×
อันตรายของการนิฟากกลับกลอก หรือการเป็นมุนาฟิก กล่าวถึงปัญหาร้ายแรงประการหนึ่งของประชาชาติมุสลิม เป็นโรคร้ายภายในสังคมที่กัดกร่อนความเข้มแข็งของประชาคมมุสลิม อธิบายประเภทและตัวอย่างต่างๆ ของสภาพมุนาฟิก พร้อมคำแนะนำที่จะทำให้รอดพ้นจากสภาพดังกล่าว จากหนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ โดย ดร. อะมีน อัช-ชะกอวีย์

    อันตรายของการนิฟากกลับกลอก

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : นิสรีน มะกูดี

    ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ


    ﴿خطر النفاق

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبدالله الشقاوي

    ترجمة: نسرين مأكودي

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    บทที่ 131

    อันตรายของการนิฟากกลับกลอก

    มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก การประสาทพรและสันติขอพระองค์ประทานแก่นบีมุหัมมัดของเรา ครอบครัวของท่านนบีและบรรดาสาวกของท่านทั้งหมด ขอปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ ไม่มีสิ่งใดเป็นภาคีร่วมกับพระองค์ และมุหัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

    แท้จริงแล้ว ในจำนวนบาปที่ใหญ่หลวงที่สุด ณ อัลลอฮฺ ตะอาลา ก็คือการกลับกลอก(นิฟาก) อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿إِنَّ ٱلۡمُنَٰفِقِينَ فِي ٱلدَّرۡكِ ٱلۡأَسۡفَلِ مِنَ ٱلنَّارِ وَلَن تَجِدَ لَهُمۡ نَصِيرًا ١٤٥﴾ النساء: ١٤٥

    ความว่า “แท้จริงบรรดามุนาฟิก(ผู้ที่กลับกลอก)อยู่ในนรกชั้นต่ำที่สุด และพวกเขาจะไม่มีผู้คอยให้ความช่วยเหลือใดๆ เลย” (อัน-นิสาอ์ : 145)

    อัลลอฮฺตรัสอีกว่า

    ﴿إِنَّ ٱللَّهَ جَامِعُ ٱلۡمُنَٰفِقِينَ وَٱلۡكَٰفِرِينَ فِي جَهَنَّمَ جَمِيعًا ١٤٠﴾ النساء: ١٤٠

    ความว่า “แท้จริง อัลลอฮฺจะทรงรวบรวมบรรดามุนาฟิกและบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาในนรกญะฮันนัมไว้ด้วยกันทั้งหมด” (อัน-นิสาอ์ : 140)

    การกลับกลอกหรือนิฟากแบ่งออกเป็นสองด้าน ด้านความเชื่อ และด้านการกระทำ

    ด้านที่หนึ่ง : นิฟากด้านความเชื่อ

    แบ่งออกเป็น 6 ประเภทคือ การปฏิเสธต่อท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรือการปฏิเสธบางสิ่งบางอย่างที่เราะสูลนำมาเผยแผ่ หรือเกลียดชังท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรือเกลียดคำสอนบางอย่างที่ท่านเราะสูลนำมาเผยแผ่ หรือเป็นผู้ที่แอบแฝงเพื่อทำให้ศาสนาของท่านเราะสูลตกต่ำ หรือเกลียดที่จะให้ศาสนาของท่านเราะสูลนั้นได้รับชัยชนะ

    มุนาฟิกประเภทนี้ถือว่าเป็นผู้ศรัทธาแต่ภายนอก ทว่าภายในเต็มไปด้วยความปฏิเสธศรัทธา

    การศรัทธาอันผิวเผินเฉพาะภายนอกของพวกเขา ก็คือ การที่พวกเขาปฏิญาณตน ละหมาด ถือศีลอด ประกอบพิธีหัจญ์ ทำสงครามศาสนา และเข้าร่วมกับมุสลิมในการแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ ของอิสลามที่ชัดเจนก็ตาม ดังเช่นสภาพของมุนาฟิกในสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และในทุกยุคทุกสมัยที่ความถูกต้องมีชัย

    ส่วนการซ่อนสภาพปฏิเสธศรัทธาไว้ภายในตัวของพวกเขา ก็คือ การปฏิเสธต่อสัจธรรม และซ่อนความเป็นศัตรูต่ออัลลอฮฺ เราะสูล และผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿إِذَا جَآءَكَ ٱلۡمُنَٰفِقُونَ قَالُواْ نَشۡهَدُ إِنَّكَ لَرَسُولُ ٱللَّهِۗ وَٱللَّهُ يَعۡلَمُ إِنَّكَ لَرَسُولُهُۥ وَٱللَّهُ يَشۡهَدُ إِنَّ ٱلۡمُنَٰفِقِينَ لَكَٰذِبُونَ ١﴾ المنافقون: ١

    ความว่า “เมื่อบรรดามุนาฟิก(ผู้กลับกลอก)มาหาเจ้า พวกเขาจะกล่าวว่าแท้จริงท่านคือเราะสูลของอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่งว่าแท้จริงเจ้าคือเราะสูลของพระองค์ และอัลลอฮฺทรงเป็นพยานว่าแท้จริงพวกมุนาฟิก(ผู้กลับกลอก)คือผู้กล่าวเท็จอย่างแน่นอน” (อัล-มุนาฟิกูน : 1)

    คนประเภทนี้นับว่าเป็นศัตรูต่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ เป็นอริตัวฉกาจที่เลวร้ายที่สุด ด้วยเหตุนี้ผลตอบแทนของพวกเขาจึงเลวร้ายยิ่งกว่าการตอบแทนของผู้ปฏิเสธศรัทธาทั่วไป ดังคำดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ว่า

    ﴿إِنَّ ٱلۡمُنَٰفِقِينَ فِي ٱلدَّرۡكِ ٱلۡأَسۡفَلِ مِنَ ٱلنَّارِ وَلَن تَجِدَ لَهُمۡ نَصِيرًا ١٤٥﴾ النساء: ١٤٥

    ความว่า “แท้จริง บรรดามุนาฟิก(ผู้ที่กลับกลอก)จะอยู่ในนรกชั้นต่ำที่สุด และพวกเขาจะไม่พบกับผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือใดๆ เลย” (อัน-นิสาอ์ : 145)

    และพระองค์ยังตรัสอีกว่า

    ﴿ٱسۡتَغۡفِرۡ لَهُمۡ أَوۡ لَا تَسۡتَغۡفِرۡ لَهُمۡ إِن تَسۡتَغۡفِرۡ لَهُمۡ سَبۡعِينَ مَرَّةٗ فَلَن يَغۡفِرَ ٱللَّهُ لَهُمۡۚ ذَٰلِكَ بِأَنَّهُمۡ كَفَرُواْ بِٱللَّهِ وَرَسُولِهِۦۗ وَٱللَّهُ لَا يَهۡدِي ٱلۡقَوۡمَ ٱلۡفَٰسِقِينَ ٨٠﴾ التوبة: ٨٠

    ความว่า “เจ้าจงขออภัยโทษให้แก่พวกเขา(หากปรารถนาก็จงขอเถิด)หรือไม่ขออภัยโทษให้แก่พวกเขา(หากไม่ปรารถนาก็จงอย่าขอเลย) หากเจ้าขออภัยโทษให้แก่พวกเขาเจ็ดสิบครั้ง อัลลอฮฺก็จะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขา (จำนวนที่ว่านี้แสดงถึงว่า ไม่ว่าท่านนบีจะขออภัยโทษให้พวกเขาแค่ไหนก็ตามก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด) นั่นเพราะว่าพวกเขาปฏิเสธอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ และอัลลอฮฺจะไม่ให้ทางนำแก่กลุ่มชนผู้ละเมิด“ (อัต-เตาบะฮฺ : 80)

    พระองค์อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงเปิดโปงพวกเขาไว้ในอัลกุรอานหลายแห่งด้วยกัน พระองค์ทรงบอกถึงลักษณะของพวกเขา คือ เป็นผู้ที่กล่าวเท็จและขัดขวางหนทางของอัลลอฮฺ ทั้งยังเป็นผู้ที่เย่อหยิ่งยโส ไม่รู้ ไม่เข้าใจและไม่ใช้สติปัญญา ลักษณะที่เด่นชัดของของคนเหล่านั้น (ขอพระองค์อัลลอฮฺทรงทำลายพวกเขาด้วยเถิด) คือ การสนิทสนมผูกมิตรรักใคร่(วะลาอ์)กับกาฟิรฺ และพบปะพวกเขาทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า

    ﴿فَتَرَى ٱلَّذِينَ فِي قُلُوبِهِم مَّرَضٞ يُسَٰرِعُونَ فِيهِمۡ يَقُولُونَ نَخۡشَىٰٓ أَن تُصِيبَنَا دَآئِرَةٞۚ فَعَسَى ٱللَّهُ أَن يَأۡتِيَ بِٱلۡفَتۡحِ أَوۡ أَمۡرٖ مِّنۡ عِندِهِۦ فَيُصۡبِحُواْ عَلَىٰ مَآ أَسَرُّواْ فِيٓ أَنفُسِهِمۡ نَٰدِمِينَ ٥٢﴾ المائدة: ٥٢

    ความว่า “และเจ้าจะเห็นบรรดาผู้ที่มีโรค(กลับกลอก)ในหัวใจของพวกเขา ต่างรีบเร่งไปอยู่ในหมู่พวกเขาเหล่านั้น(หมายถึงพวกยิว เพื่อผูกมิตรกับพวกเขา) พวกเขากล่าวว่า พวกเรากลัวภัยพิบัติที่จะเวียนมาประสพกับพวกเรา ดังนั้น พระองค์อัลลอฮฺจะนำมาซึ่งชัยชนะ(ในการปราบปรามศัตรูและการเผยแผ่ศาสนา) หรือนำพระบัญชาอย่างใดอย่างหนึ่งมาจากพระองค์(การเปิดโปงความสับปลับและความชั่วร้ายของมุนาฟิก) แล้วพวกเขาก็จะเสียใจต่อการปกปิดสิ่งที่อยู่ในใจของพวกเขา” (อัล-มาอิดะฮฺ : 52)

    พระองค์ยังตรัสอีกว่า

    ﴿إِنَّ ٱلَّذِينَ ٱرۡتَدُّواْ عَلَىٰٓ أَدۡبَٰرِهِم مِّنۢ بَعۡدِ مَا تَبَيَّنَ لَهُمُ ٱلۡهُدَى ٱلشَّيۡطَٰنُ سَوَّلَ لَهُمۡ وَأَمۡلَىٰ لَهُمۡ ٢٥ ذَٰلِكَ بِأَنَّهُمۡ قَالُواْ لِلَّذِينَ كَرِهُواْ مَا نَزَّلَ ٱللَّهُ سَنُطِيعُكُمۡ فِي بَعۡضِ ٱلۡأَمۡرِۖ وَٱللَّهُ يَعۡلَمُ إِسۡرَارَهُمۡ ٢٦ فَكَيۡفَ إِذَا تَوَفَّتۡهُمُ ٱلۡمَلَٰٓئِكَةُ يَضۡرِبُونَ وُجُوهَهُمۡ وَأَدۡبَٰرَهُمۡ ٢٧ ذَٰلِكَ بِأَنَّهُمُ ٱتَّبَعُواْ مَآ أَسۡخَطَ ٱللَّهَ وَكَرِهُواْ رِضۡوَٰنَهُۥ فَأَحۡبَطَ أَعۡمَٰلَهُمۡ ٢٨﴾ محمد: ٢٥ – ٢٨

    ความว่า “แท้จริง บรรดาผู้ที่ผินหลังของพวกเขา(กลับไปสู่การปฏิเสธอีกครั้ง) หลังจากที่แนวทางที่ถูกต้องประจักษ์แก่พวกเขาแล้ว นั่นแสดงว่าชัยฏอนได้ล่อลวงพวกเขา และให้ความหวังแก่พวกเขา(ว่าจะมีชีวิตยืนนาน) ทั้งนี้ เพราะพวกเขากล่าวแก่บรรดาผู้ที่เกลียดชังสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานมาว่า เราจะปฏิบัติตามพวกท่านในบางสิ่ง และอัลลอฮฺทรงรู้ถึงความลับของพวกเขา แล้ว(สภาพของพวกเขา)จะเป็นเช่นไร เมื่อมะลาอิกะฮฺมาเอาชีวิตของพวกเขา โดยตีใบหน้าของพวกเขาและหลังของพวกเขา(โดยมีค้อนเหล็กมาเพื่อตีใบหน้าและหลังของพวกเขา) ทั้งนี้ พวกเขาได้ปฏิบัติตามสิ่งที่ทำให้อัลลอฮฺทรงกริ้ว และพวกเขารังเกียจความโปรดปรานของพระองค์ ดังนั้นพระองค์ทรงทำให้การงานของพวกเขาไร้ผล“ (มุหัมมัด : 25-28)

    อัช-ชันกีฏีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวไว้ในคำอธิบายของท่านต่ออายะฮฺดังกล่าวที่ว่า “และเจ้าจะเห็นบรรดาผู้ที่มีโรค(กลับกลอก)ในหัวใจของพวกเขา...” คนเหล่านั้นก็คือมุนาฟิก ผู้ซึ่งแก้ตัวว่าการที่พวกเขาให้ความสนิทสนมกับบรรดากาฟิรฺ(ผู้ปฏิเสธศรัทธา)และยิวนั้น เป็นเพราะพวกเขากลัวภัยพิบัติที่จะประสพแก่พวกเขา คือ กลัวภัยพิบัติที่เปลี่ยนผันในทุกๆ ปี จากพวกหนึ่งไปสู่อีกพวกหนึ่งหมุนเวียนกันไป ดังที่นักกวีกล่าวไว้ว่า

    إذا ما الدهرُ جرّ على أناس كَلَاكِلَهُ أَنَاخَ بآخَرِينا

    เมื่อกาลเวลาได้นำความอัปยศมาประสบแก่พวกใดพวกหนึ่ง

    ผ่านไปสักพัก มันก็จะเอาเรื่องเดียวกันไปให้กับคนอีกพวกหนึ่งเสมอ

    หมายความว่า หากเกิดความแห้งแล้งพวกยิวจะไม่บริจาคอาหารและจะไม่ให้สิทธิใดๆ แก่พวกเขา หรืออาจจะด้วยการที่พวกกาฟิรฺมีชัยชนะเหนือมุสลิม ซึ่งจะทำให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และสาวกของท่านต้องตกอับ พวกมุนาฟิกเหล่านั้นคิดไปเองว่าหากภัยพิบัติดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นจริง พวกเขาก็จะยังคงมีพรรคพวกซึ่งพวกเขาได้รักษามิตรภาพอันดีเอาไว้ แล้วพวกเขาก็จะได้รับความช่วยเหลือต่างๆ เยี่ยงที่มิตรกับมิตรพึงมีต่อกัน มุสลิมทั้งหลายต่างประหลาดใจกับการโกหกที่พวกเขาอาจหาญสาบานต่ออัลลอฮฺอย่างแรงกล้าว่าพวกเขาจะอยู่เคียงข้างมุสลิม ในอายะฮฺนี้อัลลอฮฺได้อธิบายถึงภัยอันตรายที่พวกเขา(อ้างว่า)จะป้องกันมันโดยการรักษามิตรภาพที่มีต่อยิวเอาไว้ ทั้งที่จริงอันตรายเหล่านั้นจะเกิดขึ้นกับยิวและผู้ปฏิเสธเท่านั้น และจะไม่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิม ดังคำดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ว่า

    ﴿فَعَسَى ٱللَّهُ أَن يَأۡتِيَ بِٱلۡفَتۡحِ أَوۡ أَمۡرٖ مِّنۡ عِندِهِۦ فَيُصۡبِحُواْ عَلَىٰ مَآ أَسَرُّواْ فِيٓ أَنفُسِهِمۡ نَٰدِمِينَ ٥٢﴾ المائدة: ٥٢

    ความว่า “ดังนั้น หวังว่าพระองค์อัลลอฮฺจะนำมาซึ่งการพิชิต(ในการปราบปรามศัตรูและการเผยแผ่ศาสนา) หรือนำพระบัญชาอย่างใดอย่างหนึ่งมาจากพระองค์(การเปิดโปงความสับปลับและความชั่วร้ายของมุนาฟิก) แล้วพวกเขาก็จะเสียใจต่อการปกปิดสิ่งที่อยู่ในใจของพวกเขา” (อัล-มาอิดะฮฺ : 52)

    คำว่า عَسَى หรือ “หวังว่า” ในพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺข้างต้นนั้นคือสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน(ไม่ใช่หวังแบบลมๆ แล้งๆ) เพราะพระองค์คือผู้ทรงยิ่งใหญ่และกรุณายิ่ง ไม่มีสิ่งใดที่เราหวังและปรารถนากับพระองค์นอกจากในสิ่งที่พระองค์จะทรงประทานให้ และการพิชิตที่ว่าไว้ในอายะฮฺข้างต้นอาจกล่าวได้ว่าหมายถึง การพิชิตของมุสลิมต่อเมืองที่เป็นปฏิปักษ์(และตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ) และอาจกล่าวได้ว่าการพิชิตนั้นคือการตัดสิน(ของอัลลอฮฺ) ดังคำดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ว่า

    ﴿رَبَّنَا ٱفۡتَحۡ بَيۡنَنَا وَبَيۡنَ قَوۡمِنَا بِٱلۡحَقِّ وَأَنتَ خَيۡرُ ٱلۡفَٰتِحِينَ ٨٩﴾ الأعراف: ٨٩

    ความว่า “โอ้ผู้อภิบาลของพวกเรา โปรดชี้ขาดระหว่างพวกเราและประชาชาติของพวกเราด้วยความจริงเถิด และพระองค์นั้นคือผู้ทรงชี้ขาดที่ดีเยี่ยม“ (อัล-อะอฺรอฟ : 89)

    ดังนั้น สรุปก็คือ การพิชิตที่ว่านั้นเป็นการตัดสินของอัลลอฮฺ ด้วยการที่อนุมัติให้ท่านนบีสังหารนักรบของ บนี กุร็อยเซาะฮฺ (ยิวเผ่าหนึ่งอาศัยอยู่รอบนอกเมืองมะดีนะฮฺ) และนำตัวลูกหลานของพวกเขามาเป็นทาส และทำสงครามขับไล่ บนี อัน-นะฎีรฺ (ยิวอีกเผ่าหนึ่งในมะดีนะฮฺ) บ้างกล่าวว่าพิชิตที่ว่านี้คือการพิชิตเมืองมักกะฮฺ ซึ่งเป็นทรรศนะแรกของการอธิบายอายะฮฺนี้ (ดู อัฎวาอ์ อัล-บะยาน 1/314)

    เช่นเดียวกันในคำดำรัสของอัลลอฮฺตะอาลาที่ว่า

    ﴿إِنَّ ٱلَّذِينَ ٱرۡتَدُّواْ عَلَىٰٓ أَدۡبَٰرِهِم مِّنۢ بَعۡدِ مَا تَبَيَّنَ لَهُمُ ٱلۡهُدَى ٱلشَّيۡطَٰنُ سَوَّلَ لَهُمۡ وَأَمۡلَىٰ لَهُمۡ ٢٥﴾ محمد: ٢٥

    ความว่า “แท้จริง บรรดาผู้ที่ผินหลังกลับของพวกเขา(กลับไปสู่การปฏิเสธอีกครั้ง)หลังจากที่แนวทางที่ถูกต้องประจักษ์แก่พวกเขา ชัยฏอนได้ล่อลวงพวกเขา และให้ความหวังแก่พวกเขา(ว่าจะมีชีวิตยืนนาน) (มุหัมมัด : 25)

    นักวิชาการบางท่านเห็นว่า อายะฮฺนี้ถูกประทานมาสำหรับบรรดามุนาฟิก และบางท่านเห็นว่าถูกประทานมาเพราะชาวยิว เพราะบรรดามุนาฟิกหรือยิวพวกนั้นได้กล่าวแก่บรรดาผู้ปฏิเสธที่เกลียดชังสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺทรงประทานมาด้วยคำพูดว่า “เราจะปฏิบัติตามพวกท่านในบางเรื่อง” บางเรื่องที่ว่านั้นก็คือการเป็นศัตรูต่อนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และหลบหนีจากการร่วมทำสงครามกับท่านนบี และอื่นๆ

    ข้อสรุปที่ไม่มีข้อสงสัยเคลือบแคลงใดๆ อีกก็คือ อายะฮฺต่างๆ เหล่านี้ หมายรวมผู้ที่มีลักษณะดังที่ถูกกล่าวไว้ทั้งหมด และสัญญาแห่งการลงโทษนั้นก็ครอบคลุมทุกคนที่ปฏิบัติตามผู้ที่เกลียดชังสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานลงมา

    ด้านที่สอง : การกลับกลอกในด้านการกระทำ

    แบ่งออกเป็น 5 ชนิดด้วยกัน

    رَوَى البُخَّارِي وَ مُسْلِمٌ مِنْ حَدِيْثِ أَبِي هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَ سَلَّمَ قَالَ : «أَرْبَعٌ مَنْ كُنَّ فِيْهِ كَانَ مُنَافِقًا خَالِصًا، وَ مَنْ كَانَتْ فِيْهِ خَصْلَةٌ مِنْهُنَّ كَانَتْ فِيْهِ خَصْلَةٌ مِنَ النِّفَاقِ حَتَّى يَدَعَهَا : إِذَا اؤْتُمِنَ خَانَ، وَ إِذَا حَدَّثَ كَذَبَ، وَ إِذَا عَاهَدَ غَدَرَ ، وَ إِذَا خَاصَمَ فَجَرَ» ، وَ قَالَ مُسْلِمٌ فِي صَحِيْحِهِ «إِذَا وَعَدَ أَخْلَفَ» مَكَانَ «إِذَا اؤْتُمِنَ خَانَ» (البخاري برقم 34 ، و مسلم برقم 58)

    รายงานโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม จากหะดีษของอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “สี่ลักษณะที่หากผู้ใดรวมเอาไว้ในตัวของเขา เขาก็จะเป็นมุนาฟิก(ผู้กลับกลอก)อย่างสมบูรณ์ และหากผู้ใดมีลักษณะหนึ่งจากสี่ลักษณะนี้ เขาจะเป็นผู้ที่มีลักษณะหนึ่งของการกลับกลอกจนกว่าจะละทิ้งมันไป นั่นคือ : หากเขาได้รับความไว้วางใจเขาจะทรยศ และหากเขาพูดเขาจะโกหก และหากเขาให้คำมั่นสัญญาเขาจะบิดพลิ้ว และหากเกิดการพิพาทขัดแย้งเขาจะแฉด้วยความหยาบช้า“ ในรายงานของอิมามมุสลิมระบุว่า “หากเขาสัญญาเขาจะผิดสัญญา“ แทนที่ “หากเขาได้รับความไว้วางใจ เขาจะทรยศ“ (รายงานโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 34 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 58)

    อิบนุ เราะญับกล่าวว่า “ส่วนหนึ่งของการกลับกลอกในด้านการกระทำ คือการที่มนุษย์แสดงออกถึงความดีงามต่างๆ แต่ซ่อนสิ่งที่ตรงกันข้ามไว้ภายใน” (ดู ญามิอฺ อัล-อุลูม วะ อัล-หิกัม 2/481)

    ด้วยความรอบรู้และความศรัทธาที่ลึกซึ้งของบรรดาเศาะหาบะฮฺ พวกเขาล้วนเกรงกลัวการกลับกลอกอันจะเกิดแก่พวกเขา อัล-บุคอรียฺ กล่าวไว้ในเศาะฮีหฺของท่าน

    باب خوف المؤمن من أن يحبط عمله وهو لا يشعر

    บทที่ว่าด้วย ความกลัวของผู้ศรัทธาว่าการงานของเขาจะเป็นโมฆะโดยที่เขานั้นไม่รู้ตัว จากคำพูดของ อิบรอฮีม อัต-ตัยมีย์ ว่า

    «مَا عَرَضْتُ قَوْلِي عَلَى عَمَلِي إِلَّا خَشِيْتُ أَنْ أَكُوْنَ مُكَذِّبًا»

    ความว่า “ฉันไม่ได้นำคำพูดของฉันมาตรวจสอบกับการกระทำของฉัน (หมายถึง ทุกครั้งฉันจำเป็นจะต้องตรวจสอบคำพูดของตัวเองว่าตรงกับการกระทำหรือไม่) นอกเสียจากเพราะฉันเกรงว่าตัวเองจะเป็นคนโป้ปดมดเท็จ“

    อิบนุ อะบี มุลัยกะฮฺ กล่าวว่า

    «أَدْرَكْتُ ثَلَاثِيْنَ مِنْ أَصْحَابِ النَّبِيِّ ﷺ ، كُلُّهُمْ يَخَافُ النِّفَاقَ عَلَى نَفْسِهِ، مَا مِنْهُمْ أَحَدٌ يَقُوْلُ إِنَّهُ عَلَى إِيْمَانِ جِبْرِيْلَ وَ مِيْكَائِيْلَ»

    ความว่า “ฉันได้พบกับเศาะหาบะฮฺ 30 ท่าน ทุกคนล้วนกลัวการกลับกลอก(นิฟาก)จะเกิดขึ้นกับตัวเอง และไม่มีใครพูดว่า เขานั้นมีความศรัทธาระดับเดียวกับศรัทธาของญิบรีลและมีกาอีล “

    รายงานจากท่านอัล-หะซัน อัล-บัศรียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ท่านกล่าวไว้ว่า

    «مَا خَافَهُ إِلَّا مُؤْمِنٌ وَلَا أَمِنَهُ إِلَّا مُنَافِقٌ، وَ مَا يَحْذَرُ مِنَ الإِصْرَارِ عَلَى النِّفَاقِ وَالعِصْيَانِ مِنْ غَيْرِ تَوْبَةٍ لِقَوْلِ اللهِ تَعَالَى : ﴿ وَلَمۡ يُصِرُّواْ عَلَىٰ مَا فَعَلُواْ وَهُمۡ يَعۡلَمُونَ ١٣٥﴾ [آل عمران: ١٣٥ ] »

    ความว่า “ไม่มีผู้ใดกลัวการกลับกลอกนอกจากผู้ศรัทธา ไม่มีผู้ใดประมาทการกลับกลอกนอกจากมุนาฟิก และคนมุนาฟิกนั้นจะไม่ระวังตนออกห่างจากการดึงดันที่จะอยู่ในการกลับกลอกและความชั่วร้ายโดยปราศจากการกลับตัว“ เพราะอัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ وَلَمۡ يُصِرُّواْ عَلَىٰ مَا فَعَلُواْ وَهُمۡ يَعۡلَمُونَ ١٣٥﴾ [آل عمران: ١٣٥ ]

    “และพวกเขา(ผู้ศรัทธา)จะไม่ดื้อรั้นหัวแข็งในการทำความชั่วที่เคยทำมา ทั้งๆ ที่พวกเขารู้(ว่ามันเป็นความชั่ว)(อาล อิมรอน : 135)

    (ดู เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ หน้า 33)

    มีรายงานจากท่าน อัล-หะซัน อัล-บัศรียฺ ว่าท่านเคยสาบานในมัสยิด ด้วยพระองค์อัลลอฮฺผู้ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ว่า

    ما مضى مؤمن قط ولا بقي إلا وهو من النفاق مشفق، ولا مضى منافق ولا بقي إلا وهو من النفاق آمن.

    وكان يقول : من لم يخف النفاق فهو منافق.

    ไม่มีผู้ศรัทธาคนไหนที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือว่ายังคงมีชีวิตอยู่ นอกจากว่าเขานั้นจะเกรงกลัวเป็นห่วงว่าตัวเองจะเป็นมุนาฟิก และไม่มีมุนาฟิกคนไหนที่เสียชีวิตไป หรือยังคงมีชีวิตอยู่ นอกจากว่าเขาไม่ได้รู้สึกรู้สาเกรงกลัวอะไรเลยกับการเป็นมุนาฟิก” และท่านยังเคยกล่าวไว้อีกว่า “ใครที่ไม่เคยเกรงกลัวการเป็นมุนาฟิก คนผู้นั้นแหละคือมุนาฟิกตัวจริง“ (ดู ญามิอฺ อัล-อุลูม วะ อัล-หิกัม 2/492)

    ท่านอุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวกับ หุซัยฟะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า

    أسألك بالله يا حذيفة، هل عدني رسول الله صلى الله عليه وسلم من المنافقين؟، قال : لا، ولا أزكي أحدا بعدك.

    “โอ้..หุซัยฟะฮฺ ฉันขอถามท่านจริงๆ ด้วยพระนามของอัลลอฮฺว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้นับว่าฉันคือหนึ่งในพวกมุนาฟิกหรือไม่?” หุซัยฟะฮฺกล่าวว่า “ไม่ และฉันจะไม่ขอรับรองใครหลังจากท่านอีกแล้ว“ (ดู ญามิอฺ อัล-อุลูม วะ อัล-หิกัม 2/491)

    ท่านอุมัรฺมิได้กล่าวคำพูดเช่นนี้ออกมาด้วยความเสแสร้งแต่อย่างใด แต่เมื่อใดก็ตามที่บ่าวคนหนึ่งมีความรู้เพิ่มขึ้น(ในเรื่องศาสนา)เท่าไร ความยำเกรงของเขาที่มีต่ออัลลอฮฺก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และด้วยความยำเกรงอันยิ่งใหญ่ของเศาะหาบะฮฺต่อพระผู้อภิบาล และความรู้ที่มีนั้น ไม่ได้ทำให้พวกเขาประมาทต่อความผิดบาป แต่ทว่ากลับเพิ่มความเกรงกลัวการลงโทษ

    ในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ จากรายงานของอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านได้กล่าวว่า

    «إِنَّكُمْ لَتَعْمَلُونَ أَعْمَالًا هِيَ أَدَقُّ فِي أَعْيُنِكُمْ مِنْ الشَّعَرِ، إِنْ كُنَّا لَنَعُدُّهَا عَلَى عَهْدِ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مِنْ الْمُوبِقَاتِ» قَالَ أَبُو عَبْد اللَّهِ يَعْنِي بِذَلِكَ الْمُهْلِكَاتِ ( البخاري برقم 6492 )

    “แท้จริง พวกท่านได้กระทำสิ่งต่างๆ หลายอย่าง ที่สายตาของพวกท่านมองว่ามันบางเบาเล็กน้อยยิ่งกว่าเส้นผม แต่ทว่าในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เราเคยถือว่ามันเป็นหายนะ“ อบู อับดิลลาฮฺ กล่าวว่า : หมายถึง ความผิดที่นำผู้กระทำไปสู่ความหายนะ (อัล-บุคอรียฺ หะดีษหมายเลข 6492)

    จากบันทึกของอัล-บุคอรียฺในเศาะฮีหฺของท่าน เป็นหะดีษที่รายงานโดย ซัยดฺ บิน อับดิลลาฮฺ บิน อุมัรฺ จากพ่อของเขาเล่าว่า

    قَالَ أُنَاسٌ لِابْنِ عُمَرَ : إِنَّا نَدْخُلُ عَلَى سُلْطَانِنَا فَنَقُولُ لَهُمْ خِلَافَ مَا نَتَكَلَّمُ إِذَا خَرَجْنَا مِنْ عِنْدِهِمْ، قَالَ : كُنَّا نَعُدُّهَا نِفَاقًا. (صحيح البخاري ص 11370 ، رقم 7178 )

    ความว่า มีคนกลุ่มหนึ่งกล่าวแก่อิบนุ อุมัรฺ ว่า พวกเราเข้าพบผู้ปกครองของเรา และเราก็พูดต่อหน้าพวกเขาในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราพูดกันเมื่อยู่ข้างนอก อิบนุ อุมัรฺ จึงกล่าวว่า “พวกเราถือว่านั่นคือการนิฟากกลับกลอก“ (บันทึกในเศาะฮีหฺอัล-บุคอรียฺหน้า 1370 หะดีษหมายเลข 7178)

    ในจำนวนรูปแบบของการนิฟากกลับกลอก ก็คือ การที่คนบางกลุ่มจากหมู่ชนของเราเองได้อ้างว่าทำเพื่อให้สังคมมีสภาพที่ดีขึ้น ด้วยการเรียกร้องให้เปลื้องหิญาบ แต่งกายเปิดเผยส่วนพึงสงวน การปะปนระหว่างชายหญิงในที่ทำงานและสถานศึกษา และป่าวประกาศว่าการที่ผู้ชายมีหน้าที่ดูแลผู้หญิงนั้นเป็นการจำกัดอิสรภาพของพวกเธอ โดยอ้างความเท่าเทียม และคิดว่านี่คือความยุติธรรมระหว่างชายและหญิง รวมไปถึงการเรียกร้องให้มีการแพร่หลายของเพลงในโรงเรียนระดับต่างๆ เรียกร้องให้ลดทอนการเรียนการสอนศาสนา

    และในจำนวนรูปแบบของนิฟาก ก็คือ การเชิญชวนให้พึ่งธนาคารดอกเบี้ย ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะ ซื้อ ขาย กู้ยืม และอื่นๆ โดยให้เหตุผลว่า เงินที่ธนาคารเรียกเก็บไปนั้น เพื่อผลประโยชน์ทางสังคมและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการนำมาเผยแพร่ทางสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿وَإِذَا قِيلَ لَهُمۡ لَا تُفۡسِدُواْ فِي ٱلۡأَرۡضِ قَالُوٓاْ إِنَّمَا نَحۡنُ مُصۡلِحُونَ ١١ أَلَآ إِنَّهُمۡ هُمُ ٱلۡمُفۡسِدُونَ وَلَٰكِن لَّا يَشۡعُرُونَ ١٢﴾ [البقرة: ١١ – ١٢]

    ความว่า “และเมื่อได้ถูกกล่าวแก่พวกเขาว่า พวกท่านจงอย่าก่อความเสียหายบนแผ่นดิน พวกเขากล่าวว่า ที่จริงนั้นเราเป็นผู้พัฒนาให้ดีขึ้นต่างหาก พึงรู้เถิดว่า แท้จริงพวกเขานั่นแหละ เป็นผู้ก่อความเสียหาย แต่ทว่าพวกเขาไม่รู้สึกตัว“ (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 11-12)

    นอกเหนือไปจากยุทธวิธีอื่นๆ อีกมากมาย ที่พวกมุนาฟิกเหล่านี้วางแผนทุกวี่วัน อย่างไรก็ตามพระองค์อัลลอฮฺเท่านั้นคือผู้ทรงกำชัยชนะเหนือทุกสิ่งแต่ทว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ไม่รู้

    و الحمد لله رب العالمين ،

    و صلى الله و سلم على نبينا محمد و على آله و صحبه أجمعين