مُكَفِّرَاتٌ مَا بَيْنَهُنَّ إِذَا اجْتَنَبَ الْكَبَائِرَ» (مسلم برقم 233)
ความหมาย “ช่วงเวลาระหว่างการละหมาดทั้งห้าเวลา ระหว่างการละหมาดวันศุกร์ในแต่ละสัปดาห์ และระหว่างเดือนเราะมะฎอนของแต่ละปี เป็นช่วงเวลาแห่งการลบล้างความผิดหรือบาปที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ถ้าหากว่าเขาได้หลีกเลี่ยงจากบาปใหญ่แล้ว" (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 233)
เราขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺให้พี่น้องมุสลิมทั่วทุกมุมโลกได้รับความสำเร็จ โดยการละหมาดในยามค่ำคืนด้วยความศรัทธาและหวังในภาคผลบุญ แน่แท้พระองค์คือผู้ทรงยิ่งแห่งความเอื้อเฟื้อ ผู้ทรงยิ่งแห่งความการุณ
อ้างถึง : มัจญ์มูอฺ ฟะตาวา วะ มะกอลาต มุตะเนาวิอะฮฺ เล่มที่ 15 ของชัยค์อับดุลอะซีซ บิน บาซ http://www.binbaz.org.sa/mat/636