หลังจากรอมฎอนแล้วเราจะปฏิบัติตัวอย่างไร?
หมวดหมู่
แหล่งอ้างอิง
Full Description
หลังจากรอมฎอนแล้วเราจะปฏิบัติตัวอย่างไร?
] ไทย – Thai – تايلاندي [
อะหมัด ยูนุส สมะดี
ตรวจทานโดย : ทีมงานภาษาไทยเว็บอิสลามเฮ้าส์
ที่มา : islaminthailand.org
2012 - 1433
﴿كيف نكون بعد رمضان ؟﴾
« باللغة التايلاندية »
أحمد يونس صمدي
مراجعة: فريق اللغة التايلاندية بموقع دار الإسلام
المصدر: islaminthailand.org
2012 - 1433
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
หลังจากรอมฎอนแล้วเราจะปฏิบัติตัวอย่างไร?
รอมฎอนเป็นเดือนแห่งการทำอิบาดะฮฺ เป็นเดือนแห่งการทำความจงรักภักดี คือมีการถือศีลอด การละหมาด การอ่านอัลกุรอาน การทำศ่อดะเกาะฮฺ การรำลึกถึงอัลลอฮฺ การทำอุมเราะฮฺ และการทำฮัจย์ จิตใจของมุอฺมินผู้ศรัทธาจึงมีความสัมพันธ์กับอัลลอฮฺตะอาลา อย่างต่อเนื่อง โดยมีความมุ่งหวังที่จะได้รับความเมตตา ความโปรดปราน และความพอพระทัยจากพระองค์
ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีในระยะเวลา 1 เดือนที่เราจะต้องขวนขวายเพื่อกระทำการจงรักภักดีในทุกรูปแบบ ตลอดระยะเวลาของเดือนรอมฎอนด้วยความอดทน บรรดาบรรพชนของเรา (สะละฟุศศอและฮฺ) พวกเขาได้วิงวอนขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺตะอาลา เป็นเดือนๆ เพื่อให้ได้พบกับเดือนรอมฎอน ครั้นเมื่อพวกเขาถือศีลอดในเดือนรอมฎอนแล้ว พวกเขาก็ขอวิงวอนขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺตะอาลาเป็นแรมเดือน เพื่อให้พระองค์ทรงรับการถือศีลอดของพวกเขา
ท่านค่อลีฟะฮฺอะลี อิบนฺ อะบีฏอลิบ และศ่อฮาบะฮฺคนอื่น เมื่อวันอีดิลฟิฏรฺมาถึงจะกล่าวว่าผู้ใดที่การถือศีลอดของเขาเป็นของเขาไม่เป็นที่ตอบรับ เราก็ขอแสดงความเสียใจต่อเขา ความหายนะอันยิ่งใหญ่และการขาดทุนอย่างย่อยยับ คือ การที่คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเราปล่อยให้เดือนรอมฎอนผ่านพ้นไป โดยที่พฤติกรรมและการปฏิบัติของเขายังมิได้มีการปรับเปลี่ยนแต่ประการใด คือพฤติกรรมของเขาก่อนเดือนรอมฎอนที่อยู่ในสภาพลบในสายตาของสังคม หลังจากเดือนศิริมงคลได้ผ่านพ้นไปแล้ว เขาก็ยังคงอยู่สภาพเดิม นั่นคือเขาได้ปล่อยให้เดือนรอมฎอนผ่านพ้นไปโดยที่เขามิได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺตะอาลา ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า
عن أبي هريرة رضي الله عنه قال : قال رسول الله صلى الله عليه وسلم : «رَغِمَ أَنْفُ رَجُلٍ دَخَلَ عَلَيْهِ شَهْرُ رَمَضَانُ ثُمَّ انْسَلَخَ قَبْلَ أَنْ يُغْفَرَ لَهُ» [أخرجه أحمد، والترمذي، وابن حبان في صحيحه]
ความว่า มีรายงานจากอบี ฮุร็อยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า "ความพินาศจงประสบแก่ชายคนหนึ่ง เมื่อเดือนรอมฎอนได้มาหาเขา แล้วมันได้ผ่านพ้นไปก่อนที่เขาจะได้รับการอภัยโทษ (คืออยู่ในสภาพที่ขาดทุน)" (บันทึกโดย : อะหมัด, อัตติรมิซีย์ และอิบนฺ ฮิบบานในหนังสือศ่อเฮี้ยะฮฺของเขา)
ดังนั้น ขอให้เราทุกคนหยุดชั่วขณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาและสอบสวนตัวเอง หลังจากได้ปฏิบัติศาสนกิจหลากหลายมาแล้วในเดือนรอมฎอน และขอให้เราทบทวนตั้งคำถามบางข้อ และตอบด้วยความระมัดระวังและด้วยความเป็นธรรมว่า
อัลลอฮฺตะอาลาจะทรงรับการถือศีลอด การยืนละหมาด และการงานอื่นๆของเราหรือไม่? ถ้าหากพระองค์ทรงรับเราจะขอบคุณพระองค์อย่างไร?
เมื่อเดือนรอมฎอนได้จากเราไปแลัว การถือศีลอด การยืนละหมาดเป็นญะมาอะฮฺ การละหมาดตะรอเวี้ยะฮฺ และการอ่านอัลกุรอานของเราจะยุติลงด้วยหรือไม่?
คำตอบที่พอจะยึดถือเป็นบรรทัดฐาน เพื่อที่เราจะได้ปฏิบัติตัวให้อยู่ในสถานะของการเป็นบ่าวของอัลลอฮฺตะอาลา อย่างคงเส้นคงวาก็คือ เป็นสิ่งจำเป็นแก่มุสลิมทุกคนที่จะต้องทำตัวเป็นบ่าวของอัลลอฮฺตะอาลา ทั้งในทางคำพูด การปฏิบัติ การเคลื่อนไหวในทุกอิริยาบท และทุกกิจกรรมในการดำรงชีวิตของเขา และจะต้องติดตามสำรวจความถูกต้องของการกระทำ ตลอดจนความบริสุทธิ์ใจในการทำอิบาดะฮฺเพื่ออัลลอฮฺตะอาลา อย่างแท้จริง ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการตั้งความหวังของเขาที่จะพบกับอัลลอฮฺตะอาลา การจงรักภักดีของมุอฺมินเสมือนกับน้ำที่มีความสำคัญกับปลาและอากาศกับมนุษย์ ดังนั้น การดำรงชีวิตอย่างแท้จริงจะขาดเสียซึ่งความหมายแห่งการศรัทธาย่อมไม่ได้ ทำไมจึงไม่ได้? ทั้งนี้ ก็เพราะว่าการศรัทธานั้นคือชีวิตของมุสลิม อัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลอันอาม อายะฮฺที่ 122 ว่า
﴿ أَوَ مَن كَانَ مَيۡتٗا فَأَحۡيَيۡنَٰهُ وَجَعَلۡنَا لَهُۥ نُورٗا يَمۡشِي بِهِۦ فِي ٱلنَّاسِ كَمَن مَّثَلُهُۥ فِي ٱلظُّلُمَٰتِ لَيۡسَ بِخَارِجٖ مِّنۡهَاۚ ﴾ [الأنعام: ١٢٢]
ความว่า "และผู้ที่ตายไปแล้ว ต่อมาเราได้ให้เขามีชีวิตฟื้นขึ้นมา และเราได้ให้แสงสว่างแก่เขา เพื่อใช้เดินไปท่ามกลางในหมู่มนุษย์จะมีสภาพเหมือนกันหรือกับผู้ที่อยู่ในความมืดโดยที่เขาไม่สามารถจะออกมาจากมันได้?” (อัล-อันอาม 122)
แต่ถ้ามีสิ่งใดมาขัดขวางหรือปิดกั้นระหว่างเขากับการจงรักภักดีพระเจ้าของเขา เขาก็จะเสียใจและสงสารตัวของเขา แม้กระทั่งจะเป็นการให้อภัยกันได้หรือเป็นข้อแก้ตัวที่พอจะรับฟังกันได้ก็ตาม เมื่อท่านประสงค์ที่จะรู้จักสถานะของตัวท่านก็จงมองดูว่าอัลลอฮฺตะอาลา ได้จัดให้ท่านอยู่ในตำแหน่งใด หมายถึงอยู่ในบุคคลประเภทใด
ชัดด๊าด อิบนฺ เอาสฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวเป็นข้อคิดไว้ว่า "เมื่อท่านเห็นชายคนนี้ปฏิบัติกิจกรรมหนึ่งที่เป็นการจงรักภักดีต่ออัลลอฮฺตะอาลา พึงทราบเถิดว่ายังมีกิจกรรมอื่นๆ ของเขาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอีกด้วย และเมื่อท่านเห็นชายคนนี้ปฏิบัติกิจกรรมหนึ่งที่เป็นการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺตะอาลา พึงทราบเถิดว่า ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ของเขาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอีกด้วย ทั้งนี้ เพราะการจงรักภักดีต่ออัลลอฮฺตะอาลา เป็นการบ่งชี้ถึงกิจกรรมอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันของเขา และการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺตะอาลา ก็เป็นการบ่งชี้ถึงกิจกรรมอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันของเขาเช่นกัน
เมื่อเดือนรอมฎอนได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ทว่าบทเรียนและคุณประโยชน์ต่างๆ ของมันก็ยังคงเหลืออยู่ให้เรายึดมั่นเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของเราต่อไปอีกได้ เพราะเราหารู้ไม่ว่ากิจกรรมต่างๆ ที่เรามุ่งมั่นปฏิบัติตลอดเดือนรอมฎอนนั้นจะเป็นที่โปรดปรานหรือได้การตอบรับจากอัลลอฮฺตะอาลาหรือไม่?
ขอให้เรามาพิจารณาคำกล่าวของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังต่อไปนี้
«وَاعْلَمُوا أَنَّهُ لَنْ يَدْخَلُ أَحَدُكُمُ الجَنَّةَ بِعَمَلِهِ» ، قَالُوا : وَلا أَنْتَ يَارَسُولَ اللهِ – صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلِّمَ – قَالَ : «وَلا أَنَا ، إِلّا أَنْ يَتَغَمَّدَنِي اللهُ بِرَحْمَتِهِ» [ رواه البخاري ومسلم]
ความว่า "พึงทราบเถิดว่า แท้จริง คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านจะไม่ได้เข้าสวรรค์เพราะการงานของเขา! บรรดาศ่อฮาบะฮฺได้กล่าวถามขึ้นว่า แม้แต่ท่านกระนั้นหรือ? โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ท่านได้ตอบว่า แม้แต่ตัวฉันเอง!! เว้นแต่อัลลอฮฺจะทรงพิทักษ์รักษาฉันด้วยพระเมตตาของพระองค์" (บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์และมุสลิม)
ถ้าหากว่านี่คือสภาพของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แล้วสภาพของเราท่านจะเป็นอย่างไร? ถ้าเราจะมองดูอย่างผิวเผินถึงสภาพของบรรพชน (สะละฟุศศอและฮฺ) จะเป็นที่ประจักษ์ถึงความหมายดังกล่าว เพราะพวกเขาได้ขยันหมั่นเพียรในการกระทำอิบาดะฮฺอย่างสมบูรณ์ครบครันและด้วยความประณีต หลังจากนั้นพวกเขาก็มีความห่วงใยต่อการตอบรับ และมีความกลัวว่าจะไม่ถูกตอบรับ พวกเขาเหล่านั้น คือ
﴿ وَٱلَّذِينَ يُؤۡتُونَ مَآ ءَاتَواْ وَّقُلُوبُهُمۡ وَجِلَةٌ أَنَّهُمۡ إِلَىٰ رَبِّهِمۡ رَٰجِعُونَ ٦٠ ﴾ [المؤمنون: ٦٠]
ความว่า "บรรดาผู้ปฏิบัติกิจกรรมดีงามตามที่พวกเขาให้มาโดยที่จิตใจของพวกเขาเปี่ยมไปด้วยความหวั่นเกรง ว่าพวกเขาจะต้องกลับไปยังพระผู้อภิบาลของพวกเขา" (อัล-มุอ์มินูน 60)
มีรายงานจากท่านอะลี อิบนฺอะฏอลิบ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า "จงเป็นผู้ที่มีความห่วงใยต่อการตอบรับผลงานมากยิ่งกว่าการกระทำ ท่านมิได้ยินคำตรัสของอัลลอฮฺตะอาลา ดอกหรือที่ว่า
﴿إِنَّمَا يَتَقَبَّلُ ٱللَّهُ مِنَ ٱلۡمُتَّقِينَ ٢٧﴾ [المائدة: ٢٧]
ความว่า แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงรับผลงานจากบรรดาผู้ที่มีความยำเกรงเท่านั้น" (5/27)
อุมัร อิบนฺ อับอุลอะซีซ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวในคุฏบะฮฺอีดิ้ลฟิฏร์ตอนหนึ่งว่า "โอ้มหาชนทั้งหลาย! แท้จริงพวกท่านได้ถือศีลอดเพื่ออัลลอฮฺตาอาลา 30 วัน และพวกท่านได้ยืนละหมาด 30 คืน และพวกท่านได้ออกมาพร้อมหน้ากัน เพื่อวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺเพื่อให้พระองค์ทรงตอบรับการงานของพวกท่าน"
ดังนั้น บางคนในหมู่บรรดาสะลัฟจะมีใบหน้าที่เศร้าโศกในวันดีดิ้ลฟิฏรี่ จะมีบางคนถามเขาว่า แท้จริงวันนี้เป็นวันแห่งความปิติยินดีเป็นวันแห่งความเบิกบานใจ เขาจะกล่าวตอบว่า ถูกต้อง แต่ทว่าฉันเป็นบ่าว นายของฉันใช้ฉันให้ทำงานชนิดหนึ่งให้แก่เขา ฉันได้ทำงานนั้นให้แก่เขา ฉันไม่รู้ว่าเขาจะรับงานจากฉันหรือไม่?
อัลหะซันได้กล่าวว่า "ท่านทั้งหลายจงยืดเวลาการละหมาดตะฮัจญุดให้ล่าออกไปจนกระทั่งก่อนเวลาสะฮูร หลังจากนั้นก็จงนั่งวิงวอนขอดุอาอฺขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺตะอาลา"
ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำให้เป็นซุนนะฮฺหลังจากการละหมาดทุกๆ เวลา โดยให้กล่าวว่า อัซตัฆฟิรุลลอฮฺ สามครั้ง และอื่นจากนี้ในการทำอิบาดะฮฺต่างๆ การกระทำเช่นนี้หากเป็นข้อบ่งชี้ถึงสิ่งใด แท้จริงมันเป็นการบ่งชี้ว่าจำเป็นแก่ท่านที่จะต้องมีความต่อเนื่องในการทำอิบาดะฮฺกับอัลลอฮฺอยู่เสมอ ในเวลาเดียวกันท่านก็ยังมีความกังวลใจ มีความกลัว และกล่าวหาตัวของท่านเองว่ายังมีความบกพร่อง และหย่อนยานในการทำอิบาดะฮฺของท่าน ความรู้สึกเช่นนี้จะช่วยผลักดันให้ท่านขยันหมั่นเพียรในการทำอิบาดะฮฺให้เรียบร้อยและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สมดังคำกล่าวของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า
«لَا يَشْبَعُ الْمُؤْمِنُ مِنْ خَيْرٍ يَفْعَلُهُ حَتَّى يَدْخُلَ الْجَنَّةَ» [حَسَنَه الألباني]
ความว่า "คนมุอ์มินนั้นจะไม่อิ่มเอิบจากการทำความดีของเขา จนกว่าจะได้เข้าสวนสวรรค์" (อัลบานีย์กล่าวว่าเป็นสายสืบที่หะซัน)
ความรู้สึกดังกล่าวนี้ได้เรียกร้องเชิญชวนให้เรามาทบทวนการทำอิบาดะฮฺบางชนิดร่วมกัน และแนะนำซึ่งกันและกัน เพื่อที่เราจะได้มีความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺตะอาลา มากยิ่งขึ้น และเพื่อจะเป็นหลักฐานให้เกิดร่องรอยแก่เราในเดือนมหามงคลนี้ว่า "พระเจ้าแห่งเดือนรอมฎอนคือพระเจ้าแห่งเดือนอื่นๆ ทั้งปี"
ฉะนั้น หากว่านี่คือสภาพของท่านในความบกพร่องและการทำความผิดต่างๆ ดังนั้นอย่าไปคิดเลยว่าท่านจะไม่บกพร่องในการทำอิบาดะฮฺและแสงหาความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺตะอาลา ในเดือนรอมฎอน หลังจากนั้นท่านก็หยุดชะงักหรือล้มเลิกการทำอิบาดะฮฺในส่วนที่เหลือของปีนั้น และนั่นคือกิจวัตรหรือประเพณีของผู้ที่ไม่ชอบจะกระทำความดี
โดยทั่วไปแล้วท่านจะเห็นพี่น้องมุสลิมจำนวนมิใช่น้อยที่พยายามปฏิบัติอิบาดะฮฺ และทำความจงรักภักดีต่อพระเจ้าของเขาในเดือนรอมฎอน เช่นการทำละหมาด การถือศีลอด และการละหมาดตะรอเวี๊ยะฮฺ การละหมาดตะฮัจญุด การอ่านอัลกุรอาน และการซิกรุลลอฮฺ จนกระทั่งมัสยิดต่างๆ โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอนจะเต็มและแออัดไปด้วยผู้คนอย่างเนืองแน่น หลังจากนั้นคือหลังจากเดือนรอมฎอนสิ้นสุดลง พวกเขาก็กลับไปสู่สภาพเดิมคือไม่ชอบไปร่วมละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสยิด และประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่บัญญัติศาสนาไม่อนุญาตให้กระทำ โดยหารู้ไม่ว่าคนมุอ์มินผู้ศรัทธานั้นจะต้องเปลี่ยนสภาพจากจงรักภักดีชนิดหนึ่งไปสู่การจงรักภักดีอีกชนิดหนึ่งอยู่เสมอ และจากการอิบาดะฮฺชนิดหนึ่งไปสู่การอิบาดะฮฺอีกชนิดหนึ่ง โดยมีเป้าหมายในการนั้นคือคำกล่าวของอัลลอฮฺตะอาลา ที่กล่าวกับบ่าวที่ประเสริฐยิ่งของพระองค์ ที่ว่า
﴿ وَٱعۡبُدۡ رَبَّكَ حَتَّىٰ يَأۡتِيَكَ ٱلۡيَقِينُ ٩٩ ﴾ [الحجر: ٩٩]
ความว่า "และจงเคารพภักดีพระเจ้าของเจ้าจนกว่าความตายจะมาหาเจ้า" (อัล-หิจญ์รฺ 99)
กล่าวคืออย่าให้ความจงรักภักดีห่างไกลจากตัวเจ้าจนกว่าเจ้าจะประสบกับความตาย และเช่นเดียวกับคำกล่าวของบ่าวที่ศอและฮฺ คือท่านนบีอีซา อะลัยฮิสสลาม ที่ว่า
﴿ وَأَوۡصَٰنِي بِٱلصَّلَوٰةِ وَٱلزَّكَوٰةِ مَا دُمۡتُ حَيّٗا ٣١ ﴾ [مريم: ٣١]
ความว่า "และพระองค์ทรงสั่งเสียฉันให้ละหมาดและจ่ายซะกาตตราบใดที่ฉันยังมีชีวิตอยู่" (มัรยัม 31)
และมุสลิมนั้นย่อมตระหนักดีว่าพระเจ้าแห่งเดือนรอมฎอนคือพระเจ้าแห่งเดือนอื่นๆ ตลอดทั้งปี และการเตรียมพร้อมของเขาเพื่อพบพระเจ้าของเขานั้น เรียกร้องเขาอยู่เสมอเพื่อให้ฉวยทุกโอกาสที่จะเป็นไปได้ไปสู่การจงรักภักดีต่ออัลลอฮฺตะอาลา
﴿ قُلۡ إِنَّ صَلَاتِي وَنُسُكِي وَمَحۡيَايَ وَمَمَاتِي لِلَّهِ رَبِّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ١٦٢ ﴾ [الأنعام: ١٦٢]
ความว่า "จงกล่าวเถิดมุฮัมมัดว่า แท้จริงการละหมาดของฉัน และการอิบาดะฮฺของฉัน และการมีชีวิตของฉัน และการตายของฉันนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ พระเจ้าแห่งสากลโลกเท่านั้น" (อัล-อันอาม 162)
กิจกรรมต่างๆ ในการกระทำความจงรักภักดีมีอยู่มากมายหลังจากรอมฎอน เช่น จงรีบเร่งกันเข้าสู่ประตูชัย คือประตูอัรรอยยานก่อนที่จะถูกปิดลง ณ ที่นี้เราขอสั่งเสียและแนะนำให้ถือศีลอดอีก 6 วัน หลังจากวัน อีดิ้ลฟิฏรฺแล้ว ซึ่งเป็นการถือศีลอดซุนนะฮฺ
ตามรายงานของอะบีอัยยู๊บ และบันทึกโดยมุสลิม แจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวความว่า "ผู้ใดถือศีลอดเดือนรอมฎอนแล้วติดตามหลังจากรอมฎอนอีก 6 วันจากเดือนเชาวาล เสมือนกับว่าเขาถือศีลอดทั้งปี"
ในการถือศีลอดซุนนะฮฺ 6 วันนี้ไม่มีเงื่อนไขให้ถือติดต่อกันไป แต่ชอบมากกว่าให้กระทำหลังจากวันอีดทันที โดยเฉพาะเนื่องจากจิตใจมีความเคยชินอยู่กับการถือศีลอด
และการจงรักภักดี มิใช่แต่เพียงดังกล่าวเท่านั้น แต่ขอบเขตของการถือศีลอดยังมีอีกมาก เช่น คำกล่าวสนับสนุนของท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ความว่า "กิจการงานต่างๆจะถูกนำเสนอ (ณ ที่อัลลอฮฺ) ในวันจันทร์และวันพฤหัสบดี และฉันชอบมากกว่าที่จะให้การงานของฉันถูกเสนอ (ในวันดังกล่าว) ขณะที่ฉันถือศีลอด" อัลบานีย์กล่าวว่าเป็นฮะดีสที่ศ่อเฮี๊ยะฮฺ
และนั่นคือความประเสริฐของวันจันทร์และวันพฤหัสบดี
และส่วนหนึ่งในการทำความดีหลังจากเดือนรอมฎอน เช่นคำสั่งเสียของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แก่อะบีฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ที่กล่าวความว่า "เพื่อนสนิทของฉันได้สั่งเสียฉันไว้ 3 ประการคือ ให้ฉันถือศีลอด 3 วันของทุกๆเดือน (วันที่ 13, 14 และ15 ของเดือนอาหรับ) และให้ละหมาดฎุฮา 2 ร็อกอะฮฺ และให้ฉันละหมาดวิตรฺก่อนที่ฉันจะนอน" (บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์และมุสลิม)
เราขอเสนอของขวัญที่ดียิ่งแด่ท่านพี่น้องทั้งหลายนั่นคือการถือศีลอด โดยเฉพราะในช่วงเวลาที่สภาพและสิ่งแวดล้อมเต็มไปด้วยสิ่งยั่วยวนมากมายหลายชนิด ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เตือนและสั่งเสียให้เราถือศีลอด เพราะการถือศีลอดจะช่วยปกป้องและคุ้มกันเราให้พ้นจากฟิตนะฮฺต่างๆได้ ทั้งนี้เพราะท่านนะบีของเรามีความห่วงใยต่อประชาชาติของท่านเป็นอย่างมาก ท่านได้กล่าวไว้ ความว่า "....และผู้ใดไม่มีความสามารถ (ในการระงับความใคร่หรือตัณหา) ก็ให้เขาถือศีลอด เพราะมันจะปกป้องหรือคุ้มกันให้เขาได้" (บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์และมุสลิม)
กล่าวคือการถือศีลอดจะช่วยพิทักษ์คุ้มครองท่านให้พ้นจากความเย้ายวน ความใคร่และอารมณ์รุนแรงได้ นี่คือคำกล่าวของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อย่างไรเสียอีกถ้าหากนายแพทย์ผู้ซึ่งรักษาโรคชนิดหนึ่งของท่าน โดยจ่ายยาให้แก่ท่าน แน่นอนท่านจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่ทำไมท่านจึงเกียจคร้านที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
พึงทราบเถิด! แท้จริงการดำรงชีวิตอย่างแท้จริงนั้น จะไม่เกิดขึ้นนอกจากท่านจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ ดังคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱسۡتَجِيبُواْ لِلَّهِ وَلِلرَّسُولِ إِذَا دَعَاكُمۡ لِمَا يُحۡيِيكُمۡۖ ﴾ [الأنفال: ٢٤]
ความว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! จงตอบรับอัลลอฮฺและร่อซูล (เชื่อฟัง) เมื่อท่าน (มุฮัมมัด) ได้เรียกร้องพวกท่านเพื่อสิ่งที่จะทำให้พวกท่านมีชีวิตชีวา...." (อัล-อันฟาล 24)
และขอเรียนให้พี่น้องทั้งหลายทราบว่า การถือศีลอดนั้นเป็นสิ่งยากลำบากแก่จิตใจ เพราะมันจะห้ามจิตใจมิให้นึกคิดสิ่งที่เป็นความใคร่ และสิ่งที่จะทำให้เกิดความเพลิดเพลิน แต่เราใคร่ขอเตือนท่านให้รำลึกถึงวันอันยาวนานที่มีความร้อนและความกระหายอย่างมาก วันที่น่าสะพรึงกลัวอย่างมากกำลังคอยท่านอยู่ และอัลลอฮฺตะอาลา นั้นจะไม่ทรงผิดสัญญา นั่นคือวันแห่งสถานการณ์ ขณะที่ท่านจะต้องไปยืนคอยการตัดสินเป็นเวลาถึง 5 หมื่นปี ขณะที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ศีรษะของท่าน แต่ทำไมท่านจึงไม่อยู่ในหมู่ผู้ใกล้ชิดพระองค์ในวันนั้น? ในขณะที่มนุษย์ทั้งหลายกำลังอยู่ในสภาพที่กังวลหนักใจเป็นทุกข์เป็นร้อน เจ็บปวดทรมานจิตใจ เศร้าโศกเสียใจ และกระหายน้ำ ในขณะเดียวกันท่านจะมองเห็นฝูงชนอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ภายใต้บัลลังก์ของพระผู้ทรงเมตตา พวกเขากำลังดื่มน้ำอย่างสุขสำราญและได้รับความเพลิดเพลินอย่างสนุกสนาน ทำไมท่านจะไม่เป็นคนหนึ่งในหมู่ฝูงเหล่านั้นหรือ? และพึงทราบเถิดว่าปริมาณความกระหายน้ำของท่านในวันนี้มีเท่าใด ท่านจะได้รับการดื่มน้ำอย่างเต็มอิ่มในวันนั้นคือวันกิยามะฮฺ อีกทั้งท่านจะอยู่ห่างไกลจากนรกญะฮันนัม ซึ่งมันจะเผาไหม้ผิวหนังจนเกรียมดำ มันจะไม่เหลืออะไรไว้เลยและไม่ปล่อยผู้ใดให้คงเหลือไว้อีกเช่นกัน
ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้แจ้งให้เราได้รับทราบไว้ความว่า "ผู้ใดถือศีลอดวันหนึ่งเพื่ออัลลอฮฺ อัลลอฮฺจะทรงให้ใบหน้าของเขาห่างไกลจากไฟนรก 70 ปี" (บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์และมุสลิม)
ดังนั้น เท่าจำนวนปีที่ท่านต้องการจะอยู่ห่างไกลจากไฟนรก ท่านจะต้องให้จำนวนการถือศีลอดของท่านมีจำนวนเท่านั้น นอกจากนี้ท่านไม่มีความปรารถนาจะดื่มน้ำอย่างมีความสุขใจจากมือของท่านนะบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จากบ่อน้ำเกาซัรของท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ของเราในวันกิยามะฮฺหรือ?
เราขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺว่า แท้จริงการถือศีลอดนั้นมิใช่เป็นการกระหายน้ำและมิใช่เป็นการทรมาน แต่ทว่ามันเป็นรสชาติที่ไม่มีใครจะรู้สึกนอกจากผู้ที่มีความรักมันเท่านั้น เป็นการพอเพียงแก่ท่านแล้วมิใช่หรือที่จะมีความอดทนต่อการถือศีลอดและความกระหายน้ำ โดยให้ท่านรำลึกถึงสถานการณ์อีกแห่งหนึ่งในวันกิยามะฮฺที่มีต่อการร้องไห้ การเศร้าโศกเสียใจตลอดกาล แท้จริงมันเป็นสถานการณ์แห่งความทุกข์ยากและเจ็บปวด การกระหายน้ำและเศร้าโศกเสียใจของพวกเขาจะอยู่คู่เคียงกับพวกเขาตลอดไป และพวกเขาจะร้องไห้ที่มีน้ำตาเป็นสายเลือด พวกเขาเหล่านั้นคือ ชาวนรก
ขอให้เราท่านรำลึกถึงพวกเขา และมีความรู้สึกต่อความยิ่งใหญ่ของสถานการณ์ คล้ายกับว่าไฟนรกลุกโชนรอบๆ ตัวท่าน และท่านมีความรู้สึก ว่าความร้อนของมันพัดโชยเข้ามาที่ใบหน้าของท่าน และขณะนั้นท่านก็รำลึกถึงอายะฮฺนี้ นั่นคือการร้องเรียกขอความช่วยเหลือของชาวนรกจากชาวสวรรค์ว่า
﴿ وَنَادَىٰٓ أَصۡحَٰبُ ٱلنَّارِ أَصۡحَٰبَ ٱلۡجَنَّةِ أَنۡ أَفِيضُواْ عَلَيۡنَا مِنَ ٱلۡمَآءِ أَوۡ مِمَّا رَزَقَكُمُ ٱللَّهُۚ ﴾ [الأعراف: ٥٠]
ความว่า "ชาวนรกได้ร้องขอต่อชาวสวรรค์ว่า จงเทน้ำมาให้แก่พวกเราด้วย หรือสิ่งอื่นที่อัลลอฮฺได้ประทานให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกท่าน" (อัล-อะอฺรอฟ 50)
กล่าวคือพวกเขามีความต้องการจะได้สิ่งหนึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ในเมื่อสิ่งนั้นมาจากสวรรค์ เพราะทุกสิ่งที่มาจากสวรรค์จะต้องเป็นของดีทั้งนั้น ดังนั้น ทำไมท่านจึงทำตัวของท่านให้ห่างไกลจากสวรรค์ด้วยการปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ และการละเว้นไม่เอาใจใส่ในเรื่องของศาสนา?!
ฉะนั้น ขอให้ท่านอดทนอดกลั้นและอดใจ เพราะการมีชีวิตอยู่ในโลกดุนยานี้เป็นระยะเวลาเพียงเล็กน้อย วันเวลาได้เร่งรีบผ่านไปอย่างรวดเร็ว โลกอาคิเราะฮฺก็จะมาถึงอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว สวนสวรรค์นั้นเป็นสินค้าของอัลลอฮฺที่มีราคาแพง และผู้ใดที่ต้องการสวนสวรรค์ชั้นสูง เขาก็จะต้องรีบเร่งทำอิบาดะฮฺที่มีคุณภาพในโลกดุนยานี้ และสินค้าทุกชิ้นย่อมมีราคาของมัน
และสุดท้ายนี้ โปรดทราบด้วยว่าการถือศีลอดที่ดีที่สุดนั้นคือการถือศีลอดของนะบีดาวู๊ด อะลัยฮิสสลาม คือท่านได้ถือศีลอดวันหนึ่ง และเว้นวันหนึ่ง แต่อย่าละทิ้งสิ่งที่เป็นวายิบและจงฉวยโอกาสอย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ และจงทำความดีต่อบิดามารดาของท่านในสิ่งที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺตะอาลา และมีข่าวดีที่ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้แจ้งแก่ฮุซัยฟะฮฺ อิบนุลยะมาน ความว่า "โอ้ฮุซัยฟะฮฺ ผู้ใดที่เสียชีวิตด้วยการถือศีลอดวันหนึ่ง เขาจะได้เข้าสวรรค์" (อัลบานีย์กล่าวว่าเป็นฮะดีสศ่อเฮี๊ยะฮฺ)
http://www.islaminthailand.org/dp6/?q=story/80