×
ซะกาต ระหว่างหน้าที่และโทษของการละเลย กล่าวถึงบทบัญญัติข้อหนึ่งจากหลักการอิสลามทั้งห้าประการ พร้อมด้วยหลักฐานจากอัลกุรอานและหะดีษ(วจนะ)ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ระบุถึงความจำเป็นของการจ่ายซะกาต รวมทั้งโทษต่างๆ ที่ผู้ละเลยไม่จ่ายซะกาตจะต้องได้รับ จากหนังสืออัดดุร็อร อัลมุนตะกอฮฺ ของ ดร.อะมีน อัชชะกอวีย์

    ซะกาต ระหว่างหน้าที่และโทษของการละเลย

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : อับดุศศอมัด อัดนาน

    ตรวจทานโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ

    2011 – 1432


    ﴿ الزكاة ﴾

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبد الله الشقاوي

    ترجمة: عبدالصمد عدنان

    مراجعة: يوسف أبوبكر

    2011 – 1432

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    บทที่ 105

    ซะกาต ระหว่างหน้าที่และโทษของการละเลย

    การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์...

    ซะกาต เป็นบทบัญญัติที่สำคัญยิ่งในศาสนาอิสลามซึ่งถูกกำหนดขึ้นมาเป็นกฏหมายที่มุสลิมต้องถือปฏิบัติในวิถีชีวิต เป็นหลักการที่สามแห่งหลักการที่ยิ่งใหญ่ มีหลักฐานจากอัลกุรอาน หะดีษ และมติจากบรรดาปวงปราชญ์มากมายที่บ่งชี้ว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็น

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿وَأَقِيمُواْ ٱلصَّلَوٰةَ وَءَاتُواْ ٱلزَّكَوٰةَ وَٱرۡكَعُواْ مَعَ ٱلرَّٰكِعِينَ﴾ (البقرة: 43)

    ความว่า “และพวกท่านจงดำรงละหมาด และจ่ายซะกาต และจงโค้งคารวะต่ออัลลอฮฺพร้อมกับผู้โค้งคารวะทั้งหลาย” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 43)

    พระองค์ตรัสอีกว่า

    ﴿وَءَاتُواْ حَقَّهُۥ يَوۡمَ حَصَادِهِۦۖ وَلَا تُسۡرِفُوٓاْۚ إِنَّهُۥ لَا يُحِبُّ ٱلۡمُسۡرِفِينَ﴾ (الأنعام : 141)

    ความว่า “และพวกเจ้าจงจ่ายซะกาตพืชผลในวันที่เก็บเกี่ยว และอย่าได้ฟุ่มเฟือย แท้จริงแล้วอัลลอฮฺไม่ชอบผู้ที่ฟุ่มเฟือยทั้งหลาย” (อัล- อันอาม : 141)

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «بُنِيَ الْإِسْلَامُ عَلَى خَمْسٍ شَهَادَةِ أَنْ لَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ وَأَنَّ مُحَمَّدًا رَسُولُ اللَّهِ وَإِقَامِ الصَّلَاةِ وَإِيتَاءِ الزَّكَاةِ وَالْحَجِّ وَصَوْمِ رَمَضَانَ» (رواه البخاري برقم 8، ومسلم برقم 16)

    ความว่า “อิสลามวางอยู่บนรากฐาน 5 ประการ คือ

    1. กล่าวปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าที่ควรแก่การภักดีนอกจากอัลลอฮฺ และท่านนบีมุหัมมัดเป็นเราะสูลของอัลลอฮฺ

    2. ดำรงการละหมาด

    3. จ่ายซะกาต

    4. ประกอบพิธีหัจญ์

    5. ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน”

    (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 8 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 16)

    และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวอีกว่า

    «أُمِرْتُ أَنْ أُقَاتِلَ النَّاسَ حَتَّى يَشْهَدُوا أَنْ لَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ وَأَنَّ مُحَمَّدًا رَسُولُ اللَّهِ، وَيُقِيمُوا الصَّلَاةَ، وَيُؤْتُوا الزَّكَاةَ، فَإِذَا فَعَلُوا ذَلِكَ عَصَمُوا مِنِّي دِمَاءَهُمْ وَأَمْوَالَهُمْ إِلَّا بِحَقِّ الْإِسْلَامِ وَحِسَابُهُمْ عَلَى اللَّهِ» (رواه البخاري برقم 25، ومسلم برقم 22)

    ความว่า ”ฉันได้รับบัญชาให้ทำการต่อสู้กับมวลมนุษย์จนกว่าพวกเขาจะกล่าวปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นนอกจากอัลลอฮฺ และมุหัมมัดเป็นเราะสูลของอัลลอฮฺ ดำรงการละหมาด และจ่ายซะกาต ตราบใดที่พวกเขาถือปฏิบัติเช่นนั้นพวกเขาจะไดรับการปกป้องคุ้มครองเลือดเนื้อและทรัพย์สินจากฉัน เว้นแต่ด้วยสิทธิแห่งอิสลาม ส่วนการคิดบัญชีต่อพฤติกรรมของพวกเขาเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 25 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 22)

    และมีรายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ”มีอาหรับชนบทคนหนึ่งมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วได้กล่าวกับท่านว่า ขอให้ท่านได้โปรดแนะนำสิ่งดีๆ เมื่อฉันถือปฏิบัติแล้วฉันจะได้เข้าสวรรค์ด้วยเถิด”

    قال صلى الله عليه وسلم : «تَعْبُدُ اللَّهَ لَا تُشْرِكُ بِهِ شَيْأً، وَتُقِيمُ الصَّلَاةَ، وَتُؤَدِّي الزَّكَاةَ الْمَفْرُوضَةَ، وَتَصُومُ رَمَضَانَ» قَالَ: وَالَّذِي نَفْسِي بِيَدِهِ لَا أَزِيدُ عَلَى هَذَا، فَلَمَّا وَلَّى قَالَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: «مَنْ سَرَّهُ أَنْ يَنْظُرَ إِلَى رَجُلٍ مِنْ أَهْلِ الْجَنَّةِ فَلْيَنْظُرْ إِلَى هَذَا» (رواه البخاري برقم 1397، ومسلم برقم 14)

    ท่านนบีแนะนำว่า ”เจ้าจงเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺโดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนใดๆ ร่วมกับพระองค์ ดำรงการละหมาด จ่ายซะกาตที่เป็นวาญิบ และถือศีลอดเดือนเราะมะฏอน” ชายผู้นั้นกล่าวว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่าฉันจะไม่ทำไปมากกว่านี้ เมื่อเขาได้ผินหลังจากไปท่านนบีจึงกล่าวว่า ”ใครต้องการที่จะเห็นชาวสวรรค์ก็จงให้มองชายคนนี้” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 1397 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 14)

    และได้มีการคาดโทษเอาไว้อย่างรุนแรงสาหัสแก่บรรดาผู้ที่ตระหนี่หรือไม่สนใจที่จะจ่ายซะกาต โดยที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    ﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ إِنَّ كَثِيرٗا مِّنَ ٱلۡأَحۡبَارِ وَٱلرُّهۡبَانِ لَيَأۡكُلُونَ أَمۡوَٰلَ ٱلنَّاسِ بِٱلۡبَٰطِلِ وَيَصُدُّونَ عَن سَبِيلِ ٱللَّهِۗ وَٱلَّذِينَ يَكۡنِزُونَ ٱلذَّهَبَ وَٱلۡفِضَّةَ وَلَا يُنفِقُونَهَا فِي سَبِيلِ ٱللَّهِ فَبَشِّرۡهُم بِعَذَابٍ أَلِيمٖ ٣٤ يَوۡمَ يُحۡمَىٰ عَلَيۡهَا فِي نَارِ جَهَنَّمَ فَتُكۡوَىٰ بِهَا جِبَاهُهُمۡ وَجُنُوبُهُمۡ وَظُهُورُهُمۡۖ هَٰذَا مَا كَنَزۡتُمۡ لِأَنفُسِكُمۡ فَذُوقُواْ مَا كُنتُمۡ تَكۡنِزُونَ ﴾ (سورة التوبة: 34-35)

    ความว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! แท้จริงมีบรรดานักปราชญ์ และบาทหลวงจำนวนมากมายที่กินทรัพย์ของประชาชนโดยไม่ชอบ และขัดขวาง(ผู้คน)ให้ออกจากแนวทางของอัลลอฮฺและบรรดาผู้ที่สะสมทองและเงิน โดยไม่จ่ายมันในหนทางของอัลลอฮฺ ดังนั้นจงแจ้งข่าวดีแก่พวกเขาเถิด ด้วยการลงโทษอันเจ็บปวด วันที่มันจะถูกเผาไฟนรกแห่งญะฮันนัม แล้วหน้าผากของพวกเขา และสีข้างของพวกเขา และหลังของพวกเขาจะถูกนาบด้วยมัน นี่แหละคือสิ่งที่พวกเจ้าได้สะสมไว้ เพื่อตัวของพวกเจ้าเอง ดังนั้นจงลิ้มรสสิ่งที่พวกเจ้าสะสมไว้เถิด” (อัต-เตาบะฮฺ : 34-35)

    ฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามหากไม่มีการจ่ายซะกาตในทรัพย์สินที่มีมันจะกลายเป็นขุมทรัพย์ที่เป็นสาเหตุให้ผู้ครอบครองได้รับการลงโทษในวันกิยามะฮฺ

    ดังปรากฏในหะดีษจากของอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «مَا مِنْ صَاحِبِ ذَهَبٍ وَلاَ فِضَّةٍ لاَ يُؤَدِّى مِنْهَا حَقَّهَا؛ إِلاَّ إِذَا كَانَ يَوْمُ الْقِيَامَةِ صُفِّحَتْ لَهُ صَفَائِحَ مِنْ نَارٍ، فَأُحْمِىَ عَلَيْهَا فِى نَارِ جَهَنَّمَ، فَيُكْوَى بِهَا جَنْبُهُ وَجَبِينُهُ وَظَهْرُهُ، كُلَّمَا بَرَدَتْ أُعِيدَتْ لَهُ، فِى يَوْمٍ كَانَ مِقْدَارُهُ خَمْسِينَ أَلْفَ سَنَةٍ، حَتَّى يُقْضَى بَيْنَ الْعِبَادِ فَيُرَى سَبِيلُهُ إِمَّا إِلَى الْجَنَّةِ وَإِمَّا إِلَى النَّارِ» (مسلم برقم 978)

    ความว่า “ผู้ใดที่ได้ครอบครองทองและเงินแล้วไม่จ่ายซะกาตตามสิทธิแห่งทรัพย์สินนั้น ในวันกิยามะฮฺจะมีแผ่นเหล็กที่ทำจากไฟ จากนั้นถูกนำไปย่างกับไฟนรกญะฮันนัม แล้วจึงนำมาทาบสีข้าง หน้าผาก และแผ่นหลังของเขา คราใดที่มันเย็นลง ก็จะถูกนำกลับมาทำอย่างเดิม จะเป็นเช่นนี้ทุกวัน ซึ่งระยะเวลาหนึ่งวันในวันนั้นเท่ากับห้าหมื่นปีในวันนี้ จนกว่าอัลลอฮฺจะคิดบัญชีของปวงบ่าว ซึ่งเขาจะเห็นที่อยู่ของเขาว่าจะอยู่ในสวรรค์หรือในนรก” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 978)

    และอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ได้รายงานอีกหะดีษหนึ่ง ซึ่งมีความหมายโดยสรุปคือ เจ้าของอูฐ วัว และแพะที่ไม่ได้จ่ายซะกาตที่เป็นวาญิบ ในวันกิยามะฮฺเขาจะถูกจับให้นอนราบลงกับพื้นดินต่อหน้า สัตว์เหล่านั้น ซึ่งมันจะมาเหยียบย่ำตัวของเขาด้วยกีบเท้าของมัน และแทงตัวของเขาด้วยเขาของมัน เมื่อตัวแรกในฝูงได้กระทำผ่านไปแล้ว ตัวต่อมาก็จำทะเช่นเดียวกัน และจะทำเช่นนี้ตลอดไปจนกว่าจะมีการตัดสินระหว่างปวงบ่าว แล้วเขาจะได้เห็นจุดจบของเขาว่าสวรรค์หรือนรก (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 4659 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 978)

    ญาบิรฺ บิน อับดุลลอฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «وَلاَ مِنْ صَاحِبِ مَالٍ لاَ يُؤَدِّى زَكَاتَهُ إِلاَّ تَحَوَّلَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ شُجَاعًا أَقْرَعَ، يَتْبَعُ صَاحِبَهُ حَيْثُمَا ذَهَبَ، وَهُوَ يَفِرُّ مِنْهُ، وَيُقَالُ : هَذَا مَالُكَ الَّذِى كُنْتَ تَبْخَلُ بِهِ، فَإِذَا رَأَى أَنَّهُ لاَ بُدَّ مِنْهُ أَدْخَلَ يَدَهُ فِى فِيهِ فَجَعَلَ يَقْضَمُهَا كَمَا يَقْضَمُ الْفَحْلُ» (البخاري برقم 1403، ومسلم 988)

    ความว่า “และไม่ว่าเจ้าของทรัพย์สินคนใดที่ไม่ยอมจ่ายซะกาต ในวันกิยามะฮฺทรัพย์สินเหล่านี้จะกลายเป็นงูพิษตัวใหญ่ ซึ่งจะคอยติดตามรุกรานเขาไปทุกที่ ไม่ว่าเขาจะวิ่งหนีไป ณ ที่ใดก็ตาม และมีเสียงกล่าวบอกว่า นี่คือทรัพย์ที่เจ้าเคยตระหนี่เอาไว้ เมื่อเขาเห็นว่าหนีไม่พ้นแล้ว เขาจึงเอามือล้วงเข้าไปในปากของเขางูแล้วมันก็จะกัดมือเจ้าของเช่นเดียวกับการกัดกินของสัตว์ตัวผู้” ( บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 1403 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 988)

    สิ่งที่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตมี 4 ประเภท

    1. พืชผลทางการเกษตร ที่เป็นเมล็ดและผลไม้

    2. สัตว์เลี้ยง เช่น อูฐ วัว แพะ

    3. ทอง และเงิน

    4. ทรัพย์ที่เป็นสินค้า เช่น ผืนดิน อาคารบ้านเรือน พาหนะ และอื่นๆ อีกมากมายที่เจ้าของมีไว้เพื่อค้าขาย

    และทั้งสี่ประเภทนี้ก็หากไม่ครบพิกัดที่กำหนดไว้ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาต ซึ่งท่านนบีเองก็ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดในหะดีษเศาะฮีหฺ

    ซะกาต จะต้องจ่ายให้กับผู้ที่มีสิทธิที่ควรจะได้รับตามที่อัลลอฮฺได้จัดสรรไว้เท่านั้น โดยผู้จ่ายต้องจ่ายด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ จะแจกจ่ายให้ด้วยความเสน่หากับผู้ที่ไม่มีสิทธิไม่ได้ และจะเก็บไว้ใช้ประโยชน์ส่วนตัวก็ไม่ได้ หรือจะนำมาเพื่อรักษาทรัพย์สินของตน หรือเพื่อปกป้องตนเองจากความผิดก็ตาม ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะอัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    ﴿ إِنَّمَا ٱلصَّدَقَٰتُ لِلۡفُقَرَآءِ وَٱلۡمَسَٰكِينِ وَٱلۡعَٰمِلِينَ عَلَيۡهَا وَٱلۡمُؤَلَّفَةِ قُلُوبُهُمۡ وَفِي ٱلرِّقَابِ وَٱلۡغَٰرِمِينَ وَفِي سَبِيلِ ٱللَّهِ وَٱبۡنِ ٱلسَّبِيلِۖ فَرِيضَةٗ مِّنَ ٱللَّهِۗ وَٱللَّهُ عَلِيمٌ حَكِيمٞ ﴾(التوبة :60)

    ความว่า “แท้จริงท่านทั้งหลายนั้น สำหรับบรรดาผู้ที่ยากจน และบรรดาผู้ที่ขัดสน และบรรดา เจ้าหน้าที่ได้เก็บรวบรวมมัน และบรรดาผู้ที่หัวใจของพวกเขาสนิทสนม และในการไถ่ทาส และบรรดาผู้ที่หนี้สินล้นตัว และในทางของอัลลอฮฺ และผู้ที่อยู่ในระหว่างเดินทาง ทั้งนี้เป็นบัญญัติอันจำเป็นซึ่งมาจากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัต-เตาบะฮฺ : 60 )

    หากการแจกจ่ายซะกาตถูกจัดสรรไปตามที่พระองค์อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้ แน่นอนว่าจะไม่มีคนยากจนหลงเหลืออยู่ในสังคมอิสลาม

    والحمد لله رب العالمين ، وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين