×
อธิบายความหมายของอิคลาศ หรือการบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ ความสำคัญของมัน สิ่งที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับอิคลาศ รวมทั้งผลได้จากการที่มุสลิมคนหนึ่งมีความอิคลาศ เป็นบทความโดยสรุปประกอบด้วยหลักฐานสนับสนุนจากอัลกุรอาน หะดีษ และคำกล่าวของอุละมาอ์ไว้อย่างครบถ้วน

    อัล-อิคลาศ (ความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ)

    ﴿الإخلاص﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร. อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ

    ผู้ตรวจทาน : ฟัยซอล อับดุลฮาดีย์

    ที่มา : หนังสืออัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลิมาต อัล-มุลกอฮฺ

    2010 - 1431

    ﴿الإخلاص﴾

    « باللغة التايلاندية »

    الدكتور أمين بن عبد الله الشقاوي

    ترجمة: محمد صبري يعقوب

    مراجعة: فيصل عبدالهادي

    المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة

    2010 - 1431

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    อัล-อิคลาศ (ความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ)

    มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ปราสาทพรอันประเสริฐและความศานติจงมีแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีการตั้งภาคีใดๆ ต่อพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

    แท้จริงหลักการที่ยิ่งใหญ่และสำคัญของศาสนาอิสลามนั่นคือ การบรรลุถึงความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา ในทุกๆ กิจการงาน ซึ่งนักวิชาการบางท่านได้กล่าวว่า “ความบริสุทธิ์ใจนั่นคือ การที่ท่านไม่ปรารถนาให้การงานที่ท่านได้ทำนั้นเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺ ตะอาลา และท่านจะไม่เทียบเคียงสิ่งใดๆ กับพระองค์” [1] และความบริสุทธิ์ใจคือแก่นแท้ของศาสนานี้ และเป็นกุญแจการเรียกร้องเชิญชวนของบรรดาศาสนทูต อะลัยฮิมุสสลาม”

    อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ وَمَا أُمِرُوا إِلَّا لِيَعْبُدُوا اللهَ مُخْلِصِينَ لَهُ الدِّينَ حُنَفَاءَ ﴾

    ความว่า “และพวกเขามิได้ถูกบัญชาให้กระทำอื่นใดนอกจากเพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ เป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ในการภักดีต่อพระองค์ เป็นผู้อยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรง” (สูเราะฮฺ อัล-บัยยินะฮฺ : 5)

    และพระองค์ตรัสอีกว่า

    ﴿ قُلِ اللهَ أَعْبُدُ مُخْلِصًا لَّهُ دِينِي ﴾

    ความว่า “จงกล่าวเถิด เฉพาะอัลลอฮฺเท่านั้นที่ฉันเคารพภักดีโดยเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ใจในศาสนาของฉันต่อพระองค์” (สูเราะฮฺ อัซ-ซุมัร : 14)

    ﴿ الَّذِي خَلَقَ الْمَوْتَ وَالْحَيَاةَ لِيَبْلُوَكُمْ أَيُّكُمْ أَحْسَنُ عَمَلًا وَهُوَ الْعَزِيزُ الْغَفُورُ﴾

    ความว่า “พระผู้ทรงให้มีความตายและให้มีความเป็น เพื่อจะทดสอบพวกเจ้าว่า ผู้ใดบ้างในหมู่พวกเจ้าที่มีผลงานดียิ่ง และพระองค์เป็นผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงให้อภัยเสมอ” (สูเราะฮฺ อัล-มุลกฺ : 2)

    ท่านอัล-ฟุฎอยลฺ ได้กล่าวว่า:

    ผลงานที่ดียิ่งในที่นี้คือ การงานที่มีความบริสุทธิ์ใจและมีความถูกต้องมากที่สุด ท่านได้กล่าวอีกว่า การงานที่มีความบริสุทธิ์ใจแต่ไม่มีความถูกต้องการงานนั้นย่อมไม่ถูกตอบรับ และหากว่าการงานนั้นมีความถูกต้องแต่เป็นการงานที่ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ การงานนั้นก็ย่อมไม่ถูกตอบรับเช่นเดียวกัน จนกว่าการงานนั้นจะต้องมีความบริสุทธิ์ใจและมีความถูกต้อง

    ท่านได้กล่าวเสริมอีกว่า ความบริสุทธิ์ใจคือ การทำการงานเพื่ออัลลอฮฺ อัซซะวะญัลฺ เพียงพระองค์เดียว และ–ความถูกต้องคือ การทำการงานที่มีความสอดคล้องกับแบบฉบับของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม[2]

    อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿شَرَعَ لَكُم مِّنَ الدِّينِ مَا وَصَّى بِهِ نُوحًا وَالَّذِي أَوْحَيْنَا إِلَيْكَ وَمَا وَصَّيْنَا بِهِ إِبْرَاهِيمَ وَمُوسَى وَعِيسَى أَنْ أَقِيمُوا الدِّينَ وَلَا تَتَفَرَّقُوا فِيهِ كَبُرَ عَلَى الْمُشْرِكِينَ مَا تَدْعُوهُمْ إِلَيْهِ اللهُ يَجْتَبِي إِلَيْهِ مَن يَشَاء وَيَهْدِي إِلَيْهِ مَن يُنِيبُ﴾

    ความว่า “พระองค์ได้ทรงกำหนดศาสนาแก่พวกเจ้าเช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงบัญชาแก่นูหฺ และที่เราได้วะฮีย์แก่เจ้าก็เช่นเดียวกับที่เราได้บัญชาแก่อิบรอฮีม และมูสา และอีซาว่า พวกเจ้าจงดำรงศาสนาไว้ให้คงมั่น และอย่าแตกแยกกันในเรื่องศาสนา แต่เป็นเรื่องใหญ่แก่พวกตั้งภาคีที่เจ้าเรียกร้อง เชิญชวนพวกเขาไปสู่ศาสนานั้น อัลลอฮฺทรงเลือกสำหรับพระองค์ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และทรงชี้แนะทางสู่พระองค์ผู้ที่ผินหน้าสู่พระองค์” (สูเราะฮฺอัช-ชูรอ : 13)

    ท่านอบู อัล-อาลิยะฮฺ ได้กล่าวว่า:

    “อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ได้ทรงบัญชาพวกเขาให้มีความบริสุทธิ์ในทุกๆกิจการงานต่อพระองค์ และความบริสุทธิ์ใจนั่นคือ ภารกิจของหัวใจที่มีความยิ่งใหญ่ที่สุด”

    ท่านอิบนุล ก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ตะอาลา ได้กล่าวว่า:

    “และผู้ใดก็ตามที่ได้ใคร่ครวญชะรีอะฮฺ (บทบัญญัติและคำสอนของอัลลอฮฺ) จากแหล่งที่มาของมันแล้วไซร้ เขาก็จะทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างการงานของอวัยวะต่างๆ กับการงานของหัวใจ ซึ่งแท้จริงมันจะไม่มีประโยชน์ใดๆ เลยหากไม่มีสิ่งนั้น และกิจการงานของหัวใจนั้นเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับบ่าวมากยิ่งกว่ากิจการงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย แล้วจะมีอะไรที่จะแยกแยะระหว่างผู้ศรัทธากับผู้กลับกลอกก็ด้วยกับสิ่งที่มีอยู่ในหัวใจของแต่ละคน จากการงานทั้งหลายที่เป็นตัวแยกแยะกลุ่มคนทั้งสอง? และแน่แท้การอิบาดะฮฺของหัวใจย่อมยิ่งใหญ่กว่าการอิบาดะฮฺของอวัยวะส่วนต่างๆ อย่างแน่นอน มากกว่า และคงตลอดกว่า เพราะมันจำเป็นในทุกๆ เสี้ยวนาที” [3]

    ความบริสุทธิ์ใจ เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้การงานเป็นที่ตอบรับ ซึ่งการงานหนึ่งๆนั้นจะไม่เป็นที่ตอบรับนอกจากด้วย 2 เงื่อนไขดังนี้

    หนึ่ง การงานนั้นต้องมีความสอดคล้องกับสิ่งที่อัลลอฮฺได้กำหนดในคัมภีร์ของพระองค์ หรือเป็นสิ่งที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ชี้แจงไว้ ดังที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «مَنْ أَحْدَثَ فِي أَمْرِنَا هَذَا مَا لَيْسَ فِيهِ فَهُوَ رَدٌّ»

    ความว่า “ผู้ใดประดิษฐ์สิ่งใหม่ในกิจการของเรา ซึ่งมิได้เป็นส่วนหนึ่งของมัน ดังนั้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่นั้นจะถูกปฏิเสธ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 2697 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1718)

    สอง การงานนั้นต้องมีความบริสุทธิ์ใจเพื่อแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺ ตะอาลา ดังมีรายงานจากท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «إنَّمَا الأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ، وإِنَّما لِكُلِّ امْرِيءٍ ما نَوَى، فَمَنْ كَانَتْ هِجْرَتُهُ إِلَى اللهِ ورَسُوْلِهِ فَهِجْرَتُهُ إِلَى اللهِ ورَسُوْلِهِ ، ومَنْ كَانَتْ هِجْرَتُهُ لِدُنْيَا يُصِيْبُها أَوِ امْرَأَةٍ يَنْكِحُهَا فَهِجْرَتُهُ إِلَى مَا هَاجَرَ إِليهِ» رَوَاهُ البُخَارِيُّ وَ مُسْلِمٍ

    ความว่า “แท้จริงการงานทั้งหลายนั้นขึ้นอยู่กับเจตนา และแท้จริงสำหรับทุกคนนั้นคือสิ่งที่เขาได้ตั้งเจตนาไว้ ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่การอพยพของเขามีเจตนาเพื่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ ดังนั้นการอพยพของเขาก็จะเป็นไปเพื่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ และผู้ใดก็ตามที่การอพยพของเขาเพื่อโลกนี้ที่เขาก็จะได้รับ หรือเพื่อผู้หญิงที่เขาจะแต่งงานด้วย ดังนั้นการอพยพของเขาก็จะเป็นไปตามความประสงค์ที่เขาได้อพยพ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 1311 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1907)

    ซึ่งมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ قُلْ إِنَّمَا أَنَا بَشَرٌ مِّثْلُكُمْ يُوحَى إِلَيَّ أَنَّمَا إِلَهُكُمْ إلَهٌ وَاحِدٌ فَمَن كَانَ يَرْجُو لِقَاء رَبِّهِ فَلْيَعْمَلْ عَمَلًا صَالِحًا وَلَا يُشْرِكْ بِعِبَادَةِ رَبِّهِ أَحَدًا﴾

    ความว่า “จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด แท้จริง ฉันเป็นเพียงสามัญชนคนหนึ่งเยี่ยงพวกท่าน มีคำสั่งแก่ฉันว่า แท้จริง พระเจ้าของพวกท่านนั้นคือพระเจ้าองค์เดียว ดังนั้น ผู้ใดหวังที่จะพบพระผู้เป็นเจ้าของเขา ก็ให้เขาประกอบการงานที่ดี และอย่างตั้งผู้ใดเป็นภาคีในการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าของเขาเลย” (สูเราะฮฺอัล-กะฮฺฟิ : 110)

    ความบริสุทธิ์ใจ คือ รากฐานที่จะส่งผลให้การขอดุอาอ์เป็นที่ตอบรับ

    อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ فَادْعُوا اللَّهَ مُخْلِصِينَ لَهُ الدِّينَ وَلَوْ كَرِهَ الْكَافِرُونَ ﴾

    ความว่า “ดังนั้นจงวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ โดยเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ใจในศาสนาต่อพระองค์ แม้ว่าพวกปฎิเสธศรัทธาจะเกลียดชังก็ตาม” (สูเราะฮฺฆอฟิร : 14)

    และการบกพร่องในความบริสุทธิ์ในนั่นเอง ที่เป็นต้นเหตุทำให้การงานถูกปฏิเสธ (หรือไม่ถูกตอบรับ) ดังที่ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «إِنَّ أَوَّلَ النَّاسِ يُقْضَى يَوْمَ الْقِيَامَةِ عَلَيْهِ؛ رَجُلٌ اسْتُشْهِدَ فَأُتِىَ بِهِ فَعَرَّفَهُ نِعَمَهُ فَعَرَفَهَا، قَالَ: فَمَا عَمِلْتَ فِيهَا، قَالَ: قَاتَلْتُ فِيكَ حَتَّى اسْتُشْهِدْتُ. قَالَ :كَذَبْتَ وَلَكِنَّكَ قَاتَلْتَ لأَنْ يُقَالَ جَرِىءٌ. فَقَدْ قِيلَ.ثُمَّ أُمِرَ بِهِ فَسُحِبَ عَلَى وَجْهِهِ حَتَّى أُلْقِىَ فِى النَّارِ. وَرَجُلٌ تَعَلَّمَ الْعِلْمَ وَعَلَّمَهُ وَقَرَأَ الْقُرْآنَ فَأُتِىَ بِهِ فَعَرَّفَهُ نِعَمَهُ فَعَرَفَهَا، قَالَ: فَمَا عَمِلْتَ فِيهَا، قَالَ: تَعَلَّمْتُ الْعِلْمَ وَعَلَّمْتُهُ وَقَرَأْتُ فِيكَ الْقُرْآنَ. قَالَ: كَذَبْتَ وَلَكِنَّكَ تَعَلَّمْتَ الْعِلْمَ لِيُقَالَ عَالِمٌ، وَقَرَأْتَ الْقُرْآنَ لِيُقَالَ هُوَ قَارِئٌ، فَقَدْ قِيلَ، ثُمَّ أُمِرَ بِهِ فَسُحِبَ عَلَى وَجْهِهِ حَتَّى أُلْقِىَ فِى النَّارِ. وَرَجُلٌ وَسَّعَ اللَّهُ عَلَيْهِ وَأَعْطَاهُ مِنْ أَصْنَافِ الْمَالِ كُلِّهِ فَأُتِىَ بِهِ فَعَرَّفَهُ نِعَمَهُ فَعَرَفَهَا، قَالَ: فَمَا عَمِلْتَ فِيهَا، قَالَ: مَا تَرَكْتُ مِنْ سَبِيلٍ تُحِبُّ أَنْ يُنْفَقَ فِيهَا إِلاَّ أَنْفَقْتُ فِيهَا لَكَ، قَالَ: كَذَبْتَ وَلَكِنَّكَ فَعَلْتَ لِيُقَالَ هُوَ جَوَادٌ، فَقَدْ قِيلَ، ثُمَّ أُمِرَ بِهِ فَسُحِبَ عَلَى وَجْهِهِ ثُمَّ أُلْقِىَ فِى النَّارِ»

    ความว่า “ในวันกิยามะฮฺ บุคคลกลุ่มแรกที่จะถูกพิพากษาคือ ผู้ที่ตายชะฮีด (ตายในสนามรบเพื่อศาสนาของอัลลอฮฺ) คนหนึ่ง พระองค์อัลลอฮฺทรงถามว่า “เราไม่ได้โปรดประทานความโปรดปรานต่างๆ เหล่านี้แก่เจ้าหรอกหรือ? เขาก็ยอมรับทุกอย่าง แล้วพระองค์ก็ทรงซักถามต่อไปอีกว่า “แล้วเจ้าได้รำลึกถึงพระคุณในความโปรดปรานต่างๆของเราอย่างไร?” เขาตอบว่า “ฉันได้ทำสงครามเพื่อศาสนาของพระองค์ จนฉันก็ได้สิ้นชีวิตเป็นชะฮีด(ในสงครามนั้น) พระองค์อัลลอฮฺตรัสว่า “เจ้าโกหก เจ้าออกทำสงครามนั้นก็ด้วยความตั้งใจเพื่อให้ผู้คนกล่าวขานว่าเจ้าเป็นนักรบ (ที่กล้าหาญ) แล้วเขาก็ถูกจับขว้างลงไปในนรกญะฮันนัม ต่อมาก็มีการสอบถามบุคคลผู้มีวิชาความรู้ เหมือนดังที่ถามบุคคลก่อนนั้นเช่นกัน แล้วเขาก็ยอมรับทุกอย่าง แล้วเขาถูกซักถามอีกว่า แล้วเจ้ารำลึกถึงพระคุณของเราอย่างไร ? เขาตอบว่า “ฉันได้ศึกษาเล่าเรียนในวิชาศาสนาอิสลามแล้วฉันก็ได้ทำการสั่งสอนมนุษย์เพื่อพระองค์เท่านั้น” พระองค์อัลลอฮฺตรัสว่า “เจ้าโกหกเจ้าศึกษาวิชาศาสนาเพื่อให้เขาเรียกเจ้าว่าเป็นอุลามาอ์(ผู้มีวิชาความรู้) และเจ้าก็อ่านอัลกุรอานเพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นกอรีย์” แล้วผู้นั้นก็ถูกจับโยนลงสู่ขุมมนรก ต่อมาบุคคลผู้ร่ำรวยคนหนึ่งก็ถูกเรียกไปสอบสวน การซักถามก็เหมือนกับคนก่อน (และในคำถามสุดท้ายเขาตอบว่า) “ฉันได้ใช้จ่ายบริจาคทรัพย์สมบัติของฉันเพื่อพระองค์อยู่เป็นเนืองนิจ” พระองค์อัลลอฮฺทรงมีดำรัสว่า “เจ้าโกหกเจ้าใช้จ่ายทรัพย์สมบัติของเจ้าเพื่อจะให้ได้ชื่อว่าเป็นคนใจบุญ” แล้วเขาก็ถูกขว้างลงสู่นรกญะฮันนัมเช่นกัน” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ : 1905)

    และมีรายงานว่า เมื่อท่านมุอาวิยะฮฺได้ยินหะดีษบทนี้ ท่านถึงกับร้องไห้อย่างหนักจนสลบไป ครั้นเมื่อท่านรู้สึกตัวขึ้นมาท่านก็ได้กล่าวว่า “อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์กล่าวจริงแล้ว” ซึ่งพระองค์ อัซซะวะญัลฺ ตรัสไว้ว่า

    ﴿ مَن كَانَ يُرِيدُ الْحَيَاةَ الدُّنْيَا وَزِينَتَهَا نُوَفِّ إِلَيْهِمْ أَعْمَالَهُمْ فِيهَا وَهُمْ فِيهَا لَا يُبْخَسُونَ أُولَـٰئِكَ الَّذِينَ لَيْسَ لَهُمْ فِي الْآخِرَةِ إِلَّا النَّارُ ۖ وَحَبِطَ مَا صَنَعُوا فِيهَا وَبَاطِلٌ مَّا كَانُوا يَعْمَلُونَ﴾

    ความว่า “ผู้ใดปรารถนาการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และความเพริศแพร้วของมันเราก็จะตอบแทนให้พวกเขาอย่างครบถ้วน ซึ่งการงานของพวกเขาในโลกนี้เท่านั้น และพวกเขาจะไม่ถูกลิดรอนในการงานนั้นแต่อย่างใด ชนเหล่านั้น พวกเขาจะไม่ได้รับการตอบแทนอันใดในโลกอาคิเราะฮฺ นอกจากไฟนรกและสิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติไว้ในโลกดุนยาก็จะไร้ผลและสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้ก็จะสูญเสียไป” (สูเราะฮฺฮูด : 15-16) (บันทึกโดย อิบนุ หิบบาน ในหนังสือเศาะหี้หฺของท่าน หมายเลขหะดีษ 408)

    ท่านอบีมูซา อัล-อัชอะรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า

    أن رجلاً جاء إلى النبي صلى اللهُ عليه وسلم فقال يارسول اللهِ : الرَّجُلُ يُقَاتِلُ لِلْمَغْنَمِ، وَالرَّجُلُ يُقَاتِلُ لِيُذْكَرَ، وَيُقَاتِلُ لِيُرَى مَكَانُهُ، مَنْ فِي سَبِيلِ اللهِ؟، فَقَالَ: «مَنْ قَاتَلَ لِتَكُونَ كَلِمَةُ اللهِ هِيَ الْعُلْيَا فَهُوَ فِي سَبِيلِ اللهِ»

    ความว่า “มีชายคนหนึ่งเข้ามาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วถามว่า “โอ้เราะสูลุลลอฮฺ การที่ชายคนหนึ่งต่อสู้เพื่อให้ได้ทรัพย์เชลย อีกคนต่อสู้เพื่อให้ผู้คนกล่าวขาน และอีกคนต่อสู้เพื่อให้มีผู้คนได้เห็นตำแหน่งของเขา ดังนั้นคนใดที่ถือว่าต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ? ท่านนบีจึงตอบว่า ผู้ใดก็ตามที่ได้ต่อสู้เพื่อเชิดชูถ้อยคำแห่งอัลลอฮฺให้สูงส่ง นั่นแหละคือผู้ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 3126 ,มุสลิม หมายเลขหะดีษ 1904)

    ท่านอบีอุมามะฮฺ อัล-บาฮิลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า

    جَاءَ رَجُلٌ إِلَى النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، فَقَالَ : أَرَأَيْتَ رَجُلًا غَزَا يَلْتَمِسُ الْأَجْرَ وَالذِّكْرَ مَالَهُ؟ فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : «لَا شَيْءَ لَهُ» فَأَعَادَهَا ثَلَاثَ مَرَّاتٍ، يَقُولُ لَهُ رَسُولُ اللهُ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ «لَا شَيْءَ لَهُ» ثُمَّ قَالَ : «إِنَّ اللهَ لَا يَقْبَلُ مِنْ الْعَمَلِ إِلَّا مَا كَانَ لَهُ خَالِصًا وَابْتُغِيَ بِهِ وَجْهُهُ»

    ความว่า “มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยเขากล่าวว่า ท่านมีความเห็นอย่างไรหากชายคนหนึ่งออกรบเพื่อหวังผลตอบแทนและให้บุคคลอื่นกล่าวถึงเขา ? ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็กล่าวตอบเขาว่า “ไม่มีอะไรเลยสำหรับเขา” ท่านทวนมันถึงสามครั้ง หลังจากนั้นท่านก็กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงรับกิจการใดๆ เว้นแต่เสียว่ากิจการนั้นจะต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และทำเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากพระองค์” (บันทึกโดยอัน-นะสาอีย์ หมายเลขหะดีษ 3140)

    ท่านอัล-ฟุฎอยลฺ บิน อิยาฎ ได้กล่าวว่า “การละทิ้งการปฏิบัติการงานหนึ่งเพื่อมนุษย์นั่นคือ การโอ้อวด(ริยาอ์) และการปฏิบัติการงานหนึ่งเพื่อพวกเขานั่นก็คือการตั้งภาคี(ชิริก) และความบริสุทธิ์ใจนั้นคือ การปราศจากจากสองสิ่งทั้งสองดังกล่าว” และมีรายงานจากท่านอีกว่า “ความบริสุทธิ์ใจนั้นคือ การที่อัลลอฮฺทรงปกป้องท่านจากสิ่งดังกล่าว” [4]

    มีคนถามท่านสะฮฺลฺ อัต-ตัสติรีย์ว่า “อะไรคือสิ่งที่หนักหน่วงที่สุดสำหรับอารมณ์? ท่านตอบว่า คือความบริสุทธิ์ใจ เพราะอารมณ์จะไม่ได้รับส่วนได้เสียใดๆ จากความบริสุทธิ์ใจเลย” [5]

    ท่านสุฟยาน อัษ-เษารีย์ ได้กล่าวว่า “ฉันไม่เคยเยียวยาสิ่งใดที่ยากยิ่งสำหรับฉัน มากไปกว่าการปรับเจตนาของฉันให้บริสุทธิ์ เพราะการเจตนาของฉันนั้นมักจะพลิกผันไปมาเสมอ”

    นักวิชาการบางท่านได้กล่าวว่า “หากบ่าวคนหนึ่งมีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺแล้วไซร้ เขาก็จะถูกตัดขาดจากความลังเล(วัสวาส หรือการกระซิบกระซาบของชัยฏอน)และการโอ้อวดที่มีอยู่อย่างมากมายอย่างแน่นอน”

    และกลุ่มชนยุคสะลัฟบางท่านได้กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่เสี้ยวชีวิตหนึ่งของเขามีความบริสุทธิ์ใจเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ เขาก็รอดปลอดภัย (จากไฟนรก) เนื่องด้วยความยิ่งใหญ่ของความบริสุทธิ์ใจ และความยากเย็นในการที่จะทำให้หัวใจใสสะอาดจากมลทินเหล่านี้ และแท้จริงผู้ที่มีความบริสุทธิ์ใจนั้นคือ ผู้ที่จะไม่มีแรงผลักดันใดๆ (ในการทำอิบาดะฮฺ) นอกจากเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดจากอัลลอฮฺ ตะอาลา เท่านั้น”

    สุดท้าย มวลการสรรเสริญนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺพระผู้ทรงเป็นพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก การสรรเสริญและความศานติพึงมีแด่ท่านนบีมุหัมมัด และบรรดาเครือญาติของท่าน ตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านทั้งหลาย

    [1] นุฎเราะตุนนะอีม ฟี มะการิมิน อัคลาก อัรเราะสูลุลกะรีม ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เล่ม 2 หน้า 124

    [2] มะดาริญุสสาลิกีน โดยอิบนุลก็อยยิม เล่ม 2 หน้า 93

    [3] บะดาอิอุลฟะวาอิด เล่ม 3 หน้า 330 คัดลอกจากหนังสือ “อัลอิคลาศวัชชิรกิลอัศฆ็อร” หน้า 5

    [4] มะดาริญุสสาลิกีน โดยอิบนุลก็อยยิม เล่ม 3 หน้า 95

    [5] มะดาริญุสสาลิกีน โดยอิบนุลก็อยยิม เล่ม 2 หน้า 95