×
จากหนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์ ประกอบด้วยเนื้อหาต่างๆ อาทิ หุก่มต่างๆ ในการละหมาด หุก่มการอ่านสูเราะฮฺฟาติหะฮฺในละหมาด วิธีการเลิกละหมาดสำหรับผู้ที่มีหะดัษในระหว่างที่กำลังละหมาดอยู่ สิ่งที่มุสลิมต้องอ่านในละหมาด ช่วงเวลาที่ต้องหยุดนิ่งในละหมาด ดุอาอ์ต่างๆ ที่ใช้อิสติฟตาหฺนั้นแบ่งออกเป็นสามระดับ หุก่มการจงใจล่าช้าในการละหมาด การกระทำที่ควรหลีกเลี่ยง(มักรูฮฺ)ในระหว่างละหมาด หุก่มการมองซ้ายมองขวาในละหมาด หุก่มการทำสุตเราะฮฺ(ที่กั้น)ในระหว่างละหมาด หุก่มการเดินตัดหน้าผู้ละหมาด ช่วงเวลาการยกมือทั้งสองข้างขึ้นในละหมาด การกระทำที่อนุญาตให้ปฏิบัติได้ในระหว่างละหมาด หุก่มการอ่านเสียงดังสำหรับผู้ที่ละหมาดคนเดียว

    หุก่มต่างๆ ในการละหมาด

    ﴿أحكام الصلاة﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

    แปลโดย : ดานียา เจะสนิ

    ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    2010 - 1431

    ﴿أحكام الصلاة﴾

    « باللغة التايلاندية »

    الشيخ محمد بن إبراهيم التويجري

    ترجمة: دانيال جيء سنيك

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي

    2010 - 1431

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    7. หุก่มต่างๆ ในการละหมาด

    หุก่มการอ่านสูเราะฮฺฟาติหะฮฺในละหมาด

    วาญิบสำหรับผู้ละหมาดให้อ่านสูเราะฮฺฟาติหะฮฺ ไม่ว่าจะเป็นอิมาม มะอ์มูมหรือละหมาดคนเดียว ไม่ว่าการละหมาดที่อ่านเสียงค่อยหรือเสียงดัง ไม่ว่าจะเป็นการละหมาดฟัรฎูหรือละหมาดสุนัต และวาญิบต้องอ่านในทุกๆ ร็อกอะฮฺโดยไม่มีการยกเว้น นอกจากผู้ที่มาละหมาดช้าและทันอิมามตอนที่อิมามรุกูอฺแล้วโดยไม่ทันอ่านฟาติหะฮฺ และผู้ละหมาดที่เป็นมะอ์มูมในละหมาดหรือร็อกอะฮฺที่อิมามอ่านเสียงดัง

    สำหรับผู้ที่อ่านฟาติหะฮฺในละหมาดไม่ได้ ให้อ่านส่วนอื่นจากอัลกุรอานที่ง่ายสำหรับเขาแทน แต่ถ้าอ่านอัลกุรอานไม่ได้เลยให้เขาอ่าน

    «سُبْـحَانَ الله، وَالحَـمْدُ لله، وَلا إلَـهَ إلَّا الله، وَالله أَكْبَرُ، وَلَا حَوْلَ وَلَا قُوَّةَ إلَّا بِالله»

    คำอ่าน สุบหานัลลอฮฺ, วัลหัมดุลิลลาฮฺ, วะ ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ, วัลลอฮุ อักบัรฺ, วะ ลาเหาละ วะลา กุววะตะ อิลลา บิลลาฮฺ

    ความหมาย “มหาบริสุทธิ์ยิ่งพระองค์อัลลอฮฺ, มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ, ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ, อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่, และไม่มีความสามารถและอำนาจใดๆ เว้นแต่ด้วยอัลลอฮฺ” (เป็นหะดีษหะสัน บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข 832 และอัน-นะสาอีย์ 924)

    ถ้าหากผู้ละหมาดไม่ทันร็อกอะฮฺแรกของการละหมาด ถือว่าร็อกอะฮฺต่อมาที่เขาละหมาดทันพร้อมอิมามเป็นร็อกอะฮฺแรกสำหรับเขา หลังจากอิมามให้สลามแล้วเขาต้องลุกขึ้นทำต่อในร็อกอะฮฺที่ขาดไปให้ครบสมบูรณ์

    วิธีการเลิกละหมาดสำหรับผู้ที่มีหะดัษในระหว่างที่กำลังละหมาดอยู่

    หากผู้ละหมาดมีหะดัษในระหว่างที่กำลังละหมาดอยู่หรือนึกขึ้นได้ว่าตัวเองมีหะดัษ ให้เขาเลิกละหมาดทั้งทางใจและกาย โดยไม่จำเป็นต้องคอยให้สลามทางขวาและทางซ้ายก่อน

    มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «إذَا صَلَّى أَحَدُكُمْ فَأَحْدَثَ، فَلْيُـمْسِك عَلَى أَنْفِهِ، ثُمَّ لْيَنْصَرِفَ»

    ความว่า “ เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านกำลังละหมาดอยู่แล้วเกิดมีหะดัษขึ้นมา ให้เขาเอามือจับจมูกแล้วเลิกละหมาด” (เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข 1114 และอิบนุ มาญะฮฺ 1222)

    สิ่งที่มุสลิมต้องอ่านในละหมาด

    1. มีสุนนะฮฺให้ผู้ละหมาดอ่านหนึ่งสูเราะฮฺจบสมบูรณ์ในทุกร็อกอะฮฺที่ต้องอ่าน และให้อ่านตามลำดับในมุศหัฟ(คัมภีร์อัลกุรอาน) และอนุญาตให้แบ่งหนึ่งสูเราะฮฺใช้อ่านในสองร็อกอะฮฺหรืออ่านหลายสูเราะฮฺในร็อกอะฮฺเดียว และอนุญาตให้อ่านสูเราะฮฺเดียวกันในทั้งสองร็อกอะฮฺ และอนุญาตให้อ่านสูเราะฮฺหนึ่งก่อนอีกสูเราะฮฺได้(โดยไม่ตามลำดับ)แต่อย่ากระทำให้บ่อย ทั้งนี้อนุญาตให้กระทำเช่นนั้นเป็นบางครั้ง

    2. อนุญาตให้ผู้ละหมาดอ่านทั้งส่วนแรก ส่วนท้ายและส่วนกลางของสูเราะฮฺไม่ว่าจะเป็นในละหมาดฟัรฎูหรือละหมาดสุนัต

    ช่วงเวลาที่ต้องหยุดนิ่งในละหมาด

    ผู้ละหมาดไม่ว่าจะเป็นอิมาม มะอ์มูม หรือละหมาดคนเดียว มีช่วงที่ต้องหยุดนิ่งสองเวลาช่วง

    ช่วงแรกคือ หลังจากตักบีเราะตุลอิหฺรอม ทั้งนี้เพื่ออ่านดุอาอ์อิสติฟตาหฺ

    ช่วงที่สองคือ หลังจากเสร็จสิ้นการอ่านสูเราะฮฺ ก่อนรุกูอฺให้หยุดนิ่งชั่วครู่เป็นระยะเวลาพอสบายตัว

    ซึ่งนอกจากสองช่วงนี้แล้ว ไม่มีหลักฐานว่าจะต้องหยุดนิ่ง เช่น การหยุดของอิมามหลังจากอ่านฟาติหะฮฺเพื่อเปิดโอกาสให้มะอ์มูมอ่านฟาติหะฮฺ เป็นต้น

    ดุอาอ์ต่างๆ ที่ใช้อิสติฟตาหฺนั้นแบ่งออกเป็นสามระดับ

    ระดับดีที่สุดคือ ดุอาอ์ที่มีการสรรเสริญอัลลอฮฺ เช่น “สุบหานะกัลลอฮุมมะ ... จนจบ”

    «سبحانك اللهم...»

    ระดับรองลงมา คือ ดุอาอ์ที่กล่าวถึงการทำอิบาดะฮฺของบ่าวต่ออัลลอฮฺ เช่น “วัจญ์ญะฮฺตุ วัจญ์ฮิยะ ... จนจบ”

    «وَجَّهْتُ وَجْهِيْ...»

    ระดับรองลงมาอีก คือ ดุอาอ์ที่เป็นการขอของบ่าวต่ออัลลอฮฺ เช่น “อัลลอฮุมมะ บาอิดฺ ... จนจบ”

    «اللهم باعِد...»

    (ดูดุอาอ์ดังกล่าวทั้งหมดในบทว่าด้วยวิธีการละหมาด)

    หุก่มการจงใจล่าช้าในการละหมาด

    เป็นสิ่งที่ต้องห้าม(หะรอม)หากจงใจล่าช้าในการทำละหมาดห้าเวลาจนทำให้หมดเวลาของมัน นอกจากผู้ตั้งใจจะละหมาดรวม ผู้ที่มีความหวาดกลัว หรือผู้ป่วย เป็นต้น

    และในระหว่างละหมาดนั้นห้ามมิให้ผู้ละหมาดทอดสายตาขึ้นสู่ฟ้า

    การกระทำที่ควรหลีกเลี่ยง(มักรูฮฺ)ในระหว่างละหมาด

    ผู้ละหมาดไม่ควรที่จะมองซ้ายมองขวาในระหว่างละหมาด นอกจากว่าจะมีความจำเป็น เช่น กลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นต้น และไม่ควรหลับตาและปิดหน้า ไม่ควรนั่งยองเหมือนการนั่งของสุนัข ไม่ควรแสดงอาการทีเล่นทีจริง ไม่ควรเอามือเท้าสะเอว ซึ่งหมายถึง การวางมือทั้งสองข้างไว้ที่เอว ไม่ควรมองไปยังสิ่งที่ทำให้เคลิ้ม ไม่ควรเอาแขนตั้งราบกับพื้นตอนที่สุญูด ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ อุจจาระหรือผายลม หรือไม่ควรละหมาดเวลาอาหารที่ตัวเองหิวอยากทานและชอบทั้งๆ ที่สามารถที่จะกินก่อน ไม่ควรใส่เสื้อผ้ายาวลากพื้น ไม่ควรใส่หน้ากากปิดปาก ปิดจมูก ไม่ควรเสยผม หรือผ้า ไม่ควรอ้าปากหาวในเวลาละหมาด การถ่มน้ำลายในมัสญิดเป็นสิ่งที่ผิด หากพลั้งทำไปแล้วต้องกลบด้วยดิน(หากพื้นเป็นดิน) ไม่ควรถุยน้ำลายไปทางกิบละฮฺไม่ว่าจะเป็นในละหมาดหรือนอกละหมาด

    สำหรับผู้ที่กลั้นปัสสาวะ อุจจาระหรือผายลมนั้น ทางที่ดีควรปล่อยให้มีหะดัษ แล้วอาบน้ำละหมาดและละหมาดใหม่ หากไม่มีน้ำสำหรับอาบน้ำละหมาดให้ตะยัมมุมแล้วละหมาดใหม่ ซึ่งทำเช่นนี้จะละหมาดได้สงบ(คุชูอฺ)กว่าสำหรับเขา

    หุก่มการมองซ้ายมองขวาในละหมาด

    การมองซ้ายมองขวาในละหมาดเป็นกลอุบายของชัยฏอนที่ทำอุบายเพื่อทำลายละหมาดของบ่าวคนหนึ่ง ซึ่งการมองซ้ายมองขวานั้นมีสองชนิด คือที่เป็นรูปธรรมคือการมองซ้ายมองขวาด้วยตา และที่เป็นนามธรรมคือความรู้สึกลังเลหรือไม่นิ่งที่เกิดขึ้นในใจ วิธีแก้ส่วนที่เป็นนามธรรมคือการพ่นน้ำลายไปทางซ้ายสามครั้งแล้วกล่าวคำขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺว่า

    أعوذ بالله من الشيطان الرجيم

    คำอ่าน อะอูซุบิลลาฮิ มินัช ชัยฏอนิร เราะญีม

    ความหมาย ฉันขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ จากชัยฏอนผู้ถูกสาปแช่ง

    และวิธีแก้สำหรับการมองซ้ายมองขวาที่เป็นรูปธรรม คือการหันหน้าและกายตรงไปยังกิบละฮฺทันที

    หุก่มการทำสุตเราะฮฺ(ที่กั้น)ในระหว่างละหมาด

    สุนัตสำหรับอิมามหรือผู้ละหมาดคนเดียวให้ทำสุตเราะฮฺที่ชัดเจนในระหว่างละหมาด เช่น ผนัง เสา ก้อนหิน ไม้เท้า หอก เป็นต้น ไม่ว่าผู้ละหมาดจะเป็นชายหรือหญิง ไม่ว่าในเวลาปกติหรือเวลาเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการละหมาดฟัรฎูหรือสุนัต ส่วนผู้ที่เป็นมะอ์มูมนั้น สุตเราะของอิมามถือว่าเป็นสุตเราะฮฺของผู้ที่อยู่ด้านหลังเขาด้วย หรือตัวอิมามเองก็เป็นสุตเราะฮฺของมะอ์มูม

    หุก่มการเดินตัดหน้าผู้ละหมาด

    1. การเดินตัดหน้าในเขตระหว่างผู้ละหมาดกับสุตเราะฮฺของเขานั้นถือว่าเป็นที่ต้องห้าม ซึ่งผู้ละหมาดต้องพยายามยับยั้งไว้ทั้งในเขตมักกะฮฺและที่อื่น หากไม่สามารถที่จะยับยั้งได้ ความผิดจะเป็นของผู้ที่เดินตัดหน้า ส่วนการละหมาดถือว่าใช้ได้ไม่บกพร่องแต่อย่างใด อินชาอัลลอฮฺ

    2. การละหมาดของอิมามหรือผู้ละหมาดคนเดียวถือว่าใช้ไม่ได้หากผู้เดินตัดหน้าเป็นผู้หญิง ลา หรือหมาดำในกรณีที่ไม่มีสุตเราะฮฺ แต่หากสิ่งต่างๆ เหล่านี้เดินตัดหน้ามะอ์มูมถือว่าการละหมาดของมะอ์มูมนั้นยังใช้ได้อยู่ ต่างจากละหมาดของอิมาม ดังนั้นผู้ใดที่ละหมาดโดยทำสุตเราะฮฺแล้วให้เขาอยู่ใกล้ๆ กับสุตเราะฮฺ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใดจากชัยฏอนหรือสิ่งอื่นๆ เดินตัดหน้าในเขตระหว่างผู้ละหมาดกับสุตเราะฮฺของเขา

    ช่วงเวลาการยกมือทั้งสองข้างขึ้นในละหมาด

    1. มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า

    رَأَيْتُ النَّبِيَّ صلى الله عليه وسلم افْتَتَـحَ التَّكْبِيرَ فِي الصَّلاةِ فَرَفَعَ يَدَيْـهِ حِينَ يُكَبِّرُ حَتَّى يَـجْعَلَـهُـمَا حَذْوَ مَنْكِبَيْـهِ، وَإذَا كَبَّرَ لِلرُّكُوعِ فَعَلَ مِثْلَـهُ، وإذا قال: «سَمِعَ الله لِـمَنْ حَـمِدَهُ» فَعَلَ مِثْلَـهُ، وَقَالَ: «رَبَّنَا وَلَكَ الحَـمْدُ»

    ความว่า ฉันเห็นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เริ่มการละหมาดด้วยการกล่าวตักบีรฺแล้วยกมือขึ้นขณะตักบีรฺจนถึงระดับบ่าทั้งสอง และกล่าวตักบีรฺเพื่อรุกูอฺก็ยกมือเช่นเดียวกัน และเมื่อกล่าว สะมิอัลลอฮุลิมันหะมิดะฮฺ ก็ยกมือเช่นเดียวกัน แล้วกล่าวว่า ร็อบบะนาวะละกัลหัมดฺ (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ 738 สำนวนนี้เป็นของท่าน และมุสลิม เลขที่ 390)

    2. มีรายงานจากท่านนาฟิอฺ ว่าท่านอิบนุ อุมัรฺ นั้นเมื่อท่านละหมาดท่านจะกล่าวตักบีรฺและยกมือทั้งสองขึ้น เมื่อท่านจะรุกูอฺท่านจะยกมือทั้งสองขึ้นเช่นกัน เมื่อท่านกล่าว สะมิอัลลอฮุลิมันหะมิดะฮฺ ท่านจะยกมือทั้งสองขึ้นอีก และเมื่อท่านลุกขึ้นจากสองร็อกอะฮฺแรกท่านจะยกมือทั้งสองขึ้นอีก และอิบนุ อุมัรฺ อ้างอิงการกระทำเช่นนั้นว่าเป็นการกระทำของท่านนบี” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 739)

    การกระทำที่อนุญาตให้ปฏิบัติได้ในระหว่างละหมาด

    1. อนุญาตให้ผู้ละหมาดปฏิบัติได้หากอยากจะปฏิบัติในระหว่างละหมาด เช่น การพันผ้าโพกหัวหรือฆุตเราะฮฺ ห่มผ้า เสยผ้าคลุมหรือฆุตเราะฮฺ เดินหน้า ถอยหลัง เดินขึ้นหรือลงจากมินบัรฺ ถ่มน้ำลายด้านซ้ายแต่ห้ามกระทำด้านขวาหรือด้านหน้าในสถานที่นอกเหนือจากมัสญิด หากในมัสญิดให้ถ่มน้ำลายในผ้า และอนุญาตให้ฆ่างู แมงป่องหรือสัตว์ร้ายอื่นๆ รวมทั้งอนุญาตให้อุ้มเด็กเล็ก เป็นต้น

    2. ในระหว่างละหมาดอนุญาตให้สุญูดบนเสื้อผ้าของผู้ละหมาดเอง บนผ้าโพก บนผ้าคลุม ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น เช่นที่สุญูดร้อนเกินไป เป็นต้น

    หากมีการขออนุญาตต่อชายคนหนึ่งที่กำลังละหมาดอยู่ เขาจะให้การอนุญาตได้ด้วยการกล่าวตัสบีหฺ(กล่าว สุบหานัลลอฮฺ)ให้ได้ยิน หากมีการขออนุญาตต่อหญิงคนหนึ่งที่กำลังละหมาดอยู่ เธอจะให้การอนุญาตได้ด้วยการตบหลังมือ

    ในระหว่างละหมาดสุนัตให้ตะห์มีด(กล่าวอัลหัมดุลิลลาฮฺ)เมื่อจาม และเมื่อผู้ละหมาดรู้ตัวว่ามีความโปรดรานจากอัลลอฮฺ(นิอฺมัต)ใหม่เกิดขึ้นกับตัวเขา(ด้วยการที่เขาจามอีกครั้ง)ให้เขายกมือแล้วกล่าวตะหฺมีด

    ผู้ที่ละหมาดคนเดียวหากอ่านสูเราะฮฺเสียงดัง ก็ให้กล่าว อามีน เสียงดังด้วย และหากอ่านเสียงค่อย ก็ให้กล่าว อามีน เสียงค่อยด้วย

    หุก่มการอ่านเสียงดังสำหรับผู้ที่ละหมาดคนเดียว

    สำหรับผู้ที่ละหมาดคนเดียวไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงนั้นมีสิทธิเลือกที่จะไม่อ่านเสียงดังในละหมาดที่ต้องอ่านเสียงดัง หรือจะอ่านเสียงดังก็ได้หากไม่มีการสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนอื่น เช่น คนนอน คนป่วย เป็นต้น

    หรือถ้าเป็นผู้หญิงก็สามารถอ่านเสียงดังได้หากไม่มีคนนอกที่ไม่ใช่ญาติสนิทอยู่ด้วย