×
ใช้เวลาอย่างไรให้เกิดประโยชน์ ? บทความที่กล่าวถึงความสำคัญของเวลา และวิธีการใช้เวลาในชีวิตของมนุษย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะมุสลิมทุกคนที่จะต้องรู้หน้าที่ในการใช้เวลาในหนทางที่จะนำมาซึ่งความโปรดปรานและความพอพระทัยของอัลลอฮฺ และเป็นเหตุแห่งความสำเร็จของเขา

    ใช้เวลาอย่างไรให้เกิดประโยชน์ ?

    ﴿كيف نستثمر أوقاتنا ؟﴾

    ฝ่ายวิชาการสำนักพิมพ์ ดารฺ อัล-วะฏ็อน

    แปลโดย : แวซาบรี แวยะโก๊ะ

    ผู้ตรวจทาน : อุษมาน อิดรีส


    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    ใช้เวลาอย่างไรให้เกิดประโยชน์ ?

                มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว การสถาพรและความศานติจงมีแด่ผู้ที่ไม่มีนบีหลักจากท่าน –มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม-

                ผู้ใดที่ติดตามข่าวคราวของผู้คน ตรึกตรองถึงสภาพต่างๆของพวกเขา และได้รับรู้ว่าพวกเขาใช้ทำอะไร และปล่อยให้อายุของพวกเขาผ่านพ้นไปอย่างไรบ้าง เขาก็จะทราบว่าผู้คนส่วนใหญ่จะสูญเสียเวลาในสิ่งเปล่าประโยชน์ พวกเขาจะถูกกีดกั้นจากความสุขของการใช้อายุและเวลาให้เป็นประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบว่าพวกเขาจะใช้เวลาที่มีอยู่และปล่อยชีวิตของพวกเขาให้ดำเนินผ่านไปกับสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อตัวเขา

                บางคนย่อมรู้สึกแปลกใจต่อความเบิกบานใจและปลื้มปิติกับการใช้เวลาแต่ละวันของพวกเขาให้ผ่านพ้นไปอย่างไร้ค่า โดยพวกเขาลืมไปว่า ทุกเสี้ยวนาทีชีวิตของพวกเขาที่ผ่านพ้นไป จะทำให้พวกเขาเข้าใกล้หลุมฝังศพและวันอาคิเราะฮฺมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันมันจะทำให้พวกเขายิ่งออกห่างจากโลกนี้

    แท้จริงเราต่างเบิกบานใจกับวันเวลาที่ได้ใช้ไป

    ในขณะที่แต่ละวันที่ผ่านไปคือส่วนหนึ่งของอายุ

    เนื่องจากเวลาคือชีวิต ซึ่งเป็นอายุที่แท้จริงชีวิตมนุษย์ และการรักษาเวลาเป็นแหล่งบังเกิดของทุกความดีงาม ส่วนการสูญเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์เป็นบ่อเกิดของความชั่วร้ายทั้งปวง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำการชี้แจงถึงคุณค่าของเวลาในชีวิตของมุสลิม ว่ามุสลิมมีหน้าที่ในการบริหารเวลาอย่างไร มีปัจจัยใดบ้างที่จะช่วยให้เขาสามารถรักษาเวลา และมุสลิมจะใช้เวลาในทางใดบ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

    เราขอวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺทรงบันดาลให้เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาผู้ที่พระองค์ทรงให้อายุยืนยาวพร้อมกับการปฏิบัติที่อยู่ในครรลองคลองธรรม และโปรดประทานปัจจัยที่ทำให้เราได้ใช้ประโยชน์จากเวลาของเราให้คุ้มค่า เพราะพระองค์คือผู้ได้รับการวอนขอที่ประเสริฐที่สุด

    คุณค่าและความสำคัญของเวลา

    มนุษย์เมื่อเขาได้รับรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว เขาย่อมต้องระแวดระวังและรู้สึกเป็นเรื่องใหญ่ (เสียใจ) กับการสูญเสียและพรากจากไปของมัน นี่คือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างประจักษ์ชัด ดังนั้น เมื่อมุสลิมได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของเวลาแล้ว เขาย่อมต้องเพียรพยายามอย่างที่สุดเพื่อรักษาเวลาไม่ให้สูญสิ้นโดยเปล่าประโยชน์และใช้ประโยชน์จากมันในกิจการที่สร้างความใกล้ชิดกับพระผู้อภิบาลของเขา ท่านอิมามอิบนุลก็อยยิม ได้ชี้แจงถึงข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ว่า “เวลาของมนุษย์คือห้วงชีวิตแท้จริงของเขา มันคือองค์ประกอบของชีวิตที่จะคงอยู่ตลอดไปในห้วงแห่งความโปรดปรานอันสถาพร (ในสวนสวรรค์) ขณะเดียวกันมันก็เป็นองค์ประกอบของชีวิตที่ทุกข์ยากในห้วงแห่งการลงโทษที่เจ็บปวด (ในขุมนรก) มันจะเคลื่อนผ่านไปประดาจการเคลื่อนผ่านของปุยเมฆ ดังนั้นผู้ใดที่เวลาของเขาดำเนินไปเพื่ออัลลอฮฺและสำหรับอัลลอฮแล้วไซร้ นั่นแหละคือชีวิตและอายุที่แท้จริงของเขา ส่วนเวลาอื่นจากนั้นไม่ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา... ดังนั้นหากเขาใช้เวลาให้หมดไปกับความหลงระเริงและความใฝ่ฝันที่จอมปลอม และการใช้เวลาที่ดีที่สุดของเขาคือการนอนและเสเพล ดังนั้นการเสียชีวิตของคนเช่นนี้ย่อมเป็นการดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป”

    ท่านอิบนุลเญาซีย์กล่าวว่า “มนุษย์จำเป็นต้องทราบถึงความประเสริฐและคุณค่าของเวลาที่มีอยู่ ดังนั้น เขาก็จะไม่ปล่อยให้เสี้ยวหนึ่งของช่วงเวลาสูญเสียไปในหนทางที่ไม่ก่อให้เกิดความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ และเขาจะดำเนินเวลาของเขาให้หมดไปกับความดีงามตลอดไปทั้งจากคำพูดและการกระทำ และเจตนาของเขาให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี โดยไม่รู้สึกอ่อนล้าและท้อแท้ในสิ่งที่ร่างกายของเขาสามารถกระทำได้”

    แน่นอนว่า อัลกุรอานและอัสสุนนะฮฺได้เอาใจใส่กับเวลาในด้านต่างๆ และในรูปแบบที่หลากหลาย แท้จริงอัลลอฮฺได้สาบานด้วยเวลาในการเริ่มต้นของสูเราะฮฺต่างๆ พระองค์ได้สาบานด้วยบางส่วนของเวลา เช่น อัล-ลัยลฺ (กลางคืน) อัน-นะฮาร (กลางวัน) อัล-ฟัจรฺ (ยามรุ่งอรุณ) อัฎ-ฎุฮา (ยามสาย) และอัล-อัศรฺ (ยามเย็น) ดังปรากฏในคำตรัสของพระองค์ว่า

    ﴿واللَّيْلِ إِذَا يَغْشَ، والنَّهَارِ إِذَا تَجَلَّى﴾

    ความว่า “ขอสาบานด้วยเวลากลางคืน เมื่อมันปกคลุม และเวลากลางวันเมื่อมันประกายแสง” (สูเราะฮฺอัล-ลัยลฺ : 1-2)

    ﴿وَالْفَجْرِ وَلَيَالٍ عَشْرٍ﴾

    ความว่า “ขอสาบานด้วยยามรุ่งอรุณ และด้วยค่ำคืนทั้งสิบ” (สูเราะฮฺอัลฟัจรฺ : 1-2)

    ﴿وَالضُّحَى وَاللَّيْلِ إِذَا سَجَى﴾

    ความว่า “ขอสาบานด้วยเวลาสาย และด้วยเวลากลางคืนเมื่อมันมืด และสงัดเงียบ”  (สูเราะฮฺอัฎฎุฮา 1-2) 

    ﴿وَالْعَصْرِ إِنَّ الإِنْسَانَ لَفِيْ خُسْر﴾

    ความว่า “ขอสาบานด้วยกาลเวลา (หรือเวลาเย็น) แท้จริง มนุษย์นั้น อยู่ในการขาดทุน” (สูเราะฮฺอัลอัศรฺ : 1-2)

    เป็นที่ทราบกันว่า เมื่ออัลลอฮฺทรงสาบานด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างแล้ว ย่อมเป็นการบ่งชี้ถึงความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของสิ่งนั้น และเพื่อดึงความสนใจให้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสาบานไว้

    เช่นเดียวกับอัสสุนนะฮฺซึ่งยืนยันถึงความสำคัญและคุณค่าของเวลา และได้ประกาศว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องถูกสอบสวนเกี่ยวกับการใช้เวลาของเขาในวันกิยามะฮฺ ท่านมุอาซ บินญะบัล เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «لاَ تَزُولُ قَدَمَا عَبْدٍ يَوْمَ الْقِيَامَةِ حَتَّى يُسْأَلَ عَنْ أَرْبَعٍ : عَنْ عُمُرِهِ فِيمَا أَفْنَاهُ، وَعَنْ جَسَدِهِ فِيمَا أَبْلاَهُ، وَعَنْ مَالِهِ مِنْ أَيْنَ اكْتَسَبَهُ وَفِيمَا وَضَعَهُ، وَعَنْ عِلْمِهِ مَاذَا عَمِلَ فِيهِ»

    ความว่า “ในวันกิยามะฮฺสองเท้าของบ่าวแต่ละคนจะไม่เคลื่อนจนกว่าเขาจะถูกสอบสวนเกี่ยวกับ 4 ประการ

    1.  เกี่ยวกับอายุของเขาว่า เขาใช้หมดไปในทางใด

    2.  เกี่ยวกับร่างกายของเขาว่าเขาใช้งานทางใด

    3.  เกี่ยวกับทรัพย์สินของเขาว่าเขาได้มาอย่างไรและใช้จ่ายไปในทางใด

    4. เกี่ยวกับความรู้ของเขาว่าเขานำมันไปปฏิบัติอย่างไร” (บันทึกโดยอัฏเฏาะบะรอนียฺ 111 ชัยคฺอัล-อัลบานีย์กล่าวว่า เป็นหะดีษเศาะฮีหฺลิฆ็อยริฮฺ)

    และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แจ้งอีกว่า เวลานั้นคือความโปรดปราน (นิอฺมะฮฺ) ของอัลลอฮฺประเภทหนึ่งที่มีต่อทุกสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างมา ดังนั้นผู้เป็นบ่าวจึงเป็นต้องขอบคุณ (ชุกูร) ในความโปรดปรานดังกล่าว หากไม่แล้ว ความโปรดปรานที่มีก็จะถูกเพิกถอนและสูญหายไปในที่สุด การขอบคุณในความโปรดปรานของเวลากระทำได้ด้วยการใช้มันในหนทางที่เกิดการภักดีต่ออัลลอฮฺ และใช้ประโยชน์จากมันด้วยกับการทำอามัลที่ดี ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวเรื่องนี้ว่า

    «نِعْمَتَانِ مَغْبُونٌ فِيهِمَا كَثِيرٌ مِنْ النَّاسِ الصِّحَّةُ وَالْفَرَاغُ»

    ความว่า “ความโปรดปราน (นิอฺมะฮฺ) สองประการที่มนุษย์ส่วนมากมักจะปล่อยให้สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ นั่นคือ การมีสุขภาพที่ดีและการมีเวลาว่าง” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ : 6412)

    หน้าที่ของผู้ศรัทธาที่ต้องปฏิบัติต่อเวลา

    ในเมื่อเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด กระทั่งถูกนับเป็นวินาทีของชีวิตที่แท้จริง ดังนั้น มุสลิมจึงมีหน้าที่ที่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเวลาของเขา โดยที่เขาจำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญของมัน และตั้งมันให้อยู่เบื้องหน้าเขา ส่วนหนึ่งหน้าที่ที่มุสลิมจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเวลา คือ

    -  ต้องพยายามใช้เวลาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

    หากมนุษย์มีความกระตือรือร้นในทรัพย์สิน มีความเพียรพยายามที่จะรักษามันไว้และใช้ประโยชน์จากมันให้คุ้มค่าที่สุด โดยที่เขาก็ทราบดีว่าทรัพย์สินเมื่อได้มามันก็จากไป ดังนั้นมุสลิมจึงจำเป็นต้องพยายามรักษาเวลาและใช้ประโยชน์จากมันในหนทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อศาสนาและการใช้ชีวิตบนโลกนี้ของเขา และใช้ประโยชน์ในหนทางที่จะนำมาซึ่งความดีงามและความผาสุกที่สุดแก่ชีวิตของเขา โดยเฉพาะ เมื่อได้ทราบรู้ว่าเวลาที่ได้พรากจากเขาไปแล้วจะไม่มีวันหวนกลับคืนมาอีก บรรดาชาวสะลัฟอัศศอลิหฺในอดีต มีความขะมักเขม้นในการรักษาเวลาของเขาเป็นอย่างยิ่ง เพราะพวกเขาทราบดีกว่าใครถึงคุณค่าของมัน พวกเขาจะพยายามรักษามันอย่างจริงจัง โดยที่พวกเขาไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปแม้เพียงวันเดียว หรือเพียงครึ่งวัน หรือแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของเวลาผ่านไป แม้เพียงน้อยนิด โดยปราศจากการเพิ่มเติมเสบียงแห่งความรู้ที่มีประโยชน์ หรืออามัลที่ดีงาม หรือการต่อสู้กับอารมณ์ และการทำดีต่อผู้อื่น ท่านอัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ กล่าวว่า “ฉันได้พบกับกลุ่มชนหนึ่ง ซึ่งพวกเขาได้ให้ความสำคัญต่อเวลาของพวกเขามากยิ่งกว่าการให้ความสำคัญต่อดิรฮัม และดีนาร (ทรัพย์สินเงินทอง) ของพวกเจ้า”

    -  การบริหารเวลา

                หน้าที่ประการหนึ่งที่มุสลิมจำเป็นต้องปฏิบัติต่อเวลาของเขาคือ การบริหารเวลาให้เป็นระบบระหว่างหน้าที่รับผิดชอบและภารกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภารกิจด้านกิจการศาสนาหรือภารกิจด้านกิจการทางโลก โดยที่ไม่ทำให้ภารกิจหนึ่งเกิดผลกระทบต่ออีกภารกิจหนึ่ง และจะไม่ทำให้ภารกิจที่สำคัญน้อยกว่าไปกระทบต่อภารกิจที่สำคัญมากกว่า

                คนศอลิหฺท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “เวลาของบ่าวแต่ละคนมีแค่ 4 ช่วงเวลาเท่านั้น และจะไม่มีช่วงเวลาที่ 5 นั่นคือ 1. ช่วงเวลาที่มีความสุข (นิอฺมะฮฺ) 2. ช่วงเวลาแห่งการทดสอบ (บะลาอฺ) 3. ช่วงเวลาแห่งการภักดี (ฏออะฮฺ) และ 4. ช่วงเวลาแห่งการการฝ่าฝืน (มะอฺศียะฮฺ) ดังนั้นท่านจงให้เวลาที่มีอยู่เป็นไปเพื่ออัลลอฮฺเถิด ด้วยการเคารพภักดีและปฏิบัติในสิ่งที่บ่าวคนหนึ่งจำเป็นที่ต้องทำแด่นายของเขา (รุบูบียะฮฺ) ดังนั้นผู้ใดที่อยู่ในช่วงเวลาแห่งการเชื่อฟัง (ฏออะฮฺ) เส้นทางของเขาก็ได้ชื่นชมความกรุณาของอัลลอฮฺที่ทรงให้ทางนำแก่เขา และทรงประทานความง่ายดายในการดำรงชีวิตของเขา และผู้ใดที่ช่วงเวลาอยู่ในความโปรดปราน ดังนั้นเส้นทางของเขาคือการชุกูร (ขอบคุณต่ออัลลอฮฺ) และผู้ใดที่ช่วงเวลาอยู่ในความฝ่าฝืนต่อคำสั่งของอัลลอฮฺ (มะอฺศียะฮฺ) ดังนั้นเส้นทางของเขาคือการเตาบะฮฺ (สำนึกผิด) และอิสติฆฟารฺ (ขออภัยโทษ) และผู้ใดที่ช่วงเวลาอยู่ในห้วงแห่งการทดสอบ ดังนั้นเส้นทางของเขาคือ การยอมรับและอดทน”

                -  ฉกฉวยโอกาสจากช่วงเวลาว่างให้เกิดประโยชน์

                เวลาว่างเป็นความโปรดปรานประการหนึ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะหลงลืมมัน เราจึงพบว่าพวกเขาไม่คิดที่จะขอบคุณต่อนิอฺมะฮฺของเวลาว่าง และไม่เอาใจใส่อย่างจริงจังต่อคุณค่าของเวลาว่าง ท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «نِعْمَتَانِ مَغْبُونٌ فِيهِمَا كَثِيرٌ مِنْ النَّاسِ الصِّحَّةُ وَالْفَرَاغُ»

    ความว่า “มีความโปรดปราน (นิอฺมะฮฺ) สองประการที่มนุษย์ส่วนมากมักจะปล่อยให้สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ นั่นคือ การมีสุขภาพที่ดีและการมีเวลาว่าง” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ : 6412)

                แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้ส่งเสริมให้รีบฉกฉวยโอกาสจากช่วงเวลาว่าง (ให้เป็นประโยชน์) ท่านกล่าวว่า

    «اغْتَنِمْ خَمْسًا قَبْلَ خَمْسٍ: شَبَابَكَ قَبْلَ هَرَمِكَ، وَصِحَّتَكَ قَبْلَ سَقَمِكَ، وَغِنَاكَ قَبْلَ فَقْرِكَ، وَفَرَاغَكَ قَبْلَ شُغْلِكَ، وَحَيَاتَكَ قَبْلَ مَوْتِكَ»

    ความว่า “จงฉกฉวยโอกาสกระทำห้าประการก่อนที่อีกห้าประการจะมาถึง วัยหนุ่มของท่าน ก่อนที่ท่านจะแก่ชรา สุขภาพที่ดีของท่าน ก่อนที่ท่านจะเจ็บป่วย  ความร่ำรวยของท่าน ก่อนที่ท่านจะยากจน เวลาว่างของท่าน ก่อนที่ท่านจะมีภาระที่ยุ่งเหยิง  การมีชีวิตของท่านก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต” (บันทึกโดยอัลหากิม หมายเลขหะดีษ 7846 ชัยคฺอัล-อัลบานีย์ ในเศาะหีหฺอัตตัรฆีบวะตัรฮีบ 3355)

     คนศอลิหฺท่านหนึ่งได้กล่าวว่า “ช่วงเวลาที่ว่างจากภารกิจต่างๆ ถือเป็นความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ หากบ่าวท่านใดได้ปฏิเสธ (ไม่ขอบคุณ) ต่อความโปรดปรานนี้ ด้วยการเปิดประตูแห่งอารมณ์ใฝ่ต่ำเข้าไป (มีบทบาท) ในชีวิต และชักจูงไปสู่การควบคุมของตัณหาราคะต่างๆ แล้วอัลลอฮฺก็จะทำให้ความโปรดปรานที่มีอยู่ในหัวใจของเขาขุ่นมัว และพระองค์จะทรงถอดถอนความบริสุทธิ์ที่มีอยู่ในหัวใจของเขาออกไป”

    ดังนั้น ผู้ที่มีสติปัญญาจำเป็นต้องขับเคลื่อนเวลาว่างของเขาด้วยสิ่งที่ดีงาม หากไม่แล้วความโปรดปรานของเวลาว่างที่มีอยู่ก็จะเปลี่ยนผันเป็นภัยคุกคามตัวเอง ด้วยเหตุนี้จึงมีคนกล่าวว่า “เวลาว่าสำหรับผู้ชายคือความเผลอเรอ ส่วนผู้หญิงคือการกระตุ้นตัณหาราคะ”

    ปัจจัยต่างๆที่จะช่วยในการรักษาเวลา

    -  ทบทวนตัวเอง

    การทบทวนตัวเองถือเป็นวิธีการหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้มุสลิมสามารถใช้ประโยชน์จากเวลาของเขาในหนทางแห่งการเชื่อฟังอัลลอฮฺ การทบทวนตัวเองเป็นกิจวรรตของบรรดาผู้ศอลิหฺและเป็นวิถีทางของบรรดาผู้ยำเกรง ดังนั้น พี่น้องมุสลิมของฉัน ท่านโปรดทบทวนตัวเองเถิด และถามตัวเองว่า ในแต่ละวันที่ผ่านพ้นไปได้ทำอะไรไว้บ้าง? ท่านใช้เวลาให้หมดไปทางไหน? ท่านใช้เวลาแต่ละวันของท่านให้ดำเนินไปกับสิ่งใด ?  เวลาแต่ละวันของท่านได้เพิ่มพูนความดีงามบ้างหรือไม่ หรือเพิ่มพูนแต่ความผิดบาป?

    -  ขัดเกลาจิตใจให้มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่

    ผู้ใดที่ได้ขัดเกลาจิตใจของเขาให้ผูกพันกับกิจการต่างๆที่ประเสริฐและมีคุณค่า และหลีกห่างจากกิจการต่างๆที่ไร้สาระและไม่เกิดประโยชน์ เขาก็จะกลายเป็นผู้ที่หมกมุ่นกับการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และผู้ใดที่มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ เขาก็จะไม่ยอมรับความต้อยต่ำ และหากมีความพากเพียรขนาดไหนผลของความพากเพียรก็จะไปหาเขาดั่งที่เขาได้พากเพียรไว้

    หากผู้ใดไม่ยอมไขว่คว้าสิ่งที่สูงส่ง

    และพอใจกับความต่ำต้อย ก็จะไม่มีผู้ใดต่ำต้อยกว่าเขา

    -  คบหากับผองเพื่อนที่ใส่ใจกับเวลา

    การคบหาและคลุกคลีกับพวกบรรดาผู้ที่ใส่ใจกับเวลา และพยายามใกล้ชิดกับพวกเขา รวมทั้งยึดพวกเขาเป็นแบบอย่าง จะช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากเวลาอย่างเต็มที่ และจะทำให้จิตใจมีพลังที่จะใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาแห่งชีวิตในหนทางแห่งการเชื่อฟัง (ฏออะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺ และขออัลลอฮฺโปรดเมตตาผู้ที่กล่าวว่า

    หากท่านอยู่ท่ามกลางกลุ่มชนหนึ่ง ก็จงคบหากับผู้ที่ประเสริฐที่สุดในหมู่พวกเขา

    และจงอย่าคบหากับผู้ที่ต่ำช้า เพราะท่านจะกลายเป็นผู้ที่ต่ำช้าตามไปด้วย

    ท่านจงอย่าถามว่าตนนั้นเป็นใคร แต่จงถามว่าใครคือมิตรสหายของเขา

    เพราะมิตรสหายแต่ละคน ย่อมต้องฉายให้เห็นถึง (ธาตุแท้ของ) คู่หูของเขา

    -  เรียนรู้วิธีการบริหารเวลาของชาวสะลัฟ

    การเรียนรู้ถึงสภาพการดำเนินชีวิตของชาวสะลัฟและอ่านชีวประวัติของพวกเขา เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้มุสลิมสามารถใช้ประโยชน์จากเวลาได้อย่างถูกวิธี เพราะพวกเขาคือกลุ่มชนที่ตระหนักที่สุดถึงคุณค่าของเวลาและความสำคัญของชีวิต พวกเขาคือแบบอย่างที่ดีที่สุดในการใช้ประโยชน์จากนาทีแห่งชีวิตอย่างคุ้มค่า และใช้ประโยชน์ทุกลมหายใจในวิถีทางแห่งการเชื่อฟัง (ฏออะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺ

    -  สร้างความหลากหลายในการใช้เวลา

    โดยธรรมชาติแล้วจิตใจของมนุษย์ค่อนข้างจะเบื่อหน่ายเร็ว ไม่ชอบสิ่งที่ซ้ำซากจำเจ ดังนั้นการสร้างความหลากหลายในการงานจะทำให้จิตใจรู้สึกผ่อนคลาย และสามารถใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาได้มากที่สุด

    -  ตระหนักว่าเวลาที่เคลื่อนผ่านจะไม่หวนกลับมาอีกและไม่สามารถชดเชย

    ทุกๆวันจะดำเนินไป ทุกๆชั่วโมงจะสิ้นสุด ทุกๆวินาทีจะเคลื่อนผ่านไป โดยไม่สามารถเรียกกลับคืนมาอีก และไม่สามารถชดเชยได้อีก นี่คือความหมายของคำพูดท่านอัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ ที่ว่า “ไม่มีวันใดที่เคลื่อนผ่านไปจากลูกหลานอาดัม นอกจากมันจะกล่าวขึ้นว่า  โอ้ลูกหลานอาดัมเอ๋ย ข้าคือวันใหม่ และจะเป็นสักขีพยานต่อการงานของเจ้า เมื่อข้าได้จากเจ้าไปแล้ว ข้าจะไปหวนกลับมาหาเจ้าอีก ดังนั้นเจ้าจงสะสางการงานตามแต่เจ้าประสงค์ แล้วเจ้าจะพบมันอยู่เบื้องหน้าเจ้า และจงละเลยการงานตามแต่เจ้าประสงค์ เพราะมันจะไม่หวนกลับมาหาเจ้าอีกตลอดกาล”

    -  รำลึกถึงความตายและช่วงเวลาที่ใกล้ตาย

    ขณะที่มนุษย์กำลังหันหลังให้กับโลกและมุ่งหน้าสู่อาคิเราะฮฺ พวกเขาต่างใฝ่ฝันอยากให้ได้รับการยืดเวลาสักช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อที่จะได้แก้ไขในสิ่งที่ตนเคยสร้างความเสียหายไว้ และจะได้สะสางในสิ่งที่ตนได้พลาดพลั้ง แต่มันย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะช่วงเวลาแห่งการประกอบคุณงามความดีได้สิ้นสุดลง และเวลาแห่งการสอบสวนและการตอบแทนได้มาถึงแล้ว ดังนั้นการที่มนุษย์ได้รำลึกถึงสภาพดังกล่าว จะทำให้เขามีความเพียรพยายามที่จะใช้ประโยชน์จากเวลาที่มีอยู่ให้เป็นไปเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ตะอาลา

    -  ไม่คบหากับผู้ที่ชอบปล่อยเวลาให้สูญเปล่า

    การคบหากับผู้ที่เกียจคร้านและคลุกคลีกับผู้ที่ชอบปล่อยเวลาให้สูญเปล่า เป็นการทำลายศักยภาพของมนุษย์ และสร้างความสูญเสียต่อเวลาอันมีค่าของเขา เพราะแต่ละบุคคลจะถูกเปรียบเทียบกับเพื่อนคู่หูและมิตรสหายของเขา  ด้วยเหตุนี้ท่านอับดุลลอฮฺ บินมัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ จึงกล่าวว่า “แต่ละคนจะถูกพิจารณาตามบุคลิกของสหายที่เขาคบหาอยู่ เพราะแต่ละคนจะคบหากับสหายที่มีบุคลิกเหมือนกับเขาเท่านั้น” 

    -  รำลึกถึงคำสอบสวนเกี่ยวกับเวลาในวันกิยามะฮฺ

    ขณะที่มนุษย์กำลังยืนอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์ของพระผู้อภิบาลของเขาในวันที่แสนจะร้อนระอุ เขาจะถูกถามเกี่ยวกับเวลาและอายุของเขาว่า เขาใช้เวลาให้หมดไปอย่างไร? เขาใช้เวลาให้หมดที่ไหน ? เขาใช้เวลาให้หมดไปเพื่อการใด ? และเขาเติมเต็มเวลาของเขาด้วยสิ่งใด ? ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «لاَ تَزُولُ قَدَمَا عَبْدٍ يَوْمَ الْقِيَامَةِ حَتَّى يُسْأَلَ عَنْ أَرْبَعٍ : عَنْ عُمُرِهِ فِيمَا أَفْنَاهُ، وَعَنْ جَسَدِهِ فِيمَا أَبْلاَهُ، وَعَنْ مَالِهِ مِنْ أَيْنَ اكْتَسَبَهُ وَفِيمَا وَضَعَهُ، وَعَنْ عِلْمِهِ مَاذَا عَمِلَ فِيهِ»

    ความว่า “ในวันกิยามะฮฺสองเท้าของบ่าวแต่ละคนจะไม่เคลื่อนจนกว่าเขาจะถูกสอบสวนเกี่ยวกับ 4 ประการ

    1.  เกี่ยวกับอายุของเขาว่า เขาใช้หมดไปในทางใด

    2.  เกี่ยวกับร่างกายของเขาว่าเขาใช้งานทางใด

    3.  เกี่ยวกับทรัพย์สินของเขาว่าเขาได้มาอย่างไรและใช้จ่ายไปในทางใด

    4. เกี่ยวกับความรู้ของเขาว่าเขานำมันไปปฏิบัติอย่างไร” (บันทึกโดยอัฏเฏาะบะรอนียฺ 111 ชัยคฺอัล-อัลบานีย์กล่าวว่า เป็นหะดีษเศาะฮีหฺลิฆ็อยริฮฺ)

    ด้วยการรำลึกถึงการสอบสวนดังกล่าวจะช่วยให้มุสลิมสามารถใช้เวลาได้อย่างมีคุณค่า และนำมาใช้ประโยชน์ในหนทางแห่งความโปรดปรานของอัลลอฮฺ

    ชาวสะลัฟกับการบริหาร

    ท่านอัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ กล่าวว่า “ลูกหลานอาดัมเอ๋ย แท้จริงตัวเจ้าเปรียบเสมือนวันเวลา เมื่อวันหนึ่งได้จากไป ก็เหมือนกับส่วนหนึ่งของตัวเจ้าได้จากไปด้วย”

    ท่านยังกล่าวอีกว่า “ลูกหลานอาดัมเอ๋ย ชีวิตช่วงกลางวันของเจ้าคือแขกคนสำคัญของเจ้า ดังนั้นเจ้าจงทำดีต่อมัน เพราะหากเจ้าทำดีต่อมัน มันก็จะจากไปพร้อมกับการสรรเสริญเจ้า และหากเจ้าทำไม่ดีต่อมัน มันก็จะจากไปพร้อมกับการประณามเจ้า เช่นเดียวกับช่วงกลางคืนของเจ้า”

    ท่านยังกล่าวอีกว่า “โลกนี้มีเพียง 3 วันเท่านั้น: อาจจะเป็นวันวาน ซึ่งมันได้ผ่านพ้นไปแล้วพร้อมกับสิ่งที่เจ้าได้กระทำไว้ หรืออาจจะเป็นวันรุ่งขึ้น ซึ่งเจ้าอาจจะไม่ทันได้เจอกันมัน ส่วนวันนี้ เป็นวันของเจ้า ดังนั้นเจ้าจงปฏิบัติอามัล (ให้ดีที่สุด) ในวันนี้เถิด”

    ท่านอิบนุมัสอูด ได้กล่าวว่า “ฉันไม่ได้รู้สึกเสียใจกับสิ่งใดมากเท่ากับที่ฉันเสียใจกับวันหนึ่งที่ดวงอาทิตย์ได้ลับขอบฟ้า ทำให้อายุขัยของฉันก็ลดน้อยลง แต่อามัลของฉันกลับไม่เพิ่มขึ้นเลย”

    ท่านอิบนุ ก็อยยิม กล่าวว่า “การสูญเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าความตาย เพราะการสูญเสียเวลาจะทำให้เจ้าตัดขาดจากอัลลอฮฺและโลกอาคีเราะฮฺ ส่วนความตายจะทำให้เจ้าตัดขาดจากโลกดุนยาและผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น”

    ท่านอัสสะรียฺ บิน อัล-มุฆ็อลลิส ได้กล่าวว่า “หากเจ้ารู้สึกเสียใจต่อการลดน้อยลงของทรัพย์สินเจ้า เจ้าก็จงร้องไห้ต่อการลดน้อยลงของอายุขัยเจ้า” 

    เราจะใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างไร ?

    ที่จริงแล้วแนวทางในการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์มีมากมาย ซึ่งมุสลิมสามารถเลือกปฏิบัติตามแนวทางใดก็ได้ที่เห็นว่าเหมาะสมและเกิดประโยชน์ที่สุดสำหรับตน ส่วนหนึ่งของแนวทาง (ที่มุสลิมสามารถเลือกปฏิบัติ) มีดังนี้

    -  ท่องจำและศึกษาคัมภีร์อัลกุรฺอาน

    การท่องจำและศึกษาอัลกุรอานเป็นการใช้เวลาที่ประเสริฐที่สุดของมุสลิม เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ส่งเสริมให้ศึกษาอัลกุรฺอาน ท่านได้กล่าวไว้ว่า

    «خَيْرُكُمْ مَنْ تَعَلَّمَ الْقُرْآنَ وَعَلَّمَهُ»

    ความว่า “ผู้ที่ประเสริฐที่สุดในหมู่พวกเจ้าคือ ผู้ที่ศึกษาและสอนอัลกุรฺอาน” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 5027)

    -  แสวงหาความรู้

    บรรดาบรรพชนสะลัฟ อัศศอลิหฺในอดีต จะมีความพากเพียรอย่างมากในการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ด้วยการแสวงหาและเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ เพราะพวกเขาทราบดีว่าความรู้มีความจำเป็นต่อพวกเขายิ่งกว่าความจำเป็นของพวกเขาที่มีต่ออาหารและเครื่องดื่ม การใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ในการแสวงหาและเก็บเกี่ยวความรู้มีหลากหลายรูปแบบ อาทิ การไปศึกษาบทเรียนต่างๆที่สำคัญ การสดับฟังเทปบันทึกเสียงต่างๆที่เป็นประโยชน์ และการอ่านและซื้อหนังสือที่มีคุณค่า เป็นต้น

    -  ซิกรุลลอฮฺ (การรำลึกถึงอัลลอฮฺ)

    ไม่มีการงานใดที่สามารถปฏิบัติตลอดช่วงเวลาเหมือนกับการรำลึกถึงอัลลอฮฺ (ซิกรุลลอฮฺ) การรำลึกถึงอัลลอฮฺเป็นแนวทางที่สะดวกและเรียบง่าย มุสลิมไม่จำเป็นต้องใช้เงินทองหรือความอุตสาหะใดๆ แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สั่งเสียแก่เศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งไว้ว่า

    «لا يَزَالُ لِسَانُكَ رَطْباً مِنْ ذِكْرِ اللهِ»

    ความว่า “จงให้ปากของเจ้าเปียกชุ่มกับการกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺอยู่ตลอดเวลา” (บันทึกโดยอะหฺมัด หมายเลขหะดีษ 17680 ชัยคฺอัล-อัลบานีย์ ในเศาะหีหฺอัตตัรฆีบวัตตัรฮีบ 1491)

    ช่างเป็นสิ่งที่สวยงามยิ่ง หากหัวใจของมุสลิมอุดมด้วยการรำลึกถึงพระผู้อภิบาลของของเขาอยู่ตลอดเวลา เมื่อเขาจะพูดก็จะรำลึกถึงพระองค์ และเมื่อเขาจะเคลื่อนไหวก็ด้วยกับคำสั่งใช้ของพระองค์

    -  หมั่นปฏิบัติอามัลสุนนะฮฺให้มาก

    การปฏิบัติอามัลสุนนะฮฺเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญในการใช้เวลาแห่งชีวิตให้เกิดประโยชน์ในหนทางแห่งการภักดีต่ออัลลอฮฺ และเป็นตัวแปรที่สำคัญในการขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใส นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสสำหรับชดเชยและเติมเต็มในสิ่งที่บกพร่องขณะปฏิบัติสิ่งที่เป็นฟัรฎู และที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ การปฏิบัติอามัลสุนนะฮฺจะทำให้บ่าวคนหนึ่งได้รับความรักจากอัลลอฮฺ (ดังที่พระองค์ได้กล่าวในหะดีษกุดซีย์ว่า)

    «ومَا يَزَالُ عَبْدِي يَتَقَرَّبُ إِلَيَّ بِالنَّوَافِلِ حَتَّى أُحِبَّهُ»

    ความว่า “และบ่าวของข้าจะยังคงใกล้ชิดข้าด้วยการปฏิบัติอามัลสุนนะฮฺต่าง ๆ จนกระทั่งข้ารักเขา” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 6502)

    -  เชิญชวนผู้คนสู่อัลลอฮฺ สอนสั่งในสิ่งที่ความดีงาม ห้ามปรามจากความชั่วร้าย และให้คำตักเตือนแก่ชาวมุสลิมทั้งหลาย

    แนวทางต่างๆเหล่านี้ล้วนสะดวกและเรียบง่ายสำหรับการใช้ห้วงเวลาแห่งชีวิตให้เกิดประโยชน์ การเรียกร้องและเชิญชวนผู้คนสู่อัลลอฮฺ ตะอาลาเป็นภารกิจหลักของบรรดาเราะสูลและเป็นสาสน์ของเหล่านบี อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสในเรื่องนี้ว่า

    ﴿قُلْ هَذِهِ سَبِيْلِي أَدْعُو إِلَى اللهِ عَلَى بَصِيْرَةٍ أَنَا وَمَنِ اتَّبَعَنِيْ﴾

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (โอ้มุหัมมัด ว่า) นี่คือแนวทางของฉัน ฉันจะเรียกร้อง (ผู้คน) ไปสู่อัลลอฮฺอย่างประจักษ์แจ้ง ทั้งตัวฉันและผู้ดำเนินตามฉัน” (สูเราะยูสุฟ : 108)

    พี่น้องมุสลิมของฉัน ท่านจงเพียรพยายามอย่างที่สุดในการใช้เวลาของท่านให้เกิดประโยชน์ด้านการเรียกร้องและเชิญชวนผู้คน (สู่อัลลอฮฺ) ไม่ว่าจะด้วยวิธีการกล่าวบรรยาย หรือแจกจ่ายหนังสือเล่มเล็กๆ หรือเทปบันทึกเสียงต่างๆ หรือเชิญชวนครอบครัว เครือญาติ และเพื่อนบ้านของท่าน (สู่การภักดีต่ออัลลอฮฺ)

    -  เยี่ยมเยียนเครือญาติและผูกสัมพันธไมตรีกับพวกเขา

    การเยี่ยมเยียนเครือญาติและผู้สัมพันธไมตรีกับพวกเขาเป็นสาเหตุหนึ่งจะทำให้ได้เข้าสวรรค์ ได้รับความเมตตา (จากอัลลอฮฺ) ได้รับการเพิ่มพูนอายุ (มีความบะเราะกะฮฺในชีวิต) และมีความสะดวกในปัจจัยยังชีพ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «مَنْ أَحَبَّ أَنْ يُبْسَطَ لَهُ فِي رِزْقِهِ ، وَيُنْسَأَ لَهُ فِي أَثَرِهِ ، فَلْيَصِلْ رَحِمَهُ»

    ความว่า “ผู้ใดที่ประสงค์จะให้เกิดความสะดวกในปัจจัยยังชีพและมีอายุยืน เขาก็จงผูกสัมพันธไมตรีกับเครือญาติของเขา” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 2067 มุสลิม หมายเลขหะดีษ 6615)

    -  ฉกฉวยเวลาประจำวันที่ประเสริฐ

    เช่น เวลาหลังจากละหมาด ช่วงระหว่างการอะซานและอิกอมะฮฺ ช่วงสุดท้ายของค่ำคืน  ในขณะได้ยินเสียงเรียกร้องสู่การละหมาด และหลังจากละหมาดศุบหฺกระทั่งตะวันโผล่พ้นขอบฟ้า ช่วงเวลาต่างๆเหล่านี้จะประกอบด้วยอิบาดะฮฺต่างๆที่ศาสนาส่งเสริมให้ปฏิบัติ (ด้วยการปฏิบัติอิบาดะฮฺสุนนะฮฺในเวลาต่างๆดังกล่าว) จะส่งผลให้บ่าวผู้นั้นได้รับการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่และผลบุญอันมหาศาล

    -  เรียนรู้สิ่งต่างๆที่เป็นประโยชน์

    เช่น เรียนวิชาคอมพิวเตอร์ ภาษาต่างๆ ท่อน้ำประปา ไฟฟ้า ช่างไม้และอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวมุสลิมเองและพี่น้องของเขา

    พี่น้องมุสลิมของฉัน นี่คือโอกาสที่ทรงคุณค่า วิธีการที่มีมากมาย และแนวทางที่หลากหลาย ซึ่งข้าพเจ้าได้นำเสนอให้แก่ท่านเพื่อเป็นตัวอย่าง –ที่จริงแล้วเส้นทางแห่งทำความดีงามนั้นไม่มีขีดจำกัด- ทั้งนี้เพื่อให้ท่านสามารถใช้เวลาของท่านให้เกิดประโยชน์เคียงข้างหน้าที่รับผิดชอบหลักที่ท่านจำเป็นต้องปฏิบัติ

    อุปสรรคต่างๆที่ทำให้เวลาสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์

    มีปัญหาและอุปสรรคมากมายที่ทำให้มุสลิมต้องสูญเสียเวลาอันมีค่าของเขาไปอย่างเปล่าประโยชน์  เกือบจะทำให้ชีวิตของเขาทั้งชีวิตต้องสูญเสียไป หากว่าเขาไม่ทันได้ฉุกคิดและไม่พยายามหลีกพ้นจากสิ่งเหล่านั้น ส่วนหนึ่งของปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้น คือ

    -  ความเผลอเรอ

    ความเผลอเรอเป็นโรคร้ายประเภทหนึ่งที่เป็นภัยคุกคามชาวมุสลิมส่วนใหญ่ กระทั่งพวกเขาขาดความรู้สึกและจิตสำนึกที่ตื่นตัวต่อ (ความสำคัญและคุณค่าของ) เวลา อัลกุรฺอานได้ย้ำเตือนหนักหนาให้พึงระวังต่อความเผลอเรอดังกล่าว กระทั่งถือว่าผู้ที่มีคุณลักษณะดังกล่าวต้องกลายเป็นไม้ฟืน (เชื้อเพลิง) ของนรกญะฮันนัม อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า 

    ﴿وَلَقَد ذَرَأنَا لِجَهَنمَ كَثِيرًا منَ الجِن وَالإِنسِ لَهُم قُلُوبٌ لا يَفقَهُونَ بِهَا وَلَهُم أَعيُنٌ لا يُبصِرُونَ بِهَا وَلَهُم ءاذَانٌ لا يَسمَعُونَ بِهَا أُولَـئِكَ كَالأنعام بَل هُم أَضَل أُولَـئِكَ هُمُ الغاَفِلُونَ﴾ 

    ความว่า “และแน่นอนเราได้บังเกิดสำหรับญะฮันนัม ซึ่งมากมายจากญิน และมนุษย์ โดยที่พวกเขามีหัวใจซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันทำความเข้าใจและพวกเขามีตา ซึ่งพวกเขาไม่ใช่มันมอง และพวกเขามีหู ซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันฟังชนเหล่านี้แหละประหนึ่งปศุสัตว์ ใช่แต่เท่านั้น พวกเขาเป็นผู้หลงผิดยิ่งกว่า ชนเหล่านี้แหละ พวกเขาคือผู้ทีเผลอเรอ” (สูเราะฮฺอัล-อะอฺรอฟ : 179)

    -  การผัดวันประกันพรุ่ง

    นิสัยผัดวันประกันพรุ่งเป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่งที่จะทำลายเวลาและฆ่าช่วงชีวิตที่มีอยู่ แต่น่าเศร้าใจยิ่งนักที่คำว่า “จะ” กลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวมุสลิมและเป็นอุปนิสัยของพวกเขาเสียแล้ว

    ท่านอัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ ได้กล่าวว่า “เจ้าหลีกห่างจากนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง เพราะเจ้ามีชีวิตอยู่กับวันนี้ของเจ้า ไม่ใช่เจ้ามีชีวิตอยู่กับกับวันพรุ่งของเจ้า”

    ดังนั้นโอ้พี่น้องมุสลิมของฉัน ท่านจงหลักห่างจากนิสัยผัดวันประกันพรุ่งเสีย เพราะท่านมิได้รับประกันว่าท่านจะมีชีวิตอยู่จนถึงวันพรุ่งนี้ หากท่านมีหลักประกันว่าท่านจะสามารถมีชีวิตอยู่จนถึงวันพรุ่งนี้ แต่ท่านก็มิอาจปลอดภัยจากอุปสรรคต่างๆ เช่น เกิดอาการป่วยอย่างเฉียบพลัน หรือมีงานใหม่ที่จำเป็นต้องสะสาง หรือประสบกับอุบัติภัย พึงสังวรณ์ว่าในแต่ละวันนั้นมีงานเฉพาะของมันอยู่แล้ว และในแต่ละเวลาก็มีภารกิจต้องรับผิดชอบ ดังนั้นในชีวิตประจำวันของมุสลิมจึงไม่มีเวลาว่างเหลืออยู่เลย เช่นเดียวกับนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่งในการกระทำการภักดีต่ออัลลอฮฺ จะทำให้จะทำให้จิตใจเกิดความเคยชินกับการละทิ้ง ดังนั้นท่านจงเป็นดั่งถ้อยกวีต่อไปนี้

    จงเตรียมเสบียงแห่งความยำเกรง เพราะแท้จริงเจ้าไม่ทราบได้ว่า

    เมื่อกลางคืนได้มืดลงเจ้าจะยังมีชีวิตอยู่จนถึงรุ่งอรุณอีกหรือไม่

    มีคนปกติจำนวนเท่าไหร่ที่ต้องตายไปโดยปราศจากสาเหตุ

    มีคนป่วยจำนวนเท่าไหร่ที่ยังคงมีชีวิตอยู่อีกหลายปี

    มีคนหนุ่มสาวจำนวนเท่าไหร่ที่สามารถมีชีวิตในช่วงบ่ายและปลอดภัยจนถึงเช้า

    แท้จริงเขาได้ถูกห่อด้วยผ้าห่อศพเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ตัวเขายังไม่ทันรู้ตัว

    โอ้พี่น้องมุสลิมของฉัน ท่านจงรีบใช้เวลาแห่งชีวิตเจ้าให้เกิดประโยชน์ในหนทางแห่งการภักดีต่ออัลลอฮฺ และจงห่างไกลจากนิสัยผัดวันประกันพรุ่งและความเกียจคร้าน ผู้ที่อยู่ในหลุมศพจำนวนเท่าไหร่ที่เหยื่อฆาตรกรรมของคำว่า “จะ” และการผัดวันประกันพรุ่งเปรียบเสมือนคมดาบที่จะคอยขัดขวางผู้คนไม่ให้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากลมหายใจของเขาเพื่อการภักดีต่อพระผู้อภิบาลของเขา ดังนั้นท่านจงระวังตัว อย่ากลายเป็นเหยื่อฆาตรกรรมของมัน

    และการสรรเสริญของอัลลอฮฺพึงมีแด่ศาสนทูตของพระองค์ ท่านนบีมุหัมมัด และบรรดาเครือญาติของท่าน ตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านทั้งหลาย     

     ที่มา  http://www.islamhouse.com/p/6621