ถือศีลอดเราะมะฎอนด้วยศรัทธาและหวังการตอบแทน
หมวดหมู่
Full Description
- โดย อ.อัสมัน แตอาลี
- อัลหัมดุลิลลาฮฺ พวกเราทุกคนต้องขอชุกูรต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ที่พระองค์ทรงเมตตาให้เราทุกคนได้มาใช้ชีวิตในเดือนเราะมะฎอนในปีนี้ อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพวกเราทุกคนต่างก็เฝ้ารอคอยเดือนที่เปี่ยมไปด้วยความบะเราะกะฮฺนี้มาตลอดทั้งปี เป็นช่วงวันที่เราทุกคนต่างก็น้อมรับคำบัญชาจากองค์อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา เพื่อทำอิบาดะฮฺอัศศิยามหรือการถือศีลอด ซึ่งเป็นหนึ่งในรุก่นอิสลามห้าประการที่มุสลิมทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติ
- ในช่วงกลางวันเราทุกคนต่างก็อดอาหาร อดน้ำและละเว้นทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ และในช่วงกลางคืนเราก็ลุกขึ้นทำการละหมาดตะรอวีหฺหลังจากละหมาดอิชาอ์ การกระทำดังกล่าวนี้ หาใช่เป็นการทรมานตัวเองไม่ หากแต่เป็นการถวายความจงรักภักดีต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ผู้อภิบาลสากลจักรวาลเท่านั้น
- พี่น้องที่มีเกียรติทุกท่าน
- เราทุกคนต่างก็มีความรู้สึกปิติยินดีและมีความสุขกับการมาเยือนของเดือนเราะมะฎอน และนี่ก็เป็นความรู้สึกที่สอดคล้องกับหะดีษท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บทหนึ่ง ท่านนบีได้กล่าวว่า
- ความว่า “เราะมะฎอนได้มาเยือนพวกท่านทั้งหลายแล้ว เดือนแห่งความประเสริฐ อัลลอฮฺทรงใช้ให้พวกเจ้าถือศีลอดในเดือนนี้ บรรดาประตูสวรรค์จะถูกเปิดไว้ และบรรดาประตูนรกก็ถูกปิดลง บรรดามารร้ายชัยฏอนก็จะถูกล่ามโซ่ไว้ สำหรับอัลลอฮฺในเดือนนี้ มีอยู่คืนหนึ่งที่(การอิบาดะฮฺในคืนนั้น)ประเสริฐกว่า(การอิบาดะฮฺใน)หนึ่งเดือน ผู้ใดที่ไม่ได้รับความดีของคืนดังกล่าว แท้จริงเขาก็จะ(เป็นผู้ที่)ถูกห้ามจากความดีงาม” (บันทึกโดย อัน-นะสาอียฺ, อัล-อัลบานียฺ วินิจฉัยว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ดู เศาะฮีหฺ วะ เฎาะอีฟ สุนัน อัน-นะสาอียฺ หมายเลข 2106)
- ท่านอิบนุ เราะญับ ได้กล่าวว่า “อุละมาอ์บางท่านระบุว่า หะดีษนี้เป็นการแสดงความยินดี (ตะฮฺนิอะฮฺ) ระหว่างผู้ศรัทธาด้วยกัน เนื่องในโอกาสการมาเยือนของเดือนเราะมะฎอน จะไม่ให้ผู้ศรัทธาแสดงความยินดีได้อย่างไร ในเมื่อประตูสวรรค์ได้ถูกเปิดเตรียมไว้แล้วสำหรับพวกเขา? ในขณะที่ประตูนรกก็ถูกลงกลอนและปิดลง อีกทั้ง มารร้ายชัยฏอนก็ถูกล่ามโซ่ไว้ ? จะหาโอกาสและเวลาใดอีกเล่าที่จะมีความประเสริฐ เสมือนกับเวลาในเดือนนี้”
ถือศีลอดเราะมะฎอนด้วยศรัทธาและหวังการตอบแทน
] ไทย – Thai – تايلاندي [
อัสมัน แตอาลี
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน
2011 – 1432
﴿ من صام رمضان إيمانًا واحتسابًا ﴾
« باللغة التايلاندية »
عزمان تي علي
مراجعة: صافي عثمان
2011 – 1432
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
“ถือศีลอดเราะมะฎอนด้วยศรัทธาและหวังการตอบแทน”
คุฏบะฮฺวันศุกร์ที่ 5 เราะมะฎอน ฮ.ศ. 1429 /5 กันยายน 2551
ณ มัสยิดวิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี
โดย อ.อัสมัน แตอาลี
إن الحمد لله نحمده ونستعينه ونستغفره ونتوب إليه، ونعوذبالله من شرور أنفسنا وسيئات أعمالنا، من يهده الله فلا مضل له ومن يضلل فلاهادي له، وأشهد أن لا إله الا الله وحده لا شريك له، وأشهد أن محمدا عبده ورسوله، اللهم صل على نبينا محمد وعلى آله وصحبه ومن دعا بدعوته إلى يوم الدين.
أما بعد، فقال الله تعالى : يا أيها الذين آمنوا اتقوا الله حق تقاته ولا تموتن إلا وأنتم مسلمون.
พี่น้องมุสลิมที่เคารพรักทั้งหลาย
อัลหัมดุลิลลาฮฺ พวกเราทุกคนต้องขอชุกูรต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ที่พระองค์ทรงเมตตาให้เราทุกคนได้มาใช้ชีวิตในเดือนเราะมะฎอนในปีนี้ อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพวกเราทุกคนต่างก็เฝ้ารอคอยเดือนที่เปี่ยมไปด้วยความบะเราะกะฮฺนี้มาตลอดทั้งปี เป็นช่วงวันที่เราทุกคนต่างก็น้อมรับคำบัญชาจากองค์อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา เพื่อทำอิบาดะฮฺอัศศิยามหรือการถือศีลอด ซึ่งเป็นหนึ่งในรุก่นอิสลามห้าประการที่มุสลิมทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติ
ในช่วงกลางวันเราทุกคนต่างก็อดอาหาร อดน้ำและละเว้นทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ และในช่วงกลางคืนเราก็ลุกขึ้นทำการละหมาดตะรอวีหฺหลังจากละหมาดอิชาอ์ การกระทำดังกล่าวนี้ หาใช่เป็นการทรมานตัวเองไม่ หากแต่เป็นการถวายความจงรักภักดีต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ผู้อภิบาลสากลจักรวาลเท่านั้น
พี่น้องที่มีเกียรติทุกท่าน
เราทุกคนต่างก็มีความรู้สึกปิติยินดีและมีความสุขกับการมาเยือนของเดือนเราะมะฎอน และนี่ก็เป็นความรู้สึกที่สอดคล้องกับหะดีษท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บทหนึ่ง ท่านนบีได้กล่าวว่า
«أَتَاكُمْ رَمَضَانَ، شَهْرٌ مُبَارَكٌ، فَرَضَ اللهُ عَزَّ وَجَلَّ عَلَيْكُمْ صِيَامَهُ، تُفْتَحُ فِيْهِ أَبْوَابُ السَّمَاءِ، وَتُغْلَقُ فِيْهِ أَبْوَابُ الْجَحِيْمِ، وَتُغَلُّ فِيْهِ مَرَدَةُ الشَّيَاطِيْنِ، للهِ فِيْهِ لِيْلَةٌ هِيَ خَيْرٌ مِنْ أَلْفِ شَهْرٍ، مَنْ حُرِمَ خَيْرَهَا فَقَدْ حُرِمَ» (رواه النسائي، وصححه الألباني كما في صحيح وضعيف سنن النسائي برقم 2106)
ความว่า “เราะมะฎอนได้มาเยือนพวกท่านทั้งหลายแล้ว เดือนแห่งความประเสริฐ อัลลอฮฺทรงใช้ให้พวกเจ้าถือศีลอดในเดือนนี้ บรรดาประตูสวรรค์จะถูกเปิดไว้ และบรรดาประตูนรกก็ถูกปิดลง บรรดามารร้ายชัยฏอนก็จะถูกล่ามโซ่ไว้ สำหรับอัลลอฮฺในเดือนนี้ มีอยู่คืนหนึ่งที่(การอิบาดะฮฺในคืนนั้น)ประเสริฐกว่า(การอิบาดะฮฺใน)หนึ่งเดือน ผู้ใดที่ไม่ได้รับความดีของคืนดังกล่าว แท้จริงเขาก็จะ(เป็นผู้ที่)ถูกห้ามจากความดีงาม” (บันทึกโดย อัน-นะสาอียฺ, อัล-อัลบานียฺ วินิจฉัยว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ดู เศาะฮีหฺ วะ เฎาะอีฟ สุนัน อัน-นะสาอียฺ หมายเลข 2106)
ท่านอิบนุ เราะญับ ได้กล่าวว่า “อุละมาอ์บางท่านระบุว่า หะดีษนี้เป็นการแสดงความยินดี (ตะฮฺนิอะฮฺ) ระหว่างผู้ศรัทธาด้วยกัน เนื่องในโอกาสการมาเยือนของเดือนเราะมะฎอน จะไม่ให้ผู้ศรัทธาแสดงความยินดีได้อย่างไร ในเมื่อประตูสวรรค์ได้ถูกเปิดเตรียมไว้แล้วสำหรับพวกเขา? ในขณะที่ประตูนรกก็ถูกลงกลอนและปิดลง อีกทั้ง มารร้ายชัยฏอนก็ถูกล่ามโซ่ไว้ ? จะหาโอกาสและเวลาใดอีกเล่าที่จะมีความประเสริฐ เสมือนกับเวลาในเดือนนี้”
พี่น้องที่มีเกียรติทุกท่าน
อิบาดะฮฺในเดือนเราะมะฎอนตามที่เราเคยได้ศึกษาและเรียนรู้มาก็มีหลายประการด้วยกัน แต่ที่หลักๆที่เราปฏิบัติกันเฉพาะเดือนนี้ก็มีสองประการ ประการแรกคืออัศ-ศิยามหรือการถือศีลอดในช่วงกลางวัน ซึ่งถือเป็นการทำอิบาดะฮฺที่เป็นฟัรฎูอัยนฺหรือวาญิบ ศาสนกิจบังคับที่จำเป็นต้องทำ และอีกประการหนึ่งคือการกิยามหรือการละหมาดในยามค่ำคืนไม่ว่าจะเป็นละหมาดตะรอวีหฺ ตะฮัจญุด หรือวิติรฺ แต่ ณ ที่นี้กระผมของพูดถึงการละหมาดตะรอวีหฺ เนื่องจากการละหมาดดังกล่าวมีเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการละหมาดสุนัตที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
พี่น้องที่มีเกียรติทุกท่าน
บรรดาอุละมาอ์ได้ให้คำนิยาม ศิยามเราะมะฎอน ไว้ว่าหมายถึง การงดหรือละเว้นจากการกระทำต่างๆ ที่จะทำให้ศิยามเป็นโมฆะ โดยมีการตั้งเจตนาในตอนกลางคืน และการงดนั้นจะเริ่มตั้งแต่เวลารุ่งอรุณจนถึงเวลาดวงอาทิตย์ตก
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«مَنْ لَمْ يُبَيِّتْ الصِّيَامَ قَبْلَ الْفَجْرِ فَلَا صِيَامَ لَهُ» (رواه النسائي، وصححه الألباني كما في صحيح وضعيف سنن النسائي برقم 2331)
ความว่า “ผู้ใดก็ตามที่ไม่ได้ตั้งเจตนาทำการถือศีลอดไว้ในเวลากลางคืน ก็ถือว่าไม่มีการถือศีลอดสำหรับเขา(สำหรับวันนั้น)” (บันทึกโดย อัน-นะสาอียฺ, อัล-อัลบานียฺ วินิจฉัยว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ดู เศาะฮีหฺ วะ เฎาะอีฟ สุนัน อัน-นะสาอียฺ หมายเลข 2331)
อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ وَكُلُواْ وَٱشۡرَبُواْ حَتَّىٰ يَتَبَيَّنَ لَكُمُ ٱلۡخَيۡطُ ٱلۡأَبۡيَضُ مِنَ ٱلۡخَيۡطِ ٱلۡأَسۡوَدِ مِنَ ٱلۡفَجۡرِۖ ثُمَّ أَتِمُّواْ ٱلصِّيَامَ إِلَى ٱلَّيۡلِۚ ﴾ (البقرة : 187)
ความว่า “และพวกเจ้าทั้งหลาย จงกิน จงดื่ม จนกระทั่งเส้นสีขาว(แสงสว่างของรุ่งอรุณ) จะประจักษ์แก่พวกเจ้าจากเส้นสีดำ(ความมืดของกลางคืน) แล้วพวกเจ้าจงทำให้การถือศีลอดครบสมบูรณ์จนถึงพลบค่ำ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 187)
พี่น้องที่มีเกียรติทุกท่าน
สำหรับอายะฮฺที่เป็นหลักฐานว่าวาญิบถือศีลอดในเดือนเราะมะฏอนนั้น อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ ١٨٣﴾ (البقرة : 183)
ความว่า “โอ้บรรดาศรัทธาชนทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกบัญญัติแก่บรรดาประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้ว เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ตักวา” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 183)
และอีกอายะฮฺหนึ่ง อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ شَهۡرُ رَمَضَانَ ٱلَّذِيٓ أُنزِلَ فِيهِ ٱلۡقُرۡءَانُ هُدٗى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَٰتٖ مِّنَ ٱلۡهُدَىٰ وَٱلۡفُرۡقَانِۚ فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ ٱلشَّهۡرَ فَلۡيَصُمۡهُۖ﴾ (البقرة : 185)
ความว่า “เดือนเราะมะฎอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาเพื่อเป็นทางนำสำหรับมวลมนุษย์ เป็นคำแจกแจงที่มาจากแนวทางที่ถูกต้องและแยกสัจธรรมออกจากความมดเท็จ ดังนั้น ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนี้แล้วก็จงถือศีลอดเถิด” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 185)
พี่น้องที่มีเกียรติทุกท่าน
หลังจากที่เราได้เข้าใจความหมายและหุกมของการถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนแล้ว ยังมีคำถามอีกหนึ่งคำถามที่เราต้องหาคำตอบก็คือ เราจะทำอย่างไรให้การถือศีลอดหรือศิยามของเราให้เต็มไปด้วยอีมาน(ความศรัทธา)และอิหฺติสาบ(หวังผลบุญจากอัลลอฮฺ/ความคาดหวังเพื่อให้อัลลอฮฺทรงตอบรับ)? ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าการถือศีลอดหรือศิยาม ในลักษณะดังกล่าวนี้จะมีผลทำให้บาปของเราที่ผ่านมาจะถูกลบล้างไป
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
« مَنْ صَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ» (البخاري برقم 38، مسلم برقم 1817)
ความว่า “ผู้ใดก็ตามที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ด้วยความศรัทธา(น้อมรับพระบัญชาของอัลลอฮฺ)และหวังผลตอบแทนจากพระองค์ แน่นอนเขาจะได้รับการอภัยโทษในบาปของเขาที่ผ่านมา” (อัล-บุคอรียฺ 38, มุสลิม 1817)
ท่านอัล-หาฟิซ อิบนุ หะญัร อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้อธิบายในหนังสือของท่านฟัตหุลบารีย์ว่า “คำว่าอีมาน หมายถึง “ความเชื่อมั่นในสัญญาของอัลลอฮฺต่อการปฏิบัติดังกล่าว” และคำว่าอิหฺติสาบ หมายถึง “หวังผลตอบแทน (ผลบุญจากอัลลอฮฺ) เท่านั้น ไม่มีเจตนาอื่นใดแอบแฝง ไม่ว่าจะเป็นการโอ้อวด (ริยาอ์) หรือหวังคำชมเชยจากมนุษย์ หรือถือศีลอดเพียงปฏิบัติตามผู้อื่น(ตักลีด) หรือสาเหตุอื่นๆ”
และอุละมาอ์ยังได้อธิบายคำว่าบาป(ซันบุน)ในหะดีษนี้อีกว่า อัลลอฮฺจะลบล้างบาปทั้งหมดที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นบาปเล็กหรือบาปใหญ่ แต่ตามทัศนะของญุมฮูรฺ(อุละมาอ์ส่วนใหญ่)เห็นว่าในหะดีษนี้หมายถึงบาปเล็กเท่านั้น เนื่องจากบาปใหญ่จำเป็นจะต้องเตาบะฮฺอย่างแท้จริง ดังหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«وَرَمَضَانُ إِلَى رَمَضَانَ مُكَفِّرَاتٌ مَا بَيْنَهُنَّ إِذَا اجْتَنَبَ الْكَبَائِرَ» (مسلم برقم 574)
ความว่า “และระหว่างเดือนเราะมะฎอนของแต่ละปี เป็นช่วงเวลาแห่งการลบล้างความผิดหรือบาปที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ยกเว้นบาปใหญ่” (มุสลิม 574)
พี่น้องที่มีเกียรติทุกท่าน
อัลลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ให้ความสำคัญกับอิบาดะฮฺศิยามเดือนเราะมะฎอนมากกว่าอิบาดะฮฺอื่นๆ ดังหะดีษกุดสียฺต่อไปนี้
أن أَبَا هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ قَالَ : سَمِعْتُ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَقُولُ : «قَالَ اللَّهُ عَزَّ وَجَلَّ : كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَمَ لَهُ إِلَّا الصِّيَامَ، هُوَ لِي وَأَنَا أَجْزِي بِهِ» (مسلم: 2760)
ความว่า รายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “อัลลอฮฺได้มีดำรัสว่า การงานทุกอย่างของลูกหลานอาดัมนั้นจะได้รับผลบุญตามส่วนที่เขาได้กระทำ ยกเว้นศิยาม ซึ่งเป็นสิทธิของเรา และเราจะตอบแทนตามความประสงค์ของเราเอง” (มุสลิม 2760)
«يَتْرُكُ طَعَامَهُ وَشَرَابَهُ وَشَهْوَتَهُ مِنْ أَجْلِي، الصِّيَامُ لِي وَأَنَا أَجْزِي بِهِ، وَالْحَسَنَةُ بِعَشْرِ أَمْثَالِهَا» (البخاري برقم 1894)
ความว่า “ผู้ที่ถือศีลอดได้ละเว้นและอดกลั้นจากอาหารของเขา เครื่องดื่มของเขา และอารมณ์ใคร่ของเขาเพื่อเรา(อัลลอฮฺ) ดังนั้นการถือศีลอดเป็นสิทธิของเรา และเราจะตอบแทนตามความประสงค์ของเราเอง ซึ่งการทำความดี(ทั่วๆ ไป)หนึ่งครั้งนั้นจะได้ผลบุญสิบเท่า” (อัล-บุคอรียฺ 1894)
ท่านอิมามอัน-นะวะวีย์ได้อธิบายในหนังสือชัรหฺ เศาะฮีหฺ มุสลิม (7/271) ว่า ความจริงแล้ว อิบาดะฮฺทุกอย่างก็เป็นสิทธิของอัลลอฮฺในการให้ ผลตอบแทน แต่บรรดาอุละมาอ์มีความเห็นต่างกันในความหมายของหะดีษนี้
- บางคนให้ความหมายว่า ก็เพราะการถือศีลอดเป็นอิบาดะฮฺที่ห่างไกลจากการริยาอ์(โอ้อวด) ทั้งนี้เนื่องจากว่าเป็นอิบาดะฮฺที่มีลักษณะถูกเก็บซ่อนไว้กับตัว ซึ่งมีความแตกต่างจากการละหมาด หัจญ์ การบริจาคทาน และอื่นๆ ที่มีลักษณะการกระทำที่เปิดเผยต่อสาธารณชนย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดการโอ้อวดหรือต้องการคำชื่นชม เยินยอ จากผู้ที่พบเห็น
- บางคนให้ความหมายว่า ก็เพราะการไม่รับประทานอาหารและไม่ดื่ม เป็นส่วนหนึ่งของคุณลักษณะของอัลลอฮฺ ดังนั้นผู้ที่ถือศีลอดในช่วงเวลาประมาณสิบสี่ชั่วโมงก็มีความใกล้เคียงกัน ถึงแม้ว่าคุณลักษณะของอัลลอฮฺจะแตกต่างกับสิ่งที่ถูกสร้างทั้งหมดก็ตาม
- บางคนให้ความหมายว่า อัลลอฮฺผู้เดียวที่ทรงรู้จำนวนผลบุญของการถือศีลอด ดังนั้นพระองค์จะทรงเพิ่มพูนผลบุญของการถือศีลอดหลายต่อหลายเท่า ตามพระประสงค์ของพระองค์ ซึ่งจะแตกต่างจากอิบาดะฮฺอื่นๆ ที่พระองค์ได้ทรงกำหนดไว้เช่น สิบเท่า ยี่สิบห้าเท่า เจ็ดสิบเท่า เจ็ดร้อยเท่า เป็นต้น พระองค์จึงตรัสในลักษณะแสดงความเป็นเจ้าของว่า “การถือศีลอดเป็นสิทธิของเรา และเราจะตอบแทนตามความประสงค์ของเราเอง” แสดงให้เห็นว่าเป็นอิบาดะฮฺที่ประเสริฐและมีผลตอบแทนอย่างมหาศาล
พี่น้องที่มีเกียรติทุกท่าน
อิบาดะฮฺอีกประการหนึ่งที่มีเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนคือละหมาดตะรอวีหฺ ซึ่ง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ قَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ» (البخاري برقم 37، مسلم برقم 1815)
ความว่า “ผู้ใดก็ตามที่ยืนขึ้นเพื่อทำการละหมาดในเดือนเราะมะฎอน ด้วยความศรัทธา(น้อมรับพระบัญชาของอัลลอฮฺ)และหวังผลตอบแทนจากพระองค์ แน่นอนเขาจะได้รับการอภัยโทษในบาปของเขาที่ผ่านมา” (อัล-บุคอรียฺ 37, มุสลิม 1815)
และหะดีษอีกบทหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ قَامَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ» (البخاري برقم 1901)
ความว่า “ผู้ใดก็ตามที่ยืนขึ้นเพื่อทำการละหมาดในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ ด้วยความศรัทธา(น้อมรับพระบัญชาของอัลลอฮฺ)และหวังผลตอบแทนจากพระองค์ แน่นอนเขาจะได้รับการอภัยโทษในบาปของเขาที่ผ่านมา” (อัล-บุคอรียฺ 1901)
คำว่า "قامقَامَ" ในสองหะดีษข้างต้นนั้นหมายถึงการละหมาดในยามค่ำคืนซึ่งในเดือนเราะมะฎอนจะมีการละหมาดชนิดหนึ่งที่บทบัญญัติอิสลามได้กำหนดขึ้นเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น นั่นก็คือ “ละหมาดตะรอวีหฺ” ซึ่งคำว่า ตะรอวีหฺ มาจากคำว่า “รอหะฮฺ” มีความหมายว่า การหยุดพัก ทั้งนี้ ก็เนื่องจากว่าผู้ละหมาดตะรอวีหฺจะมีการหยุดพักหลังจากละหมาดครบสี่ร็อกอะฮฺหรือในทุกๆ สี่ร็อกอะฮฺ
สำหรับหุก่มของการ “ละหมาดตะรอวีหฺ” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กิยาม เราะมะฎอน” นั้นเป็น สุนัต มุอักกะดะฮฺ ตามหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«مَنْ قَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ» (البخاري برقم 37، مسلم برقم 1815)
ความว่า “ผู้ใดก็ตามที่ยืนขึ้นเพื่อทำการละหมาดในเดือนเราะมะฎอน ด้วยความศรัทธา(น้อมรับพระบัญชาของอัลลอฮฺ)และหวังผลตอบแทนจากพระองค์ แน่นอนเขาจะได้รับการอภัยโทษในบาปของเขาที่ผ่านมา” (อัล-บุคอรียฺ 37, มุสลิม 1815)
หะดีษรายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา
أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ خَرَجَ ذَاتَ لَيْلَةٍ مِنْ جَوْفِ اللَّيْلِ، فَصَلَّى فِي الْمَسْجِدِ فَصَلَّى رِجَالٌ بِصَلَاتِهِ، فَأَصْبَحَ النَّاسُ فَتَحَدَّثُوا، فَاجْتَمَعَ أَكْثَرُ مِنْهُمْ فَصَلَّوْا مَعَهُ، فَأَصْبَحَ النَّاسُ فَتَحَدَّثُوا فَكَثُرَ أَهْلُ الْمَسْجِدِ مِنْ اللَّيْلَةِ الثَّالِثَةِ، فَخَرَجَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَصَلَّوْا بِصَلَاتِهِ، فَلَمَّا كَانَتْ اللَّيْلَةُ الرَّابِعَةُ عَجَزَ الْمَسْجِدُ عَنْ أَهْلِهِ، ـ وفي رواية لمسلم : فَلَمْ يَخْرُجْ إِلَيْهِمْ رَسُولُ اللَّهِ -صلى الله عليه وسلم- فَطَفِقَ رِجَالٌ مِنْهُمْ يَقُولُونَ : الصَّلاَةَ، فَلَمْ يَخْرُجْ إِلَيْهِمْ رَسُولُ اللَّهِ صلى الله عليه وسلم ـ حَتَّى خَرَجَ لِصَلَاةِ الصُّبْحِ فَلَمَّا قَضَى الْفَجْرَ أَقْبَلَ عَلَى النَّاسِ فَتَشَهَّدَ ثُمَّ قَالَ : «أَمَّا بَعْدُ فَإِنَّهُ لَمْ يَخْفَ عَلَيَّ مَكَانُكُمْ لَكِنِّي خَشِيتُ أَنْ تُفْرَضَ عَلَيْكُمْ فَتَعْجِزُوا عَنْهَا» البخاري برقم 924، مسلم برقم 1820)
ความว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ออกไปยังมัสญิดในยามดึก(ของเดือนเราะมะฎอน)แล้วทำการละหมาด และได้มีเศาะหาบะฮฺบางคนละหมาดพร้อมท่านด้วย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้มีการพูดต่อๆ กันไปในหมู่เศาะหาบะฮฺ จนกระทั่งมีคนมาละหมาดกับท่านมากขึ้น คืนที่สองท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ออกไปละหมาดอีก ได้มีผู้คนมาละหมาดกับท่านมากขึ้นอีก และพวกเขาก็ได้พูดถึงเรื่องนี้ในเวลารุ่งขึ้น เมื่อถึงคืนที่สามท่านเราะสูลได้ออกไปละหมาดอีกและได้มีผู้คนไปละหมาดกับท่านเหมือนเดิม พอถึงคืนที่สี่มัสยิดก็เต็มจนไม่สามารถจุผู้คนที่มีจำนวนเยอะได้ (ในรายงานของมุสลิมระบุว่า ท่านเราะสูลไม่ออกมาในคืนนี้ ผู้ชายบางคนจึงได้กล่าวว่า อัศ-เศาะลาฮฺ(มาละหมาดกันเถิด) ท่านเราะสูลยังคงไม่ออกไป) จนกระทั่งถึงรุ่งเช้า ท่านจึงออกไปละหมาดฟัจญ์รฺ(ละหมาดศุบหฺ) เมื่อท่านละหมาดเสร็จท่านได้หันหน้าเข้าหาผู้ที่มาร่วมละหมาด และกล่าวว่า “แท้จริงแล้ว เรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อคืนนี้ เรารับรู้ทั้งหมด แต่สาเหตุที่เรามิได้ออกมาละหมาดกับพวกท่านอีกนั้น ก็เพราะเรากลัวว่าการละหมาดในยามค่ำคืนจะถูกบัญญัติให้เป็นฟัรฎูสำหรับพวกท่าน แล้วพวกท่านก็จะอ่อนแรงที่จะปฏิบัติมัน” (อัล-บุคอรียฺ 924, มุสลิม 1820)
สำหรับเวลาและวิธีการละหมาดตะรอวีหฺนั้น เวลาของวิธีการละหมาดตะรอวีหฺ จะเริ่มการละหมาดหลังจากละหมาดอิชาอ์ไปจนถึงก่อนละหมาดศุบหฺ โดยจะมีการให้สลามในทุกๆ สองร็อกอะฮฺ และมีการหยุดพักหลังจากสี่ร็อกอะฮฺ
ท่านอิมามอัน-นะวะวีย์ได้กล่าวถึงเกี่ยวกับรูปแบบการละหมาดตะรอวีหฺในหนังสือบทอธิบายเศาะฮีหฺมุสลิม (6/286) มีใจความว่า บรรดาอุละมาอ์มีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างการละหมาดตะรอวีหฺคนเดียวที่บ้านกับการละหมาดตะรอวีหฺในลักษณะญะมาอะฮฺที่มัสญิด การละหมาดในลักษณะใดดีกว่ากัน? ซึ่งอิมามอัช-ชาฟิอีย์ อิมาม, อบู หะนีฟะฮฺ, อิมามอะหฺมัด และอุละมาอ์มัซฮับมาลิกีย์บางคนมีทัศนะว่าการละหมาดตะรอวีหฺในลักษณะญะมาอะฮฺที่มัสญิดดีกว่า ดังเช่นการกระทำของท่านอุมัรฺ อิบนุ อัล-ค็อฏฏอบ และบรรดาเศาะหาบะฮฺ ในขณะที่อิมามมาลิก อบู ยูซุฟ และอุละมาอ์มัซฮับอัช-ชาฟิอีย์บางคนมีทัศนะว่าการละหมาดตะรอวีหฺคนเดียวที่บ้านดีกว่า โดยยึดหะดีษท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ได้กล่าวไว้ความว่า “การละหมาดที่ดีที่สุด คือ การละมาดคนเดียวที่บ้าน ยกเว้นการละหมาดฟัรฎู(ห้าเวลา)”
สำหรับจำนวนร็อกอะฮฺนั้น คือ สิบเอ็ดร็อกอะฮฺรวมละหมาดวิติรฺ ตามหะดีษที่รายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า
عَنْ أَبِي سَلَمَةَ بْنِ عَبْدِ الرَّحْمَنِ أَنَّهُ سَأَلَ عَائِشَةَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهَا: كَيْفَ كَانَتْ صَلَاةُ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِي رَمَضَانَ؟ فَقَالَتْ: مَا كَانَ يَزِيدُ فِي رَمَضَانَ وَلَا فِي غَيْرِهِ عَلَى إِحْدَى عَشْرَةَ. (البخاري برقم 2013)
ความว่า จาก อบู สะละมะฮฺ บิน อับดุรเราะห์มาน ได้ถามท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า การละหมาดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในเดือนเราะมะฎอนเป็นเช่นไร? ท่านหญิงอาอิชะฮฺตอบว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ละหมาดทั้งในเดือนเราะมะฎอนและในเดือนอื่นๆ ไม่เกินสิบเอ็ดร็อกอะฮฺ (อัล-บุคอรียฺ 2013)
ท่าน อัล-หาฟิซ อิบนุ หะญัร อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้รวบรวมในฟัตหุลบารีย์ เกี่ยวกับจำนวนร็อกอะฮฺของการละหมาดตะรอวีหฺและวิติรฺ ที่ได้มีการปฏิบัติกัน คือ 11 ร็อกอะฮฺ, 13 ร็อกอะฮฺ, 21 ร็อกอะฮฺ, 23 ร็อกอะฮฺ, 36 ร็อกอะฮฺ, 41 ร็อกอะฮฺ และ 47 ร็อกอะฮฺ
ซึ่งการละหมาดยี่สิบร็อกอะฮฺไม่รวมวิติรฺเป็นการกระทำของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนุ อัล-ค็อฏฏอบ และ 36 ร็อกอะฮฺก็เป็นการกระทำของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนุ อับดุลอะซีซ
อย่างไรก็ตามหะดีษที่เศาะฮีหฺที่เกี่ยวกับการละหมาดของท่านนบีในเดือนเราะมะฎอนนั้น คือหะดีษอาอิชะฮฺข้างต้น ส่วนหะดีษของท่านอิบนุ อับบาสที่รายงานว่าท่านนบีละหมาดในเดือนเราะมะฎอนยี่สิบร็อกอะฮฺและวิติรฺนั้น เป็นหะดีษที่เฎาะอีฟ ตามที่ท่านอัล-หาฟิซ อิบนุหะญัร อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวไว้
และสุนัตให้ละหมาดตะรอวีหฺพร้อมกับอิมามจนเสร็จสิ้นการละหมาด ตามหะดีษที่รายงานโดยอบู ซัรร์ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«إِنَّهُ مَنْ قَامَ مَعَ الْإِمَامِ حَتَّى يَنْصَرِفَ كَتَبَ اللَّهُ لَهُ قِيَامَ لَيْلَةٍ» (الترمذي برقم 734، والنسائي برقم 1587، وابن ماجه برقم 1317، وصحح الألباني كما في صحيح الجامع برقم 2417)
ความว่า “ผู้ใดก็ตามที่ละหมาดพร้อมกับอิมามจนเสร็จสิ้นการละหมาด เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับการละหมาดตลอดทั้งคืน” (อัต-ติรมิซียฺ 734, อัน-นะสาอียฺ 1587, อิบนุ มาญะฮฺ 1317, อัล-อัลบานียฺ กล่าวว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 2417)
بارك الله لي ولكم في القرآن العظيم، ونفعني وإياكم بما فيه من الآيات والذكر الحكيم، وتقبل مني ومنكم تلاوته، إنه هو السميع العليم. وأستغفر الله لي ولكم من كل ذنب فاستغفروه إنه هو الغفور الرحيم.