×
อธิบายถึงความสำคัญของการระลึกถึงบุญคุณของพระผู้เป็นเจ้า และเป้าหมายหลักที่อัลกุรอานอุตส่าห์เรียกร้องให้มนุษย์รำลึกถึงบุญคุณและนิอฺมัตของอัลลอฮฺ คือ เพื่อต้องการให้พวกเขาขอบคุณอัลลอฮฺ และสำนึกตนด้วยการสำรวมอยู่ในคุณธรรมโดยไม่ละเมิดขอบเขตไปก่อความผิดบาป ซึ่งอาจจะเป็นโทษต่อตัวเขาเองและสังคมมนุษย์โดยรวม เพราะกี่มากน้อยในหมู่มนุษย์ที่ใช้นิอฺมัตในทางผิด เปลี่ยนบุญคุณเป็นการฝ่าฝืน และเป็นเหตุแห่งความหายนะในที่สุด

    สำนึกแห่งศรัทธาคือการขอบคุณ

    ﴿الشكر دليل الإيمان﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ซุฟอัม อุษมาน

    2010 - 1431

    ﴿الشكر دليل الإيمان﴾

    « باللغة التايلاندية »

    صافي عثمان

    2010 - 1431

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    สำนึกแห่งศรัทธาคือการขอบคุณ

    ในกระบวนการเรียกร้องและสร้างสำนึกแห่งศรัทธาต่ออัลลอฮฺที่เราพบในอัลกุรอานนั้น คือการชี้นำและสะกิดให้มนุษย์ระลึกถึงบุญคุณและความกรุณาอันมากมายของพระองค์ที่มีอยู่เหนือพวกเขา ตั้งแต่บทแรกของอัลกุรอานและเรื่อยมาตลอดทั้งเล่ม เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนถึงการสาธยายถึงพระเดชานุภาพของอัลลอฮฺ ที่ทรงเสกสรรค์สรรพสิ่งทั้งหลายเพื่อเป็นคุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์

    ไม่เป็นข้อกังขาใดๆ อีกเลยว่า การประทานของอัลลอฮฺต่อมนุษย์นั้นมีมากมายเหลือเกิน มีมากมายจนนับไม่ถ้วน ทุกสิ่งที่เราปรารถนาและวาดหวังอยากจะได้ พระองค์ได้ทรงประทานให้โดยไม่คิดคำนวณ พระองค์เผยถึงข้อเท็จจริงนี้ว่า

    ﴿وَآتَاكُم مِّن كُلِّ مَا سَأَلْتُمُوهُ وَإِن تَعُدُّواْ نِعْمَتَ اللهِ لاَ تُحْصُوهَا إِنَّ الإِنسَانَ لَظَلُومٌ كَفَّارٌ﴾ (إبراهيم : 34)

    ความว่า และพระองค์ทรงประทานให้พวกเจ้าซึ่งทุกสิ่งที่พวกเจ้าร้องขอ และมาตรแม้นพวกเจ้าจะนับนิอฺมัตของอัลลอฮฺแล้วไซร้ แน่แท้พวกเจ้ามิอาจนับคำนวณมันได้ แท้จริงมนุษย์นั้นช่างอธรรมและปฏิเสธฝ่าฝืนเสียเหลือเกิน (อิบรอฮีม : 34)

    ในอีกโองการหนึ่งคล้ายๆ กันนี้ พระองค์ได้ตรัสว่า

    ﴿وَإِن تَعُدُّواْ نِعْمَةَ اللهِ لاَ تُحْصُوهَا إِنَّ اللهَ لَغَفُورٌ رَّحِيمٌ﴾ (النحل : 18)

    ความว่า และมาตรแม้นพวกเจ้าจะนับนิอฺมัตของอัลลอฮฺแล้วไซร้ พวกเจ้าย่อมมิอาจคำนวณมันได้ แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นผู้อภัยยิ่ง ผู้เมตตายิ่ง (อัน-นะห์ลฺ : 18)

    สองโองการนี้มีนัยที่กินใจอยู่ท้ายๆ ของอายะฮฺ ที่พระองค์บอกว่า "มนุษย์นั้นช่างอธรรมและฝ่าฝืนเสียเหลือเกิน" เนื่องด้วยที่พวกเขาใช้นิอฺมัตของอัลลอฮฺในทางผิดๆ โดยไม่เคยคิดว่าสิ่งเหล่านั้นถูกประทานมาให้พวกเขาเพื่อใช้ในการภักดีพระองค์ มิใช่ให้นำเอามาเป็นปัจจัยสร้างบาปหรือมะอฺศิยัตต่อพระองค์เสียเอง กระนั้นก็ตาม พระองค์ก็ยังทรงอภัยและเมตตาเสมอ แม้ว่ามนุษย์จะใช้นิอฺมัตของพระองค์ในทางที่ผิด แต่ถ้าหากพวกเขาสำนึกได้และยอมกลับตัว รำลึกถึงบุญคุณของพระองค์อีกครั้ง ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่แปลกอันใดเลยที่พระองค์จะยอมรับการกลับตัวนั้น เพราะ "แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นผู้อภัยยิ่ง ผู้เมตตายิ่ง" .. อัลลอฮุอักบัร!

    นิอฺมัต หรือบุญคุณต่างๆ ที่ทรงประทานให้กับมนุษย์นั้นอย่าว่าแต่สิ่งที่เราร้องขอเพียงอย่างเดียวเลย สิ่งอื่นนอกเหนือจากที่เราเรียกร้องก็ทรงประทานให้มาแต่เดิมแล้ว ทั้งที่เปิดเผยเห็นได้กับตา หรือที่ปกปิดเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ ข้อเท็จจริงนี้ยิ่งใหญ่นัก ดังที่พระองค์ได้สาธยายว่า

    ﴿أَلَمْ تَرَوْا أَنَّ اللهَ سَخَّرَ لَكُم مَّا فِي السَّمَاوَاتِ وَمَا فِي الْأَرْضِ وَأَسْبَغَ عَلَيْكُمْ نِعَمَهُ ظَاهِرَةً وَبَاطِنَةً وَمِنَ النَّاسِ مَن يُجَادِلُ فِي اللهِ بِغَيْرِ عِلْمٍ وَلَا هُدًى وَلَا كِتَابٍ مُّنِيرٍ﴾ (لقمان : 20 )

    ความว่า เจ้าไม่ได้ดูดอกหรือ ว่าอัลลอฮฺทรงอำนวยสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนฟากฟ้า และสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในแผ่นดินให้แก่พวกเจ้า และทรงประทานนิอฺมัตของพระองค์อย่างกว้างขวางแก่พวกเจ้า ทั้งที่เปิดเผยและที่ปกปิด ทว่าในจำนวนมนุษย์นั้น ยังมีผู้ที่โต้แย้งในเรื่องอัลลอฮฺโดยไร้ความรู้ ไร้ทางนำ และไร้คัมภีร์ที่ส่องประทีปใดๆ เลย (ลุกมาน : 20)

    อย่างที่ได้เกริ่นไว้แล้วว่า คัมภีร์อัลกุรอานนั้นเพียบพร้อมไปด้วยการยกอ้างถึงเดชานุภาพของอัลลอฮฺ เพื่อเผยให้เห็นถึงบุญคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่มีเหนือปวงมนุษย์ผู้เป็นบ่าว ด้วยสำนวนภาษาที่ง่าย ชัดเจน และสัมผัสถึงอรรถรสแห่งสัจจะได้ทันที การเผยโองการเหล่านี้มักจะเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งตรรกะที่เปี่ยมด้วยเหตุผลและรับได้ด้วยปัญญา มิใช่ด้วยการข่มขู่หรือบีบคั้นอย่างน่าเกลียดเช่นที่ผู้มีอำนาจในโลกนี้ทำกับบรรดาผู้อ่อนแอกว่าตน นับประสาอะไรถ้าหากตนเป็นเจ้านายและอีกฝ่ายเป็นลูกน้องผู้รับใช้

    โองการต่อไปนี้ คือตัวอย่างพระดำรัสที่ทรงกล่าวนิอฺมัตของพระองค์เหนือพวกเรา และมีคำถามที่สื่อถึงมนุษย์ทั้งหลายให้ระลึกถึงบุญคุณเหล่านั้น ด้วยทักษะภาษาอันเปี่ยมด้วยพลังทว่างดงามเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ผู้สูงส่งตรัสว่า

    ﴿أَمَّنْ خَلَقَ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضَ وَأَنزَلَ لَكُم مِّنَ السَّمَاءِ مَاء فَأَنبَتْنَا بِهِ حَدَائِقَ ذَاتَ بَهْجَةٍ مَّا كَانَ لَكُمْ أَن تُنبِتُوا شَجَرَهَا أَإِلَهٌ مَّعَ اللهِ بَلْ هُمْ قَوْمٌ يَعْدِلُونَ﴾ (النمل : 60 )

    ความว่า (สิ่งเคารพที่พวกเขาตั้งภาคีด้วยนั้นดีกว่า)หรือว่าพระองค์ผู้สร้างฟากฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และหลั่งน้ำลงมาให้แก่พวกเจ้าจากฟ้า แล้วเราก็ได้ใช้มันทำให้เรือกสวนมากมายงอกเงยเป็นที่ละลานตา ไม่ใช่เรื่องของพวกเขาที่จะทำให้ต้นพืชเหล่านั้นงอกเงยได้ มีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือไปจากอัลลอฮฺอีกกระนั้นหรือ? ทว่า พวกเขานั้นเป็นชนที่ตั้งภาคีเทียบเคียง(อัลลอฮฺกับสิ่งเคารพอื่นๆ) (อัน-นัมล์ : 60)

    ﴿أَمَّن جَعَلَ الْأَرْضَ قَرَاراً وَجَعَلَ خِلَالَهَا أَنْهَاراً وَجَعَلَ لَهَا رَوَاسِيَ وَجَعَلَ بَيْنَ الْبَحْرَيْنِ حَاجِزاً أَإِلَهٌ مَّعَ اللهِ بَلْ أَكْثَرُهُمْ لَا يَعْلَمُونَ﴾ (النمل : 61 )

    ความว่า (สิ่งเคารพที่พวกเขาตั้งภาคีด้วยนั้นดีกว่า)หรือว่าพระองค์ผู้ที่ทำให้แผ่นดินนั้นมั่นคง และทำให้มีสายน้ำไหลระหว่างแผ่นดินนั้น และทำให้มีภูเขาเป็นที่ยึดตรึงแก่มัน และทำให้มีที่กั้นระหว่างทะเลสองฝ่าย มีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือไปจากอัลลอฮฺอีกกระนั้นหรือ? ทว่า พวกเขาส่วนมากนั้นไม่รู้ (อัน-นัมล์ : 61)

    ﴿أَمَّن يُجِيبُ الْمُضْطَرَّ إِذَا دَعَاهُ وَيَكْشِفُ السُّوءَ وَيَجْعَلُكُمْ خُلَفَاء الْأَرْضِ أَإِلَهٌ مَّعَ اللهِ قَلِيلاً مَّا تَذَكَّرُونَ﴾ (النمل : 62 )

    ความว่า (สิ่งเคารพที่พวกเขาตั้งภาคีด้วยนั้นดีกว่า)หรือว่าพระองค์ที่ทรงตอบรับผู้คับขันเมื่อเขาวอนขอ และทรงปัดเป่าความชั่วร้าย และทรงทำให้พวกเจ้าเป็นผู้ที่ปกครองแผ่นดิน มีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือไปจากอัลลอฮฺอีกกระนั้นหรือ? น้อยนักที่พวกเจ้าระลึกใคร่ครวญ (อัน-นัมล์ : 62)

    ﴿أَمَّن يَهْدِيكُمْ فِي ظُلُمَاتِ الْبَرِّ وَالْبَحْرِ وَمَن يُرْسِلُ الرِّيَاحَ بُشْراً بَيْنَ يَدَيْ رَحْمَتِهِ أَإِلَهٌ مَّعَ اللهِ تَعَالَى اللَّهُ عَمَّا يُشْرِكُونَ﴾ (النمل : 63 )

    ความว่า (สิ่งเคารพที่พวกเขาตั้งภาคีด้วยนั้นดีกว่า)หรือว่าพระองค์ผู้ทรงชี้ทางพวกเจ้าในความมืดมิดทั้งทางบกและทางทะเล และผู้ที่ทรงปล่อยให้ลมพัดเพื่อสร้างความปีติ ก่อนที่จะส่งความเมตตาของพระองค์ให้ (หมายถึงลมที่พัดเมฆมาเพื่อให้หลั่งน้ำฝนลงมา) มีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือไปจากอัลลอฮฺอีกกระนั้นหรือ? พระองค์อัลลอฮฺทรงสูงส่งยิ่งเหนือสิ่งที่พวกเขาตั้งภาคี (อัน-นัมล์ : 63)

    ﴿أَمَّن يَبْدَأُ الْخَلْقَ ثُمَّ يُعِيدُهُ وَمَن يَرْزُقُكُم مِّنَ السَّمَاءِ وَالْأَرْضِ أَإِلَهٌ مَّعَ اللهِ قُلْ هَاتُوا بُرْهَانَكُمْ إِن كُنتُمْ صَادِقِينَ﴾ (النمل : 64 )

    ความว่า (สิ่งเคารพที่พวกเขาตั้งภาคีด้วยนั้นดีกว่า)หรือว่าพระองค์ผู้ที่ให้บังเกิดสรรพสิ่งมาแต่แรก และทรงชุบมันให้เกิดอีกครั้ง(ในวันกิยามะฮฺ หลังจากการสูญสลายของทุกสิ่ง) และผู้ที่ทรงประทานริซกี(ปัจจัยดำรงชีพ)จากฟากฟ้าและแผ่นดิน มีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือไปจากอัลลอฮฺอีกกระนั้นหรือ? จงนำหลักฐานของพวกเจ้ามาเถิด หากพวกเจ้านั้นสัจจริง (อัน-นัมล์ : 64)

    อัลลอฮุอักบัร ! ทั้งหมดที่พระองค์กล่าวถึงนั้นล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สัมผัสได้ทั้งสิ้น และเป็นที่ยอมรับโดยดุษฎีว่า มีเพียงอำนาจแห่งองค์ผู้สร้างเท่านั้นที่สามารถจัดการและแจกแจงทั้งสิ้นทั้งปวงนั้นให้แก่มวลมนุษย์ .. ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่การเคารพภักดีนอกเหนือไปจากองค์ผู้สร้างนี้เท่านั้น

    จะว่ากันไปตามจริงแล้ว นิอฺมัตต่างๆ ทั้งหลายที่เราใช้อยู่นี้ แม้จะมีมากมายจนนับไม่ถ้วน กระนั้นก็ยังถือว่าเล็กน้อยอย่างยิ่งถ้าจะเทียบกับความยิ่งใหญ่ของเดชานุภาพอันไม่สิ้นสุดขององค์อัลลอฮฺพระผู้อภิบาล เพียงแค่ที่พระองค์ประทานให้มาแค่นี้เราก็ใช้แทบไม่หมด และเพียงแค่เท่าที่มีอยู่เราก็ไม่คิดที่จะขอบคุณ หนำซ้ำ ด้วยนิอฺมัตเล็กน้อยเหล่านี้แหล่ะที่เราใช้มันก่อความเสียหายมากมายบนพื้นแผ่นดิน เราสูบน้ำมันและก๊าซในดินมาใช้ แก่งแย่งทรัพยากรธรรมชาติ จนบางครั้งต้องละเมิดสิทธิผู้อื่น เราใช้อำนาจความมั่งมีกดขี่ผู้อ่อนแอจนไม่เห็นมนุษยธรรม เราใช้ความสะดวกสบายที่ได้มาจากนิอฺมัตของอัลลอฮฺ เพื่อความสุขสำราญแห่งตัณหา แม้มันจะขัดกับคุณธรรมที่พระองค์ทรงรับสั่งใช้ให้ยึดมั่น ฯลฯ เพียงมีนิอฺมัตอันน้อยนิดให้ใช้ มนุษย์ก็อุกอาจต่ออัลลอฮฺมากนักแล้ว ถ้าหากมันมีมากไปกว่านี้เล่า ความหลงลืมของเรา การก่อความเสียหายของเรา จะใหญ่หลวงอีกเพียงใด

    ﴿وَلَوْ بَسَطَ اللهُ الرِّزْقَ لِعِبَادِهِ لَبَغَوْا فِي الْأَرْضِ وَلَكِن يُنَزِّلُ بِقَدَرٍ مَّا يَشَاءُ إِنَّهُ بِعِبَادِهِ خَبِيرٌ بَصِيرٌ﴾ (الشورى : 27 )

    ความว่า และหากอัลลอฮฺทรงแผ่กว้างริซกีให้แก่ปวงบ่าวของพระองค์แล้วไซร้ แน่นอนพวกเขาย่อมก่อความเสียหายบนแผ่นดิน แต่พระองค์ทรงประทานลงมาด้วยจำนวนที่จำกัดตามความประสงค์ แท้จริงพระองค์ทรงประจักษ์และรู้เห็นบ่าวของพระองค์อย่างดียิ่ง (อัช-ชูรอ : 27)

    เพราะเหตุที่มนุษย์ไม่รำลึกถึงบุญคุณของอัลลอฮฺ จึงทำให้หลงลืมและกล้าที่จะกระทำผิดต่อพระองค์ ดังนั้น พระองค์จึงได้เตือนให้มนุษย์คืนสติอีกครั้ง เช่นที่ทรงกำชับว่า

    ﴿وَاذْكُرُواْ نِعْمَةَ اللهِ عَلَيْكُمْ وَمِيثَاقَهُ الَّذِي وَاثَقَكُم بِهِ إِذْ قُلْتُمْ سَمِعْنَا وَأَطَعْنَا وَاتَّقُواْ اللهَ إِنَّ اللهَ عَلِيمٌ بِذَاتِ الصُّدُورِ﴾ (المائدة : 7 )

    ความว่า และจงระลึกถึงนิอฺมัตของอัลลอฮฺเหนือพวกเจ้าทั้งหลาย และ(จงระลึกถึง)สัญญาที่พระองค์ได้ผูกมัดพวกเจ้าไว้ ครั้งที่พวกเจ้ายอมรับว่าเราได้ฟังและได้ปฎิบัติตามแล้ว และจงตักวายำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺทรงรู้ถึงสิ่งที่อยู่ในหัวอกทั้งหลาย (อัล-มาอิดะฮฺ : 7)

    คำตักเตือนให้ระลึกถึงนิอฺมัตของอัลลอฮฺเยี่ยงนี้นั้น นับเป็นหน้าที่ประการหนึ่งของเรา และยังเป็นประเด็นหัวข้อในการดะอฺวะฮฺเชิญชวนของบรรดาศาสนทูตอีกด้วย อัลลอฮฺได้ตรัสถึงท่านนบีมูซา อะลัยฮิสสลาม ว่า

    ﴿وَإِذْ قَالَ مُوسَى لِقَوْمِهِ يَا قَوْمِ اذْكُرُواْ نِعْمَةَ اللهِ عَلَيْكُمْ إِذْ جَعَلَ فِيكُمْ أَنبِيَاء وَجَعَلَكُم مُّلُوكاً وَآتَاكُم مَّا لَمْ يُؤْتِ أَحَداً مِّن الْعَالَمِينَ﴾ (المائدة : 20 )

    ความว่า และเมื่อครั้งมูซากล่าวแก่หมู่ชนของเขาว่า โอ้ หมู่ชนของฉัน พวกท่านจงระลึกถึงนิอฺมัตของอัลลอฮฺเหนือพวกท่าน ที่พระองค์ได้กำหนดให้มีศาสนทูตในหมู่พวกท่าน และยังทรงทำให้พวกท่านเป็นไทได้ครองแผ่นดิน และทรงประทานให้แก่พวกท่านซึ่งสิ่งที่ไม่ได้ถูกประทานให้แก่ผู้ใดในหล้า (อัล-มาอิดะฮฺ : 20)

    ในอีกโองการหนึ่งมีว่า

    ﴿وَإِذْ قَالَ مُوسَى لِقَوْمِهِ اذْكُرُواْ نِعْمَةَ اللهِ عَلَيْكُمْ إِذْ أَنجَاكُم مِّنْ آلِ فِرْعَوْنَ يَسُومُونَكُمْ سُوءَ الْعَذَابِ وَيُذَبِّحُونَ أَبْنَاءكُمْ وَيَسْتَحْيُونَ نِسَاءكُمْ وَفِي ذَلِكُم بَلاء مِّن رَّبِّكُمْ عَظِيمٌ﴾ (إبراهيم : 6 )

    ความว่า และเมื่อครั้งมูซากล่าวแก่หมู่ชนของเขาว่า พวกท่านทั้งหลายจงระลึกถึงนิอฺมัตของอัลลอฮฺเหนือพวกท่าน ที่พระองค์ทรงปลดปล่อยพวกท่านในรอดจากพรรคพวกของฟิรเอาน์ จากการที่พวกเขากระทำการขู่เข็ญพวกท่านด้วยการทรมานที่โหดร้าย ได้ฆ่าลูกหลานของพวกท่าน และสร้างความอับอายแก่บรรดาสตรีของพวกท่าน ในการนั้นย่อมเป็นบททดสอบอันใหญ่หลวงจากพระผู้อภิบาลของท่านทั้งหลาย (อิบรอฮีม : 6)

    ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชาติมุสลิมในสมัยท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม มีตัวอย่างที่อัลกุรอานได้เตือนให้พวกเขาระลึกถึงนิอฺมัตของอัลลอฮฺอยู่หลายโองการ หนึ่งในนั้นก็คือพระดำรัสของอัลลอฮฺที่มีว่า

    ﴿يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اذْكُرُوا نِعْمَةَ اللهِ عَلَيْكُمْ إِذْ جَاءتْكُمْ جُنُودٌ فَأَرْسَلْنَا عَلَيْهِمْ رِيحاً وَجُنُوداً لَّمْ تَرَوْهَا وَكَانَ اللهُ بِمَا تَعْمَلُونَ بَصِيراً﴾ (الأحزاب : 9 )

    ความว่า โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงระลึกถึงนิอฺมัตของอัลลอฮฺเหนือพวกเจ้า ยามที่มีกองทัพมากมายมาบุกรุกพวกเจ้า แล้วเราก็ได้ส่งลมพายุให้โดนพวกเขา และทรงส่งกองทัพที่พวกเจ้ามองไม่เห็นมาช่วย และอัลลอฮฺนั้นทรงรู้เห็นในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ (อัล-อะห์ซาบ : 9)

    เป้าหมายหลักที่อัลกุรอานอุตส่าห์เรียกร้องให้มนุษย์รำลึกถึงบุญคุณและนิอฺมัตของอัลลอฮฺ คือ เพื่อต้องการให้พวกเขาขอบคุณอัลลอฮฺ และสำนึกตนด้วยการสำรวมอยู่ในคุณธรรมโดยไม่ละเมิดขอบเขตไปก่อความผิดบาป ซึ่งอาจจะเป็นโทษต่อตัวเขาเองและสังคมมนุษย์โดยรวม เพราะกี่มากน้อยในหมู่มนุษย์ที่ใช้นิอฺมัตในทางผิด เปลี่ยนบุญคุณเป็นการฝ่าฝืน และเป็นเหตุแห่งความหายนะในที่สุด

    ﴿أَلَمْ تَرَ إِلَى الَّذِينَ بَدَّلُواْ نِعْمَةَ اللهِ كُفْراً وَأَحَلُّواْ قَوْمَهُمْ دَارَ الْبَوَارِ﴾ (إبراهيم : 28 )

    ความว่า หรือเจ้าไม่ได้ดูไปยังบรรดาผู้ที่เปลี่ยนนิอฺมัตของอัลลอฮฺให้เป็นการฝ่าฝืน และเป็นเหตุให้หมู่ชนของพวกเขาต้องพำนักในนรก (อิบรอฮีม : 28)

    ﴿يَعْرِفُونَ نِعْمَتَ اللهِ ثُمَّ يُنكِرُونَهَا وَأَكْثَرُهُمُ الْكَافِرُونَ﴾ (النحل : 83 )

    ความว่า พวกเขาทั้งหลายรู้จักนิอฺมัตของอัลลอฮฺ แล้วพวกเขาก็ปฏิเสธไม่ยอมรับมัน และส่วนมากของพวกเขาเป็นผู้ปฏิเสธฝ่าฝืน (อัน-นะห์ลฺ : 83)

    การรำลึกถึงนิอฺมัตของอัลลอฮฺ ควรต้องนำไปสู่การขอบคุณพระองค์ในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะด้วยการกล่าวเป็นวาจาหรือแสดงออกเป็นพฤติกรรม การขอบคุณเยี่ยงนี้เองที่เป็นสำนึกแห่งการศรัทธาอันเที่ยงแท้ต่ออัลลอฮฺผู้สูงยิ่งด้วยความเมตตาอันล้นพ้น ผู้ทรงประทานปัจจัยอันมากมายจนมิอาจนับได้แก่บ่าวทั้งหลาย ผู้ทรงให้ความสันติสุขและความมั่งมี ผู้ทรงยิ่งด้วยคุณลักษณะแห่งความปรานีและทรงอภัย ผู้สมควรที่สุดต่อการสดุดีสรรเสริญทุกเวลา พระองค์ตรัสว่า

    ﴿فَاذْكُرُونِي أَذْكُرْكُمْ وَاشْكُرُواْ لِي وَلاَ تَكْفُرُونِ﴾ (البقرة : 152 )

    ความว่า ดังนั้น สูเจ้าทั้งหลายจงระลึกถึงข้า แล้วข้าจะระลึกถึงพวกเจ้า และจงขอบคุณต่อข้า และอย่าได้ปฏิเสธฝ่าฝืนต่อข้า (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 152)

    ﴿يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ كُلُواْ مِن طَيِّبَاتِ مَا رَزَقْنَاكُمْ وَاشْكُرُواْ لِلهِ إِن كُنتُمْ إِيَّاهُ تَعْبُدُونَ﴾ (البقرة : 172 )

    ความว่า โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงกินสิ่งที่ดีจากริซกีที่เราได้ประทานแก่พวกเจ้า และจงขอบคุณต่ออัลลอฮฺ หากพวกเจ้าเคารพภักดีต่อพระองค์เท่านั้น (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 172)

    ﴿فَكُلُواْ مِمَّا رَزَقَكُمُ اللهُ حَلالاً طَيِّباً وَاشْكُرُواْ نِعْمَتَ اللهِ إِن كُنتُمْ إِيَّاهُ تَعْبُدُونَ﴾ (النحل : 114 )

    ความว่า ดังนั้น จงกินจากสิ่งที่อัลลอฮฺประทานริซกีให้เป็นที่สิ่งหะลาลและสิ่งที่ดีแก่พวกเจ้า และจงขอบคุณต่อนิอฺมัตของอัลลอฮฺ หากพวกเจ้าเคารพภักดีต่อพระองค์เท่านั้น (อัน-นะห์ลฺ : 114)

    ﴿إِنَّ الَّذِينَ تَعْبُدُونَ مِن دُونِ اللهِ لَا يَمْلِكُونَ لَكُمْ رِزْقاً فَابْتَغُوا عِندَ اللهِ الرِّزْقَ وَاعْبُدُوهُ وَاشْكُرُوا لَهُ إِلَيْهِ تُرْجَعُونَ﴾ (العنكبوت : 17 )

    ความว่า แท้จริง สิ่งที่พวกเจ้า(พวกปฏิเสธศรัทธา)ได้เคารพสักการะอื่นไปจากอัลลอฮฺนั้น ไม่ได้ครอบครองริซกีแก่พวกเจ้าเลย ทว่าพวกเจ้าจงขวนขวายริซกีจากอัลลอฮฺ จงเคารพภักดีและขอบคุณต่อพระองค์ แด่พระองค์ที่พวกเจ้าจะกลับคืนสู่ (อัล-อันกะบูต : 17)

    ﴿لَقَدْ كَانَ لِسَبَإٍ فِي مَسْكَنِهِمْ آيَةٌ جَنَّتَانِ عَن يَمِينٍ وَشِمَالٍ كُلُوا مِن رِّزْقِ رَبِّكُمْ وَاشْكُرُوا لَهُ بَلْدَةٌ طَيِّبَةٌ وَرَبٌّ غَفُورٌ﴾ (سبأ : 15 )

    ความว่า แท้จริงแล้ว ในดินแดนที่พำนักอาศัยแห่งชาวสะบะอ์นั้นมีเครื่องหมายหนึ่งอยู่ คือ เรือกสวนสองแห่งทางด้านขวาและด้านซ้าย จงกินจากริซกีแห่งพระผู้อภิบาลของพวกเจ้า และจงขอบคุณต่อพระองค์ (นั่นแหล่ะคือ)ดินแดนที่ดี และพระผู้อภิบาลผู้ทรงอภัยยิ่ง (สะบะอ์ : 15)

    สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ อัลกุรอานได้บอกให้เรารู้ว่าการขอบคุณนั้น แท้จริงแล้วกลับเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ขอบคุณเอง การขอบคุณอัลลอฮฺเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้พระองค์เพิ่มพูนปัจจัยต่างๆ และความโปรดปรานของพระองค์ให้แก่ผู้ขอบคุณมากขึ้นไปอีก

    ﴿وَإِذْ تَأَذَّنَ رَبُّكُمْ لَئِن شَكَرْتُمْ لأَزِيدَنَّكُمْ وَلَئِن كَفَرْتُمْ إِنَّ عَذَابِي لَشَدِيدٌ﴾ (إبراهيم : 7 )

    ความว่า และเมื่อพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าประกาศว่า หากแม้นพวกเจ้าขอบคุณแล้วไซร้ แน่นอนข้าก็ย่อมจะเพิ่มพูนให้แก่เขา และหากพวกเจ้าปฏิเสธฝ่าฝืน แท้จริงการลงโทษของข้านั้นหนักหน่วงยิ่ง (อิบรอฮีม : 7)

    ทั้งนี้ การขอบคุณของเราต่อพระองค์มิได้เป็นความจำเป็นที่จะทำให้ฐานะของพระองค์สูงขึ้นไปอีกแต่อย่างใด เพราะอัลลอฮฺนั้นทรงสมบูรณ์ยิ่งแล้วด้วยฐานะและคุณลักษณะอันงดงามทั้งหลาย ในทางกลับกัน การปฏิเสธและฝ่าฝืนของเราก็มิได้ทำให้ฐานะของพระองค์ลดค่าแต่อย่างใดไม่ การขอบคุณหรือไม่ขอบคุณจึงเกี่ยวพันกับตัวมนุษย์เอง และมีผลกระทบต่อตัวเขาเองเสียมากกว่าด้วยซ้ำ(ดูเพิ่มเติมใน ตัฟซีร อัต-เฏาะบะรีย์ 19:468-469, ตัฟซีร อิบนุ กะษีร 6:193)

    นี่คือข้อเท็จจริงที่ท่านนบีสุลัยมาน อะลัยฮิสลาม และ ผู้เปี่ยมปัญญาเช่นลุกมาน อัล-หะกีม ได้เคยสั่งสอนมาก่อนในอดีตกาล

    ﴿قَالَ الَّذِي عِندَهُ عِلْمٌ مِّنَ الْكِتَابِ أَنَا آتِيكَ بِهِ قَبْلَ أَن يَرْتَدَّ إِلَيْكَ طَرْفُكَ فَلَمَّا رَآهُ مُسْتَقِرّاً عِندَهُ قَالَ هَذَا مِن فَضْلِ رَبِّي لِيَبْلُوَنِي أَأَشْكُرُ أَمْ أَكْفُرُ وَمَن شَكَرَ فَإِنَّمَا يَشْكُرُ لِنَفْسِهِ وَمَن كَفَرَ فَإِنَّ رَبِّي غَنِيٌّ كَرِيمٌ﴾ (النمل : 40 )

    ความว่า ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์(หนึ่งในบริวารของนบีสุลัยมาน)ได้กล่าวว่า ฉันนี่แหล่ะจะนำมัน(บัลลังก์ของราชินีบัลกีสแห่งเมืองสะบะอ์)มาให้ท่านก่อนที่ตาของท่านจะกระพริบ และเมื่อเขา(นบีสุลัยมาน)ได้เห็นมันประจักษ์อยู่ต่อหน้าแล้ว ก็ได้กล่าวว่า นี่ย่อมเป็นความประเสริฐแห่งพระผู้อภิบาลของฉัน ที่พระองค์จะใช้ทดสอบฉันว่า ฉันจะขอบคุณหรือจะปฏิเสธฝ่าฝืน ผู้ใดที่ขอบคุณนั่นย่อมแสดงว่าเขาได้ขอบคุณเพื่อตัวเขาเอง และผู้ใดที่ปฏิเสธฝ่าฝืน แท้จริงพระผู้อภิบาลของฉันทรงเป็นผู้ที่ร่ำรวยและพระทัยดียิ่ง (การปฏิเสธนั้นมิได้ส่งผลอะไรต่อพระองค์เลยแม้แต่น้อย) (อัน-นัมล์ : 40)

    ﴿وَلَقَدْ آتَيْنَا لُقْمَانَ الْحِكْمَةَ أَنِ اشْكُرْ لِلهِ وَمَن يَشْكُرْ فَإِنَّمَا يَشْكُرُ لِنَفْسِهِ وَمَن كَفَرَ فَإِنَّ اللهَ غَنِيٌّ حَمِيدٌ﴾ (لقمان : 12 )

    ความว่า และแท้จริง เราได้ประทานวิทยปัญญาแก่ลุกมานว่า จงขอบคุณต่ออัลลอฮฺ และผู้ใดที่ขอบคุณนั่นแสดงว่าเขาได้ขอบคุณเพื่อประโยชน์แห่งตัวเขาเอง และผู้ใดที่ปฏิเสธฝ่าฝืนแล้วไซร้แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงร่ำรวยและทรงยิ่งด้วยการสรรเสริญสดุดี(จากปวงบ่าว) (ลุกมาน : 12)

    ในหะดีษบทหนึ่งที่รายงานโดยมุสลิม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้

    « ... يَا عِبَادِي لَوْ أَنَّ أَوَّلَكُمْ وَآخِرَكُمْ وَإِنْسَكُمْ وَجِنَّكُمْ كَانُوا عَلَى أَتْقَى قَلْبِ رَجُلٍ وَاحِدٍ مِنْكُمْ؛ مَا زَادَ ذَلِكَ فِى مُلْكِى شَيْئًا، يَا عِبَادِي لَوْ أَنَّ أَوَّلَكُمْ وَآخِرَكُمْ وَإِنْسَكُمْ وَجِنَّكُمْ كَانُوا عَلَى أَفْجَرِ قَلْبِ رَجُلٍ وَاحِدٍ؛ مَا نَقَصَ ذَلِكَ مِنْ مُلْكِى شَيْئًا، ...، يَا عِبَادِي إِنَّمَا هِىَ أَعْمَالُكُمْ أُحْصِيهَا لَكُمْ ثُمَّ أُوَفِّيكُمْ إِيَّاهَا، فَمَنْ وَجَدَ خَيْرًا فَلْيَحْمَدِ اللهَ وَمَنْ وَجَدَ غَيْرَ ذَلِكَ فَلاَ يَلُومَنَّ إِلاَّ نَفْسَهُ »

    ความว่า "อัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสว่า : โอ้ บ่าวทั้งหลายของข้า หากแม้นว่าตั้งแต่คนแรกจนคนสุดท้ายของพวกเจ้า และหมู่มนุษย์ และหมู่ญิน ของพวกเจ้า ทั้งหมดเป็นผู้ที่มีคุณธรรมเยี่ยงคนที่มีหัวใจยำเกรงที่สุดในหมู่พวกเจ้า นั่นไม่ได้เพิ่มอะไรแก่อำนาจแห่งข้าแต่อย่างใดเลย โอ้ บ่าวทั้งหลายของข้า หากแม้นว่าตั้งแต่คนแรกจนคนสุดท้ายของพวกเจ้า และหมู่มนุษย์และหมู่ญินของพวกเจ้า ทั้งหมดเป็นผู้ที่เลวทรามเยี่ยงคนที่มีหัวใจเลวที่สุดในหมู่พวกเจ้า นั่นไม่ได้ทำให้อำนาจของข้าลดลงแม้แต่น้อย ... โอ้ ปวงบ่าวแห่งข้า แท้จริงมันเป็นการงานของพวกเจ้า ข้าเป็นผู้นับคำนวณให้แก่พวกเจ้า แล้วข้าก็ตอบแทนผลบุญแก่พวกเจ้า หากผู้ใดที่พบว่าดีเขาก็จงสรรเสริญสดุดีอัลลอฮฺ และหากผู้ใดพบว่าเป็นอย่างอื่นก็จงอย่าได้ว่ากล่าวตำหนิแก่ใครอื่นนอกจากตัวเขาเอง" (บันทึกโดยมุสลิม 4674)

    เพราะฉะนั้น การรำลึกและการขอบคุณของเรา แท้ที่จริงแล้วมิได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ใดมากไปกว่าตัวของเราเอง มันมิได้ส่งผลใดๆ ต่ออำนาจของอัลลอฮฺ ทว่าตัวของการขอบคุณเองก็ถือว่าเป็นนิอฺมัตประการหนึ่งที่อัลลอฮฺประทานให้เรา เพราะด้วยการรำลึกและการขอบคุณดังกล่าวนี้ บ่าวผู้ด้อยค่ากลับได้มีมูลเหตุที่จะได้รับความโปรดปรานจากพระผู้อภิบาลผู้ทรงเกียรติยิ่งแล้ว ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวไว้

    «إِنَّ اللهَ لَيَرْضَى عَنِ الْعَبْدِ أَنْ يَأْكُلَ الأَكْلَةَ فَيَحْمَدَهُ عَلَيْهَا، أَوْ يَشْرَبَ الشَّرْبَةَ فَيَحْمَدَهُ عَلَيْهَا »

    ความว่า "แท้จริง อัลลอฮฺนั้นทรงพอพระทัยยิ่ง ที่จะเห็นบ่าวของพระองค์กินอาหารหยิบมือหนึ่งแล้วเขาก็สดุดีพระองค์ต่ออาหารที่เขาได้กินนั้น และดื่มน้ำเพียงอึกหนึ่งแล้วเขาก็สดุดีพระองค์ต่อน้ำที่เขาได้ดื่มนั้น" (บันทึกโดยมุสลิม 4915)

    การกล่าวสดุดีอัลลอฮฺง่ายๆ เช่นนี้มีผลบุญที่ยิ่งใหญ่มาก แค่คำว่า "อัลหัมดุลิลลาฮฺ" ที่ถูกกล่าวออกมาด้วยความบริสุทธิ์ใจนั้นมีน้ำหนัก ณ อัลลอฮฺผู้สูงส่ง จนเต็มตาชั่งของพระองค์ในวันกิยามะฮฺ (ดูหะดีษที่บันทึกโดยมุสลิม 328)

    แม้ว่าการขอบคุณต่ออัลลอฮฺดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่กระทำได้ไม่ยาก แต่สิ่งง่ายๆ เช่นนี้แหละที่เรามักเผลอเรอและหลงลืมซะส่วนใหญ่ สำหรับคนที่ไม่ได้รับเตาฟิก แค่การกล่าวขอบคุณอัลลอฮฺด้วยประโยคง่ายๆ เช่น "อัลหัมดุลิลลาฮฺ" ก็หนักหนาเหลือเกินแล้ว ด้วยเหตุนี้ เราทุกทคนจึงควรต้องมีอุตสาหะและความพยายามด้วยวิถีทางต่างๆ นานา เพื่อยกระดับให้เราเป็นบ่าวผู้ที่ขอบคุณอัลลอฮฺอยู่สม่ำเสมอ หนึ่งในวิธีการเหล่านั้นคือการขอดุอาอ์ เช่นที่นบีสุลัยมาน อะลัยฮิสลาม นบีผู้ได้รับความโปรดปรานอันอัศจรรย์มากมายอย่างที่ท่านอื่นๆ ไม่ได้รับ(ดูอัลกุรอาน สูเราะฮฺ ศอด : 35) ได้ขอต่ออัลลอฮฺว่า

    ﴿رَبِّ أَوْزِعْنِي أَنْ أَشْكُرَ نِعْمَتَكَ الَّتِي أَنْعَمْتَ عَلَيَّ وَعَلَى وَالِدَيَّ وَأَنْ أَعْمَلَ صَالِحاً تَرْضَاهُ وَأَدْخِلْنِي بِرَحْمَتِكَ فِي عِبَادِكَ الصَّالِحِينَ﴾ (النمل : 19 )

    ความว่า โอ้ พระผู้อภิบาลแห่งข้า ขอทรงดลใจให้ข้าพระองค์ขอบคุณต่อนิอฺมัตของพระองค์ที่ทรงประทานให้แก่ข้าและแก่บิดามารดาของข้า และให้ข้าพระองค์ได้ปฏิบัติอะมัลศอลิห์ที่พระองค์โปรดปราน และขอทรงนำข้าพระองค์ให้รวมอยู่ในหมู่บ่าวผู้ทรงคุณธรรมของพระองค์ ด้วยพระเมตตาของพระองค์ด้วยเทอญ (อัน-นัมล์ : 19)

    ดุอาอ์เยี่ยงเดียวกันนี้มีปรากฏในสูเราะฮฺ อัล-อะห์กอฟ อายะฮฺที่ 15 ว่า

    ﴿رَبِّ أَوْزِعْنِي أَنْ أَشْكُرَ نِعْمَتَكَ الَّتِي أَنْعَمْتَ عَلَيَّ وَعَلَى وَالِدَيَّ وَأَنْ أَعْمَلَ صَالِحاً تَرْضَاهُ وَأَصْلِحْ لِي فِي ذُرِّيَّتِي إِنِّي تُبْتُ إِلَيْكَ وَإِنِّي مِنَ الْمُسْلِمِينَ﴾ (الأحقاف : 15 )

    ความว่า โอ้ พระผู้อภิบาลแห่งข้า ขอทรงดลใจให้ข้าพระองค์ขอบคุณต่อนิอฺมัตของพระองค์ที่ทรงประทานให้แก่ข้าและแก่บิดามารดาของข้า และให้ข้าพระองค์ได้ปฏิบัติอะมัลศอลิห์ที่พระองค์โปรดปราน และขอทรงแก้ไขปรับปรุงลูกหลานที่เป็นเชื้อสายของข้าพระองค์ แท้จริงข้าพระองค์ขอกลับตัวแด่พระองค์และเป็นหนึ่งในหมู่มุสลิมผู้มอบตน

    นี่คือข้อเท็จจริงของการขอบคุณที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึง เป็นสำนึกแห่งศรัทธาที่มนุษย์จำนวนไม่น้อยหลงลืม ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตอย่างสุขสบายโดยแทบจะไม่ได้คิดถึงผู้ให้และผู้อภิบาลเราเลย หากจะนึกได้บ้างก็ยามที่ต้องเจอกับอุปสรรคและความทุกข์เป็นบางครั้งบางเวลาเท่านั้น สุบหานัลลอฮฺ !

    ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่มนุษย์ผู้อ่อนแอจะสำนึกและหันกลับไปยังพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา ก่อนที่จะหมดเวลาได้ขอบคุณพระองค์ เมื่อถึงวันที่ทุกอย่างสายเกินแก้ และไม่มีอะไรเหลือให้มนุษย์นอกจากความเสียดายและความเสียใจอย่างหาที่สุดมิได้อีกต่อไป

    ขออัลลอฮฺทรงชี้ทางและประทานเตาฟีก อามีน