×
ความรู้ตามทัศนะอัลกุรอาน เป็นบทวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับอิสลาม โดยอาศััยปฐมโองการที่ถูกประทานลงมาจากอัลกุรอานเป็นหลักในการวิเคราะห์ นั่นคือ อายะฮฺ "อิกเรา่ะอ์" จากสูเราะฮฺ อัล-อะลัก โองการที่ 1-5

    ความรู้ตามทัศนะอัลกุรอาน

    ﴿العلم في منظور القرآن الكريم﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา

    แปลโดย : นัศรุลลอฮฺ ต็อยยิบ, รอสลี แมยู

    ผู้ตรวจทาน : มัลลัน มาหะมะ, ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

    2011 - 1432

    ﴿العلم في منظور القرآن الكريم﴾

    « باللغة التايلاندية »

    د. إسماعيل لطفي جافاكيا

    ترجمة: نصر الله طيب ، روسلي مي يو

    مراجعة: مزلان محمد ، صافي عثمان

    المصدر: جامعة جالا الإسلامية

    2011 - 1432

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    ความรู้ตามทัศนะอัลกุรอาน

    บทนำ

    ตามทัศนะอัลกุรอาน ความรู้และอิสลามนั้นเป็นสิ่งเดียวกันที่ไม่สามารถแยกออกจากกัน ความรู้และอิสลามคือสัจธรรมของศาสตร์แห่งการดำเนินชีวิตที่มีมานับตั้งแต่ปฐมคำสอนจนถึงคำสอนสุดท้ายของอิสลาม และจะคงเป็นเช่นนี้ตลอดไป ดังเห็นได้จากอายะฮฺแรกที่ประทานลงมาคืออายะฮฺที่มีความหมายว่า “จงอ่านเถิด” เพราะการอ่านถือเป็นเงื่อนไขหลักของการศึกษาหาความรู้ อัลลอฮฺ I ตรัสไว้ว่า

    ﮋ ﭻ ﭼ ﭽ ﭾ ﭿ ﮀ ﮁ ﮂ ﮃ ﮄ ﮅ ﮆ ﮇ ﮈ ﮉ ﮊ ﮋ ﮌ ﮍ ﮎ ﮏ ﮐ ﮑ ﮒ ﮓ ﮊ العلق : ١ - ٥

    ความว่า “1) จงอ่านเถิด(โอ้มูฮัมมัด)ด้วยพระนามแห่งพระผู้เป็นเจ้าของเจ้าผู้ทรงให้บังเกิด 2) ผู้ทรงให้บังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด 3) จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นทรงการุณยิ่ง 4) ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา 5) ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้” (สูเราะฮฺ อัล-อะลัก 96 :1-5)

    อับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส (ขออัลลอฮฺทรงประทานความโปรดปรานแก่ท่านทั้งสอง) กล่าวว่า “อายะฮฺแรกๆ ในอัลกุรอานที่ถูกประทานลงมาคือซูเราะฮฺ อัล-อะลัก ที่เริ่มจากประโยคที่ว่า “จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระผู้เป็นเจ้าของเจ้าผู้ทรงให้บังเกิด” จนถึงประโยค “ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้”

    เมื่อศึกษาวิเคราะห์กลุ่มอายะฮฺข้างต้น จะพบว่ามี 5 คำที่กล่าวซ้ำกันจำนวน 2 ครั้ง คือ

    1. อิกเราะอ์ (اِقْرَأْ) หมายถึง จงอ่านเถิด นั่นคือ การอ่านถือเป็นคำบัญชาแรกที่อัลลอฮฺทรงบัญชาแก่มนุษย์ผ่านคำปฐมวิวรณ์(วะหฺยุ)ที่ประทานแก่ นบีมูฮัมมัด ﷺ‬

    2. ร๊อบบิก (رَبِّكَ)หมายถึง พระผู้เป็นเจ้าของเจ้า นั่นคือ อัลลอฮฺ I เท่านั้นเป็นพระผู้เป็นเจ้าของสรรพสิ่งในสากลจักรวาล

    3. เคาะลัก (خَلَقَ)หมายถึง การให้บังเกิด นั่นคือการกระทำแรกของอัลลอฮฺ I ที่สอนให้แก่บ่าวของพระองค์เพื่อให้ทราบว่า อัลลอฮฺI เท่านั้นเป็นผู้ให้บังเกิดและทรงสร้างสรรพสิ่งในสากลจักรวาล

    4. อัล-อินซาน (الإنْسَان) หมายถึง มนุษย์ นั่นคือ มนุษย์คือสารัตถะสำคัญและเป้าหมายสุดท้ายของคำสอนในอิสลาม

    5. อัลละมะ (عَلَّمَ) หมายถึง ทรงสอน นั่นคือ การสอนคือการกระทำที่สองของอัลลอฮฺ I ที่กล่าวถึงในปฐมอายะฮฺนี้เพื่อให้มนุษย์ทราบว่า อัลลอฮฺ I เท่านั้นเป็นผู้สอนให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้

    “อิกเราะอ์ (จงอ่าน)

    นับเป็นสิ่งที่อัศจรรย์ยิ่งเมื่อพบว่าคำแรกในปฐมอายะฮฺที่ประทานลงมานั้นคือคำว่า “จงอ่านเถิด” และได้กล่าวซ้ำอีกครั้งในคำแรกของอายะฮฺที่สาม และที่สำคัญ มีรายงานจากอัล-บุคอรีย์ (หะดีษหมายเลข 3) และมุสลิม (หะดีษหมายเลข 403) บันทึกว่า ก่อนที่อายะฮฺ “จงอ่าน” จะถูกประทานลงมา ญิบรีลได้กำชับสั่งให้ท่านนบีมูฮัมมัด ﷺ‬ อ่านโดยรับสั่งว่า “จงอ่าน” ถึงสามครั้งสามครา แต่ทุกครั้งท่านนบีมูฮัมมัดได้ตอบว่า “ฉันอ่านไม่เป็น” แม้นสิ่งที่ท่านนบีมูฮัมมัดกล่าวนั้นเป็นความจริง(เพราะนบีไม่สามารถอ่านออกเขียนได้) แต่การที่ญิบรีลได้คะยั้นคะยอและเคี่ยวเข็ญให้ท่านอ่านนั้น เป็นการบ่งบอกอย่างมีนัยว่า อิสลามไม่อนุญาตให้มนุษย์ตกอยู่ในสภาพการไม่รู้หนังสืออย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าทุกครั้งที่ท่านนบีมูฮัมมัดตอบว่า“ฉันอ่านไม่เป็น” ญิบรีลก็จะกอดและรัดตัวท่านอย่างแรงทุกครั้ง การกระทำของญิบรีลชี้ให้เห็นว่าญิบรีลไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งที่นบีมูฮัมมัด ﷺ‬ ในฐานะนบีของอัลลอฮฺที่ถูกส่งมาเพื่อมวลมนุษยชาติเป็นผู้ไม่รู้หนังสือ ทั้งนี้เนื่องจากนบีต้องเป็นต้นแบบและสร้างการจุดประกายที่สามารถนำมนุษย์ให้หลุดพ้นจากพันธนาการของความไม่รู้หนังสือสู่วัฒนธรรมแห่งการอ่านและการเรียนรู้ และทั้งหมดนี้คือแก่นแท้ของความรู้ในทัศนะอิสลาม

    สุดท้ายญิบรีลก็ได้สอนท่านนบีมูฮัมมัดด้วย 5 โองการแรกในซูเราะฮฺ อัล-อะลัก นั่นคือ “จงอ่านเถิด(โอ้มูฮัมมัด)ด้วยพระนามแห่งพระผู้เป็นเจ้าของเจ้า พระผู้ทรงให้บังเกิด” ซึ่งทำให้เราทราบว่า การออกคำสั่งด้วยคำว่า “จงอ่าน” ได้มีการทวนซ้ำในปฐมคำสอนของอิสลามจำนวน 5 ครั้งด้วยกัน คือ 3 ครั้งแรกเป็นคำสั่งใช้ของญิบรีล ในขณะที่ 2 ครั้งหลังเป็นคำวิวรณ์ที่ถูกจารึกในอัลกุรอานเพื่อให้มนุษยชาติได้ทวนอ่านจนกระทั่งวันปรโลก(กิยามะฮฺ) จะมีคำสอนอื่นๆ อีกบ้างไหมเล่า - ไม่ว่าในรูปแบบของคัมภีร์ ทฤษฎี ปรัชญาและแนวคิด - ที่กำชับให้มนุษย์ตระหนักและให้ความสำคัญกับการอ่านและการเรียนรู้เหมือนดังที่ปรากฏในปฐมอายะฮฺของการประทานอัลกุรอานนี้

    “จงอ่าน” คำแรกของอายะฮฺแรกเป็นประโยคคำสั่งที่มีเนื้อหาครอบคลุมโดยไม่เจาะจงและปราศจากกรรมรองรับตามหลักการใช้ภาษาทั่วไป

    แม้นพอจะเข้าใจได้ในที่นี้ว่า เป็นการสั่งให้ท่านนบีมูฮัมมัดมูฮัมมัด ﷺ‬ อ่านอัลกุรอาน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำสั่งให้อ่าน ณ ที่นี้ยังหมายรวมถึงการอ่านเครื่องหมายต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์(อายาต)ความปรีชาสามารถของอัลลอฮฺทั้งที่เป็นในลักษณะของอายะฮฺที่ประทานลงมาและถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในอัลกุรอาน หรือในรูปแบบของวัตถุหรือสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างและสามารถมองเห็นด้วยสายตา ดังเช่น ท้องฟ้าและแผ่นดิน ภูเขาและทะเล ดวงดาว รวมถึงกลางวันและกลางคืน และสรรพสิ่ง ซึ่งล้วนเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงการมีอยู่และความปรีชาสามารถของอัลลอฮฺ I ทั้งสิ้น

    “จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระผู้เป็นเจ้าของเจ้า พระผู้ทรงให้บังเกิด”

    นัยสำคัญของคำสั่งใช้ในปฐมอายะฮฺนี้ สรุปได้ดังนี้คือ

    1. รูปแบบหรือวิธีการอ่าน

    การอ่านเป็นบ่อเกิดแห่งวิทยปัญญาและเป็นต้นกำเนิดแห่งความดีงาม แต่บางครั้งเราพบว่า การอ่านอาจผลักไสมนุษย์ตกหลุมพรางแห่งการหลงทางหรืองมงายได้ ดังนั้น เพื่อให้การอ่านเกิดประโยชน์และมีความสิริมงคล(บะเราะกะฮฺ) อิสลามสอนว่า มนุษย์ต้องอ่านสิ่งที่เป็นพระบัญชาจากอัลลอฮฺ I และอ่านด้วยพระนามแห่งพระองค์เท่านั้น

    หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การอ่านของมนุษย์จะต้องไม่ออกจากกรอบที่เป็นคำสอนของอัลลอฮฺ I และในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีความบริสุทธิ์เพื่ออัลลอฮฺเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการรำลึกถึงด้วยหัวใจหรือการกล่าวด้วยลิ้น การอ่านในลักษณะเช่นนี้เท่านั้น จะทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้สัจธรรมและความถูกต้อง

    การอ่านที่ปราศจากการกล่าวถึงและการรำลึกถึงพระนามแห่งอัลลอฮฺนั้น ไม่เพียงแต่ไม่สามารถเข้าถึงแก่นแกนแห่งศาสตร์ที่เป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิตในโลกนี้เท่านั้น แต่ไม่อาจที่จะเข้าถึงแนวทางการแสวงหาความสุขในปรโลก(อาคิเราะฮฺ)ได้อีกด้วย มาตรแม้นว่าจะสามารถเข้าถึงศาสตร์ดังกล่าวได้ แต่หากเป็นไปด้วยแนวความคิดหรือความเข้าใจด้วยสติปัญญาของมนุษย์เพียงลำพังแล้วไซร้ ก็มิอาจสร้างความเป็นสิริมงคล(บะเราะกะฮฺ)ให้กับชีวิตของเขาในโลกใบนี้ได้อย่างแน่นอน และที่สำคัญมนุษ์ไม่สามารถนำนาวาชีวิตสู่ฟากฝั่งแห่งความสงบสุขในปรโลก(อาคิเราะฮฺ)ได้เลย

    2. เนื้อหาความรู้ที่อ่าน

    ประการแรกที่มนุษย์จะต้องอ่านและเรียนรู้คือ “อัลลอฮฺผู้ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าของเจ้า ผู้ทรงให้บังเกิดเจ้า” เพราะประเด็นผู้บังเกิดมนุษย์หรือผู้สร้างโลกและทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ เป็นประเด็นคำถามแรกที่เกิดขึ้นจากสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ที่ต้องการคำตอบอันชัดเจนและเป็นจริง และจะต้องเป็นคำตอบที่มีการอ้างอิงตามหลักวิชาการที่เที่ยงตรง

    ประเด็นคำถามว่า “ใครเป็นผู้บังเกิดมนุษย์ และใครคือผู้สร้างโลกและทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ ?” คำตอบก็คือ “อัลลอฮฺ” ซึ่งเป็น “พระผู้เป็นเจ้าของเจ้า” ที่ทรงให้บังเกิดเจ้าและทรงสร้างโลกและทุกสรรพสิ่งในโลกนี้

    เป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์ดำรงอยู่ในโลกนี้โดยไม่รู้ว่าใครคือผู้บังเกิดหรือผู้สร้าง และไม่รู้ว่าใครคือพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริง ? ในขณะที่อัลลอฮฺ I ทรงประกาศว่าพระองค์คือพระเจ้าผู้ทรงให้บังเกิดทุกสิ่ง ซึ่งได้ทรงประกาศมาเป็นเวลากว่า 1,400 กว่าปีผ่านอัลกุรอาน และหมื่นๆ ศตวรรษผ่านคัมภีร์ที่ทรงประทานแก่ศาสนทูตยุคก่อนมาแล้ว ในขณะที่ยังไม่มีผู้ใด - นับตั้งแต่การกำเนิดโลกนี้จวบจนปัจจุบันและอนาคต- หาญกล้าประกาศว่าเขาคือผู้ให้บังเกิดมนุษย์และเป็นผู้สร้างโลกนี้ นั่นก็หมายความว่าสิ่งที่อัลลอฮฺ I ตรัสว่า “พระองค์คือผู้ทรงให้บังเกิด” เป็นแก่นแท้ที่เป็นความจริงเสมอ เป็นความจริงที่ไม่เคยมีคำท้าทายหรือการคัดค้านจากผู้ใด – ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ก็ตาม - นับแต่อดีตกาลจวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ และทุกวันนี้ก็ยังไม่มีแนวคิดหรือคำสอนใดที่มาคัดค้านคำประกาศนี้ และจะเป็นอยู่เช่นนี้จนกระทั่งวันอาคิเราะฮฺ ซึ่งเราจะเห็นว่าแม้แต่ชาวกุร็อยช์ในนครมักกะฮฺ ผู้ต่อต้านท่านนบีมูฮัมมัดในยุคแรกของการเผยแผ่อิสลาม ก็ยังยอมรับในคำประกาศของอัลลอฮฺ I ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า

    ﮋ ﯰ ﯱ ﯲ ﯳ ﯴ ﯵﯶ ﯷ ﯸ ﯹ ﮊ الزخرف : ٨٧

    ความว่า“และถ้าเจ้าถามพวกเขาว่า ใครเป็นผู้สร้างพวกเขา แน่นอนพวกเขาจะกล่าวว่า อัลลอฮฺ แล้วทำไมเล่าพวกเขาจึงหันเหออกไปทางอื่น?”(อัซ-ซุครุฟ 43: 87)

    นอกจากนี้ อิสลามสอนว่าการรู้จักพระเจ้าผู้ทรงให้บังเกิดนั้นจะสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ด้วยการอ่านด้วยพระนามของอัลลอฮฺ I เท่านั้น

    “จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระผู้เป็นเจ้าของเจ้า” อายะฮฺนี้ ทำให้เราเข้าใจว่าการเข้าถึงแก่นแกนหรือสารัตถะแห่งพระผู้เป็นเจ้านั้น เป็นผลจากการอ่านหรือการฟังคำวิวรณ์แห่งอัลลอฮฺอันเป็นแก่นแห่งความรู้ที่มีหลักฐานที่เป็นจริง ไม่ใช่ด้วยการอ่านจากสื่อความรู้ที่ไม่ปรากฏแหล่งที่มาหรือปราศจากหลักฐานที่น่าเชื่อถือและไม่เป็นที่ยอมรับตามหลักวิชาการ ดังที่อัลลอฮฺ I ตรัสไว้ว่า

    ﮋ ﰊ ﰋ ﰌ ﰍ ﰎ ﰏ ﮊ محمد : ١٩

    ความว่า “พึงรู้เถิดว่า แท้จริงไม่มีพระผู้เป็นเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ” (มุหัมมัด 47:19)

    พระองค์ตรัสคำว่า“พึงรู้เถิด”เท่ากับเป็นการย้ำให้เห็นว่ามโนคติของคำว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ” นั้น ไม่อาจที่จะเข้าใจและเข้าถึงอย่างลึกซึ้งได้หากปราศจากความรู้หรือการเรียนรู้

    ดังนั้น จงอ่านเถิดไม่ว่าจะเป็นการอ่านจากคัมภีร์ของอัลลอฮฺ I ซึ่งเป็นสัญญาณ(อายาต)ของอัลลอฮฺที่ถูกจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร หรือจากสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง ซึ่งเป็นสัญญาณ(อายาต)ของอัลลอฮฺที่ถูกสร้าง

    จงอ่านด้วยพระนามของพระองค์ พร้อมกับวิงวอนขอการชี้นำจากพระองค์ แน่แท้ มนุษย์ก็จะพบกับแก่นแท้แห่งความรู้ที่เป็นสัจธรรม เพราะความรู้ที่เป็นสัจธรรมนั้นล้วนมาจากอัลลอฮฺ

    ดังนั้น หากผู้ใดอ่านอายาตของอัลลอฮฺด้วยพระนามของพระองค์ มีจุดประสงค์เพื่อการรู้จักพระองค์ ต้องการศึกษาเรียนรู้แก่นแท้ของสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง แน่นอน ความรู้ในลักษณะเช่นนี้จะก่อคุณูปการให้แก่ชีวิตเขาและสรรพสิ่งบนโลกนี้อย่างใหญ่หลวง

    แต่เมื่อใดที่มนุษย์เรียนรู้ที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์เพื่ออัลลอฮฺแล้ว มันจะไม่เพียงเป็นการสร้างปัญหาอันไม่จบสิ้นแก่ตนเองเท่านั้น แต่อาจกลายเป็นต้นกำเนิดแห่งความวุ่นวายโกลาหลของชีวิตมนุษย์เลยทีเดียว

    เมื่อใดที่มนุษย์ ทราบคำตอบว่าใครเป็นผู้บังเกิดเขาและใครเป็นผู้สร้างโลกและทุกสรรพสิ่งในโลกนี้อย่างถูกต้องและตั้งอยู่บนหลักวิชาความรู้ที่เที่ยงแท้แล้ว คำตอบในประเด็นปัญหาต่างๆ อันมากมายที่ตามมา ก็ย่อมจะส่งผลให้มีคำตอบที่ถูกต้องและเที่ยงตรงตามหลักวิชาการนั้นด้วย

    “ทรงให้บังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด”

    ในบรรดาองค์ความรู้ที่ตกผลึกมาจากการอ่านครั้งแรกในอิสลามคือ “อัลลอฮฺคือผู้ทรงให้บังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด” โองการนี้มีประเด็นสำคัญอยู่ 2 ประเด็น คือ

    ประเด็นที่ 1 อัลลอฮฺ I ผู้ทรงให้บังเกิดมนุษย์ ในที่นี้ให้ความหมายที่เจาะจงกว่าคำว่า “ให้บังเกิด” ที่กล่าวถึงครั้งแรกในท้ายโองการแรกก่อนหน้านี้ เพราะคำว่า “ให้บังเกิด” ครั้งที่สองนี้ ได้เจาะจงผู้ถูกกำเนิด นั่นคือ “ให้บังเกิดมนุษย์” ซึ่งมีจุดประสงค์เฉพาะเพื่อตอบประเด็นคำถามที่ว่า ใครคือผู้สร้างมนุษย์ ?

    เพราะโดยทั่วไปมนุษย์ส่วนใหญ่โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ไม่รู้ว่าอัลลอฮฺ I คือผู้ทรงให้บังเกิด ไม่รู้ว่าพระองค์คือผู้บริหารจัดการและดูแลชีวิตของเขา มนุษย์ส่วนใหญ่ต่างหลงทางไปกับกระแสโลก มืดบอดและไร้ปัญญาที่จะตอบคำถามที่เป็นสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ผู้ใฝ่รู้

    และในความเป็นจริง การที่มนุษย์ไม่รู้จักอัลลอฮฺ I และไม่รู้ว่าพระองค์คือผู้ทรงให้บังเกิดตามที่อัลกุรอานได้นำเสนอแล้ว ทำให้เข้าใจได้ว่ามนุษย์อาจอยู่ในสภาพอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง 2 สถานะดังต่อไปนี้

    สถานะแรก มนุษย์อาจเชื่อว่ามีสิ่งอื่นหรือบุคคลอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ I เป็นผู้ให้บังเกิด แนวคิดนี้ยังไม่เคยปรากฏและยังไม่มีการบันทึกจากหลักคำสอนใดๆ อันเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าเขาคือผู้สร้างโลกและให้บังเกิดมนุษย์ ความเป็นจริงนี้เราจะพบจากคำสอนของอัลลอฮฺ I ที่ได้ตรัสว่า

    ﮋﭿ ﮀ ﮁ ﮂ ﮃ ﮄ ﮅ ﮆ ﮇ ﮈ ﮉ ﮊ النحل : ٢٠

    ความว่า “บรรดาสิ่งที่พวกเขาวิงวอนอื่นจากอัลลอฮฺนั้น พวกมันไม่ได้สร้างสิ่งใดเลย แต่พวกมันถูกสร้างต่างหาก” (อัน-นะห์ลุ 16 : 20)

    หากสรรพสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์พากันวิงวอนและกราบไหว้บูชา ไม่มีความสามารถสร้างมนุษย์ได้ แล้วจะหวังอะไรจากสิ่งที่พวกเขาพร่ำวิงวอนหรือสักการะเหล่านั้นอีกเล่า ?

    สถานะที่สอง เชื่อว่ามนุษย์และทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนเกิดมาด้วยตัวมันเอง หรือที่เรียกว่าเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ(Natural) ซึ่งแนวคิดนี้ ผู้ที่เรืองปัญญาทั้งหลายไม่อาจจะยอมรับได้เช่นเดียวกัน เพราะย่อมเป็นไปไม่ได้ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาด้วยตัวของมันเองโดยปราศจากผู้สร้าง และในขณะเดียวกัน สิ่งใดก็ตามไม่อาจจะแปรเปลี่ยนสภาพของมันเองได้ เว้นแต่จะต้องมีผู้ที่ทำให้มันเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ตัวอย่างเช่น บ้านที่สร้างขึ้นไม่ว่าจะสร้างด้วยไม้หรือวัสดุอะไรก็ตาม โดยวิสัยของมนุษย์แล้ว แน่นอนทุกคนย่อมเกิดคำถามว่า ใครคือช่างก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าว? เช่นเดียวกันผ้าที่ถูกถักทอขึ้นจากฝ้ายหรือวัสดุอื่นๆ จะต้องมีคำถามว่ามันถูกผลิตมาจากโรงงานใด ? หรือใครเป็นผู้ทอผ้าดังกล่าว ? คำถามเหล่านี้เป็นสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ผู้เรืองปัญญา หากการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งจากสภาพหนึ่งสู่อีกสภาพหนึ่งมนุษย์ยังถามถึงผู้กระทำหรือผู้อยู่เบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงแล้ว นับประสาอะไรกับสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นไปได้หรือที่มนุษย์เรืองปัญญาจะยอมรับแนวคิดหรือทฤษฎีการเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติของสรรพสิ่ง ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบของมนุษย์ในระบบอภิมหาจักรวาลที่มีระบบและโครงสร้างอันลึกลับและสลับซับซ้อนที่เกินกว่าปัญญาของมนุษย์จินตนาการได้

    ประเด็นที่ 2 อัลลอฮฺ I ทรงให้บังเกิดมนุษย์มาจาก “ก้อนเลือด” และพระองค์ได้เปิดเผยสัจธรรมแห่งศาสตร์หรือแก่นแท้แห่งความรู้ที่เกี่ยวสัมพันธ์กับวัตถุที่เป็นต้นกำเนิดมนุษย์ว่าพระองค์ทรงให้บังเกิดมนุษย์จาก “ก้อนเลือด” ที่ห่อหุ้มเมล็ดพันธุ์แห่งการก่อกำเนิดมนุษย์ อันเป็นผลจากการผสมผสานระหว่างน้ำอสุจิของผู้เป็นพ่อกับไข่ที่ฝังตัวอยู่ในมดลูกของของผู้เป็นแม่ “ก้อนเลือด” คือแก่นแท้แห่งความรู้ที่อัลลอฮฺ I ทรงเปิดเผย และประชาชาติอิสลามสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจได้มาเป็นเวลาพันกว่าปีมาแล้ว แต่ผู้ปฏิเสธ อัลกุรอานที่อ้างตัวเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เพิ่งจะค้นพบและสร้างทฤษฎีใหม่ที่ว่าด้วยการกำเนิดมนุษย์เพียงแค่สองร้อยปีมานี้เอง ทั้งที่อัลลอฮฺ I ทรงบัญชาให้มนุษย์ใคร่ครวญและไตร่ตองถึงความเป็นมาของตัวเขาเองมานานนับสิบศตวรรษแล้ว

    ดังเช่นที่อัลลอฮฺ I ตรัสว่า

    ﮋ ﭣ ﭤ ﭥ ﭦ ﭧ ﭨ ﭩ ﭪ ﭫ ﭬﮊ الطارق : ٥ - ٦

    ความว่า “ดังนั้น มนุษย์จงไตร่ตรองดูซิว่าเขาถูกบังเกิดมาจากอะไร เขาถูกบังเกิดมาจากน้ำที่พุ่งออกมา มันออกมาจากกระดูกสันหลัง(ของชาย)และกระดูกหน้าอก(ของหญิง) (อัต-ฏอริก 86 : 5-6)

    สัจธรรมข้อนี้ พอที่จะเข้าใจถึงความสำคัญของปฐมอายะฮฺในการเติมเต็มความต้องการแรกเริ่ม และคำตอบสำหรับประเด็นปัญหาแรกในสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์อันเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตได้อย่างลึกซึ้งทีเดียว

    “จงอ่านเถิด และพระผู้เป็นเจ้าของเจ้านั้นทรงการุณยิ่ง”

    อัลลอฮฺ I ทรงมีพระบัญชาให้อ่านเป็นครั้งที่สองเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญในคำสั่งใช้ของพระองค์ พร้อมกันนี้ พระองค์ยังได้ชี้แจงถึงคุณลักษณะของพระองค์คือทรงการุณยิ่ง “จงอ่านและพระผู้เป็นเจ้าของเจ้านั้นทรงการุณยิ่ง” ด้วยการประทานความสามารถเป็นของกำนัลแด่บ่าวของพระองค์ที่ชื่อว่า “มนุษย์” ซึ่งพระองค์ทรงให้บังเกิดมาจาก “ก้อนเลือด” ที่อ่อนแอและต่ำต้อย จนกระทั่งมีความสามารถในการอ่านและเรียนรู้อายะฮฺของพระองค์และเข้าใจถึงหลักคำสอนและศาสนาของพระองค์ที่ทรงเกียรติและสูงส่งได้ ด้วยคุณลักษณะของพระองค์ที่ทรงเมตตาและการุณ พระองค์จะไม่ด่วนลงโทษบ่าวที่ไม่รู้และปฏิเสธคำสอนของพระองค์ เพราะความไม่รู้หนังสือนั้น

    หมายความว่า จงอ่านเถิดโอ้มูฮัมมัด ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าของเจ้านั้นการุณยิ่ง พระองค์ย่อมที่จะช่วยเหลือเจ้าในการทำความเข้าใจมัน แม้นว่าเจ้าไม่สามารถอ่านได้ก็ตาม ทั้งหมดนี้คือความโปรดปรานของอัลลอฮฺ I ที่ประทานแก่ท่านนบีมูฮัมมัดมูฮัมมัด ﷺ‬ และปวงบ่าวของพระองค์ ให้ทำความรู้จักอัลลอฮฺ I และเข้าใจในวิธีปฏิบัติอิบาดะฮฺต่อพระองค์อย่างถูกต้องและเที่ยงตรงโดยผ่านกระบวนการอ่านที่กำหนดกรอบโดยอิสลาม

    “ผู้ทรงสอนด้วยปากกา”

    ในบรรดาความเมตตาของอัลลอฮฺ I นั้น คือการที่พระองค์ทรงสอนมนุษย์ใช้ปากกาหรือดินสอในการจดบันทึกความรู้ทั้งหลาย โดยเฉพาะการที่โองการอัลกุรอานลงมาท่ามกลางชาวอาหรับซึ่งเป็นกลุ่มชนผู้ไม่รู้หนังสือ ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ พระองค์ทรงสั่งใช้ให้พวกเขาอ่านและใช้ปากกาในการบันทึกเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ที่เที่ยงแท้ ได้เห็นถึงวิวัฒนาการของปากกาอย่างชัดเจนจากยุคหนึ่งมาสู่อีกยุคหนึ่ง ที่เริ่มต้นจากการใช้วัสดุต่างๆ สำหรับการขีดเขียนในแต่ละยุคสมัย จนกระทั่งถึงยุคคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ทั้งหมดนี้คือแก่นแท้ของ “ปากกา” ที่สามารถบันทึกและเก็บรักษาซึ่งความรู้ต่างๆ ได้อย่างมากมายและยาวนาน

    ท่านเกาะตาดะฮฺได้อรรถาธิบายอายะฮฺนี้ว่า “ปากกาเป็นความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ I สำหรับบ่าวของพระองค์ เพราะศาสนาไม่อาจยืนหยัดอยู่ได้และมนุษย์ก็มิอาจค้นพบสิ่งที่ดีในชีวิตได้หากปราศจากปากกา”

    อัลลอฮฺ I มิเพียงแค่ทรงให้บังเกิดมนุษย์ขึ้นมาแล้วทรงปล่อยให้มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างลำพังโดยไร้จุดหมายและปราศจากการชี้นำ แต่พระองค์ทรงสอนและทรงให้ความรู้แก่มนุษย์ ซึ่งการบังเกิดและการสอนนั้นเป็นสองภารกิจเริ่มแรกที่พระองค์ทรงเปิดเผยแก่บ่าวของพระองค์ และได้บัญญัติไว้ถึงสองครั้งสองคราใน 5 โองการแรกของปฐมซูเราะฮฺ

    “ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้”

    อัลลอฮฺ I ทรงสอนมนุษย์ทุกประการที่พวกเขายังไม่รู้ และทรงสอนทุกอย่างที่เป็นความจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตของพวกเขาทั้งในโลกนี้และปรโลก(โลกอาคิเราะฮฺ)

    องค์ความรู้ที่พระองค์ทรงสอนมนุษย์นั้นคือ ความรู้ที่มนุษย์ไม่เคยรู้ หรือยังไม่รู้ เป็นสิ่งที่น่ายินดียิ่งสำหรับการได้เรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่รู้และไม่เข้าใจ โดยเฉพาะความรู้ที่ไม่อาจเรียนรู้ได้ด้วยสติปัญญาและความสามารถของมนุษย์ เว้นแต่ผ่านการสอนจากพระองค์เท่านั้น

    “สิ่งที่พวกเขาไม่รู้” ในที่นี้คือทุกอย่างที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์ทั้งในโลกนี้ ในหลุมฝังศพและวันปรโลก(โลกอะคิเราะฮฺ) รวมถึง มวลความรู้ทั้งปวงทั้งก่อนการกำเนิดมนุษย์ในโลกนี้จนกระทั่งวาระสุดท้ายของโลก ซึ่งประมวลคำสอนเหล่านี้ก็คือ “ศาสนา” หรือ “อิสลาม” นั่นเอง

    ความรู้ในทัศนะอิสลามคือ

    1. ความรู้ในเรื่องอิบาดะฮฺ (ความรู้ที่ช่วยเสริมให้มนุษย์สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะบ่าวของอัลลอฮฺ เช่น การละหมาด การถือศีลอด เป็นต้น)

    2. ความรู้ในเรื่องคิลาฟะฮฺ (ความรู้ที่ช่วยเสริมให้มนุษย์สามารถปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้แทนของอัลลอฮฺ เช่น ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ การพัฒนา เป็นต้น)

    และความรู้ที่เข้าข่ายคำว่า “สิ่งที่เขาไม่รู้” นั้นคือ

    1. ความรู้เกี่ยวกับอัลลอฮฺ I ได้แก่ความรู้เกี่ยวกับคุณลักษณะของพระองค์ และการกระทำของพระองค์

    2. ความรู้เกี่ยวกับคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ I ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับบทบัญญัติและศาสนาของพระองค์

    3. ความรู้เกี่ยวกับสรรพสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา ได้แก่ความรู้ต่างๆ ที่ค้นพบโดยมนุษย์ เช่นศาสตร์ต่างๆ ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับภาษา วัฒนธรรม ประเพณีปฏิบัติการอยู่ร่วมกัน การแสงหาผลประโยชน์หรือการป้องกันภยันตรายจากสรรพสิ่งต่างๆ เป็นต้น

    คำว่า “สิ่งที่พวกเขาไม่รู้” เป็นคำที่ครอบคลุมรากฐานและกิ่งก้านสาขาแห่งศาสตร์ที่มีอาณาบริเวณอันกว้างไกลและลุ่มลึก แต่ทั้งนี้ ความรู้ที่อัลลอฮฺ I ทรงประทานให้แก่มนุษย์นั้นมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังจะเห็นว่ามนุษย์คนหนึ่งนั้นไม่สามารถที่จะรู้และเข้าใจตัวเขาเองหรือสิ่งที่เขามองเห็นและสำผัสได้ทั้งหมด นับประสาอะไรกับสิ่งที่อยู่นอกกายหรือสิ่งที่เขาไม่สามารถมองเห็น ซึ่งรากฐานการบังเกิดมนุษย์นั้นประกอบด้วยองค์ประกอบหลักสองส่วน คือจิตวิญญาณและเรือนร่าง กระนั้น มนุษย์ก็ยังไม่รู้จักแก่นแท้ของจิตวิญญาณที่เป็นรากฐานชีวิต อัลลอฮฺ I ตรัสไว้ว่า

    ﮋ ﯮ ﯯ ﯰﯱ ﯲ ﯳ ﯴ ﯵ ﯶ ﯷ ﯸ ﯹ ﯺ ﯻ ﯼ ﯽ ﮊ الإسراء : ٨٥

    ความว่า “และพวกเขา(คือบรรดาชาวยิว)จะถามเจ้า(โอ้มูฮัมมัด) เกี่ยวกับจิตวิญญาณ เจ้าจงกล่าวเถิดว่า เรื่องวิญญาณนั้นเป็นไปตามพระบัญชาของพระเจ้าของฉัน และพวกท่านจะไม่ได้รับความรู้ใดๆ เว้นแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น” (อัล-อิสรออ์ 17 : 85)

    “ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้” อัลลอฮฺ I ทรงสอนสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์ยังไม่รู้ พระองค์ทรงสอนในฐานะที่พวกเขาเหล่านั้นเป็นบ่าวของพระองค์ อิสลามถือว่าทุกสรรพสิ่งนั้นถูกสร้างขึ้นโดยอัลลอฮฺ I และศาสตร์ทั้งมวลนั้นเป็นของพระองค์ที่ทรงสอนแก่มนุษย์ทั้งหลาย ไม่มีการยกเว้นว่ามนุษย์ผู้นั้นจะภักดีหรือปฏิเสธพระองค์ จงใคร่ครวญในดำรัสที่ว่า “ทรงให้บังเกิดมนุษย์” และ “ทรงสอนมนุษย์” คือทรงให้บังเกิดและทรงสอนมนุษย์ทุกคนโดยไม่เจาะจงเฉพาะมุสลิมเท่านั้น อัลลอฮฺ I เป็นผู้ทรงให้บังเกิดมนุษย์ทุกคน ดังนั้นพระองค์จึงเป็นผู้ทรงสอนมนุษย์ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงคุณลักษณะหรือสถานะของคนใดคนหนึ่งแต่อย่างใด

    “ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้” รูปแบบและวิธีการสอนของอัลลอฮฺ I มี 3 รูปแบบ

    1. รูปแบบที่เป็นสามัญสำนึกและสัญชาตญาณของมนุษย์ คือความรู้ที่ประทานให้กับสรรพสิ่งทั้งหลายโดยไม่ต้องศึกษาหรือค้นหาแต่อย่างใด เช่นการดื่มการกิน การนอนและการตื่น การขับถ่ายและอื่นๆ

    2. รูปแบบที่เป็นการเสาะแสวงหา คือความรู้ที่ได้มาด้วยการใช้ความพยายาม วิริยะอุตสาหะ และการเสาะแสวงหาจากแหล่งที่มา 2 ประการ คือ

    แหล่งที่หนึ่ง จากคำวิวรณ์(วะหฺยุ)ทั้งที่เป็นอัลกุรอานหรือซุนนะฮฺ(วจนะหรือแบบอย่างของท่านนบีมูฮัมมัด) คือความรู้ที่เป็นสัจธรรมและถูกต้องเสมอ ปราศจากความเคลือบแคลงใดๆ อัลลอฮฺ I ได้ตรัสว่า

    ﮋ ﯗ ﯘ ﯙ ﯚ ﯛ ﯜ ﯝ ﯞ ﯟ ﯠ ﯡ ﯢ ﯣ ﯤ ﯥ ﯦ ﯧ ﯨ ﮊ البقرة: ١٥١

    ความว่า “ดังที่เราได้ส่งเราะซูล(ศาสนทูต)ผู้หนึ่ง จากพวกของเจ้าเองมาในหมู่พวกเจ้า ซึ่งเขาจะอ่านบรรดาโองการของเราให้พวกเจ้าฟัง และจะทำให้พวกเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ และจะสอนคัมภีร์ และความรู้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติให้แก่พวกเจ้า และจะสอนพวกเจ้าในสิ่งที่พวกเจ้าไม่เคยรู้มาก่อน” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 2 : 151)

    แหล่งที่สอง จากความคิดหรือสติปัญญา ซึ่งบางครั้ง ความรู้ที่คิดค้นมาอาจเป็นความจริงถ้ามันไม่ขัดแย้งกับวิวรณ์ที่ถูกต้อง หรืออาจเป็นเท็จหากความรู้นั้นขัดแย้งกับความเป็นจริงของคำวิวรณ์ อัลลอฮฺ I ตรัสว่า

    ความว่า “พวกเขารู้แต่เพียงผิวเผินในเรื่องการดำเนินชีวิตในโลกนี้ และพวกเขาไม่คำนึงถึงการมีชีวิตในวันอาคีเราะฮฺ” (อัลกุรอาน 30 : 7)

    3. รูปแบบการดลใจ[1] ซึ่งเป็นรูปแบบและวิธีการสอนประเภทหนึ่งที่อัลลอฮฺ I ทรงประทานแก่บ่าวที่พระองค์ทรงประสงค์ ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องเสาะแสวงหาและศึกษาแต่อย่างใด บางครั้งอาจจะได้มาโดยผ่านกระบวนการขัดเกลาจิตใจอย่างมุ่งมั่นทุ่มเท หรือบางครั้งได้มาด้วยวิธีการดลใจเป็นการเฉพาะ ดังที่อัลลอฮฺ I ทรงอธิบายเกี่ยวกับท่านคิฎิรฺ(ผู้รู้ในสมัยศาสนทูตมูซา)ว่า

    ﮋ ﭿ ﮀ ﮁ ﮂ ﮃ ﮄ ﮅ ﮆ ﮇ ﮈ ﮉ ﮊ ﮋﮊ الكهف: ٦٥

    ความว่า “แล้วทั้งสอง(นบีมูซาและสหายของท่าน)ได้พบบ่าวคนหนึ่งจากปวงบ่าวของเรา ที่เราได้ประทานความเมตตาจากเราให้แก่เขา และเราได้สอนความรู้(ที่เรียกว่าการดลใจ)จากเราให้แก่เขา” (อัล-กะฮฺฟุ 18 : 65)

    “จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นทรงใจบุญยิ่ง ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้”

    การประทานลงมาของ 5 อายะฮฺแรกในซูเราะฮฺ อัล-อะลักถือเป็นปรากฏการณ์และประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของมนุษยชาติ ประวัติศาสตร์การอ่านที่ถูกขับเคลื่อนโดยพระผู้ทรงสร้างโลกที่กำหนดคุณลักษณะของพระองค์เอง ด้วยคุณลักษณะ “ผู้ทรงการุณยิ่ง” ในการให้บังเกิดมนุษย์และสร้างโลกใบนี้ และทรงใช้ปากกาเป็นสื่อในการสอนมนุษย์

    พระองค์ไม่เพียงแค่ทรงให้บังเกิดมนุษย์เท่านั้น ด้วยคุณลักษณะของพระองค์ที่ทรงเกียรติและทรงเมตตายิ่ง พระองค์ทรงสอนทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับวิถีชีวิตของมนุษย์ ดังที่พระองค์บอกว่า“สิ่งที่พวกเขาไม่รู้” ซึ่งครอบคลุมทุกอย่าง แต่ไม่ใช่ความรู้ทั้งหมดของพระองค์ เพราะคำว่า “สิ่ง” ในที่นี้ คือความรู้หรือวิทยปัญญาต่างๆ ที่พระองค์ยังไม่สอนให้มนุษย์รู้ ในขณะที่ สิ่งที่พระองค์ทรงสอนให้มนุษย์รู้นั้นมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถึงแม้ในความรู้สึกของมนุษย์นั้น อาจคิดว่า เขาได้รับความรู้มากมายมหาศาลก็ตาม

    ﮋﯷ ﯸ ﯹ ﯺ ﯻ ﯼ ﯽﮊ الإسراء : ٨٥

    “และพวกท่านจะไม่ได้รับความรู้ใดๆ เว้นแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น” (อัล-อิสรออ์ 17 : 85)

    ﮋ ﯩ ﯪ ﯫ ﯬ ﯭ ﯮ ﯯ ﯰﮊ البقرة: ٢٥٥

    “และพวกเขาไม่สามารถล่วงรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดจากความรอบรู้ของพระองค์ได้ นอกจากสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์(ให้พวกเขารู้)เท่านั้น” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 2 : 255)

    ﮋ ﯱ ﯲ ﯳ ﯴ ﯵ ﯶ ﯷ ﯸ ﯹ ﯺ ﯻ ﯼ ﯽ ﯾ ﯿ ﰀ ﰁ ﰂ ﰃ ﮊ الكهف: ١٠٩

    “จงกล่าวเถิด (โอ้มูฮัมมัด) หากว่าทะเลเป็นน้ำหมึกสำหรับบันทึกพจนารถของพระผู้เป็นเจ้าของฉัน แน่นอนที่สุด ทะเลจะเหือดแห้งก่อนที่คำกล่าวของพระผู้เป็นเจ้าของฉันหมดสิ้นไป และแม้ว่าเราจะนำมันเยี่ยงนั้นมาเป็นน้ำหมึกอีกก็ตาม” (อัล-กะฮฺฟุ 18 : 109)

    อิบนุ กะษีรฺ ได้กล่าวว่า โองการแรกของอัลกุรอานที่ประทานลงมาคือ 5 โองการ(ในซูเราะฮฺ อัล-อะลัก) ที่ทรงเกียรติและมงคลยิ่ง และอายะฮฺดังกล่าวคือความเมตตาและเป็นความโปรดปรานครั้งแรกที่อัลลอฮฺ I ทรงประทานให้แก่ปวงบ่าวของพระองค์ เป็นการตักเตือนให้ตระหนักว่ามนุษย์ถูกบังเกิดมาจากก้อนเลือด และพระองค์ทรงให้เกียรติโดยทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้และให้วิชาความรู้แก่พวกเขา ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของอาดัม บิดาแห่งมนุษยชาติที่มีเหนือกว่าบรรดามะลาอิกะฮฺ อัลลอฮฺI ตรัสว่า

    ﮋ ﭻ ﭼ ﭽ ﭾ ﭿ ﮀ ﮁ ﮂ ﮃ ﮄ ﮅ ﮆ ﮇ ﮈ ﮉ ﮊ ﮋ ﮌ ﮍ ﮎ ﮏ ﮐ ﮑ ﮒ ﮓ ﮊ العلق : ١ - ٥

    ความว่า “1) จงอ่านเถิด(โอ้มูฮัมมัด)ด้วยพระนามแห่งพระผู้เป็นเจ้าของเจ้าผู้ทรงให้บังเกิด 2) ผู้ทรงให้บังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด 3) จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นทรงการุณยิ่ง 4) ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา 5) ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้” (สูเราะฮฺ อัล-อะลัก 96 :1-5)

    วิวรณ์ความรู้ที่มาจากการชี้นำ เป็นความเมตตาและการตักเตือน

    ไม่มีความรู้ใดที่จะเป็นจริงไปกว่าความรู้จากคำวิวรณ์ เพราะเป็นคำสอนของอัลลอฮฺ I ผู้ทรงให้บังเกิด ผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ ไม่ว่าการสอนเกี่ยวกับการทำความรู้จักพระองค์ คุณลักษณะของพระองค์ และการกระทำของพระองค์ หรือสิ่งที่เกี่ยวกับสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างทั้งหลาย ทั้งหมดนั้นคือกรรมสิทธิ์และการครอบครองของพระองค์ มนุษย์มีหน้าที่ในการเสาะแสวงหาวิธีการทำความเข้าใจวิวรณ์นั้น และนั่นคือวิทยปัญญาและเป้าหมายที่พระองค์ส่งศาสนทูตเพื่อชี้แจงและให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิวรณ์ของพระองค์แก่มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นความหมายหรือวิธีการปฏิบัติ

    อัลลอฮฺ I ได้ตรัสถึงคุณลักษณะและหน้าที่ของอัลกุรอานไว้ว่า

    ﮋﮓ ﮔ ﮕ ﮖ ﮗ ﮘ ﮙ ﮚ ﮛﮜ ﮝ ﮞ ﮟ ﮠ ﮡﮊ فصلت : ٤٢

    ความว่า “ความเท็จจากข้างหน้าและข้างหลังจะไม่เข้าไปสู่อัลกุรอานได้ (เพราะ)เป็นประทานจากพระผู้ทรงปรีชาญาณผู้ทรงได้รับการสรรเสริญ” (ฟุศศิลัต 41 : 42)

    ﮋﰀ ﰁ ﰂ ﰃ ﰄ ﰅ ﰆ ﰇ ﰈ ﰉﰊ ﰋ ﰌ ﰍ ﰎﰏﮊ النحل: ٦٤

    “และเราเรามิได้ให้คัมภีร์นี้ลงแก่เจ้า(โอ้มูฮัมมัด) เพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อให้เจ้าชี้แจงให้แจ่มแจ้งแก่พวกเขาในสิ่งที่พวกเขาขัดแย้งกัน และเพื่อเป็นการชี้แนวทางและเป็นความเมตตาแก่หมู่ชนผู้ศรัทธา” (อัลกุรอาน 16 : 64)

    การอ่านและเรียนรู้วันปรโลก(อะคิเราะฮฺ)

    พระบัญชาให้อ่านครั้งที่สามที่ถูกระบุไว้ในอัลกุรอาน คือ ดำรัสของอัลลอฮฺ I ที่ว่า

    ﮋﮭ ﮮ ﮯ ﮰ ﮱ ﯓ ﯔ ﯕﮊ الإسراء : ١٤

    ความว่า “เจ้าจงอ่านบันทึกของพวกเจ้า พอเพียงแก่พวกเจ้าแล้ววันนี้ที่จะเป็นผู้ชำระบัญชีของตัวเจ้าเอง” (อัล-อิสรออ์ 17 : 14)

    คำสั่ง “จงอ่าน”จะปรากฏในอัลกุรอานเพียงสามครั้งเท่านั้น สองครั้งใน 5 โองการแรกในซูเราะฮฺ อัล-อะลัก ส่วนครั้งที่สามจะปรากฏในซูเราะฮฺ อัล-อิสรออ์

    สองครั้งที่กล่าวถึงในซูเราะฮฺ อัล-อะลักเป็นประโยคคำสั่งที่ไม่เจาะจงว่าต้องอ่านอะไร ซึ่งเป็นการให้ความหมายที่กว้างและครอบคลุมถึงสรรพสิ่งต่างๆที่เป็นสัญญาณ(อายาต)ของอัลลอฮฺ ในขณะที่ “จงอ่าน” ที่กล่าวในซูเราะฮฺ อัล-อิสรออ์ จะมีกรรมบ่งบอกถึงสิ่งที่จะต้องอ่าน คือ “สมุดบันทึกของเจ้า” คือสมุดบันทึกการปฏิบัติของมนุษย์ที่ถูกนำเสนอในวันแห่งการตัดสิน(วันอาคิเราะฮฺ) เพื่อเปิดเผยถึงการงานและการปฏิบัติต่างๆ ที่ได้กระทำมาบนโลกนี้ ซึ่งเป็นการตัดสินขั้นสุดท้ายที่มนุษย์พึงได้รับ เพื่อกำหนดว่าเขาควรได้รับสวนสวรรค์หรือตกขุมนรก

    เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ปฐมพระบัญชา “จงอ่าน” ของอัลลอฮฺ I ทั้งสองครั้งที่พระองค์ทรงใช้ให้มนุษย์ค้นหาและทำความเข้าใจในวิถีชีวิตและเข้าถึงศาสนาของพระองค์นั้น มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญมากนัก อาจจะเป็นเพราะถูกอิทธิพลของแนวคิดการปฏิเสธอัลลอฮฺเข้าครอบงำ หรือเป็นเพราะความเกียจคร้าน มนุษย์กลุ่มนี้ไม่เพียงแค่ปฏิเสธการอ่านเท่านั้นแต่ยังปฏิเสธที่จะสดับรับฟังด้วย ซึ่งคุณลักษณะเช่นนี้เป็นคุณลักษณะของผู้อธรรมและงมงาย อัลลอฮฺ I ตรัสไว้ว่า

    ﮋ ﯮ ﯯ ﯰ ﯱ ﯲﮊ الأحزاب: ٧٢

    ความว่า “แท้จริง(มนุษย์)เป็นผู้อธรรมและงมงาย” (อัล-อะหฺซาบ 33 : 72)

    อิสลามอาจยินยอมให้มุสลิมเป็นกลุ่มปุถุชน(อะวาม)ซึ่งอาจไม่รู้ในสารัตถะอิสลามโดยการอนุโลม แต่อิสลามไม่อนุญาตให้มุสลิมเป็นคนที่งมงายโดยเด็ดขาด

    ส่วนคำสั่งที่ว่า “จงอ่านสมุดบันทึกของเจ้า” ที่อัลลอฮฺ I ทรงบัญชาในวันอาคิเราะฮฺนั้น มนุษย์ทุกคนไม่มีทางเลือกใดๆ เว้นแต่ต้องน้อมรับและปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นบ่าวผู้ภักดีหรือผู้ปฏิเสธ ซึ่งการอ่านครั้งนี้จะทำให้มนุษย์รู้อย่างชัดแจ้งถึงสาเหตุของการได้รับผลตอบแทน โดยเฉพาะผลตอบแทนไฟนรก จงสดับรับฟังคำสารภาพของบรรดาชาวนรกซึ่งอัลลอฮฺ I ตรัสไว้ว่า

    ﮋ ﯫ ﯬ ﯭ ﯮ ﯯ ﯰ ﯱ ﯲ ﯳ ﯴ ﯵ ﯶﮊ الملك : ١٠

    ความว่า “และพวกเขา(ชาวนรก)กล่าวอีกว่า หากพวกเราฟังและใช้สติปัญญาใคร่ครวญ พวกเราก็จะมิได้มาอยู่เป็นชาวนรกอย่างนี้ดอก” (อัลกุรอาน 67 : 10)

    สรุป

    ความรู้ในทัศนะอัลกุรอาน เปรียบเสมือนแสงประทีปที่ส่องนำทางสู่ความจำเริญในโลกนี้และความสงบสุขในวันปรโลก(อาคิเราะฮฺ) เป็นรัศมีที่มาจากอัลลอฮฺ I ผ่านคำวิวรณ์ที่ลงมาสู่บรรดานบี โดยเฉพาะนบีและเราะซูลท่านสุดท้ายมูฮัมมัด ﷺ‬ หรืออาจจะส่งผ่านความคิดสติปัญญา

    นอกจากนี้ยังมีความรู้ที่ได้มาด้วยวิธีการพิเศษที่อัลลอฮฺ I ทรงมอบให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ซึ่งเรียกว่า “การดลใจ” ทั้งหมดนี้คือแก่นแท้ของความรู้ในทัศนะอิสลามที่มาจากท่านนบีมูฮัมมัด ﷺ‬

    อิสลามเป็นศาสนาของอัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์ทรงประทานความรู้ที่เที่ยงแท้แก่บ่าวของพระองค์อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่เป็นความจริงแล้วมันคือความรู้จากอัลลอฮฺ และความรู้จากอัลลอฮฺนั้นคือแก่นแท้ของศาสนาอิสลามที่มีอัลกุรอานเป็นรากฐานและซุนนะฮฺเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต

    ความรู้ก็คืออิสลามและอิสลามก็คือความรู้ และความรู้หรือประสบการณ์ที่ไม่ขัดกับอิสลามนั้นคือคำวิวรณ์ของอัลลอฮฺ I นั่นเอง

    ทั้งหมดนี้ คือมโนทัศน์ความรู้ตามทัศนะอัลกุรอาน ที่ประมวลจากหลักคำสอนของปฐมอายะฮฺ “จงอ่าน” ซึ่งเป็นกุญแจเปิดประตูสู่ความรู้ ไม่ว่าจะมีเป้าหมายเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในโลกนี้หรือความผาสุกในวันปรโลก(อะคิเราะฮฺ)ก็ตาม

    มนุษย์จะต้องดำเนินชีวิตภายใต้กรอบคำสั่ง “จงอ่าน” ในโลกนี้ และ “จงอ่าน” ในวันปรโลก ทั้งนี้ เพราะชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้และในวันปรโลกตั้งอยู่บนพื้นฐานของสัจธรรมแห่งความรู้เท่านั้น

    หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราทั้งหลายจะได้ยึดมั่นอิสลามเป็นวิถีชีวิตด้วยความรู้ และความเข้าใจที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ในวิวรณ์ของอัลลอฮฺ I อย่างถูกต้องและถาวรยั่งยืน

    [1] ตามทัศนะอิมาม อัล-เฆาะซาลี ในหนังสือเกี่ยวกับความรู้ทางศาสนา : ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอรรถาธิบายโองการดังกล่าวได้ในตัฟซีร อัล-กะบีรฺ ของ อัร-รอซีย์ และตัฟซีร ตัยสีรฺ อัล-กะรีม อัร-เราะห์มาน ฟี ตัฟซีร กะลาม อัล-มันนาน ของ อัส-สะอฺดีย์