บุคลิกและคุณลักษณะของผู้นำที่ดี ศึกษาจากชีวประวัติอุมัร อิบนุ อัล-ค็อฏฏ็อบ
หมวดหมู่
แหล่งอ้างอิง
Full Description
บุคลิกและคุณลักษณะของผู้นำที่ดี
ศึกษาจากชีวประวัติอุมัร อิบนุ อัล-ค็อฏฏ็อบ
﴿صفات القيادة : دراسة في سيرة عمر بن الخطاب رضي الله عنه﴾
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ซุกรีย์นูร จงรักศักดิ์
ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน
2010 - 1431
﴿صفات القيادة : دراسة في سيرة عمر بن الخطاب رضي الله عنه﴾
« باللغة التايلاندية »
شكري نور
مراجعة: صافي عثمان
2010 - 1431
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
บุคลิกและคุณลักษณะของผู้นำที่ดี
ศึกษาจากชีวประวัติอุมัร อิบนุ อัล-ค็อฏฏ็อบ
นับวัน บทบาทและความสำคัญของผู้นำยิ่งเป็นที่จับตาของประชาชนมากขึ้น พวกเขาเริ่มสัมผัสความแตกต่างระหว่างชุมชนอันสืบเนื่องมาจากความแตกต่างของคุณสมบัติและบุคลิกของผู้นำ เริ่มมีการพูดถึงความเปลี่ยนแปลงและเปรียบเทียบความเด่นความด้อยระหว่างชุมชนหนึ่งกับชุมชนข้างเคียงที่ลงเอยด้วยการวิพากษ์ผู้นำที่พวกเขาเป็นคนเลือกมาด้วยมือของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นนายก อบต. นายก อบจ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ละเว้นแม้กระทั่งอิหม่ามมัสยิด ส่งผลให้คนเป็นผู้นำเริ่มหาทางฟิตตัวเองและคณะบริหารในรูปแบบต่างๆ เช่น การออกศึกษาดูงานนอกสถานที่หรือเชิญนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้ชุมชนของพวกเขามีมาตรฐานการพัฒนาในด้านต่างๆ นำหน้าหรือไม่ด้อยกว่าชุมชนอื่นๆ
เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในด้านการบริหารปกครองเป็นอย่างสูง ท่านได้ผันตัวเองจากลูกสามัญชนจนๆ แห่งเมืองมักกะฮฺมาเป็นผู้บริหารรัฐอิสลามอันกว้างใหญ่ที่ครอบคลุมดินแดนของสิบแปดประเทศในตะวันออกกลางปัจจุบัน คือ เยเมน ซาอุดีอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน โอมาน กาตาร์ จอร์แดน ซีเรีย เลบานอน ปาเลสไตน์ อิสราเอล อียิปต์ ลิเบีย อิรัก อิหร่าน และบางส่วนของเอเชียกลาง คือ อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจัน ในระหว่างปี ฮ.ศ. 13-23 หรือ ปี ค.ศ. 634 – 644 ซึ่งในช่วงเวลาสิบปีที่เป็นผู้นำ ท่านได้สถาปนาความเป็นธรรมในหมู่ประชากรที่หลากหลายเชื้อชาติ ภาษา เผ่าพันธุ์และศาสนา มีทั้งเชื้อสายอาหรับ เปอร์เซีย เบอร์เบอร์ อียิปต์ ซีเรีย ยิว อาร์เมเนีย เคิรด์ และเตอร์ก มีทั้งที่นับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนายูดาย และศาสนาโซโรแอสเตอร์ ประชาชนภายใต้การปกครองของท่านสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีสิทธิเสรีภาพทางศาสนาและวัฒนธรรม พวกเขาได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างทั่วถึง สภาพบ้านเมืองในด้านต่างๆ ได้รับการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ในเวลาอันรวดเร็ว จนทำให้ชาวโลกต่างสนใจค้นคว้าแนวทางรัฐศาสตร์ของท่านตลอดมา ท่านเป็นผู้นำที่ดีและสมบูรณ์ เป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบ มีความเมตตาปรานี เข้าถึงประชาชน มีความกล้าหาญ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล รับฟังเหตุผล มีความมั่นคงในความคิด เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง ตลอดจนมีความเป็นอยู่อย่างประหยัดและพอเพียง มีความเสียสละเพื่อส่วนรวม มีคณะผู้ร่วมบริหารและมีที่ปรึกษาที่ดี
ในฐานะที่ท่านคือผู้นำคนหนึ่งที่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม สั่งให้ติดตามและยึดเป็นแบบอย่าง จึงสมควรที่ผู้นำระดับต่างๆ จะต้องศึกษาคุณสมบัติและบุคลิกภาพของท่านอย่างลึกซึ้งเพื่อใช้เป็นแนวทางพัฒนาตัวเองก่อนที่จะพัฒนาผู้อื่น เพราะการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากผู้ที่คิดจะให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลง หากตัวผู้นำเองยังไม่คิดเปลี่ยนแปลงก็ยากที่จะให้ผู้อื่นเกิดการเปลี่ยนแปลง การพูดถึงการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงก็เป็นเพียงการขายฝันที่อาจทำให้ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนผู้สนับสนุนต้องเสื่อมคลอนและมลายหายไปในที่สุด
ต่อไปนี้ คือบางบุคลิกภาพและคุณสมบัติของเคาะลีฟะฮฺอุมัร อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ที่ผู้เป็นผู้นำสมควรใช้พิจารณาและทบทวนตัวเองเพื่อให้การบริหารงานของเขาบรรลุความสำเร็จมากที่สุด
1. มีความยุติธรรม
ความเป็นธรรมนับเป็นความคาดหวังต้นๆ ที่ประชาชนใต้การปกครองคาดหวังอยากได้รับจากตัวผู้นำ หากพวกเขาไม่ไว้ใจในสิ่งนี้จากตัวผู้นำ พวกเขาก็คงไม่คัดเลือกลงคะแนนเสียงให้กับเขา ความเป็นธรรมจึงจะต้องมาก่อนสิ่งพัฒนาใดๆ ไม่ต้องคอยเวลาหรือโอกาส มันเป็นสิ่งที่พูดง่าย แต่ทำยากหากขาดความจริงใจกับประชาชน
เคาะลีฟะฮฺ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่มีใจเป็นธรรมเป็นอย่างยิ่ง ท่านไม่เคยลำเอียงหรือมีอคติต่อผู้ใดในการปฏิบัติตามกฎหมาย แม้ว่าจะเป็นคนในครอบครัวของท่านก็ตาม ท่านกล่าวเสมอว่าท่านคือสามัญชนคนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป
อัล-เฏาะบารียฺ กล่าวว่า
ท่านอุมัรฺนั้น ทุกครั้งที่ท่านขึ้นปราศรัยบนมิมบัรกล่าวห้ามประชาชนในสิ่งใด ท่านจะประชุมคนในครอบครัวแล้วกล่าวว่า ฉันได้ห้ามประชาชนไม่ให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งพวกเขาต่างพากันจ้องมองสังเกตดูพวกเจ้าเหมือนกับการจ้องมองของนกต่อก้อนเนื้อ และฉันขอสาบานกับอัลลอฮฺว่าหากมีใครในหมู่พวกเจ้าไปกระทำในสิ่งต้องห้าม ฉันจะลงโทษเขาหนักถึงสองเท่าอย่างแน่นอน" (al-Tabariy, 1988: 2/568)
ทั้งนี้ การที่ท่านเคยเฆี่ยนบุตรของท่านเองอย่างหนัก เพราะมีความผิดฐานลักลอบดื่มสุราก็ดี การที่ท่านเคยเรียกอัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศ ข้าหลวงอียิปต์พร้อมกับบุตรชายให้เข้ามายังมะดีนะฮฺเป็นการด่วนเพื่อรับการลงโทษบุตรชายเพราะไปมีเรื่องกับประชาชนอียิปต์โดยมิชอบก็ดี การที่ท่านเคยจับสะอฺดฺ อิบนฺ อบีวักก็อศ ข้าหลวงประจำแคว้นกูฟะฮฺผู้เป็นบุรุษหมายเลขหนึ่งของแคว้นไปตระเวนตามมัสยิดต่างๆ ทั่วเมืองกูฟะฮฺเพื่อให้ประชาชนเป็นพยานยืนยันความบริสุทธิ์ตอนที่ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นบ้านเพื่อหาหลักฐานทุจริตตามข้อกล่าวหาบางอย่างก็ดี (Ibn Sa'ad, 1968: 5/62) การที่ท่านเคยใช้ไม้เรียวตีอบู สุฟยาน เพื่อนสนิทและคนกว้างขว้างแห่งนครมักกะฮฺเพราะมีความผิดฐานสับเปลี่ยนหลักเขตที่ดินที่นครมักกะฮฺก็ดี (al-Muttaqiy al-Hindiy, ‘Aliy ibn Hishamuddiyn, 1989: 12/666: 36016) หรือการที่ท่านเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องข้าหลวงอย่างอิสระต่อหน้าท่านเองในช่วงพิธีฮัจญ์ก็ดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงถึงความมีใจเป็นธรรมของท่านอย่างชัดเจน
2. มีความรับผิดชอบ
การงานทุกสิ่งจะเกิดความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมีความรับผิดชอบในสิ่งนั้น ชาวสวนยางจะต้องรับผิดชอบสวนยางของเขา คนเลี้ยงสัตว์จะต้องรับผิดชอบสัตว์เลี้ยงของเขา เจ้าของร้านค้าจะต้องรับผิดชอบร้านของเขา หากบุคคลเหล่านี้หมดความรับผิดชอบหรือรับบ้างไม่รับบ้างเมื่อใด การงานของเขาก็จะหมดประสิทธิภาพ เกิดความเสียหายแล้วล้มละลายไปในที่สุด เช่นเดียวกับผู้ที่อาสาทำหน้าที่เป็นผู้นำคนอื่น เขาจะต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนของเขา มีความจริงใจอยากให้พวกเขาทุกคนได้ดีเหมือนบุตรหลานของตัวเองทั้งหมด
เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบเป็นอย่างสูง เพราะท่านคิดเสมอว่าท่านจะต้องถูกอัลลอฮฺสอบสวนในวันกิยามัต ซึ่งด้วยความที่เป็นผู้มีใจเปี่ยมด้วยความรับผิดชอบนี่เอง ทำให้ท่านต้องอดนอนในยามค่ำคืนเพื่อทำหน้าที่บริการรับใช้ประชาชน ต้องทำหน้าที่ด้วยตัวเองก่อนที่จะสั่งให้เจ้าหน้าที่ช่วยทำ ต้องรินน้ำตาเสมอเมื่อไตร่ตรองถึงความรับผิดชอบที่มีต่อประชาชน ตลอดจนแม้แต่ในการเดิน ท่านก็เดินอย่างรวดเร็ว เพราะเห็นว่าสามารถปฏิบัติงานได้เร็วกว่า
อัล-มัสอูดียฺ (al-Mas‘udiy) กล่าวถึงความรับผิดชอบของเคาะลีฟะฮุอุมัรฺว่า
เมื่อใดที่มีข้อกล่าวหาต่อตัวท่านหรือต่อคณะทีมงานผู้บริหารของท่าน ท่านจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการพิสูจน์ข้อกล่าวหาอย่างไม่รีรอ ดังกรณีเมื่อสะอีดอิบนฺ อามิร ข้าหลวงประจำแคว้นหิมซฺถูกประชาชนกล่าวหาว่าเพิกเฉยต่อหน้าที่ ในตอนรุ่งสางท่านยอมเสียสละความสุขในการหลับนอนด้วยการลุกขึ้นมาปลุกชาวเมืองในความมืดให้ลุกขึ้นมาละหมาดศุบฮฺจนกระทั่งนำไปสู่การฆาตกรรมต่อตัวท่าน (al-Mas‘udiy, 1983: 2/314; 329)
อิบนุอะซีรฺ ได้บันทึกคำพูดของคนใช้ของอุษมาน อิบนฺ อัฟฟานคนหนึ่งว่า
ในขณะที่ฉันกำลังทำธุระกับอุษมานในเรื่องทรัพย์สินของท่านที่บริเวณอัล-อาลียะฮฺในวันหนึ่งที่ร้อนจัดและดินแตกระแหง จู่ๆ ท่านอุษมานก็เห็นชายคนหนึ่งกำลังจูงลูกอูฐสองตัว แล้วเขาคนนั้นก็เข้ามาใกล้ ท่านกล่าวว่า "ดูซิเขาเป็นใครกัน?" ฉันจึงเพ่งดู และบอกว่า "ฉันเห็นชายคนหนึ่งคลุมศีรษะด้วยเสื้อนอกและจูงลูกอูฐสองตัว" แล้วเขาคนนั้นก็ยิ่งเข้ามาใกล้ ท่านบอกว่า "จงดูซิ" ฉันก็เลยเพ่งดู ปรากฏว่าเขาคืออุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ ฉันเลยกล่าวว่า "นี่คืออะมีรุลมุมินีน" อุษมานจึงลุกขึ้นและชะโงกศีรษะออกนอกประตู ปรากฏว่าลมร้อนได้พัดผ่าน ท่านจึงหลบศีรษะจนเสมอกับประตู และกล่าวว่า "อะไรเป็นเหตุให้ท่านต้องออกมาในเวลานี้ ? ท่านตอบว่า "ลูกอูฐจากกองคลังสองตัวนี้มันแตกฝูง อูฐตัวอื่นๆ มันไปกันหมดแล้ว ฉันจึงต้องนำมันทั้งสองไปยังโรงเลี้ยงสัตว์เพราะเดี๋ยวมันจะหลงแล้วอัลลอฮฺก็จะสอบสวนฉัน" อุษมานเลยพูดว่า " โอ้ ท่านอะมีรุลมุมินีน เข้ามาดื่มน้ำในที่ร่มก่อนซิ เดี๋ยวเราจะจัดการให้เอง" ท่านตอบว่า "ไม่ต้องหรอก ท่านกลับเข้าในร่มของท่านเถอะ" ฉันเลยกล่าวขึ้นว่า "เรามีคนทำแทนท่านน่ะ" ท่านตอบว่า "ไม่ต้องหรอก ท่านกลับเข้าในร่มของท่านเถอะ" แล้วท่านก็เดินผ่านไป อุษมานจึงกล่าวว่า "ผู้ใดอยากจะเห็นตัวอย่างของคนเข้มแข็งและมีความรับผิดชอบสูง ก็จงดูคนนี้แหล่ะ" แล้วอุษมานก็กลับมานั่งกับเราตามเดิม" (Ibn Athir, n.d.: 2/327)
นี่คือบางตัวอย่างที่สะท้อนถึงความรับผิดชอบของท่านในตำแหน่งหน้าที่เคาะลีฟะฮฺของรัฐอิสลาม และหากเรื่องเล็กๆ เช่นนี้ ท่านไม่เคยมองข้ามแล้ว สิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญและใหญ่กว่า ท่านก็ย่อมต้องให้ความสำคัญมากกว่า เช่นกัน
ท่านอุมัรฺกล่าวว่า
งานที่ประเสริฐที่สุดคือการได้ปฏิบัติสิ่งที่อัลลอฮฺใช้และการหันหลังให้กับสิ่งที่อัลลอฮฺห้าม (al-Ghazaliy, n.d.: 4/364)
ท่านเคยยกสองมือกล่าวรำพันต่ออัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้าว่า
โอ้ ข้าแต่อัลลอฮฺ บัดนี้ อายุฉันได้ร่วงโรยแล้ว พลังฉันได้อ่อนแอแล้ว ประชาชนฉันก็มีมากกระจัดกระจายแล้ว ฉันจึงขอให้พระองค์ทรงทำให้ฉันตายในสภาพที่ไม่ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่จนเกินขอบเขตด้วยเถิด (al-Dhahabiy,n.d.: 1/413)
3. มีความเมตตาปรานี
ผู้นำจะต้องมีความเมตตาต่อประชาชน มองพวกเขาเฉกเช่นบุตรหลาน ไม่เคยคิดอคติหรือปองร้ายต่อพวกเขาแม้ว่าจะเป็นผู้ไม่เห็นด้วยกับเขา เพราะประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนหรือผู้คัดค้านต่างก็เป็นประชาชนของเขา หากผู้นำขาดความเมตตา ประชาชนจะไม่มีความสุข ชุมชนจะมีปัญหา เพราะความเดือนร้อนของพวกเขาไม่เคยเป็นที่รู้สึกและเหลียวแลของผู้นำ
เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ท่านเป็นผู้นำที่มีใจเมตตาต่อประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ท่านไม่ยอมที่จะให้ประชาชนเดือดเนื้อร้อนใจตราบใดที่ไม่อยู่ในภาวะคับขัน ท่านมักจะร้องไห้เสมอเมื่อพบเจอประชาชนกำลังเดือดร้อนพร้อมกับพยายามช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด
เมื่อครั้งที่มุอาวิยะฮฺ อิบนฺ อบีสุฟยานพยายามโน้มน้าวขอให้ท่านอุมัรฺอนุญาตให้นักรบมุสลิมเดินทัพไปพิชิตเกาะไซปรัสซึ่งจะต้องลงเรือไปทางทะเลเท่านั้น ด้วยความที่ชาวอาหรับไม่มีความเคยชินกับการเดินทางทางทะเล และด้วยใจที่เปี่ยมด้วยความเมตตาต่อประชาชน ท่านจึงได้มีจดหมายไปยังอัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศเพื่อให้เขาบรรยายสภาพของการเดินทะเล ซึ่งอัมรฺก็ได้ตอบว่า ผู้คนที่นั่งเรือนั้นเหมือนกับหนอนที่เกาะบนก้อนไม้ จิตใจจะหวาดเสียวอยู่ตลอดเวลา พลาดนิดเดียวก็ตกลงไปในทะเลทันที ท่านจึงมีหนังสือส่งไปยังมุอาวิยะฮฺว่า "ขอสาบานกับอัลลอฮฺ ฉันจะไม่นำเอามุสลิมคนใดไปลงทะเลตลอดไป” (al-Dhahabiy,n.d.: 1/423)
อิบนุ กะษีร ได้บันทึกใน al-Bidayah wa al-Nihayah ถึงเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความเมตตาของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺต่อประชาชนเป็นอย่างดี นั่นคือ เหตุการณ์ที่ท่านไปพบกับผู้หญิงที่กำลังเจ็บท้องคลอด แล้วท่านก็รีบกลับมาชวนอุมมุ กัลษูม ผู้เป็นภรรยาให้ไปช่วยทำคลอดพร้อมกับแบกแป้งและเนยไปให้ กระทั่งหญิงคนนั้นสามารถคลอดลูกได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ อิบนุกะษีรได้รายงานจากด้าคำบอกเล่าของอัสลัมซึ่งเป็นผู้ติดตามเคาะลีฟะฮฺในเหตุการณ์นี้ว่า
ในคืนหนึ่ง ฉันได้ออกลาดตระเวนไปยังนอกเมืองมะดีนะฮฺพร้อมกับท่านอุมัรฺ เราได้พบกระโจมแห่งหนึ่ง เราจึงมุ่งตรงเข้าไป ซึ่งปรากฏมีผู้หญิงคนหนึ่งกำลังเจ็บท้องคลอดและร้องไห้ ท่านอุมัรฺจึงถามความเป็นอยู่ของนาง ซึ่งนางตอบว่า "ฉันเป็นหญิงชาวอาหรับและไม่มีทรัพย์สินใด ๆ" ท่านอุมัรฺจึงร้องไห้แล้วรีบหวนกลับมาที่บ้านทันทีโดยท่านกล่าวกับอุมมุ กัลษูม บินติ อะลียฺ อิบนฺ อบี ฏอลิบ ผู้เป็นภรรยาว่า "เธออยากจะได้ผลบุญที่อัลลอฮฺส่งมาให้เธอจนถึงที่หรือเปล่า?" แล้วท่านก็เล่าเรื่องราวนั้น นางกล่าวว่า "อยากได้ซิ" แล้วท่านก็เอาแป้งและเนยขึ้นแบกไว้บนหลัง ส่วนอุมมุกัลษูมนั้นหิ้วอุปกรณ์ทำคลอด แล้วก็มายังสถานที่เกิดเหตุ อุมมุกัลษูมตรงเข้าหาผู้หญิงคนนั้น ส่วนท่านอุมัรฺนั่งอยู่กับผู้เป็นสามีโดยที่เขาไม่รู้จักท่าน และแล้วหญิงคนนั้นก็คลอดลูกเป็นเด็กชาย อุมมุกัลษูมจึงกล่าวว่า "โอ้ ท่านอะมีรุลมุมินีน จงแจ้งข่าวดีแก่สหายท่านว่าเขาได้บุตรชาย" เมื่อชายคนนั้นได้ยินก็ตกใจมากและขอโทษท่าน ท่านอุมัรฺกล่าวว่า "ท่านปลอดภัยแล้ว” จากนั้นท่านก็นำค่าใช้จ่ายและสิ่งของที่จำเป็นมาให้แก่เขา แล้วท่านก็ออกไป (Ibn Khathir, 1988: 7/140)
เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์การเข้าไปช่วยปรุงอาหารให้กับประชาชนที่กำลังขาดแคลนอาหารและอยู่ในความหนาวเหน็บของเวลากลางคืน ซึ่งอิบนุกะษีรได้บันทึกจากคำบอกเล่าของอัสลัมผู้ติดตามท่านเช่นกันว่า
ในคืนหนึ่ง ฉันได้ออกลาดตระเวนกับท่านอุมัรฺไปยังแถบเขตวากิมกระทั่งเรามาถึงที่บริเวณศิร็อรฺ ก็ได้เห็นคบไฟดวงหนึ่ง ท่านกล่าวว่า "นี่อัสลัม ตรงโน้นคงมีเจ้าของอูฐที่อยู่ระหว่างการเดินทางซึ่งความมืดมิดของค่ำคืนได้กักขังพวกเขาไว้ มาซิ เราไปหาพวกเขา" แล้วเราก็เข้าไปหา ซึ่งปรากฏว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งกำลังอยู่กับลูกเล็กๆ และมีหม้อตั้งอยู่บนไฟโดยที่ลูกๆ ของเธอต่างร้องไห้โอดครวญ ท่านอุมัรฺจึงกล่าวว่า "อัสสะลามุ อะลัยกุม โอ้ ชาวแสงไฟ" นางตอบว่า " วะอะลัยกัสสะลาม" ท่านกล่าวว่า "ฉันขอเข้าใกล้ได้ไหม" นางตอบว่า "เชิญเข้ามาใกล้ หรือไม่ก็ออกไป" แล้วท่านก็เข้าไปใกล้ แล้วถามว่า "ทำไมพวกท่านเป็นเช่นนี้" นางตอบว่า " ความมืดมิดและความหนาวเย็นได้กักขังพวกเราไว้" ท่านถามว่า "แล้วทำไมพวกเด็ก ๆ นี้จึงร้องห่มร้องไห้เล่า?" นางตอบว่า "เพราะความหิว" ท่านถามว่า "แล้วมีอะไรต้มอยู่บนไฟ" นางตอบว่า "ก้อนหิน ฉันหลอกพวกเขาเพื่อให้พวกเขาจะได้เคลิ้มหลับไป อัลลอฮฺเท่านั้นที่เป็นผู้ตัดสินระหว่างเรากับอุมัรฺ"
ท่านอุมัรฺเลยร้องไห้แล้วรีบกลับและมุ่งตรงไปยังคลังแป้ง แล้วเอาแป้งหนึ่งถุงใหญ่และเนยหนึ่งถุงออกมา แล้วกล่าวว่า "นี่อัสลัม จงยกมันขึ้นบนหลังของฉันซิ" ฉันกล่าวว่า "ให้ฉันแบกแทนท่านเถอะ" ท่านกล่าวว่า "เจ้าจะแบกบาปแทนข้าในวันกิยามะฮฺกระนั้นหรือ?" แล้วท่านก็แบกมันขึ้นบนหลังท่านเองแล้วมุ่งตรงไปยังผู้หญิงดังกล่าว และเมื่อมาถึง ท่านก็ยกมันลง แล้วจัดการเอาแป้งเทลงไปในหม้อแล้วเอาเนยใส่ตามไป จากนั้นท่านก็เป่าไฟจนเกิดควันฟุ้งกระจายลอยแทรกตามเคราของท่านอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วท่านก็ยกมันออกจากไฟ พร้อมกับกล่าวว่า "เอาจานมาให้ฉันหนึ่งใบซิ" แล้วนางก็เอามาให้ ท่านจึงตักแล้วก็ยกมาตั้งข้างหน้าพวกเด็กเหล่านั้น พร้อมกับกล่าวว่า "กินซิ" พวกเขาเลยกินจนอิ่ม ส่วนผู้หญิงคนนั้นก็พร่ำแต่ขอดุอาอ์ให้ท่านโดยที่นางไม่รู้จักท่าน ท่านอยู่ที่นั่นจนกระทั่งพวกเด็ก ๆ ต่างหลับไป จากนั้นท่านก็นำค่าใช้จ่ายและสิ่งของที่จำเป็นมาให้แก่พวกเขา ท่านได้หันมาพูดกับฉันว่า "โอ้ อัสลัม ความหิวเป็นเหตุให้พวกเขาต้องนอนไม่หลับและร้องห่มร้องไห้” (Ibn Khathir, 1988: 7/141)
4. เข้าถึงประชาชน
ผู้นำจะต้องเข้าถึงประชาชน ยิ่งเข้าถึงพวกเขาได้มากเท่าใด เขาก็ยิ่งจะเข้าใจประชาชนมากเท่านั้น ทำให้ได้รับรู้ปัญหาและนำมาวิเคราะห์แก้ไขอย่างถูกจุด ไม่ต้องเสียเวลากับการหลงนโยบายหรือกลยุทธ์การปฏิบัติงานที่ทำให้ขาดทุนทั้งเวลา งบประมาณ และโอกาสของประชาชน
เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่เข้าถึงและมีความสัมพันธ์อย่างเป็นกันเองกับประชาชน ท่านถือว่าการปฏิบัติหน้าที่จะประสบผลสำเร็จได้ก็เพราะการได้รับความร่วมมือจากประชาชน ท่านใช้วิธีทั้งการลงไปหาประชาชนและการเปิดโอกาสให้ประชาชนมาหาท่านเพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชน ดังสังเกตเห็นว่าในเวลาค่ำคืนท่านมักจะออกไปสอดส่องดูแลทุกข์สุขของประชาชนตามตรอกซอยต่างๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้เวลาเกิดปัญหาใหญ่ ๆ ท่านมักจะลงไปแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ดังกรณีเมื่อเกิดวิกฤติภัยแล้งเมื่อปีที่ 18 ฮ.ศ. เป็นต้น
อัล-เฆาะซาลียฺ (al-Ghazaliy)ได้กล่าวถึงสภาพการคลุกคลีกับประชาชนของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺเมื่อครั้งเริ่มดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮฺใหม่ ๆ ว่า
เมื่อท่านอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮฺ ท่านได้ปราศรัยว่า
โอ้ ประชาชนทั้งหลาย ผู้ใดในหมู่พวกท่านที่มาจากอิรักขอให้ยืนขึ้น" แล้วพวกเขาก็ยืนขึ้น ท่านกล่าวต่อว่า "ขอเชิญพวกท่านจงนั่งลง ยกเว้นชาวกูฟะฮฺเท่านั้น" แล้วพวกเขาก็นั่งลง ท่านกล่าวต่อไปว่า "เชิญทั้งหมดนั่งลงยกเว้นผู้ที่มาจากเผ่ามุรอด" แล้วพวกเขาก็นั่งลง ท่านกล่าวต่อไปว่า "ขอเชิญทั้งหมดนั่งลงยกเว้นผู้มาจากเผ่าก๊อรนฺ" แล้วทั้งหมดก็นั่งลงยกเว้นเพียงคนเดียว ท่านอุมัรฺจึงถามเขาว่า "ท่านเป็นชาวก๊อรนียฺใช่ไหม?” เขาตอบว่า "ใช่" ท่านถามว่า "ท่านรู้จักอะวัยสฺ อิบนฺ อามิร อัล-ก๊อรนียฺหรือเปล่า?" แล้วท่านก็บอกลักษณะของเขาแก่เขาผู้นั้น เขาตอบว่า "ใช่ รู้จัก แล้วทำไมต้องไปถามถึงเขาด้วยล่ะท่านอะมีรุลมุมินีน ฉันขอสาบานกับอัลลอฮฺว่าในหมู่พวกเรานั้นไม่มีใครที่โง่ สติไม่สมประกอบ กระด้าง และต่ำต้อยมากไปกว่าเขา" แล้วอุมัรฺก็ร้องไห้ (al-Ghazayliy, n.d.: 3/222)
การคลุกคลีกับประชาชนของท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ไม่เพียงแต่มีกับประชาชนในเมืองหลวงเท่านั้น แต่ท่านยังลงไปคลุกคลีและเข้าถึงประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ ด้วยตัวเองอีกด้วย จะเห็นได้ว่าเมื่อถึงเวลาจ่ายเงินอุดหนุนประจำปีแก่ประชาชน ท่านจะนำเงินอุดหนุนนั้นไปให้พวกเขาถึงถิ่นฐานของพวกเขาเลยทีเดียว
อัล-เฏาะบะรียฺ (al-Tabariy) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
ท่านอุมัรฺเองได้แบกบัญชีของเผ่าคุซาอะฮฺด้วยตัวท่านเองจนกระทั่งถึงที่กุดัยย์ (Quday) แล้วคนในเผ่าทุกคนต่างก็มารวมกัน โดยสตรีทุกคนทั้งหม้ายและโสดต่างมารับเงินด้วยตัวเองจากท่าน จากนั้น ท่านออกเดินทางต่อและมาหยุดที่อัศฟาน (Usfan) แล้วปฏิบัติเช่นเดียวกับที่กุดัยย์ (Quday) ท่านปฏิบัติอย่างนี้จนกระทั่งเสียชีวิต (al-Tabariy, 1988: 2/570)
นอกจากนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับประชาชน ท่านจะพยายามศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนอยู่เสมอ ดังสังเกตว่าเมื่อกำลังอยู่ในภาวะสงคราม หรือหลังจากพิชิตเมืองได้ใหม่ๆ ท่านมักจะขอข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับเมืองดังกล่าว เช่น การที่ท่านส่งหนังสือไปยังอิรักเพื่อให้ผู้นำที่นั่นส่งผู้แทนสองคนมายังมะดีนะฮฺเพื่อบรรยายเกี่ยวกับข่าวคราวของอิรัก และทางผู้นำอิรักก็ได้ส่งละบีด อิบนฺ เราะบีอะฮฺ อัล-อามิรียฺ และอะดียฺ อิบนฺ หาติม อัล-ฏออียฺ (al-Suyuytiy, n.d.: 1/56) มาพบท่าน หรือการที่อัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศ ส่งมุอาวิยะฮฺ อิบนฺ ญุดัยอฺ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองอเล็กซานเดรีย อียิปต์ (al-Miqriziy,n.d.: 1/207) เป็นต้น
อัล-เฏาะบะรียฺได้กล่าวถึงหนังสือบางฉบับที่ท่านได้ส่งไปยังสะอัด อิบนฺ อบี วักก็อศ ในขณะที่กำลังทำสงครามอัล-กอดิสียะฮฺ ซึ่งทำให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลปัจจุบันของประชาชนอย่างต่อเนื่องว่า
ดังนั้น ท่านจงอธิบายให้เราเข้าใจถึงลักษณะของบ้านเรือนและเมืองของชาวมุสลิมที่อยู่ระหว่างพวกท่านกับเมืองมะดาอิน จงอธิบายเหมือนกับฉันได้เห็นด้วยตัวเอง และจงให้ฉันรู้เรื่องพวกท่านอย่างชัดเจน (al-Tabariy, 1988: 2/387)
เช่นเดียวกันกับอับดุลลอฮฺ อัล-กอรี (2453 :37) ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่กองทัพอิสลามได้รับชัยชนะในการพิชิตเปอร์เซียและโรมันว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้าถึงประชาชนของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ ท่านกล่าวว่า
ด้านความสัมพันธ์ระหว่างอุมัรฺกับทหารมุสลิมนั้นนับว่ามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดมาก ต่างกับความสัมพันธ์ของจักรพรรดิเปอร์เซียกับประชาชนของพระองค์ ต่างกับจักรพรรดิไบเซนไทน์กับประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครอง ซึ่งทั้งสองอาณาจักรดังกล่าวมีลักษณะของความเป็นเจ้าผู้เข้าครอบครอง อีกทั้งยังรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นชนชั้นศักดินาอีกด้วยและยังมีความไม่เป็นธรรมต่อผู้ใต้การปกครอง ต่างกับเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺซึ่งเป็นที่เกรงกลัวแก่บุคคลทั่วไปแต่ทุกคนก็ยกย่องสรรเสริญและให้ความเคารพรักใคร่ในตัวท่าน
5. กล้าหาญและอดทน
ผู้นำจะต้องมีใจกล้าหาญและอดทนกับปัญหาและสิ่งยั่วยวนต่างๆ ทั้งจากภายในตัวเองและจากประชาชนรอบข้าง จะต้องตระหนักเสมอว่าในชุมชนของตนมีทั้งคนดีและคนไม่ดี คนดีย่อมมีคนชั่วทดสอบและท้าทาย การพัฒนาสร้างความดีในสังคมย่อมทำให้คนคิดชั่วเสียผลประโยชน์ ผู้นำจึงต้องพร้อมที่จะเผชิญการท้าทายจากความชั่วทุกรูปแบบ หากไม่เช่นนั้นแล้วสิ่งดีๆ ที่เขาจะสร้างสรรค์ให้กับสังคมก็คงเป็นเพียงความฝันหรือน้ำผึ้งหยดเดียวที่ประชาชนยังไม่ทันได้ลิ้มลองก็หมดสิ้นเสียแล้ว
ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่มีความกล้าหาญและอดทนเป็นอย่างสูง ซึ่งหากดูประวัติของท่านแล้ว เราจะพบว่าท่านคือมุสลิมคนแรกลุกขึ้นต่อสู้กับผู้มีอิทธิพลแห่งเมืองมักกะฮฺจนกระทั่งสามารถปลดปล่อยชาวมุสลิมให้มีอิสระในด้านศาสนา ดังที่อับดุลลอฮฺ อิบนฺ มัสอูด ได้กล่าวว่า
การเข้ารับอิสลามของอุมัรฺเป็นการพิชิตที่ยิ่งใหญ่ การอพยพของท่านเป็นชัยชนะ และการปกครองของท่านเป็นความเมตตาปรานีจากอัลลอฮฺ เมื่อก่อนเราไม่สามารถละหมาด ณ บัยตุลลอฮฺอย่างโจ่งแจ้งได้ กระทั่งเมื่อท่านอุมัรฺเข้ารับอิสลาม ท่านได้ต่อสู้กับพวกเหล่านั้นจนพวกเราสามารถละหมาดที่นั่นได้ (Muhibb al-Din al-Tabariy, 1998: 1/244)
เช่นเดียวกันกับตอนที่ท่านจะอพยพไปยังเมืองมะดีนะฮฺ ในขณะที่มุสลิมทั่วไปต่างอพยพเป็นระลอกๆ อย่างเงียบๆ และต้องเก็บเป็นความลับ เพราะกลัวจะถูกพวกกุร็อยชฺสกัดกั้นและทำร้าย แต่ท่านกลับไปประกาศอย่างชัดเจนที่หน้าบัยตุลลอฮฺว่าท่านกำลังจะออกเดินทางเพื่ออพยพไปอยู่ที่มะดีนะฮฺในวันและเวลาที่ชัดเจน ซึ่งท่านอะลียฺ อิบนฺ อบีฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ได้เล่าถึงภาพของความกล้าหาญของท่านอุมัรฺในเหตุการณ์นี้ว่า
ทุกคนที่อพยพไปยังมะดีนะฮฺ เท่าที่ฉันทราบแล้ว ล้วนอพยพอย่างเงียบๆ กันทุกคน ยกเว้นแต่เพียงอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบคนเดียวเท่านั้น ซึ่งเมื่อท่านต้องการจะอพยพ ท่านถือดาบ ควบม้า และกุมลูกธนูจำนวนหนึ่งไว้ในอุ้งมือ แล้วตรงมายังกะอฺบะฮฺซึ่งมีหัวหน้าพวกกุร็อยชฺอยู่บริเวณลานรอบๆ แล้วท่านก็เฏาะวาฟเจ็ดรอบ เสร็จแล้วมาละหมาดหลังมะกอมสองเราะกะอัต จากนั้นท่านก็ได้มาที่วงล้อมของพวกเขา ทีละกลุ่มทีละกลุ่ม ท่านกล่าวว่า "เสียหน้ากันแล้วล่ะทีนี้ ผู้ใดต้องการพลัดพรากจากแม่ ต้องการจะให้ลูกเป็นเด็กกำพร้า และให้ภรรยาเป็นหญิงหม้ายก็ขอเชิญเจอกับฉันที่หลังที่ลุ่มนี้ได้เลย" ซึ่งปรากฏว่าไม่มีใครตามท่านไปเลย (al-Nawawiy,n.d.: 1/492)
จากอุปนิสัยที่กล้าหาญอดทนนี่เอง ทำให้ในปี ฮ.ศ. 14 หลังจากได้ทราบข่าวการสิ้นชีวิตของแม่ทัพอบู อุบัยดฺ อัล-ษะเกาะฟียฺ ในสงครามกอดิสียะฮฺ ท่านต้องการนำกองทัพออกไปต่อสู้กับข้าศึกด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากคณะที่ปรึกษาระดับสูงต่างไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าหากท่านเสียชีวิตในสนามรบจะเกิดความยุ่งเหยิงเต็มเมือง ท่านจึงไม่ออกไป (al-Tabariy, 1988: 2/382)
6. เสียสละเพื่อส่วนรวม
ผู้นำจะต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม เพราะเขาคือผู้ได้รับความไว้ใจให้ทำภารกิจแทนพวกเขาเหล่านั้น พวกเขามอบหมายผู้นำรับผิดชอบทั้งตัวพวกเขา ลูกเมีย บ้านเรือน จนถึงสัตว์เลี้ยงวัวควาย พวกเขามอบให้ผู้นำจัดการการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ให้ผู้นำดูแลพวกเขาทั้งยามไข้ยามป่วยและยามสุขสบาย ฯลฯ ผู้นำจึงมีภารกิจท่วมตัว มีเวลาติดลบ ไม่มีกลางวันไม่มีกลางคืนให้อยู่อย่างสุขเหมือนคนอื่น เพราะลำพังงานส่วนตัวของตัวเองก็แทบทำไม่หมดแล้ว ไหนจะต้องทำงานของคนอื่นเป็นหมื่นแสน ผู้นำจึงต้องพร้อมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างและหวังเพียงในความโปรดปรานและเมตตาจากอัลลอฮฺ
ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่มีความเสียสละเพื่อส่วนรวมเป็นอย่างสูง ท่านถือว่า การทำงานเพื่อประชาชนนั้นผู้นำจะต้องปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมให้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บทบาทในชีวิตของท่านเป็นบทบาทในฐานะบิดาของประชาชนมากกว่าบิดาของลูกๆ หรือเป็นปู่ตาของหลานๆ เพียงไม่กี่คน ท่านยอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อความสุขของส่วนรวม ยอมใช้ชีวิตด้วยความลำบากเมื่อประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในภาวะลำบาก ดังเมื่อเกิดวิกฤติภัยแล้งที่แคว้นหิญาซ เมื่อปี ฮ.ศ 8 ที่ท่านถึงกับสาบานว่าจะไม่รับประทานอาหารดี ๆ ตราบใดที่ประชาชนยังอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยท่านประทังชีวิตเพียงด้วยขนมปังหยาบกับน้ำส้มเท่านั้น ซึ่งการรับประทานอย่างนี้ในเวลานานติดต่อกันเป็นแรมปีทำให้ใบหน้าท่านหมองคล้ำไปตลอดชีวิต ในยามค่ำคืนขณะที่ประชาชนกำลังนอนพักผ่อนอย่างมีความสุขกับครอบครัว ท่านกลับสละความสุขส่วนตนออกไปตรวจตราความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเมื่อมีกองคาราวานจากต่างเมืองเข้ามาในมะดีนะฮฺ ท่านก็จะออกไปเป็นยามช่วยเฝ้าดูแลพวกเขาท่ามกลางความมืดด้วยตัวเอง (al-Tabariy, 1988: 2/567) นอกจากนี้ เวลาเดินทางพร้อมกับประชาชนไปที่ไหน ๆ ท่านมักจะทำหน้าที่ให้บริการประชาชนด้วยตัวเองเสมอ
อิบนุ มันซูร (Ibn Manzur) ได้กล่าวถึงความเสียสละความสุขในการรับประทานอาหารด้วยการงดรับประทานอาหารดีๆ ในยามที่ประชาชนกำลังประสบความขัดสนว่า
ยะหฺยา อิบนฺ สะอีดได้เล่าว่า ภรรยาของท่านอุมัรฺได้ซื้อเนยให้แก่ท่านหนึ่งฟะร็อก (ประมาณสิบหกลิตร) ด้วยราคาหกสิบดิรฮัม ท่านอุมัรฺจึงถามว่า "นี่มันอะไร?" นางตอบว่า "ฉันซื้อมันด้วยเงินของฉันเองไม่ใช่เงินของท่านหรอก เชิญรับประทานเถอะ ท่านอุมัรฺตอบว่า "ฉันจะไม่ชิมมันจนกว่าประชาชนได้ฟื้นดีขึ้น" (Ibn Manzur, n.d.:6/40)
เช่นเดียวกันกับอัล-อิศอมียฺ (al-'Isamiy) ที่ได้กล่าวถึงภาพของการให้บริการประชาชนและความเสียสละท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ในขณะออกเดินทางไปกับพวกเขาว่า
ท่านอุมัรฺนั้น -ขออัลลอฮฺทรงโปรดปรานท่าน- ยามเมื่อท่านจะออกเดินทางไกล ท่านจะกล่าวประกาศแก่ประชาชนตามบ้านเรือนว่า "โอ้ ประชาชนทั้งหลาย พวกท่านเตรียมเดินทางกันได้แล้ว" แล้วก็จะมีคนกล่าวว่า "โอ้ ประชาชนทั้งหลาย บัดนี้อะมีรุลมุมินีนได้ประกาศแก่พวกท่านแล้ว เชิญทุกคนทำการเตรียมพร้อมเพื่อเดินทางได้แล้ว" จากนั้นท่านจะกล่าวประกาศครั้งที่สองว่า "ออกเดินทางเดี๋ยวนี้" แล้วทั้งหมดก็จะกล่าวว่า "ทุกคนเชิญขึ้นพาหนะได้แล้ว บัดนี้ท่านอะมีรุลมุมินีนได้เชิญชวนเป็นครั้งที่สองแล้ว" และเมื่อพวกเขาเริ่มออกไป ท่านก็ขี่อูฐของท่านโดยที่ตัวของท่านมีถุงอาหารสองถุง ถุงหนึ่งมีขนมปังและอีกถุงหนึ่งมีอินทผลัมอยู่ ด้านหน้ามีถุงน้ำ ด้านหลังมีถัง ซึ่งทุกครั้งที่ท่านพักแวะท่านจะเอาขนมปังมาใส่ในถัง แล้วก็ชงน้ำกลางกระโจมให้กับผู้มาติดต่อหรือมาขอคำตัดสินได้ดื่ม ท่านจะกล่าวกับเขาว่า "เชิญท่านรับประทานขนมปังกับอินทผลัมซิ" แล้วท่านก็ออกเดินทางต่อ โดยท่านจะหวนกลับมายังสถานที่ ๆ ผู้คนเพิ่งออกไปเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย ซึ่งหากพบสิ่งใด ๆ ตกอยู่ท่านก็จะเก็บไป หรือหากพบคนที่พาหนะขัดข้อง ท่านก็จะจัดการเช่าพาหนะให้เขาและนำทางเขาไปตามร่องรอยของผู้คนก่อนหน้า และเมื่อตะวันขึ้นในวันรุ่งขึ้น ผู้คนจะไม่รีบตรวจดูสิ่งของของตัวเอง เขาจะกล่าวว่า "เดี่ยว รอให้ท่านอะมีรุลมุมินีนมาถึงก่อน" แล้วท่านอุมัรฺ ก็มาถึงในสภาพที่อูฐของท่านเหมือนกับไม้แขวนเสื้อที่เต็มไปด้วยสิ่งของตกค้างของผู้คน แล้วต่างคนก็เริ่มเข้ามาหาและบอกว่า "โอ้ อะมีรุลมุมินีน ถุงน้ำของฉัน" ท่านย้อนว่า "เป็นไปได้อย่างไร คนใจเย็นๆ ถึงกับลืมถุงน้ำที่เขาดื่มและเอาน้ำละหมาดในนั้น? จะให้ฉันนี่คอยเฝ้าดูตลอดเวลา จะให้ฉันเบิกตาค้างตลอดคืนหรือไง?" แล้วท่านก็มอบถุงน้ำนั้นให้ แล้วก็มีคนอื่นมาบอกอีกว่า "โอ้ ท่านอะมีรุลมินีน ธนูของฉัน" และอีกคนหนึ่งจะมาบอกว่า "เชือกของฉัน" หรือสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาลืมหรือทำหล่น โดยพวกเขาจะบอกรูปพรรณของมันแล้วท่านก็ยื่นส่งกลับไปให้เขา (al-'Isamiy, 1998: 2/476-477)
สำหรับในด้านการเสียสละทรัพย์สินนั้น ท่านคือบุคคลต้นแบบที่ทำการบริจาคแบบ "บริจาคผล ถือกรรมสิทธิ์ต้น" (al-'Askariy, 1997: 127) เนื่องจากท่านได้มอบรายได้จากสวนอินทผลัมที่ค็อยบัรฺซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ท่านหวงแหนและมีค่ามากที่สุดให้กับผู้ยากไร้และเพื่อการสงเคราะห์ในด้านต่างๆ ในสมัยนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ดังที่ อิบนุหิบบาน (Ibn Hibban) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
ท่านอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบได้ปรึกษากับท่านเราะสูลุลลอฮฺว่า "ฉันมีที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ที่ค็อยบัรซึ่งฉันไม่เคยมีทรัพย์สมบัติใดๆ ที่มีค่ามากกว่านี้ ท่านเห็นสมควรให้ฉันทำอย่างไรล่ะ?" ท่านเราะสูลุลลอฮฺตอบว่า "หากท่านประสงค์ ท่านก็สามารถครอบครองกรรมสิทธิ์แต่บริจาคผลประโยชน์ของมัน" แล้วท่านอุมัรฺก็ถือครองกรรมสิทธิ์และบริจาคผลประโยชน์ของมัน โดยห้ามขาย ห้ามมอบ ห้ามถือเป็นมรดก แต่ผลประโยชน์ทั้งหมดจะใช้บริจาคแก่คนยากไร้ คนขัดสนในยามเดินทาง ส่วนที่เหลือให้มอบแก่โครงการเพื่อหนทางของอัลลอฮฺและผู้ไร้ถิ่นฐาน ทั้งนี้ผู้ดูแลสามารถใช้ประโยชน์ได้ตามสมควร
และสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการเสียสละเพื่อส่วนรวมอย่างใหญ่หลวงของท่านอุมัรฺเราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ก็คือการเสียสละอำนาจให้กับประชาชนโดยไม่คิดที่จะมอบให้แก่ลูกหลานหรือคนใกล้ชิดได้สืบทอด ทั้งๆ ที่มีอำนาจอย่างเต็มที่ที่จะทำอย่างนั้นได้ ซึ่งการเสียสละนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ใจในการเสียสละสิ่งอื่นๆ ว่ามิใช่เป็นการเสียสละอย่างเสแสร้ง หรือเป็นการ "เสียสละปลาเล็กเพื่อหวังจะให้ได้ปลาใหญ่" อย่างที่หลายคนมักถือปฏิบัติ ทั้งนี้ท่านได้ให้คำตอบแก่ผู้ที่เสนอให้แต่งตั้งอับดุลลอฮฺ อิบนฺ อุมัรฺ ผู้เป็นบุตรชายให้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺสืบต่อจากท่านว่า
ฉันไม่พึงให้พวกฉันได้เป็นผู้นำของพวกท่านอีกแล้ว ฉันไม่ต้องการจะสืบอำนาจให้ผู้ใดในบ้านของฉันต่อไป หากสิ่งที่ฉันกระทำมาเป็นความดี พวกเราก็ได้รับกันแล้ว และหากว่าเป็นความชั่วพวกเราก็จะได้ปลอดพ้นไปจากมัน ในบรรดาคนในบ้านอุมัรฺขอให้อุมัรฺคนเดียวก็พอที่ต้องถูกตรวจสอบและไต่สวนเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อการงานของประชาชาตินบีมุหัมมัด ฉันได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่แล้วและห้ามมิให้ใครในบ้านมาสืบอำนาจ ซึ่งหากฉันรอดพ้นอย่างมือเปล่าไม่มีบาปหรือไม่ได้บุญก็สบายใจแล้ว ดังนั้น จงคิดให้ดีซิ หากฉันแต่งตั้งคนสืบทอด คนที่ดีกว่าฉันก็เคยแต่งตั้งมาแล้ว (คืออบูบักรฺ) และหากฉันปล่อยเรื่องนี้โดยไม่แต่งตั้งใคร คนที่ดีกว่าฉันก็เคยปล่อยไม่แต่งตั้งใครมาแล้ว (คือท่านนบีมุหัมมัด -ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม-) (al-Tabariy, 1988: 2/580)
7. มีวิสัยทัศน์กว้างไกล
ผู้นำจะต้องมีวิสัยทัศน์เป็นของตัวเอง ประเมินสังคมถูกต้องตามเป็นจริง สามารถคาดคะเนทิศทางของสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวพร้อมกับวางแผนเพื่อแก้ปัญหาและผลักดันให้สังคมดำเนินไปสู่อนาคตที่สดใสดังเขาคาดหมายได้
ท่านอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก สังเกตได้จากการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาหรือริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่มีใครปฏิบัติมาก่อน เช่นเมื่อเกิดปัญหาภัยแล้งที่แคว้นหิญาซทำให้สินค้าขาดแคลนและมีราคาแพง ท่านตัดสินใจสั่งให้อัมรฺ อิบนฺ อาศข้าหลวงประจำแคว้นอียิปต์ทำการขุดคลองเพื่อเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำไนล์กับทะเลแดง เพื่อแก้ปัญหาสินค้าขาดแคลนและมีราคาแพงอย่างถาวรเนื่องจากอียิปต์ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของตะวันออกกลางตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยคลองใหม่นี้ถูกขุดขึ้นเริ่มจากริมฝั่งแม่น้ำไนล์ในกรุงไคโรจนถึงอ่าวสุเอซ มีระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตรซึ่งหลังจากใช้เวลาขุดประมาณแปดเดือน คลองใหม่ที่มีชื่อว่า "คลองอะมีรุลมุมินีน" ก็ใช้งานได้ และทันทีที่เรือสามารถแล่นจากอียิปต์มายังทะเลแดง ปรากฏว่าราคาสินค้าในตลาดมะดีนะฮฺก็ลดลงเท่ากับราคาสินค้าที่ตลาดอียิปต์ทันที ทำให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจแก่ทั้งสองเมือง เพราะอียิปต์สามารถระบายสินค้าได้อย่างรวดเร็วในขณะที่ชาวหิญาซสามารถบริโภคในราคาถูก (Ibn 'Athir, n.d.: 1/448)
เช่นเดียวกับการเป็นผู้ริเริ่มวางปฏิทินอิสลาม การกำหนดให้จัดการประชุมสัมมนาเพื่อตรวจสอบและศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขเป็นแคว้น ๆ ซึ่งคล้ายคลึงกับการประชุมสัญจรในปัจจุบัน การกำหนดให้มีการประชุมสามัญประจำปี ณ เมืองมักกะฮฺในช่วงเทศกาลหัจญ์ อันเป็นการประชุมร่วมระหว่างเคาะลีฟะฮฺกับข้าหลวงทั้งหมด การเริ่มมีการประกาศของรัฐเป็นลายลักษณ์อักษรและแจกจ่ายทั่วทุกแคว้น การจัดตั้งค่ายทหารถาวรพร้อมกับกำหนดให้มีการเกณฑ์ทหารภาคบังคับ การก่อตั้งโรงผลิตเหรียญดิรฮัมเพื่อให้มีเงินสกุลอิสลามเป็นเอกเทศ การเน้นให้ประชาชนฝึกวิชาชีพ การเน้นให้ประชาชนเรียนวิชาดาราศาสตร์ การบันทึกทรัพย์สินของข้าหลวงก่อนดำรงตำแหน่งและให้คืนทรัพย์สินครึ่งหนึ่งของจำนวนที่เหลือเมื่อพ้นตำแหน่งหากเห็นว่าร่ำรวยผิดปกติ ตลอดจนการกำหนดเวลาทดลองปฏิบัติงานแก่ข้าหลวง 1 ปี ซึ่งหากทำดี ก็จะต่ออายุถึง 4 ปี ทั้งหมดนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่แสดงถึงวิสัยทัศน์อันยาวไกลของท่านทั้งสิ้น
ท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ได้ให้วิสัยทัศน์ในการมองคนของท่านว่า
พวกท่านจงอย่ามองคนตรงการถือศีลอดและการละหมาดของเขา แต่จงมองตรงการมีสัจจะเวลาเขาพูดจา การมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ได้รับมอบหมาย และการไม่ทำความชั่วเมื่อมีโอกาส (Abi Na’im al-Asbahaniy, 1405 A.H.: 3/27)
8. มั่นคงในความคิด
การมีความคิดที่มั่นคงหรือการยืนหยัดในหลักการถือเป็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็นผู้นำที่ดี เพราะเป็นธรรมดาที่ผู้นำย่อมมีความคิดและมุมมองที่ยาวไกลกว่าผู้อื่น แต่บางทีหรือบ่อยครั้งที่ความคิดอันรอบคอบและยาวไกลของเขาจะถูกคัดค้านโดยคณะที่ปรึกษาและผู้ใกล้ชิด เพราะพวกเขามองไม่ถึงอย่างที่ผู้นำมอง ผู้นำจึงจะต้องยืนหยัดในความคิดของตัวเอง ไม่ผันแปรและอ่อนไหวทันทีที่ได้รับการคัดค้านและต่อต้าน เขาจะต้องพยายามชี้แจงโน้มน้าวให้คนอื่นเห็นดีด้วยกับความคิดของเขาหากเขามั่นใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีและมีเหตุผล
ท่านอุมัรฺเราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ก็เช่นกัน ในฐานะเป็นผู้นำที่มีความคิดยาวไกลและเป็นผู้ค้นคิดงานใหม่ ๆ หลายประการนับตั้งแต่สมัยท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ท่านอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ จนถึงสมัยของท่านเอง หลายครั้งทีเดียวที่ท่านต้องประสบกับเสียงคัดค้านของคณะที่ปรึกษาหรือประชาชน แต่ท่านก็พยายามผลักดันสิ่งที่ท่านมุ่งมั่นเพื่อให้ที่ประชุมยอมรับเสมอ
สิ่งที่สะท้อนถึงการมีความคิดเห็นที่มั่นคงและการยืนหยัดในความเห็นของตัวเองของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺที่เด่นชัดและมีผลต่อคนรุ่นหลังมากที่สุดในประวัติศาสตร์การปกครองของท่านดูเหมือนจะเป็นกรณีการยกเลิกการแบ่งปันดินแดนเมืองใหม่ให้แก่บรรดาเหล่าทหารผู้พิชิตดินแดน ไม่ว่าจะเป็นดินแดนอิรัก ชาม หรืออียิปต์ จากธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติตกทอดมาตั้งแต่สมัยนบีมุหัมมัด-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม-และเคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ที่กำหนดให้แบ่งปันสี่ส่วนห้าของที่ดินและทรัพย์สินในเมืองที่แพ้สงคราม (ไม่ใช่ยอมแพ้โดยสงบ) ให้แก่เหล่าทหารผู้สู้รบ และอีกหนึ่งส่วนหนึ่งที่เหลือจะมอบให้รัฐ (ดูคำอธิบายเรื่องนี้ ในการอธิบายอัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล-อันฟาล อายัตที่ 41) ซึ่งตามความคิดของท่านอุมัรฺนั้น ดินแดนใหม่เหล่านี้สมควรต้องเป็นทรัพย์สินของประชาชนทั้งหมดทั้งที่ผู้ที่เกิดมาแล้วหรือผู้ที่ยังไม่เกิดมา มันไม่สมควรจะตกเป็นสมบัติของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ เพราะหากพื้นที่ขนาดมหึมาและทรัพย์สินจำนวนมากมายมหาศาลอย่างนี้ต้องถูกแบ่งปันในหมู่ทหารเพียงไม่กี่แสนนาย ความร่ำรวยมั่งคั่งของรัฐก็จะไม่กระจายแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และประเทศทั้งประเทศก็จะตกเป็นสมบัติของประชาชนเพียงไม่กี่ตระกูล ซึ่งสิ่งนี้เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของอิสลาม อีกทั้งยังมีสิ่งที่น่าสังเกตก็คือในสมัยนบีมุหัมมัด-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม-และเคาะลีฟะฮฺ อบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ นั้น เมืองที่แพ้สงครามเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีทรัพย์และประชากรไม่มาก อย่างค็อยบัร และบรรดานักรบส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพที่ยากจน อย่างบิลาล หรืออัมมารฺ อิบนฺ ยาสิรแต่ในสมัยท่านอุมัรฺนั้น เมืองที่แพ้สงครามนั้นมีขนาดใหญ่และมีทรัพย์สินและผู้คนมากมาย เช่นอิรัก อิหร่าน ซีเรีย อียิปต์ เป็นต้น และบรรดาทหารส่วนใหญ่ก็เริ่มมีทรัพย์สินพอประมาณแล้ว ท่านจึงย้ำจุดยืนของท่านในอันที่จะไม่แบ่งปันทรัพย์สินของชาติให้แก่เหล่าทหารอีกต่อไป ท่านย้ำว่าที่กระทำเช่นนี้เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ของบุตรหลานคนรุ่นใหม่เป็นสำคัญ ท่านกล่าวว่า
ขอสาบานกับผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า หากไม่ใช่เพราะไม่อยากให้ประชาชนคนสุดท้ายต้องเกิดมาอย่างล่อนจ่อนไม่มีสมบัติใดๆ แล้ว แน่นอน ทุกหมู่บ้านที่ถูกพิชิตได้ ฉันจะต้องแบ่งและจัดสรรอย่างที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺเคยแบ่งและจัดสรรเมืองค็อยบัรฺมา แต่นี่ฉันกลับปล่อยให้เป็นแหล่งทำกินของประชาชนทั่วไปได้แบ่งปันกัน (al-Bukhariy, 1987: 4/1548: 4994)
สิ่งนี้หากไม่ใช่เพราะการมีความคิดที่มั่นคงของท่านแล้ว โอกาสที่จะต้องล้มเลิกความคิดและโอนอ่อนตามกระแสที่เคยปฏิบัติมาก็ย่อมเป็นไปได้สูง เพราะไม่เพียงแต่ท่านคนเดียวที่ถูกรบเร้าและโดนกล่าวหาจากผู้คัดค้านว่าใช้อำนาจปฏิบัติการในสิ่งที่สวนทางกับการปฏิบัติของนบีมุหัมมัด-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม-และท่านอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ แต่ข้าหลวงผู้ปกครองพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งสะอฺดฺ อิบนฺ อบีวักก็อศ ที่อิรัก, อัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศ ที่อียิปต์, หรืออบูอุบัยดะฮฺที่ชาม ต่างก็ถูกเหล่าทหารเรียกร้องให้จัดสรรพื้นที่ให้กับพวกเขา ท่านจึงต้องใช้ทั้งหลักการ และเวลา ตลอดจนต้องลงพื้นที่เพื่อจัดการประชุมกับเหล่าทหารด้วยตัวเองเพื่อชี้แจงให้ทุกคนได้เข้าใจ
อิหม่าม อัส-สูยูฏียฺได้บันทึกบรรยากาศของเหตุการณ์นี้ที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคทั้งกับตัวท่านเคาะลีฟะฮฺเอง และกับข้าหลวงที่อิรัก ชาม และอียิปต์ว่า
อิบรอฮีม อัต-ตัยมียฺ ได้เล่าว่า หลังจากชาวมุสลิมได้พิชิตเมืองใหม่ พวกเขากล่าวกับท่านอุมัรฺว่า "ขอให้ท่านจงแบ่งและจัดสรรมันให้เราเถอะ พวกเราพิชิตมันได้ด้วยกำลัง" (ไม่ใช่ด้วยสนธิสัญญา) ท่านปฏิเสธ และตอบว่า "แล้วจะเหลืออะไรให้กับชาวมุสลิมที่เกิดมาหลังจากพวกท่านล่ะ? ฉันกลัวว่าพวกท่านจะแย่งกันทำลายแหล่งน้ำ" ท่านจึงรับรองสิทธิในที่ดินของประชากรใหม่ โดยให้พวกเขาชำระภาษีประจำตัว (ญิซยะฮฺ) และภาษีที่ดิน (เคาะรอจ) (al-Suyutiy, n.d.: 28/367: 31287)
ส่วนที่อิรักก็เกิดเรื่องในทำนองเดียวกัน ซึ่งท่านอุมัรฺได้ส่งหนังสือไปยังสะอฺดฺ ตอนที่พิชิตอิรักได้ว่า
ฉันได้รับหนังสือของท่านที่ระบุว่ามีคนขอให้ท่านแบ่งสรรทรัพย์สินเฆาะนิมะฮฺและสิ่งที่อัลลอฮฺประทานให้กับพวกเขา ซึ่งเมื่อท่านได้รับหนังสือของฉันฉบับนี้ ขอให้ท่านตรวจดูสิ่งที่พวกเขานำมาให้ท่านที่ค่ายทหารไม่ว่าจะเป็นม้าหรือสมบัติอื่นๆ แล้วจงจัดสรรมันให้กับมุสลิมผู้เข้าร่วมสงคราม และจงปล่อยที่ดินและแม่น้ำให้แก่เจ้าของผู้ทำประโยชน์ตามเดิม เพื่อมันจะได้เป็นสมบัติของประชาชนมุสลิมทั้งมวล เพราะหากท่านจัดสรรมันแก่ผู้ร่วมสงครามแล้ว จะไม่มีอะไรเหลือให้ผู้มาภายหลังอีกเลย (al-Bayhaqiy, 1344 A.H.:2/41: 18832)
และประชาชนจากแถบซีเรีย จอร์แดน เลบานอน และปาเลสไตน์ก็เช่นเดียวกัน ท่านกล่าวถึงหนังสือที่บิลาลและพวกได้ส่งมายังมะดีนะฮฺเพื่อขอให้ท่านเคาะลีฟะฮฺจัดสรรที่ดินว่า
“แท้จริง ทรัพย์สินแพ้สงครามที่เราได้รับนี้ หนึ่งส่วนห้าเป็นของท่าน ส่วนที่เหลือเป็นของเรา ไม่มีอะไรเหลือให้กับผู้อื่นดังที่ท่านนบีเคยจัดสรรที่เมืองค็อยบัรฺ" ท่านอุมัรฺจึงตอบไปยัง "ฉันจะไม่ทำอย่างที่พวกท่านพูดหรอก แต่ฉันจะให้มันเป็นของสาธารณะเพื่อชาวมุสลิมทั้งมวล” (al-Bayhaqiy, 1344 A.H.:2/67: 18856)
ส่วนที่อียิปต์ ข้าหลวงอัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศ ก็ต้องถูกอัล-ซุเบรฺ อิบนฺ อัล-เอาวาม กดดันด้วยเช่นกัน ดังที่อัล-บัยหะกียฺได้กล่าวว่า
ฉันได้ยินสุฟยาน อิบนฺ วัฮบฺ อัล-เคาลานียฺ เล่าว่า "หลังจากที่พวกเราสามารถพิชิตอียิปต์โดยไม่มีสนธิสัญญา อัล-ซุเบรฺ อิบนฺ อัล-เอาวามก็ได้ลุกขึ้นพูดว่า "โอ้ อัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศ ขอให้ท่านจงจัดสรรมัน" อัมรฺตอบว่า "ไม่ ฉันจะไม่แบ่งมัน" อัล-ซุเบรฺกล่าวว่า "ขอสาบานกับอัลลอฮฺ ท่านจะต้องจัดสรรมันอย่างแน่นอนดังที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺเคยจัดสรรที่ค็อยบัร" อัมรฺ ตอบว่า "ขอสาบานกับอัลลอฮฺ ฉันจะไม่จัดสรรมันจนกว่าฉันจะมีหนังสือแจ้งไปยังท่านอะมีรุลมุมีนีน” แล้วอุมัรฺก็มีหนังสือตอบมาว่า"ฉันตั้งมันไว้เพื่อให้ลูกหลานที่นี่จะได้ทำหน้าที่รบรากับศัตรูกันต่อไป” (al-Bayhaqiy, 1344 A.H.:2/406: 13208)
นี่คือบรรยากาศทั่วไปที่เกิดขึ้นหลังจากท่านได้มีคำสั่งยกเลิกการแบ่งสรรที่ดินให้กับทหารผู้เข้าร่วมสงคราม แต่เนื่องจากทหารของท่าน ส่วนใหญ่เป็นทหารที่มีคุณธรรมและยึดมั่นในหลักการอิสลามอย่างเคร่งครัด ท่านจึงสามารถใช้หลักการอิสลามมาชี้แจงจนพวกเขาพอใจโดยได้ยกบทบัญญัติในอัลกุรอานต่อไปนี้มาอ่านและอธิบายแก่บรรดาเหล่าทหารผู้ร่วมประชุมว่า
ﭽ ﮈ ﮉ ﮊ ﮋ ﮌ ﮍ ﮎ ﮏ ﮐ ﮑ ﮒ ﮓ ﮔ ﮕ ﮖ ﮗ ﮘ ﮙ ﮚ ﮛ ﮜ ﮝ ﮞﮟ ﮠ ﮡ ﮢ ﮣ ﮤ ﮥ ﮦ ﮧﮨ ﮩ ﮪﮫ ﮬ ﮭ ﮮ ﮯ ﮰ ﮱ ﯓ ﯔ ﯕ ﯖ ﯗ ﯘ ﯙ ﯚ ﯛ ﯜ ﯝ ﯞ ﯟ ﯠﯡ ﯢ ﯣ ﯤ ﯥ ﭼ الحشر: ٧ - ٨
ความว่า : และสิ่งใด ๆ ที่อัลลอฮฺทรงมอบให้เราะสูลของพระองค์ที่ยึดมาได้จากชาวเมือง (ที่แพ้สงคราม) สิ่งนั้นย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ และเป็นกรรมสิทธิ์ของญาติสนิท เด็กกำพร้า ผู้ยากไร้ และผู้เดินทางที่ไร้ที่อาศัย เพื่อมันจะได้ไม่หมุนเวียนเพียงเฉพาะในวงผู้มั่งมีในหมู่พวกเจ้า และอันใดที่เราะสูลได้นำมายังพวกเจ้า ก็จงยึดเอาไว้ และอันใดที่ท่านห้ามพวกเจ้าก็จงละเว้นเสีย และพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเข้มงวดในการลงโทษ (สิ่งที่ยึดมาได้นั้น) เป็นสมบัติของบรรดาผู้อพยพที่ขัดสนซึ่งถูกขับออกจากบ้านเกิดเมืองนอนและต้องทอดทิ้งทรัพย์สินเพื่อแสวงหาความโปรดปรานและความยินดีจากอัลลอฮฺ อีกทั้งยังช่วยเหลืออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ คนเหล่านั้นแหล่ะคือผู้สัตย์จริง (อัล-หัชรฺ : 7-8)
ท่านอุมัรฺอธิบายชี้แจงว่า "ขอสาบานกับอัลลอฮฺ มันไม่ใช่เป็นสมบัติเฉพาะของพวกเขาเพียงพวกเดียวเท่านั้น" แล้วท่านก็อ่านต่อไปว่า
ﭽ ﯦ ﯧ ﯨ ﯩ ﯪ ﯫ ﯬ ﯭ ﯮ ﯯ ﯰ ﯱ ﯲ ﯳ ﯴ ﯵ ﯶ ﯷ ﯸ ﯹ ﯺ ﯻ ﯼ ﯽﯾ ﯿ ﰀ ﰁ ﰂ ﰃ ﰄ ﰅ ﰆ ﭑ ﭒ ﭓ ﭔ ﭕ ﭖ ﭗ ﭘ ﭙ ﭚ ﭛ ﭜ ﭝ ﭞ ﭟ ﭠ ﭡ ﭢ ﭣ ﭤ ﭥ ﭦ ﭧ ﭨ ﭼ الحشر: ٩ - ١٠
ความว่า : และบรรดาผู้ที่ได้ปลูกบ้านเรือนและความศรัทธาเตรียมไว้ก่อนพวกเขาจะอพยพมาถึงซึ่งต่างรักใคร่ผู้ที่อพยพมายังพวกเขาโดยในหัวใจพวกเขาไม่มีความต้องการหรือความอิจฉาในสิ่งที่คนเหล่านั้นได้รับมอบ และพวกเขายังให้สิทธิแก่ผู้อื่นก่อนตัวเองถึงแม้ว่าพวกเขายังมีความต้องการอยู่มากก็ตาม และผู้ใดปกป้องความตระหนี่ที่อยู่ในตัวของเขา คนเหล่านั้นคือผู้ประสบความสำเร็จ และบรรดาผู้ที่มาหลังจากพวกเขาโดยพวกเขากล่าวว่าข้าแต่พระเจ้าของเรา ขอทรงโปรดอภัยให้แก่เราและแก่พี่น้องผู้ซึ่งได้มีความศรัทธาก่อนหน้าเรา และขอพระองค์อย่าสร้างความเคียดแค้นต่อบรรดาผู้ศรัทธาให้เกิดขึ้นในหัวใจของเรา ข้าแต่พระเจ้าของเรา แท้จริงพระองค์นั้นทรงเป็นผู้ทรงเอ็นดู ผู้ทรงเมตตาเสมอ (อัล-หัชรฺ : 9-10)
ท่านกล่าวเสริมท้ายว่า "ขอสาบานกับอัลลอฮฺ มุสลิมทุกคนย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินนี้ ไม่ว่าเขาจะได้รับแล้วหรือยังไม่ได้รับ จนแม้กระทั่งคนเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ที่เอเดนก็ตาม" (al-Bayhaqiy, 1994:6/351: 12781)
นี่คือบางตัวอย่างที่แสดงถึงการมีความคิดที่มั่นคงของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ซึ่งผลการตัดสินใจยืนหยัดในความคิดนี่เองที่ทำให้เกิดกรมที่ดินเพื่อทำการสำรวจและขึ้นทะเบียนที่ดิน ทำให้รายได้ของกองคลังขยับตัวขึ้นสูงในทันทีที่มตินี้ถูกนำไปปฏิบัติ และด้วยรายได้อันมหาศาลนี่เองที่ทำให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ และนำรัฐอิสลามไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่
9. รับฟังเหตุผล
การยอมรับและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นนับเป็นอีกหนึ่งลักษณะของการเป็นผู้นำที่ดี เพราะเมื่อผู้นำรับฟังความคิดของคนอื่น เขาก็จะสามารถคัดกรองเอาความคิดเห็นที่ดีที่สุดมาปฏิบัติซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งกับตัวเองและประชาชน ในขณะเดียวกัน หากผู้นำหลงตัวเอง มองว่าความคิดตัวเองสมบูรณ์แบบเบ็ดเสร็จ เขาและสังคมก็ต้องพลอยหมดโอกาสจะได้รับพลอยเม็ดงามซึ่งบางทีอาจได้รับจากประชาชนชั้นต่ำสุดในสังคมก็เป็นได้
เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ นั้นแม้ว่ามีความโดดเด่นในฐานะผู้บุกเบิกความคิดใหม่ ๆ ตลอดจนเป็นผู้ยืนหยัดและมั่นคงในความคิดที่ตนเห็นชอบ แต่บ่อยครั้งที่ความคิดเหล่านี้เป็นความคิดที่เกิดจากการเสนอแนะของคนอื่น และบ่อยครั้งที่ท่านยอมรับว่าตัวเองคิดผิดหลังจากที่ได้รับฟังเหตุผลของผู้อื่น เช่นกรณีการล้มเลิกความคิดที่จะออกไปทำสงครามนิฮาวันดฺด้วยตัวเองหลังจากได้รับฟังเหตุผลต่างๆ ซึ่งอิบนุลอะษีรได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
ท่านอุมัรฺได้ประชุมร่วมกับประชาชนและกล่าวแก่พวกเขาว่า "วันนี้เป็นวันกำหนดอนาคตข้างหน้า ซึ่งฉันเห็นว่าฉันสมควรจะออกเดินทางไปพร้อมกับทหารของฉันและคนที่ฉันสามารถจะเกณฑ์พวกเขาได้ แล้วฉันก็ไปปักหลักอยู่ใจกลางระหว่างสองเมืองนี้แล้วก็เชิญชวนพวกเขาให้ออกไปทำสงครามด้วยกัน โดยฉันจะเป็นกองหลังให้กับพวกเขาจนกว่าอัลลอฮฺจะทำให้พวกเขาพ่ายแพ้และประทานสิ่งที่ฉันต้องการ ซึ่งหากอัลลอฮฺให้พวกเขาพ่ายแพ้ ฉันก็จะได้กวาดต้อนพวกเขาถึงในบ้านเมืองของพวกเขาเองเลยทีเดียว (Ibn Athir, n.d.: 1/454)
อิบนุลเญาซียฺ (Ibn al-Jawziy) ที่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ต่อไปว่า
ฏ็อลหะฮฺจึงลุกขึ้นกล่าวว่า "ท่านคือผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ และท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้วยประสบการณ์ ดังนั้น จงเรียกเถอะเราจะมา จงสั่งเถอะเราจะทำ เพราะท่านเป็นผู้นำที่จำเริญก้าวหน้า" แล้วเขาก็นั่งลง ท่านอุมัรฺจึงกล่าวต่อว่า "ไหนคนอื่น จงพูดซิ" แล้วอุษมานก็ลุกขึ้นพูดว่า "ฉันเห็นว่า ท่านควรมีหนังสือไปยังชาวเมืองชามแล้วก็ให้พวกเขายาตราออกไปจากเมืองชามของเขา มีหนังสือไปยังชาวเยเมนแล้วให้พวกเขายาตราออกไปจากเมืองเยเมนของเขา และท่านเองก็ออกจากสองเมืองทรงเกียรติแห่งนี้ไปยังสองเมืองนั้น คือกูฟะฮฺและบัศเราะฮฺ แล้วกองทัพผู้ปฏิเสธก็ประจันหน้ากับกองทัพชาวมุสลิม"
แล้วอะลียฺ อิบนฺ อบีฏอลิบก็ลุกขึ้นกล่าวว่า "ท่านนี่นะ หากว่าท่านเกณฑ์ชาวเมืองชาม พวกโรมันก็จะยกทัพไปจับลูกเมียพวกเขา หากท่านเกณฑ์ชาวเยเมน พวกเอธิโอเปียก็จะยกทัพไปจับลูกเมียพวกเขา และหากท่านเอง เมื่อใดที่ท่านออกไปจากสองเมืองที่ทรงเกียรติแห่งนี้ด้วยตัวเองแล้วละก็แผ่นดินทั้งแผ่นดินก็จะทุกข์ระทม กระทั่งสิ่งที่ทิ้งไว้ข้างหลังจะกลายเป็นสิ่งที่ท่านต้องตระหนักมากกว่าสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ฉันจึงเห็นว่า ท่านควรจะมีหนังสือไปยังชาวบัศเราะฮฺให้พวกเขาแยกออกเป็นพวกๆ โดยพวกหนึ่งเฝ้าระวังพรรคพวกของเขา ส่วนอีกพวกหนึ่งเดินทางไปสบทบกับพี่น้องของพวกเขาที่เมืองกูฟะฮฺ สำหรับเรื่องที่ท่านพูดถึงการมีจำนวนมากมายของพวกนั้น ในอดีตที่ผ่านมา เราเองก็ไม่เคยรบกับพวกเขาด้วยจำนวนกองกำลัง แต่เรารบกับพวกเขาด้วยการช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ" ท่านอุมัรฺ จึงพูดว่า "จริงของท่าน อะบุลหะสัน นี่แหล่ะความเห็นที่ถูกต้อง” (Ibn al-Jawziy, n.d.: 2/23)
นี่คือตัวอย่างของการรับฟังเหตุผลของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺในเรื่องใหญ่ที่มีผลในทางปฏิบัติต่อผู้คนและทรัพย์สินมากมาย แต่ในเรื่องเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ท่านก็ไม่เคยใช้อำนาจบาตรใหญ่ของตัวเองในการตัดสินใดๆ ต่อประชาชนโดยพลการอย่างไม่ฟังเหตุผล
อัล-เฏาะหาวียฺ (al-Tahawiy, n.d.: 7/167: 2665)ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่แสดงถึงการรับฟังเหตุผลของท่านว่า
ท่านอุมัรฺได้เห็นชายคนหนึ่งกำลังตัดกิ่งไม้ในเขตอนุรักษ์อัล-หะร็อมและนำไปให้อูฐของเขากิน ท่านจึงกล่าวว่า "จงพาเขามาหาฉันซิ" แล้วเขาก็ถูกนำตัวมาหาท่าน ท่านถามว่า "โอ้ อับดุลลอฮฺ ท่านไม่รู้หรือว่าเมืองมักกะฮฺนั้นเป็นเขตอนุรักษ์หวงห้าม ห้ามตัดกิ่งไม้ของมัน ห้ามขับไล่ตะเพิดสัตว์ของมัน และห้ามเก็บสิ่งของที่ตกหล่นใดๆ นอกจากผู้ที่ต้องการนำคืนให้กับเจ้าของ? " เขาตอบว่า "โอ้ อะมีรุลมุมินีน ขอสาบานกับอัลลอฮฺ ที่ฉันทำไปก็เพราะฉันมีอูฐที่อ่อนแอตัวหนึ่งซึ่งฉันเกรงว่ามันจะไม่สามารถจะพาฉันไปพบลูกเมียของฉันได้ และฉันเองก็หมดเสบียงและเงินเพื่อใช้จ่ายแล้ว" ท่านจึงใจอ่อนหลังจากเดิมที่ต้องการลงโทษเขา แล้วท่านจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่นำอูฐจากคลังหลวงตัวหนึ่งซึ่งมีความแข็งแรงและสามารถบรรทุกสิ่งของมาให้เขา ท่านกล่าวว่า "ท่านจงอย่าหวนมาตัดกิ่งไม้ใด ๆในเขตอนุรักษ์อัล-หะร็อมนี้อีกเป็นอันขาด" (al-Tahawiy, n.d.: 7/167: 2665)
อิหม่าม อัล-บุคอรียฺ ได้บันทึกเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงถึงการรับฟังเหตุผลของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ กล่าวคือมีประชาชนจากต่างถิ่นมาส่งเสียงดังในบริเวณมัสยิดนบีที่มะดีนะฮฺ ซึ่งสำหรับคนเมืองมะดีนะฮฺถือว่าการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งผิดธรรมเนียมปฏิบัติและต้องโดนลงโทษ แต่เมื่อเป็นคนจากต่างถิ่นท่านก็ให้อภัย อัล-บุคอรียฺรายงานว่า
อัส-สาอิบ อิบนฺ ยะซีด เล่าว่า "ขณะที่ฉันกำลังยืนอยู่ในมัสยิดนบี มีชายคนหนึ่งปาลูกหินมาสะกิดฉัน ฉันจึงหันไปมองปรากฏว่าเป็นอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ ท่านกล่าวว่า "ไปซิ ไปนำสองคนนั้นมาหาฉันหน่อย" แล้วฉันก็นำเขาทั้งสองมาหาท่าน ท่านถามว่า "พวกท่านทั้งสองเป็นใคร พวกท่านทั้งสองมาจากไหน?" ทั้งสองตอบว่า "เป็นชาวเมืองฏออิฟ" ท่านกล่าวว่า "หากท่านทั้งสองเป็นชาวเมืองนี้ แน่นอนฉันจะตีพวกท่านให้เจ็บแสบ พวกท่านส่งเสียงดังในมัสยิดเราะสูลุลลอฮฺ-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ได้อย่างไรกัน? (al-Bukhayriy, 1987: 1/179: 458)
10. เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง
การเข้าใจและให้ความเคารพต่อความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งมีความแตกต่างจากความคิดเห็นของตัวเองนับเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ผู้นำพึงมี เพราะหากขาดคุณสมบัตินี้แล้ว ผู้นำคนนั้นก็จะเป็นผู้นำที่ไม่ให้ความสำคัญต่อผู้ที่ไม่เหมือนเขา จะเป็นผู้นำที่สร้างปัญหาให้กับรัฐและประชาชนตลอดไป เพราะในรัฐที่กว้างใหญ่และมีประชาชนมาจากครอบครัวอันหลากหลาย ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะมีความคิดเห็นเหมือนกันหมด
เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ นั้นเป็นผู้นำที่มีความประนีประนอมทางความคิดและให้ความเคารพในความคิดของผู้อื่นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องศาสนาและวัฒนธรรม ดังสังเกตว่า แม้โดยส่วนตัวท่านจะเป็นคนที่เคร่งครัดในศาสนาอิสลามเป็นอย่างมาก แต่ท่านก็ยังมีทาสเป็นชาวคริสเตียนคนหนึ่งชื่อว่า “อะชัก” ซึ่งท่านเคยชักชวนเขาให้เข้ารับอิสลาม เพื่อจะได้มอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามให้เขาทำ แต่เขาปฏิเสธ ซึ่งท่านเคาะลีฟะฮฺก็ไม่บังคับแต่อย่างใด โดยท่านยกอายะฮฺอัลกุรอานว่า :
﴿لاَ إِكراهَ فِي الدِّينِ﴾ (البقرة : 256)
ความว่า: ไม่มีการบังคับในศาสนา (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 256)
และเมื่อท่านใกล้จะสิ้นชีวิต ท่านยังปล่อยเขาให้เป็นไท (al-Suyutiy,n.d.: 28/281: 31087) นอกจากนี้ เมื่อชาวมุสลิมสามารถพิชิตเมืองอเล็กซานเดรีย เมืองสำคัญของอียิปต์ ท่านยังได้สั่งให้อัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศ แบ่งพื้นที่บนเนินเขาอัล-มักฏ็อมให้เป็นสุสานแก่ชาวคริสเตียนตามความเชื่อของพวกเขาว่าแผ่นดินแห่งนั้นถือเป็นเสมือนดินแดนสวรรค์แม้โดยส่วนตัวท่านจะไม่เห็นด้วยก็ตาม (al-Humayriy, 1980: 557)
อัล-ศ็อลลาบียฺ (al-Sallabiy) ได้กล่าวว่า
ชาวอะฮฺลุลกิตาบ (ชาวคริสเตียนและยิว) สามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนาและจารีตประเพณีตามความเชื่อของตน ทั้งในศาสนสถานและในเคหะสถาน และไม่มีผู้ใดขัดขวางพวกเขาจากการกระทำดังกล่าวเพราะกฎหมายอิสลามได้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่พวกเขา (al-Sallabiy, n.d.: 145)
เช่นเดียวกันการยอมรับในประเพณีของประชาชนที่หลากหลายเชื้อชาติและศาสนา ดังที่อัล-มิกริซียฺ (al-Miqriziy) ได้กล่าวถึงการเฉลิมฉลองต้อนรับการมาเยือนของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ ณ เมืองชามของประชาชนชาวคริสเตียน โดยพวกเขาให้การต้อนรับท่านด้วยการร้องรำตีกลองซึ่งเป็นการขัดกับความรู้สึกส่วนตัวของท่าน แต่เมื่อได้ฟังคำชี้แจงของอบู อุบัยดะฮฺ ข้าหลวงประจำแคว้น ท่านก็ปล่อยให้พวกเขาแสดงตามวัฒนธรรมประเพณีของพวกเขา อัล-มิกริซียฺ กล่าวว่า
ฮิชาม อิบนฺ อัล-กัลบียฺได้เล่าว่าในตอนที่ท่านอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบมาถึงเมืองชามนั้น บรรดานักระบำร่ายดาบและควันน้ำหอมได้มาแสดงเพื่อต้อนรับท่าน ท่านอุมัรฺรู้สึกอึดอัดใจที่จะชมการแสดงของพวกเขา และกล่าวว่า "นำพวกเขากลับไปได้แล้ว" อบู อุบัยดะฮฺ อิบนฺ อัล-ญัรร็อหฺจึงตอบว่า "มันเป็นประเพณีของคนต่างชาติ หากฉันห้ามพวกเขา พวกเขาก็จะคิดว่ามันเป็นการละเมิดสนธิสัญญาที่ได้ให้ต่อพวกเขา" ท่านอุมัรฺจึงตอบว่า "ถ้าอย่างนั้น ก็จงปล่อยให้เขาแสดงต่อไป" (al-Miqriziy, n.d.: 2/410)
11. ถ่อมตน
ผู้นำจะต้องถ่อมตัว ให้เกียรติแก่ประชาชนทุกระดับอย่างเท่าเทียมกัน ต้องเข้าใจว่ามนุษย์ทั้งหมดต่างรักในเกียรติยศและศักดิ์ศรี ไม่มีใครชอบให้ผู้อื่นมาลบหลู่แม้ว่าเขาจะเป็นคนด้อยโอกาสเพียงใดก็ตาม หากพยายามยกตัวเองข่มผู้อืนเมื่อใดก็เสมือนพยายามจะดิสเครดิตตัวเองเมื่อนั้น ความเคารพที่ประชาชนให้กับเขาก็จะเป็นเพียงภาพการประจบสอพลอที่รอโอกาสจะสาปแช่งหมดสิ้นซึ่งความศรัทธาและเลื่อมใสจากจิตใจของประชาชน
เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่ถ่อมตัวเป็นอย่างมาก ท่านถ่อมตัวอย่างบริสุทธิ์ใจทั้งด้วยวาจาและการแสดงออก ท่านกล่าวแก่ประชาชนว่า
โอ้ ประชาชนทั้งหลาย พวกท่านจงถ่อมตัวเถิด เพราะฉันเคยได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม-กล่าวว่า "ผู้ใดถ่อมตนอย่างบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ อัลลอฮฺจะทรงยกฐานะของเขา และกล่าวว่า เจ้าจงเงยหน้าขึ้นซิ อัลลอฮฺได้ทรงยกฐานะของเจ้าแล้ว ซึ่งพวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า แต่ในสายตาของผู้อื่นเขาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และผู้ใดที่ลำพองตน อัลลอฮฺจะทรงให้เขาต่ำต้อย และกล่าวว่า จงก้มหน้าลงซิ อัลลอฮฺให้เจ้าต่ำต้อยแล้ว ซึ่งเขารู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่ แต่ในสายตาของผู้อื่นเป็นผู้ต่ำต้อยจนไร้ค่ายิ่งกว่าสุนัขเสียอีก" (Abu Nua’im al-Asbahaniy,n.d.: 7/129)
การเดินทางของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺไปเยือนเมืองชามครั้งประวัติศาสตร์เพื่อรับมอบเมืองปาเลสไตน์ที่ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนรัฐอิสลามเมื่อปี ฮ.ศ. 16 ดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความถ่อมตัวอย่างเสมอต้นเสมอปลายของท่านอุมัรฺเป็นอย่างดี ซึ่งในตอนที่มาเมืองชามนั้น ท่านได้มาพร้อมกับอัล-อับบาสและคนรับใช้ ครั้นเมื่อใกล้ถึงเมืองชาม ท่านอุมัรฺก็ได้เปลี่ยนไปขี่อูฐของคนรับใช้ซึ่งมีอานที่ไม่ดี โดยให้ท่านอัล-อับบาสเป็นคนขี่ม้านำหน้า ซึ่งเป็นม้าที่สวยและท่านเองเป็นคนรูปหล่อ ดังนั้น พอมาถึงเมืองชามเหล่าผู้นำศาสนาคริสต์ที่ยังไม่รู้จักกับท่านเคาะลีฟะฮฺต่างก็เข้าไปจับมือท่านอัล-อับบาส ท่านจึงบอกว่า ไม่ใช่ฉันหรอก แต่เขา (เคาะลีฟะฮฺ) คือคนนั้นต่างหาก (Ibn Manzur,n.d.:4/102)
อิบนุ กะษีรฺ (Ibn Kathir) ได้กล่าวถึงสภาพความถ่อมตนของเคาะลีฟะฮุมัรในตอนที่ท่านเดินทางไปที่แคว้นชามว่า
อบู อัล-ฆอลิยะฮฺ แห่งชามได้เล่าว่า "ท่านอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบได้มาถึงเมืองญาบิยะฮฺเพื่อผ่านไปยังเมืองอีลิยาอ์ (ปาเลสไตน์) ด้วยอูฐดำตัวหนึ่ง ความโล้นของศีรษะท่านได้สะท้อนประกายแวววับเมื่อดวงอาทิตย์ส่องมาเพราะบนศีรษะท่าน ไม่มีหมวกหรือผ้าโพกศีรษะใดๆ เลย เท้าสองข้างของท่านไขว้กระทบกันระหว่างสองขั้วอานโดยไม่มีที่ตั้งเท้า ผ้าปูของท่านคือผ้าขนอัมบะญานียฺ ซึ่งมันถูกใช้เป็นอานเมื่อท่านขี่สัตว์และเป็นผ้าปูนั่งเมื่อท่านแวะพัก กระเป๋าของท่านเป็นผ้าลายขาวดำหรือถุงผ้าที่เย็บข้างด้วยเชือกอินทผลัม ซึ่งมันเป็นกระเป๋าในยามเดินทางและเป็นหมอนเมื่อยามแวะพัก ท่านสวมเสื้อยาวที่ทอจากผ้าฝ้ายหยาบๆ ที่ทะลุและฉีกขาดตามชายขอบ
ท่านกล่าวว่า "จงเรียกหัวหน้าเผ่ามาพบฉันหน่อยซิ" แล้วพวกเขาก็เรียกหัวหน้าเผ่ามาเข้าพบ ท่านกล่าวว่า "นี่พวกท่านช่วยซักและเย็บปะเสื้อผ้าของฉันหน่อยซิ แล้วเอาผ้าหรือเสื้ออื่นมาให้ฉันยืมก่อน" แล้วเสื้อค็อตต็อนอย่างดีก็ได้ถูกนำมามอบให้ท่าน ท่านถามว่า "นี่มันทอจากอะไรกัน?" เขาตอบว่า "เป็นเสื้อค็อตต็อน" ท่านถามว่า "ค็อตต็อนคืออะไร?" พวกเขาจึงอธิบายให้ท่านฟัง ท่านจึงถอดเสื้อออก แล้วมันก็ถูกนำไปซัก เย็บปะ และนำมามอบกลับให้กับท่าน ท่านจึงถอดเสื้อของพวกเขาออก และสวมเสื้อของท่านตามเดิม หัวหน้าเผ่าเลยกล่าวว่า "ท่านนี้เป็นราชาแห่งอาหรับ และเมืองนี้เขาไม่ขี่อูฐกันหรอก ท่านเห็นอย่างไรหากท่านสวมเสื้ออีกตัวหนึ่งที่ไม่ใช่เสื้อตัวนี้และขี่ม้าเร็วตัวหนึ่ง สิ่งนี้ย่อมเป็นที่ยิ่งใหญ่ในสายตาของพวกโรมัน" ท่านตอบว่า "เราเป็นชนที่อัลลอฮฺให้เกียรติเพราะอิสลาม ดังนั้นเราจะไม่ยอมเอาอะไรมาแลกกับอัลลอฮฺ" แล้วเมื่อม้าเร็วถูกนำมาให้แก่ท่าน ท่านก็ขึ้นควบมันสักพักหนึ่งโดยไม่ใช้ที่วางเท้าและอานนั่ง แล้วท่านก็กล่าวว่า "ล่ามมัน ล่ามมันไว้ ฉันไม่เคยเห็นผู้คนขี่ชัยฏอนก่อนหน้านี้เลย" แล้วอูฐของท่านก็ได้ถูกนำมาให้ท่านขี่ต่อ” (Ibn Khathiyr, 1988: 7/61)
อิบนุมันซูร (Ibn Manzur) ได้เล่าเหตุการณ์ครั้งนี้หลังจากที่ท่านออกจากเมืองญาบิยะฮฺว่า
แล้วท่านอุมัรฺก็เดินทางออกจากอัล-ญาบิญะฮฺมุ่งหน้าไปยังจอร์แดนซึ่งมีประชาชนจำนวนมากคอยต้อนรับท่าน โดยประชาชนมุสลิมและต่างศาสนาต่างยืนคอยท่าน แล้วท่านก็เดินทางมาพบพวกเขาบนลาตัวหนึ่งโดยที่มีอัล-อับบาสขี่ม้านำหน้า เมื่อชาวยิวและคริสเตียนเห็นท่าน พวกเขาก็ก้มลงกราบ ท่านกล่าวว่า "พวกท่านจงอย่ากราบไหว้มนุษย์ แต่จงกราบไหว้อัลลอฮฺ" แล้วท่านก็เดินทางต่อไป บรรดานักบวชยิวและคริสเตียนต่างพากันกล่าวว่า "เราไม่เคยเห็นผู้ใดที่มีลักษณะคล้ายกับอัล-หะวารียีน (ผู้ศรัทธาต่อเยซู) มากไปกว่าชายคนนี่เลย" (Ibn Manzur,n.d.:4/102)
และด้วยการถ่อมตัวตลอดเวลานี่เอง ทำให้ท่านไม่ยอมรับการยกยอใดๆ ที่แสดงถึงความดีเลิศของตัวเอง ดังที่อัล-ซัรคียฺ (al-Zarkhiy) กล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งหนึ่งว่า
มีชายคนหนึ่งพูดกับท่านอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบว่า "โอ้ สุดยอดคนดี" ท่านอุมัรฺไม่เข้าใจคำพูดดังกล่าว ท่านจึงถามว่า "เอ๊ะ ท่านพูดว่าอะไรนะ?” แล้วพวกเขาก็ตอบว่า "เขาคนนั้นพูดว่า "โอ้ สุดยอดคนดี" แล้วท่านอุมัรฺก็กล่าวแก่เขาว่า "มาใกล้ฉันหน่อยซิ ฉันไม่ใช่สุดยอดคนดีหรอก จะบอกให้เอาไหมว่าใครคือสุดยอดคนดี?" เขาตอบว่า "ใครกัน โอ้ ท่านอะมีรุลมุมินีน?" ท่านอุมัรฺตอบว่า "คือชายชาวชนบทเจ้าของอูฐหรือแกะฝูงหนึ่ง ที่เข้ามาในเมืองหนึ่งด้วยอูฐหรือแกะของเขา แล้วก็ขายมันไป จากนั้นได้เอาเงินไปบริจาคในหนทางของอัลลอฮฺ เพื่อเป็นเสบียงในการต่อสู้ของชาวมุสลิมกับข้าศึก นั้นแหล่ะคือสุดยอดคนดี" (al-Zarkhiy, n.d.: 1/13)
12. ประหยัด อยู่อย่างพอเพียง
การมีความประหยัดและอยู่อย่างพอเพียงนับเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้นำ เพราะผู้นำคือผู้ที่ประชาชนให้การศรัทธาและลอกเลียนแบบ หากเขาประหยัด ประชาชนก็จะประหยัดตาม ปัญหาทางเศรษฐกิจของชาติก็จะลดลง รายได้ของประเทศก็จะดีขึ้น แต่หากผู้นำอยู่อย่างฟุ่มเฟือย ประชาชนก็จะฟุ่มเฟือยตาม มีเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ กระทั่งเกิดภาวะวิกฤติปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่ยากจะเหยียวยาและแก้ไข
เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่มีความเป็นอยู่อย่างประหยัดและพอเพียง เป็นผู้นำที่ภูมิใจในความสำเร็จของหน้าที่มากกว่าภูมิใจในภาพลักษณ์ที่หรูหราของตัวเอง เป็นผู้นำที่มุ่งมั่นจัดหารายได้เข้ากองคลังหลวงมากกว่าจะหารายได้ให้ตัวเองและครอบครัว ท่านกำหนดเงินเดือนและสวัสดิการประจำตำแหน่งของตัวเองให้เป็นเพียงแค่การมีอาหารสำหรับตัวเองและครอบครัวในระดับปานกลางของบุคคลทั่วไป มีเสื้อผ้าปีละสองชุด คือชุดฤดูหนาวกับชุดฤดูร้อน และมีค่าใช้จ่ายเพื่อไปทำหัจญ์และอุมเราะฮฺที่นครมักกะฮฺปีละหนึ่งครั้ง ซึ่ง al-Suyutiy ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
อัล-อะหฺนัฟ อิบนฺ ก็อยสฺ เล่าว่า "ในขณะที่พวกเรากำลังนั่งอยู่หน้าประตูบ้านของท่านอุมัรฺ ก็มีหญิงคนหนึ่งเดินผ่านมา พวกเขากล่าวว่า เธอคือทาสหญิงของอะมีรุลมุมินีน ท่านจึงกล่าวว่า "นางไม่ใช่ทาสหญิงของอะมีรุลมุมินีนหรอก และก็ไม่สมควรที่จะเขาจะครอบครองด้วยซ้ำไป แต่นางคือสมบัติของคลังหลวง" เราจึงถามว่า "แล้วสมบัติจากคลังหลวงมีอะไรบ้างที่ท่านสามารถครอบครองได้?" ท่านตอบว่า "แท้จริง สมบัติจากคลังหลวงที่อุมัรฺสามารถครอบครองได้มีเพียงเสื้อผ้าสองชุด ชุดหนึ่งเพื่อใช้ในฤดูหนาวและอีกชุดหนึ่งเพื่อใช้ในฤดูร้อน และสิ่งจำเป็นที่ฉันต้องใช้จ่ายเพื่อทำหัจญ์และอุมเราะฮฺ ตลอดจนอาหารของฉันและครอบครัวที่เป็นอาหารของชาวกุร็อยชฺคนหนึ่งที่มีฐานะไม่ใช่คนร่ำรวยที่สุดหรือคนที่ยากจนที่สุด ซึ่งนอกเหนือจากสิ่งนี้ ฉันก็คือประชาชนมุสลิมธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเอง" (al-Suyutiy, 1952: 1/116)
จากรายได้ประจำตำแหน่งในจำนวนดังกล่าว ที่ท่านเองเป็นผู้กำหนด ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของท่านสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับรายได้ที่ท่านได้รับมา
อัล-สุยูฏียฺ (al-Suyuytiy) ได้กล่าวถึงสภาพชีวิตประจำวันของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ว่า
ท่านอุมัรฺในขณะที่เป็นเคาะลีฟะฮฺนั้นท่านได้สวมเสื้อยาวจากผ้าหยาบที่มีรอยปะเย็บด้วยด้ายจากเส้นเชือกของต้นอินทผลัม ท่านวนเวียนตรวจตรารอบๆ ตลาดโดยมีไม้เรียวอยู่บนคอเพื่อใช้สั่งสอนประชาชน เมื่อท่านเดินพบเมล็ดพืชหรือสิ่งตกหล่น ท่านก็จะเก็บและโยนเข้าไปยังบ้านเรือนของประชาชนเพื่อพวกเขาจะได้ใช้ประโยชน์ (al-Suyutiy, 1952: 1/116)
เช่นเดียวกันกับอิบนุ อัล-เญาซียฺ (Ibn al-Jawziy) ที่ได้กล่าวถึงความเรียบง่ายของท่านในยามเดินทางว่า
อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อามิร อิบนฺ เราะบีอะฮฺเล่าว่า "ฉันเคยเดินทางกับท่านอุมัรฺจากมะดีนะฮฺไปยังมักกะฮฺเพื่อทำหัจญ์และกลับมาด้วยกัน ปรากฏว่าท่านไม่เคยกางกระโจมหรือมีที่สำหรับให้ท่านได้เข้าอยู่ในที่ร่มเลย ท่านเพียงแต่ขึงเสื่อหรือผ้ากับต้นไม้ แล้วก็เข้าไปอยู่ใต้ร่มเงาของมัน (Ibn al-Jawziy, n.d.: 463)
ทั้งนี้ การเดินทางไปทำหัจญ์ของท่านมีค่าใช้จ่ายเพียงสิบหกดีนาร์เท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายเพียงน้อยนิดจำนวนนี้ได้กลายเป็นอุทาหรณ์แก่คนรุ่นหลังเพื่อให้พวกเขาได้พิจารณาตัวเองว่าเป็นคนประหยัดหรือฟุ่มเฟือย ดังที่สุฟยาน อัล-เษารียฺได้กล่าวตักเตือนแก่เคาะลีฟะฮฺอัล-มะฮฺดียฺว่า
"ท่านอุมัรฺไปทำหัจญ์และใช้จ่ายในกิจการหัจญ์ของท่านเพียงสิบหกดีนาร์เท่านั้นเอง แล้วท่านทำหัจญ์ล่ะ ท่านใช้จ่ายในหัจญ์ของท่านเป็นคลังๆ เลย" อัล-มะฮฺดียฺกล่าวว่า "แล้วจะให้ฉันทำอย่างไรล่ะ จะให้ฉันใช้จ่ายเหมือนท่านหรือ?" ท่านตอบว่า "ให้เกินกว่าที่ฉันใช้จ่ายขึ้นสักหน่อยและต่ำกว่าที่ท่านใช้จ่ายลงสักนิด" (al-Khatib al-Baghdadiy, n.d.: 4/161)
และไม่เพียงแต่ท่านคนเดียวเท่านั้นที่อยู่อย่างพอเพียง แต่ท่านยังจะหมั่นตรวจสอบบุคคลในครอบครัวให้ดำรงชีวิตอย่างประหยัดและพอเพียงด้วย ซึ่งแม้กระทั่งการซื้ออาหารตามใจชอบโดยไม่มีการระงับตัวเองก็ถือว่าเป็นการฟุ่มเฟือยแล้วในทัศนะของท่าน
อัล-สุยูฏียฺ(al-Suyutiy) กล่าวว่า
อัล-หะสัน เล่าว่า "ท่านอุมัรฺได้มาหาอับดุลลอฮฺบุตรชายของท่านในขณะที่เขากำลังกินเนื้ออยู่ ท่านถามว่า "นี่มันเนื้ออะไรกัน?" เขาตอบว่า "เรารู้สึกอยากกิน" ท่านกล่าวว่า "ทุกครั้งที่เจ้าเกิดอยากกินอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วเจ้าก็กินมันทันทีหรือ? ถือเป็นการฟุ่มเฟือยแล้วสำหรับคนที่กินทุกสิ่งที่ตนอยากกิน" (al-Suyutiy, n.d.: 27/222: 29946)
จากคุณสมบัติการมีความประหยัดอย่างนี้เอง ทำให้ท่านได้กำหนดเป็นนโยบายให้ข้าหลวงทุกคนนำไปปฏิบัติ โดยทุกครั้งที่ท่านจะแต่งตั้งข้าหลวง ท่านจะมอบเงื่อนไขสี่ประการให้เขานำไปปฏิบัติ หากปฏิบัติไม่ได้ถือว่าข้าหลวงคนนั้นมีความผิดและต้องถูกลงโทษ เงื่อนไขสี่ประการดังกล่าวคือ ต้องไม่ขี่ม้าชั้นดี ต้องไม่รับประทานอาหารชั้นดี ต้องไม่สวมเสื้อผ้าชั้นดี และต้องไม่ปิดประตูกีดกั้นการเข้าพบของประชาชน (al-Suyutiy,1952: 1/116)
13. อยู่เหนือกิเลสและอารมณ์ใฝ่ต่ำ
การอยู่เหนือกิเลสและอารมณ์ใฝ่ต่ำนับเป็นคุณสมบัติของผู้นำอีกประการหนึ่ง เพราะการมีคุณสมบัตินี้ทำให้เขาสามารถแยกแยะระหว่างความรู้สึกส่วนตัวกับความถูกต้อง สามารถเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมและยับยั้งตัวเองเมื่อเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อผู้อื่นได้ ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเขาดำเนินไปอย่างเสมอต้นเสมอปลายและได้รับความศรัทธาจากผู้ใต้บังคับบัญชาและประชาชนซึ่งมีผลทำให้การงานรุดหน้าและประสบความสำเร็จ
เคาะลีฟะฮฺ อุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ นั้น เป็นผู้นำที่มีคุณสมบัติเช่นนี้อย่างสมบูรณ์ เพราะท่านเป็นคนที่เคร่งครัดในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามที่มุ่งมั่นให้ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเอาชนะกิเลสและความใฝ่ต่ำได้ จะเห็นได้ว่าในยามค่ำคืน ท่านจะใช้เวลาส่วนใหญ่ด้วยการลุกขึ้นมาละหมาดทำความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าหรือออกไปตรวจตราลาดตระเวนตามตรอกซอยต่างๆ ในขณะที่ประชาชนกำลังนอนหลับอย่างมีความสุข นอกจากนี้ การที่ท่านยอมระงับตัวเองด้วยการไม่กินอาหารดีๆ ไม่แต่งตัวดีๆ ไม่ขี่ยานพาหนะดีๆ หรือการที่ท่านนอนบนดินกินบนทรายและไม่ยอมร่วมหลับนอนกับภรรยาในปีวิกฤติภัยแล้ง ตลอดจนการที่ท่านมักร้องไห้เสมอเมื่อตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อประชาชน สิ่งเหล่านี้ย่อมสะท้อนถึงการอยู่เหนือกิเลสและอารมณ์ใฝ่ต่ำของท่านเป็นอย่างดี
14. มีคณะผู้ร่วมบริหารและคณะที่ปรึกษาที่ดี
การที่จะนำพาประชาชนนับล้านคนไปสู่การพัฒนาเพื่อให้มีสภาพ "อยู่ดี กินดี" ได้สำเร็จนั้น หากผู้ผลักดันและนำพามีเพียงผู้นำคนเดียว คงยากที่จะประสบความสำเร็จได้ เพราะแม้ว่าเขาจะมีคุณสมบัติแห่งการเป็นผู้นำที่สมบูรณ์ทุกประการรวมอยู่ในตัวเขา แต่มนุษย์ก็ย่อมมีขีดจำกัดในด้านเวลาและสังขารของร่างกาย ผู้นำจึงจำเป็นจะต้องมีผู้ช่วย ผู้รับสนองงานและนโยบายต่างๆ เพื่อให้โครงการต่างๆ ที่วางไว้มากมายได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
การมีคณะผู้ร่วมบริหารและคณะที่ปรึกษาที่ดีจึงถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นผู้นำที่ดี เพราะคนเหล่านี้คือผู้ช่วยงานของผู้นำ หากข้าหลวง ผู้พิพากษา อธิบดีกรมต่างๆ ตลอดจนคณะที่ปรึกษาเป็นคนดีและมีความรับผิดชอบเหมือนตัวผู้นำเอง การงานของท่านก็จะดำเนินไปในทางที่ดี สร้างสรรค์ และมีความก้าวหน้า แต่ถ้าหากบุคคลเหล่านี้ ทำงานเพียงเพื่อเอาความดีความชอบในลักษณะ "ผักชีโรยหน้า" หรือทำงานแบบประจบสอพลอ มิได้ทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง แน่นอนภารกิจของผู้นำจะต้องยุ่งเหยิง สับสน ไม่ราบรื่นและก้าวหน้า ทำให้พัฒนาการในด้านต่างๆ จะต้องหยุดชะงักและถดถอยจนสังคมต้องพลอยเดือดร้อนและบ้านเมืองไม่มีความสงบสุข
เคาะลีฟะฮฺ อุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ นับเป็นผู้นำที่มีคณะผู้ร่วมบริหารและคณะที่ปรึกษาที่ดียิ่ง ท่านมีข้าหลวงที่ทรงคุณธรรมในทุกแคว้นทั่วภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นอบู อุบัยดะฮฺ อิบนฺ อัล-ญัรร็อหฺที่แคว้นชาม อบู มูซา อัล-อัชอะรียฺ ที่แคว้นอิรัก อัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศที่อียิปต์ สะอีด อิบนฺ อุมัยรฺที่แคว้นหิมศฺ และข้าหลวงคนอื่นๆ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นบุคคลที่ประชาชนเชื่อถือและศรัทธา นอกจากนี้ ท่านยังมีคณะที่ปรึกษาที่สุขุมรอบคอบ อย่างอะลียฺ อิบนฺ อบีฏอลิบ ที่ปรึกษาในด้านกฎหมายและการวางแผน อุษมาน อิบนฺ อัฟฟาน และอับดุลร็อหมาน อิบนฺ เอาฟฺ ที่ปรึกษาด้านการเงินการคลัง หรืออะดียฺ อิบนฺ อัล-หาติม, สัลมาน อัล-ฟาริสียฺ และ กะอับ อัล-อะห์บารฺ ที่ปรึกษาด้านศาสนายิว คริสเตียน โซโรแอสเตอร์ และด้านประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น
อัล-เราะฟิก อัล-ก็อยเราะวานียฺ (al-Rafiq al-Qayrawaniy) ได้กล่าวถึงการให้คำปรึกษาของอะลียฺในด้านกฎหมายเพื่อลงโทษผู้เสพสุราแก่ท่านอุมัรฺเมื่อตอนที่อบู อุบัยดะฮฺส่งตัวแทนมาจากแคว้นชามเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
ฉันเห็นว่าบทลงโทษต่อผู้เสพสุรานั้นใกล้เคียงกับโทษของการกล่าวหาผู้อื่นมากที่สุด เพราะคนเมานั้นเมื่อเขาเมา เขาจะโลเล เมื่อโลเลก็เขาจะกล่าวหาผู้อื่น (ดังนั้นโทษของผู้ดื่มสุราจึงควรจะเหมือนกับโทษของผู้กล่าวเท็จต่อผู้อื่นนั่นคือต้องโดนเฆี่ยนแปดสิบครั้ง) แล้วท่านอุมัรฺก็กล่าวกับตัวแทนของอบู อุบัยดะฮฺว่า บัดนี้ ท่านก็ได้ยินสิ่งที่เขาบอกแล้ว ดังนั้นจงบอกให้อบู อุบัยดะฮฺเฆี่ยนตามนี้ แล้วอบู อุบัยดะฮฺก็เฆี่ยนผู้เสพสุราที่เมืองชามแปดสิบครั้ง ในขณะที่ท่านอุมัรฺก็เฆี่ยนจำนวนนี้ด้วยเช่นกันที่มะดีนะฮฺ (al-Rafiq al-Qayrawayniy, n.d.: 1/48)
เช่นเดียวกับสัลมาน อัล-ฟาริสียฺ ที่ให้คำปรึกษาอย่างตรงไปตรงมา เมื่อท่านอุมัรฺขอให้เขาช่วยประเมินตัวท่านว่าเป็นเคาะลีฟะฮฺหรือเป็นราชา โดยท่านอุมัรฺถามเขาว่า
"ฉันนี่เป็นราชาหรือเป็นเคาะลีฟะฮฺกันแน่?" สัลมานตอบท่านว่า "หากท่านเก็บภาษีจากแผ่นดินชาวมุสลิมเพียงหนึ่งดิรฮัมหรือน้อยกว่าหรือมากกว่า แล้วท่านใช้จ่ายในทางที่ไม่ชอบ ท่านก็คือราชาไม่ใช่เคาะลีฟะฮฺ" แล้วท่านอุมัรฺ ก็ร้องไห้ (Ibn Athir, n.d.: 1/473)
ท่านกล่าวแก่กะอับ อัล-อะห์บารฺ ที่ปรึกษาด้านศาสนายูดายว่า
"นี่ กะอับ ท่านพบฉันในคัมภีร์โตราห์ว่าเป็นคนเช่นไร? เขาตอบว่า "เป็นเคาะลีฟะฮฺเหล็กที่ไม่เกรงกลัวการถูกประณามในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นผู้ซื่อสัตย์สุจริตต่ออัลลอฮฺ และจะต้องกลายเป็นเคาะลีฟะฮฺที่ถูกประชาชนฆ่าอย่างทารุน และหลังจากนั้นก็จะเกิดภัยพิบัติตามมา" (Abi Nua’im al-Asbahayniy, 1405 A.H.: 6/25)
ทั้งนี้ การให้คำปรึกษาแก่ท่าน ไม่เพียงแต่ทำกันต่อหน้าเท่านั้น แต่ในยามห่างไกล เหล่าคณะที่ปรึกษาก็ยังคงให้คำแนะนำปรึกษาผ่านหนังสือหรือจดหมายที่ต้องใช้เวลาในการส่งมาเป็นแรมเดือน ดังที่ อัล-เฏาะบาเราะนียฺได้กล่าวถึงจดหมายร่วมกันของอบู อุบัยดะฮฺและมุอาซ อิบนฺ ญะบัลที่ส่งมาจากแคว้นชามให้คำแนะนำตักเตือนสติท่านเคาะลีฟะฮฺที่มะดีนะฮฺว่า
จาก อบูอุบัยดะฮฺ อิบนฺ อัล-ญัรรอฮฺ และมุอาซ อิบนฺญะบัล
ถึง ท่านอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ
ความสันติจงมีแด่ท่าน
เราขอยืนยันต่อท่านว่า บัดนี้ การควบคุมตัวท่านเองนั้นสำคัญมาก เพราะท่านได้ปกครองประชาชาตินี้ทั้งชนผิวแดงและผิวดำ ผู้ที่นั่งตรงหน้าท่านนั้นมีทั้งคนสูงส่งและคนต่ำต้อย มีทั้งมิตรและศัตรู ทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับความยุติธรรม ฉะนั้น ท่านจงไตร่ตรองเถิด โอ้ ท่านอุมัรฺ เรานี้ขอให้ท่านรำลึกถึงวันที่ดวงตาจะเบิกโพล่ง หัวใจจะแห้งเหี่ยว และไม่มีข้ออ้างใดๆ สำหรับคำตัดสินขององค์ราชันย์ที่ทรงควบคุมมนุษย์ด้วยความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของพระองค์ วันที่สรรพสิ่งทั้งหมดต่างสยบนอบน้อมต่อพระองค์และหวังในความเมตตาและเกรงกลัวโทษทัณฑ์ของพระองค์ ซึ่งเราคาดว่าสุดท้ายแล้วประชาชาตินี้จะหวนสู่การเป็นเพื่อนแบบหน้าไหว้หลังหลอก
เราขอท่านจงอย่าได้แปรเจตนาของเราเป็นอย่างอื่น เพราะที่ส่งจดหมายมานี้ก็เพียงเพื่อเป็นคำตักเตือนแนะนำแก่ท่านเท่านั้น
วัสสลาม สุขสันติจงมีแด่ท่าน (al-Tabaraniy, 1983: 20/32)
นี่คือตัวอย่างของสัมพันธภาพระหว่างตัวเคาะลีฟะฮฺกับคณะผู้ร่วมบริหารและที่ปรึกษา ซึ่งต่างปฏิบัติหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ใจเพื่อผลประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่มีการประจบสอพลอเพื่อเอาหน้า หรือยั่วยุผู้นำเพื่อดึงให้เป็นพวกฟ้องของตนเอง
และทั้งหมดนี้ คือ บางตัวอย่างของการมีลักษณะของการเป็นผู้นำที่ดีของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของเศาะเศาะอะฮฺเมื่อครั้งที่มุอาวิยะฮฺ อิบนฺ อบี สุฟยาน ขอให้เขาบอกคุณลักษณะของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ ซึ่งเขาบอกว่า
ท่านเป็นคนรอบรู้เรื่องประชาชน มีความยุติธรรมในตัวเอง ไม่หยิ่งผยอง รับฟังเหตุผล เข้าหาได้ง่าย ประตูบ้านเปิดตลอดเวลา เป็นคนเชิดชูความถูกต้อง ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เป็นมิตรกับผู้อ่อนแอ ไม่ตวาดเสียงดัง เป็นคนเงียบขรึม และไร้สิ่งบกพร่อง (Ibn Manzur,n.d.: 6/46)
อับดุลลอฮฺ อัล-กอรี (2543 : 26) กล่าวว่า
ท่านอุมัรฺเป็นบุรุษที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมด้วยความเป็นผู้นำ มีความห้าวหาญเด็ดขาด มีความปรีชาสามารถฉลาดเฉลียว มีความรู้และประสบการณ์มาก แต่ท่านเป็นผู้สมถะเรียบง่ายไม่ฟุ่มเฟือย
นี่คือเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ อีกหนึ่งปูชนียบุคคลที่ชาวมุสลิมให้ความเคารพ แต่น้อยคนที่รู้จักท่าน ท่านบริหารบ้านเมืองสำเร็จมาแล้ว ท่านคือผู้นำสันติสุขที่ยั่งยืนให้กับชาวตะวันออกกลางระหว่างปี ค.ศ. 634-644 จึงสมควรที่ผู้เป็นผู้นำทุกคนต้องศึกษาเอาเป็นแบบอย่าง เพราะท่านได้รับการรับรองทั้งจากอัลลอฮฺตะอาลา จากนบีมุหัมมัด-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม- และจากผู้มีใจเป็นธรรมทุกคนทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม
ขอให้ผู้นำทุกท่านได้รับชัยชนะสามารถได้อยู่ใต้ร่มเงาบรรลังค์ของอัลลอฮฺในวันกิยามะฮฺที่ร้อนระอุยิ่งกว่าประลัยกัลป์ และขอความโปรดปรานจากพระองค์จงมีแด่ผู้นำทุกท่าน