×
บทความที่ตอบความคลุมเครือบางประเด็น ซึ่งเป็นข้อสงสัยของบางกลุ่มที่โจมตีและทําลายภาพพจน์อันดีงามของอิสลาม เกี่ยวกับสิทธิของสตรีในอิสลามในฐานะบุตรสาว คัดมาจากหนังสือ สถานะของสตรีภายใต้ร่มเงาอิสลาม โดย อับดุรเราะห์มาน อัชชีหะฮฺ

สิทธิของสตรีในฐานะบุตรสาว

﴿حقوق المرأة في الإسلام بنتاً﴾

] ไทย – Thai – تايلاندي [

อับดุรเราะห์มาน บิน อับดุลกะรีม อัช-ชีหะฮฺ

แปลโดย : อิบนุรอมลี ยูนุส

ผู้ตรวจทาน : อัสรัน นิยมเดชา, ซุฟอัม อุษมาน

ที่มา : หนังสือฐานะของสตรีใต้ร่มเงาอิสลาม

2010 - 1431

﴿حقوق المرأة بنتا﴾

« باللغة التايلاندية »

عبدالرحمن بن عبدالكريم الشيحة

ترجمة: ابن رملي يونس

مراجعة: عصران إبراهيم ، صافي عثمان

المصدر: كتاب المرأة في ظل الإسلام

2010 - 1431

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

 สิทธิของสตรีในฐานะบุตรสาว

 สิทธิในการมีชีวิต

พระองค์อัลลอฮฺได้ออกคําสั่งให้พ่อเเม่ปกป้อง เเละรักษาชีวิตของลูกๆ ไว้อย่างดี เเม้ว่าพวกเขาจะเป็นเพศชาย หรือเพศหญิงก็ตาม เเละได้ประกาศว่า การฆ่าพวกเขา คือการอธรรมที่ใหญ่หลวง

อัลลอฮฺได้ตรัสในคัมภีร์อัลกุรอานว่า :

﴿وَلاَ تَقْتُلُواْ أَوْلادَكُمْ خَشْيَةَ إِمْلاقٍ نَّحْنُ نَرْزُقُهُمْ وَإِيَّاكُم إنَّ قَتْلَهُمْ كَانَ خِطْءاً كَبِيراً﴾ (الإسراء : 31)

ความว่า “และพวกเจ้าจงอย่าฆ่าลูกๆ ของพวกเจ้าเพราะกลัวความยากจน เราให้ปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา และแก่พวกเจ้าโดยเฉพาะ แท้จริง การฆ่าพวกเขานั้นเป็นความผิดอันใหญ่หลวง” [1]

อิสลามถือว่า การเลี้ยงดูเเละออกค่าใช้จ่ายเพื่อพวกเขาทั้งชายหญิงเป็นหน้าที่ที่บังคับให้ปฏิบัติทํา เป็นการประกันสิทธิที่พวกเขาสมควรได้รับตั้งเเต่ที่พวกเขายังอยู่ในลักษณะทารกในท้องเเม่ของพวกเขา อัลลอฮฺได้ตรัสในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

(وَإِن كُنَّ أُولَاتِ حَمْلٍ فَأَنفِقُوا عَلَيْهِنَّ حَتَّى يَضَعْنَ حَمْلَهُنَّ) (الطلاق : 6)

ความว่า “และหากพวกนางตั้งครรภ์ก็จงเลี้ยงดูพวกนาง จนกว่าพวกนางจะคลอดทารกที่อยู่ในครรภ์ของพวกนาง” [2]

 สิทธิในการให้นมเเก่เด็กทารกหญิง

พระองค์อัลลอฮฺได้สั่งบังคับให้กระทําดีต่อบรรดาลูกๆ ทั้งหลายอย่างเท่าเทียมกันทั้งชายเเละหญิง เเละเอาใจใส่พวกเขาในเรื่องที่ควรเเก่การดํารงชีวิตของพวกเขา ตลอดจนตระเตรียมสิ่งต่างๆ ที่มีผลต่อการมีชีวิตของพวกเขา เหล่านี้คือสิ่งที่บรรดาลูกๆ ควรได้รับจากพ่อในทัศนะอิสลาม อัลลอฮฺได้ตรัสในคัมภีร์อัลกุรอาน

﴿وَالْوَالِدَاتُ يُرْضِعْنَ أَوْلاَدَهُنَّ حَوْلَيْنِ كَامِلَيْنِ لِمَنْ أَرَادَ أَن يُتِمَّ الرَّضَاعَةَ وَعلَى الْمَوْلُودِ لَهُ رِزْقُهُنَّ وَكِسْوَتُهُنَّ بِالْمَعْرُوفِ﴾ (البقرة : 233)

ความว่า “และมารดาทั้งหลายนั้น จะให้นมแก่ลูกๆ ของนางภายในสองปีเต็ม สำหรับผู้ที่ต้องการจะให้ครบถ้วนในการให้นม และหน้าที่ของพ่อเด็กนั้นคือการให้ปัจจัยยังชีพของพวกนาง และเครื่องนุ่งห่มของพวกนางโดยชอบธรรม” [3]

 สิทธิในการถูกเลี้ยงดูเเละสั่งสอน

บทบัญญัติเเห่งอิสลามได้สั่งให้บรรดาพ่อเเม่เน้นหนัก เเละเอาใจใส่บรรดาลูกๆ ทั้งชายหญิงด้านการเลี้ยงดูในทุกด้านอาทิ ด้านร่างกาย สติปัญญา เเละด้านศาสนกิจ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ – ขอความสันติจงมีเเด่ท่าน -ได้กล่าวว่า “พอเพียงกับการได้บาปมากพอสําหรับใครสักคนที่ปล่อยปละละเลยบุคคลที่อยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของเขา”[4]

เเละท่านได้กล่าวอีกว่า - ขออัลลอฮฺทรงประทานความโปรดปรานเเก่ท่านด้วยเถิด- ซึ่งมีความว่า “แต่ละคนในหมู่พวกท่านคือผู้ดูแลและเป็นผู้รับผิดชอบต่อคนที่อยู่ภายใต้การดูแล ผู้นำคือผู้ดูแลและรับผิดชอบต่อประชาชนของเขา ผู้ชายคือผู้ดูแลครอบครัวของเขา เเละเขาคือผู้รับผิดชอบคนที่อยู่ภายใต้การดูเเลของเขา ผู้หญิงคือผู้ดูแลภายในบ้านของสามีเธอ และเธอคือผู้รับผิดชอบต่อทุกคนภายในบ้าน บ่าวผู้รับใช้นายเขาคือผู้ดูแลทรัพย์สมบัติของนายเขา และเขาคือผู้รับผิดชอบต่อทุกสิ่งที่อยู่ภายใต้การดูเเลของเขา" [5]

การสรรหาคําอันไพเราะ เเละนํามาใช้ในการตั้งชื่อพวกเขาถือว่าเป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่พวกเขาสมควรได้รับ

ผู้เป็นเเม่สมควรได้รับสิทธิในการเลี้ยงดูลูกๆ มากว่าผู้เป็นพ่อในกรณีที่ทั้งสองมีเรื่องบาดหมางระหว่างกันหรือเกิดกรณีการหย่าร้างกัน ทั้งนี้เพราะอิสลามเห็นว่า ผู้เป็นแม่คือผู้ที่เปี่ยมเมตตา เเละปรานีต่อลูกๆ มากกว่าผู้เป็นพ่อ เนื่องจากหะดีษหนึ่งซึ่งรายงานโดย อัมรฺ บิน ชุอัยบฺว่า มีสตรีท่านหนึ่งกล่าวว่า : โอ้ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ - ขอความสันติจงมีเเด่ท่าน - เเท้จริงแล้วลูกฉันคนนี้ ฉันได้ตั้งท้องเเก่เขาด้วยน้ำนมจากหน้าอกของฉันเอง ฉันเลี้ยงดูเขาในบ้านของฉันเอง แท้จริงเเล้วพ่อของเขาได้หย่าฉัน เเละเขาต้องการเเย่งเขาจากฉันไป ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ - ขอความสันติจงมีเเด่ท่าน- ตอบว่า “เจ้ามีสิทธิในตัวเขาตราบใดที่เจ้ายังไม่เเต่งงานใหม่” [6]

 สิทธิของเธอในการได้รับความรัก ความห่วงใย เเละความเมตตา

พวกเธอต้องการสิ่งเหล่านี้ดังที่พวกเธอต้องการอาหารเเละเครื่องดื่ม เพราะสิ่งดังกล่าวมันช่างมีผลต่อสภาพจิตใจ เเละกริยามารยาทของพวกเธอยิ่ง เพราะอิสลามคือศาสนาเเห่งความเมตตา ปรานี ห่วงใย เเละเมตตาต่อทุกคนแม้จะเป็นคนห่างไกลที่ไม่ใช่ญาติสนิท เเล้วเหตุใดเล่าจะไม่ห่วงใยต่อญาติผู้ใกล้ชิดด้วย

อบู ฮุร็อยเราะฮฺ - ขออัลลอฮฺทรงประทานความโปรดปรานเเก่ท่านด้วยเถิด- ได้กล่าวว่า : ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ – ขอความสันติจงมีเเด่ท่าน - ได้จูบหะซัน บิน อะลีย์ ในขณะที่ท่านอยู่พร้อมหน้ากับ อัล-อักเราะอฺ บิน หาบิส อัต-ตะมีมีย์ ที่กําลังนั่งอยู่ อัล-อักเราะอฺกล่าวว่า : ฉันมีลูกสิบคน ฉันไม่เคยจูบพวกเขาเลย !!!! ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ – ขอความสันติจงมีเเด่ท่าน - มองไปยังตัวเขาเเล้วตอบว่า “ผู้ใดไม่เมตตา เขาจะไม่ได้รับความเมตตาด้วย” [7]

 สิทธิของสตรีในด้านการศึกษา

อิสลามบังคับใช้ให้มุสลิมทุกคนทั้งชายหญิงทําการศึกษา เเละเเสวงหาความรู้ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ - ขอความสันติจงมีเเด่ท่าน - กล่าวความว่า “การเเสวงหาความรู้นั้นเป็นสิ่งบังคับเเก่มุสลิมทุกคน” [8]

อิสลามมีทัศนะว่า การให้ความรู้เเก่ลูกหญิงเป็นการเฉพาะ คือสาเหตุของการได้รับผลบุญ เเละการตอบเเทนทวีคูณ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ – ขอความสันติจงมีเเด่ท่าน - กล่าว ซึ่งความว่า “ชายคนใดที่มีทาสหญิงเเล้วเขาได้ให้ความรู้เเก่เธอ เเละอบรมสั่งสอนเธออย่างดี เเล้วปลดปล่อยเธอให้เป็นอิสระ เเละเเต่งงานกับเธอ สําหรับเขาคือสองผลบุญ” [9]

 สิทธิของเธอด้านความเท่าเทียมกัน

กฎบัญญัติเเห่งอิสลามได้บังคับให้ปฏิบัติต่อบรรดาลูกอย่างเท่าเทียม เเละยุติธรรมในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการดําเนินชีวิตประจำวันที่เปี่ยมเมตตา หรือการให้ความรัก ความห่วงใยเเห่งบิดามารดาที่สมควรให้เเก่ลูกๆ ทั้งชายหญิง อัลลอฮฺได้ตรัสในคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่ง

﴿إِنَّ اللهَ يَأْمُرُ بِالْعَدْلِ وَالإِحْسَانِ وَإِيتَاء ذِي الْقُرْبَى وَيَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاء وَالْمُنكَرِ وَالْبَغْيِ يَعِظُكُمْ لَعَلَّكُمْ تَذَكَّرُونَ﴾ (النحل : 90)

ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงใช้ให้รักษาความยุติธรรม ทำดี การบริจาคแก่ญาติใกล้ชิด ให้ละเว้นจากการทำลามก การชั่วช้า และการอธรรม พระองค์ทรงตักเตือนพวกเจ้าเพื่อพวกเจ้าจักได้รำลึก” [10]

หากความยุติธรรม เเละความเสมอภาคไม่ใช่เรื่องบังคับด้วยบทบัญญัติแห่งอัลกุรอาน และวจนะท่านศาสนทูตมุฮัมมัดเเล้ว แน่นอนบรรดาผู้หญิงสมควรได้รับการเชิดชูเป็นพิเศษมากกว่าบรรดาชายอีกด้วยซ้ำ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ - ขอความสันติจงมีเเด่ท่าน- กล่าว ซึ่งความว่า “พวกเจ้าจงมอบให้เเก่ลูกๆ ของพวกเจ้าอย่างเท่าเทียมกัน หากฉันมีทางเลือกให้บางคนดีเด่นกว่าบางคน เเน่นอนยิ่งฉันจะเลือกบรรดาหญิงให้ดีเด่นกว่าคนอื่นๆ” [11]

ด้วยเหตุเช่นนี้เเล้ว พวกที่กล่าวหาว่าอิสลามได้กลืนสิทธิของสตรีจะมีท่าทีและกล่าวหาว่าอย่างไรต่อมันอีกเล่า ??

 สิทธิของเธอในการเลือกสามี

อิสลามเคารพสิทธิสตรีในเรื่องของการแต่งงาน โดยถือว่าการตัดสินใจของเธอคือส่วนหนึ่งในเงื่อนไขแห่งความถูกต้องของการแต่งงาน เธอสามารถใช้สิทธิในการปฏิเสธ หรือตอบรับใครสักคนที่มาสู่ขอเธอได้ ทั้งนี้เนื่องจากคํากล่าวของท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ - ขอความสันติจงมีแด่ท่าน - ความว่า “หญิงหม้ายจะไม่ถูกแต่งงานจนกว่าจะมีการร้องขอจากเธอ และหญิงสาวไม่ถูกแต่งงานจนกว่าจะขอได้อนุญาตจากเธอก่อน” เศาะหาบะฮฺกล่าวว่า การอนุญาตจากเธอเป็นเช่นไรเล่า ? ท่านรอซูลกล่าวว่า “คือ การที่เธอเงียบเฉย” [12]

ดังนั้นผู้เป็นบิดาหรือใครก็ตามซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลเธอ ย่อมไม่มีสิทธิบังคับเธอให้แต่งงานกับชายที่เธอไม่ประสงค์ และจากวจนะของท่านศาสนทูตซึ่งรายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า มีสตรีท่านหนึ่งมาหาท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ – ขออัลลอฮฺทรงประทานความพรและความสันติแก่ท่านด้วยเถิด - เธอกล่าวว่า โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ แท้จริงแล้วพ่อของฉันสั่งให้ฉันแต่งงานกับลูกของพี่ชายเขาเพื่อยกฐานะของเขาเพราะการแต่งงานของฉัน ดังนั้น ท่านจึงมอบเรื่องนี้ให้กับเธอ(ในการตัดสินใจ)แล้วเธอกล่าวว่า “แท้จริงแล้ว ฉันได้ยินยอมสิ่งที่พ่อฉันได้ทําไป แต่ฉันเพียงต้องการให้สตรีทั้งหลายรับรู้ว่าบรรดาพ่อไม่มีสิทธิในเรื่องนี้แต่อย่างใด” [13]

คําสอนของท่านนบีมุฮัมมัดชี้ให้เห็นว่าอิสลามได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของสตรีเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเคารพเกียรติของเธอ การกระทําดีต่อเธอ และการสนองตอบความต้องการของเธอในทุกด้าน ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ - ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- กล่าวว่า “ผู้ใดมีลูกสาวสามคน หรือพี่สาวสามคน มีลูกสาวสองคนหรือพี่สาวสองคนแล้วเขาได้กระทําดีต่อพวกเขาอย่างดี และยําเกรงอัลลอฮฺในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา แน่นอนเขาจะต้องได้เข้าสรวงสวรรค์” [14]

ในทัศนะอิสลามถือว่า การให้ความสนใจต่อบุตรสาวพร้อมทั้งการอบรมเลี้ยงดู และกระทําดีต่อพวกเธอ คือหนทางหนึ่งที่นําไปสู่การเข้าสวรรค์ นับเป็นแรงผลักดันให้ผู้ปกครองเอาใจใส่ดูแลพวกเธอเป็นอย่างดีเพื่อหวังในการตอบแทนจากพระองค์อัลลอฮฺ รายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ - ขออัลลอฮฺทรงประทานความโปรดปรานแก่ท่านด้วยเถิด - กล่าวว่า : ผู้หญิงผู้ยากจนคนหนึ่งได้มาหาฉัน ในขณะที่นางอุ้มลูกของนางสองคน แล้วฉันก็ได้แบ่งลูกอินทผลัมให้เธอสามเม็ด นางแบ่งให้ลูกสาวคนละหนึ่งเม็ด และนางหยิบที่เหลือหนึ่งเม็ดใส่ปากเพื่อกิน พลันลูกสาวสองคนต่างร้องขอเพื่อกิน เธอจึงแบ่งลูกอินทผลัมที่กําลังจะกินออกเป็นสองส่วนและแบ่งให้ลูกสาวสองคน เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความประทับใจให้ฉันมาก ฉันเลยนําพฤติกรรมของนางเช่นนี้ไปเล่าให้กับท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺฟัง ท่านจึงกล่าวว่า “แท้จริงแล้วพระองค์อัลลอฮฺจะทรงมอบสรวงสวรรค์แก่นางเพราะพฤติกรรมอันนี้ หรือพระองค์จะทรงปลดปล่อยนางเพราะพฤติกรรมอันนี้ให้รอดพ้นจากไฟนรก”[15]

บทบัญญัติแห่งอิสลามได้สั่งใช้ให้ปฏิบัติต่อลูกๆ ทั้งชายและหญิงด้วยความยุติธรรมเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านจิตใจหรือด้านวัตถุก็ตาม ดังนั้นการลำเอียงในเรื่องใดก็ตามยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่อนุญาต รายงานโดยอันนุอฺมาน บิน บะชีร กล่าวว่า : พ่อของฉันได้มอบให้ฉันซึ่งส่วนหนึ่งของทรัพย์สมบัติของท่าน แม่ฉันฮุมเราะอฺ บินติ เราะวาหะฮฺ กล่าวว่า ฉันไม่ยอมนอกจากว่าท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺต้องเป็นสักขีพยานในเรื่องนี้ด้วย พ่อของฉันได้ไปหาท่านศาสนทูตเพื่อให้ท่านร่วมเป็นสักขีพยานในสิ่งที่เขาได้มอบมันให้ฉัน ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ - ขอความสันติจงมีแด่ท่าน - กล่าวแก่พ่อฉันว่า “เจ้าได้กระทําแบบนี้กับลูกๆ เจ้าทุกคนหรือไม่?” พ่อฉันตอบว่า ไม่ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ - ขอความสันติจงมีแด่ท่าน - ตอบว่า “เจ้าจงยําเกรงอัลลอฮฺ และจงยุติธรรมระหว่างลูกๆ ของเจ้า” เมื่อพ่อของฉันกลับถึงบ้านแล้วท่านรีบขอสิ่งนั้นกลับคืนทันที [16]

ความยุติธรรมและความเสมอภาคมิได้เฉพาะเจาะจงในเรื่องของปัจจัยภายนอกเท่านั้น ทว่ารวมไปถึงข้อปลีกย่อยง่ายๆ ที่ส่งผลต่อความรู้สึกซึ่งใครหลายคนอาจไม่เคยตระหนักในเรื่องนี้นัก รายงานโดยอะนัส - ขออัลลอฮฺทรงประทานความโปรดปรานแก่ท่านด้วยเถิด- ว่ามีชายคนหนึ่งอยู่กับท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ พลันได้มีลูกชายเขาเข้ามาหา เขาจูบลูกเขาแล้วสั่งให้เขานั่งบนขาอ่อนเขา ทันทีมีลูกสาวของเขาเข้ามาหา และเขาก็สั่งให้ลูกสาวของเขานั่งอยู่ตรงหน้าเขา ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ – ขอความสันติจงมีแด่ท่าน – กล่าวว่า “เจ้าน่าจะให้ความเท่าเทียมกันระหว่างทั้งสอง” [17]

ณ โอกาสนี้ ที่เราได้กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการเน้นหนักของอิสลามต่อบรรดาลูกๆ ก็สมควรอย่างยิ่งในการที่เราจะกล่าวถึงเด็กกําพร้าด้วย เพราะการเป็นเด็กกําพร้านั้นมีผลด้านจิตใจต่อการมีชีวิตของเด็กมาก ซึ่งในบางครั้งความรู้สึกที่ว่านี้อาจนําเด็กๆ ไปสู่ความเสื่อมเสียหรือเอนเอียงไปในสิ่งที่ไม่ดี ยิ่งถ้าสังคมรอบด้านของพวกเขาคือสังคมที่ไม่เอาใจใส่สิทธิต่างๆ ที่พวกเขาสมควรได้รับ ซึ่งสังคมที่ว่านี้อาจไม่รับผิดชอบต่อพวกเขาตามสมควร หรืออาจจะไม่เหลียวแลพวกเขาด้วยความเมตตาและห่วงใย

อิสลามให้ความสําคัญต่อเด็กกําพร้าทั้งชายและหญิง โดยมีทัศนะว่า การให้ความสําคัญแก่พวกเขาพร้อมทั้งเอาใจใส่พวกเขาอย่างดี ถือว่าเป็นข้อบังคับสําหรับญาติพี่น้องผู้ใกล้ชิดพวกเขาให้ปฏิบัติตาม ถ้าพวกเขาไม่มีญาติพี่น้องก็เป็นหน้าที่ของรัฐอิสลามที่ต้องดูแล และเลี้ยงดูพวกเขา

สําหรับคนที่ลักขโมย และกอบโกยเงินทองของเด็กกําพร้านั้นเขาจะได้รับโทษมหันต์อย่างแน่นอน อัลลอฮฺตรัสในคัมภีร์อัลกุรอาน

﴿إِنَّ الَّذِينَ يَأْكُلُونَ أَمْوَالَ الْيَتَامَى ظُلْماً إِنَّمَا يَأْكُلُونَ فِي بُطُونِهِمْ نَاراً وَسَيَصْلَوْنَ سَعِيراً﴾ (النساء : 10)

ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ที่กินทรัพย์ของบรรดาเด็กกำพร้าด้วยความอธรรมนั้น แท้จริงพวกเขากินไฟเข้าไปในท้องของพวกเขาต่างหาก และพวกเขาก็จะเข้าไปสู่เปลวเพลิง” [18]

ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ - ขอวามสันติจงมีแด่ท่าน- กล่าวความว่า “แท้จริงแล้วฉันอยากให้มีความลําบากและบาปแก่คนที่ลิดรอนสิทธิผู้อ่อนแอสองพวกคือเด็กกําพร้าและสตรี” [19]

พระองค์อัลลอฮฺได้เตือนบ่าวให้พึงระวัง และห้ามกดขี่เด็กกําพร้า อัลลอฮฺตรัสในคัมภีร์อัลกุรอาน

﴿فَأَمَّا الْيَتِيمَ فَلَا تَقْهَرْ﴾ (الضحى : 9)

ความว่า “ดังนั้นส่วนเด็กกำพร้าเจ้าอย่าข่มขี่” [20]

บทบัญญัติแห่งอิสลามได้สนับสนุนให้เลี้ยงเด็กกําพร้า และทําดีต่อเขา ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ - ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- กล่าวว่า: “ฉันและผู้ให้ความอนุเคราะห์เด็กกําพร้าอยู่ในสรวงสวรรค์เช่นนี้ และท่านได้ชูนิ้วชี้และนิ้วกลางขึ้นพร้อมแยกทั้งสองนิ้วให้ห่างกันนิดเดียว”[21]

นอกจากนี้ อิสลามส่งเสริมให้มอบความรักและความห่วงใยแก่เด็กกําพร้า ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ - ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- กล่าวว่า: “ผู้ใดลูบหัวเด็กกําพร้า ซึ่งเขาไม่ลูบมันนอกจากเพื่ออัลลอฮฺเท่านั้น สําหรับเขาในทุกเส้นผมที่เขาลูบผ่านด้วยมือเขาคือผลบุญอันดีงาม และผู้ใดทําดีต่อเด็กกําพร้าหญิงหรือชายที่อาศัยอยู่กับเขา แน่นอนฉันและเขาจะอยู่ในสรวงสวรรค์ด้วยกันเหมือนสองนิ้วนี้ และท่านได้แยกสองนิ้วออกห่างเล็กน้อย คือนิ้วชี้และนิ้วกลาง” [22]

นอกจากนี้อิสลามยังให้ความสําคัญแก่เด็กที่ถูกทอดทิ้งทั้งชายและหญิงอย่างเท่าเทียมกัน หมายถึงเด็กที่ถูกทอดทิ้งไม่ทราบเบาะแสเกี่ยวกับพ่อของเขา ดังนั้นเขาย่อมมีสิทธิในการได้รับการดูแลจากพี่น้องมุสลิมและประเทศชาติในระบอบการปกครองแบบอิสลาม ฐานะของเขาไม่แตกต่างจากฐานะของเด็กกําพร้าเลย ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ-ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- กล่าวว่า “การทําความดีต่อทุกสิ่งที่มีชีวิตนั้นมีผลบุญ” [23]

การให้ความสําคัญแก่บุคคลสองกลุ่มที่ว่านี้ ถือว่าเราได้สร้างบุคคลสองประเภทในฐานะพลเมืองที่ดีสู่สังคม เพื่อให้เขาทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ของเขาทั้งสองอย่างดี และให้เขาทั้งสองได้ใช้ชีวิตในสังคมอย่างเท่าเทียมกันเหมือนเพื่อนมนุษย์ทั่วไป

[1] อัลกุรอาน บท อัลอันอาม 151

[2] อัลกุรอาน บท อัฏเฏาะล๊าก 6

[3] อัลกุรอาน บท อัลบะเกาะเราะฮฺ 233

[4] เศาะฮีหฺ อิบนิ หิบบาน 10/51 ลําดับที่ 4240

[5] เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 1/ 304 ลําดับที่ 853

[6] สุนัน อบี ดาวูด 2/283 ลําดับที่ 2276

[7] เศาะฮีหฺ อัลบุคอรีย์ 5/ 2235 ลําดับที่ 5651

[8] สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ 1/81 ลําดับที่ 224

[9] เศาะฮีหฺ อัลบุคอรีย์ 5/1955 ลําดับที่ 4795

[10] อัลกุรอาน บท อันนะห์ลุ 90

[11] สุนัน อัลบัยฮะกีย์ อัลกุบรอ 6/177 ลําดับที่ 11780

[12] เศาะฮีหฺ อัลบุคอรีย์ 5/1974 ลําดับที่ 4843

[13] มุสนัด อิมาม อะห์มัด 6/ 136 ลําดับที่ 25087

[14] เศาะฮีหฺ อิบนิ หิบบาน 2/ 189 ลําดับที่ 446

[15] เศาะฮีหฺ มุสลิม 4/ 2027 ลําดับที่ 2630

[16] เศาะฮีหฺ มุสลิม 3/ 1242 ลําดับที่ 1623

[17] รายงานโดยอัลบัซซาร ในหนังสือ กะซฺฟุลอัซตาร 1 / 131 ลําดับที่ 211

[18] อัลกุรอานบท อัน-นิสาอ์ / 10

[19] อัลมุสตัดร็อก อะลัศเศาะฮีฮัยนฺ 1/ 131 เลขที่ 211

[20] อัฎฎุหา / 9

[21] เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 5/ 2032 หมายเลข 4998

[22] มุสนัดอิมามอะหฺมัด 5/ 250 หมายเลข 22207

[23] เศาะฮีหฺ อัลบุคอรีย์ 2/ 870 หมายเลข 2334