×
บทความที่ตอบความคลุมเครือบางประเด็น ซึ่งเป็นข้อสงสัยของบางกลุ่มที่โจมตีและทําลายภาพพจน์อันดีงามของอิสลาม เกี่ยวกับสิทธิของสตรีในฐานะภรรยา คัดมาจากหนังสือ สถานะของสตรีภายใต้ร่มเงาอิสลาม โดย อับดุรเราะห์มาน อัชชีหะฮฺ

สิทธิของสตรีในฐานะภรรยา

﴿حقوق المرأة في الإسلام زوجة﴾

] ไทย – Thai – تايلاندي [

อับดุรเราะห์มาน บิน อับดุลกะรีม อัช-ชีหะฮฺ

แปลโดย : อิบนุรอมลี ยูนุส

ผู้ตรวจทาน : อัสรัน นิยมเดชา, ซุฟอัม อุษมาน

ที่มา : หนังสือฐานะของสตรีใต้ร่มเงาอิสลาม

2010 - 1431

﴿حقوق المرأة في الإسلام زوجة﴾

« باللغة التايلاندية »

عبدالرحمن بن عبدالكريم الشيحة

ترجمة: ابن رملي يونس

مراجعة: عصران إبراهيم ، صافي عثمان

المصدر: كتاب المرأة في ظل الإسلام

2010 - 1431

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

 สิทธิของสตรีในฐานะภรรยา

พระองค์อัลลอฮฺตรัสในคัมภีร์อัลกุรอาน

﴿وَمِنْ آيَاتِهِ أَنْ خَلَقَ لَكُم مِّنْ أَنفُسِكُمْ أَزْوَاجاً لِّتَسْكُنُوا إِلَيْهَا وَجَعَلَ بَيْنَكُم مَّوَدَّةً وَرَحْمَةً﴾ (الروم : 21)

ความว่า “และหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์คือ ทรงสร้างคู่ครองให้แก่พวกเจ้าจากตัวของพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้มีความสุขอยู่กับนาง และทรงมีความรักใคร่และความเมตตาระหว่างพวกเจ้า” [1]

ส่วนหนึ่งของสัญญาณแห่งความยิ่งใหญ่ของพระองค์คือ การที่พระองค์ทรงกำหนดคู่ครองแก่มนุษย์ซึ่งมาจากหมู่พวกเขาเอง เพื่อที่พวกเขาจะได้อยู่อาศัยเคียงคู่กัน ได้รับการผ่อนคลายแก่ร่างกายของพวกเขา และ สร้างความสงบแก่จิตใจของพวกเขา

ภรรยา คือ เสาหลักในสังคมและฐานหลักของครอบครัว ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงใช้ให้นางทําหน้าที่และรับผิดชอบบางอย่างที่สมควร ในทางตรงข้ามอิสลามก็ได้มอบสิทธิและความชอบธรรมที่นางสมควรได้รับ ดังต่อไปนี้ :

 สิทธิของนางในการได้รับมะฮัรฺ

มะฮัรฺ (สินสอด) คือสิทธิที่นางสมควรได้รับในเชิงบังคับทางศาสนา เป็นของขวัญอันดีงามที่อิสลามใช้ให้ฝ่ายชายมอบแก่นาง ซึ่งบุคคลใกล้ชิดหรือบุคคลใดก็ตามไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาส่วนหนึ่งส่วนใดจากสินสอดนั้นได้ยกเว้นเมื่อนางยินยอมหรืออนุญาตให้ ดังนั้นพิธีแต่งงานจะไม่เสร็จสิ้นนอกจากจะต้องมีสินสอดด้วย บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า สิทธิของนางในการครอบครองสินสอดดังกล่าวนี้ไม่สามารถยกเลิกได้แม้ว่านางจะยินยอมแล้วก็ตาม ยกเว้นหลังพีธีแต่งงาน เมื่อใดที่พิธีแต่งงานจบสิ้นนางมีสิทธิในการใช้จ่ายจากเงินสินสอดตามความต้องการ อัลลอฮฺตรัสในคัมภีร์อัลกุรอาน

﴿وَآتُواْ النَّسَاء صَدُقَاتِهِنَّ نِحْلَةً فَإِن طِبْنَ لَكُمْ عَن شَيْءٍ مِّنْهُ نَفْساً فَكُلُوهُ هَنِيئاً مَّرِيئاً﴾ (النساء : 4)

ความว่า “และจงให้แก่บรรดาหญิงซึ่งมะฮัรฺ(สินสอด )ของนาง ด้วยความเต็มใจ แต่ถ้านางเห็นชอบที่จะให้สิ่งหนึ่งแก่พวกเจ้าจากมะฮัรฺนั้นแล้ว ก็จงบริโภคสิ่งนั้นด้วยความพอใจและความสำราญ” [2]

ฝ่ายสามีไม่มีสิทธิยึดคืนสินสอดของนางเมื่อเขาได้ประกาศหย่ากับนางด้วยความต้องการของเขาเอง อัลลอฮฺตรัสถึงส่วนนี้ในคัมภีร์อัลกุรอาน

﴿وَإِنْ أَرَدتُّمُ اسْتِبْدَالَ زَوْجٍ مَّكَانَ زَوْجٍ وَآتَيْتُمْ إِحْدَاهُنَّ قِنطَاراً فَلاَ تَأْخُذُواْ مِنْهُ شَيْئاً أَتَأْخُذُونَهُ بُهْتَاناً وَإِثْماً مُّبِيناً﴾ (النساء : 20)

ความว่า “และหากพวกเจ้าต้องการเปลี่ยนคู่ครองคนหนึ่งแทนที่ของคู่ครองอีกคนหนึ่ง และพวกเจ้าได้ให้แก่นางหนึ่งในหมู่นางเหล่านั้น ซึ่งทรัพย์อันมากมายก็ตาม ก็จงอย่าได้เอาสิ่งใดจากทรัพย์นั้นคืน พวกเจ้าจะเอามันคืนด้วยการอุปโลกน์ความเท็จและการกระทำบาปอันชัดเจนกระนั้นหรือ” [3]

และอีกโองการหนึ่ง

﴿يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ لاَ يَحِلُّ لَكُمْ أَن تَرِثُواْ النِّسَاء كَرْهاً وَلاَ تَعْضُلُوهُنَّ لِتَذْهَبُواْ بِبَعْضِ مَا آتَيْتُمُوهُنَّ إِلاَّ أَن يَأْتِينَ بِفَاحِشَةٍ مُّبَيِّنَةٍ وَعَاشِرُوهُنَّ بِالْمَعْرُوفِ فَإِن كَرِهْتُمُوهُنَّ فَعَسَى أَن تَكْرَهُواْ شَيْئاً وَيَجْعَلَ اللهُ فِيهِ خَيْراً كَثِيراً﴾ (النساء : 19)

ความว่า “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! ไม่อนุมัติแก่พวกเจ้าการที่พวกเจ้าจะเอาบรรดาหญิงเป็นมรดกด้วยการบังคับ และไม่อนุมัติเช่นเดียวกันการที่พวกเจ้าจะขัดขวางบรรดานางเพื่อพวกเจ้าจะเอาบางส่วนของสิ่งที่พวกเจ้าได้ให้แก่พวกนาง นอกจากว่าพวกนางจะกระทำสิ่งลามกอันชัดแจ้งเท่านั้น และจงอยู่ร่วมกับพวกนางด้วยดี หากพวกเจ้าเกลียดพวกนาง ก็อาจเป็นไปได้ว่า การที่พวกเจ้าเกลียดสิ่งหนึ่งขณะเดียวกันอัลลอฮฺก็ทรงให้มีในสิ่งนั้น ซึ่งความดีอันมากมาย” [4]

จากโองการอันยิ่งใหญ่นี้ ได้ประกันและรับรองสิทธิต่างๆ ที่นางสมควรได้รับตามที่อัลลอฮฺตรัสไว้แล้ว เช่น :

- ไม่อนุญาตให้ยึดครองบรรดาสตรีเหมือนมรดกทั้งๆ ที่พวกเธอไม่เต็มใจ ดังที่ได้ปฏิบัติกันมาในยุคโง่เขลาก่อนอิสลามที่ว่า ถ้าสามีเสียชีวิตญาติพี่น้องฝ่ายสามีมีสิทธิในตัวภรรยาของเขาทันที ซึ่งมีอํานาจในตัวนางเต็มที่ บางทีอาจจะนําตัวนางมาเป็นภรรยาหรือบังคับให้นางแต่งงานกับใครที่พวกเขาต้องการ หรือบางทีพวกเขารังแกนางโดยห้ามไม่ให้นางแต่งงานอีกครั้ง ถือได้ว่าพวกเขามีสิทธิในตัวนางมากกว่าครอบครัวของนางเสียด้วยซํ้า ด้วยเหตุนี้นางจึงตกเป็นสินทรัพย์ชนิดหนึ่งที่สืบทอดกันได้

- อัลลอฮฺตรัสอย่างชัดแจ้งว่า การที่ฝ่ายชายรังแกนางจนทําให้นางได้รับความเสียหายและมีชีวิตที่คับแคบเป็นสิ่งต้องห้าม อาทิ การด่าทอนางหรือตบตีนาง โกงกินทรัพย์เงินทองของนาง หรืออาจจะห้ามนางออกจากบ้าน และแนวการปฏิบัติอื่น ๆ อีก ซึ่งล้วนแล้วเพียงแค่ต้องการให้นางได้รับความลําบากยากเย็น จนกระทั่งนางต้องยอมประกันตัวของนางเองด้วยทรัพย์สินเงินทองส่วนตัว

- บทบัญญัติแห่งอิสลามอนุญาตให้ฝ่ายชายกระทําการลงโทษนางได้ หากนางกระทําสิ่งเลวทรามนั่นก็คือ การผิดประเวณี จนกว่าฝ่ายชายจะได้รับคืนสินสอดที่ได้มอบให้แก่นาง หลังจากนั้นเขาจึงหย่านางเสีย

- อัลลอฮฺทรงสั่งให้ดํารงชีวิตอยู่กับนางอย่างดี มีความอ่อนโยนและอบอุ่น เล่าสู่กันฟังแต่สิ่งดีๆ ที่นางพึงพอใจ หรือ การกระทําสิ่งที่นางพอใจ

 สิทธิของนางด้านความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน

กรณีนี้เฉพาะท่านชายที่มีภรรยามากกว่าหนึ่งคน ซึ่งเขาจําต้องให้ความยุติธรรมแก่พวกนางเป็นพิเศษในทุกๆ ด้าน เช่น ด้านอาหารการกินและเครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย ที่พักอาศัย การหลับนอนร่วมกัน ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ-ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- กล่าวว่า “ผู้ใดมีภรรยาสองคนแล้วเขาได้โน้มเอียงไปอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่าฝ่ายอื่น เขาจะมายังวันกิยามัติ (วันปรโลก) ในสภาพที่ร่างข้างใดข้างหนึ่งของเขาเอนเอียงไป”[5]

 สิทธิของนางในการได้รับค่าครองชีพ

จำเป็นที่ฝ่ายชายจะต้องให้ความสะดวกแก่นางในด้านค่าครองชีพ และค่าใช้จ่ายที่จําเป็นอย่างดี เช่นการตระเตรียมที่พักอันเหมาะสม เตรียมปัจจัยยังชีพรายวันด้านการกินและดื่ม เครื่องแต่งกาย แม้นว่านางจะรวยก็ตาม ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ- ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- กล่าวว่า “พวกเจ้าจงยําเกรงอัลลอฮฺในเรื่องสตรีเถิด แท้จริงแล้วพวกเจ้าได้รับพวกนางมาด้วยความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ และพวกเจ้าได้ทำให้อวัยวะเพศพวกนางเป็นที่อนุมัติด้วยนามของอัลลอฮฺ และสิ่งที่พวกนางจําต้องทําเพื่อพวกเจ้าคือ การที่พวกนางไม่ยินยอมให้ใครที่เจ้าไม่พึงชอบเข้ามาเหยียบพรมของพวกเจ้า(หมายถึงห้ามไม่ให้เขาเข้ามาในบ้านของพวกเจ้า) ถ้าพวกนางได้ปฏิบัติทําเช่นนั้นพวกเจ้าจงตีพวกนางโดยไม่ตีแบบทารุณ และหน้าที่ของพวกเจ้าต่อพวกนางนั้นคือต้องหาปัจจัยยังชีพให้พวกนางและเครื่องนุ่งห่มของพวกนางโดยชอบธรรม” [6]

และหน้าที่ของสามีคือ ต้องมอบเงินและทรัพย์สมบัติให้นางตามความจําเป็นของนาง และตามความสามารถที่เขามี อัลลอฮฺตรัสในคัมภีร์อัลกุรอาน

﴿لِيُنفِقْ ذُو سَعَةٍ مِّن سَعَتِهِ وَمَن قُدِرَ عَلَيْهِ رِزْقُهُ فَلْيُنفِقْ مِمَّا آتَاهُ اللهُ﴾ (الطلاق : 7)

ความว่า “ควรให้ผู้มีฐานะร่ำรวยจ่ายตามฐานะของเขา ส่วนผู้ที่การยังชีพของเขาเป็นที่คับแค้นแก่เขาก็ให้เขาจ่ายตามที่อัลลอฮฺทรงประทานมาให้แก่เขา” [7]

เมื่อสามีผู้มีฐานะดีไม่ยอมออกค่าใช้จ่ายแก่ภรรยาของเขา นางก็สามารถที่จะหยิบเอาส่วนหนึ่งจากทรัพย์สินของสามีได้ตามความจําเป็น จากฮินดุน บินติ อุตบะฮฺ เธอได้ถามท่านศาสนทูตว่า “โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ แท้จริงแล้วอบูซุฟยาน คือผู้ชายที่ตระหนี่คนหนึ่ง เขาไม่ได้ให้ฉันให้เพียงพอต่อความต้องการของฉันและลูกๆ ฉันจึงลักเอาจากเขาด้วยของเล็กๆ น้อยๆ โดยที่เขาไม่รับรู้เลย” ท่านตอบว่า “เธอจงเอาเถิด ให้พอกับความต้องการของเธอและลูกๆ โดยชอบธรรม” [8]

- เมื่อสามีตกทุกข์ และคับแค้นจนไม่สามารถจ่ายค่าปัจจัยยังชีพของภรรยาเขาได้ หรือ กรณีที่สามีออกจากบ้านไปแล้วไม่กลับมาโดยทิ้งภรรยาอยู่ที่บ้านเป็นเหตุให้นางต้องลําบากเพราะขาดปัจจัยยังชีพ ในกรณีนี้นางสามารถที่จะขอยกเลิกการแต่งงานได้หากนางต้องการ รายงานโดยอบู อัซซะนาด เขากล่าวว่า ฉันได้ถามซะอีด บิน อัลมุซัยยับ ถึงผู้ชายที่ไม่มีสิ่งใดที่จะเลี้ยงดูภรรยาเขาเลย ? ท่านตอบว่า ให้ทั้งสองแยกกัน อบู อัซซะนาด กล่าวว่า เป็นซุนนะฮฺหรือ? (ซุนนะฮฺ คือ แบบอย่างของท่านศาสนทูต) ท่านตอบว่า ใช่ ซุนนะฮฺ ท่านอิมามซาฟีอีย์ กล่าวซึ่งคล้ายกับคํากล่าวของซะอีดที่ว่า ซุนนะฮฺ คือ ซุนนะฮฺ ที่มาจากท่านศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม [9]

 สิทธิของนางด้านการหลับนอนและการคลุกคลีกัน

เป็นสิทธิสําคัญที่นางสมควรได้รับจากสามีของนางตามที่ศาสนาได้บัญญัติไว้ ทั้งนี้เพื่อให้สามีปฏิบัติตามหน้าที่และให้ความสําคัญแก่นางเป็นพิเศษ จนทําให้นางพึงพอใจและไม่แสวงหาสิ่งอื่นที่ไม่ดีนอกขอบเขต ดังนั้นนางคือภรรยาที่ต้องการหัวใจที่คอยรักและห่วงใยนางเสมอ นางต้องการสามีที่คอยคลุกคลีและหยอกล้อกับนาง และคอยเอาใจใส่ในความรู้สึกอันลึกซึ้งของนาง แล้วคอยสนองตอบอารมณ์ของนางด้วย ศาสนาได้ห้ามการเข้มงวดกับการทําพิธีทางศาสนา(อิบาดะฮฺ) จนลืมทําความรับผิดชอบส่วนนี้ รายงานโดยซัลมาน อัลฟาริซี - ขออัลลอฮฺทรงประทานความโปรดปรานแก่ท่านด้วยเถิด- ว่า วันหนึ่ง ท่านได้ไปเยี่ยม อบู อัดดัรดาอ์ - ขออัลลอฮฺทรงประทานความโปรดปรานแก่ท่านด้วยเถิด- ซึ่งเป็นหสายของท่าสน และได้เห็นอุมมุ อัดดัรดาอ์ ผู้เป็นภรรยาของสหายอยู่ในสภาพที่มอมแมม เขาจึงถามนางว่า เจ้ามีเรื่องเช่นไรหรือ ? นางตอบว่า แท้จริงแล้วเพื่อนเจ้าคนนี้ไม่ต้องการสิ่งใดที่เป็นปัจจัยแห่งความสุขในโลกนี้อีกแล้ว เขาตื่นกลางคืนเพื่อละหมาดเป็นประจํา เขาถือศีลอดกลางวันสมํ่าเสมอ!! ขณะนั้นท่านอบู ดัรดาอ์ได้มาถึงพอดี เขาเลยกล่าวต้อนรับซัลมาน และได้นำอาหารมาให้ซัลมานทาน แล้วซัลมานก็กล่าวว่า ท่านจงกินเถิด อบู ดัรดาอ์ตอบว่า ฉันถือศีลอด ซัลมานกล่าวว่า ฉันขอสาบานด้วยนามอัลลอฮฺว่าเจ้าต้องแก้ศีลอดเพื่อกินกับฉัน อบู ดัรดาอ์จึงรับประทานอาหารกับเขา ซัลมานได้ค้างคืนที่บ้านนั้น ครั้นเมื่อเวลากลางคืนอบูดัรดาอ์ต้องการลุกขึ้นเพื่อกระทําละหมาด แต่ซัลมานได้ห้ามไว้ และกล่าวว่า เจ้ามีหน้าที่ที่ต้องทําเพื่อร่างกายของเจ้า และเจ้ามีหน้าที่ที่ต้องทําเพื่อพระเจ้าของเจ้า และเจ้ามีหน้าที่ที่ต้องทําเพื่อภรรยาของเจ้า เจ้าจงถือศีลอดและจงละศีลอด จงละหมาดและจงหลับนอนกับภรรยาเจ้าด้วย เจ้าจงให้สิทธิแก่ทุกสิ่งตามความเหมาะสม และเมื่อถึงเวลาเช้า ซัลมานกล่าวว่ากับอบู ดัรดาอ์ว่า เจ้าตื่นได้แล้วถ้าเจ้าต้องการ อบูดัรดาอ์ รีบลุกขึ้นและอาบน้ำละหมาด แล้วทั้งสองก็ละหมาดสุนัต หลังจากนั้นก็เดินออกไปยังมัสยิดเพื่อละหมาด และทั้งสองได้เข้าพบท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺเพื่อเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ -ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- กล่าวตอบว่า “สิ่งที่ซัลมานทํานั้นถูกต้องแล้ว” [10]

ท่านอิบนุ หัซม์ กล่าวว่า : จำเป็นที่สามีจะต้องร่วมหลับนอนมีเพศสัมพันธ์กับหญิงที่เป็นภรรยาของเขา อย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกครั้งที่นางบริสุทธิ์จากรอบเดือน ถ้าเขาสามารถทําได้ ถ้าไม่ทําเช่นนั้นถือว่าเขาทรยศอัลลอฮฺ หลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือโองการของอัลลอฮฺที่ว่า

﴿فَإِذَا تَطَهَّرْنَ فَأْتُوهُنَّ مِنْ حَيْثُ أَمَرَكُمُ اللهُ﴾ (البقرة : 222)

ความว่า “ครั้นเมื่อนางได้ชำระร่างกายสะอาดแล้ว ก็จงเข้าหานางตามที่อัลลอฮฺทรงใช้พวกท่าน” [11]

- ส่วนหนึ่งของหน้าที่ที่สามีต้องปฏิบัติคือ เมื่อเดินทางออกจากบ้านเขาไม่ควรจากบ้านไปมากกว่าหกเดือน หากแต่นางอดทนได้และยินยอมให้เขาไปมากกว่านั้น หรือ ยอมสละสิทธิบางอย่างก็ถือว่าเป็นการอนุญาต - กรณีที่นางมีอารมณ์ทางเพศน้อยลง - ยกเว้นถ้านางปราถนาให้เขามาหาเพื่อตอบสนองอารมณ์ เขาจําต้องตอบรับและไม่ควรล่าช้า ยกเว้นกรณีที่มีเรื่องฉุกเฉินซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรามีแบบอย่างของท่านอุมัรฺ บิน อัลค็อฏฏอบในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ซึ่งท่านเคยได้ยินสตรีนางหนึ่งกล่าวบทกลอน ความว่า :

ค่ำคืนนี้ช่างยาวนานและมืดดํานัก

ฉันอดนอนเพราะขาดคนรักที่ฉันหยอกล้อได้

หากไม่มีเจ้าครองบัลลังก์บนฟากฟ้ามายึดใจ

ความสั่นสะเทือนไหวจากข้างเตียงแห่งนี้ต้องเกิดขึ้น

หลังจากได้ยินคํานี้ ท่านอุมัรฺรีบตื่นแต่เช้าตรู่แล้วส่งคนไปสืบดูและถามนางว่า เธอเป็นคนพูดคํานี้หรือ ? นางตอบว่า ใช่ ท่านอุมัรฺถามว่า ทําไมเธอถึงกล่าวเช่นนี้ ? นางตอบว่า ท่านมิใช่หรือที่สั่งการให้สามีฉันไปกับกองทัพ ? ท่านอุมัรฺเลยถามหัฟเศาะฮฺว่า ผู้หญิงจะทนได้นานแค่ไหนหลังสามีเธอจากไป ? หัฟเศาะฮฺตอบว่า หกเดือน หลังจากนั้นท่านจึงกําหนดระยะเวลาของทหารที่ส่งไปสมรภูมิให้อยู่ในภารกิจเพียงแค่หกเดือนเท่านั้น

- หน้าที่ของสามี คือต้องรักษาความลับของภรรยา ไม่ควรเปิดเผยสิ่งที่เขาได้เห็นและได้ยินจากนาง และเขาจําต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเขากับนาง ไม่ควรเปิดเผยหรือเล่าเรื่องดังกล่าวต่อหน้าเพื่อนฝูง ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ -ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- กล่าวว่า: “แท้จริงแล้วผู้ที่มีฐานะตํ่าต้อย ณ ที่อัลลอฮฺในวันปรโลกมากที่สุดคือ ชายหนุ่มที่เข้าหาภรรยาเขา และเธอก็เข้าหาเขา หลังจากนั้นต่างคนต่างเปิดเผยความลับของอีกคนหนึ่ง” [12]

 สิทธิของนางด้านการคลุกคลีและความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน

- สิทธิส่วนหนึ่งที่นางสมควรได้รับคือ การได้รับการคลุกคลีจากสามีของนางเป็นอย่างดี และการให้เกียรติจากเขา แม้นว่าเขาจะเกลียดชังนางด้วยสาเหตุใดก็ตาม อัลลอฮฺตรัสในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

﴿وَعَاشِرُوهُنَّ بِالْمَعْرُوفِ فَإِن كَرِهْتُمُوهُنَّ فَعَسَى أَن تَكْرَهُواْ شَيْئاً وَيَجْعَلَ اللهُ فِيهِ خَيْراً كَثِيراً﴾ (النساء : 19)

ความว่า “และจงอยู่ร่วมกับพวกนางด้วยดี หากพวกเจ้าเกลียดพวกนาง ก็อาจเป็นไปได้ว่า การที่พวกเจ้าเกลียดสิ่งหนึ่งขณะเดียวกันอัลลอฮฺก็ทรงให้มีในสิ่งนั้น ซึ่งความดีอันมากมาย” [13]

ในกรณีที่เขาเกลียดชังนางเขาไม่ควรดูถูกหรือเหยียดหยามเกียรติของนาง แต่สิ่งที่เขาสมควรปฏิบัติต่อนางคือ การยอมรับฐานะด้วยความเมตตาปรานีและห่วงใยนาง หรือไม่ก็ขอหย่านางพร้อมทําดีกับนาง อัลลอฮฺตรัสในคัมภีร์อัลกุรอาน

﴿الطَّلاَقُ مَرَّتَانِ فَإِمْسَاكٌ بِمَعْرُوفٍ أَوْ تَسْرِيحٌ بِإِحْسَانٍ﴾ (البقرة : 229)

ความว่า “การหย่านั้นมีสองครั้ง แล้วให้มีการยับยั้งไว้โดยชอบธรรม หรือไม่ก็ปล่อยไปด้วยดี” [14]

มนุษย์ทั้งบุรุษและสตรีจะสมบูรณ์แบบครบถ้วนนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺจึงกล่าวว่า “พวกเจ้าจงสั่งเสียซึ่งกันและกันเพื่อทําดีกับบรรดาหญิง เพราะผู้หญิงนั้นถูกสร้างมาจากซี่โครง และแท้จริงแล้วกระดูกที่คดโค้งมากที่สุดของซี่โครงคือ กระดูกที่อยู่บนสุด ถ้าเจ้าต้องการดัดให้มันตรงแน่นอนเจ้าจะทําให้มันหัก ถ้าเจ้าปล่อยมันทิ้งไว้ มันคงจะคดงอตลอดไป ดังนั้น พวกเจ้าจงสั่งเสียซึ่งกันและกันเพื่อพวกนาง” [15]

ความบกพร่องของชีวิตการแต่งงานนั้นเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นแบบหนีไม่พ้น อิสลามจึงสั่งใช้ให้สามีอดทนและทําใจกับการกระทําชองนางที่ไม่พึงชอบ ทั้งนี้เพื่อปกป้องชีวิตการแต่งงาน ดังนั้นหากฝ่ายสามีจะกล่าวตําหนิเธอเพราะสิ่งไม่ดีที่พบเห็นในตัวนาง เขาจําเป็นต้องยกย่องในความดีของนางด้วย ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ - ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- กล่าวว่า “ผู้ศรัทธาชายไม่จงเกลียดจงชังผู้ศรัทธาหญิง หากเกลียดเธอเพราะอุปนิสัยบางอย่าง เขาย่อมโปรดปรานเธอในสิ่งที่นอกเหนือจากนั้น” [16]

- แสดงความอ่อนโยนต่อนาง รักใคร่นางและห่วงใยนางเสมอ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ - ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- กล่าวว่า “เหล่าผู้ศรัทธาที่เปี่ยมด้วยแสงศรัทธาสุดสมบูรณ์ คือ เหล่าผู้ศรัทธาที่มีมารยาทอันงดงามสุด และผู้ที่ยอดเยี่ยมสุดในบรรดาพวกเจ้าคือ ผู้ที่มีอุปนิสัยต่อภรรยาเขายอดเยี่ยมสุดในบรรดาพวกเจ้า” [17]

- สร้างความสนุกสนาน และหยอกล้อคลุกคลีกับเธอ รายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ - ขออัลลอฮฺทรงประทานความโปรดปรานแก่ท่านด้วยเถิด- กล่าวว่า : “ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺมุฮัมมัดได้แข่งวิ่งเร็วกับฉัน แต่ฉันแซงท่านได้ เวลาผ่านสักช่วงหนึ่ง จนกระทั่งฉันรู้สึกว่าตัวฉันเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น ท่านแข่งวิ่งเร็วกับฉันอีกครั้ง ท่านสามารถแซงฉันได้ ท่านกล่าวว่า “อันนี้ชดกับครั้งที่แล้ว” [18]

อิสลามถือว่า เรื่องที่ได้กล่าวมานี้ คือสิทธิอันชอบธรรมของบรรดาภรรยา ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ - ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- กล่าวว่า “และทุกๆ สิ่งซึ่งที่ผู้ชายสนุกสนานกับมันคือสิ่งไร้สาระ ยกเว้นการยิงธนู หรือการฝึกและดูแลม้า หรือหยอกล้อกับภรรยาเขา ทั้งหมดนั้นคือส่วนหนึ่งของสัจธรรม” [19]

- ต้องรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สมบัติส่วนตัวของนาง ไม่นํามาใช้นอกจากการยินยอมจากนาง สามีไม่มีสิทธิที่จะใช้มันนอกจากความยินยอมหรือเมื่อนางรับทราบ อัลลอฮฺตรัสในคัมภีร์อัลกุรอาน

﴿وَلاَ تَأْكُلُواْ أَمْوَالَكُم بَيْنَكُم بِالْبَاطِلِ﴾ (البقرة : 188)

ความว่า “และพวกเจ้าจงอย่ากินทรัพย์สมบัติของพวกเจ้า ระหว่างพวกเจ้ากันเองโดยมิชอบ” [20]

- ปรึกษานางในเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องภายในบ้านและเรื่องลูกๆ และเรื่องอื่นที่เกี่ยวโยงกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นไม่เป็นการดีถ้าฝ่ายชายเอาแต่บีบบังคับให้ยอมรับความคิดเห็นของเขาเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ยอมรับฟังความคิดของภรรยาในขณะที่ความคิดของนางถูกต้อง และการปรึกษาหารือระหว่างกันนั้นเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติทั้งสองฝ่าย อัลลอฮฺตรัสในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

﴿وَأَمْرُهُمْ شُورَى بَيْنَهُمْ﴾ (الشورى : 38)

ความว่า “และในกิจการของพวกเขานั้น ได้มีการปรึกษาหารือระหว่างพวกเขา” [21]

- ผู้เป็นสามีสมควรช่วยเหลือภรรยาในเรื่องงานบ้านและไม่ควรถือตัวในเรื่องนี้ เพราะท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺก็ได้ปะเย็บเสื้อด้วยตนเอง ซ่อมรองเท้าเอง ช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวบ้าง มีคนถามท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า - ขออัลลอฮฺทรงประทานความโปรดปรานแก่ท่านด้วยเถิด- ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ -ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- เคยทํางานอะไรบ้างภายในบ้านของท่าน ? ท่านหญิงตอบว่า ท่านจะช่วยเหลืองานของภรรยาของท่าน เมื่อถึงเวลาละหมาดท่านจะออกไปละหมาดทันที [22] ดังนั้น ท่านคือแบบอย่างที่ดีที่สุดสําหรับเราแล้ว

- ไม่บังควรค้นหาข้อตำหนิ ความบกพร่องและความผิดพลาดของนาง ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ - ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- กล่าวว่า “เมื่อใครสักคนในบรรดาพวกเจ้าหายจากบ้านไปเนิ่นนาน จงอย่ากลับไปหาภรรยาในเวลากลางคืน” [23] กล่าวคือ การกลับไปหาภรรยาเขายามดึกในขณะที่ภรรยาเขาไม่รู้สึกตัว หรือไม่ทราบล่วงหน้า อาจจะพบภรรยาเขาในสภาพที่ไม่เหมาะสมไม่ทันได้เตรียมตัว ซึ่งบางทีอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้เขาเกลียดชังนางก็ได้

- ไม่ควรล่วงเกินนางแม้ว่าจะด้วยวาจาที่ทําลายความรู้สึกของนาง หรือ สร้างความเศร้าโศกแก่นาง ครั้งหนึ่งท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺให้ตอบคำถามชายผู้หนึ่งที่ถามท่านว่า โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ หน้าที่ของสามีที่สมควรปฏิบัติต่อภรรยา มีอะไรบ้าง? ท่านตอบว่า “คือการที่เจ้าจัดเตรียมอาหารการกินให้นางเมื่อเจ้าได้รับอาหารมา การที่เจ้าให้เครื่องนุ่งห่มแก่นางเมื่อเจ้าหามาได้ เจ้าอย่าตบตีหน้าของนาง เจ้าอย่าสร้างความน่ารังเกียจแก่นาง และเจ้าอย่าแยกห่างจากนางยกเว้นภายในบ้านเท่านั้น” [24]

- สตรีมีสิทธิขอหย่าจากสามีได้ หากนางอยู่ในสภาพที่ไม่พึงพอใจต่อสามีของนาง ด้วยเงื่อนไขคือ การคืนสินสอดที่นางได้รับจากเขามา ยกเว้นถ้าเขายอมสละสิทธิของเขาไป ท่านฮะบีบะฮฺ บินติ ซะฮฺล์ ได้ตกเป็นภรรยาของษาบิต บิน ก็อยสฺ บิน ชัมมาส ซึ่งเขาเป็นชายหนุ่มที่มีหน้าตาน่ารังเกียจ นางได้กล่าวแก่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺว่า โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ หากฉันไม่ยําเกรงอัลลอฮฺ ฉันจะถ่มน้ำลายใส่หน้าเขาทุกครั้งที่เขาเข้ามาหาฉัน ท่านเลยถามนางว่า “เธอพร้อมที่จะส่งคืนส่วนที่เธอได้รับจากเขาหรือไม่ ?” นางตอบว่า ใช่ นางจึงคืนทรัพย์ส่วนนั้นแก่เขา ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ -ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- จึงสั่งให้ทั้งสองหย่ากัน [25]

- ปกป้องรักษานางให้พ้นจากสิ่งซึ่งเป็นต้นเหตุให้นางสูญเสียเกียรติและศักดิ์ศรี ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ-ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- กล่าวว่า “บุคคลสามคนซึ่งไม่เข้าสรวงสวรรค์ ผู้อกตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ที่นิ่งเฉยเมื่อภรรยาทําสิ่งไม่ดี และผู้หญิงที่เลียนแบบผู้ชายด้านการแต่งกายและกิริยาท่าทาง” [26]

- หึงหวงนางและพานางให้ห่างไกลจากการกระทำในสิ่งที่ชั่วร้าย และไม่ควรนํานางสู่สถานที่ที่ไร้สาระหรือสกปรกซึ่งเป็นเหตุให้นางต้องเสื่อมเสียเกียรติ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ-ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- กล่าวว่า “แท้จริงแล้วอัลลอฮฺทรงหึงหวง และผู้ศรัทธาก็หึงหวง และความหึงหวงของอัลลอฮฺคือ การที่ผู้ศรัทธากระทําในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม” [27]

[1] อัลกุรอาน บท อัรรูม / 21

[2] อัลกุรอาน บท อัน-นิสาอ์ / 4

[3] อัลกุรอาน บท อัน-นิสาอ์ / 20

[4] อัลกุรอาน บท อัน-นิสาอ์ / 19

[5] เศาะฮีหฺ อิบนิ หิบบาน 10/ 7 หมายเลข 4207

[6] เศาะฮีหฺ มุสลิม 2/886 หมายเลข 1218

[7] อัลกุรอาน บท อัฏเฏาะล๊าก / 7

[8] อัลบุคอรีย์ 5/ 2052 หมายเลข 5049

[9] สุนัน อัลบัยฮะกีย์ อัลกุบรอ 7/ 469 หมายเลข 15485

[10] เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 2/694 หมายเลข 1867

[11] อัลกุรอาน บท อัล-บะเกาะเราะฮฺ /222

[12] มุสลิม 2/1060 หมายเลข 1437

[13] อัลกุรอาน บท อัน-นิสาอ์ / 19

[14] อัลกุรอานบท อัล-บะเกาะเราะฮฺ 229

[15] เศาะฮีหฺ อัลบุคอรีย์ 3/1212 หมายเลข 3153

[16] เศาะฮีหฺ มุสลิม 2/ 1091 หมายเลข 1469

[17] เศาะฮีหฺ อิบนิ หิบบาน 9/ 483 หมายเลข 4176

[18] เศาะฮีหฺ อิบนิ หิบบาน 10/545 หมายเลข 4691

[19] สุนัน อัลบัยฮะกีย์ 10/14 หมายเลข 19517

[20] อัลกุรอาน บท อัล-บะเกาะเราะฮฺ 188

[21] อัลกุรอาน บท อัชชูรอ 38

[22] เศาะฮีหฺ อัลบุคอรีย์ 1/239 หมายเลข 644

[23] เศาะฮีหฺ อัลบุคอรีย์ 5/2008 หมายเลข 4946

[24] สุนันอบีดาวูด 2/ 244 หมายเลข 2142

[25] สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ 1/ 663 หมายเลข 2057

[26] อัลมุสตัดร็อก อะลัศ เศาะฮีหัยนฺ 1/ 144 หมายเลข 244

[27] เศาะฮีหฺ มุสลิม 4/ 2114 หมายเลข 2761